Justice or Efficiency..?? When they clash, which should prevail..??
Group Blog
 
All blogs
 
คำถามทดสอบความมีหัวกฎหมาย (Legal Mind)

ช่วงนี้ยุ่งมาก ไม่ได้อัพบล็อคเสียนาน… วันนี้เลยมาอัพหน่อย

หนังสือคำแนะนำนักศึกษากฎหมาย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 วางขายไปแล้วตั้งแต่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ช่วงที่ทำต้นฉบับ ผมเองอยู่ต่างประเทศ ก็ใช้วิธีส่งอีเมลล์ต้นฉบับไป แล้วก็ตรวจปรูฟกันทางไปรษณีย์ ตอนแรกผมก็ยังนึกหน้าตามันไม่ออก พอกลับเมืองไทยไปก็เลยได้เห็นเป็นเล่ม ก็ถือว่าออกมาสวยงาม หน้าตาดีกว่าที่คิดไว้ ทำเป็นเล่มเล็กก็ดีเหมือนกัน ถือง่ายใช้สะดวก ถ้าใครได้ซื้อได้ใช้แล้วเห็นว่า ยังมีอะไรที่ผมปรับปรุงได้ ช่วยกรุณาบอกด้วยครับ… โดยเฉพาะน้องๆ นักนิสิตศึกษาที่ใช้เล่มนี้เรียน ปีหน้าผมคงเริ่มทำเนื้อหาสำหรับการพิมพ์ครั้งใหม่ ตั้งใจว่าจะออกให้ได้ทุกสองปี

เร็วๆ นี้ มีน้องคนนึงที่สนใจเรียนนิติ ได้มาอ่านฉบับพิมพ์ครั้งก่อน แล้วเกิดสงสัยว่า “หัวกฎหมาย” หรือ Legal Mind ที่ท่านอาจารย์ธานินทร์เขียนไว้ในเล่ม คืออะไร ความจริงเรื่องนี้ก็อธิบายได้ยากอยู่ ตอนที่ผมกำลังคิดว่าจะตอบอย่างไรดีนั้น ก็บังเอิญฉุกคิดถึงคำถามข้อนึงขึ้นมาได้ ผมว่าคำถามข้อนี้แสดงเรื่องหัวกฎหมายได้ดีพอสมควร ผมว่าจะเอาไปเขียนลงคำแนะนำฯ ฉบับพิมพ์ครั้งหน้าด้วย ถ้าอาจารย์ธานินทร์ท่านเห็นชอบ

คำถามข้อนี้ผมเอามาจากพ่อ พ่อผมเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทที่จุฬาสมัยที่ท่านจบกลับมาจากฝรั่งเศสใหม่ๆ น่าจะสอนวิชาสัมมนาอะไรสักอย่าง พ่อผมเอาคำถามข้อนี้ออกเป็นข้อสอบ แล้วปรากฎว่าเด็กปริญญาโทส่วนใหญ๋ ก็ยังมองกันไม่ค่อยออก พ่อผมเอาคำถามข้อนี้มาถามผมเล่นๆ ตอนผมอยู่ ม.5 ผมใช้เวลาสามปีถึงจะมองออก และไปตอบให้ท่านพอใจได้ตอนอยู่ปีสอง

ดูเป็นคำถามที่น่าตื่นเต้นนะ... ขอเน้นว่า คำถามข้อนี้ ธงคำตอบไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะมันมองได้หลายทาง และยังไม่มีฎีกาออกมา (ยังไงก็ไม่น่าจะมีได้) แต่สำคัญอยู่ที่วิธีคิด ว่าคนตอบมองเห็นอะไรจากโจทย์สั้นๆ มั่ง

คำถาม:

นาย ก ถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุ โดยมีนาย ข เป็นทายาท นาย ค ซึ่งเป็นเพื่อนรักนาย ก ได้ทราบข่าว ก็เลยส่งพวงหรีดดอกไม้สดมาให้ที่งานศพ คืนนั้น นาย ง เดินผ่านศาลาตั้งศพ เห็นว่าหรีดอันนี้สวยดี ก็เลยเอาไป ถามว่าใครฟ้องในฐานอะไรได้บ้าง

พอดีผมไม่มีประมวลอยู่กับตัว เลยจะเขียนคร่าวๆ ก่อน ไว้ตอนจะเขียนลงเล่ม จะเขียนละเอียดอีกที

หลักกฎหมายสำคัญที่สุดที่ใช้ตอบโจทย์ข้อนี้คือ คนที่จะฟ้องได้จะต้องเป็นผู้เสียหาย และจะฟ้องฐานลักทรัพย์ได้จะต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือเป็นผู้ครองครองทรัพย์นั้น

