The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

เขียนหนังสือเพื่อเขียนหนังสือ?

ช่วงนี้ได้ยินบ่อย เดินเพื่อเดิน ปอกส้มเพื่อปอกส้ม ล้างจานเพื่อล้างจาน สายความคิดของท่านติช นัท ฮันห์

ตูไม่ได้อ่านหนังสือของท่านเท่าไร ไม่แน่ใจว่าเพราะไม่ตรงจริต หรือเพราะตูเอง "ยังไม่ถึง" การยังไม่ถึงน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เมื่อก่อนนี้เวลาที่ไปไม่ถึง มักจะคิดว่า "ไม่เข้าใจ" หรือไม่งั้นก็ "ไม่ชอบ" ไปเลย แต่เดี๋ยวนี้ไปไม่ถึงก็แปลว่าสักวันอาจจะถึง นั่งดูมันไป หนังสือหลายเล่มที่เมื่อก่อนอ่านไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็อ่านได้ (แต่หนังสือหลายเล่มที่เมื่อก่อนอ่านได้ เดี๋ยวนี้อ่านไม่ได้ก็มี)

สงสัยว่าเดินเพื่อเดิน คือการจดจ่ออยู่ที่การคิดว่ากำลังเดิน คล้าย ๆ กับการเดินจงกรม แบบนี้ไหม จิตใจอยู่ตรงนั้น เป็นวิปัสนา แบบนี้ใช่ไหม แต่ถ้าอย่างนั้นกิจกรรมเช่นการเขียนหนังสือ จะใช้ในกรณีนี้ได้ไหม เพราะที่จริงแล้วการเขียนหนังสือเป็น mean ไม่ใช่ goal ซึ่งหมายความว่าในกิจกรรมการเขียนหนังสือ เราใช้มันเป็นตัวถ่ายทอดความคิดออกมา สิ่งที่เราจดจ่ออยู่คือตัวความคิด ไม่ใช่สัมผัสที่นิ้วแตะแป้นพิมพ์ (หรือจรดปากกาลงบนกระดาษ)

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่เราไม่ได้เขียนเพื่อเขียนเหมือนกัน ซึ่งหมายความว่าในขณะเขียน ความคิดอย่างอื่นได้พ้องพานเข้ามามากมาย ซึ่งทำให้เราเขียนเพื่อเสียงเหล่านั้น มากกว่าเขียนเพื่อเขียน เป็นต้นว่า เขียนเพราะความกลัว เห็นได้ชัดในกรณีที่คนบอกว่าเขียนไม่ได้

ช่วงนี้กำลังตรวจต้นฉบับ อาจารย์คนที่เขียนนี้ เวลาที่แกนิ่ง ๆ จะอ่านรู้เรื่องดี แต่เมื่อไรที่ไม่แน่ใจ ไม่รู้จะเขียนอะไร ข้อความที่ออกมาจะเริ่มเรียบเรียงแปลก ๆ แบบว่าทำยังไงถึงจะยาว เป็นลักษณะที่ awkward ซึ่งเราเองก็เป็นในบางชั่วขณะของชีวิต

ความ awkward ในช่วงที่กังวลกับบางสิ่งมากเกินไป ซึ่งคาดว่าไม่ได้อยู่ที่การเขียนเท่านั้น แต่อยู่ที่กิจกรรมอื่น ๆ ด้วย ยิ่งฝึกมากอาจจะยิ่ง awkward น้อยลง แต่ก็ประกันอะไรไม่ได้ เพราะคนเราก็มีเวลาที่ตกหลุมตกร่องด้วยกันทุกคน

เคยลองเสิร์ชคำว่า writing meditation เหมือนกัน ปรากฏว่าเป็นอะไรที่คล้ายกับการเขียนพู่กันจีน คือจดจ่ออยู่ที่อักษรนั้น รับรู้ความหมายของตัวที่เลือกมา และพิจารณาในขณะที่ขีดลากไปทีละเส้น อันนั้นน่าจะคล้ายกับการวาดภาพอย่างหนึ่ง หรือทำอะไรอย่างอื่นเพื่อบำบัดอารมณ์

