The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
(ต่อจากอันข้างล่าง)

เขาเขียนต่อ เราก็แชร์ต่อ

###

องค์ประกอบทางความคิด กระบวนการต่อสู้ และสงครามชนชั้นของคนเสื้อแดง
Yesterday at 11:58pm
By: Kornkarun Cheewatrakoolpong

หมายเหตุ: ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ ยินดีให้นำไปแชร์ค่ะ แต่ขอความกรุณาอย่าทำเป็น fwd mail ค่ะ ขอบคุณค่ะ
หมายเหตุ 2: ข้อเขียนของเราแสดงถึงความคิดของเราที่มีต่อเหตุการณ์ ยินดีรับฟังความเห็นต่าง แต่ขออนุญาตไม่โต้แย้งด้วยค่ะ

เนื่องด้วยครั้งที่แล้วได้เขียนถึงสถานการณ์การต่อสู้ของเสื้อแดงในปัจจุบัน วันนี้จึงอยากเขียนต่อถึงกระบวนการทางความคิดในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในมุมมองของเรา

ในกลุ่มเสื้อแดงนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มทางความคิดที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนสนับสนุนทักษิณ (กลุ่มใหญ่ที่สุด) กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับสองมาตรฐานและความเหลื่อมล้ำในสังคม กลุ่มคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมเก่า กลุ่มไม่เอาเจ้า (บางส่วนรวมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์) และกลุ่มที่เสียผลประโยชน์บางอย่าง ความหลากหลายเหล่านี้มารวมกันด้วยเป้าหมายสำคัญคือการล้มกลุ่มอำนาจปัจจุบัน แต่เป็นการรวมกันอย่างไม่เกาะติด ทำให้เกิดปัญหาการนำที่สะเปะสะปะในหลายช่วง ความเห็นต่างกันเองจนบางทีทะเลาะกันออกอากาศ ไปจนถึงการยากที่จะเอาม็อบลง วันนี้สด ๆ ร้อน ๆ แค่ประกาศให้หยุดความรุนแรง ใช้สติ ยังโดนปาของใส่ซะแล้ว… ถ้าลองมองแต่ละกลุ่มจะออกมาได้ดังนี้

1. กลุ่มสนับสนุนทักษิณ
ทักษิณถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในจุดเริ่มต้นของการชุมนุม หรืออาจจะมีส่วนโดยตรงเองในการจัดตั้งการชุมนุมโดยแรกเริ่ม ที่เริ่มจากทักษิณส่วนหนึ่งเพราะเป็นสิ่งที่รวมคนได้ง่าย สิ่งที่ต้องยอมรับคือ มีคนอีสานและเหนือที่รักทักษิณอยู่จริง และเป็นจำนวนมาก หากเริ่มต้นความคิดโดยคิดว่าคนเหล่านี้เป็นแค่เพียงกลุ่มคนที่ถูกว่าจ้างมา กระบวนการแก้ปัญหาก็คงไม่มีวันจบ นี่คือเรื่องที่ชนชั้นกลางและรัฐบาลต้องยอมรับให้ได้ก่อน การตัดเงินอย่างเดียวไม่ช่วยให้ความแตกแยกจบไปได้

ทักษิณประสบความสำเร็จในการซื้อใจคนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะในแถบอีสาน ด้วยปัจจัยสำคัญที่ถิ่นอีสานนั้นขาดความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายเสรีไทย ต่อด้วยการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ ทำให้เดิมทีงบประมาณตกอยู่ในพื้นที่ส่วนนี้น้อยมาก ความเจริญจึงด้อยกว่าพื้นที่อื่นอย่างชัดเจน (เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะแรกเริ่มเดิมที นักการเมืองหัวก้าวหน้าหลายท่านมาจากทางอีสาน) พอทักษิณมาด้วยนโยบายเอาเม็ดเงินเข้าพื้นที่อย่างจับต้องได้ จึงซื้อใจคนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และคนเหล่านี้มีความภักดีมากกว่าคนชั้นกลางที่เปลี่ยนใจง่ายยิ่งนัก ซึ่งก็ต้องชมว่าคนคิดนโยบายให้ทักษิณนั้น "ฉลาด" จริง ๆ ไม่ใช่ทุกนโยบายถูกต้อง แต่มันมัดใจคนได้ชะงัดนัก

อย่างไรก็ตาม ทักษิณเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เสื้อแดงขยายตัวไปได้มากกว่านั้น ซึ่งไม่ใช่ว่า เสื้อแดงละทิ้งทักษิณไป เราจะเห็นความสำคัญของทักษิณต่อเสื้อแดงอย่างแยกกันแทบไม่ออกดำเนินอยู่ แต่หากใช้เพียงเรื่องนี้ การหาแนวร่วมเพิ่มจะเป็นไปได้ยาก จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นข้อต่อไป

