*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

การจำกัดเสรีภาพในการพูด การคิด การเขียน ในประเทศจีน

หลักกฎหมายเกี่ยวกับ Internet Censorship ในประเทศจีน
พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ


บทคัดย่อ (Abstract)



ประเทศจีนมีความเข้มงวดในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างเข้มข้นที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประเทศจีนอยู่ในลำดับที่ 168 จาก 175 ประเทศ และมีสื่อสารมวลชนถูกฆาตรกรรม 1 ราย และถูกลงโทษจำคุก อันเนื่องมาจากการเสนอความคิดเห็น จำนวน 30 ราย และ นักเขียนออนไลน์ หรือ Netizens ที่ถูกจำคุกรวม 76 ราย นับแต่ปี ค.ศ.1999 เป็นต้นมา ทั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ควบคุมการแสดงความคิดในทุกรูปแบบทั้งบนสื่อทั่วไป การแจกจ่ายใบปลิว หรือ แบบออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่การปกครองของ Xingjiang Uyghur Autonomous Region (XURA) ทางการจีนได้จับกุมคุมขังผู้ที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลจีนอย่างเข้มข้น เช่น ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. 2008 ทางการ XURA ได้จับกุมนาย Miradil Yasin กับนาย Mutellip Teyip ที่แจกใบปลิวในบริเวณมหาวิทยาลัย Xinjiang เพื่อชักชวนให้นักศึกษาร่วมรณรงค์ต่อต้านการขายสูบบุหรี่และสุราในเขตมหาวิทยาลัย แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกจับทั้งสองคน เป็นการปลุกเร้าให้นักศึกษาก่อความไม่สงบเรียบร้อยบนถนนหนทาง เป็นต้น

ด้านการเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ รัฐบาลจีนได้ปิดกั้นการเข้าถึงเวปไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคมอย่างเข้มข้น เช่น กรณี ดาไล ลามะ (Dalai Lama) การสลายการชุมนุมที่จัตุรัส เทียนอันเหมิน (Tienanmen Square) หรือ แนวคิดทางศาสนาของลัทธิ ฝ่าหลุนกง (Falun Gong) โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนของชาวจีน โดยมีนักวิชาการและปัญญาชนเข้าร่วมลงชื่อออนไลน์ในเอกสาร Charter 08 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 ในวาระครบ 60 ปีของการปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( Universal Declaration of Human Rights) และ มีประชาชนกว่า 9,700 คน ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องดังกล่าว ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2009 รัฐบาลจีน ได้ทำการจับกุมนาย Liu Xiaobo นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังผู้ร่วมลงชื่อในเอกสารดังกล่าว โดยทางการจีนได้ติดตั้งระบบตรวจสอบและดักฟังที่บ้านของนาย Liu Xiaobo ภายหลังถูกจับกุมแล้ว เขาถูกปฏิเสธสิทธิในการมีทนายความ รวมถึงไม่ยินยอมให้ญาติของเขาเยี่ยม โดยควบคุมตัวเขาไว้เกินกว่า 6 เดือน โดยไม่มีการฟ้องร้องคดีเขาแต่ประการใด แต่ได้กักขังตัวเขาไว้ในบ้านโดยมีการติดตั้งระบบเฝ้าดูและดักฟังเขาตลอดเวลา จนกระทั่งวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.2009 ได้นำตัวนาย Liu Xiaobo ไปฟ้องร้องในข้อหายุยงส่งเสริมให้ประชาชนล้มล้างการปกครองของรัฐบาลจีน (Inciting subversion) โดยการเผยแพร่ข้อความอันเป็นข่าวลือ และ ให้ร้ายรัฐบาลจีน โดยไม่ยินยอมให้มีทนายแก้ต่าง โดยให้เหตุผลว่าทนายความของเขา คือ Mo Shaoping ได้ลงชื่อใน Charter 08 ด้วยเช่นกัน ท้ายที่สุด ศาลได้ตัดสินให้จำคุกนาย Liu Xiaobo ตามข้อกล่าวหา เป็นเวลา 11 ปี
ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ.2009 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของประเทศจีน ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ กับสื่อสารมวลชนต่างประเทศ และ องค์กรเอกชน (NGO) ตั้งแต่การประสานงานที่ใกล้ชิด ตักเตือน ไปจนถึงการออกหมายเรียก และ การข่มขู่ หรือ การติดตามรังควานสื่อมวลชนกว่า 100 คนที่ลงชื่อในหนังสือเรียกร้อง Charter 08 ดังกล่าว และสื่อสารมวลชนทั่วไป รวมถึงนักสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะบุคคลที่มีการจัดทำสำเนา Charter 08 เผยแพร่ต่อสาธารณะ จะถูกเฝ้าตรวจและดักฟัง (residential surveillance) ในที่อยู่อาศัยของเขาเองด้วย




รัฐบาลจีน ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารออนไลน์อย่างเป็นระบบตั้งแต่ กำหนดให้มีใบอนุญาตการประกอบกิจการสื่อมวลชนที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน การการกลั่นกรอง (Filtering) และปิดกั้น (Blocking) เวปไซต์ต่าง ๆ ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่กำหนดนโยบาย ในระดับของ Internet Service Provider (ISP) ซึ่งปัจจุบันจีน มีระบบเครือข่ายใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ CSTNet, ChinaNet, CERNet และ CHINAGBN ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมระบบการให้บริการทางอินเตอร์เน็ตทั้งระบบ เพื่อควบคุมผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตกว่า 3,000 บริษัท ที่ได้รับสัมปทานจากระบบเครือข่ายดังกล่าวอีกทอดหนึ่งอย่างเบ็ดเสร็จ
รัฐบาลจีน ยังได้จัดตั้งสมาคมอินเตอร์เน็ตแห่งประเทศจีน (The Government-connected Internet Society) เพื่อให้ผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตซึ่งจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลให้ยอมรับเงื่อนไขในการตรวจสอบและปิดกั้นเนื้อหาที่รัฐบาลจีนเห็นว่าไม่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดให้ผู้เขียนหรือสร้างเนื้อหาบนเวปไซต์ มีหน้าที่ต้องทำการตรวจสอบและละเว้นการเผยแพร่ข้อมูลไม่เหมาะสมด้วย (Self-filtering) รัฐบาล โดย State Council ได้พัฒนาระบบ Golden Shield ในปี ค.ศ. 1993 ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็น Great Firewall of China ในปี ค.ศ.2000 เพื่อปิดกั้นเวปไซต์ พร้อมกับดำเนินคดีอาญาอย่างจริงจัง ให้เพื่อยับยั้งมิให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น (Chilling effect) ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากมีการเสนอความเห็นที่เกี่ยวกับกรณีการสลายการชุมนุมที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1993 หรือเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็จะมีการดำเนินดคีกับที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงจัง


รัฐบาลจีน ยังได้ใช้กฎหมายอาญาโดยผิดวัตถุประสงค์ในการห้ามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เช่น ข้อหาหมิ่นประมาท (Defamation) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 เพื่อลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือ การเปิดเผยข้อเท็จจริงที่รัฐบาลจริงไม่พึงประสงค์จะให้มีการเผยแพร่ โดยกล่าวหาว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว เป็นการสร้างความเข้าใจผิด หรือให้ร้ายรัฐบาล เพื่อมีวัตถุประสงค์ล้มล้างรัฐบาล โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 เป็นต้นมา โดยในกรณีที่รัฐบาลจีนเห็นว่าการวิพากษ์รัฐบาล หากเห็นว่าการหมิ่นประมาทนั้นจะก่อให้เกิดภยันตรายต่อผลประโยชน์ของรัฐ ก็สามารถดำเนินคดีได้เองโดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 249 ได้โดยลำพัง


การปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยรัฐบาลจีน ด้วยการสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ การผูกขาดการให้บริการต่อเชื่อมระบบอินเตอร์เน็ตโดยรัฐบาลเอง และ การใช้ระบบซอฟแวร์เพื่อตรวจสอบและป้องกันการแสดงความคิดเห็นที่ไม่พึงประสงค์ การสร้างความเชื่อ (Propaganda) ที่สนับสนุนนโยบายของรัฐ การจ้างประชาชนเข้าโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นหักล้างกับผู้โจมตีรัฐบาล การปิดเวปไซต์ และ การดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยหน่วยงาน Office of Information ซึ่งมี Bureau Five และ Bureau Nine ในการสร้างความเชื่อและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการการใช้ระบบใบอนุญาตควบคุมบริษัทหรือองค์กรต่างประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจในประเทศจีนอีก ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลจีน พิจารณาข่าวสารเป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนอินเตอร์เน็ต ก็ควรจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความบันเทิงเท่านั้น ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับการการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือสร้างความไม่สงบแก่สังคมและผลประโยชน์ของรัฐบาลจีน อันรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย รัฐบาลจึงใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบและปิดกั้นการเผยแพร่ความคิดเห็นใด ๆ ของประชาชน โดยเฉพาะสื่อสารมวลชนของต่างประเทศ แม้กระทั่งภาพยนตร์ และ สื่อมวลชนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twiiter รวมถึง Search Engine ของเวปไซต์ต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศจีน พิจารณาเห็นว่า ความมั่นคงปลอดภัยของสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด จึงทำให้มีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และ มีการใช้อำนาจทางกฎหมายที่ผิดมาโดยตลอดเช่นกัน โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในขณะเดียวกันระบบการตรวจสอบกฎหมายก็มีแนวโน้มลดลงไปหรือไม่มี ขาดความโปร่งใสในกระบวนการดังกล่าว โดยศาลเองก็ไม่ได้มีบทบาทในการตีความกฎหมายและส่งเสริมเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเลย
กล่าวโดยรวม รัฐบาลจีน ได้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิด (Freedom of Expression) ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่การตรวจสอบก่อน (Prior restraints) การขอใบอนุญาต (License) รวมถึงการใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ซึ่งเรียกว่า เป็นการใช้อำนาจแบบอ่อน (Soft power) โดยรัฐบาลจีนจะใช้มาตรการเฝ้าระวัง (watch dog) เกี่ยวกับการเสนอข่าวสารของนักเขียนและสื่อมวลชน โดยเน้นย้ำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้มีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลจีนในฐานะที่เป็นนโยบายและมาตรฐานวิชาชีพที่สำคัญสูงสุดยิ่งยวดของสื่อมวลชนเลยทีเดียว ปัจจุบันรัฐบาลจีน ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการควบคุมโดยการเสนอข่าวผ่านระบบออนไลน์ให้รวดเร็วที่สุดเร็วกว่าสื่ออื่น ๆ เพื่อให้ข่าวของรัฐครอบคลุมและกำหนดทิศทางในการเสนอข่าวของสื่ออินเตอร์เน็ตอื่น ๆ การตติดตามรังควานสื่อมวลชน การลบข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และศาสนา รวมถึงการปิดกั้นเวปไซต์ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดให้ร้านค้าคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ดำเนินการติดตั้งซอฟแวร์หรือโปรแกรมในการตรวจสอบเนื้อหาของเวปไซต์ไว้เป็นการล่วงหน้า (Pre-installed censorship software) ซึ่งรัฐบาลจะควบคุมและตรวจสอบการคอมพิวเตอร์ของปัจเจกชนตลอดเวลา รวมถึงการออกข้อกำหนดที่จะบังคับให้ปัจเจกชนในการแจ้งชื่อที่อยู่ที่แท้จริงในการเสนอข้อความหรือแสดงความคิดเห็นตามเวปไซต์ต่าง ๆ ด้วย อีกทั้ง ยังกำหนดหน้าที่ให้ผู้บริหารเวปไซต์ ทำหน้าที่ในการป้องกันเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการละเมิดศีลธรรมบนอินเตอร์เน็ต เช่น ภาพโป๊ หรือ เนื้อหาที่มีหยาบโลน เป็นต้น