ไปเรียนวาดสีน้ำมาแล้ว แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่เคยมีการหัดหรือฝึกฝนมาก่อนเลย เพิ่งไปชั่วโมงแรกก็ฝึกมือ ซึ่งก็เพลินดีเหมือนกัน นานมาแล้วเคยเห็นเพื่อนเรียนเพื่อสอบความถนัดศิลปะอะไรสักอย่าง เพื่อนนั่นขีดเส้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราเห็นว่าน่าเบื่อมาก แต่พอขีดเองแล้ว ถ้าใจนิ่ง ๆ ก็ไม่รู้สึกน่าเบื่อ รู้สึกว่าผ่อนคลายดี

เขียนเพื่อเขียนคืออะไร ใช่ stream of consciousness ไหม หรือคือการเขียนด้วยสมองซีกขวาจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการ ไม่ตำหนิติเตียนตัวเองระหว่างทางไปก่อน เขียนเพื่อจะเขียนเท่านั้นเอง




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 15:37:25 น.
Counter : 826 Pageviews.  

อืม

เมื่อวานนี้แม่โทรมาด้วยเรื่องต่าง ๆ ตอนท้าย ๆ ถามว่าวันเสาร์อาทิตย์จะทำอะไร ก็ตอบไปว่าจะเขียนนิยาย เขียนไม่ได้ก็จนกว่าจะเขียนได้ ท่าทางแม่จะไม่สบายใจ (แน่นอน ในใจตูย่อมเดาไปแล้วว่า "แม่คิดอะไร" เช่น ตึงเกินไป ข้อมูลไม่พอ ต้องหาข้อมูลใหม่ ทำใจให้สบาย ฯลฯ ซึ่งทำให้ดาวน์หนักกว่าเดิม) ที่จริงก็คือเรากลัวที่จะได้ยินคำว่า แกมันไม่มีอะไรเหลือแล้ว แกมัน "ขาด" บางอย่างไป เรากลัวคำว่า "ขาด" เพราะเราไม่รู้ว่าจะ "เติม" มันได้ไหม และด้วยวิธีไหน มีหลายอย่างในโลกที่อยากทำกับไม่อยากทำ เราเป็นพวกเชื่อว่าอะไรที่ไม่อยากทำ และไม่จำเป็นต้องทำ นั่นไม่ใช่ของเรา

ความคิดนี้มาจากการอ่านหนังสือของชาวบ้าน (แน่ละ) คนเขียนเป็นนักรณรงค์เพื่อสังคม แน่นอนพอมีคนทำอย่างนี้ขึ้นมา แล้วเกิดได้ผล คนอื่น ๆ ก็จะโหลดชีด้วยปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เหมือนใครสักคนที่ตูเคยเห็น บอกว่าในหลวงแก้ปัญหาชาวเขาแล้วทำไมไม่แก้ปัญหาโสเภณีเด็กด้วย ตูก็...อืมนะ

คนเขียนหนังสือคนนั้นเขาบอกว่า ฉันรู้สึกผิดที่ไม่ได้แตะบาง issue เหมือนกัน แต่ความรู้สึกผิดมันก็อาจจะทำให้ฉันลงลึกใน issue ของฉันจริง ๆ ไม่ได้ และเรื่องบางเรื่องก็เป็น "ของ" คนอื่น ไม่ใช่ของฉัน ฉันไม่ได้รับพรสวรรค์มาให้ทำเรื่องนั้น

ที่จริงความรับผิดชอบเป็นของเราทุกคน แต่บางทีเราก็ไม่รู้จะทำยังไง เลยยกให้คนอื่นไป อยากจะให้คนอื่นทำแทนให้ แน่นอนว่า ตัวข้าพเจ้าเองก็เป็นเช่นกัน และมีความรู้สึก guilty เช่นกัน แต่การ project ความรู้สึกผิดใส่คนอื่น โยนให้คนอื่น มันก็ไม่ช่วยอะไร ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเริ่มในไส้พุงของตัวเอง

