The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 

ศัพท์หลายวันคำ: narrative

นาเรถีบ แปลว่า "เรื่องเล่า"

ความหมายของมันในทางวรรณคดีเปรียบเทียบ ( อันวรรณคดีเปรียบเทียบปล้นเอามาจากสายอื่นอีกที ) หมายถึงอะไรก็ได้ที่ "เล่าแล้วเกิดเป็นเรื่อง"

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น กรณีคุณ A ผู้ใส่เสื้อโป๊ ๆ ไปในงาน S

สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือ คุณ A ใส่เสื้อโป๊ ๆ ไปในงาน S ส่วนเรื่องอื่นนอกจากนั้น หามีใครจะไปตรัสรู้ด้วยคุณ A ไม่ว่าคิดอะไรอยู่

เป็นไปได้ว่าตอนที่จะใส่เสื้อโป๊ ๆ คุณ A อาจจะคิดว่า "สวยดี" อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าเหมือนกันคือ "เพราะสวยดีฉันถึงได้ใส่เสื้อตัวนี้" ซึ่งว่ากันอีกอย่างคือมันจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่เมื่อคุณ A จัดแจงเล่าให้ตัวเองฟังว่าสวยดีแล้ว ก็เห็นสม จึงใส่มา ( ทั้งนี้คุณ A อาจจะคิดอย่างอื่นก็ได้ แต่ก็จขบ.ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะอธิบายตรงไหน )

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนได้ ( เมื่อจำเป็น ) เช่น พอคนอื่นไม่เห็นสวยดีกับคุณ A และเกิดการผลิตเรื่องเล่าอื่น ๆ ไปอีกใหญ่โต เช่นว่า เสื้อโป๊ ๆ ขัดกับธรรมเนียมนิยมของประเทศ T และเสื้อโป๊ ๆ นั้นมีปัญหากับแนวความคิด... คุณ A ย่อมมีทางเลือกสองอย่าง คือยืนยันว่า "เพราะสวยดีฉันจึงใส่" ต่อไป หรือคุณ A อาจจะรู้สึกว่าเรื่องเล่าเดิมนี้ไม่มีประโยชน์อีกแล้ว จึงเปลี่ยนไปเล่าเรื่องอื่นแทน เช่น อธิบายต่อไปว่าเห็นสวยดีจึงใส่ แต่ไม่รู้จริง ๆ ว่าใส่แล้วคนอื่นจะไม่เห็นดีด้วย จากนั้นก็เล่าเรื่องอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว จริงหรือไม่จริง ขึ้นมาซัพพอร์ตเรื่องเล่าเรื่องแรก ถ้าเรื่องเล่าเรื่องที่สองมีน้ำหนักพอ ไม่ว่ามันจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว ก็จะมีผลดีกับคุณ A ถ้าเรื่องเล่าเรื่องที่สองที่ยกมาซัพพอร์ตไม่สามารถทำให้ผู้ฟังพอใจได้ หรือผู้ฟังเห็นว่ามีน้ำหนักไม่พอ ก็จะเกิดผลไม่ดี

ส่วนคนที่เห็นการกระทำของคุณ A ก็จะเล่าเรื่องของตัวเองต่อ ๆ ไปเช่นกัน มีการต่อเติมเสริมแต่งตามแต่ที่ตัวเองเห็นว่า "ควรเป็นเช่นนั้น" เช่น อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะคุณ A เป็นคนไม่ดี อธิบายว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมประเทศ T มีลักษณะลักลั่นทางศีลธรรม อธิบายว่าเป็นเช่นนี้เพราะการกระทำดังกล่าวเคยได้รับการยอมรับมาก่อน จึงมีการเลียนแบบต่อ ๆ กันมา

การเล่าเรื่อง และการทำให้เรื่องเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมานั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่คนเล่ากับคนฟังเข้าใจร่วมกัน เช่น อยู่ในวัฒนธรรมของประเทศ T เหมือนกัน มีแนวคิด...เหมือนกัน เห็นความจริงบางอย่างในประเทศ T มาก่อนเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ การที่เรื่องเล่าจะหนักแน่นหรือไม่หนักแน่น สามารถเป็นข้ออ้างได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าวัฒนธรรมดังกล่าวจะยอมรับน้ำหนักของเรื่องแค่ไหน