บทความนี้ ( เป็นบทย่อของเอกสารขนาดความยาว ๕๐ หน้า ) ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ปรากฏในรายละเอียด ดังนี้

1. หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ประเทศจีน ได้ให้ความคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนไว้ทั้งตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ.1982 มาตร 35 รับรองเสรีภาพดังกล่าวไว้ว่า ประชาชนแห่งสาธารณะประชาชนจีน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในการตีพิมพ์งานวิชาการ เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม เดินขบวน และ การชุมนุม แต่มีกฎหมายลำดับรอง ๆ ลงไป กำหนดแนวทางที่เป็นอุปสรรคในการแสดงความคิดเห็นอย่างมากมาย เช่น Regulations on the Administration of publishing ค.ศ. 2001 มาตรา 5 และ มาตรา 24 ได้กำหนดให้องค์กรของในทุกระดับจะต้องดำเนินมาตรการเพื่อให้หลักประกันการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวเป็นจริงในทางปฏิบัติ แต่การแสดงความเห็นที่ชอบด้วยกฎหมาย และ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อประโยชน์ของแผ่นดิน สังคม หรือ ส่วนรวม อีกทั้งยังจะต้องเคารพต่อนโยบายของรัฐ (national affairs) และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมด้วย

ในกรณีที่เป็นการเสนอผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ งานวรรณกรรม และ วัฒนธรรม หากชอบด้วยกำหมาย ตามนัยยะที่พรรคคอมมิวนิสต์กำหนดไว้ ย่อมได้รับการปกป้อง และ ไม่อาจจะถูกแทรกแซงได้ ไม่อาจทำให้ล่าช้า หรือ การขัดขวางการเสนอความคิดเห็นดังกล่าว จากหลักกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้การแสดงความคิดเห็นใด ๆ ถูกจำกัดไปทั้งหมดจนแทบไม่อาจแสดงความคิดเห็นได้

2. ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เกี่ยวกับสื่อออนไลน์

ประเทศจีน ได้ตรากฎหมาย หรือ People Republic of China - PRC Domestic Laws and Regulations: Prior Restraints จำนวนมาก เช่น การรายการวิทยุ หรือ เสียงที่ถ่ายทอดผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้น จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เรียกว่า Measures on the Administration of Broadcasting Audio/ Visual Program over the Internet or Other Information Network ปี ค.ศ. 2003 ซึ่งกำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่ประสงค์จะถ่ายภาพและเสียงผ่านระบบอินเตอร์เน็ต จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานดังกล่าว State Administration of Radio, Film, and Television หรือ กรณีที่ผู้ที่จะให้บริการ Internet Cafes ปฏิบัติตาม Regulation on the Administration of Internet Access Service Business Establishments [Internet Cafes] ค.ศ.2002 ซึ่งจะต้องตรวจสอบ ลงทะเบียน และ จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มาใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ต หรือ เอกสารอื่น ๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายของลูกค้าซึ่งมาใช้บริการออนไลน์ในสถานบริการของตนเอง โดยจะต้องจัดเก็บข้อมูลทั้งในด้านเนื้อสาระในการสื่อสารและข้อมูลผู้ใช้บริการ เป็นเวลาอย่างน้อย 60 วัน เพื่อให้หน่วยงานด้านวัฒนธรรมและความปลอดภัย (Cultural and Public Security Agency) ตรวจสอบว่ามีการกระทำใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อมูลที่เกี่ยวกับการลงทะเบียน และ ข้อมูลบันทึกต่าง ๆ จะต้องไม่ถูกเปลี่ยนแปลง หรือทำลายระหว่างระยะเวลาดังกล่าว

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเผยแพร่งานเขียนบนอินเตอร์เน็ต จะต้องปฏิบัติตาม Interim Provisions on the Administration of Internet Publishing ค.ศ.2002 มาตรา 6 ที่กำหนดไว้ในเชิงป้องกันไว้ว่า ผู้ที่จะเผยแพร่งานทางอินเตอร์เน็ต จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนการเผยแพร่เนื้อใด ๆ บนอินเตอร์เน็ต จะต้องไม่มีเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเกียรติภูมิและประโยชน์ของรัฐ และห้ามมิให้มีการเผยแพร่ข่าวลือ, กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ และ สร้างความปั่นป่วนต่อเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้ยังมี Provisions on the Administration of Internet Electronic Bulletin Board Service ค.ศ.2000 มาตรา 5 ผู้ให้บริการข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ( Operators of Internet Information Services) ซึ่งให้บริการเกี่ยวกับกระดานแสดงความคิดเห็นทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะต้องยื่นขออนุญาตเช่นกัน

3. แนวนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการควบคุมการแสดงความคิดเห็นในประเทศจีน

รัฐบาลจีน มีแนวนโยบายที่จะควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน การเมือง และ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ อย่างเข้มงวด การเผยแพร่ข้อมูลใดจะต้องมีความถูกต้องตามทิศทางทางการเมือง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และจะต้องสอดคล้องต่อนโยบาย และกฎระเบียบของพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงกฎหมายของประเทศจีน เป็นสำคัญ โดยมีหลักการ และเครื่องมือในการควบคุม เช่น การเสนอข่าวสารใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ จะต้องไม่ปฏิเสธแนวคิดลัทธิ Marxism, Mao Zedong หรือทฤษฎี Deng Xiaoping หรือ การละเมิดข้อกำหนด หลักเกณฑ์ หรือ นโยบาย ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีการนำ การนำกฎหมายพิเศษมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการแสดงความคิด เช่น กฎหมายว่าด้วย National Security and State Secrets กฎหมายอาญา ว่าด้วยการการเผยแพร่ไขข่าว หรือ การเปิดเผยความลับของรัฐบาลจีน กฎหมายว่าด้วย State Security Law ค.ศ. 1993 ซึ่งมีข้อกำหนดอย่างกว้างขวางและคลุมเครือห้ามมิให้องค์กรหรือปัจเจกชน ก่อให้เกิดภยันตรายต่อความมั่นของประเทศจีน (มาตรา 4)

5. หน่วยงานและมาตรการของประเทศจีนในการตรวจสอบการแสดงความคิดของประชาชน

นอกจาก General Administration of Press and Publication (GAPP) เป็นหน่วยงานพิจารณาให้ใบอนุญาต (License) และ มีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมสื่อสารมวลชนและอุตสาหกรรมการพิมพ์ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ เช่น The Central Propaganda Department (CPD) หรือ หน่วยงานสร้างความเชื่อและความศรัทธาต่อนโยบายของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ มีหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติงานของ GAPP ให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวอย่างใกล้ชิด The State Administration of Industry and Commerce มีหน้าควบคุมและดำเนินคดีกับสิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่ถือว่าผิดกฎหมายด้วย The State Council Information Office ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลและการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนสื่ออินเตอร์เน็ต และ สื่อทั่วไป ฯลฯ และ ส่วนองค์กรที่สำคัญที่สุด ได้แก่ องค์กรศาลของจีนเอง ที่หน้าที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในแผ่นดินจีน โดยศาลสูงสุดของจีน ก็พิพากษายอมรับว่า การตรวจสอบและปิดกั้น หรือ Censorship ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพื่อป้องกันมิให้ประชาชนชาวจีนในการเข้าถึงแนวคิดทางการเมืองของต่างประเทศ

