All Blog
วิกฤตเศรษฐกิจและความหายนะของตลาดหุ้นสหรัฐ ปี ค.ศ. 1929
The Great Depression



หลายครั้งที่การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจของประเทศก่อให้เกิดภาพลวงตาของความมั่งคั่งและการเก็งกำไรที่เกินขอบเขตในตลาดหุ้นได้นำไปสู่สภาวะฟองสบู่ ขณะที่เบื้องหลังนั้น มีปัญหาหลายอย่างแฝงตัวอยู่ และกว่าที่จะมีใครตระหนักได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ความหายนะก็อาจมาเยือนแล้ว

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านไป บรรดาประเทศมหาอำนาจในยุโรปอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ที่เข้าร่วมในสงครามต่างเสียหายเป็นอันมาก ในขณะที่สหรัฐซึ่งเข้าร่วมรบด้วยเช่นกัน กลับเสียหายไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศร่วมรบอื่นๆ โดยในสงครามครั้งนี้ มีชาวอเมริกันเสียชีวิตเพียง 320,000 คน ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมันนีสูญเสียประชากรไปมากถึง 6.2 ล้าน และ 7.2 ล้าน ตามลำดับ ส่วนอังกฤษก็สูญเสียประชากรไปมากถึง 3 ล้านคน ซึ่งประชากรที่ล้มตายไปเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นทหาร ซึ่งอยู่ในวัยทำงานแทบทั้งสิ้น การสูญเสียประชากรวัยทำงานจำนวนมากเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงหลังสงครามเป็นอย่างมาก

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในยุโรป ต่างก็กู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลจากสหรัฐมาใช้ในการทำสงคราม พอมาถึงปี ค.ศ. 1919 ประเทศเหล่านี้ก็เป็นหนี้สหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนนับหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหนี้สินเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเยอรมันนีกู้ยืมเงินจากสหรัฐมาใช้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝรั่งเศส

การที่สหรัฐมีสถานภาพเป็นเจ้าหนี้ใหญ่ของยุโรป ทำให้ดุลอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้ยืนยันให้บรรดาลูกหนี้ของตนชำระค่าสินค้าและอาหารที่นำเข้า เป็นเงินสด ประกอบกับการที่ธุรกิจต่างๆในยุโรปกำลังย่ำแย่ ได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจของสหรัฐขยายการลงทุนเข้าไปในยุโรปได้มากขึ้น จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐในระยะนั้นเฟื่องฟูขึ้นเป็นอันมาก

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพเศรษฐกิจจะกำลังเฟื่องฟูแต่ สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาในประเทศแอบแฝงอยู่ นั่นคือการที่สหรัฐลดจำนวนกำลังพลในกองทัพของตนที่มีอยู่สี่ล้านคนลง ทำให้มีอดีตทหารหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานในประเทศเป็นจำนวนมาก การมีแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันส่งผลให้ค่าแรงลดฮวบและคนจำนวนมากได้กลายเป็นผู้ว่างงาน ทว่าการเติบโตในอัตราสูงของเศรษฐกิจจากการส่งออกที่นำเงินสดไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาลส่งผลให้ตลาดหุ้นเฟื่องเป็นประวัติการณ์ บรรดานักธุรกิจทั้งหลายต่างมั่งคั่งไปตามๆ กัน ซึ่งภาพลวงตาของความมั่งคั่งเหล่านี้ บดบังปัญหาที่แท้จริงซึ่งแฝงตัวอยู่เอาไว้

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ถือเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยมีการกำหนดกฏหมายข้อห้ามต่างๆ ออกมามากมาย จนแม้กระทั่งการขายหรือมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้ในครอบครองก็ยังถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่สตรีได้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความรุ่งเรืองและมั่งคั่งนี้ บรรดาชนชั้นสูงต่างเอาแต่รื่นรมย์กับงานเลี้ยงสังสรรค์ ความหรูหราและเสียงดนตรี ในขณะที่รายได้ของประชาชนทั่วไปในสาขาอาชีพต่างๆ ส่วนใหญ่ได้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 1 ต่อปี ส่วนบรรดาผู้มั่งคั่งซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละหนึ่งของประชากรทั้งหมดนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ต่อปี

ซึ่งบรรดาเศรษฐีเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองดังกล่าว เหล่าผู้มีฐานะปานกลางต่างจับจ่ายใช้สอยด้วยวิธีการผ่อนจ่าย ขณะที่ผู้มั่งคั่งใช้เงินสด

จนมาถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ.1929 ราคาหุ้นก็เริ่มอ่อนตัวลง แต่ดูเหมือนบรรดานักลงทุนจะยังไม่ใส่ใจจนมาถึง วันที่ 21 ตุลาคม ราคาหุ้นก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็วทำให้นักเก็งกำไรพากันเสียขวัญและเทขายจนราคาหุ้นร่วงกราวรูด

วันที่ 28 ตุลาคม ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงถึงร้อยละ 13 และวันต่อมา ก็ตกลงอีกร้อยละ 12 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีใครซื้อหุ้นเลย ส่วนผู้ที่กู้เงินมาซื้อหุ้นก่อนหน้านั้นก็พากันเป็นหนี้สินล้นพ้น คนจำนวนมากหมดตัวและล้มละลาย ในชั่วข้ามคืน นักเก็งกำไรหลายตอหลายคนเลือกที่จะปลิดชีพตัวเองเพื่อหนีหนี้จำนวนมหาศาล

ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสหรัฐเฟื่องฟูก็เนื่องจากความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น ทว่าเมื่อราคาดิ่งลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็หมดไป อัตราการบริโภคลดลงอย่างรวดเร็ว ความพินาศของตลาดหุ้นยังส่งผลให้คนขาดความเชื่อมั่นในธนาคาร มีคนจำนวนมากแห่กันไปถอนเงินออกจากธนาคารในเวลาเพียงไม่กี่วัน และเมื่อธนาคารบางแห่งอย่าง ธนาคารสหภาพอเมริกา (American Union Bank) มีเงินสำรองไม่พอจ่ายให้แก่ผู้ที่ไปถอนเงิน ก็เกิดข่าวลือแพร่สะพัดว่า ธนาคารกำลังจะล้ม ยิ่งส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นเป็นเท่าทวี ความตื่นตระหนกในการแห่ไปถอนเงินของคนจำนวนมหาศาล ได้ทำให้ธนาคารจำนวนมากต้องปิดตัวลง ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อที่ลดลง ทำให้โรงงานขนาดใหญ่ลดกำลังการผลิต ตำแหน่งงานลดน้อยลง ประชากรจำนวนมากกลายเป็นคนว่างงาน ยิ่งส่งผลต่อกำลังซื้อให้ลดลงไปอีก จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง จนเมื่อถึง ปี ค.ศ.1930 อัตราคนว่างานก็พุ่งขึ้นเป็น 5 ล้านคน ก่อนจะขยายเป็น 13 ล้านคนในปีต่อมา

เมื่อถึงปี ค.ศ. 1932 เศรษฐกิจของสหรัฐก็ถอยลงถึงร้อยละ 31 พร้อมๆ กับที่เงินสดกว่า 2,000 ล้านเหรียญในธนาคารสูญไป หลังจากธนาคาร 10,000 แห่งปิดตัวลง ราคาที่ดินตกลงร้อยละ 53

ชาวนาเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ทั้งนี้ แต่เดิมคนกลุ่มนี้ก็มีรายได้น้อยกว่าชาวอเมริกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย รายได้ของพวกเขาก็ยิ่งลดน้อยลงไปอีก ประกอบกับได้เกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในหลายพื้นที่ จนในที่สุด พื้นที่กสิกรรมส่วนใหญ่ของประเทศก็กลายสภาพเป็นทะเลฝุ่นที่ว่างเปล่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากพากันสิ้นเนื้อประดาตัว

ในระยะเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดี แฟลงคลิน ดี. โรสเวลต์ ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ได้กำหนดนโยบายเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ ทั้งนี้ โรสเวลต์ได้ตัดสินใจแก้ปัญหาที่ส่งผลชัดเจนต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศก่อน นั่นคือ ปัญหาการว่างงาน โดยหลังดำรงตำแหน่งได้ 100 วัน โรสเวลต์ได้ตั้งหน่วยงานใหม่ 10 องค์กรเพื่อบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมกับรับคนว่างงานเข้าทำงานในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆเพื่อแก้ปัญหาผู้ว่างงาน

ตัวอย่างขององค์กรเหล่านี้คือ องค์การที่ราบลุ่มแม่น้ำเทนเนสซี่ (Tennessee Valley Authority) หรือTVA ที่ว่าเกษตรกรที่สิ้นเนื้อประดาตัวมาสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพื้นที่เขตเทือกเขาแอปพาลิเชียน ส่วนองค์หารบริหารความก้าวหน้า (Works Progress Administration) ก็สามารถสร้างงานได้ถึง 8 ล้านตำแหน่ง ซึ่งมีทั้งงานซ่อมแซมอาคารเรียน โรงพยาบาล สนามบิน และงานสาธารณูปโภคอื่นๆ

นอกจากนี้ โรสเวลต์ยังออกกฏหมายฟื้นฟูอุตสาหกรรมของชาติ ซึ่งกำหนดให้มีการขึ้นค่าจ้างเพื่อให้ประชากรมีรายได้มากพอในการจับจ่ายซื้อหาสินค้า ซึ่งจะช่วยประคองระดับราคาของสินค้าและผลผลิตที่กำลังตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ส่วนในด้านของตลาดหลักทรัพย์ โรสเวลต์ได้ตั้งคณะกรรมการหลักทรัพย์และซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อปฏิรูปและกำหนดกฏเกณฑ์ใหม่ของตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งดูแลการซื้อขายเก็งกำไรหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งการแก้ปัญหาของโรสเวลต์นี้ ทำให้บรรดานักธุรกิจชั้นนำหลายคนของสหรัฐมองว่า แนวทางดังกล่าวดูคล้ายกับหลักการของลัทธิสังคมนิยมหรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำไป

แม้ว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐจะกำลังดำเนินไปได้ดี ทว่าภายนอกประเทศนั้น ผลกระทบที่ลุกลามมาก่อนหน้านี้ ได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว การที่กำลังซื้อของสหรัฐตกลง ส่งผลให้ยุโรปขายสินค้าได้น้อยลง ขณะที่การลงทุนของสหรัฐในยุโรปก็น้อยลงเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ยุโรปที่เพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งต้องทรุดลงไปอีก นอกจากนี้ การที่สหรัฐได้ออกกฏหมายขึ้นภาษีควบคุมการนำเข้า ส่งออก เมื่อ ปี ค.ศ. 1930 ขณะที่หลายประเทศก็ดำเนินนโยบายจำกัดการค้าระดับโลกในรูปแบบเดียวกันก็ยิ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกยิ่งทรุดหนักลง จนถึงจุดวิกฤตต่ำสุดในปี ค.ศ. 1932 ที่อัตราการผลิตของโลกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 62 และมีคนตกงานมากกว่า 30 ล้านคน

แม้ว่าหลังปี ค.ศ. 1932 ภาวะวิกฤตจะทุเลาลง จนเริ่มกลับคืนสู่สภาพเดิมในปี ค.ศ. 1937 แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังส่งผลเสียทางสังคมเป็นอันมาก ที่สำคัยเหตุการณ์ดังกล่าวได้บ่มเพาะความไม่พอใจและความวุ่นวายที่ต่อมาได้ปะทุขึ้นและลุกลามไปทั่วโลก จนในที่สุด ความขัดแย้งเหล่านี้ก็นำไปสู่การเผชิญหน้าที่ป่าเถื่อนและรุนแรง ที่ชาวโลกรู้จักในชื่อ มหาสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 20 ปีเท่านั้น

หากเราย้อนมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็จะพบว่า สาเหตุหลักที่นำมาสู่ความหายนะทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ค.ศ.1929 คือการหลงติดอยู่ในภาพลวงตาของความมั่งคั่งอันมาจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น การที่มูลค่าของกิจการถูกเพิ่มขึ้นจากการเก็งกำไร แทนที่จะเพิ่มจากความสามารถในการผลิตที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งความต้องการใช้วัตถุดิบที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นและแรงงานที่ไม่ถูกว่าจ้าง ขณะที่รายได้ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงตลาดหุ้นเฟื่องฟูนั้น ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวและเมื่อวงจรของตลาดหุ้นเกิดสะดุดลง ความเชื่อมั่นในสภาพเศรษฐกิจก็หมดไป จนเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่และทำให้ล้มครืนไปทั้งระบบในที่สุด

มีคำกล่าวว่า กงล้อของประวัติศาสตร์มักจะหมุนเวียนมายังจุดเดิมอยู่เสมอ เหมือนกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ได้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา อีกหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีสาเหตุคล้ายๆกัน นั่นคือ ภาวะฟองสบู่ที่ทำให้หลงติดกับภาพลวงตาของความมั่งคั่ง จนไม่มีใครสนใจปัญหาที่แฝงอยู่ และเมื่อภาพลวงตาสลายไป สิ่งที่ตามมาก็คือ วิกฤตการณ์

ตราบใด ที่คนเรายังหลงติดกับความโลภ จนละเลยการใช้สติปัญญาอย่างแท้จริง ตราบนั้น ความหายนะก็จะยังคงหมุนวนกลับมา ไม่จบสิ้น

ที่มา : //www.komkid.com



Create Date : 15 กันยายน 2554
Last Update : 15 กันยายน 2554 20:48:36 น.
Counter : 720 Pageviews.

0 comment
เรือเต่าผู้พิชิตฮิเดโยชิ


หลังรวมประเทศสำเร็จ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ผู้สำเร็จราชการของญี่ปุ่นก็วางแผนที่จะขยายอำนาจของดินแดนอาทิตย์อุทัยเข้าสู่แผ่นดินใหญ่อีกครั้ง หลังจากที่ชาวญี่ปุ่นได้สูญเสียที่มั่นสุดท้ายของพวกตนบนแผ่นดินใหญ่ไปในการศึกที่ฮาขุสึโนะอิเอะ เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว

คาบสมุทรเกาหลีคือเป้าหมายแรกของแผนการรุกคืบสู่จีนแผ่นดินใหญ่ของฮิเดโยชิ ในช่วงเวลานั้น ดินแดนส่วนใหญ่ของคาบสมุทรเกาหลีอยู่ในการปกครองของราชวงศ์โชซอนซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเกาหลี

หลังจากสงครามรวมแผ่นดินสิ้นสุดลง มีทหารกว่าครึ่งล้านที่ประจำการอยู่ในกองทัพ แม้ว่าฮิเดโยชิจะมีโองการให้ริบดาบและปลดเหล่าอะชิการุหรือทหารเกณฑ์ชาวนาจำนวนมากออกจากราชการ แต่ก็ยังคงมีกำลังพลซามูไรและอะชิการุเหลืออีกมากมายมหาศาล อีกทั้งในช่วงสงคราม ธุรกิจการผลิตอาวุธได้เติบโตขึ้นมาก จนกลายเป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้ารัฐบาลสั่งปลดทหารทั้งหมดออกไป นอกจากจะทำให้ระบบเศรษฐกิจต้องชะงักแล้ว สิ่งที่ร้ายกาจยิ่งกว่า ก็คือบรรดานักรบจำนวนมากว่างงาน อาจก่อความวุ่นวายจนสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลของโทโยโทมิได้ในวันหน้า ด้วยเหตุนี้ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิจึงตัดสินใจทำสงครามกับราชวงศ์หมิงที่ปกครองแผ่นดินจีนในเวลานั้น ซึ่งถ้ากองทัพญี่ปุ่นได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้ ก็จะทำให้ญี่ปุ่นได้ทั้งดินแดนและทรัพย์สมบัติมหาศาลจากจีนแผ่นดินใหญ่มาเสริมความเข้มแข็งของประเทศ หรือหากว่า เกิดเพลี่ยงพล้ำและสูญเสียกำลังพลจำนวนมากไปในสงคราม ก็จะช่วยลดจำนวนของเหล่านักรบ อันจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น