ถ้าอ่านผ่านๆ อาจจะคิดว่าโจทย์ข้อนี้ไม่เห็นจะมีอะไรเลย นาย ง เอาไปก็ผิดลักทรัพย์ ทายาทก็แจ้งความ ฟ้องคดีอาญา และฟ้องคดีละเมิดได้…

ผมว่าหัวกฎหมายมันอยู่ตรงนี้ ถ้ามองดีๆ โจทย์ข้อนี้ยากและลึกลับซับซ้อนอย่างคิดไม่ถึง

ผมจะลองแยกประเด็น และตอบตามความเห็นของผมดู ขอเน้นอีกทีว่า ธงคำตอบข้อนี้ไม่สำคัญ สำคัญที่วิธีคิดและการจับประเด็นว่ามองเห็นประเด็นที่ซ่อนไว้ครบไหม

คำตอบ:

ประเด็นแรกที่เด้งออกมา คือ “พวงหรีดดอกไม้สด” ที่ให้กันในงานศพ มีความต่างจากทรัพย์ธรรมดาอยู่มาก โดยเฉพาะในเรื่องประโยชน์ใช้สอย ถ้าไม่เห็นประเด็นนี้ ก็ยากที่จะตอบต่อไป


ประเด็นที่สองคือ พวงหรีดดอกไม้สด ที่นาย ค ให้มาตามธรรมเรียนประเพณี นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของใคร เป็นของนาย ก ผู้ตาย นาย ข ทายาท หรือเป็นของวัด

เรื่องนี้ คงต้องดูเจตนา นาย ค เป็นหลัก ถ้านาย ค บอกว่ามีเจตนามอบให้นาย ก เพื่อนรัก ด้วยความอาวรณ์และคิดถึง ผลก็คือ การให้นั้นไม่เกิดผล เพราะนาย ก ไม่มีสภาพบุคคลที่จะรับการให้ได้ (และพวงหรีดนั้นก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาท เนื่องจากได้มาหลังตาย) ผลก็คือ พวงหรีดนั้นจะกลายเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ด้วยเหตุที่ นาย ค ได้สละกรรมสิทธิในทรัพย์ การที่ทายาทรับพวงหรีดไว้ จึงมีผลเสมือนเป็นการเก็บทรัพย์สินไม่มีเจ้าของได้และเข้ายึดถือเอากรรมสิทธิ์

แต่ถ้านาย ค มีเจตนาให้พวงหรีดกับนาย ข ทายาท นาย ข ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในพวงหรีดนั้นโดยตรง แต่ถ้าเราไม่อาจไปถามนาย ค ได้ ว่ามีเจตนาให้ใครกันแน่ ก็คงต้องเอาหลักเรื่ิองกรรมเป้นเครื่องชี้เจตนา และการตีความให้เกิดผลมาใช้ ก็จะได้ว่านาย ค น่าจะมีเจตนาให้พวงหรีดกับทายาทมากกว่า

ส่วนวัด ไม่เกี่ยว เพราะ นาย ค ไม่ได้มีเจตนาให้กับวัด และวัดก็มิได้มีเจตนาถือครองพวงหรีดแต่อย่างใด

ผลสรุปก็คือ พวงหรีดพวงนี้จะเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย ข โดยใดทางหนึ่ง


ประเด็นต่อมา การที่นาย ง มาเอาพวงหรีดไปนั้น เข้าองค์ประกอบฐานลักทรัพย์และละเมิดทุกประการ แต่ปัญหาที่เป็นหัวใจของข้อนี้ คือ คนที่จะฟ้องได้ จะต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้น คือได้รับความเสียหายจากการที่พวงหรีดหายไปจากฝาผนังศาลาวัด

ใครเป็นผู้เสียหายกันแน่??

ดูเผินๆ เหมือน นาย ข ทายาทจะเป็นผู้เสียหาย แต่เมื่อมาคิดดีๆ การที่พวงหรีดหายไป ทายาทจะเสียหายอย่างไร?? ทายาทมีประโยชน์อะไรในตัวพวงหรีดที่ตีค่าเป็นความเสียหายได้ ในความเห็นผม ผมว่าไม่มี…. พวงหรีดอยู่ไม่อยู่ ผู้ตายก็คงไม่ลุกมาโวยวาย ชื่อเสียงทายาทหรือผู้ตายก็ไม่เสียหาย วัดเองก็ไม่ได้เก็บเงินค่าศาลาเพิ่ม (ถ้าใครมาอ่านแล้วเห็นต่างออกไป ก็ไม่ผิด เพราะตรงนี้ขึ้นกับมุมมอง หลายคนบอกผมว่า ทายาทเอาพวงหรีดไปขายได้… ผมฟังแล้วก็ยังสงสัย ว่ามันเอาไปขายได้จริงเหรอ ถ้าเอาไปขายได้โดยทั่วไป ทายาทก็อาจจะเป็นผู้เสียหายได้ และคำตอบของข้อนี้ก็คงเปลี่ยนไป)

เมื่อความเสียหายไม่มี นาย ข ทายาทก็ฟ้องไม่ได้ทั้งแพ่งและอาญา (คำตอบผลิกโผ..)