ในวัฒนธรรมของประเทศ T พ่อแม่ถือเป็นคนที่สำคัญอันดับแรก ๆ ดังนั้น การอ้างถึงพ่อแม่ในเรื่องเล่า ( เช่น เพราะพ่อแม่ป่วยจึงต้องขอลางานไปดูแล ) จึงได้รับการยอมรับมากเป็นพิเศษ

ในขณะที่ในประเทศ A อันดับของพ่อแม่อาจลดความสำคัญลง หรืออาจมองในอีกมุมหนึ่ง เช่นว่า ถ้าหากพ่อแม่ไม่สบายแล้ว ตัวเองลางานไปดูแลก็ไม่เห็นดีตรงไหน เพราะตัวไม่ใช่ผู้ชำนาญการณ์ จะเป็นการเสียการงานและพ่อแม่นั้นก็ไม่ได้รับการดูแลดีเท่าที่ควร ดังนี้ จึงควรให้พ่อแม่ไปอยู่โรงพยาบาลหรือสถานบำบัดดีกว่า

แน่นอนว่าถ้าเอาเรื่องเล่าจากประเทศ T ไปเล่าในประเทศ A น้ำหนักของเรื่องเล่าย่อมเปลี่ยนไปทันที และ vice versa

ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้เห็นด้วยตา มีเพียงคุณ A ใส่เสื้อโป๊ และพ่อแม่ป่วย เท่านั้น ส่วนที่เหลือล้วนเป็นสิ่งเกิดจากปฎิสัมพันธ์ของวัฒนธรรมกับเรื่องเล่า เรื่องเล่าเกิดจากวัฒนธรรม และวัฒนธรรมก็ได้รับการ "ให้น้ำหนัก" ด้วยเรื่องเล่า

แต่พึงทราบว่า วัฒนธรรมนั้นเป็นของซับซ้อนอย่างยิ่ง และแม้ในวัฒนธรรมเดียวกัน ก็เต็มไปด้วยแนวความคิดตลอดจนเรื่องเล่าที่ปะทะสังสรรค์กันเองเป็นสิงคลีอยู่เสมอ

ใครฟัง จขบ.พูดแบบนี้ อาจจะบ่นอุอิว่าจขบ.เป็นพวกภววิสัยเกินไปนัก

ดังนั้นจะเล่าให้ฟังตอนที่ได้เรียนเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ปฏิกิริยาที่ปรากฏของจขบ. คือ "ปลง" ว่าทุกสิ่งเป็น "อนัตตา" ในบัดดล

จขบ. คาดว่าไอ้เจ้าเรื่องเล่า "อนัตตา" ของจขบ.นี้ คงไม่ต้องกับแนวความคิดของคนที่คิดไอเดียเรื่องเล่าขึ้นมา แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเรามีเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมต่างกัน

ในที่สุดแล้ว ต่อให้คิดเห็นอย่างไร เล่าเรื่องแบบไหน หรือฟังเรื่องแบบไหนมา พวกเราก็เป็นปลาที่อยู่ในน้ำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในเรื่องเล่าทางวัฒนธรรมอยู่ดี

ป.ล.ขอความกรุณาอย่าถกเถียงเรื่องความผิดหรือไม่ผิดของคุณ A หรือของสังคมประเทศ T หรือความคิดเรื่องพ่อแม่ของประเทศ A ในบล็อคนี้ เพราะจขบ.ไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนั้น




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2550    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 1:04:11 น.
Counter : 879 Pageviews.  

ขี้บ่น

รู้สึกเหมือนคิดอะไรเยอะแยะ แต่พอจะเขียนแล้วก็ลืมบ้าง ขี้เกียจตัวเป็นขนบ้าง

อย่างเช่นสักวันก็อยากเขียนเรื่อง "ข้อมูลของแฟนตาซี" เพราะชอบมีคนถาม ( ไม่ได้ถามแค่เราคนเดียว ) ว่าแต่งแฟนตาซีต้องใช้ข้อมูลหรือเปล่า ถ้าต้องใช้เอาแหล่งข้อมูลมาจากไหน

ที่จริงคือบางทีเราก็สงสัยว่าทำไมต้องถามเรื่อง "ข้อมูลของนิยาย" เพราะจริง ๆ แล้ว นิยายไม่ใช่รายงาน ต่อให้หามามากมายดีเลิศแค่ไหน ถ้าเขียนไม่สนุกมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ( แน่นอน เราไม่ได้ยกย่องนิยายที่เขียนอะไรผิด ๆ รวมทั้งไม่ได้บอกว่าโยนข้อมูลทิ้งไปเถอะ แต่ในที่สุดประโยชน์อย่างแรกของนิยายก็ไม่ใช่ประโยชน์เดียวกับสารคดีอยู่ดี )