2. สองมาตรฐานในสังคม และความเหลื่อมล้ำในสถานะทางสังคม
ปัญหาสองมาตรฐานในสังคมและชนชั้น คือประเด็นที่เสื้อแดงใช้ในการเคลื่อนไหวทุกวันนี้เป็นหลัก ต่อจากเรื่องของทักษิณ อย่างไรก็ตาม ในที่นี้เราอยากเรียกคำว่า "ชนชั้น" เป็น "สถานะทางสังคม" มากกว่า ด้วยเหตุที่ในไทยนั้นมิได้มีชนชั้นแต่อย่างใด หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงจากสถานะทางสังคมหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง อยู่ในวิสัยที่กระทำได้ แต่คนในแต่ละสถานะจะมีความแตกต่างใน capacity ที่แตกต่างกันเป็นสำคัญ

สองมาตรฐานและความแตกต่างในสถานะทางสังคมเป็น campaign ที่ฉลาดและจุดติดง่ายจริง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มีจริงในสังคมไทย และไม่ใช่เพิ่งจะมามีใน 4 ปีนี้ด้วย แต่เป็นสิ่งที่มีมานานมาก สองมาตรฐานนั้นเกิดจากปัญหาความอ่อนแอของระบบตุลาการซึ่งอิงการเมืองมาตลอด ถ้าสังเกตดูคดีการเมืองในไทย จะเป็นไปตามกระแสแห่งอำนาจในยุคนั้น ๆ รวมถึงความอ่อนแอในระบบตำรวจเอง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่คนไทยนั้นมักยกย่องคนที่ "สถานะ" เป็นหลัก สถานะที่ว่านั้นอาจจะมาจากชาติตระกูล ฐานะ หรือหน้าที่การงาน นำมาสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกัน

ส่วนในเรื่องของสถานะทางสังคมนั้น เป็นสิ่งที่หยั่งรากลึกในเมืองไทย ความแตกต่างด้านความรู้สึกของคนที่มีมากนั้น เกิดจากการยกย่องคนมีสถานะดังที่ได้กล่าวมา แต่พื้นฐานนั้นมาจากการเข้าถึง "ทรัพยากร" ได้แตกต่างกันระหว่างคนแต่ละกลุ่ม และปัญหาหลักคือระบบการศึกษาพื้นฐานที่แสนจะย่ำแย่จนไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 30 ประเทศที่ใช้งบประมาณแผ่นดินไปกับการศึกษาได้สูงสุด ! (ข้อมูล UN) การศึกษาเป็นการปรับปรุงพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหานี้ แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนสนใจทำ เว้นแต่ทำให้เละลงเรื่อย ๆ (กรุณาดูระบบการสอบเข้ามหาลัยในปัจจุบัน ซึ่งเลวร้ายลงกว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างมาก)

แต่เมื่อมันมีอยู่จริง และอยู่ในใจของคน ทั้งสองปัจจัยนี้จึงจุดคนให้มาร่วมได้ติด ความหวังที่จะเปลี่ยนสถานะทางสังคมตามที่แกนนำบอกเพียงชั่วข้ามคืนมาอยู่ในมือ คนเหล่านี้จึงคว้าเอาไว้ แม้ว่าสิ่งที่เสื้อแดงเรียกร้องอยู่จะดูไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ใด ๆ ก็ตาม

3. แดงฝ่ายซ้าย
กลุ่มนี้แม้มีอยู่ไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่สร้างกลยุทธ์และกรอบแนวคิดในการต่อสู้ครั้งนี้ของคนเสื้อแดงเลยทีเดียว หากถามว่าทำไมเราถึงคิดเช่นนี้ ก็ด้วยลักษณะการต่อสู้ที่มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากของการต่อสู้คอมมิวนิสต์ในอดีต ขอไล่เลียงมาตามนี้

3.1 การหยิบยกเรื่องของชนชั้นมาใช้ในการต่อสู้ คำพูดที่ได้ยินบ่อยคือ เมื่อประเทศใดถูกปกครองด้วยความอยุติธรรม ประชาชนในประเทศจะลุกขึ้นสู้ การต่อสู้ครั้งนี้จึงตรงตาม "ทฤษฎี" เห็นบ่อยในเว็บแดงค่ะ ^^ หากถามว่าทฤษฎีที่ว่านี้คืออะไร ที่ตรงสุดก็คือ marxism นี่ล่ะค่ะ องค์ประกอบในการต่อสู้ที่ว่านั้น แท้จริงแล้วมาจาก 1 ในสามหลักสำคัญของ marxism คือ Advocacy of proletarian revolution กล่าวคือการจะเอาชนะชนชั้นนายทุน (หรือชนชั้นสูง) เพื่อเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้ ต้องมีการปฏิวัติโดยประชาชนเพื่อล้มล้างชนชั้นดังกล่าว ฟังดูคุ้น ๆ ว่าคล้ายไหมคะ? เพียงแต่การต่อสู้ครั้งนี้ของแดงอาศัยมวลชนตามแนวทางของเหมาคือ urban proletariat เพราะสภาพทางสังคมของไทยใกล้เคียงจีนมากกว่ารัสเซีย อีกทั้งฝ่ายซ้ายไทยก็เทรนมาจากจีนเป็นหลัก