กลับกัน ลองมาคิดทางมุมนาย ค ผู้ให้ (หลายคนไม่ได้คิดตรงนี้) จริงๆ แล้วนาย ค น่าจะเป็นผู้เสียหายจากการที่ชื่อที่ติดบนพวงหรีดของตนหายไปจากกำแพงศาลาวัดมากกว่า การท่ีนาย ค ส่งพวงหรีดไปงานศพ ก็ย่อมคาดหมายว่า พวงหรีด จะถูกนำไปประดับให้คนเห็น และคนอื่นๆ ที่มางาน จะได้เห็นว่า นาย ค ส่งพวงหรีดมาแล้ว (ผมว่าเพื่อนๆ ทุกคนเวลาไปงานศพที่เราส่งพวงหรีดไป ก็คงจะไปเดินดูกันทุกคนว่า พวงหรีดที่เราส่งมา เค้าแขวนไว้ตรงไหน…)
การที่พวงหรีดโดนโขมยไป และคนที่มางานศพคนอื่นไม่เห็นพวงหรีดของนาย ค นาย ค ย่อมเสียหาย เช่นเวลามีคนที่รู้จักนาย ค มางาน เมื่อไม่เห็นพวงหรีด ก็จะพูดไปได้ว่า นาย ค ไม่เห็นหัวดูดำดูดีเพื่อน เพื่อนตายทั้งคนอีแค่หรีดยัง๋ไม่ส่ง จะงกไปถึงไหน..!! (ใครที่ยังงง น่าจะเคยเห็นข่าวในคดีที่ดาราขับรถชนคนตาย แล้วมักจะมีคนที่ไปงานมาโพสว่า “อะไรกัน ชนเค้าตาย แม้แต่พวงหรีดยังไม่ส่งมาเลย” เสียชื่อเสียงไปกันอีกไม่น้อย)

ฉะนั้นเรื่องนี้ นาย ค ผู้ส่งพวงหรีด จึงเป็นคนเสียหายที่แท้จริง จากการที่นาย ง โขมยพวงหรีดไป (หลายคนอาจจะไม่เห็นด้วย อันนี้ก็ไม่ผิด แล้วแต่มุมมอง)

แล้วนาย ค จะฟ้องอะไรได้มั่ง นาย ค ฟ้องอาญาฐานลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์หรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ (ได้สละไปแล้ว) แต่ฟ้องละเมิดได้… ส่วนจะเสียหายเท่าไหร่ ต้องไปนำสืบอีกที


สรุปว่า คำถามข้อนี้ มองเผินๆ เหมือนง่าย ไม่มีอะไรเลย แต่จริงๆ แล้วมีอะไรซ่อนอยู่มาก และต้องใช้ความรู้รอบตัวประกอบด้วย ผมว่าคำถามข้อนี้ ใช้วัด “หัวกฎหมาย” ได้ดีเยี่ยม ผมเองเวลาไปงานศพ บางที่ก็เอาคำถามนี้มาถามเพื่อนๆ นักกฎหมาย ฝึกสมองกันเล่น แก้เซ็ง…


จริงๆ ตอนพ่อผมออกข้อสอบ คำถามยังมีต่อไปอีกนิด ซึ่งทำให้มันยากขึ้นไปอีกหลายเท่า (โหดมาก)

คำถามคือ ถ้าหรีดที่หายไปเป็น “หรีดพระราชทาน” จะมีผลทางกฎหมายต่างจากหรีดของนาย ค อย่างไร

จะตอบข้อนี้ได้ ต้องมีความรู้รอบตัวพอสมควร ว่าหรีดหลวงที่พระราชทานผ่านทางสำนักพระราชวังนั้น เป็นหรีดที่ทำจากผ้าและดอกไม้ปลอม เจ้าหน้าที่จะมานำกลับคืนเมื่องานเสร็จและนำไปให้งานอื่นต่อไป คือเป็นการให้ยืมเท่านั้น กรรมสิทธิ์ยังอยู่กับสำนักพระราชวัง และความเสียหายในที่นี้คือ ค่าใช้จ่ายที่สำนักฯ จะต้องไปจ้างทำหรีดอันใหม่มาไว้ใช้แทน สำนักฯ จึงฟ้องได้ทั้งแพ่งและอาญาในฐานลักทรัพย์