คำถามแบบนี้ทำให้เรารู้สึกถึงความ superficial ในระบบความคิดของคนไทย คือคนไทยชอบคิดว่าอะไรที่ "ดี" จะต้องมีความเป็นทางการอยู่บ้าง แต่ไป ๆ มา ๆ ส่วนใหญ่ไอ้ที่เป็นทางการมันจะถูกหวาดกลัววางทิ้งไว้ เพราะจริง ๆ แล้วคนไทยเป็นชาติหลั่นล้า ชอบหลั่นล้ามากกว่าอยู่แล้ว ( แต่ก็รู้สึกผิดที่หลั่นล้าอยู่บ้าง )

วกกลับมาเรื่องแฟนตาซี พระเจ้าช่วย แฟนตาซีเป็นกล่องมหึมาที่มีแนวทางต่าง ๆ ใส่อยู่ประมาณสามล้านแบบ ไอ้แบบที่ไม่ต้องค้นก็มี แบบที่ต้องค้นก็มี จะให้ตอบแบบไหน ไอ้แบบต้องค้นนั้นก็ไว้ทางหนึ่ง แต่ไอ้แบบที่ไม่ต้องค้นนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคนเขียนปราศจากข้อมูลแล้วจะ "ไม่รู้อะไรเลย" สักหน่อย อย่าตัดนิยายออกจากบริบทของคนเขียนสิ คนเขียนนี่เป็นมนุษย์นะ เกิดเติบโตมาจนถึงอายุหนึ่งก็ต้องเรียนรู้อะไรมาบ้าง ไม่อย่างนั้นจะมีชีวิตรอดได้ยังไง สิ่งที่เรียนรู้มานั่นก็เป็น "ข้อมูล" ที่เก็บสะสมไว้เหมือนกัน

คนเขียนแฟนตาซีแต่ละคนล้วนแต่เป็นปัจเจก วิธีคิด วิธีบริหารความรู้ การตัดสินใจว่าจะค้นหรือไม่ค้น ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เป็นปัจเจกอันแผกไปตามบุคคล

และแฟนตาซีก็ไม่ได้แปลว่า "วรรณกรรมเยาวชน" เสมอไป ถ้าเห็นแฟนตาซีแล้วเหมาเป็นวรรณกรรมเยาวชนตะพืดตะพือหมด ก็คงจะได้เห็นอะไรแปลก ๆ อีกเรื่อย ๆ

...

เรื่องที่สองที่อยากพูดคือ "วรรณกรรมเยาวชน" ซึ่งเห็นสมควรว่าจะแบ่งเป็น children's literature กับ young adult fiction สักทีแล้ว รวมทั้งให้ความรู้กับสังคมสักทีว่าของทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน แล้วก็บอกด้วยว่าก่อนนี้ตลาด young adult ในไทยมันว่าง เพราะอย่างนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นในช่วงประมาณห้าปีหลังนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากสรวงสวรรค์ ( รวมทั้งไม่ใช่คำสาปจากนรก ) แต่เป็นการแสดงให้เห็นความจริงว่ามีช่องว่างที่ไม่มีคนสนใจอยู่ และเป็นช่องว่างที่ว่างมากเสียจนถมไม่เต็ม

แต่ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นผลพวงมาจาก "รุ่น" ด้วย คือในปัจจุบัน ช่วงปีของแต่ละ generation มันแคบลง ที่แคบลงเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คนแต่รุ่นมักจะสามารถไอเดนติฟายกับเทคโนโลยีในสมัยของตัวเองได้ ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วเท่าไร โลกทัศน์ของคนก็จะเปลี่ยนเร็วเท่านั้น เช่นคนยุคหนังโรงกับคนยุคทีวีย่อมจะคิดไม่เหมือนกัน

นี่ยังมีเรื่องการตลาดด้วย แต่ถ้าพูดถึงเรื่องการตลาดก็คงต้องพูดถึงเรื่องทุนนิยม...

...