ในการทำสงครามกับจีนครั้งนี้ ฮิเดโยชิวางแผนจะยึดเกาหลีเป็นอันดับแรกเพื่อใช้เป็นที่มั่นในการทำสงครามต่อไป ทั้งนี้ ฮิเดโยชิได้ส่งสายลับจำนวนมากแทรกซึมเข้าไปในเกาหลี ซึ่งเหล่าสายลับได้รายงานให้เขาทราบว่า กองทัพโชซอนของเกาหลีนั้นมีสมรรถภาพในการบเทียบไม่ได้กับกองทัพญี่ปุ่น ทั้งในด้านของอาวุธและกำลังพล

อุปสรรคเดียวที่จะเป็นปัญหาต่อการยึดคาบสมุทรเกาหลี ก็คือ การที่จีนจะส่งทหารมาช่วย ทว่าฮิเดโยชิก็มั่นใจว่า กองทัพของตนจะยึดคาบสมุทรเกาหลีได้ทั้งหมดก่อนที่ฝ่ายจีนจะส่งทัพมาช่วยได้ทัน

ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1592 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ก็มีบัญชาให้กองทัพหน้าของญี่ปุ่นซึ่งมีกำลังพลหนึ่งแสนนายเคลื่อนพลทางเรือเข้าสู่ภาคใต้ของเกาหลีและขึ้นฝั่งที่เมืองปูซาน จากนั้นกองทัพหนุนก็ติดตามมาในเวลาไล่เลี่ยกันซึ่งแม้ว่า ฝ่ายเกาหลีจะระดมกำลังทหารมารับศึกอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่อาจต้านทานกำลังทัพมหึมาของญี่ปุ่นได้ ทำให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถรุกไล่ขึ้นไปทางเหนือและยึดหัวเมืองสำคัญต่างๆได้หลายเมือง จนกระทั่งพระเจ้าซอนโจ กษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอนต้องเสด็จลี้ภัยไปยังจีน โดยทรงมอบภาระในการปกป้องประเทศให้กับแม่ทัพยีซุนซิน

ยีซุนซินเป็นนายทหารเรือที่ชาญฉลาดและมากด้วยประสบการณ์ เขารู้ดีว่า การจะเอาชนะญี่ปุ่นได้ จำเป็นต้องทำลายกองเรือของอีกฝ่ายให้ได้เสียก่อน ทว่าลำพังกองทัพเรือที่เล็กกว่าของเกาหลีนั้น หากเข้าสู้กับกองเรือของญี่ปุ่นโดยตรงก็คงไม่พ้นถูกทำลายย่อยยับ

ดังนั้น เพื่อเอาชนะกองเรือของข้าศึก ยีซุนซินจึงคิดสร้างอาวุธชนิดพิเศษขึ้นมารับมือกับข้าศึก โดยอาวุธนี้ถูกเรียกว่า โคบุ๊กซอน หรือ เรือเต่า

สำหรับเรือเต่านี้ มีรูปร่างแบนค่อนข้างเทอะทะ ขับเคลื่อนด้วยกำลังฝีพาย ทุกด้านของลำเรือปิดไว้อย่างมิดชิด โผล่ก็แต่ปลายกระบอกปืนใหญ่เท่านั้น ขณะที่ดาดฟ้านั้นถูกคลุมด้วยแผ่นเหล็กและยังเต็มไปด้วยหนามแหลม เพื่อป้องกันมิให้ข้าศึกส่งทหารขึ้นมาบนเรือ

กลยุทธ์ของเรือเต่านอกจากจะโจมตีด้วยปืนใหญ่แล้ว ยังใช้การพุ่งเข้าชนเพื่อทำลายเรือรบฝ่ายข้าศึกอีกด้วย โดยมีการรบครั้งหนึ่งที่เรือเต่าสามารถทำลายเรือรบญี่ปุ่นได้ถึงห้าสิบลำในวันเดียว และด้วยเรือเต่านี้เอง ที่ทำให้ฝ่ายเกาหลีสามารถทำลายกองเรือฝ่ายญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เส้นทางการลำเลียงของญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาจนไม่อาจสนับสนุนกองทหารที่ทำการรบอยู่ในคาบสมุทรได้

ในระหว่างนั้นเอง ทางราชวงศ์หมิงของจีนก็ได้ส่งกองทัพมาช่วยเกาหลีทำสงครามกับกองทัพญี่ปุ่น ทั้งนี้ฝ่ายจีนเล็งเห็นว่า การช่วยเกาหลีทำสงครามก็เท่ากับเป็นการสกัดไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถรุกเข้าสู่อาณาเขตของจีนด้วยเช่นกัน

