บทความเผยแพร่2014



การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.กัญญามน อินหว่าง 1 อาจารย์สุพจน์ อินหว่าง 2
และรองศาสตราจารย์ ดร.กัญญามน อินหว่าง*

รองศาสตราจารย์ ดร.กัญญามน อินหว่าง
อาจารย์สุพจน์ อินหว่าง
*Kanyamon06@gmail.com;0816864355


บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาลักษณะของการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้านไทย และศึกษาความสำเร็จจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยสัมภาษณ์เจาะลึก ประชากรได้แก่ ผู้นำในหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งประเภท ได้แก่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่บ้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและหมู่บ้านภูมิปัญญา และเลือกกลุ่มตัวอย่างอย่างเฉพาะเจาะจงกับผู้นำประเภทต่างๆ เพื่อทำการสัมภาษณ์ รวมทั้งสิ้น 35 คน
จากการศึกษาพบว่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในหมู่บ้านไทย7หมู่บ้าน มีการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยพบว่ามีการวางแผน จัดตั้งกลุ่มย่อยเพื่อสร้างรายได้ มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ประยุกต์จากภูมิปัญญาดั้งเดิม มีการเรียนรู้ร่วมกัน มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถอยู่รอดได้ สำหรับในด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดีได้แก่การมีส่วนร่วมกิจกรรมด้านเครือข่ายจากภายนอก ด้านคุณธรรมในส่วนของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่บ้าน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ การอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาพบว่าผู้อาศัยส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการใช้หลักความพอเพียงและการสร้างความรู้จากภูมิปัญญาดั้งเดิมมาปรับใช้เพื่อสร้างรายได้ การคิดค้นสร้างผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำรายได้ให้กับกลุ่ม มีการวางแผนที่ดีและสามารถสร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่น

คำสำคัญ : การดำเนินชีวิต หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านไทย



Abstract

Living the philosophy of Sufficiency Economy in the Thai village of
Phitsanulok Province