มีเรื่องน่ารำคาญอีกอย่างหนึ่ง คือพอพูดอย่างนี้มากเข้า ก็จะถูกหาว่าแก่ทฤษฎี โธ่เอ๋ย ทฤษฎีก็เป็นแค่เครื่องมือเท่านั้นละ แล้วคิดว่าคนที่พูดว่าแก่ทฤษฎีนั่นไม่มีทฤษฎีหรือ ก็ทฤษฎีก็คือข้อสมมุติฐานไม่ใช่หรือ คือระบบความคิดแบบหนึ่งที่ถูกจัดให้เป็นระเบียบ ไม่ว่าใครก็มีวิธีการมองโลก มีระบบความคิด และมี "ทฤษฎี" กันทั้งนั้น คนที่คิดว่าทฤษฎีเป็นเรื่องเฉพาะในหนังสือเรียน ต้องวางทิ้งไว้หยิบขึ้นมาไม่ได้เดี๋ยวมันกัดต่างหาก ที่ไม่ยืดหยุ่น

...

เรื่องที่สี่ที่อยากพูดคือเรื่อง stereotype ซึ่งทำให้ความซับซ้อนในสากลจักรวาลนี้หายไปหมด และทำให้เกิดปัญหาบนความมักง่าย

...

บ่นเสร็จแล้วก็คิดว่าแต่ละหัวข้อนี่ถ้าจะเขียนจริง ๆ คงยาวมาก ๆ เลย...




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:25:10 น.
Counter : 430 Pageviews.  

โปโหมะไม่ใช่ขวาน ( และไม่ได้มาจากดาวอังคาร )

วันนี้อ่านบทความเรื่องโปโหมะ ( โพสต์โมเดิร์น ) กับประวัติศาสตร์

เนื้อหาจริง ๆ มันจะเป็นยังไง เราเห็นว่าไม่ควรพูดถึงมากนัก เพราะความเข้าใจเกี่ยวกับโปโหมะนั้นมีมาก หลากหลาย และยากจะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างครอบคลุมในเนื้อที่แคบ ๆ

อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราอยากพูดถึงมันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกของเราเองมากกว่า

จำได้ว่าสมัยที่รู้จักโปโหมะใหม่ ๆ นั้น อาจารย์ถามไถ่พรรคพวกในห้องว่าเป็นยังไงกันบ้าง เราก็บอกอาจารย์ว่า "ปลงไปมากเลยค่ะ"

ถามว่าทำไมถึงปลงไปมาก ก็คิดว่าคงเป็นเพราะเราตีความโปโหมะเข้ากับความเป็นตัวของตัวเอง คือเรามีรากคิดอย่างพุทธ ดังนั้นโปโหมะสำหรับเรา จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ความไม่จริงแท้แน่นอน ความไม่มีอะไรจีรัง และความไร้สาระของการยึดติดกับอะไรต่าง ๆ

แต่เนื่องจากเราเป็นคนคิดมาก หลังจากใคร่ครวญความอจีรังของโปโหมะไปนาน ๆ เข้าก็ชักประสาทเสีย รู้สึกว่ามันอจีรังเกินไป ( แล้วโว้ย ) และส่งผลให้เกิดอาการช็อตทางความคิดอยู่พักหนึ่ง หลังจากนั้นก็เกิดอาการกินโปโหมะไม่เข้าอยู่นานเหมือนกัน

แต่บทความที่อาจารย์ให้มานี้ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาอีกอย่าง คืออาจารย์คนที่เขียนเขาบอกว่าคนที่ใช้โปโหมะนั้นมีจุดยืนของตัวเองที่แตกต่างกันไปได้ โปโหมะเป็นกระบวนทัศน์ที่ยอมรับความแตกต่าง

เราคิดว่าเราก็ฟังคำนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่บังเอิญอะไรสักอย่างในวิธีเขียนของอาจารย์มัน "เก็ต" กับเรา

ทำให้เราเกิดพุทธิปัญญา ( ที่คนอื่นเขามีมาตั้งนานแล้ว ) ว่าโปโหมะไม่ใช่ขวาน ( อย่างน้อยก็สำหรับเรา )

ว่าเข้าจริงคือคนที่ใช้โปโหมะเป็นขวานนั้น ก็หลงติดอยู่ในกับดักของโปโหมะ คือเกิดคิดวิเศษขึ้นมาว่าไอ้ที่ถืออยู่ในมือเป็นของจีรังยั่งยืน ไอ้นี่แหละอาวุธมหัศจรรย์ ตูจะฆ่าฟันคนอื่นที่คิดไม่เหมือนกันให้หมดสิ้น ตูสิถูก เฮ๊อออออะ ( กรุณาทำเสียงให้เหมือนคนกำลังเอาขวานจามกบาลชาวบ้าน )