ก็ยังอยากเขียนหนังสืออยู่

เพราะว่ายังอยากเขียนหนังสืออยู่ เลยต้องหาให้เจอว่าจะข้ามไปได้ยังไง ว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่ขวางอยู่ตรงหน้า ว่าความกลัวแบบไหนมันกั้นไว้ ว่าอะไรที่ทำให้เขียน ความปรารถนาจริง ๆ หรือความรับผิดชอบ หรือตัวความกลัวนั้นเองที่เค้นคอให้เขียน เมิงเขียนนะ ไม่งั้นเมิงจะถูกลืม ความกลัวอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือกลัวถูกตัดขาด กลัวว่าไม่อาจ connect ได้อีก คนทุกคนเลยพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่น ตั้งแต่ทำตัวให้น่ารักมีคุณค่า ไปจนถึงทำตัวให้เด่นให้รวย และบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าถ้ากรูทำตัวเชี่ย อย่างน้อยคนก็ยังมองตู เลยทำตัวเชี่ยเสียด้วย

เก็บทุกอย่างรายทางในชีวิต เพื่อจะได้แน่ใจว่าตัวเองเป็นใคร

...

ช่วงนี้ซูซานเอาหนังสือมาคืน ชื่อ The Courage to Teach ของปาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ เป็นหนังสือดีที่ไม่ได้เหมาะเฉพาะกับครู แต่น่าจะเหมาะกับคนจำนวนมากที่พยายามเข้าใจตัวเอง คุณพาล์มเมอร์แกบอกว่าแกสอนหนังสือมาสามสิบปีแล้ว แกก็ยังคง "กลัว" ที่จริงแล้วประสบการณ์กับความ "กลัว" นั้นอยู่ร่วมกันเสมอ ความกลัวไม่ได้หายไป เราแค่เรียนรู้ที่จะฟังมันในฐานะสัญญาณ ความกลัวมักจะบอกอะไรที่ลึกยิ่งกว่าตัวความกลัวเอง

มันบอกว่าเรารู้สึกอ่อนแอเปราะบาง ในบางจุดของชีวิต แต่ว่าความอ่อนแอเปราะบางนั้นคืออะไร อยู่ที่เราเองต้องมองเอง คนอื่นเขาที่ฉลาดและละเอียดอ่อนเขาก็คงมองเห็นได้ประมาณหนึ่งละมัง แต่ก็มีแต่ตัวเราที่เข้าใจระบบในตัวเองดีที่สุด

ถ้าหากไม่มีสติ ความกลัวจะกลายเป็นฟีลเตอร์ของโลกที่เราเห็นทันที เช่นเราซึ่งไม่มั่นใจในตัวเอง อาจจะเห็นว่าคนอื่นกำลังเหยียดหยามเรา กำลังเห็นว่าเราน่าเบื่อ กำลังไม่สนใจเรา จากนั้นเราจะโต้ตอบจากตรงนั้น เช่นคิดว่าทุกคนเหยียดหยามตัวเอง ตัวเองก็เลยก้าวร้าวรุนแรง คิดว่าทุกคนเห็นตัวเองน่าเบื่อ ก็เลยเงียบเสีย ยิ่งข้างในนั้นมีปมมาก การแสดงออกก็จะสำแดงปมมาก และความเชื่อก็จะถูกบิดแปรผันไปตามปมเหล่านั้น

มีคนบอกตูว่ามีแต่พระอรหันต์ที่จะไม่เห็นผ่านเลนส์สี แต่ตูจินตนาการไม่ค่อยออกว่าจะเป็นยังไง

เราโต้ตอบกับโลกผ่านเลนส์สีของเราเอง คิดเอาเองว่าโลกข้างนอกเป็นตัวแปร แต่ที่จริงแล้วชิ้นส่วนข้างในนั้นกำลังสะท้อนกับข้างนอกต่างหาก (และเป็นที่มาของระบบออโต้ไพล็อตอันน่าสะพรึงกลัว) นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมคนชอบบ่นว่า "ทำไมกรูต้องเจอเรื่องแบบนี้อยู่เรื่อย" ก็ข้างในตัวเองมันสร้างทางไว้อย่างนั้นแล้ว มีปมที่ตอบสนองกับ "เรื่องแบบนี้" อยู่แล้ว ถ้าแกะหลุดเมื่อไหร่ ไอ้ที่บ่นนั่นก็จะไม่มาเอง

แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าแกะหลุดแล้วจะพ้นปัญหา แต่หมายความว่า "ปัญหา" จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เพราะเราไม่ได้มองมันเป็นปัญหา โลกทั้งโลกเกิดจากการตีความของเราเอง

บางทีประสบการณ์ทุกอย่างในโลกก็อาจจะมาเพื่อให้เรา "เรียน" จนกว่าจะ "เข้าใจ" เรื่องแบบนี้ละมัง




 

Create Date : 28 เมษายน 2554    
Last Update : 28 เมษายน 2554 9:59:24 น.
Counter : 1374 Pageviews.  

ที่จริงพวกเราไม่รู้

ที่จริงพวกเราไม่รู้
ว่าทุกอย่างอยู่ข้างใน
จะทุกข์หรือไม่ทุกข์ใจ
ก็เริ่มข้างในเหมือนกัน

ที่จริงพวกเราไม่รู้
คิดอยู่ว่าแกทำ "ฉัน"
เจ็บแล้วจึงโต้สารพัน
แต่ตัว "ฉัน" นั้นคือใคร

ที่จริงพวกเราไม่รู้
ว่าเชื่อที่ถืออยู่ไม่ได้
"ความเชื่อ" จะสลายไป
ไม่มีอะไรที่จริง

ที่จริงพวกเราไม่รู้
เห็นอยู่ล้วนมายาสิ้น
ตายแล้วก็จบอาจินต์
ชีวินก็เช่นนี้เอง




 

Create Date : 21 เมษายน 2554    
Last Update : 21 เมษายน 2554 11:20:12 น.
Counter : 424 Pageviews.  

ฉันจึงมาหาความหมาย

ว่ากันตรง ๆ จขบ.มี something กับกลอนบทนี้ของคุณวิทยากร

สาเหตุที่มีนั้นน่าจะเพราะมีอะไรบางอย่างในกลอนที่ยังไม่ make sense สำหรับจขบ. ซึ่งในความเป็นจริง คุณวิทยากรอาจจะคิดอะไรลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ปรากฏในสี่วรรค และยิ่งกว่าการเสียดสี (ซึ่งจขบ.คิดเอาเองว่าเป็นอย่างนั้น) ก็ได้

จขบ.ไม่เคยเชื่อว่าเมื่อไรที่ "ฉันจึงมาหาความหมาย" แล้ว "สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว" เป็นเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้วรรคสำคัญของ จขบ.จึงอยู่ที่ "ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย" ซึ่งหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ชั่วชีวิต

ไปอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ไม่ต้องเข้ามหาลัยยังได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าแกต้องการกระดาษแผ่นเดียว ก็จะได้แค่กระดาษแผ่นเดียวเหมือนกัน (ถ้ามีความทะเยอทะยานมากกว่านั้นก็จะได้อะไรมากกว่านั้นพร้อมกระดาษหนึ่งแผ่น ซึ่งที่จริงก็มีประโยชน์ไม่ใช่ย่อยดอกในโลกใบนี้)

เพราะอย่างนั้น ถ้าหากสถาบันมีความผิดใด ๆ ก็ต่อเมื่อสถาบันนั้น "ทำให้" คนคนหนึ่งคิดว่าการได้กระดาษแผ่นเดียวเป็นเป้าหมายไปแล้ว