ส่วนทายาท ก็ถือว่าเป็นผู้ครอบครองหรีดหลวง และเมื่อหรีดหลวงโดยโขมยไป ทายาทจะเสียหายหรือไม่ก็ต้องมาตีความกัน ผมเองเห็นว่า ทายาทเสียหาย (อย่างรุนแรง) เพราะว่า คนทั่วไปจะไปพูดให้เสียชื่อเสียงได้ว่า ทายาทไร้ความสามารถ (หรือไร้บุญวาสนา) ไม่สามารถรักษาหรีดหลวงที่ทรงพระราชทานให้บิดามารดาได้ ทายาทจึงน่าจะมีสิทธิฟ้องทั้งแพ่งและอาญา

พิมพ์มาตั้งนาน…. เหนื่อย ขอไปทำงานต่อละกัน… ไม่รู้เพื่อนๆ จะตอบคำถามข้อนี้เหมือนผมไหม สำคัญที่สุดคือ มองกันออกไหม ว่าพวงหรีดเป็นทรัพย์วิเศษในทางกฎหมาย….. อิอิ


Create Date : 09 พฤษภาคม 2550
Last Update : 9 พฤษภาคม 2550 22:57:34 น. 25 comments
Counter : 4277 Pageviews.

 
เพราะมันยุ่งยากยังงี้ไงคะ
หัวทึบ ๆ อย่างเรา ถึงเรียนกฎหมายไม่ได้

แค่อ่านก็มึนตึ้บแล้ว


โดย: โสดในซอย วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:22:12 น.  

 
ตั้งใจมาตอบนะคะ

แต่พออ่านแล้ว เครียดเลย งงอ่ะ

สงสัยเป็นทนายไม่ได้แล้วมั้ง....


โดย: vintage วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:57:18 น.  

 
หัวกฎหมาย จริงๆง่ะ สุดยอดคำถามและก็สุดยอดคำตอบ
ยากดีจริงๆ


โดย: tk IP: 58.8.105.44 วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:06:10 น.  

 
อืม...อ่านไปก็งงไป แต่ดีจัง ได้ความรู้ดีน๊า


โดย: fonrin วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:13:33 น.  

 
สงสัยผมจะมองง่ายไปแฮะ ไม่ได้สงสัยท่อนกรรมสิทธิในพวงหรีดเลย

เพราะคิดว่า พวงหรีดนั้นผู้ให้ แสดงเจตนาให้แก่ทายาท ไม่น่าจะให้ใคร เพราะแน่นอนว่าเขาคงไม่ได้ให้คนตาย เพราะธรรมเนียมไทย การให้ของคนตายจะเป็นการทำบุญไปให้

หรือเทียบจากกรณีหรีดพระราชทาน ทางสำนักพระราชวังก็ถือว่า ให้ "ทายาท" ยืมเพื่อแสดงประดับเกียรติของผู้ตาย

ดังนั้นหรีดเอกชน ก็น่าจะเป็นไปเพื่อการ "ให้" ทายาท "เพื่อ" แสดงประดับเกียรติต่อผู้ตายเช่นกัน

ผมอาจจะมองง่ายไป แฮะๆ

ปล. ผมถือหลัก Golden rule นะครับ จึงไม่มองเลยว่า การมอบหรีดนั้นเป็นการแสดงเจตนาต่อผู้ตาย เพราะเท่ากับเป็นการตีความกฎหมายไปในทางที่ใช้บังคับไม่ได้

ประเด็นยากอีกเรื่อง คือ การที่ติดไว้ที่ผนังวัด ถือเป็น "สัญญาฝากทรัพย์" ได้หรือไม่ ?
(เพราะแน่นอน ไม่มีใครเก็บหรีดกลับบ้านหรอก บรึ๋ย)
ตามปกติเมื่องานเลิกแต่ละวัน จะเป็นเจ้าหน้าที่ของวัดนั้นแหละ ที่มาปิดศาลา

จะมองว่าวัดทำหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์ได้หรือไม่ ?

และถ้า วัดปล่อยให้คนมาหยิบหรีดจากศาลาตั้งศพไปได้
ญาติผู้ตาย (ที่ผมมองว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในพวงหรีด) สามารถฟ้องร้องวัด ตามสัญญาฝากทรัพย์ได้หรือไม่ ?

และวัดจะถือว่ ง มาละเมิดต่อวัดได้หรือไม่

โจทย์นี้ชั้นยอดจริงๆ แตกประเด็นต่อไปได้อีกเยอะ


โดย: บุญชิตฯ IP: 90.29.73.180 วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:22:44:29 น.  

 
อืม..

