ทางออกการแก้ปัญหามลภาวะที่มาตาบพุดผ่านการใช้สิทธิชุมชน

1) ประกาศเขตควบคุมมลพิษ

การประกาศเขตควบคุมมลพิษน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวชุมชนที่ต้องเผชิญวิกฤติมลภาวะที่มาตาบพุด โดยเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะประกาศให้ท้องถิ่นใดที่ "มีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มจะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม" เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตาพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ทั้งเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษในพื้นที่ดังกล่าว หัวใจสำคัญของการประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดสิทธิชุมชน ในการร่วมกันเรียนรู้และการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาคประชาสังคม ในการดูแล แก้ไข และป้องกันปัญหาผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในสังคมหรือชุมชน

เนื่องจากการมีประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะทำให้เทศบาลมาบตาพุดซึ่งจะรับผิดชอบการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ จึงต้องมีการส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การเก็บข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ การวิเคราะห์ปัญหาและประเมินผลกระทบ และการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม โดยทบทวนปัญหาและข้อจำกัดในการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน จนถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของภาคประชาชนและมีการจัดทำรายงานประจำปีเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง ผ่านการช่วยเหลือของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดทำแผนและกฎการปฏิบัติการ สำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม

โดยแผนและกฎการปฏิบัติการ สำหรับป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรมจะเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงของสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ และต้องให้ความ สำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหภาพแรงงานหรือองค์กรของพนักงาน องค์กรสาธารณกุศล และประชาชนในพื้นที่ ในการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยสารเคมีระดับจังหวัด ตามมาตรา 16 และมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และการมีส่วนร่วมในการฝึกซ้อมปฏิบัติการตามแผน และกฎการปฏิบัติการอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากยังไม่มีโอกาสในการเข้าร่วมกำหนดแผนและฝึกซ้อมแผนการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัย

ความสำคัญประการสุดท้ายคือการประกาศเขตควบคุมมลพิษมิใช่การยับยั้งการขยายโรงงาอุตสาหกรรมแนวทางการพัฒนาของรัฐเน้นการขยายอุตสาหกรรมตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 (พ.ศ.2547-2561)ซึ่งตามแผนแม่บท ที่กำหนดให้พัฒนาพื้นที่เป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในพื้นที่อำเภอมาบตาพุด อำเภอเมือง อำเภอบ้านฉาง และอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยองนั้น แต่เป็นการช่วยควบคุมการขยายอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอนาคตจะต้องผ่านการพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างถี่ถ้วน เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังที่เกิดขึ้นมาแล้วเป็น วัฏจักรเกิดซ้ำอีก การประกาศเขตควบคุมมลพิษจึงเป็นแนวทางแห่งความพอประมาณ ที่พยายามจัดสมดุลระหว่างการพัฒนาอุตสาหกรรมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

2) จัดเก็บภาษีมลพิษเพื่อรับผิดชอบต้นทุนภายนอก

ประชาชนในชุมชนมาตาบพุดสมควรได้รับการเยียวยาจากผลกระทบที่พวกเขาไม่ได้ก่อ เป็นผลกระทบภายนอกของกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในชุมชนพื้นที่ เมื่อพิจารณาการรับผิดชอบและชดเชยในอดีตของอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง จะพบว่า ปัญหาความบกพร่องในการจัดเก็บภาษีและการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน ทำให้จังหวัดระยองไม่อาจจัดเก็บภาษีและนำมาพัฒนาบริการพื้นฐานและการลงทุนทางสังคม และการปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการเพิ่มภาษีมลพิษขึ้นมา เพื่อให้รองรับค่าต้นทุนภายนอกเป็น ต้นทุนของหน่วยธุรกิจที่เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าและบริการ แล้วมีผลกระทบให้คนในสังคมนั้นๆได้รับความเสียหาย หรือมีผลกระทบในทางลบ ผ่านการนำเสนอกฎหมาย " เพื่อให้เป็นการควบคุมมลพิษโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ หากเป็นบริษัทที่ลงทุนเครื่องจักรใหม่ ก็ไม่ต้องซื้อสิทธิในการปล่อยมลพิษ

สำหรับมลภาวะทางอากาศ ใช้ตัวบ่งชี้จากปริมาณก๊าซที่ถูกปล่อยออกจากอุตสาหกรรม ผ่านกลไกคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด เป็นการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะใช้เป็นเกณฑ์วัดขีดจำกัดของสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ จะมีปริมาณที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ที่สามารถจะรองรับในพื้นที่นั้น ส่วนมลพิษทางน้ำซึ่งเป็นปัญหามลภาวะสำคัญของชุมชนพื้นที่ มาตาบพุด สามารถจัดเก็บภาษีผ่านตัวบ่งชี้ 2 ตัวได้แก่ ค่าความสกปรกของน้ำ หรือค่าBOD และสารแขวนลอย หรือTSS ที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม 27 ประเภท เช่น น้ำตาล เยื่อและกระดาษ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฟอกหนัง โรงบำบัดของเสียรวม เป็นต้น โดยแนวทางการจัดเก็บภาษี จะให้เทศบาลมาบตาพุดเป็นผู้จัดเก็บ แล้วแบ่งสัดส่วนส่งต่อให้กระทรวงอุตสาหกรรม 25% ที่เหลือจะนำเข้ากองทุนสวัสดิการมาตาบพุด ที่จัดตั้งขึ้นพร้อมทั้งการร่วมดูแลระหว่าง เทศบาลมาตาบพุด และ ประชาชนในพื้นที่มาตาบพุด การจัดตั้งคณะบริหารทำงานกองทุนสวัสดิการผ่านประชาชนในพื้นที่เป็นการบริหารร่วมกันแบบธรรมมาภิบาล เพื่อนำเงินจากกองทุนสวัสดิการไปบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่พร้อมทั้งสร้างสาธารณประโยชน์เพื่อการบริการพื้นฐานให้ประชาชนในชุมชนพื้นที่

