The power of an authentic movement lies in the fact that
it originates in naming and claiming one's identity and integrity
-- rather than accusing one's "enemies" of lacking the same.
- Parker J. Palmer, The Courage to Teach
Group Blog
 
All blogs
 
นับแต่นี้ไป ไม่มีทางลัด (บทความของเพื่อน)

คนเขียนบทความนี้ชื่ออาจารย์แพร เป็นเพื่อนของจขบ. ตอนนี้เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะอักษร จุฬา

จขบ.รู้สึกว่าเพื่อนเขียนได้ดี และตรงกับความรู้สึกของตัวเองหลายอย่าง (รวมทั้งทำให้เห็นอะไร ๆ ชัดเจนขึ้นด้วย)

จึงมาเอาแชร์ต่อค่ะ ขอเจ้าของมาเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้ลิงค์กลับไป เพราะเพื่อนลงที่เฟสบุ๊ค ใครไม่ได้เป็นสมาชิก กดกลับไปก็จะไม่เจออยู่ดี

###

(ขออนุญาตตั้งชื่อบทความล้อบทความ “นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม” ของคุณคำ ผกา //mynoz.spaces.live.com/blog/cns!2AAF032065B8040B!749.entry

ที่หลายประเด็นเราเห็นด้วย และบางประเด็นเรายังเกาหัวอยู่ อ้อ ที่คุณบอกว่าตอนนี้ขยะแขยงคุณอภิสิทธิ์สุด ๆ ที่ชาวบ้านไม่ได้เลือกแต่เสนอหน้าเป็นนายกฯ รู้หรือเปล่าว่านี่คือความรู้สึกเดียวกับเราเลย ตอนที่ทักษิณยุบสภาหนีการอภิปราย....)

ตอนที่เขียนอยู่นี่ เพิ่งได้ฟังคุณอภิสิทธิ์เสนอกระบวนการปรองดอง ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่คิดว่าคงจะเป็น “ทางลง” ให้ใครหลาย ๆ คนได้

แต่สิ่งหนึ่งที่คิดว่าเราทุกคนต้องเรียนรู้ได้แล้ว คือ ต่อไปนี้การแก้ปัญหาทางการเมืองจะไม่มีทางลัดให้คนไทยได้มักง่ายใช้อีกต่อไป

ตั้งแต่การใช้รัฐประหาร การให้ในหลวงออกมายุติปัญหา การเอามวลชนมากดดัน การใช้กำลังสลายม็อบอย่างรุนแรง

ต้องยอมรับว่าคนไทยติดนิสัยเสีย จากการไม่รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ไม่มีความอดทน เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองก็มักจะเลี่ยงไม่พูดถึง เอาความสบายส่วนตัวเข้าว่า ทะเลาะกันหนัก ๆ เข้า ก็เรียกให้ทหารปฏิวัติ (อย่างที่คนสีหนึ่งพยายามจะทำ แต่ติดที่ผบ.ทบ.ใจเย็นมากถึงมากที่สุด ปัจจุบันนี้ก็เลยกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสื่อนั้นไปเลย) เรื่องจะได้จบ ๆ หนักเข้าก็หวังว่าในหลวงจะออกมายุติปัญหาให้ เหมือนเมื่อคราวพฤษภาทมิฬ

จากเหตุการณ์ม็อบแดงที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามม็อบก็มากเหลือเกิน เพราะอยากจะให้จบ ๆ ไป ก็เข้าใจคนทำงานแถวนั้น (รวมตัวเองด้วย) ทั้งรายได้ที่ต้องเสียไป การเดินทางที่ไม่สะดวก บางคนอาจจะหงุดหงิดที่ไม่ได้ไปพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์อย่างที่เคย พาลมองม็อบเสื้อแดงว่าเป็นควาย โดนจ้างมา

ขอบอกจุดยืน ณ ตรงนี้ว่า เราเชื่อว่าคนจำนวนมากโดนจ้างมา แต่ก็มีอีกหลายคนที่มาเพราะอุดมการณ์ มาเพราะความสองมาตรฐานของระบบยุติธรรม มาเพราะความเหลื่อมล้ำของสังคม มาเพราะต้องการให้คนกรุงได้ยินเสียงของเขา