บทสรุป

สำหรับการปิดกั้นของประเทศจีน ทางการจีนได้ใช้อำนาจอย่างเข้มข้นในการควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนอินเตอร์เน็ต โดยดำเนินการหลายแนวทาง ตั้งแต่ การจูงใจเพื่อให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และ เวปไซต์ในประเทศจีน ให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังเนื้อหาในเวปไซต์ตลอดเวลา โดยจะต้องดำเนินการลบเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ในเวปไซต์นั้น นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ดำเนินการสร้างความเชื่อของสาธารณะโดยการจ่ายเงินเพื่อให้สร้างระบบกระดานข่าวหลายหมื่นแห่งเพื่อให้เสนอข่าวสารที่สนับสนุนรัฐบาล ควบคู่ไปกับมาตรการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการที่เข้มข้นในการติดตั้งโปรแกรมในเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ของเอกชนทุกราย ที่เรียกว่า "Green Dam-Youth Escort'' โดยโปรแกรมดังกล่าว สามารถเฝ้าระวังการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกคนได้ตลอดเวลา แม้จะได้รับการต่อต้านอย่างมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่รัฐบาลก็ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวอย่างไม่ลังเลเลย อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ เดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 ที่มีการลงชื่อทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับประชาธิปไตย หรือ Charter 08 โดยปัญญาชนชาวจีน ที่เรียกร้องให้ยุติการผูกขาดการสืบอำนาจของคอมมิวนิสต์ ผลของการเผยแพร่ดังกล่าว นอกจากการดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่แล้ว ยังทำให้เวปไซต์จำนวนมากที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่น bulldog.com ถูกปิดตัวลงไปทันที

รัฐบาลจีนได้กำหนดยุทธศาสตร์ ในการปิดกั้นอย่างเข้มข้น เช่น การติดตั้งโปรแกรมการตรวจสอบและปิดกั้นเวปไซต์ในคอมพิวเตอร์ของปัจเจกชนทุกเครื่องที่ผลิตในประเทศจีน การตั้งหน่วยงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ ยังควบคุมโดยศูนย์จัดการระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศจีน ซึ่งมี 3 ศูนย์ใหญ่ด้วยกัน คือ ศูนย์ควบคุมที่ Beijing, Shanghai และ Guangzhou ประเทศจีนจึงสามารถจัดระบบการจราจร และปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยจีนไม่ค่อยจะเข้ามาควบคุมตรวจสอบเวปไซต์ของสำนักงานราชการต่างประเทศที่มาประจำในประเทศจีนมากนัก แต่ในทางตรงกันข้ามจะปิดกั้นอย่างเต็มที่ สำหรับเวปไซต์ข่าวสาร หรือ เอกชนอื่น ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐบาล ยังใช้วิธีการประสานงานใกล้ชิดทางโทรศัพท์เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานของบริษัทเอกชนที่ให้บริการอินเตอร์เนตนั้น จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยพนักงานของบริษัทเอกชน จะต้องพยายามคาดการณ์เอาเองว่าจะต้องตรวจสอบและปิดกั้นอะไรบ้าง เนื่องจากรัฐจะมีการประเด็นการปิดกั้นและตรวจสอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกสัปดาห์ สำหรับหน่วยงานตรวจสอบอินเตอร์เน็ต (Internet monitoring and surveillance unit) มีอยู่ทั่วไปทุกเมืองในประเทศจีน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งองค์กรหน่วยตรวจสอบ เช่น Bureau Five, Bureau Nine เพื่อทำให้การปิดข้อมูลไปเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะองค์กรศาล ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพของประชาชนเลย ศาลไม่ได้วิเคราะห์หรือไม่มีมาตรฐานในการพิจารณาเลยว่าสิ่งใดที่จำเลยได้กระทำไปในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้วถือว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติจีนหรือไม่ ไม่มีขอบเขตในการวิเคราะห์ข้อกล่าวหาว่าอะไรคือ เส้นแบ่งระหว่าง เสรีภาพในการแสดงความคิด และ ความมั่นคงของชาติ แต่กฎหมายของจีนรวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ ที่มีเนื้อหาซึ่งอาจจะกระทบต่อความมั่นคงหรือจะล้มล้างการปกครองของรัฐบาล หรือ ทำลายความจงรักภักดีและผลประโยชน์ของชาติ หรือ การยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเป็นการพูดให้ร้ายก่อให้เกิดความแตกแยก ภาพโป๊ลามกอนาจาร ความรุนแรง การก่อการร้าย และ ข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น แต่กฎเกณฑ์เหล่านั้น ไม่มีคำนิยามเกี่ยวกับแนวคิดหรือตัวอย่างหรือบรรทัดฐานที่แสดงให้เห็นว่าอะไรที่ถือว่าเข้ากฎเกณฑ์ต้องห้ามดังกล่าวเลย กฎหมายของจีนจึงเป็นการบัญญัติที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมอินเตอร์เน็ตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถทราบได้เลยว่า เนื้อหาใดที่สามารถเผยแพร่ได้ ประชาชนจึงไม่อาจจะทราบได้เลยว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายไปในที่สุด จึงอาจกล่าวโดยสรุปว่า การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการรับรองในกระดาษที่ไม่มีการคุ้มครองที่แท้จริงแต่ประการใด





อ่าน ๆ แล้ว ไทยกับจีน ทำไม มันช่างเหมือนกัน โดยเฉพาะองค์กรศาลไทย ที่พิพากษาคดีได้อย่างน่าเกลียดน่ากลัว ไม่สมกับที่รับเงินเดือนจากประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย ศาลไทยขาดจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตย และขาดจิตวิญญาณการรับใช้ประชาชนอย่างมาก น่าจะถึงเวลาปฏิรูปศาลไทยเสียที ....




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2553 14:07:09 น.
Counter : 3170 Pageviews.  

กฎหมายหมิ่น....... มุมมองจากนักวิชาการต่างประเทศ


เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการจากขอนแก่นนายเดวิด สตรัคฟัสส์ (David Streckfuss)

ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีชื่อว่า “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” ซึ่งจัfพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge และนี้คือบทสัมภาษณ์ //prachatai.com/english/node/2068 ของนายเดวิด สตรัคฟัสส์ ต่อนายประวิทย์ โรจนพฤกษ์ เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเรื่องอื่นๆ

1. หลายคนที่สนับสนุนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกล่าวว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พิเศษดังนั้นกฎหมายนี้จึงมีความจำเป็น คุณคิดอย่างไร

คำถามที่ชัดเจนคือ “หากสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นที่รักของคนหมู่มากเหตุใดกฎหมายที่เข้มงวดอย่างมากในประวัติศาสตร์โลกปัจจุบันอย่างกฎหมายหมิ่นจึงมีความจำเป็น?”

อาจจะใช่ที่สถาบันเป็นสิ่งพิเศษ ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายมาปกป้อง แต่ในหลายกรณี กฎหมายนี้เป็นอุปสรรคโดยตรงต่อความปรารถนาใน ระบอบประชาธิปไตยของคนไทยส่วนใหญ่ การเชื่อว่าอะไรคือสิ่งพิเศษนั้นก่อให้เกิดความรู้ที่เรียกว่า exceptionalism อันนำไปสู่การไม่ยอมรับรู้ความเป็นไปและประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นในโลกโดยง่าย

2. คนไทยบางคนอ้างว่าชาวต่างชาติไม่เข้าใจและไม่สามารถเข้าใจสังคมไทยได้ จริงหรือไม่ที่หนังสือของคุณคืออีกตัวอย่างที่แสดงมุมมองของคนนอกที่“ไร้เดียงสา”?

ทุกวันนี้ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะมีใครเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง หรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ วาทกรรเกี่ยวกับประเทศไทย และความเป็นไทยได้ก้าวไปสู่ดินแดนปริศนา ( terra incognita) ดังนั้นบางทีอาจจะไม่มีใครมีมุมมองที่ดีกว่าใครอีกต่อไป ผมคิดว่าหนังสือของผมได้ชื่นชมและอธิบายถึงลักษณะเฉพาะของรากเหง้าทางประวัติศาสตร์การรับรู้ความจริงของคน “ไทย” โดยสรุปหนังสือได้วิเคราะห์และอธิบายระบบความเป็น “ไทย” ที่กำลังเผชิญหน้ากับระบบกฎหมายสากลและวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนในยุคสมัยใหม่ ผมจะไม่ขอกล่าวว่ามุมมองในหนังสือเป็น “มุมมองที่ถูกต้อง” เพราะเป็นเพียงมุมมองเดียว แต่ผมหวังว่ามุมมองนี้จะสร้างเสียงสะท้อนในกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติ และผู้ที่ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและประชาชนไทยอย่างแท้จริง

3. หลายสิบปีก่อน สื่อกระแสหลักเคยรายงานและเขียนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แต่ในปัจจุบัน สื่อเหล่านี้กลับหลีกเลี่ยงที่จะเขียนหรือรายงาน หรือแม้แต่ข้อความวิพากษ์วิจารณ์เล็กน้อยโดยปราศจากการตั้งคำถาม คุณจะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

มี 2-3ปัจจัยที่อาจจะอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ อย่างแรกคือการเพิ่มโทษกฎหมายหมิ่น หลังจากการฆ่าหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม กลุ่มเผด็จการทหารได้เพิ่มโทษจำคุกเป็น 3-15ปี ต่อความผิดหนึ่งกระทง โทษจำคุกที่เพิ่มเป็นสองเท่านี้เทียบเท่ากับโทษจำคุกข้อหาหมิ่นเมื่อครั้งที่ประเทศไทยยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์

อาจจะเป็นไปได้ว่าการเคลื่อนไหวไปสู่ประชาธิปไตยในช่วงต้นยุค 60 ถอยหลังและมีการสร้างสถาบันให้เป็นสิ่งสูงสุด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การอภิปรายเรื่องปัญหาการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมเป็นเรื่องยากและยังส่งผลให้ประเทศสูญเสียบรรยากาศของศิลปะ และสติปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น และปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายหมิ่นส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชน แต่สื่อกระแสหลักล้มเหลวที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของการแสดงออก

ในช่วงปี 1890 สื่อในเยอรมันได้พยายามรายงานเรื่องคดีหมิ่นสถาบันที่มีกว่า 500คดีในแต่ละปี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์หลายคนถูกลงโทษจำคุกปีหรือสองปี แต่หลังจากที่พวกเขาถูกปล่อยตัว พวกเขายังคงท้าทางกฎหมายโดยการนำเสนอเรื่องเดิม แม้ว่าหลังจากนั้นพวกเขาจะถูกลงโทษจำคุกอีกก็ตาม ในบางครั้งแม้จะมีคนกล่าวว่าการคุกคามทางด้านสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะประเทศไทยเริ่มจะมีระบอบประชาธิปไตยเพียงแค่80ปีเท่านั้น

แต่ในปี 1890 ระบอบประชาธิปไตยในประเทศเยอรมันนั้นมีอายุน้อยกว่าในประเทศไทยขณะนี้ แต่สื่อเยอรมันกลับแสดงพลังและจุดยืนของตนเอง ประเทศไทยไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยในขณะที่มีการจับกุมคนกว่าร้อยคนเพราะพวกเขาเหล่านั้นแสดงความคิดเห็นของตนเองอาจจะชัดเจนกว่าที่จะกล่าวว่าประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศพม่า เพราะเพิกเฉยต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างสิ้นเชิง และข้ออ้างที่ว่าประเทศไทยใช้ “ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ”
เป็นเพียงข้ออ้างของกองทัพที่จะกระทำการใดๆโดยไม่ต้องรับผิด ปัญหาหลักคือการไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกและการนิรโทษกรรมคือ
การพยายามลบล้างความผิดในอดีตออกไป

4. เหตุใดสังคมจึงไม่สามารถสร้างความเห็นร่วมกัน ในกรณีของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ?