3) ทบทวนการแก้ไขพื้นที่ผังเมืองที่พื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชน

ปัญหาการทับซ้อนพื้นที่อุตสาหกรรมทับซ้อนเขตชุมชน เป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังมายาวนานของพื้นที่มาตาบพุดผังเมืองฉบับใหม่ปี 2546 มีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าไปทับซ้อนกับหลายชุมชน โดยเฉพาะการขยายไปสู่เขตอำเภอบ้านฉาง ก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซี, วางแผนแม่บทอุตสาหกรรมเคมี โรงไฟฟ้าและอื่นๆ เรียกว่า แผนขยายโครงการเหล่านี้เดินหน้าไป ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยใกล้บริเวณพื้นที่โรงงานได้รับผลระทบมลพิษออกมาจาก โดยเครือข่ายองค์กรเอกชนสามารถตรวจสอบพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง 19 ชนิดมีค่าสูงกว่ามาตรฐานของสหรัฐอเมริกา

เพราะฉะนั้นการทบทวนการแก้ไขพื้นที่ผังเมือง โดยเฉพาะผังเมืองที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมที่ประกาศใช้ยังทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งตามกฎหมายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะต้องกำหนดให้มีพื้นที่กันชน(Buffer Zone) สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมทุกส่วนอันจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษและความเสี่ยงต่ออุบัติภัยลุกลามออกไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในชุมชนมาตาบพุด โดยการทบทวนแก้ไขผังเมืองในครั้งนี้ต้องมีการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทุกขั้นตอนของการวางผังเมืองตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติผังเมือง เพื่อให้มีการปรับสัดส่วนของคณะกรรมการผังเมือง โดยให้มีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคม และให้กระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการผังเมืองมีการถ่ายโอนการกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งให้กระบวนการตัดสินใจของคณะกรรมการผังเมืองมีความโปร่งใส โดยคณะกรรมการผังเมืองต้องทำบันทึกเหตุผลการตัดสินใจของกรรมการแต่ละคนรวมทั้งให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์ของตนเองต่อสาธารณะ เนื่องจากการวางผังเมืองที่ผ่านมามีปัญหาประโยชน์ทับซ้อน ตากมูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น

4) มาตรการจัดการความต้องการใช้น้ำ สู่ กองทุนการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำ

จากการขยายตัวทั้งพื้นที่อยู่อาศัย และพื้นที่อุตสาหกรรม ในจังหวัดระยอง ตามนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ทำให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแผนขยายอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีครบวงจรนับเป็นกิจกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุด แต่แหล่งน้ำหลักในพื้นที่มีอยู่จำกัด และสภาพความแปรปรวนของฝนมีมาก กอปรกับการขาดการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ การขาดระบบสำรองน้ำ รวมถึงการไม่สามารถใช้น้ำฝนและน้ำจากบ่อน้ำตื้นในการอุปโภคและบริโภคได้ เนื่องจากการปนเปื้อนของสารมลพิษโลหะหนัก จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ทั้ง ด้านอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาทรัพยากรน้ำที่ไม่เพียงพอ จึงควรเพิ่มบทบาทและอำนาจการจัดการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการลุ่มน้ำที่มีอยู่แล้วในจังหวัดระยองให้มากขึ้น ร่วมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดการและเผยแพร่องค์ความรู้และระบบข้อมูลน้ำในภาพรวมของจังหวัดระยองและภาคตะวันออก เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการจัดการน้ำในพื้นที่ได้โดยง่ายและทันท่วงที เร่งแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ ทั้งการปนเปื้อนน้ำฝน น้ำผิวดินน้ำใต้ดิน และน้ำทะเล นำมาตรการจัดการด้านความต้องการใช้ รวมถึงมาตรการราคา มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เพื่อลดความต้องการใช้น้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมลง และแบ่งสรรผลประโยชน์จากการขายน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดตั้งกองทุนการอนุรักษ์ทรัพยากรพื้นที่ลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้น-ปลายน้ำ ในการนำเงินมาใช้เพื่อบำบัดแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารมลพิษโลหะหนักที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม


เอกสารอ้างอิง

เดชรัตน์ สุขกำเนิด ขยาย "มาบตาพุด" : การเบียดเบียนที่ไม่สิ้นสุดในยุคเศรษฐกิจพอเพียง 2552
สมพร เพ็งค่ำ และ บำเพ็ญ ไชยรักษ์ “สู่การพัฒนาที่ไม่เบียดเบียนสุขภาพ ประกาศเขตควบคุมมลพิษ รักษาชีวิตคนระยอง” สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 2552
Oates, Wallace E. (1995). “Green Taxes : Can We Protect the Environment and Improve the
Tax System at the Same Time?,” Southern Economic Journal. 61 : 915-922.



Create Date : 27 มีนาคม 2553
Last Update : 27 มีนาคม 2553 18:16:13 น. 0 comments
Counter : 679 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

still solo one
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




[Add still solo one's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com