3.2 การสู้โดยอาศัยสงครามข่าวสาร หรือที่เรียกว่า propaganda เป็นหลัก เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่มวลชน และสร้างความไม่เชื่อมั่นในตัวรัฐ ซึ่งสิ่งนี้เป็นแนวทางที่พคท.ไทยใช้ในอดีต ลักษณะที่ใช้ก็คือการใช้สื่อวิทยุชุมชน ในการสร้างข่าวที่สร้างความหวาดกลัว (เมื่อกลัวจะเชื่อง่าย) สร้างความหมายเชิงสัญลักษณ์ ปลุกระดม ทำให้เชื่อในด้านเดียวและรับข่าวในด้านเดียว ไปสู่กระบวนการล้างสมอง

ตัวอย่างข่าวเท็จเคยกล่าวไปคราวที่แล้วค่ะ เช่น เรื่องการสั่งฆ่าคนเมื่อเม.ย. 52 โดยอาศัยคลิปตัดต่อ การนำภาพมากล่าวอ้างว่าเป็นผู้ตาย ในหลายครั้งภาพที่นำมาใช้เป็นภาพในอดีต เช่น ภาพศพจากพฤษภาทมิฬ ภาพศพทหารที่เสียชีวิตในภาคใต้ เพื่อสร้างความหวาดกลัวถึงความเหี้ยมโหดเกินความเป็นจริงของรัฐบาล (ที่หลายคนมองว่าแสนจะอ่อนระทวย) ข่าวคำสั่งบุกสลายม็อบโดยไม่สนจำนวนคนตายหลายครั้งโดย "ทหารแตงโม" (ทำให้แปลกใจ บิ้วท์กันทุกวันนี้แบบนี้ยังไม่เลิกเชื่อกันอีกหรือ)

สัญลักษณ์ที่ใช้เริ่มต้นด้วย "ทักษิณ" ตามมาด้วย "ชนชั้น"

และการเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดตามคำพูดของแกนนำกลับผิดเป็นถูกได้ทีเดียว เช่น บุกรพ.จุฬาที่กลายเป็นความชอบธรรมของแดงเพียงข้ามคืน ถ้าใครตามเว็บบอร์ดเสื้อแดงจะเห็นอาการมวลชนเปลี่ยนไปมาตามความคิดของแกนนำแบบหน้ามือเป็นหลังมือ (เช่น ขอโทษรพ.จุฬาตอนเหวงขอโทษ ประณามรพ.จุฬาเมื่อแกนนำเริ่มประณาม หรืออยู่ ๆ ก็มีกระแส UN มาช่วยเต็มไปหมด อยู่ ๆ ก็มีกระแสพรก.ฉุกเฉินประกาศโดยมิชอบเต็มไปหมด เปลี่ยนระบบความคิดตามแกนนำแม้จะเป็นเรื่องที่ดูประหลาดในสายตาคนทั่วไป)

3.3 การเน้นเครือข่ายภาคประชาชนและการจัดตั้งรร.นปช. พาลให้คิดถึงรร.พคท.ในอดีตจริง ๆ และการตั้งเครือข่ายทางความคิดแบบนี้ลอกแบบมาจากลัทธิเหมากันเลยทีเดียว

3.4 ยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบตั้งป้อมปักหลักสู้กลางเมืองในรูปแบบของบอลเชวิค การใช้กลยุทธ์แยกกันเดิน รวมกันตี สลับกับการปลุกระดมสงครามกลางเมือง หรือการใช้การก่อการร้ายและจลาจลเพื่อสร้างความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนเบือนหน้าหนีเจ้าหน้าที่รัฐ ล้วนแล้วแต่เป็นรูปแบบการต่อสู้ของพคท.มาก่อนทั้งนั้น

ในข้อนี้ขอสรุปเลย โดยส่วนตัวไม่อาจประเมินได้ว่า ในกลุ่มเสื้อแดงมีแดงซ้ายเยอะแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในแง่ของการออกแบบทั้งยุทธศาสตร์การต่อสู้และการระดมคน