ในยุค 70 ฝ่ายขวาได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยด้วยการกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่า เป็น “คอมมิวนิสต์” หรือ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์”

ในปัจจุบันการกระทำอันถือว่าเป็นกบฏคือการรับเอาความคิดแบบสาธารณรัฐ หรือแม้แต่การไม่เทิดทูนสถาบันกษัตริย์อย่างสูงสุด
และทุกวันนี้ฝ่ายขวาในประเทศไทยยังพยายามนับรวมบุคคลที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน กษัตริย์ หรือแม้แต่บุคคลที่ตั้งข้อสงสัยในกฎหมายหมิ่นว่าเป็นกบฏด้วยเช่นกัน และภายใต้เงื่อนไขนี้ ความเห็นร่วมกันคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ในสังคมไทยจึงนำไปสู่การใส่ร้ายป้ายสี ประเทศไทยถูกแบ่งแยกเป็นกลุ่มคนที่รักชาติและกลุ่มกบฏ

5. คนที่นิยมเจ้าบางคนเชื่อว่าหากไม่มีกฎหมายหมิ่น สถาบันกษัตริย์จะสั่นคลอน คุณคิดว่าความกังวลนี้จริงเท็จแค่ไหน

การใช้กฎหมายหมิ่นเพื่อที่จะหยุดการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น และการตรวจสอบจากสังคม หรือขัดขวางหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่าระบบได้สั่นคลอนแล้ว กฎหมายหมิ่นและการใช้กฎหมายหมิ่นเป็นการสร้างความไม่มั่นคงให้กับสถาบัน เพราะทำให้เกิดการปกปิดความจริงของสถานการณ์ ผมเชื่อว่าความจริงจะทำให้สังคมไทยที่แม้ว่าจะเกิดความแตกแยกแล้วก็ตาม จะสามารถรอดจากวิกฤตและอาจจะมีความเข้มแข็งขึ้นได้ บุคคลที่ต้องการจะปกป้องสถาบันกษัตริย์จากการตรวจสอบสังคมทำให้สถาบัน อ่อนแอและเป็นอันตรายต่ออนาคตของสถาบัน

6. มีอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับการจับกุม ผอ.ประชาไท หนังสือออนไลน์อย่างจีรานุช เปรมชัยพรภายใต้กฎหมายหมิ่นหรือไม่

การจับกุมจีรานุชสร้างความกังวลในการจับกุมบุคคลภายใต้กฎหมายหมิ่น ประการแรกคือ ตำรวจยอมรับว่าพวกเขามีหมายจับจีรานุชนานกว่าปีก่อนที่จะจับกุมเธอ ที่สนามบิน ตำรวจอ้างว่าต้องใช้วิธีการดังกล่าวเพราะคดีดังกล่าวมีความร้ายแรง อันที่จริง หากคดีดังกล่าวร้ายแรงจริง

ตำรวจมีเวลาอย่างเหลือเฟือที่จะจับกุมจีรานุชที่สำนักงานของเธอซึ่งเป็นสถานที่เดิมที่เธอเคยถูกจับกุมก่อนหน้านี้แทนที่จะจับกุมเธอตอนที่เธอเดินทางกลับจากต่างประเทศ จีรานุชอาจจะเป็นบุคคลที่สี่หรือห้าที่ถูกจับกุมอย่างอึกทึกครึกโครม ทั้งที่ไม่จำเป็น และประการที่สอง คือ นี่คือตัวอย่างของการขยายการใช้กฎหมายหมิ่นโดยการใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์

7. เนื่องจากความชราภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความกังวลเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์ รวมถึงปัญหาการเมืองในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่การดำเนินคดีหมิ่นเพิ่มขึ้นหรือไม่

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่า ในวิกฤติการเมืองนี้ กฎหมายหมิ่นได้กลายเป็นข้อหาหลักที่ใช้จับกุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเฉพาะการจับกุมคนเสื้อแดงหรือคนที่ถูกมองว่าเห็นใจคนเสื้อแดง กฎหมายหมิ่นได้กลายเป็นมากกว่าการข่มขู่ที่ซ้อนเร้น กว่าห้าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2552 ศาลชั้นต้นประเทศไทยรับพิจารณาคดีหมิ่นกว่า 430คดี ซึ่งถูกตัดสินไปแล้ว 231คดี อีก 39คดีได้รับการพิจารณาในศาลอุทธรณ์ และ 9คดีโดยศาลฎีกา

จำนวนคดีหมิ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน และในปี 2552 มีคดีจำนวน 164คดีขึ้นสู่การพิจารณาในศาลชั้นต้น การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อการแสดงความคิดเห็นที่ปราศจากความรุนแรง ทำให้เป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะอ้างว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะการใช้กฎหมายหมิ่นขัดแย้งกับความพยายามในการสร้างความสมานฉันท์ อันที่จริงแล้วกฎหมายหมิ่นและการบังคับใช้เป็นสิ่งสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการสมานฉันท์

8. ในหนังสือของคุณได้กล่าวว่ากลุ่มอำมาตย์พยายามที่จะ “แช่แข็งวัฒนธรรมไทยให้เป็นเรื่องตำนาน” ทำไมพวกเขาถึงพยายามทำเช่นนั้น?

ผมกล่าวว่าวัฒนธรรมที่มีการละเว้นโทษให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดส่งผลอย่างมาก ต่อการรับรู้ความเป็นจริงในสังคมไทย การมีรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า การนิรโทษกรรมแก่ฆาตกร และการลดคุณค่าของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะหลังปลายยุค 50 ที่สังคมไทยและระบบการเมืองถูกย่ำยี ความจริงอย่างง่ายๆกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ และโดยส่วนใหญ่แล้วการกระทำนี้ถูกสนับสนุนโดยสิ่งที่ผมตีความว่าเป็นการที่รัฐใช้ศาสนาพุทธในทางที่ไม่ถูกต้องในการพยายามโน้มน้าวเหยื่อที่ถูกกระทำให้อภัยแก่คนที่ทำผิดและดำเนินชีวิตต่อไป ความพยายามอย่างยาวนานนั้นส่งผลทำให้เกิดการปฏิเสธความจริงทางประวัติศาสตร์และก่อให้เกิดการฆ่าหมู่อีกครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติศาสตร์ไทยถูกแช่เข็งโดยการผลิตเรื่องราวประโลมโลกของวีรบุรุษและศัตรูที่ชั่วร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้กฎหมายหมิ่นประมาทรวมถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กลายเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และขัดแย้งกับการพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

รัฐธรรมนูญในปี 2540 ได้ทำให้ประวัติศาสตร์ก้าวไปข้างหน้า กลุ่มอำนาจเก่าพยายามที่จะหยุดการเคลื่อนไหวนี้ โดยการสนับสนุนการทำรัฐประหารในปี 2549 แต่จากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามีหลายคนที่ไม่สนับสนุน หรือสามารถลืมเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549ได้อันที่จริงแล้ว จำเป็นจะต้องมีการชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ การให้อภัยจะเกิดขึ้นได้เมื่อความจริงถูกเปิดเผย มีการระบุตัวฆาตรกร และประชาชนไทยมีโอกาสที่จะทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกบฎดุซงญอ (กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้), เหตุการณ์ฆ่าหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม, พฤษภาฑมิฬ, ตากใบ และในปัจจุบัน คือ เหตุการณ์เมษายนและพฤษภาคม 2553

การนิรโทษกรรมไม่ทำให้การยึดอำนาจจากรัฐบาลโดยการทำรัฐประหาร และการฆ่าประชาชนที่ปราศจากอาวุธเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย ในประเทศอื่น พลเรือนได้พยายามที่จะผลักดันให้มีการเปิดเผยเหตุการณ์ในอดีต ในกรณีของการละเว้นโทษให้แก่ผู้ที่กระทำผิด กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกฎหมายหมิ่นประมาทอื่นๆ ทำให้การพูดถึงเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่จะกระตุ้นสังคมให้เริ่มกระบวนการชำระประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

9. คุณคิดว่ากฎหมายหมิ่นเกี่ยวข้องกับการสร้างความเห็นร่วมของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเป็นไทยหรือไม่ อย่างไร

ในช่วงเริ่มแรกประมาณกว่าศตวรรษที่แล้ว ได้มีความพยายามที่จะปกปิดเรื่องการแตกต่างในเชื้อชาติและศาสนาหลังจากนั้นยังได้มีความพยายามที่จะปกปิดเรื่องความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจและการศึกษาเพื่อที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของชาติอย่างต่อเนื่อง ความพยายามนี้เป็นความพยายามอย่างหนักซึ่งก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา โครงสร้างทางประวัติศาสตร์นั้นส่งผลทำให้เกิดความรู้สึกร่วมในเรื่องของ “ความเป็นไทย” ตั้งแต่ช่วงยุค 60 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ฟื้นแนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่