ก่อนจะเฮ๊อออะจนคนอื่นตายเกลื่อน ขอให้คิดด้วยว่าตัวเองทำอะไรต่างกะแนวคิดด๋อยสมัยปลายศ.19 ต้นศ. 20 ตรงไหน ไอ้ที่ว่าโลกนี้มีคนสูงกะคนต่ำ คนขาวเป็นคนสูง ส่วนไอ้เหลืองไอ้ดำและไอ้แดงเป็นคนต่ำนั่นแหละ นี่เปลี่ยนกันแค่ว่าโปโหมะเป็นขีปณาวุธวิเศษ ส่วนความคิดอื่นนั้นด้อยกว่า ล้าหลัง และด๋อย ( ย้ำ )

ถ้าโปโหมะกลายเป็น mother narrative ขึ้นมาเมื่อไร โปโหมะก็จะสิ้นสภาพโปโหมะไปในทันที

และโปรดทราบว่าถึงฆ่ายิวตายหกล้านคน อารยันก็ไม่ได้ก่อเกิดขึ้นมาอย่างไร ถึงฆ่าแนวคิดอื่นตายไปหกล้านคน มันก็ใช่ว่าจะทำให้โลกอยู่ง่ายขึ้นสำหรับตัวเองได้ อย่างไรอย่างนั้นเหมือนกัน

สรุปว่าก็ยังคงแสวงหาต่อไป




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 0:20:24 น.
Counter : 519 Pageviews.  

being female

เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งยินว่ามีคนเห็นข้าน้อยเป็นทอม

แน่นอนว่าคนเห็นนั้นเห็นกันชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

และมีเรื่องอื่นในใจให้คิดมากอยู่แล้ว

แถมตอนเจอกันเรายังใส่เสื้อเชิ้ตทับเสื้อยืด หน้าตาเหมือนเสื้อชอปเด็กวิศวะ สไตล์การแต่งตัวช่างแมนดีแท้

ที่จริงตั้งแต่เด็ก ๆ มาก็ไม่ได้ชอบใส่กระโปรง จำได้ว่าเมื่อก่อนบิดามีนโยบายประหยัดงบประมาณด้วยการตัดผมลูกเอง เราก็เรียกร้องว่าจะเอาสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งสั้นยิ่งดี มีอยู่สมัยหนึ่งที่เคยคิดอยากเป็นผู้ชาย

แต่ยังไงก็ไม่ได้เป็นทอม

เราเคยอ่านโกวเล้ง ( น่าจะ "วีรบุรุษสำราญ" ) มีฉากเล็ก ๆ ฉากหนึ่ง เด็กฝาแฝดชายหญิงแต่งตัวเหมือนกัน โดยใส่ชุดเด็กผู้ชาย ระหว่างนั้น เจ้าแฝดชายมันเกิดทำอะไรสักอย่างไม่ถูกจริตแฝดหญิง เลยถูกด่าเข้าให้ว่าผู้ชายงี่เง่า แฝดชายก็โต้กลับมาว่า ว่าเขางี่เง่า แต่ทีตัวเองละทำไมอยากแต่งตัว/อยากเป็นผู้ชาย

จากนั้นคุณโกวเล้งก็เปรย ๆ ว่า เออ แปลกดีนะ ผู้หญิงคนไหน ๆ ก็ว่าผู้ชายงี่เง่า แต่ตัวเองก็อยากเป็นผู้ชายทั้งนั้น

แน่นอนว่าไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่อยากเป็นอย่างนั้น ( และแน่นอนว่าคุณโกวเล้งก็มองจากมุมมองของคุณโกวเล้ง ) ชีวิตนี้เราว่าเราเจอผู้หญิงหลายคนที่ไม่เคยอยากเป็นอย่างอื่นนอกจากผู้หญิงเลย

แต่เราก็ว่าเราเจอหลายคนที่เคยอยากเป็นผู้ชาย เพราะไม่อย่างนั้น ทำไมนางเอกแบบฉบับแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมนัก จึงได้เป็นผู้หญิงแบบ "เก่งกล้า" และได้รับคำยกย่องเพราะทำอะไร ๆ "ไม่เหมือนผู้หญิงอื่น"