ซึ่งหมายความว่าสถาบันหมดความสามารถในการทำให้มนุษย์ตระหนักถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มนุษย์ธำรงอยู่ได้ ซึ่งไม่ใช่ทำไงถึงจะหาตังค์ได้ แต่คือความหมายว่ากรูอยู่เพื่ออันใด จขบ.เชื่อว่าแม้คนที่บอกว่าตัวเองติดดิน อยู่เพื่อทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัวไปตามอัตภาพ ที่จริงแล้วก็อยู่ด้วย "ความหมาย" แม้ว่าเขาจะไม่ identify ความหมายนั้นออกมา เช่น อยู่เพื่อสร้างบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า อยู่เพื่อส่งลูกให้ถึงฝั่ง ที่จริงแล้วจขบ.ก็เกิดสงสัยขึ้นมาด้วยว่า การหลอกหลอนลูกว่าเอ็งจงทำงานให้เป็นหลักเป็นฐาน ที่จริงแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของ "มิชชั่น" ที่พ่อแม่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้าง "ความหมาย" ให้กับชีวิตของพ่อแม่ คือสร้างแพทเทิร์นว่าทำเช่นนี้แลจะบรรลุถึงความหมายของชีวิต

อนึ่ง จขบ.ก็ไม่รู้จริง ๆ ว่าคนเราสอนให้คนอีกคนหนึ่งคิดได้อย่างไร เว้นแต่ว่าจะคิดมากให้ดูก่อน มาคิดอีกทีหนึ่ง บางที "การคิดมาก" ก็อาจจะเป็นอันตรายกระมัง เพราะยิ่งคิดมากเท่าไร แพทเทิร์นที่นึกเอาเองว่า "ต้องเป็นอย่างนั้น" ก็จะไม่เป็นอย่างนั้นอีกต่อไป เป็นต้นว่าเด็ก ๆ ที่คิดว่าเอาปริญญาได้ก็พอแล้ว วันหนึ่งเกิดคิดว่า ปริญญามีไว้ทำเตี่ยไร แล้วเลิกเรียนไปดื้อ ๆ ก็เท่ากับได้กบฏต่อบางสิ่งบางอย่างไปแล้ว เมื่อกบฏไปแล้ว ทางที่วางอยู่ตรงหน้าก็อาจจะไม่ใช่ "ทางที่ปราบเรียบดีแล้ว" อีกต่อไป (แค่ "อาจจะ" เท่านั้นหรอก)

ดังนั้นการที่ที่สุดแล้ว เกิดแนวคิดที่ว่า "ให้กระดาษแผ่นเดียว" ขึ้นมา จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความกลัวในการคิดมากนี่ก็ได้ แกจะคิดมากไปใย ก็เอากระดาษแผ่นนี้ไป แล้วก็เดินต่อไปตามทางของแก

แต่เราเกิดมาเพียงแค่นั้นเหรอ เด็ก ๆ ทั้งหลายควรยอมเชื่องเชื่อง่าย ๆ เหรอว่าเราควรพุ่งไปที่กระดาษแผ่นเดียว

ถ้าไม่พุ่งไปที่กระดาษแผ่นเดียวที่เขาจะให้ รับรองว่าต้องเก็บอะไรไปได้มากมายแน่ ๆ





 

Create Date : 11 เมษายน 2554    
Last Update : 11 เมษายน 2554 22:18:49 น.
Counter : 584 Pageviews.  

ความเป็นไปได้ (และการคิดไปเอง)

บ่นไว้ในเฟสบุ๊ค เรื่องที่โรงเรียนเก่ามีสี่สี ฟ้า แดง เหลือง เขียว มีอิมเมจบางอย่างที่ติดกับสีพวกนี้ (ซึ่งทำให้มีคนนึกถึงแฮรี่) แต่พอคิดไปจริง ๆ แล้ว คนในแต่ละสีก็มีหลากหลาย บางคนตูก็เดาไม่ถูกด้วยว่าสีอะไร แต่ทำไมถึงคิดว่ามี "อิมเมจ" ติดกับสีล่ะ

พอถึงตอนนั้นเองถึงตระหนักขึ้นมาว่า "อิมเมจ" นั้นเป็น imprint ที่เกิดจาก "คนที่ตูประทับใจในสีนั้นต่างหาก" ซึ่งหมายความมีความประทับใจทั้งดีและร้ายจากคนบางคนในสีนั้น ซึ่งตูได้ยกความประทับใจดังกล่าวเป็น representative ของคนทั้งสีโดยไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้คนที่ไม่สามารถจัดเข้าจำพวกตาม representative ดังกล่าวได้ จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นสีอะไร