ที่คุณบุญชิตว่ามา ว่ามีประเด็นสัญญาฝากทรัพย์ด้วย... อันนี้ก็น่าคิด เพราะเป็นไปได้

นิติสัมพันธ์จะมีสองคู่..

คู่แรก ทายาท - วัด

คู่นี้ อาจจะมองได้ว่า เพราะวัดเก็บค่าใช้ศาลา จึงมีหน้าที่โดยปริยายที่จะต้องรักษาทรัพย์ของผู้จ่ายค่าใช้บริการ เมื่อทรัพย์นั้นหายไป ทายาทจึงอาจฟ้องวัดได้ในมูลผิดสัญญา โดยไม่จำต้องเป็นผู้เสียหายจากการพวงหรีดหายไป แต่ก็น่าคิดว่า แล้วค่าเสียหายจากการผิดสัญญาฝากทรัพย์อันนี้ จะมีเท่าไร

คู่สอง วัด - นาย ง

ตรงนี้ผมยังมองไม่ทะลุ ว่าวัดจะฟ้องอะไร นาย ง ได้มั่ง จากผลต่อเนื่องที่โดย ทายาทฟ้องมา....

งงงงเนอะ....


โดย: Lawเก้อ วันที่: 9 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:18:33 น.  

 
แวะเข้ามาอ่านครับ ฝึกหัวได้ดีจริงๆ ขอคารวะพ่อพี่เลยครับ


โดย: knot IP: 58.9.43.128 วันที่: 10 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:55:46 น.  

 
ค่าเสียหายน่าจะอย่างน้อยค่าหรีดนะครับ
ส่วนเรื่องวัดฟ้องนาย ง ผมว่าละเมิดแพ่งมันค่อนข้างกว้าง
การทำให้คนเสียหายทางสัญญาต่อผู้อื่น จะว่าไปมันก็น่าจะละเมิดได้แล้วนะ

แต่มันจะชัดเจนขนาดรับช่วงสิทธิหรือไม่ ไม่แน่ใจ

ถ้าเป็นฝากทรัพย์ธรรมดา เช่น ผมรับฝากของในตุ้เซฟ แล้วของนั้นถูกขโมย ผมถูกลูกค้าฟ้องจนต้องจ่ายค่าเสียหายแล้ว ผมไปไล่เบี้ยคนขโมย ในกรณีที่ถูกจับได้ ได้หรือไม่

ไม่มีประมวล ไม่มีตำรา และไม่ได้ทบทวนเรื่องสัญญาแพ่งตรงๆ มานานมาแล้วครับ

ปล. สนุกดี หามาเล่นใหม่นะครับ


โดย: บุญชิตฯ IP: 90.29.73.180 วันที่: 10 พฤษภาคม 2550 เวลา:2:07:30 น.  

 
ในฐานะที่กฎหมายอาญาเป็นสาขาที่ถนัดที่สุดมั้ง(แต่งตั้งเองเสร็จสรรพ)
ประเด็นที่เฉลยบางอันไม่ค่อยเห็นด้วยครับ

กรณีหรีดธรรมดา


เจตนาการให้ในงานศพ ก็เพื่อให้วางประดับอยู่ในงานครับ โดยทายาทก็จะเป็นผู้ดูแล เช่นจะเอาหรีดของใครติดไว้ตรงไหน จึงต้องตีความว่าให้ทายาท แม้จะทิ้งในภายหลัง การใช้สอยก็คือระหว่างงานศพ

การถูกเอาไป ทายาทก็ย่อมเสียหาย และตัวคนให้ก็เสียหายด้วย ส่วนคนให้พี่ได้บอกไปแล้ว แต่คนให้ฟ้องอาญามิได้ เพราะไม่ใช่เจ้าทรัพย์

ส่วนทายาทนั้น การที่มีพวงหรีดวางประดับอยู่ เป็นเกียรติแก่คนตาย และวงศ์ตระกูลนะครับ

เช่นมาจากนายกยังงี้ มาจากประธานศาลฎีกายังงี้ ย่อมเป็นเกียรติแก่คนตายและงานศพของทายาทด้วย การที่อยู่ๆมีคนเอาไป เสียหายแน่นอนครับ


การตีความกฎหมายต้องคำนึงถึงความยุติธรรม และตีความไปในทางมีผลด้วย

ส่วนเรื่องหรีดพระราชทานถ้าไม่มีข้อมูลต่อมา ผมก็ไม่รู้ครับ ความรู้รอบตัวไม่ดีว่าจะเอาคืน

ปล. ไม่เปลี่ยนรูปพี่ที่หนังสือหรือครับ วันนี้เพิ่งไปดูผ่านๆที่ร้านหนังสือมา ใช้รูปเดียวกับการพิมพ์ครั้งก่อนๆเลย


โดย: noname IP: 203.113.32.13 วันที่: 10 พฤษภาคม 2550 เวลา:21:28:11 น.  