ที่จริงเราคิดว่า range ลักษณะนิสัยของผู้หญิงนั้นกว้างอย่างยิ่ง ผู้หญิงย่อมมีตั้งแต่ "ญิ้งหญิง" ไปจนถึงแบบ "เกือบเหมือนผู้ชาย" โดยที่ผู้หญิงที่ "เกือบเหมือนผู้ชาย" นั้นมิได้เป็นทอมแต่ประการใด

ดังนั้นด้วยความรู้สึกส่วนตัว ( ส่วนตัวจริง ๆ ) ของเรา เราจึงคิดว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า "ผู้หญิงทุกคนอยากเป็นผู้ชาย" แต่เราคิดว่ามันเป็นเพราะ "มาตรฐานการวัด" ในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่อยู่ เช่น ถ้าสภาพแวดล้อมโยงคำว่า "เพศชาย" กับ "ความแข็งแกร่ง" และ "เพศหญิง" กับ "ความอ่อนโยน"

ที่จริง เราก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง แต่เราคิดว่าสำหรับเด็ก ๆ การจะมาเข้าใจว่าในความอ่อนโยนก็มีความเข้มแข็งอะไรแบบนั้น มันเป็นฟังก์ชั่นที่เกินความเข้าใจไป เราคิดว่าคงมีเด็กผู้หญิงเยอะอยู่ที่อยากจะ "เข้มแข็ง" อยากจะเป็น "ผู้นำ" แต่เพราะยังมองไม่ชัดเท่าที่ควร จึงรู้สึกว่าเพศของตนไม่สามารถให้สิ่งที่ตนปรารถนาได้ เมื่อไม่ได้ก็ย่อมอยากจะเป็นอีกเพศหนึ่ง คิดฝันไปเองว่าเป็นผู้ชายแล้วจะต้องมีความดีกว่าด้วยประการต่าง ๆ แน่ ๆ

เรามีความเห็นว่าที่แฝดหญิงในเรื่องของโกวเล้งบอกว่า "ผู้ชายงี่เง่า" นั้นเป็นอารมณ์ของคนที่ ( นึกว่า ) ตัวเองไม่มี ไปมองคนที่ตัวเอง ( นึกว่า ) มี ก็เหมือนลูกคนทำมาหากินที่บางครั้งก็นึกหมั่นอกหมั่นไส้เพื่อนที่เป็นลูกคุณหนูว่าสบายเสียจริง

แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับ "การสนใจเพศตรงข้าม" ด้วย เหมือนว่าอะไรที่ตัวเป็นอยู่แล้วมันดูน่าเบื่อ อะไรที่ไม่ได้เป็นก็ดูน่าสนใจ วิธีสนใจของมนุษยชาติก็มีต่าง ๆ กันไป

หลายปีทีผ่านมา เราก็ยังคงเป็น "ผู้หญิงแบบนี้" มี "วิธีการมองแบบนี้" และเราก็เห็นคนแบบต่าง ๆ ซึ่งมองแบบต่าง ๆ กันไป แล้วแต่ว่าใครจะตีความตัวของตัวเองแบบไหน

บางทีเราก็อยากรู้วิธีคิดของผู้ชายและ range นิสัยของผู้ชายเหมือนกัน แต่ไม่รู้จะไปถามใคร เราคิดว่าสำหรับผู้หญิง การจะทำตัวแมนขึ้นมาหน่อยก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะทำให้กลายเป็นทอม แต่ในสายตาของสังคม หากว่าผู้ชายทำตัวหญิงขึ้นมาแม้กระทั่งดีกรีไม่มากนัก ก็จะถูกสงสัยว่าเป็นอย่างอื่นทันที เราสงสัยว่าเป็นเพราะอย่างนี้หรือเปล่า คนที่เขาคิดว่าเราเป็นทอมคนนั้น เขาถึงคิดว่าเราเป็นทอม

บางทีเราก็สงสัยเรื่องมาตรฐานของสังคม เราคิดว่ามาตรฐานเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แต่คนเราคิดเอาเองว่ามี




 

Create Date : 15 กันยายน 2549    
Last Update : 17 กรกฎาคม 2551 1:38:13 น.
Counter : 518 Pageviews.  

why superman needs the world

...บทความนี้สปอยล์...