ถึงแม้ในม็อบจะโดนจ้างมาทั้งหมด แต่ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง เราก็ควรจะฟังเขา

ในกลุ่มเสื้อแดงเองก็หลากหลาย agenda บางคนไม่เอาเจ้า บางคนเรียกร้องความยุติธรรม บางคนมาเพราะสู้แล้วรวย บางคนรับใช้กลุ่มการเมือง

ปัญหาคือเวลาออกสื่อ โดยเฉพาะสื่อต่างชาติ เสื้อแดงจะพยายามเอาจุดเรียกร้องเรื่องสองมาตรฐาน ความยุติธรรมมาอ้าง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพัวพันกับการใช้ความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายคนที่เห็นใจคนที่มาเพราะ อุดมการณ์ (เช่นเราเป็นต้น) ไม่สามารถก้าวข้ามกำแพงที่กั้นเรากับเขาได้ซักที

ถ้าเขาจะเรียกร้องเพียงเรื่องเดียว คือ ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ โดยไม่มีสามเกลอบวกณัฐวุฒิเป็นแกนนำ เราพร้อมจะไปร่วมกับเขานะ เมื่อครู่เพิ่งฟัง TPBS คุณณัฐฐาบอกว่ากลุ่มกรรมกรที่จะมาเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้ขึ้นเวทีเลย การปราศรัยบนเวทีก็ยังเป็นเรื่องเดิม ๆ อภิสิทธิ์หนีทหาร อภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน อำมาตย์ ไพร่ ฯลฯ ก็ยิ่งทำให้เราได้แต่คิดว่าเสื้อแดงโดยหลักแล้วก็ยังรับใช้กลุ่มทุนอยู่ดี

กลับมามองพวกเราเอง คงต้องถามตัวเองแล้วว่าพร้อมจะเปิดใจทำความเข้าใจกับคนที่คิดเห็นไม่เหมือนเราได้มากแค่ไหน เรารู้ว่าหลายคนก็ต้องการเช่นนั้นอยู่ลึก ๆ แต่เหตุการณ์รุนแรงหลายเหตุการณ์ และอาการแถของเสื้อแดงหลาย ๆ คน ทำให้เราก้าวข้ามกำแพงนั้นมาไม่ได้ และถอดใจ อยากจะกลับไปใช้ทางลัดอย่างที่เคย ๆ ทำ

คำตอบของเราคือ ต้องอดทนค่ะ พยายามขยาย threshold ของตัวเองออกไปเรื่อย ๆ เราเองยอมรับว่าผิดหวังอยู่หลายครั้ง

ครั้งหนึ่งเราถกเรื่องการเมืองกับอาจารย์ฝรั่งคนหนึ่งบนหน้า facebook ของเค้า ซึ่งเค้า pro-red อยู่แล้ว เราพยายามจะชี้ว่าคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้ innocent อย่างที่เค้ามองเสมอไป ก็มีสหาย fb ของอาจารย์ท่านนั้นด่ากราดมาว่าเราเป็น brainless people

ผู้ที่เอ่ยมธุรสวาจาดังกล่าวก็เป็นอาจารย์เสื้อแดงพิธีกรชื่อดังเหมือนกัน ทำให้บทสนทนาที่ civil มาตลอดมีอันต้องเป็นไป นี่แหละเหตุผลว่าทำไม dialogue ระหว่างคนเสื้อไม่แดงกับคนเสื้อแดงถึงเกิดขึ้นไม่ได้ ก็เพราะเสื้อแดงเค้าไม่ต้องการให้คนอื่นมาคิดต่างจากเค้า เสื้อแดงยังไม่รู้จักการประนีประนอมระหว่างความคิด แทนที่จะนำระบบสร้างมวลชนกลับเอาระบบเสียมวลชนมาใช้ แล้วอย่างนี้เมื่อไหร่คนเขาจะเห็นด้วยกับคุณล่ะคะ