This research aims to study the nature of the economic life of the Thai village Phitsanulok Province and study the success of philosophy to the village Thai Phitsanulok. Using qualitative research by interviewing. Population are leader and living in 7 Thai village. The sample was selected using stratified random sampling of sufficiency village, village of Learning, tourist village, product village and wisdom village and using simple purposive sampling with leader village groups totaling 35 people for interviewing.
The study found that the lifestyle of the inhabitants of 7 Thai village with the philosophy of sufficiency economy was found to be planned. , forming small groups to generate income. , the application of traditional materials, learning together, the problem is that it is able to survive In the field of immune activities include participation from outside the network , The virtue of helping one another in the village, the preservation of the environment, the preservation of cultural traditions continued. The study found that the majority of residents of the importance of the principle of sufficient knowledge creation and deployment of conventional wisdom to make money to invent a product that can generate revenue for the group, good planning and network with other communities.
Keyword : Living , the philosophy of Sufficiency Economy , Thai village
บทนำ
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลางภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายใน โดยต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวัง และมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อความก้าวหน้าอย่างสมดุล เป้าหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยผู้ที่นำไปใช้จะต้องมีความชัดเจนในการประยุกต์ สามารถปรับใช้กับบริบทที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม มีแนวทางปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน ทำให้การขับเคลื่อนมีพลัง และเมื่อนำไปใช้ในการบริหารพัฒนาทุกระดับ สังคมไทยจะมีวิถีทางการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน (จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, 2550)
การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คนในสังคม ชุมชนสามารถอยู่รอดได้ โดยให้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรในการดำเนินการอย่างประหยัด และอย่างมีคุณภาพ และเน้นการบริหารความเสี่ยงต่ำ จากการศึกษาการพัฒนาระบบการจัดการและความสำเร็จจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของกัญญามน อินหว่าง และวัลลภา ศรีทองพิมพ์ (2554) พบว่า ความพอเพียงตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ คือ ความเหมาะสมของการดำเนินกิจการ ทั้งในแง่ของขนาดของธุรกิจที่ไม่เล็กเกินไป หรือไม่ใหญ่จนเกินตัว แต่เป็นไปตามอัตภาพและสภาพแวดล้อม รู้จักทำเป็นขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้า ความมีเหตุผล คือ การพิจารณาที่จะดำเนินงาน ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอบ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง เกิดประสิทธิผล เกิดประโยชน์และความสุข ความมีเหตุผลในหน่วยการผลิตหรือภายในตัวกิจการเองกับความมีเหตุผลระหว่างตัวกิจการกับหน่วยอื่นๆ ในสังคม เช่น การให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดด้านพนักงานที่เป็นทรัพยากรสำคัญขององค์กร สำหรับการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี คือ การจัดองค์ประกอบของการดำเนินงาน ให้มีสภาพพร้อมรองรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่ามีการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินธุรกิจ ที่เน้นความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว สามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน และใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ สามารถพัฒนาองค์กรให้มีความเข้มแข็ง ดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเองได้ มีรายรับที่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ปราศจากภาระหนี้สิน หรือมีความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อพิจารณาเทียบกับทุนหรือรายรับของกิจการ
จากการศึกษาแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า หากมีการศึกษาวิถีชีวิต ตลอดจนแนวทางการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้นำและผู้อาศัยในชุมชนว่าใช้หลักการใดที่สามารถสร้างกลุ่มอาชีพที่ยั่งยืน ตลอดจนการเป็นผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำเครือข่ายชุมชน รวมทั้งผู้นำทางภูมิปัญญา นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดพิษณุโลกมีความตื่นตัวต่อการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ดังจะเห็นได้จากการเปิดหมู่บ้านไทยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา เช่น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่บ้านภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกของหมู่บ้านไทย อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอบางระกำ อำเภอบางกระทุ่ม อำเภอพรหมพิราม อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทองและอำเภอเนินมะปรางนี้จะเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงทำให้เลือกศึกษาลักษณะของการดำเนินชีวิตของหมู่บ้านไทยดังกล่าว โดยเข้าศึกษาสัมภาษณ์ผู้นำกลุ่มและสมาชิกของชุมชนนั้น เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งเล็งเห็นว่า ผลจากการวิจัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่สนใจในการสร้างกลุ่มอาชีพของผู้นำชุมชนต่างๆ นำไปเป็นนำแนวทางการสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต่อไปได้

วัตถุประสงค์ในการวิจัย
1) เพื่อศึกษาลักษณะของการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก
2) เพื่อศึกษาความสำเร็จจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) สามารถเป็นแนวทางการสร้างหมู่บ้านไทยด้วยการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้
2) สามารถนำผลการวิจัยไปวางแผนการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ชุมชนได้

ขอบเขตการวิจัย

ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
การวิจัยครั้งนี้เลือกศึกษาผู้นำและผู้อาศัยของหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่บ้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญา รวม 7 หมู่บ้าน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เกี่ยวข้องในด้านกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มแห่งการเรียนรู้ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญา หมู่บ้านละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 35 คน

ขอบเขตด้านเนื้อหา
ศึกษาเนื้อหาสาระของ การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและเอกสารต่างๆ เพื่อจัดทำกรอบแนวคิดและการสร้างแบบสัมภาษณ์
การวิจัยนี้สร้างกรอบแนวคิดจากผลการวิจัย คือ กัญญามน อินหว่างและวัลภา ศรีทองพิมพ์ (2552 ) นรินทร์ สังข์รักษาและคณะ.(2551) เฉลียว บุรีภักดี และคณะ(.2552). มาเป็นแนวทางการสร้างเครื่องมือในการศึกษาครั้งนี้และจากการศึกษาเอกสารงานวิจัยต่างๆ จึงสร้างกรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาต่อไปดังภาพที่ 1



กรอบแนวคิดการวิจัย



























ระเบียบวิธีวิจัย






การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพ ทำการศึกษาโดยการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้นำและผู้อาศัยในหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้านของจังหวัดพิษณุโลก