จึงเข้าใจขึ้นมาว่า การจัดประเภทนั้นเกิดในกบาลตูเอง

และอาจรวมถึงในหัวของคนอื่นด้วย ว่าอีกอย่างคือมันเป็นจิตวิทยาหมู่ ซึ่งส่งผลให้คนคิดคล้าย ๆ กัน แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวไปทุกคน ยิ่งอยู่ที่โรงเรียนนานเท่าไร (เช่นไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.หก อย่างตู) ความคิดบางอย่างก็ยิ่งฝังลึกมากขึ้นเท่านั้น

ตูก็ไม่แน่ใจว่ามันทำให้เกิดอารมณ์รักพวกพ้องมากขึ้นหรือเปล่า แต่บางครั้งก็คิดว่ามันทำให้เกิดการ "ติดยึด" กับความไม่จริงต่างหาก และคิดว่าระบบการเปลี่ยนสีบ้านทุกปีอาจจะช่วยได้มากกว่า (ไหม?) แน่นอนว่าย่อมมีคนที่พอใจในสีของตัวเอง และมีความสุขที่เป็นอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วความจริงก็คือ ทั้งความพอใจและไม่พอใจล้วนเป็นภาพลวงตา ซึ่งเกิดจากจิตวิทยาหมู่

มาคิดดูแล้ว การคัดสรรคนเข้าสีก็ไม่ได้มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนด้วย แต่พออยู่นาน ๆ ไปกลับ "ติด" ลักษณะบางประการของสีนั้นมา นั่นไม่ได้หมายความว่าเราถูก "จัดประเภท" โดยที่เราไม่ได้ยินยอมหรอกหรือ

ตอนนี้เลยมานั่งคิดว่า ถ้าตัวเองไม่ใช่สีเหลือง เปลี่ยนเป็นสีแดง สีฟ้า หรือสีเขียว อิมเมจของตัวเองในหัวจะเป็นอย่างไร ครั้นแล้วก็รู้สึกแปลกดี เพราะตัวเองที่เห็นในหัว แม้จะยังเป็น "ตัวเอง" แต่ก็มีบางอย่างเปลี่ยนไป เหมือนกับเปลี่ยนแว่นสีที่มองตัวเองทีเดียว

จึงเกิดความรู้สึกว่า นี่ไงสิ่งพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งว่าเรามักติดอยู่ในกรงไฟฟ้าโดยไม่รู้ตัว แล้วไม่สามารถมองตัวเอง "เป็นอื่น" ได้ ทั้งที่เราก็มีความเป็นไปได้มากกว่าที่เราคิดเยอะแยะไป และบทบาททั้งหลายที่เราเล่นอยู่ในโลกนี้ก็มีรากเหง้ามาจากทัศนคติทั้งหมดที่เรามีกับตัวเอง ทัศนคตินั้นก็เหมือนหมาที่ถูกผูกไว้กับวิทยุในเรื่องยุ่งชะมัดเป็นสัตวแพทย์ คือตอนเด็กมันถูกผูกกับวิทยาแล้วขยับไม่ได้ พอโตขึ้นก็เลยนึกว่าถ้าผูกไว้กับวิทยุจะต้องขยับไม่ได้ ทั้งที่จริงมันโตแล้ว วิทยุนั้นไม่มีอิทธิพลกับมันอีกต่อไป

ตูก็โตแล้วเหมือนกัน โซ่ตรวนทั้งปวงที่เคยพันธนาการตูไว้เมื่อเด็กก็ควรจะไม่มีผลกับตูอีกต่อไป

แต่ตูก็ยังต้องฟัดกับมันต่อไปอยู่ดี




 

Create Date : 06 เมษายน 2554    
Last Update : 6 เมษายน 2554 14:13:13 น.
Counter : 433 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.