นอกจากอดทนแล้ว ต้องใจเย็นอย่างมากอีกด้วย แล้วสติมันจะตามมา อย่าลืมว่าประชาธิปไตยในไทยเพิ่งจะมีมาเจ็ดสิบกว่าปี ประเทศเจริญแล้วทั้งหลายไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ประชาชนต่อสู้ล้มตายมากี่ร้อยปีกว่าจะได้ประชาธิปไตย พอได้มาแล้วใช่ว่ามันจะใช้ได้เลย ต้องลองผิดลองถูกกันอีกกี่ปี

ประชาธิปไตยมันก็เหมือน ideal อย่างหนึ่งที่คนใช้เป็นเกณฑ์ว่า จะต้องพัฒนาระบบของประเทศให้ใกล้เคียงกับ ideal อันนั้นมากที่สุด และแต่ละประเทศก็นิยาม ideal อันนี้ต่างกันออกไป บางที่ก็เอาไปรวมกับเสรีนิยมสุดโต่ง บางที่ก็เอาไปรวมกับสังคมนิยม ก็แล้วแต่ว่าจะสะดวกแบบไหน

เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยไม่เคยเป็นสิ่งตายตัว ถึงแม้จะมีลักษณะร่วมบางอย่าง เช่น การให้ประชาชนออกเสียงเลือกตัวแทนเพื่อมาปกครองประเทศ ก็ยังต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศนั้น ๆ

แต่ในการเรียกร้องทุกครั้ง ผู้ชุมนุมจะพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นสิ่งตายตัว อย่างในกรณีเสื้อแดงคือประชาธิปไตยที่ไม่มีไพร่อำมาตย์ ในกรณีของเสื้อเหลืองคือประชาธิปไตยที่ไม่ตามก้นทุนสามานย์ การคอรัปชั่น

ประชาธิปไตยที่ตายตัวอย่างนี้ แม้จะเป็นการเรียกร้องที่ดี แต่ทำให้ไม่เกิด dialogue ถ้ายึดติดกับนิยามของตัวเองมากเกินไป หรือเหมือนจะให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าเลือกปชต.แบบมาตรฐานเดียว ก็จะไม่ได้ปชต.แบบไร้คอรัปชั่น หรือ vice versa

เราเลยอยากถามว่า เราเลือกได้แค่สองทางเท่านั้นหรือ

ถ้าเราชอบทั้งอุดมการณ์ความเท่าเทียมของเสื้อแดงและอุดมการณ์ไม่เอาคอรัปชั่น เราจะมีทางเลือกอะไรบ้าง เราเลือกได้แค่ว่าเราจะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงเท่านั้นหรือ

จริง ๆ แล้ว เราคิดว่าอุดมการณ์ทั้งสองอย่างสำคัญในแง่ของการก่อให้เกิดพลวัตร หรือ dynamic ของตัวประชาธิปไตยเอง แต่คนมักจะใช้โลกทัศน์แบบแบ่งขั้วขาว-ดำ อย่างชัดเจน ทำให้อุดมการณ์ของสองขั้วเป็นเหมือนน้ำกับน้ำมันที่ไม่มีวันเข้ากันได้

อุดมการณ์ไม่เอาคอรัปชั่นถูกนำไปโยงกับฝ่ายขวาจัดคุณธรรมสูงส่ง ในขณะที่อุดมการณ์เท่าเทียมถูกโยงกับฝ่ายซ้ายเสรีนิยมปนคอมมิวนิสต์ (ไม่รู้มันมากันได้ยังไง แต่อย่างนี้แหละ ไทยแลนด์)

ฝ่ายที่นิยมเหลืองก็จะสู้เพื่ออย่างแรกแบบไม่ลืมหูลืมตา ฝ่ายนิยมแดงก็แรงไม่ต่างกัน พอมาเป็นอีหรอบนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะทั้งสองขั้วเหมือนจะเชื่อใน absolutism ของอุดมการณ์ตัวเอง ไม่มีใครยอมใคร