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ได้แก่ ผู้นำในหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบ่งประเภท ได้แก่ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่บ้านผลิตภัณฑ์ชุมชน และหมู่บ้านภูมิปัญญา และเลือกกลุ่มตัวอย่างเฉพาะเจาะจงกับผู้นำกลุ่มจากประเภทของหมู่บ้าน เพื่อทำการสัมภาษณ์ หมู่บ้านละ 5 คน รวมทั้งสิ้น 35 คน (ดังตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 รายชื่อหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก
หมู่บ้าน รายละเอียด
บ้านเด่นโบสถ์ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก
บ้านวังแร่ หมู่ที่ 3 ตำบลมะขามสูง อำเภอเมืองพิษณุโลก
บ้านท่าโรงตะวันตก หมู่ที่ 10 ตำบลวัดพริก อำเภอเมืองพิษณุโลก
บ้านนาไก่เขี่ย หมู่ที่ 7 ตำบลนาบัว อำเภอนครไทย
บ้านชาติตระการ หมู่ที่ 6 ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ
บ้านย่านยาว หมู่ที่ 2 ตำบลโคกสลุด อำเภอบางกระทุ่ม
บ้านวังดินเหนียว หมู่ที่ 3 ตำบลวังยาง อำเภอเนินมะปราง

การสร้างเครื่องมือและการดำเนินการวิจัย
1) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้อง บทความและตำราของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจ เพื่อทำการสังเคราะห์เนื้อหาสาระ และนำมาเป็นแนวทางการสร้างกรอบแนวคิดต่อไป
2) จัดทำแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง และทำการสัมภาษณ์เจาะลึก 7 หมู่บ้านไทยในปี พ.ศ. 2555
ตอนที่ 1 สัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไปของหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน ตอนที่ 2 สัมภาษณ์ลักษณะการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตอนที่ 3 สัมภาษณ์ความสำเร็จที่ได้จากการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมิติด้านมนุษย์
3) ทำการสัมภาษณ์ เก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัย
การวิเคราะห์ข้อมูล
นำผลจากการสัมภาษณ์มาทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ทำการสรุปผลการวิจัยและรายงานผลการวิจัย ด้วยตารางสรุปเนื้อหาและภาพประกอบของลักษณะของการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละกลุ่มย่อยของหมู่บ้านไทย

ผลการวิจัย

1. จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปของหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน โดยแบ่งประเภทของหมู่บ้านออกเป็น หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว และหมู่บ้านภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ชุมชน
2. จากการศึกษาพบว่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน มีการจัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้านความมีเหตุผลมากที่สุด ได้แก่ มีความสนใจต่อข้อเสนอแนะของการประชุมกลุ่มคนในหมู่บ้านเพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นมากกว่าการซื้อภายนอก ให้ความสำคัญกับการใช้คนเป็นหลักมากกว่าการใช้เทคโนโลยี รองลงมา คือ การมีภูมิคุ้มกันที่ดี ได้แก่ มีการสนับสนุนส่งเสริมให้คนในชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อมหรือทำประโยชน์เพื่อสังคมชุมชน และด้านความรู้ ได้แก่ สามารถนำความรู้ประสบการณ์มาใช้ในการสร้างรายได้ มีการนำความรู้ ความคิดจากการประชุมมาดำเนินชีวิต และสร้างรายได้ สำหรับด้านคุณธรรม ได้แก่ มีโครงการที่ช่วยเหลือชุมชนสิ่งแวดล้อมอย่าง ดังภาพที่ 2



