*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

รักเด็ก? หรือ สร้างภาพ?

ผมได้ติดตามข่าวการจับกุมเด็กอายุ ๑๐ ขวบ ในข้อหาลักทรัพย์ ในที่ร้านเจ๊เล้งฯ ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา โดยพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวเด็กผู้กระทำผิดดังกล่าว หลังจากที่ผู้เสียหายยืนยันให้ดำเนินคดีถึงที่สุด ปรากฎว่าประชาชนทั่วไปรุมประณามพนักงานสอบสวนต่าง ๆ นานา




ผม จึงได้แต่มองย้อนดูตัวเอง หากตัวเราเป็นพนักงานสอบสวน ที่ต้องเข้าเวรอยู่คนเดียว และมีคนมาร้องทุกข์กับเราสักสี่ห้ารายในเวลานั้น ประกอบกับโรงพักของเราก็เก่าแก่ มีห้องขังแยกเป็นสัดส่วนแต่ติด ๆ กันทุกห้อง เราจะดำเนินการอย่างไร ผมคงจะพลิกตำรากฎหมายอยู่หลายรอบเพื่อจะดูว่าทำอะไรได้บ้าง แล้วก็คงต้องทำเหมือนพนักงานสอบสวนท่านนี้นั่นแหละ เพราะมันไม่มีทางเลือกอย่างอื่นแล้ว

ปรากฎว่าคดีนี้ ทั้งสภาทนายความ สส. สว. และประชาชนรุมด่าว่าพนักงานสอบสวนว่าโง่บ้าง ทำผิดกฎหมายบ้าง ผมเลยต้องกลับไปพลิกตำรากฎหมายอีกสักหลายสิบรอบ แต่แล้วก็ไม่เห็นว่าพนักงานสอบสวนกระทำการที่ผิดกฎหมาย หรือเกินสมควรแก่เหตุไปตรงไหน เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจพนักงานสอบสวนเป็นอย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ตกเป็นจำเลยของสังคมที่เอาแต่อารมณ์เป็นที่ตั้งไปเรียบร้อย กลุ่มองค์กรและบุคคลข้างต้น ท่านขี่กระแสสังคม บนความย่อยยับของคนอื่นไปเรียบร้อย

"สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ" ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะลองขี่กระแสกับเขาบ้างก็น่าจะดี โดยทำโครงการพัฒนาสถานีตำรวจให้มันดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เขาอยากให้มีห้องพักที่สวยงาม สะดวกสบายสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ น่าจะจัดทำแผนการโครงการฯ เสนอต่อรัฐบาลโดยเสนอเป็นวาระเร่งด่วน ของบกลางตาม กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ประกอบกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เพราะโดยปกติรัฐบาลจะตั้งงบกลางไว้จำนวนมาก อันเป็นงบประมาณที่ไม่ได้ระบุโครงการ หรือ เป็นรายการ ไว้อยู่แล้ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีเหตุผลเพียงพอที่จะจัดทำคำของบประมาณเหล่านี้ไปพัฒนาโรงพักต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพราะโรงพักเก่าแก่อย่างปัจจุบันมันไม่มีทางที่พัฒนาอะไรให้ดีกว่านี้ได้แล้ว หากท่าน สส. หรือ ประชาชนทั่วไม่เชื่อ ก็ลองไปแวะเยี่ยมชมสถานีตำรวจใกล้บ้านและบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ขอเข้าไปดูและนั่งเล่นห้องควบคุมหน่อย เอาแค่สัก ๕ นาที ก็จะรู้ว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนาให้ดีกว่าเดิมเสียที

อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากหวังอะไรมาก เพราะจดจำเหตุการณ์ตอนเป็นพนักงานสอบสวน เมื่อ ๗ หรือ ๘ ปีให้หลังได้เป็นอย่างดี ในขณะนั้นและเดาว่ายังเหมือนเดิมในขณะนี้ คือ พนักงานสอบสวนต้องซื้ออุปกรณ์ทำงานเองหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์ดีด โต๊ะทำงาน วิทยุสื่อสาร และแม้กระทั่งกระดาษที่ใช้ในการพิมพ์สำนวนการสอบสวน




ตอนนั้น ผมขอทำเรื่องเบิกโต๊ะทำงาน เพราะเรียนมาว่า ข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรี จะสามารถเบิกโต๊ะทำงานได้ เป็นโต๊ะไม้แบบครูโรงเรียนประชาบาล แต่ทางผู้บังคับบัญชาท่านว่าไม่มีใครเบิกกัน เพราะไอ้โต๊ะทำงานเนี่ย มันจัดอยู่ในประเภท ครุภัณฑ์ ที่จะต้องตั้งงบประมาณต่อรัฐบาล กว่าจะเบิกได้ ก็คงจะสัก ๔ หรือ ๕ ปี เข้าไปโน่น ย้ายพอดีนั่นแหละ