 
Mr.Buffalo) may bring a tort claim to Mr.Snake because althogh he already waive his property possesion.


โดย: praphrut608 IP: 132.236.166.128 วันที่: 11 พฤษภาคม 2550 เวลา:15:08:11 น.  

 
พวงหรีดส่วนใหญ่ เมื่อเสร็จงานศพแล้วเจ้าภาพจะเป็นผู้จัดการครับ
ในความเห็นส่วนตัวคนให้ก็มีเจตนาให้กับเจ้าภาพ เจ้าภาพรับการให้ก็ตั้งไว้หน้าศพ
เมื่อ ง. เอาไป เจ้าภาพหรือ ข. นั่นแหละครับเป็นผู้เสียหาย
เพราะเป็นทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครอง

ส่วนถ้าหากคิดอีกแบบถ้าให้นาย ก. คนตาย กรณีนี้สัญญาให้เป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์เป็นพ้นวิสัยแล้ว
เพราะนาย ก. ไม่อาจรับการแสดงเจตนาได้ กรรมสิทธิ์ก็ยังอยู่ที่นาย ค.
เพราะกรณีนี้ไม่น่าจะถือว่าเป็นกรณีที่ ค. แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์


โดย: Gunnersaurus วันที่: 12 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:28:12 น.  

 
กำลังเรียน กฎหมาย พยายามให้ได้เกรดดีๆ พอเข้ามาอ่าน Blog นี้ สร้างกำลังใจให้เราขึ้นเยอะเลยคะ







โดย: อ่อนโยน 2006 วันที่: 22 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:19:22 น.  

 


โดย: นครศรี IP: 203.170.241.228 วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:18:29:04 น.  

 
แอบงงครับ

ถ้าบอกว่ากรรมสิทธิ์ในพวงหรีดอยุ่ที่ทายาท แต่ทายาทฟ้องไม่ได้เพราะไม่เกิดความเสียหาย
ทายาทจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

เอ่อ โดนเอาทรพัย์ไปนี่ ไม่เสียหายเหรอครับ
สมมุตินะครับสมมติ
ถ้าผมโดยขโมยโน๊ตบุก ซึ่งมันเสียแล้ว
แต่ผมก็ยังรักของผมอยู่ ซ่อมไม่ได้แต่ไม่ทิ้ง
วันหนึ่งมันโดยขโมยไป ผมก็ฟ้องไม่ได้เหรอครับ?
เพราะผมไม่เสียหาย
มีโน้ตบุ๊กหรือไม่มีโน๊ตบุก ก้ไม่ทำให้เกิดความแตกต่างสำหรับผม
เกิดหัวขโมยหัวใส นำสืบขึ้นมาว่าโน๊ตบุกนั่นเสีย
ซวยเลยผม
หรือไม่ก็ เกิดหัวขโมยเอาโน๊ตบุกดีๆ ของผมไป
แล้วทำให้เสีย
แต่ดันทำให้ศาลเชื่อว่าโน้ตบุ๊กผมเสียล่ะ???

อีกอย่าง ถ้าทายาทพิสูจน์ได้ว่าพวงหรีดนั่นมีค่าทางจิตใจ sentimental value เพราะว่าผู้ให้มีฐานะพิเศษ และทายาทมีความประสงค์จะเก็บพวงหรีดไว้หลังงานศพล่ะครับ??
ทายาทจะเป็นผู้เสียหายไหม?


งงแล้วครับ
ไปดีกว่าาาา อิอิ


โดย: talea IP: 193.170.48.18 วันที่: 27 มิถุนายน 2550 เวลา:5:04:33 น.  

 
่ต่อไป
ต้องเปลี่ยนประเด็นนำสืบ
ว่าทรัพย์ที่โดนขโมย เจ้าของทรัพย์ใช้ประโยชน์ได้หรือเปล่า
ซับซ้อนไปเปล่าครับงานนี้?

เอาแค่ใ้ห้ครบ ว่า
ผู้ใด
เอาไป
ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น
ก็น่าจะพอแล้วนาครับ แค่ตีความว่าเป็นทรัพย์หรือไม่
ผมยังจะแย่
ให้ตีความต่อด้วยว่าถ้าเป็นทรพัย์แล้ว
เจ้าของทรัพย์ที่ถูกเอาไป "เสียหาย" หรือเปล่าเนี่ย
ผมอานพอดี

สมมุติต่อ
ถ้าผมโดนขโขยบัตรเครดิต ซึ่งอายัดได้
ผมก็ไม่ "เสียหาย" เหรอครับ??