เราอยากจะขอหนีไปจากมโนทัศน์แบ่งขั้วอย่างนี้ และอย่ามาด่าว่าเป็นกลางกลวงด้วย เพราะเราไม่ได้อยากเป็นกลางแบบไม่ทำอะไร

คำว่ากลางของเราหมายถึง “กลางอย่างมี dynamic” คือ มองประชาธิปไตยว่าเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการต่อรอง และไม่เคยหยุดนิ่ง ความหมายของมันไม่มีการนิยามตายตัว แต่เปลี่ยนไปตามกระแสความต้องการของสังคม ที่ต้องมาต่อรองกันว่าจุดไหนที่ความต้องการของแต่ละฝ่ายถึงจุดที่ตกลงกันได้

แน่นอนว่าไม่มีใครพอใจได้ทุกอย่าง แต่เราเชื่อว่ามันต้องมีจุดที่สามารถตกลงกันได้ อาจจะไม่ถูกใจคนทุกคน แต่สามารถทำให้เราอยู่ร่วมกันได้แบบ give and take

การจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ dynamic นี้ต้องอาศัยความอดทนของคนในชาติอย่างมาก ที่จะต้องใจกว้างพอที่จะเปิด dialogue ให้อีกฝ่ายเข้ามาอธิบายว่าเขาเห็นต่างอย่างไร เราจะต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังและเลิกใช้ทางลัดซะที

เรามองว่า “กรรม” จากการใช้ทางลัดมาโดยตลอดกำลังกลับมาสั่งสอนประเทศไทย ทำให้คนที่อยากใช้ทางลัดแต่รัฐบาลไม่ใช้ซักทีเป็นทุกข์ เราจะต้องเรียนรู้ความเจ็บปวดทุกแง่มุมเพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้อีก

ขอให้เหตุการณ์คราวนี้เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับคนไทย และขอให้คนไทยเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งบุรุษขี่ม้าขาวหรือรถถังอีก หวังเล็ก ๆ ว่าประเทศเราจะเติบโตขึ้นจากความขัดแย้งครั้งนี้

หวังว่าสักวันเราจะไปถึงดินแดนนั้น...

Hyperlink to ดินแดนแห่งความรัก


Create Date : 05 พฤษภาคม 2553
Last Update : 5 พฤษภาคม 2553 19:03:22 น. 11 comments
Counter : 476 Pageviews.

 
ขอบคุณ สำหรับแง่คิดดีๆ เพราะเป็นคนที่ทำงานออฟฟิต แถวคนเสื้อแดงไปตั้ง ทุกวันนี้การเดินทางไม่สะดวก ได้ยินถ้อยคำที่ออกไปพูด มีแต่ถ้อยคำหยาบคาย ไม่รับฟังใครที่คิดแตกต่างจากเค้า


โดย: secondMay วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:43:01 น.  

 
ต่างจิตต่างใจ...ทั้งที่..เป็นคนไทยเหมือนๆกัน...
จากเคยสมานฉันท์...แต่รอยร้าวกลับลั่น.... กั้น...ให้คนไทย..แตกกันเอง...หวังว่า..ทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววันนะคะ


โดย: ในความอ่อนไหว วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:19:18:09 น.  

 
ชอบค่ะ ขอเอาลิงค์ไปแปะใน fb นะคะ


โดย: แนน IP: 124.120.71.199 วันที่: 5 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:38:17 น.  

 
อันนี้ต้องไปขอเจ้าของน่ะขอรับ ชื่อเขาอยู่ในเฟสบุ๊คของจขบ.ด้วย ลองหาดู

เขาบอกว่าแชร์ได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจควรไปขอก่อนเน่อ


โดย: เคียว IP: 118.173.225.238 วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:21:14 น.  