การรบได้ดำเนินยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งถึง ปี ค.ศ. 1598 กองทัพญี่ปุ่นก็พ่ายแพ้และล่าถอยออกไปจากคาบสมุทรเกาหลีจนหมดสิ้น ส่วนแม่ทัพยีซุนซินผู้เก่งกล้านั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสในระหว่างทำการรบที่ช่องแคบนอยาง และเสียชีวิตลง ก่อนที่เกาหลีจะได้รับชัยชนะเพียงไม่กี่เดือน

แม้ว่าจะไม่มีโอกาสมีชีวิตอยู่ ทันได้เห็นชัยชนะของแผ่นดินมาตุภูมิ แต่ยีซุนซินก็ได้รับการยกย่องจากประชาชนในฐานะวีรบุรุษของชาติ ผู้ปกป้องแผ่นดินจากการรุกรานของญี่ปุ่น ซึ่งชัยชนะของเขาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะครั้งสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์เกาหลี และแน่นอนว่า สงครามครั้งนี้ ก็ได้จารึกชื่อของ โคบุ๊กซอน หรือ เรือเต่าไว้ในฐานะอาวุธอันยิ่งใหญ่ของกองทัพเกาหลีด้วยเช่นกัน

ที่มา : //www.komkid.com



Create Date : 15 กันยายน 2554
Last Update : 15 กันยายน 2554 8:58:33 น.
Counter : 583 Pageviews.

0 comment
เข้าป่าส่องดู Angry birds
หลายๆ ท่านคงคุ้นเคยกับเจ้านก Angry birds ตัวละครเกมสุดฮิตบนระบบ ios , andriod , symbian และ PC จากค่าย Rovio กันมาแล้ว วันนี้เราจะพาท่านเข้าป่าถือกล้องไปส่องดูเหล่านก Angry birds ตัวเป็นๆ ว่าจะหน้าตาน่ารักกันขนาดไหน

Angry bird: red




Angry birds: yellow




Angry birds: blue




Angry birds: chubby white




Angry birds: black




ที่มา : //www.komkid.com/?p=1100



Create Date : 14 กันยายน 2554
Last Update : 14 กันยายน 2554 13:37:27 น.
Counter : 682 Pageviews.

2 comment
โนบุนากะ ขุนพลสยบปฐพี


ประเทศญี่ปุ่นในช่วง ปี ค.ศ.1500 – 1700 เป็นยุคแห่งความวุ่นวาย อำนาจของโชกุนตระกูลอะชิคางะ ที่เกียวโตเสื่อมถอย บรรดาไดเมียว(เจ้าเมือง)ทั้งหลายต่างตั้งตนเป็นอิสระ และต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง

ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง200 ปี เรียกว่ายุคเซนโกกุจิได ในช่วงท้ายที่สุดได้มีขุนศึกผู้หนึ่งที่ก้าวขึ้นมากุมอำนาจ และดำเนินการสยบภาวะสงครามกลางเมือง แม้ว่าเขาจะทำไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้สร้างจุดเริ่มต้นของการรวมชาติขุนศึกผู้นั้นคือ โอดะ โนบุนากะ

โนบุนากะ เกิดในปี ค.ศ.1534 เป็นบุตรของ โอดะ โนบุฮิเดะ เจ้าเมืองโอวาริ ซึ่งเป็นเพียงแคว้นเล็กๆ ต่อมาเมื่อบิดาสิ้นชีวิตลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ.1549 โนบุนากะซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 15 ปี ได้ฉายแววความสามารถโดยการกำราบบรรดาญาติของตน ด้วยกำลังทหาร และขึ้นเป็นผู้นำตระกูลโอดะ ในปี ค.ศ.1559 แม้จะได้เป็นเจ้าครองแคว้น แต่โอวาริก็เป็นเพียงแคว้นเล็กๆที่ไม่สำคัญอะไร จนกระทั่งเมื่อ อิมากาว่า โยชิโมโตะ ไดเมียวแห่ง มิคาว่าซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ นำกองทัพจำนวน 25000 นาย เข้าโจมตีโอวาริเพื่อเปิดทางสู่การบุกเกียวโต โนบุนากะ ไม่ยอมจำนนต่อกองทัพข้าศึกและตั้งมั่นในปราสาท ทหารของอิมากาว่า ตั้งค่ายกระจายล้อมปราสาทไว้และเตรียมการเข้าตี

ทว่าในคืนหนึ่งเกิดพายุฝน ทัพของอิมากาว่าหลบพักอยู่ในค่าย โนบุนากะคุมทหารม้า500 นาย บุกเข้าโจมตี ค่ายหลวงของอิมากาว่า เนื่องจาฝ่ายข้าศึกไม่คิดว่าจะถูกโจมตีจึงประมาทไม่ทันระวังตัว ประกอบกับขาดความชำนาญพื้นที่ จึงถูกตีแตกพ่าย ตัวของอิมากาว่า โยชิโมโตะเองถูกสังหารในค่ายของตน ทหารมิคาว่าเสียขวัญและแตกพ่ายยับเยินกลับไป ส่งผลให้ชื่อเสียงของโนบุนากะโด่งดังทั่วแผ่นดิน