ไปดูคุณซุปมาวันอาทิตย์

ที่จริงตัวเองไม่ได้ตั้งใจจะดู แต่พอไปดูแล้ว ก็พบว่าคุณซุปเวอร์ชั่นนี้ตีความอะไรหลาย ๆ อย่างได้น่าสนใจดี สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือการตีความ "ความเป็นซูเปอร์แมน" ในมุมซึ่งเราจำไม่ได้ว่าภาคเก่าได้พูดถึงไว้หรือเปล่า

เราคิดว่าตั้งแต่แรกมา “ซูเปอร์แมน” ( รวมทั้งซูเปอร์ฮีโร่ส่วนใหญ่ ) ก็ถูกสร้างขึ้นในฐานะสัญลักษณ์ของอัตตาแบบหนึ่งของมนุษย์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าแกมีทั้งภาคที่เป็น “คนธรรมดา” และภาคที่สามารถสลัดความเป็นคนธรรมดานั้นทิ้ง เพื่อจะกลับกลายเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่เต็มไปด้วยพลัง ความสามารถ มีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้อย่างที่ตัวเองปรารถนา แน่นอนว่าความเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” ย่อมมีความหลากหลายในตัว และมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ถึงอย่างนั้น เราก็คิดว่าซูเปอร์แมนนั้นเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่คลาสสิค” คือหมายความว่าแกเป็นต้นแบบของความเป็นยอดมนุษย์ ในหลาย ๆ ทางและหลาย ๆ ด้าน

หนึ่งในลักษณะประจำตัวของซูเปอร์แมนก็คือ ความดีงามที่เกือบจะเป็น absolute กล่าวคือแกเป็น “ซูเปอร์” ในด้านความดีด้วย แกเป็นไอค่อนแห่งความดี และแม้ว่าภายหลังอาจจะมีคนเขียนการ์ตูนให้แกเป็นแบบอื่น มีนิสัยใจคออย่างอื่น แต่เราก็ยังเห็นว่าลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจและเห็นว่า “นี่คือซูเปอร์แมน” ก็คือ “ความดี”

ในทางกลับกัน เราก็เห็นด้วยว่า “ความดี” ของซูเปอร์แมนนั้นมีส่วนในการกีดขวางตัวแก คือถึงแม้ว่าแกจะดังมาก เป็นคลาสสิก และมีความสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง แต่ในยุคหลัง ๆ ซึ่งซูเปอร์ฮีโร่มีเกลื่อนกล่นแบบนี้ เรากลับไม่ค่อยเคยเห็นคนที่พูดว่าชอบซูเปอร์แมนที่สุด เหตุผลประการสำคัญก็คือเพราะแกดู “ธรรมดา” ( เมื่อเทียบกับซูเปอร์ฮีโร่รุ่นหลัง ) และแก “เป็นเด็กดี” ความเป็นเด็กดีทำให้ความธรรมดายิ่งดูธรรมดา

แต่ในหนังเรื่องที่เราดูเรื่องนี้ เรารู้สึกเหมือนตัวหนังกำลังตั้งคำถามกับความ “ดี” และความ “สมบูรณ์” ของคุณซุป ประเด็นที่เรารู้สึกค่อนข้างชัดมากก็คือ นอกจากหนังจะแสดงความเหนือมนุษย์ของแกออกมาแล้ว หนังยังได้แสดงความ “แปลกแยก” ของแกให้เราเห็นด้วย คุณซุปในหนังนั้นหล่อจนผิดมนุษย์ มีความรู้สึกบางอย่างที่ unreal อยู่ในตัว ( เราไม่แน่ใจว่าเรารู้สึกอยู่คนเดียวหรือเปล่า ) นอกจากนั้น ตั้งแต่แรกที่แกกลับมาจากดาวคริปตัน ก็แสดงให้เห็นว่าแกอยากจะกลับไปหา “พวกเดียวกัน” ที่ใดสักแห่ง แต่แกทำไม่ได้ มันไม่มีที่ให้แกกลับไป และแกเหลือตัวคนเดียว ( แม้จะไม่เดียวดายอย่างที่หนังว่า )

นอกจากนั้น เรารู้สึกว่าหนังค่อย ๆ แสดงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถึงความแปลกแยกในชีวิตของคุณซุป ที่จริงในช่วงแรก ๆ มีหลายตอนที่เรารู้สึกว่าน่ารำคาญ เช่น ตอนที่แกทำอะไรยิ่งใหญ่ได้แล้วคนโห่ร้องทั้งสนามกีฬา เรารู้สึกว่าภาพของแกที่ยืนอยู่ตรงนั้นมันช่างเต็มไปด้วยอัตตาอันเบ่งพอง ( แบบอเมริกัน ) และเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิบูชาฮีโร่โดยแท้