ภาพที่ 2 การบูรณาการการเรียนรู้ของท้องถิ่นกับ
ภูมิปัญญา







ภาพที่ 3 การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของ 7 หมู่บ้าน


3. จากผลการวิจัย พบว่า หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 4 มีความสำเร็จทุกด้านจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ โดย พบว่า ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นที่มีความสัมพันธ์กับมิติทั้ง 4 ได้แก่ ความพอประมาณมีความสัมพันธ์ครบทั้ง 4 มิติ โดยมิติด้านมนุษย์ ได้แก่ มีความสามารถและทักษะการดำรงชีวิต มิติด้านสังคม ได้แก่ การสร้างเครือข่ายภายนอก มิติด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม และมิติด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การสร้างรายได้ของกลุ่มอาชีพต่างๆ นอกจากนี้ ความรู้มีความสัมพันธ์กับ4 มิติโดยมิติด้านมนุษย์ ได้แก่ มีการพัฒนาความสามารถและทักษะการผลิตจากภูมิปัญญา มิติด้านสังคม ได้แก่ มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การร่วมกลุ่มเพื่อการเรียนรู้การสอนงานให้กับชุมชน มิติด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ มีผลกำไรและไม่ก่อให้เกิดปัญหา สำหรับความมีเหตุผลมีความสัมพันธ์กับมิติด้านสังคมได้แก่ การมีชุมชนเครือข่ายที่ช่วยเหลือเกื้อกูล มีกลุ่มเครือข่ายการตลาด การซื้อวัตถุดิบ มีข่าวสารข้อมูล สำหรับมิติด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การมีทรัพย์สินปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น จากการศึกษายังพบว่า ความมีเหตุผลมีความสัมพันธ์กับมิติด้านมนุษย์ ได้แก่ การรู้จักเลือกสรรอาชีพให้กับกลุ่ม มิติด้านสังคม ได้แก่ การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชีพ และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเข้าใจและประหยัด สำหรับด้านคุณธรรมมีความสัมพันธ์กับมิติด้านมนุษย์ ได้แก่ มีการนำหลักศาสนาประเพณีนิยมมาใช้กับหมู่บ้าน มิติด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มีการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน




ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ของความสำเร็จของมิติทั้ง 4

ความสัมพันธ์ มิติด้านมนุษย์ มิติด้านสังคม มิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านเศรษฐกิจ
ความพอประมาณ
มีความสามารถและทักษะการดำรงชีวิต -การสร้างเครือข่ายภายนอก
- การสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) -การสร้างรายได้ของกลุ่มอาชีพต่างๆ
ความมีเหตุผล
-การรู้จักเลือกสรรอาชีพให้กับกลุ่ม
-การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มอาชีพ ใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างเข้าใจและประหยัด
ความมีภูมิคุ้มกัน
-มีชุมชนเครือข่ายที่ช่วยเหลือเกื้อกูล
-มีกลุ่มเครือข่าย การตลาด การซื้อวัตถุดิบ มีข่าวสารข้อมูล -การมีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อม
มีทรัพย์สินปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ความรู้
มีการพัฒนาความสามารถและทักษะการผลิตจากภูมิปัญญา มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมต่างๆ การรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้ การสอนงานให้กับชุมชน -จัดกิจกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม มีผลกำไรที่และไม่ก่อให้เกิดปัญหา
คุณธรรม มีการนำหลักศาสนา ประเพณีนิยมมาใช้กับหมู่บ้าน มีการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน


อภิปรายผลการวิจัย

จากการศึกษาพบว่า จากการศึกษาพบว่า ลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในหมู่บ้านไทย 7 หมู่บ้าน มีการจัดการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้านความมีเหตุผลมากที่สุด เนื่องจากหมู่บ้านไทยทั้ง 7 หมู่บ้านมีการจัดการแบบมีส่วนร่วม ทุกข้อเสนอแนะของการประชุมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านการ ใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นมากกว่าการซื้อภายนอก ให้ความสำคัญกับการใช้คนเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ กัญญามน อินหว่างและคณะ (2554) เฉลียว บุรีภักดีและคณะ (2552) และนรินทร์ สังข์รักษาและคณะ (2551) ในด้านการใช้กระบวนการจัดการมาดำเนินการร่วมกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังพบว่า ความพอประมาณมีความสัมพันธ์ครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติมุนษย์ มิติสังคม มิติสิ่งแวดล้อม และมิติเศรษฐกิจซึ่งเป็นไปงานวิจัยของ สหัทยา พลปัถพี (2548:2) ในด้านการดำเนินการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4 ด้าน คือ 1) กิจกรรมเพื่อสร้างความพอเพียงด้านเศรษฐกิจ 2)กิจกรรมเพื่อสร้างความพอเพียงด้านสังคม 3)กิจกรรมเพื่อสร้างความพอเพียงด้านสิ่งแวดล้อม และ4)กิจกรรมเพื่อสร้างความพอเพียงด้านจิตใจ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแสดงให้เห็นถึงมิติทั้ง 4 เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้นั้น จะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในหมู่บ้านไทยทั้ง 7 หมู่บ้าน มีการพัฒนาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาสู่การสร้างอาชีพใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงก่อให้เกิดการสืบทอดอาชีพของชุมชนและการจัดการการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความสอดคล้องกับกระบวนการจัดการทางธุรกิจที่มีการนำหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดี การมีความรู้ และคุณธรรม โดยเฉพาะประเภทของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะใช้หลักการนำการเรียนรู้ ภูมิปัญญามาใช้ร่วมกันเช่นเดียวกับประเภทของหมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ก็นำแนวทางการผลิตด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทยเช่นกัน