 
ชอบบทความนี้มากเลยครับ และขอบคุณพี่ปันด้วย ที่ช่วยให้ผมได้มีโอกาสอ่านบทความนี้

รู้สึกว่าเพื่อนของพี่ปัน (คนที่เขียนบทความนี้) มองเหตุการณ์ได้แบบสงบแล้วก็เยือกเย็นมากเลย (แบบว่าเป็นตัวของตัวเอง)

ขอให้ประเทศไทยสงบสุขในเร็ววันนะครับ


โดย: เจรามี วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:23:20 น.  

 
ขอบคุณที่นำมาให้อ่านน้า

อยากให้ประเทศไทยก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้เหมือนกัน

^ ^


โดย: romancer IP: 58.8.73.94 วันที่: 6 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:55:05 น.  

 
คนเขียนใช่ Phrae C... ในเฟสบุ๊คของปันหรือเปล่าคะ ถ้าใช่จะได้เขียนไปถาม ถ้าไม่ใช่ชื่ออะไรคะ (ไม่แน่ใจเพราะเห็น current city ไม่ใช่กรุงเทพ)


โดย: แนน IP: 124.120.87.179 วันที่: 7 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:26:37 น.  

 
ใช่ค่า


โดย: เคียว IP: 118.172.94.136 วันที่: 7 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:19:40 น.  

 
เห็นด้วยกับหลายๆ ประเด็นเลยล่ะ

ก่อนหน้านี้ก็มีช่วงปรี๊ดรุนแรง แต่พอได้เห็นได้เห็นใครบางคนระเบิดอารมณ์อย่างน่ากลัวก็ทำให้ฉุกใจว่าเฮ้ย เราอยากจะก้าวไปถึงจุดนั้นจริงๆ เหรอ ถ้าก้าวไปแล้วคงจะไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้วนะ

ว่าแต่ทำไมต้องเลือกระหว่างความเท่าเทียมกับการไม่คอรัปชั่นต้องด้วยหนอ ไม่เข้าใจเอาเสียเลย -_-"


โดย: ทินา วันที่: 8 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:11:33 น.  

 



โดย: tongsehow วันที่: 9 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:34:54 น.  

 
ตัวเองคิดอยู่ว่าประชาธิปไตย ความจริงแล้วคืออะไรกันแน่ แต่ก็ตอบตัวเองไม่ได้ซักที ชอบตรงที่บอกว่า ประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่มีนิยามตายตัว เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการต่อรอง จนกว่าจะได้จุดที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
แล้วประเทศไทยจะหาจุดนั้นได้ไหมกันนะ


โดย: เมย์ IP: 125.27.83.25 วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:32:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลวิตร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




ลวิตร์ = พัณณิดา ภูมิวัฒน์ = เคียว

รูปในบล็อค
เป็นมัสกอตงาน Expo ของญี่ปุ่น
เมื่อปี 2005
น่ารักดีเนอะ

>>>My Twitter<<<



คุณเคียวชอบเรียกตัวเองว่า คุณเคียว
แต่ที่จริง
คุณเคียวมีชื่อเยอะแยะมากมาย

คุณเคียวมีชื่อเล่น มีชื่อจริง
มีนามปากกา
มีสมญาที่ได้มาตามวาระ
และโอกาส

แต่ถึงอย่างนั้น
ไส้ในก็ยังเป็นคนเดียวกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินข้าวแฝ่ (กาแฟ ) เหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบกินอาหารญี่ปุ่นเหมือนกัน
ไส้ในก็ยังชอบสัตว์ (ส่วนใหญ่)
ไส้ในก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบวาดรูป
ชอบฝันเฟื่องบ้าพลัง
และชอบเรื่องแฟนตาซีกับไซไฟ
(โดยเฉพาะที่มียิงแสง )

ไส้ในก็ยังรู้สึกถึงสิ่งต่าง ๆ
และใช้ถ้อยคำเดียวกันมาอธิบายโลกภายนอก

ไส้ในก็ยังคิดเสมอว่า
ไม่ว่าเรียกฉัน
ด้วยชื่ออะไร

ก็ขอให้เป็นเพื่อนกันด้วย




Friends' blogs
[Add ลวิตร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.