และโดยเฉพาะในปี 2519 เป็นช่วงที่สถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสิ่งสูงสุด จนกระทั่งจึงทุกวันนี้ อย่างน้อยที่สุด ความรักต่อสถาบันกษัตริย์
ได้กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของความเป็นไทย

สิ่งที่น่าเสียดาย คือ กระบวนการนี้ทำให้ความเป็นไทยนั้นคือสิ่งสูงสุด และมีการทำทุกอย่าง เพื่อที่สร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา ดังนั้นเมื่อรูปแบบของความเป็นไทยเริ่มที่จะเสื่อมและแตกสลายอย่างช้าๆ และดูเหมือนกับว่าสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่น่ากลัวเพราะมีไม่กี่อย่างที่สามารถยึดคนไทยเข้าด้วยกัน การทำรัฐประหาร คือ การฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบบนิติรัฐในทุกวิถีทาง ไม่เคยมีการสร้างประเพณีที่จะจัดการกับความแตกต่าง สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ระบบกฎหมายไม่ใช่ที่พึ่งพิงสุดท้าย

แต่ในกระบวนการที่เกิดความตระหนักรู้ในประวัติศาสตร์และความจริงได้เริ่มเปิดเผยออกม​า จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดอัตลักษณ์และแนวทางในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแบบใหม่

10. อะไรคือสิ่งที่น่าประหลาดใจที่คุณค้นพบในระหว่างการค้นคว้าหาข้อมูลในการเขียนหนังสือเล่มนี้

สิ่งที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือความสัมพันธ์ของเนื้อหาตอนที่ผมเขียนปริญญานิพนธ์ช่วงปี 90 เพื่อนร่วมชั้นเรียนล้อผมว่าผมเลือกหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิชาเอกของผมอย่างหัวข้อเรื่องการหมิ่นประมาทและกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

แม้่ตอนที่สำนักพิมพ์ Routledge ตกลงที่จะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ประเด็นเรื่องการหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพยังไม่ค่อยเป็นข่าวมากนัก ในเวลานั้นอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้มีใช้กฎหมายหมิ่นบ่อยครั้ง ในประวัติศาสตร์ไทย และเมื่อปลายปี 2548 ที่คดีหมิ่นได้กลายเป็นหัวข้อข่าว และการเพิ่มขึ้นของการฟ้องร้องคดีนี้ในแต่ละปี ทำให้เป็นเรื่องยากที่เขียนหนังสือเล่มนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ ผมเลือกที่จะเลือกคดีของดารณีนุชที่ถูกตัดสินจำคุก 18ปีเป็นประเด็นปิดท้าย และสิ่งที่น่าประหลาดใจอีกเรื่อง คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดของการฟ้องร้องคดีหมิ่นเร็วตั้งแต่ปี 2549 และองค์สิทธิมนุษยชนไทยและต่างประเทศกลับนิ่งเฉยเกี่ยวกับเรื่องนี้

11. หนังสือของคุณจะถูกห้ามจำหน่ายในประเทศไทยหรือไม่?

ผมคิดว่าไม่นะ! ทำไมถึงต้องห้ามขาย? ผมไม่เชื่อว่าเนื้อหาในหนังสือละเมิดกฎหมายหมิ่น หรือกฎหมายหมิ่นประมาทใดของไทย และยังไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีของสังคมอีกด้วย ผมเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้อาจจะให้มุมมองอีกมุมมองหนึ่งต่อกลุ่มผู้นิยมกษัตริย์หัวก้​าวหน้าที่มองเห็นประโยชน์ในระยะยาวของสถาบัน

ผมได้ค้นคว้าอย่าจริงจังเพื่อที่จะอธิบายถึงปัญหาความแตกแยกในประเทศไทยในหนังสือเล่มนี้และได้แนะนำวิธีการหลายวิธีที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยมีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และแน่นอนว่าหากหนังสือเล่มนี้ถูกสั่งห้ามจำหน่ายในประเทศไทยก็จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์​ว่าทฤษฎีศูนย์กลางที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจ และยังแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่สามารถยอนรับแนวความคิดที่แตกต่างได้ แต่จะได้อะไรจากการสั่งแบนหนังสือเล่มนี้? คำตอบคือไม่ได้อะไรเลย และผมเชื่อว่าในอนาคตของประเทศไทย (หรือผมอยากจะเรียกว่าสยามมากกว่า) จะมีความเป็นประชาธิปไตย ที่คนไทยจะสามารถยอมรับความแตกต่างและวิธีการใหม่ในการทำความเข้าว่าความเป็นพลเมืองที่ดีคืออะไร

Credit: //robertamsterdam.com/thai/?p=482
//www.internetfreedom.us/showthread.php?tid=10591




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2553    
Last Update : 14 ตุลาคม 2553 23:45:01 น.
Counter : 647 Pageviews.  

หลักกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับอำนาจ ในการชี้มูลทางวินัยข้าราชการตำรวจ

หลักกฎหมาย ป.ป.ช. เกี่ยวกับอำนาจในการชี้มูลทางวินัยข้าราชการตำรวจ นี้ ได้ตีพิพม์ลงในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11332 โดยผู้เขียนหวังว่า จะเป็นประโยชน์ทางวิชาการบ้างไม่มากก็น้อย และกระตุ้นเตือนให้ผู้กำหนดนโยบายทางกฎหมายของประเทศบ้าง ไม่มากก็น้อย เพราะทุกวันนี้ ความมั่นคงของอาชีพราชการ ได้ถูกบั่นทอนไปมาก ยิ่งข้าราชการมีกำลังใจท้อถอยเท่าไหร่ การจัดทำบริการสาธารณะ (public service) ก็ยิ่งจะเลวร้ายเท่านั้น อีกประการหนึ่ง ทุกวันนี้ ป.ป.ช. กลายเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจอธิปไตยที่ ๔ อย่างแท้จริง ชี้เป็นชี้ตายใครต่อใครก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ซึ่งระบบที่ไร้การตรวจสอบเช่นนี้ ไม่ควรจะมีอยู่ในระบบกฎหมาย เพราะใครก็ตามที่มีอำนาจโดยสมบูรณ์ ย่อมจะ Abuse อำนาจของตนเองได้อย่างง่ายดายทั้งนั้น ดังจะเห็นได้จาก พระ แม้จะมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ กำกับอยู่ แต่ไร้การตรวจสอบ พระก็ทำเลวได้เสมอ เราจึงไม่อาจจจะหวังได้ว่า ป.ป.ช. ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเช่นเดียวกับเรา จะไม่มีการตรวจสอบได้ ....




ผู้เขียนได้นำบทความสั้น ๆ ดังกล่าว มาลงใน blog ส่วนตัวด้วย หากผู้อ่านสนใจ ก็ขอให้ติดต่อได้เลยครับ


1)อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและพิจารณากรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 91

และเมื่อมีมติว่ามีมูลให้ดำเนินการดำเนินการส่งเอกสารการไต่สวนนั้นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น

เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 92

ตามมาตรา 92 นั้น กำหนดให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหานั้น ถือเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณีไป

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเอกสารการไต่สวนมายัง ตร.แล้ว มาตรา 93 กำหนดให้ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจฯ นั้นส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง

หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าผู้บังคับบัญชาฯ ไม่ได้ดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 93 หรือเห็นว่าการดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชาไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควรหรือในกรณีที่จำเป็น

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสั่งให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือคณะกรรมการอื่นซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องเหมาะสมต่อไปก็ได้

2.การดำเนินการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ ผู้บังคับบัญชา ลงโทษผู้ถูกกล่าวหา โดยให้ยึดถือเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นสำคัญ ตามมาตรา 92

และ ตร.ได้มีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ว่า เมื่อการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำผิดทางวินัย ก็ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อไป โดยไม่ต้องรอผลการชี้มูลจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรือผลคดีอาญา

และหากมีพยานหลักฐานชัดแจ้งก็ให้สั่งข้าราชการตำรวจนั้นออกจากราชการไว้ก่อนได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน ต้องถูกผูกพันตามเอกสารและสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลัก

โดยเฉพาะในเรื่องความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาดำเนินการไต่สวนและพิจารณามาแล้ว

3.อำนาจของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

หากได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แล้ว จะพบว่า มาตรา 96 ได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัตินี้ สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาได้

โดยให้อุทธรณ์คำสั่ง ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหา โดยให้ใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีคำสั่งลงโทษ

เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้แล้ว ไม่พบว่า การไต่สวนและพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถือเป็นที่สุดแต่ประการใด และยังได้กำหนดให้ผู้ที่ถูกลงโทษนั้น สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารบุคคล ซึ่งก็คือ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 นั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อผู้มีอำนาจสั่งลงโทษข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหาประการใดแล้ว และข้าราชการตำรวจผู้นั้น ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ซึ่งกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้ตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2547 ไม่ว่าจะอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจรับอุทธรณ์ หรือ ต่อ ก.ตร. ตามกฎ ก.ตร.นี้ ก็ให้อำนาจผู้รับอุทธรณ์ ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ ตามนัย กฎ ก.ตร. ข้อ 16,17,18 และ ข้อ 21)

หากมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนหักล้างพยานความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว ก็ชอบที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ หรือ ก.ตร.จะกลับแก้ หรือเปลี่ยนแปลงการลงโทษ ตามความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอมาได้

4.ข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้น จากการพิจารณา ข้อ 3.

กรณีที่คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ เช่น คณะกรรมการ ก.พ.มีความเห็นแตกต่างจากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณานั้น เคยมีปัญหามาแล้วเช่นกัน

สืบเนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและมีมติว่า นายวีรพล ดวงสูงเนิน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

แต่หลังจากนั้น นายวีรพลได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.พ. ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แต่เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง

จากนั้น ครม.ได้มีมติให้นายวีรพลกลับเข้ารับราชการตามมติ ก.พ.