โดย: talea IP: 193.170.48.18 วันที่: 27 มิถุนายน 2550 เวลา:5:14:20 น.  

 
ดีจริงๆครับ คำถามที่สามารถตอบได้หลายๆแง่
มีข้อคิดและหลักการที่ดีครับ ขอบคุณที่หาโจทย์ดีๆ มาให้คิดครับ


โดย: deknaew_ton (deknaew_ton ) วันที่: 28 มิถุนายน 2550 เวลา:12:31:43 น.  

 
ล้ำลึกๆ


โดย: อยากเป็นแรมโบ้^-^ วันที่: 27 พฤศจิกายน 2550 เวลา:18:16:16 น.  

 
กระตุ้นความคิดได้มากจริงๆค่ะ


โดย: oyO IP: 58.8.147.6 วันที่: 5 ธันวาคม 2550 เวลา:18:25:01 น.  

 
อ่านแล้วนึกถึงอาจารย์กิตติศักดิ์ ข้อสอบเก่าอาจารย์เรื่องนิติกรรมอาจารย์ถามว่า เราเรียกแท๊กซี่ไปส่งที่มหาลัยธรรมศาสตร์ แล้วแท๊กซี่ไปส่งที่ศูนย์รังสิต แต่ความจริงเราต้องการจะไปท่าพระจัน จำไม่ค่อยได้ว่าอาจารย์ถามอะไรต่อ แต่คุยกับเพื่อนว่า อืม....เอามาออกข้อสอบได้เนอะ

แล้วก็อาจารย์สุรศักดิ์ด้วย ตอนนั้นเรียนเอกเทศสัญญา แค่สั่งข้าวไข่เจียว แล้วเค้าทำมาช้า เราไม่อยากได้แล้ว ส่วนโต๊ะข้างๆก็จะขอข้าวไข่เจียวเราไปแทนเลย อะไรซักอย่างนี่ล่ะ แต่อาจารย์ถามเกี่ยวกับกม.ซื้อขายได้เกือบสิบคำถาม

คนเรียกฎหมายนี่คิดกันมากเนอะ


โดย: notyourgirl IP: 203.131.220.2 วันที่: 22 มกราคม 2551 เวลา:19:32:25 น.  

 
กรรสิทธิ์โอนไปจาก ค หรือยัง"เพราะให้โดยเสน่หาแก่บุคคล" เมื่่อ ค ไม่ใช่บุคคล ถ้าให้แก่ ข ก็ไม่ใช้ให้โดยเสน่หา
เมื่อไม่ใช่การให้พวงหรีดก็ยังเป็นของ ค ค คือผู้เสียหาย


โดย: คิดเล่น ๆ - ตย. ดีๆแบบนี้ มีบ่อยๆนะครับ IP: 124.120.11.117 วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:01:35 น.  

 
ใครเคยอ่านฎีกา ศพบ้าง คนเราเมือตายไปก็สิ้นสภาพบุคคล กรณีฎีกานี้หากมีผู้ใดไปทำลายศพ ศาลตัดสินว่า เป็นการทำให้เสียทรัพย์ บุตรเป็นผู้เสียหาย ตามฎีกา เพราะผู้ตายมีบุตรคนเดียวเป็นทายาท แต่ตามกรณีนี้คิดว่าหากตีว่า พวงรีดที่ให้มานั้นไม่ว่าจะให้เพื่อคนตายหรือ ทายาท หากถูกขโมยไปทายาทก็น่าจะเป็นผู้เสียหายได้นะ ตาม ปอ. ม.5 หรือ หากตีความกว้างๆๆก็ใช้ ม. 6 ได้นะ ส่วนผู้ให้เมื่อสละสิทธิครอบครองแล้ว ก็ไม่เป็นผู้เสียหายตาม ปอ. อีกต่อไป อย่าสับสนกับคดีแพ่ง เพราะสุดท้าย คดีลักทรัพย์ ก็เป็นอาญาแผ่นดิน อัยการฟ้องได้ครับ ลองเช็ก ดูละกันผมก็จบมานานละ ขอบคุณครับ


โดย: god_law IP: 58.64.84.35 วันที่: 20 พฤษภาคม 2552 เวลา:0:46:43 น.  