ไดเมียวหลายเมืองต่างมาขอผูกไมตรีด้วย ซึ่งก็รวมทั้งโตกุกาว่า อิเอยาสึ พันธมิตรและหนึ่งในทายาทของตระกูลอิมากาว่าด้วย ในปี ค.ศ.1560 โนบุนากะได้ดำเนินการผูกมิตรกับไดเมียวตระกูลต่างๆและทำสงครามกับไดเมียวที่ตั้งตนเป็นศัตรู หลังชัยชนะในสงครามที่อินาบะยามะ อำนาจของตระกูลโอดะก็เพิ่มมากขึ้นจนปีค.ศ.1567องค์จักรพรรดิโกะ-โยเซอิมีพระราชสาส์นขอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูอำนาจของพระองค์ให้พ้น จากอิทธิพลของตระกูลอะชิคางะ โนบุนากะจึงยกทัพเข้าเมืองหลวง และบีบบังคับให้โชกุน อะชิคางะ โยชิอากิ เป็นหุ่นเชิดของตน จากผลงานครั้งนี้ องค์จักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้เขาดำรงตำแหน่ง ไนไดจิน หรือ อัครมหาเสนาบดี จนในปี ค.ศ.1573 โชกุน โยชิอากิ คิดแข็งข้อ โดยร่วมมือกับขุนศึกทาเคดะ คัตสึโยริ ต่อมา หลังจากที่โนบุนากะทำสงครามชนะกองทัพของคัตสึโยริที่นากาชิโนะแล้ว โชกุนจึงได้ถูกเนรเทศออกไป และเป็นการสิ้นสุดอำนาจของตระกูลอะชิคางะที่ปกครองญี่ปุ่นมานานกว่า 200 ปีลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโนบุนากะไม่มีเชื้อสายขุนนางดั้งเดิม จึงไม่ได้ประกาศตัวขึ้นเป็นโชกุน แต่ในเวลานี้เขาก็นับว่ามีอำนาจมากที่สุดในแผ่นดิน

โนบุนากะเป็นนักการทหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล โดยเขาได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งกองทหารราบอะชิการุซึ่งเป็นทหารที่เกณฑ์มาจากชาวบ้านธรรมดา และใช้กองทัพขนาดใหญ่ในการทำสงครามผิดกับไดเมียวอื่นๆที่นิยมสะสมซามูไร ไว้ในกองทัพ ทั้งนี้ซามูไร มีข้อเสียที่หาได้ยาก ใช้เวลาฝึกนานและค่าจ้างแพง แม้ว่าพวกอะชิการุจะเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่โนบุนากะก็พิสูจน์ให้เห็นว่า กองทหารอะชิการุจำนวนมากก็สามารถเอาชนะซามูไรได้ ถ้าหากมีแม่ทัพที่ดี นับเป็นการเปิดปฐมบทของการทำสงครามด้วยกองทหารขนาดใหญ่ แต่ทหารชาวนาเหล่านี้มีข้อเสียในด้านขวัญกำลังใจและมักหนีทัพเสมอเพราะกลัวตาย ผิดกับซามูไรที่ยินดีสู้เพื่อตายอย่างมีเกียรติ

นอกจากนี้ โนบุนากะยังให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาเป็นอย่างดี โดยโนบุนากะมีความสนใจในสองสิ่งที่พวกนั้นนำมา นั่นคือ ปืนคาบศิลา และ ศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะปืน นั้น โนบุนากะถึงกับยอมเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพื่อให้กองทัพของตนเต็มไปด้วยออาวุธปืนที่สั่งตรงมาจากโปรตุเกส ต่อมาในปี ค.ศ.1544 โนบุนากะก็ให้ช่างชาวญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตอาวุธปืนขึ้น ทำให้กองทัพของโนบุนากะมีปืนใช้เป็นจำนวนมาก เช่นในการโจมตีปราสาท มุรากิ โนบุนากะมีพลปืนถึง 1200 นาย ในเวลาต่อมาไดเมียวทั้งหลายต่างก็หันมาใช้อาวุธปืนกัน เนื่องจากฝึกใช้ได้ง่ายกว่าดาบหรือธนู แม้แต่ชาวนาก็สามารถฝึกใช้ปืนได้ในเวลาไม่นาน

แม้ว่าจะกำจัดโชกุนได้แล้วโนบุนากะมีศัตรูมากมายที่ยังต่อต้านเขาอยู่ ศัตรูสำคัญพวกหนึ่งคือพวกพระนักรบ หรือ อิคโค อิกกิ ซึ่งในช่วงสงครามกลางเมือง พระนักรบเหล่านี้มีอำนาจมาก พวกนี้เป็นนักบวชในพุทธศาสนาที่ชำนาญการใช้อาวุธเหมือนซามูไร พระนักรบเหล่านี้ต่อต้าน อำนาจของโนบุนากะเนื่องจากเห็นว่าโนบุนากะนับถือศาสนาคริสต์ โนบุนากะได้ทำสงครามเพื่อกวาดล้างพระนักรบหลายครั้ง การรบครั้งสำคัญเช่นการทำลายสำนักสงฆ์บนเขาฮิเออันเป็นพุทธสถานเก่าแก่ อายุนับพันปี ถูกมองว่าเป็นแหล่งซ่องสุม กำลังที่สำคัญของพวกอิคโค อิคกิ ที่นี่มีป้อมปราการวัดพุทธที่เข้มแข็งพร้อมทั้งพระนักรบนับหมื่นคน โนบุนากะใช้ทหาร 30000 นาย ล้อมภูเขาและบุกขึ้นไปจนถึงวัดซากาโมโตะ อันเป็นศูนย์ของพระนักรบ โนบุนากะออกคำสั่งให้ทหารฆ่าทุกคนที่อยู่บนเขาไม่จะเป็น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือแม้แต่ทารกก็ตาม รวมทั้งเผาอาคารทุกหลัง ในเวลาไม่นาน ภูเขาฮิเอ ก็ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากนี้โนบุนากะยังโจมตีพุทธสถานอื่นๆที่มีแนวโนม้จะก่อกบฏต่อเขา จนทำให้อำนาจของพวกพระที่เคยมีอิทธิพลอยู่สูงหมดสิ้นไป โนบุนากะได้ให้การสนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาของพวกบาทหลวงโปรตุเกสเป็นอย่างดี เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินและอาวุธปืนที่พวกนี้นำมาให้