กรณีข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 266 (ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550) โดยอ้างว่าเป็นการขัดกันของอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการ ก.พ.

ซึ่งท้ายที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่รับอุทธรณ์ ไม่อาจจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2646 ลง 6 กุมภาพันธ์ 2546

แม้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันองค์กรทุกองค์กรของรัฐก็ตาม แต่คำวินิจฉัยที่ 2/2546 นี้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีตุลาการเสียงข้างน้อยถึง 5 เสียง พิจารณาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่ประการใด

เนื่องจากหากพิจารณาถ้อยคำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (รัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือมาตรา 214 รัฐธรรมนูญปี 2550) ใช้คำว่า "เมื่อมีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ศาล ตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ให้ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี หรือองค์กรนั้น เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย"

แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คือ คณะกรรมการ ก.พ.ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ แม้คณะกรรมการ ก.พ.จะมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.แม้จะได้เสนอเรื่องถึง ครม.ก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง ตามมาตรา 266 ไม่

คำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญจึงไม่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย เพราะเป็นการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตของเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่โดยปกติจะต้องเป็นการพิจารณาว่ากฎหมายใดๆ ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 141,154,185,211,212,214, และมาตรา 245 เป็นต้น) หรือกรณีที่มีกฎหมายอื่นๆ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัย (เช่น อำนาจยุบพรรคการเมือง เป็นต้น)

การที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตในทางกฎหมายเพราะอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น กว้างขวาง ผูกพันองค์กรอื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ควรขยายอำนาจเขตอำนาจนอกบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะเช่นนี้

ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล หรือ ก.ตร.ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครองให้วินิจฉัยการใช้ดุลพินิจลงโทษผู้ถูกกล่าวหา ศาลปกครองก็หาจำต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ แม้จะมีบทบัญญัติตามมาตรา 216 (รัฐธรรมนูญ ปี 2550) กำหนดให้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันองค์กรอื่น รวมถึงศาลด้วยก็ตาม

ทั้งนี้ มีเหตุผลสนับสนุนในเชิงวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์และหลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย ที่จะต้องยึดหลักความบริสุทธิ์และยุติธรรมของกระบวนการพิจารณาซึ่งกำหนดให้ศาลปกครองทำหน้าที่ไต่สวนโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้คู่กรณีทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ที่ถูกสั่งลงโทษ และองค์กรผู้สั่งลงโทษ ได้เสนอข้อเท็จจริงทั้งหมดเข้าสู่การพิจารณา

ด้วยเหตุนี้เอง กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทุจริตฯ ที่ให้อุทธรณ์ต่อ ก.ตร.นั้น การพิจารณาอุทธรณ์ จึงต้องพิจารณาตามหลักทั่วไป ที่ต้องดำเนินการโดยเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย หาใช่ว่า หากเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นแล้วคณะกรรมการ ก.ตร.ไม่ต้องพิจารณาอะไรเลย

กรณีดังกล่าวจะไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏถึงขนาดว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีความเห็นผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง โดยฟังพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารปลอม หรือกระทำผิดขั้นตอนตามวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือไม่ฟังคัดค้านหรือพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหา ฯลฯ

ดังนี้ หากคณะกรรมการบริหารงานบุคคลหรือ ก.ตร.ไม่มีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงนี้เลย ย่อมเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมแก่ข้าราชการที่ถูกลงโทษ ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์กับกระบวนการทางวินัย ที่มุ่งจะส่งเสริมให้ข้าราชการประพฤติดี และลงโทษข้าราชการที่ฝ่าฝืนวินัยข้าราชการตำรวจ

5.กรณีตัวอย่างที่ไม่มีการดำเนินการตามความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

มีหลายกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การดำเนินการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.หรืออนุกรรมการของ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไปโดยไม่ชอบธรรม เช่น ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือระเบียบของ ป.ป.ช.เอง รวมถึงกฎหมายด้วยวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ดังเช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.405/2551 ลงวันที่ 11 กันยายน 2551 โดยศาลได้วินิจฉัยว่า การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่รับฟังคำคัดค้านว่ามีคณะกรรมการไต่สวนบางรายมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่ไต่สวน ไม่อาจจะเป็นกรรมการไต่สวนได้ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 เป็นสาระสำคัญของกระบวนการไต่สวนจึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมาชี้มูลความผิดและลงโทษทางวินัยแก่ผู้ฟ้องคดีได้

ด้วยเหตุนี้ การออกคำสั่งลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการชี้มูล จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ ที่ 201/2551 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับกรณีที่เรื่องที่กล่าวหา มาเป็นอนุกรรมการไต่สวน เป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และ ข้อ 13 ของระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวน พ.ศ.2547 ทำให้การไต่สวนไม่เป็นธรรมแก่ผู้ฟ้องคดี

อีกทั้งตามระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้คณะอนุกรรมการจะต้องทำการแจ้งข้อกล่าวหาและให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงต่อสู้ข้อกล่าวหา

แต่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าว รวมทั้งยังมีการปรับข้อกฎหมายผิดพลาดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและไม่ได้เหตุผลให้ชัดเจนว่าที่กล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน้าที่อย่างไร แต่กระทำได้เพียงแต่การสรุปว่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการชี้มูล ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ดำเนินการเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีความเป็นธรรม

หากผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า การลงโทษไม่ถูกต้องเหมาะสมย่อมมีอำนาจสั่งเปลี่ยนแปลงโทษได้ เมื่อมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อาจรับฟังได้ เพราะดำเนินการขัดต่อกฎหมายในสาระสำคัญหลายประการ การดำเนินการขององค์กรบริหารส่วนบุคคล (ก.ตร.) ที่สั่งการไปตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น

6.แนวทางการดำเนินการ เพื่อป้องกันปัญหาข้อโต้แย้ง

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ไม่ควรถูกผูกพันกับมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.อย่างเด็ดขาด

แต่ควรมีผลผูกพันระดับหนึ่งเท่านั้น โดยไม่ควรผูกพันองค์กรบริหารงานบุคคลที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษข้าราชการนั้นได้

ฉะนั้น จึงเห็นว่าเพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.อาจจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเดียวกันอีก จึงเห็นควรดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยกำหนดเพิ่มเติมข้อความในวรรคท้ายของ มาตรา 105 หมวด 8 ว่าด้วยการอุทธรณ์ โดยกำหนดข้อความให้ชัดเจน เกี่ยวกับวิธีการอุทธรณ์ กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูล ว่าให้ ก.ตร.มีอำนาจอย่างไรบ้างให้ชัดเจน เพราะกฎหมายว่าด้วยข้าราชการตำรวจ และกฎหมาย ป.ป.ช.นั้น แม้จะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่อยู่ในลำดับศักดิ์ กฎหมายเดียวกันเนื่องจากมีกระบวนการตรากฎหมายในลักษณะอย่างเดียวกัน

นักกฎหมายโดยทั่วไป จึงเห็นพ้องว่าพระราชบัญญัติทั่วไป และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มีลำดับศักดิ์เช่นเดียวกัน

ดังนี้ ถ้ากำหนดวิธีการอุทธรณ์กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดมาแล้ว ย่อมถือได้ว่า กฎหมายตำรวจ เป็นกฎหมายเฉพาะ ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของตำรวจ ในเรื่องการอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจฯ อาจจะดำเนินการได้ยาก และใช้เวลานาน เนื่องจากจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาของ ก.ตร. กรณีดังกล่าวจึงเห็นควรแก้ไข กฎ ก.ตร.ที่ว่าด้วยการอุทธรณ์

โดยมอบหมายให้ ส.ก.ตร.ดำเนินการ ตามนัยความเห็นข้างต้น ทั้งนี้ เห็นว่าคณะกรรมการ ก.ตร.จะไม่มีความรับผิดใดๆ หากได้ดำเนินการตามกฎ ก.ตร.เพราะ กฎหมายแม่บท คือ พ.ร.บ.ตำรวจเอง ก็ได้กำหนดให้การดำเนินการทางวินัยและการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นไปตามกฎ ก.ตร.

7.บทส่งท้าย

จากปัญหาที่กล่าวไปทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็อาจจะมีข้อผิดพลาดได้เช่นกัน

ดังที่ปรากฏว่า ศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นกลางและอิสระ ได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปจำนวนมาก

ทั้งนี้ ก็เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็เป็นเพียงคนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่อาจจะผิดพลาดได้ จึงควรมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างองค์กร และการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กร ป.ป.ช.เช่นกัน

ในกรณีที่ข้าราชการท่านใด ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ควรจะได้รับการปกป้องเช่นกัน เพราะทุกคนมีเกียรติยศและศักดิ์ศรีในฐานะที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ จึงไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิในการร้องทุกข์และฟ้องร้องคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 59 และมาตรา 60

เมื่อข้าราชการท่านได้ถูกฟ้องร้องและเรียกตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา ก็ควรจะได้ร้องขอความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด พร้อมส่งเอกสารทั้งหมด พร้อมกับการโต้แย้งคัดค้านการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่อาจจะขัดจากหลักกฎหมายต่างๆ ไว้ด้วย

หากผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินการให้ความเป็นธรรม ไม่พิจารณาหลักฐานที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ละเลย ฯลฯ เหล่านี้ ผู้บังคับบัญชาก็จะต้องมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่นเดียวกัน ผู้บังคับบัญชาของแต่ละหน่วยงาน จึงควรพึงระวังว่า ไม่ใช่แต่กรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามการชี้มูลตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เท่านั้น ที่อาจจะทำให้ตนต้องถูกดำเนินคดีอาญาได้

แต่กรณีที่ละเลยไม่ให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายในเรื่องการบริหารงานบุคคลนั้น ก็อาจจะทำให้ตนถูกดำเนินคดีอาญาและทางแพ่งด้วยเช่นกัน




หมายเหตุ :

บทความนี้ เขียนโดย พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ : ผู้เขียน ปริญญาเอกทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา (J.S.D.) จาก University of lllinois at urbana-Champaaign (UIUC), LL.M. (UIUC),LL.M. (Indiana University-Bloomington),นม(มธ.), รม.(มธ.), น.บ.ท., นบ.(เกียรตินิยม) (มธ.) และ รปบ.ตร.(รร.นายร้อยตำรวจ)







 

Create Date : 23 มีนาคม 2552    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:15:45 น.
Counter : 4515 Pageviews.  