ในส่วนของทางแก้ไขเพื่อลดความแตกแยกในระยะยาว ความเห็นส่วนตัวคิดดังนี้

1. บทบาทของรัฐในการลดระดับสถานะทางสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งต้องให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงระบบการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคุณภาพ การศึกษาในเมืองและในชนบท (ซึ่งคงเกิดได้ยาก ด้วยระบบให้แรงจูงใจครูอันแสนต่ำต้อยของเมืองไทย) ปรับปรุงการศึกษาในชนบทให้ตรงตามความต้องการของตลาดงานอย่างแท้จริง

นอกจากการศึกษาแล้ว ที่ต้องให้ความสำคัญคือระบบภาษีของเมืองไทย ที่ช่างเอื้อต่อคนรวยและทำร้ายคนจนเสียนี่กระไร ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก คืออะไร คนไทยไม่รู้จัก รวมถึงระบบ social security system ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทำรัฐสวัสดิการตามแนวสังคมนิยม แต่หมายถึงการมีสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึงที่ให้คนดำรงชีพได้

2. คนชั้นกลางในสังคม หมายถึงกลุ่มเสื้อเหลืองด้วยค่ะ ต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนรากหญ้า การ stereotype ต้องหมดไป ความคิดที่ว่าคนพวกนี้โดนซื้อเสียง ไม่ฉลาด หรืออื่น ๆ ต้องเลิกซะ ปัญหาในวันนี้ ส่วนหนึ่งต้องโทษการกระทำของพวกเรา ๆ นี่ล่ะค่ะ ที่ปฏิบัติต่อคนรากหญ้าแบบที่สร้างความน้อยเนื้อต่ำใจจนฝังลึก และถูกปลุกมาเป็นแนวร่วมได้ง่าย ถ้าระยะยาว เราไม่อยากให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก ปฏิบัติต่อเขาอย่างเท่าเทียมค่ะ ดังนั้นของดเว้นการแสดงความเห็นที่เรียกคนเสื้อแดงด้วยคำแทนที่เป็นคำดูถูกต่าง ๆ นะคะ ^^

3. ระบบตุลาการต้องนำการเมืองอย่าตามการเมือง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีศาลที่ตัดสินคดีได้ตามกระแสการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เริ่มเป็นนะคะ คดีฆ่า 4 รัฐมนตรีที่เงียบเข้าป่าช้า แล้วมารื้อฟื้นเพื่อจับแพะ คดีทักษิณ "บกพร่องโดยสุจริต" หรือคดียุบพรรคการเมืองชื่อดัง โดยอาศัยกฏหมายที่ออกย้อนหลัง ล้วนแต่เป็นคดีตามกระแสการเมืองทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ต้องหมดไปค่ะ ตุลาการต้องยึดหลักความถูกต้องตามกฏหมาย มิใช่ถูกใจเป็นสำคัญ เพราะหลักสำคัญของประชาธิปไตยมิใช่การเลือกตั้ง แต่หนึ่งในนั้นคือ "ความเท่าเทียมกันภายใต้กฏหมาย" ตราบใดตุลาการไม่สามารถคานอำนาจการเมืองได้ ก็เลิกหวังถึงประชาธิปไตยที่เบ่งบาน

แถมท้าย และแน่นอน คดีบางอย่างก็ช้าอย่างน่าใจหาย และมิใช่เพียงคดีพันธมิตรอย่างที่เสื้อแดงคิดกันค่ะ ถ้ามองย้อนกลับไป คดีนปก. ณ บ้านเปรมก็หายเข้ากลีบเหมือนกัน เพราะสุดท้ายปัญหาคือสิ่งเดียวกัน นั่นคือตุลาการตามการเมือง บางครั้งไม่แน่ใจก็ช้ารอกระแสซะงั้น เลยไม่รู้จะเรียกว่าสองมาตรฐาน หลายมาตรฐาน หรือไม่มีมาตรฐานเลยดี…

และสำหรับเสื้อแดง ก่อจลาจลไม่แก้ปัญหาชนชั้นนะคะ คุณต้องการแนวร่วมไม่ใช่ทำให้แนวร่วมหายไปจากพวกคุณ!

เขียนมายาวแล้วก็ขอตัดจบเพียงแค่นี้ละกันค่ะ หวังว่าจะได้เห็นความสงบสุขคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็ว โดยส่วนตัวเชื่อว่า หลังพายุ ฟ้าจะแจ่มใส หลังวิกฤตคราวนี้ (ซึ่งคงไม่จบในเร็ว ๆ นี้ คงใช้เวลาอีกนานนนนนนนน) ประเทศไทยคงพัฒนาไปทางที่ดีขึ้นค่ะ



Create Date : 19 พฤษภาคม 2553
Last Update : 19 พฤษภาคม 2553 10:48:15 น. 1 comments
Counter : 476 Pageviews.

 
ขอบคุณที่เอามาให้อ่านกันนะจ๊ะ


โดย: เจ้าแก้ว IP: 124.121.229.158 วันที่: 20 พฤษภาคม 2553 เวลา:12:25:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.