 
ผมอ่านคำตอบที่ว่า " ดูเจตนา นาย ค เป็นหลัก ถ้านาย ค บอกว่ามีเจตนามอบให้นาย ก เพื่อนรัก ด้วยความอาวรณ์และคิดถึง ผลก็คือ การให้นั้นไม่เกิดผล เพราะนาย ก ไม่มีสภาพบุคคลที่จะรับการให้ได้ (และพวงหรีดนั้นก็ไม่ตกทอดเป็นมรดกให้กับทายาท เนื่องจากได้มาหลังตาย) ผลก็คือ พวงหรีดนั้นจะกลายเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ.."
*_*ผมก็เห็นด้วยอยู่ แต่ติดอยู่นิดนึง คือ "พวงรีด" โดยสภาพแล้วไม่อาจเป็นทรัพย์ที่จะยกให้ก่อน นาย ก. ถึงกว่าความตายได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากมองเจตนาของผู้ให้แล้ว ก็น่าจะคาดหมายได้ว่า นาย ค.มีเจตนา จะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทนาย ก. เพราะเป็นงานศพของนาย ก.
..ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในพวงหรีดต้องอยู่ที่ทายาท ซึ่งหากทายาทฟ้องไม่ได้เพราะไม่เกิดความเสียหาย ทายาทจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ตรงนี้ก็ยังติดใจอยู่เหมือนกัน *_* นั่นคือ หากจะมองว่า "พวงรีด'ดอกไม้สด'" เพียงเพราะมันเป็นดอกไม้สดมันจึงไม่มีมูลค่าใดๆ นี้ผมว่ายังคงประหลาดอยู่ เนื่องจาก หากเราจะมีมุมมองว่า ความเสียหาย ต้องคิดเป็นมูลค่าได้เท่านั้น เป็นต้นว่า พริกไท ในประเทศหนึ่งมีมูลค่าสูง แต่กับไร้ค่าเมื่อดูอีกประเทศหนึ่ง เป็นต้น จะเห็นได้ว่า การตีมูลค่าทรัพย์สิน ยังมิได้มีหลักเกณฑ์ตายตัว ซึ่งหากมีอยู่วันหนึ่งศาลอาจมองเห็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ ของพวงรีดดอกไม้สด สูงขึ้น หรือศาลอาจมองเห็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ ของ "สุขภาพจิตใจ" ได้กว้างขึ้น...คำวินิจฉัยก็ย่อมเปลี่ยนไปได้..........จบดีกว่า ..*_* เอาเป็นว่าของแสดงความคิดเห็นด้วยนี้นึงนะ..คิดขำๆ


โดย: นี้นึงนะ ;-) IP: 124.121.5.56 วันที่: 28 พฤษภาคม 2552 เวลา:17:06:44 น.  

 
ขอบคุนนะคะ อ่านแล้วได้ความรู้มากเลย

คำตอบที่คิดก้อค่อนข้างเหมือนของผู้เขียนนะคะ คือ นาย

ค.สามารถฟ้องฐานลักทรัพย์ได้ ส่วนการให้เหตุผลจะต่าง

กันอยุ่ตรงที่ว่าผู้อ่านคิดว่า ที่นาย ค.ฟ้องได้ เพราะนายค.

เสียตัง ซื้อมา คือไม่ได้คิดประเด็นว่านายค.จะเสียชื่อ

เสียงเลย แต่ตอบได้ล้ำลึกมากเลยค่ะ นับถือๆ


โดย: pancel IP: 119.31.126.141 วันที่: 16 ตุลาคม 2552 เวลา:16:17:50 น.  

 
พวงหรีดพระราชทาน เค้าให้เลยนะครับ ไม่ได้เรียกคืน


โดย: Ne IP: 223.204.248.31 วันที่: 27 มีนาคม 2558 เวลา:22:49:18 น.  

 
การวางพวงหรีดในงานศพ ผู้วางพวงหรีดมีเจตนาต้องการแสดงสัญลักษณ์แสดงความอาลัยต่อผู้ตาย กรณีจึงไม่ใช่การมอบพวงหรีดให้ผู้ตาย /ในการวางพวงหรีดแก่ผู้ตายนั้นโดยปกติย่อมมีญาติเป็นผู้รับมอบ หรือมีตัวแทนเป็นผู้รับมอบ /การรับมอบดังกล่าวจึงเป็นการรับมอบกรรมสิทธ์และสิทธิการครอบครองพวงหรีดนั้นแล้วมีผลให้ผู้รับมอบเป็นเจ้าของพวงหรีดนั้น/การที่มีผู้มาลักพวงหรีดนั้นไปจึงเป็นการระทำที่ตัดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของเจ้าของ ซึ่งเป็นคุณธรรมของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และผู้เสียหายในกรณีดังกล่าวคือผู้รับมอบพวงหรีด หมายเหตุถ้ามีแนวฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้วก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ


โดย: เอ ครับ IP: 110.78.176.241 วันที่: 22 เมษายน 2558 เวลา:17:29:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Lawเก้อ
Location :
Manchester United Kingdom

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Remedies Can Sometimes Be Worse Than The Disease They Were Meant To Cure..!!
Friends' blogs
[Add Lawเก้อ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.