ชื่นชมผู้พิพากษา.... ท่านก็หัวก้าวหน้าเหมือนกัน ........................

ระหว่างวันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ผมได้รับเชิญจากท่าน ผอ.สถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ ศาลยุติธรรม ให้ไปเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมด้วยวิธีคิดเชิงระบบ (systems Thinking) ที่จังหวัดระยอง จึงอยากเล่าให้ฟังครับ โดยความคิดข้างล่างนี้ ส่วนใหญ่ มาจากผู้พิพากษาที่มีหัวก้าวหน้า .... มองเห็นว่า Rule of Law & Democracy เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และ สิ่งข้างต้น ผู้พิพากษา อาจารย์ นักกฎหมาย ฯลฯ ต้องเคารพ และต้องกล้าหาญ เสียสละ ไม่ใช่ว่า มีเสียงปืนดัง ผู้พิพากษา อาจารย์ทางกฎหมาย ฯลฯ ก็กระดี้กระด๊า ไปรับตำแหน่ง รับผลประโยชน์จากกลุ่มพวกที่ยึดอำนาจด้วย แถมยังหน้าด้าน รับผลประโยชน์ สามสี่ตำแหน่ง ซ้อนกันในเวลาเดียวกัน แบบอดีตผู้พิพากษาบางคน โดยเฉพาะพวกอาจารย์ ที่ปากว่าตาขยิบ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ... ... ความเห็นข้างต้น ผมว่าน่าชื่นชมมากครับ ไม่น่าเชื่อว่า จะมีผู้พิพากษาหัวก้าวหน้า และน่าชื่นชมเช่นนี้ ... ...






การดำเนินการชุมนุม มีกระบวนกร (Facilitator) มาดำเนินการกระบวนการ ในวันแรก (๑๒ มี.ค.๕๒) เมื่อเดินทางไปถึงโรงแรมที่ระยอง ก็มีการรวมกลุ่ม แล้วจัดการแนะนำตัวเอง กับที่ประชุมว่า ทำอะไรอยู่ที่ไหน ฯลฯ แล้วก็แยกย้ายกันพักผ่อน

วันที่ ๑๓ มี.ค. ๕๒ ท่านกระบวนกร ได้ให้พวกเรา ค้นหาคำตอบ ให้กับตัวเองว่ามาที่ แต่ละคนทำงานอะไร ทำไปทำอะไร แล้วมีความมุ่งหวังในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง แต่ละคนก็ตอบคำถามแตกต่างกันไป เช่น อยากเห็น การพัฒนาการสืบสวนสอบสวนให้อำนาจการสอบสวนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจตุลาการ มีความชัดเจน ตรงไปตรงมา มากยิ่งขึ้น (ซึ่งแท้จริง คงจะเข้าใจผิดครับ เพราะ อำนาจสอบสวนเป็นการบังคับใช้กฎหมาย หรือ Law Enforcement ซึ่งเป็นอำนาจบริหาร หรือ Executive Power ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง) บางท่านก็อยาก สร้างเครือข่าย เพราะคิดว่า การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ นี่แหละ ส่วนกลุ่มผมคิดว่า อยากสร้างจิตสำนึกให้ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ อาจารย์ และ ประชาชนทุกคน มีอยู่ในใจตลอดเวลาถึง การเคารพหลักกฎหมายและหลักนิติธรรม (The Rule of Law) โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดให้ผู้ตัดสินคดี มีจิตใจที่เข้มแข็ง กล้าหาญ ตัดสินว่า รัฐประหาร เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ว่า เมื่อเสียงปืนดัง นักกฎหมายเงียบ ไม่กล้าตัดสินว่า การกระทำดังกล่าว และกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนี้ ไม่ชอบธรรม ขัดหลัก Rule of Law

ที่ประชุม มีผู้พิพากษาหลายท่าน ได้เล่าให้ฟัง ถึงความไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายตุลาการ ยกตัวอย่าง ปัญหาการตัดสินคดีล่าช้า .... สาเหตุก็เพราะระบบบริหารแย่ ผู้บังคับบัญชาไม่สนใจ ประมาณว่า ถ้าคดีอุทธรณ์วันนี้ จะถูกเก็บดองไว้ในตู้ก่อน ๒ ปี เพราะคดีเก่า ๆ ที่ค้างอยู่ก็นับเป็นหมื่นเป็นแสนคดีแล้ว ครบ ๒ ปี จึงแจกจ่ายให้ทำ สาเหตุส่วนหนึ่ง ก็เพราะ มีผู้พิพากษาที่ไม่มีสำนึกในหน้าที่ เขียนคำพิพากษา แค่เท่าที่กำหนด เช่น ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ทำคดีให้เสร็จในมาตรฐาน ๑๒ คดีต่อเดือน สำหรับศาลฎีกา ก็จะน้อยกว่านี้มาก ๆ ลองคิดว่า เรา ซึ่งผมหมายถึงประชาชน จ่ายเงินให้ประชาชน ประมาณเดือนละ ๑ แสนบาทขึ้นไป มีบางคนทำสำนวนแค่เดือนละ ๑ สำนวน ทาง ก.ต. ก็ไม่ได้มีมาตรการอะไรพิเศษ เช่น การไล่ออก ปลดออก ฯลฯ สำหรับการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ ซึ่งนับว่าเสียหายมาก ๆ






สิ่งหนึ่งที่เราอยากเห็นมาก ๆ ก็คือ การบริหารงานของศาลจะต้องมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการรายงานต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของเงินเดือนแก่พวกเขา มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่มีคนกล้าพูด กล้าคิด เพราะมีกฎหมาย ละเมิดอำนาจศาลปิดปากพวกเราอยู่ อีกทั้ง ศาลมักจะอ้างความเป็นอิสระ ซึ่งแท้จริง ไม่ใช่เรื่องของการไร้การตรวจสอบ และ ไร้ความโปร่งใส แต่เป็นอิสระในการพิจารณาคดี .... ที่ไม่มีอาจถูกแทรกแซงได้ ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาส่วนใหญ่จะ Abuse คำว่า อิสระ หรือ Independence นี้ เป็นอำเภอใจ และไร้การตรวจสอบ หรือ จะบอกว่าการตรวจสอบผู้พิพากษา สามารถกระทำได้โดย "คู่ความ" ซึ่งก็จริง แต่ไม่พอเพียง ... ในการสัมมนา จึงเห็นว่า มันถึงเวลาที่จะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ... ศาลต้องโปร่งใส และ ตรวจสอบได้ โดยประชาชนคนเดินดินธรรมดา ใส่รองแตะ ฯลฯ นี่แหละครับ

สิ่งที่อยากจะเห็นคือ การยอมรับของศาลที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม โดยมีเจ้าภาพคนเดียว ไม่ใช่ แบบสภาวะปัจจุบัน ที่หัวขบวนของใครของมัน เดินไปคนละทิศทาง เช่น แต่ละองค์กร ก็ตั้งสำนักงานช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชน ... อ้างประชาชน เพื่อได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ... โดยมี Hidden Agenda ซ่อนไว้อยู่เบื้องหลัง ที่ผ่านมา ศาล มักจะอ้างอิสระ อ้างกรอบกฎหมาย แล้วก็ไม่พร้อมจะยอมรับการประสานงานขององค์กรฝ่ายบริหาร โดยอ้างว่าอิสระมาโดยตลอด






ปัญหาดังกล่าว ยังมีอยู่ทั่วไปในองค์กรฝ่ายบริหารอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ตำรวจและอัยการ ก็ตั้งป้อมค่ายของตนเอง ไม่ยอมรับวิธีการในการประสานงานร่วมกันเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่า ต่างคนต่างใหญ่ และมักจะอ้างกฎหมาย มาเป็นกรอบในการปฏิเสธงาน เช่น สำนักงานอัยการ ปฏิเสธไม่ยอมรับสำนวนของตำรวจ โดยอ้างว่า ตำรวจไม่ได้ส่งตัวผู้ต้องหามาพร้อมสำนวนด้วย แท้จริงแล้ว ถ้าพิจารณาตัวบทแล้ว ตีความให้ดี กฎหมายก็ไม่ได้เขียนห้ามไว้ หากมีการรับสำนวน อัยการ ก็สามารถตรวจสอบความสมบูรณ์ของสำนวนได้ ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่น่าเสียดาย สำนักงานอัยการไม่ได้คิดเช่นนั้น ทำให้ สำนวนอยู่ค้างกับตำรวจ โดยไม่ได้มีการพิจารณาว่า ตำรวจควรสอบเพิ่มเติมอย่างไร หรือ กรณีที่ตำรวจเข้าใจกฎหมายผิด อัยการก็สั่งไม่ฟ้องได้ ประชาชน ก็ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดียิ่งขึ้น


ผมชอบคำกล่าวของ ท่านกระบวนกร (วิทยากร) ว่า คนเรามักจะสร้างกรอบ .... แล้วก็ติดอยู่กับกรอบอย่างนั้น ไม่มีสิ้นสุด โดยเฉพาะ ในกรณีที่จะไม่ยอมทำงานหนัก ก็มักจะอ้างกรอบ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันตนเอง ผมก็เห็นเยอะที่เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง มักจะอ้างกรอบ ใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งมอบหมายงาน ฯลฯ เพื่อปฏิเสธ การรับงาน หลีกเลี่ยงการสั่งราชการ เพื่อมิให้ต้องรับผิดตามกฎหมายใด ๆ