แม้ว่าโนบุนากะจะทำสงครามอย่างโหดเหี้ยมแต่เขาก็ให้ความสำคัญกับ เศรษ ฐกิจของประเทศ เช่นในการโจมตีเมืองซาไกซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญ โนบุนากะไม่ได้ทำลายเมืองนี้ แต่กลับให้ความช่วยเหลือบรรดาพ่อค้ารายใหญ่ของเมือง ในการก่อตั้งสมาคมพ่อค้า นอกจากนี้ยังมีการให้สิทธิพิเศษ ด้านภาษีอากรและรวบรวมระบบชั่ง ตวง วัด ให้ได้มาตรฐานทั้งประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่เลวร้ายอย่างที่น่าจะเป็น นอกเหนือจากการเป็นนักรบ โนบุนากะไม่เคยละเลยเรื่องศิลปะ โดยหลังจากได้อำนาจแล้ว โนบุนากะ ได้สร้างปราสาทอาซึชิ ที่ริมทะเลสาปบิวะ ซึ่งเป็นปราสาทที่สวยงามและมีกำแพงหินที่แข็งแรงทนทานต่อปืนใหญ่ นอกจากนี้ยังสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เกียวโตด้วย อย่างไรก็ดี ยุคสมัยของโนบุนากะไม่ยาวนานนัก จุดจบของเขามาถึงอย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน โดยมีสาเหตุมาจากในงานเลี้ยงคืนหนึ่ง ด้วยอารมณ์สนุกสนาน โนบุนากะได้ล็อกศรีษะของอะเดจิ มัตสึฮิเดะนายทหารคนสนิทไว้ในวงแขนและใช้ด้ามพัดตีศรีษะ มัตสึฮิเดะอับอายและเคียดแค้นมาก และรอโอกาสล้างแค้น

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1582 โนบุนากะส่งกองทัพส่วนใหญ่ไปทำสงครามที่คิวชู ทำให้กำลังในเกียวโตมีเพียงเล็กน้อย มัตสึฮิเดะเองก็เป็นนายพลคนหนึ่งที่ต้องคุมทัพไปด้วย ได้ยกทัพย้อนกลับมาโดยกะว่านายพลคนอื่นๆไปกันหมดแล้ว จากนั้นจึงเข้าล้อมวัดฮอนโนจิที่ โนบุนากะ พักอยู่ และเข้าโจมตี โนบุนากะถูกธนูยิงบาดเจ็บสาหัส และถอยเข้าไปในห้องจากนั้นได้จุดไฟเผาวัดและกระทำพิธีเซปปุกุหรือคว้านท้องฆ่าตัวตาย โนบุนากะได้เสียชีวิตลงทั้งๆที่ภารกิจรวมประทศยังไม่เสร็จสิ้น หลังจากนั้น มัตสึฮิเดะได้ยกกำลังไปที่ปราสาทนิโจ และสังหาร โอดะ โนบุทาดะ บุตรชายของโนบุนากะเสีย แต่มัตสึฮิเดะก็อยูได้อีกไม่นาน กล่าวคือ ฮิเดโยชิ นายพลของโนบุนากะ ได้นำทัพกลับมาล้างแค้นให้เจ้านาย และสังหารมัตสึฮิเดะได้ในสงครามที่ยามาซากิ จากนั้นก็รวบรวมแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ

ที่มา : //www.komkid.com



Create Date : 13 กันยายน 2554
Last Update : 13 กันยายน 2554 18:11:37 น.
Counter : 681 Pageviews.

1 comment
พระเจ้าติโลกราช มหาราชแห่งล้านนา


เมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อน อันเป็นรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ อาณาจักรล้านนาได้เรืองอำนาจจนขึ้นสู่จุดสูงสุด เป็นที่เลื่องลือไปในบรรดาแว่นแคว้นใหญ่น้อยใกล้เคียง จนแม้กระทั่งมหาอาณาจักรจีนยังได้บันทึกไว้ถึงความเกรียงไกรของล้านนาภายใต้การปกครองของจอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแดนเหนือ พระองค์นี้เอาไว้

พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็น กษัตริย์พระองค์ที่เก้า แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าลก เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 1952 ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาก็ทรงโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน(ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของเจ้าลกยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้(อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ต่อมามีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ สามเด็กย้อย คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงได้ซ่องสุมกำลังและลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่พญาสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดริน เชิงดอยสุเทพ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ยกกำลังไปเผาเวียงเจ็ดรินแล้วจึงบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชย์ จากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญเจ้าลก มาขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1985 โดยทรงมีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา ส่วนพระราชบิดานั้น พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาดในรัฐฉาน ประเทศพม่า และปูนบำเหน็จความชอบสามเด็กย้อยเป็น “เจ้าแสนขาน” แต่อยู่มาได้เพียง 1 เดือน 15 วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฎอีก พระเจ้าติโลกราช จึงให้หมื่นโลกนคร พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น หมื่นขาน และให้ไปครองเมืองเชียงแสน หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพอโยธยาของพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพระยา)ที่ยกมารุกราน จากนั้นจึงทรงขยายแสนยานุภาพไปยึดครองเมืองน่านและเมืองแพร่ได้สำเร็จ ทำให้เชียงใหม่สามารถรวมดินแดนทั้งหมดในล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก่อนจะขยายอาณาเขตต่อไปถึงแคว้นเชียงรุ่งสิบสองปันนา แคว้นเชียงตุงและหัวเมืองไทใหญ่ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองในเขตรัฐฉานทางภาคตะวันออก รวมทั้งยังแผ่อำนาจเข้าครอบงำอาณาจักรล้านช้าง อีกทั้งยังทำสงครามได้ชัยชนะเหนือกับกองทัพจีนจากมณฑลยูนนานที่ยกมารุกรานล้านนาอีกด้วย

ใน ปี พ.ศ.1994 พญาสองแคว ยุทธิษเฐียร ได้แปรภักดิ์จากอโยธยามาขอสวามิภักดิ์ต่อล้านนา ครั้น เมื่อทางอโยธยาทราบเรื่อง จึงยกทัพมาตี เมืองสองแคว ทว่าพญาสองแควได้อพยพผู้คนมาพึ่งพระเจ้าติโลกราช และจากนั้น สงครามระหว่างเชียงใหม่กับอโยธยาก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

โดยในช่วงแรกนั้น กองทัพเชียงใหม่ สามารถยึดเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัยได้ จนในปี พ.ศ. 2008 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอโยธยาต้องใช้วิธีออกผนวชและส่งสมณทูตมาขอบิณฑบาตรเมืองคืน แต่ พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงคืนให้ ด้วยเห็นว่ามิใช่กิจของสงฆ์

ต่อมา ทางอโยธยาได้วางอุบายส่งไส้ศึกมาสร้างความปั่นป่วนในเมืองเชียงใหม่ โดยส่งพระเถระจากภุกามลอบเข้ามากระทำให้พระเจ้าติโลกราชเลื่อมใสและหลอกให้ทรงตัดไม้นิโครธ อันเป็นศรีเมือง จนทำให้เชียงใหม่เกิดเรื่องวุ่นวายถึงขั้นที่พระเจ้าติโลกราชได้สั่งให้ประหาร ท้าวศรีบุญเรือง พระโอรสองค์เดียวของพระองค์ด้วยข้อหากบฏ และยังสั่งประหาร เจ้าหลวงหมื่นด้งนคร แม่ทัพใหญ่คู่บัลลังก์ ด้วยทรงเกิดระแวงว่า หมื่นด้งจะแปรภักตร์ไปเข้ากับอโยธยา เหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลายนี้ทำให้กองทัพเชียงใหม่อ่อนแอลง เป็นโอกาสให้ฝ่ายอโยธยาสามารถชิงเอาเมืองเชลียงกลับคืนไปได้ในปี พ.ศ.2017 และในปีต่อมา ล้านนาและอโยธยาก็ได้เจรจาสงบศึกกัน หลังสงครามกับอโยธยายุติลง พระเจ้าติโลกราชได้ทรงหันมาใฝ่พระทัยในทางศาสนา โดยทรงโปรดให้สร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก และที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้ทำสังคายนา พระไตรปิฎกในปี พ.ศ.2020 ณวัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการสังคายนา ครั้งที่8 ของโลก

เข้าปี พ.ศ.2023 เวียตนามยกทัพใหญ่มารุกรานล้านช้างและเมืองน่านที่เป็นประเทศราชของล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงทรงยกทัพไปปราบปรามและสามารถตีทัพใหญ่รี้พลสี่แสนนายของเวียตนามจนแตกพ่ายยับเยิน ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ทางจีนที่เป็นคู่ศึกกับเวียตนามในเวลานั้น ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นราชันย์ผู้พิชิตแห่งตะวันตกโดยให้มีฐานะรองลงมาจากองค์ฮ่องเต้ นอกจากนั้นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิงของจีนยังทรงพระราชทานเครื่องยศและทองคำจำนวนมากมามอบให้พระเจ้าติโลกราชเพื่อเป็นพระเกียรติอีกด้วย

พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระชนมายุ 78 พรรษา ครองราชย์รวมทั้งสิ้น 46 ปี หลังจากนั้นพญายอดเชียงราย พระนัดดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ

ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชนั้น นอกจากอาณาจักรล้านนาจะได้รวมกันเป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรกแล้ว ล้านนายังได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญอย่างที่สุดในทุกด้านอีกด้วย

ที่มา : //www.komkid.com



Create Date : 12 กันยายน 2554
Last Update : 12 กันยายน 2554 20:31:26 น.
Counter : 1230 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

แมวน้อยในเมืองใหญ่
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]