ข้อเสนอแนะ

ข้อเสนอแนะทางวิชาการ
1) จากการวิจัย สามารถนำผลการวิจัยมาเป็นแนวทางการดำเนินกิจกรรมจามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างยั่งยืนในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายชุมชนภายนอก เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป สร้างเครือข่ายทางการตลาดรวมทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
2) จากผลลัพธ์ในมิติด้านมนุษย์ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจมีความสอดคล้องกันกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งประเภทหมู่บ้านไทยทั้ง 4 ประเภท ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยไปเป็นแนวทางการจัดการชุมชนโดยดูลักษณะการจัดกิจกรรม กลุ่มของหมู่บ้านไทยทั้ง 7 ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นเด่นชัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยจะเห็นได้ว่าหลักการของความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันที่ดี ความรู้และคุณธรรมสามารถก่อให้เกิดความสำเร็จได้ สามารถไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตทั้งในด้านการสร้างกลุ่มอาชีพ การสร้างแหล่งเรียนรู้ การผลิตสินค้าด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนต่างๆได้

ข้อเสนอทางการวิจัยครั้งต่อไป
1) ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง การพัฒนารูปแบบเครือข่ายของชุมชนจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ได้รูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจน
2) ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบถึงประเภทของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ หมู่บ้านท่องเที่ยว และหมู่บ้านภูมิปัญญาและผลิตภัณฑ์ว่ามีความแตกต่างกันในด้านการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เห็นเป็นรูปธรรม

บรรณานุกรม

[1]กัญญามน อินหว่างและคณะ (2556) การดำเนิน ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงหมู่บ้านไทย จังหวัดพิษณุโลก. ทุนสนับสนุนเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง.
[2]กัญญามน อินหว่างและวัลลภา ศรีทองพิมพ์. (2551) แนวทางการพัฒนาระบบการจัดการของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. รายงานการวิจัยทุนสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
[3]กัญญามน อินหว่างและวัลลภา ศรีทองพิมพ์. (2554) การพัฒนาระบบการจัดการและความสำเร็จจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม. รายงานการวิจัยทุนสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
[4]จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (รศ.ดร).(2550) ปาฐกถาพิเศษ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับการบริหาร การพัฒนา. สถาบัน บัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (วันพฤหัสบดี ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2550).
[5]เฉลียว บุรีภักดี และคณะ(.2552).การวิจัยและ พัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงในภาค เกษตรกรรมพื้นฐาน โดยอิงกรอบ ความคิดเชิงระบบ.กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
[6]นรินทร์ สังข์รักษาและคณะ.(2551) .ผลดีของการ ประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงในกระบวนการ เรียนรู้และการ จัดการความรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของ วิสาหกิจชุมชน กรณีศึกษาจังหวัด ราชบุรี. กรุงเทพมหานคร:สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
[7]สหัทยา พลปัถพี. (2548). แนวทางการพัฒนาคนให้มีคุณลักษณะตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.วิทยานิพนธ์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



Create Date : 07 ธันวาคม 2558
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2562 10:36:44 น.
Counter : 770 Pageviews.

0 comments

kanyamon555
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



การเรียนรู้ คือวิถีของมนุษย์