อ๋อ ลืมเล่าให้ฟัง มีความพยายามของภาคเอกชนที่เอาภาพเหตุการณ์วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑ มาฉาย โดยกล่าว ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม นั้น ถูกเจาหน้าที่ของรัฐ ทำร้าย และ ประชาชนเหล่านั้น เป็นเหยื่อ ผมเห็นด้วยว่า ประชาชนเป็นเหยื่อ แต่ไม่ใช่เป็นเหยื่อจากการทำร้าย แต่เป็นเหยื่อจากคนบางคนที่มีบางสิ่งบางอย่างอยู่เบื้องหลัง แต่ ประชาชนไม่ถูกทำร้ายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้จะเกิดการได้รับบาดเจ็บฯลฯ แต่ก็เป็นผลจากการไม่เคารพกฎหมาย และใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองที่เกินของเขตและหลักการประชาธิปไตย ตามเหตุผลที่ศาลปกครองกลาง ได้วินิจฉัยไว้แล้ว ในคำวินิจฉัยที่ ๑๖๐๕/๒๕๕๑ ว่า การชุมนุมของกลุ่มคนนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบฯ ตำรวจจึงสามารถใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ ตามมาตรฐานสากล ... ดังนั้น หากมีผลจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การได้รับบาดเจ็บ ก็ไม่ใช่ประชาชนที่กระทำผิดกฎหมายเหล่านั้น เป็นเหยื่อ หรือ การถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมิเช่นนั้น เราก็อาจจะเอาโจรที่ถูกขังในห้องขังอย่างแออัดยัดเยียด ติดโรคร้าย ฯลฯ มาอธิบายว่า โจรเหล่านั้น ไม่ได้กระทำผิดอาญา แล้วสรุปว่า บุคคลที่กระทำผิดเหล่านี้ ...เป็นเหยื่อของการจับกุมของตำรวจเช่นกัน ...




 

Create Date : 16 มีนาคม 2552    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:18:54 น.
Counter : 1430 Pageviews.  

ผู้ต้องขังหญิง กับ มาตรฐานเกี่ยวกับการคุมขังของสหประชาติ

ประเทศไทย ได้แสดงบทบาทที่จะเสนอตัวเป็นผู้ผลักดันเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ สำหรับการการปฎิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ดีกว่าความเป็นอยู่ของคนปกติ หรือ ดีกว่าผู้ต้องขังชาย ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ได้รับกระแสพระดำรัสมาจาก พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ในการดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้น

เมื่อวันที่ ๕ ก.พ. ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องจตุรทิศ โรงแรมเรดิสัน ถนนพระราม ๙ กรุงเทพฯ ทางกระทรวงยุติธรรม ได้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุม เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ และรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างข้อเสนอดังกล่าว ผมจึงหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังครับ

๑)การดำเนินการเกี่ยวกับร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติฯ ในครั้งนี้ ดำเนินการโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อสนองพระดำรัสของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา ซึ่งมีพระประสงค์จะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง ที่ในปัจจุบัน อยู่ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ ปี ค.ศ.๑๙๕๕ ซึ่งเรียกว่า The United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners)

๒)กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการนำมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติดังกล่าว มาพิจารณา และได้ร่างข้อกำหนดดังกล่าวขึ้นใหม่ ตั้งแต่ กลางปี พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา เพื่อร่างกำหนดใหม่เสร็จสิ้นแล้ว กระทรวงยุติธรรม โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทุกภูมิภาคทั่วโลก จำนวน ๒๑ ประเทศ มาประชุมและพิจารณาร่างข้อกำหนดดังกล่าว ในระหว่างวันที่ ๒ – ๕ ก.พ. ๕๒ คณะผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณา ทำให้ร่างข้อกำหนดดังกล่าวมีความกระชับและสั้นลงจาก ๙๐ ข้อ เหลือ ๗๑ ข้อ เมื่อร่างข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญ และ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ประเทศไทย จะส่งร่างนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะส่งเข้าพิจารณาและผลักดันในการประชุม UN Congress on the Prevention of Crime ครั้งที่ ๑๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ประเทศบราซิล เพื่อขอความเห็นชอบจากที่ประชุม เพื่อยอมรับร่างข้อเสนอนี้ เป็น UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Female Inmates ต่อไป

๓) นายวิทยา สุริยะวงศ์ รอง ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม / ผอ.สำนักงานโครงการจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทย ได้ชี้แจงต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า ในปัจจุบัน นักโทษหญิง มีจำนวนสูงขึ้นจาก ร้อยละ ๕ เป็นร้อยละ ๑๘ ของนักโทษทั้งหมด ทำให้ที่คุมขังไม่เพียงพอ ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิงเป็นการ เฉพาะ กฎเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับผู้ต้องหาขังชาย ก็จะถูกนำมาใช้กับผู้ต้องขังหญิงด้วย ซึ่งมีความไม่เหมาะสม การใช้กฎระเบียบและแนวคิดในคุมขังผู้ต้องขังโดยไม่มีการแบ่งแยกเพศให้ชัดเจน จึงไม่เหมาะสม เพราะผู้ต้องหาขังหญิงอาจจะมีภยันตรายต่อสังคมน้อยกว่าผู้ต้องขังชาย จึงอาจจะนำวิธีการผันคดีออกจากระบบหรือการนำวิธีการกำหนดโทษทางเลือกมาใช้กับผู้ต้องขังหญิงได้และเหมาะสมกว่าใช้กับผู้ต้องขังชาย

นายวิทยาฯ ยังได้แนะนำโครงสร้างของร่างข้อเสนอแนะที่จะเสนอเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (Guidelines for the Treatment of Women Prisoners and Alternatives to Imprisonment for Women Offenders) ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยข้อเสนอแนะดังกล่าว ประกอบด้วย ๓ ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ ๑ เป็นข้อกำหนดมาตราฐานทั่ว ๆ ไป เริ่มตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขังที่จะต้องมีการตรวจค้นตัว การแบ่งแยกประเภทของผู้ต้องขังหญิงเพื่อปฏิบัติให้เหมาะสมกับหญิงมีครรภ์ หรือเพื่อการบำบัดสำหรับผู้ติดยาเสพติด และ มาตรฐานสถานที่คุมขัง รวมถึง มาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ที่จะต้องมีการฝึกอบรมเป็นพิเศษ รวมทั้ง วิธีการร้องเรียน และ การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

ส่วนที่ ๒ เป็นข้อแนะนำที่ใช้กับผู้ต้องหาขังหญิงที่มีลักษะพิเศษ กรณีนี้ ใช้สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นชนกลุ่มน้อย หรือ ชาวพื้นเมือง หรือ ชาวต่างชาติ รวมถึง ผู้ต้องขังหญิงที่พิการ หรือ สูงอายุ หรือ เป็นวัยรุ่น ที่จะต้องรับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะ ได้เสนอว่า ผู้ต้องหาขังหญิง ควรจะถูกจองจำในเรือนจำพิเศษที่ใกล้กับภูมิลำเนาของผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้ญาติเข้ามาดูแลได้มากขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันผู้ต้องขังหญิง ถูกจองจำห่างไกลจากภูมิลำเนามาก ญาติไม่อาจดูแลได้

ส่วนที่ ๓ เป็นการใช้มาตรการอื่นแทนการจำคุกสำหรับผู้ต้องขังที่เป็นเพศหญิง โดยมีหลักการว่า โทษจำคุกควรจะใช้น้อยที่สุดและเท่าที่จำเป็น สำหรับผู้ต้องหาขังหญิงที่มีลักษณะการกระผิดติดเป็นนิสัยเท่านั้น โดยอาจจะนำวิธีและกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ การผันคดีออกจากระบบปกติ ไปสู่การกำหนดวิธีการลงโทษที่เหมาะสม รวมถึง ในกรณีที่มีการจำคุกผู้ต้องขังหญิง ก็อาจจะพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังหญิงก่อนกำหนดได้

๔) ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้เสนอข้อมูลที่น่าสนใจ เด็กหญิงเมื่อได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ก็จะถูกนำไปฆ่าทิ้ง หรือฆ่าตัดตอน เพื่อมิให้มีการสอบสวนถึงตัวการสำคัญ โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ดังนั้น ควรจะมีนักจิตวิทยา หรือให้คำแนะนำแก่เด็กหญิงหรือเยาวชนที่ถูกจับกุมและส่งสถานพินิจว่า แท้จริงแล้ว เจ้าหน้าที่สถานพินิจ อยู่ในสถานะที่จะปกป้องชีวิตและร่างกายของพวกเขา การปล่อยตัวชั่วคราว ตามนโยบาย “ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก ควบคุมเป็นข้อยกเว้น” นั้น อาจจะมีผลร้ายถึงชีวิตได้

๕) การประชุมสัมมนา อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของ ตร. ในอนาคต ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดที่ควบคุมผู้ต้องหาหญิงด้วยเช่นกัน รวมถึงนโยบายในเรื่อง การผันคดีออกจากระบบ หรือ การประนีประนอมยอมความในชั้น พงส. แทนการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมอย่างเป็นทางการ ในอนาคต

นอกจากนี้ ตร. ยังควรจะได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับข้อมูลในเรื่อง การที่ผู้ต้องหาถูกปล่อยตัวชั่วคราว แล้วถูกฆ่าปิดปาก ดังนั้น หากมีการอบรม พงส. ให้มีทัศนคติที่ดีในการเป็นผู้อำนวยความยุติธรรม โดยทำให้ผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา มีความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อ พงส. ว่าอยู่ในฐานะที่จะปกป้องสิทธิของบุคคลดังกล่าวด้วย การประกันตัวหรือการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีสำคัญ ๆ อาจจะมีภยันตรายต่อชีวิตได้ การมีระบบชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ต้องหาที่ดี น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:19:13 น.
Counter : 1577 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.