แต่ไป ๆ แล้ว เรากลับรู้สึกขึ้นมาว่าที่จริง ตัวตนของคุณซุปที่แท้นั้นอยู่ตรงไหน แกไม่ใช่คลาร์ก เคนท์ และที่จริง แกก็ไม่ใช่ “ซูเปอร์แมน” หรอก เพราะซูเปอร์แมนจริง ๆ ก็คือความคาดหวังของคน คนแต่ละคน ( แม้กระทั่งหลุยส์ เลน ) ต่างสร้างภาพ “ซูเปอร์แมน” ขึ้นเหมือนกับสร้างดารา และอัดแกด้วยความหวัง ความปรารถนา ความหวาดกลัว ความไม่แน่ใจ ความอยากและไม่อยากของตัวเอง ด้วยเหตุที่คุณซุปแกตัดสินใจว่าจะเล่นบทนี้ แกจึงต้องรับทุกสิ่งทุกอย่างมาไว้ในตัวแกด้วย ดังนั้นตัวตนที่แท้จริงของแกจึงเป็นความลับแก่สายตาชาวโลก คนที่เข้าใกล้ตัวแกที่สุดอาจจะเป็นแม่ของแก แต่เราคิดว่าในที่สุดก็อาจจะไม่มีใครเข้าใจแกเลย เพราะ แม้ว่าจะเติบโตมาท่ามกลางมนุษย์ และถูกมนุษย์เลี้ยงดู แต่ที่จริงแกก็เป็นเอเลี่ยน จังหวะชีวิต ความสามารถ หรือแม้กระทั่งกาลเวลาของแกไม่เหมือนมนุษย์ ( เราสงสัยว่าปรกติแกจะไม่นอนตอนกลางคืนด้วย ) และหนังก็บอกชัดเจนว่า เมื่อไม่ได้เป็นมนุษย์ และอย่างดีก็ทำได้เพียงแต่ใช้ชีวิตโดย “เลียนอย่างมนุษย์” แล้ว ก็ย่อมไม่สามารถได้หลายสิ่งหลายอย่างอย่างมนุษย์ รวมทั้งสิทธิ์ในการแสดงความต้องการที่แท้จริง และสิทธิ์ในการมีครอบครัว ( เราสงสัยว่าถึงคุณซุปจะบอกความจริงกับหลุยส์ แต่ชีวิตคู่ของแกจะเป็นแบบไหน เพราะมันเท่ากับดึงหลุยส์เข้ามาในโลกที่บางทีอาจจะไม่ค่อยน่าพิสมัยนัก ...นี่ยังไม่คิดถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ในฐานะที่คุณซุปแกไม่ใช่มนุษย์ด้วย )

ในหนังมีบทความสองบทคือ why the world doesn’t need superman และ why the world needs superman ( มีแต่ชื่อยังไม่ทันได้เขียน ) ทั้งสองบทความนั้นเป็นความรู้สึกของ “โลก” ต่อ “ซูเปอร์แมน” ( ที่จริงก็คือความรู้สึกของหลุยส์ต่อคุณซุป ) แต่โดยรวม ๆ แล้วเราคิดว่ามันมีเหตุผลทั้งสองบท คือความสัมพันธ์ระหว่างซูเปอร์แมนกับโลกมันยากจะอธิบายออกมา ได้ เพราะพูดจริง ๆ โลกก็อยู่ได้โดยไม่มีซูเปอร์แมน คือมันเป็นแบบไหนมันก็เป็นแบบนั้นไปตามเดิม แต่อีกทางหนึ่ง การมีซูเปอร์แมนอยู่ในหลาย ๆ แง่มันก็เหมือนฝันที่เป็นจริง เหมือนกับเป็นความโชคดีอันยิ่งใหญ่ที่จะบอกว่าไม่ต้องการก็ออกจะเกิน ๆ ไปหน่อย

ที่จริง หนังมันมีอะไรหลายอย่างที่ทั้งสมเหตุสมผล และไม่สมเหตุสมผล แต่ในที่สุดแล้ว การเน้นความเป็น “เอเลี่ยน” ให้เหนือกว่าความเป็น “ซูเปอร์แมน” ในเรื่องนี้ มันทำให้เราคิด และทำให้เราอยากตั้งคำถามกลับด้วยว่า why superman doesn’t need the world และ why superman needs the world

( เดี๋ยวมาเขียนต่อ )




 

Create Date : 04 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2551 23:35:58 น.
Counter : 522 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.