ตอนนั้น คิดว่า ถ้าเอาเสื่อมาปูที่พื้น เชิญผู้เสียหายและผู้ต้องหานั่งที่พื้นคุยกันในขณะแจ้งความ ก็คงจะได้บรรยากาศที่ดีไปอีกแบบ ถึงตอนนี้ ผมก็เลยไม่ค่อยอยากหวังว่า โรงพักจะได้รับการปรับปรุงสักเท่าไหร่ เพราะขนาดกระดาษยังไม่จัดให้พนักงานสอบสวนเลย จะนับประสาเรื่องการพัฒนาอาคารที่ใช้งบประมาณมากกว่าได้อย่างไร

ผมอยากจะเล่าเกี่ยวกับกฎหมายการลงโทษและการคุ้มครองเด็กในสหรัฐเสียหน่อย โดยหลักการแล้ว การลงโทษนั้น จริง ๆ แล้วไม่ว่าเด็กกระทำผิด หรือผู้ใหญ่กระทำผิด ก็คือ การกระทำผิดเหมือน ๆ กัน และต้องได้รับการลงโทษเหมือนกัน แต่จะลงโทษแบบไหน อันนั้น คือ ประเด็นสำคัญ เหตุที่ต้องลงโทษ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กนั้น ก็เพราะผู้กระทำผิดได้กระทำการละเมิดต่อบรรทัดฐานของสังคม (Social norms) โดยจะต้องมีการลงโทษผู้กระทำโดยวิธีการใดวิธีทางหนึ่งให้เหมาะสมกับความร้ายแรงการกระทำผิด หรือ เพื่อฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้




นักปราชญ์ ได้เสนอแนวทางไว้ ๒ ประการ คือ

(๑) Consequentialist ideas ซึ่งให้อำนาจดุลพินิจแก่ผู้ตัดสินคดีในการพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดบนพื้นฐานทฤษฎี Utilitarian theories ที่เชื่อว่า การลงโทษจะต้องกระทำเพื่อเป็นการยับยั้งการกระทำผิด (deterrence) โดยวิธีการจำกัดเสรีภาพนั้น (incapacitation) -จะใช้สำหรับผู้ที่ไม่อาจจะนำวิธีการฟื้นฟูความประพฤติ (rehabilitation) มาใช้ได้แล้วเท่านั้น

(๒) Deontologicalist ideas แนวคิดนี้ จะสนับสนุนการลงโทษ โดยกำหนดในรูปแบบของการแก้แค้ทดแทน (retribution) หรือเพื่อให้เหมาะสมกับการกระทำผิด (just deserts) ทั้งนี้ แนวคิดนี้ เชื่อว่าการลงโทษจะทำให้ศีลธรรมที่เสื่อมทรามลงอันเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญานั้น กลับคืนสู่ภาวะสมดุลย์

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเด็ก จึงมีกระแสหลักที่สำคัญ คือ การให้เด็กได้กลับตัวกลับใจแก้ไขตนเอง และกลับเข้าสู่สังคมต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สังคมต้องไม่ลืมนึกถึงความเสียหายของเหยื่ออาชญากรรมด้วย แบบว่า ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้างเท่านั้นจะเป็นไร ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้เสนอให้นำกระบวนการระงับข้อพิพาทในรูปแบบ ADR: Alternative Dispute Resolution หรือ กระบวนการยุติธรรมทางเลือก ที่มุ่งจะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้เสียหายกับผู้ที่กระทำผิด จึงเข้ามาแทนที่กระบวนการฟ้องร้องคดีต่อศาลอย่างเป็นทางการเช่นกรณีทั่วไป

กรณีนี้ หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเสนอร่างกฎหมายให้พนักงานสอบสวนเจรจาไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีที่สมัครและเต็มใจยอมความกันในคดีประเภทนี้ได้ ก็จะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสังคม เพราะตามข่าวที่ปรากฎองค์กร หรือ สว. หรือ สส. ที่ขี่กระแสอยู่ทุกวันนี้ ต้องการให้พนักงานสอบสวนให้ดุลพินิจในการดำเนินการ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันแล้ว คดีประเภทนี้ไม่อาจจะยอมความกันได้ เพราะเป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งจะต้องฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้น ตำรวจไม่อาจใช้ดุลพินิจอะไรได้มากกว่าการสอบสวนปากคำและนำตัวส่งสถานพินิจ

การกระทำผิดของเด็กในสหรัฐอเมริกา โดยปกติหากเป็นความผิดไม่ร้ายแรง ก็จะไม่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีแบบศาลผู้ใหญ่ปกติ แต่หากว่า เด็กนั้นกระทำผิดอาญาร้ายแรง เช่น ฆ่าคนตาย ปล้น ข่มขืนแล้วฆ่า ฯลฯ ที่ถือว่าร้ายแรงเกินเยียวยาแล้ว เด็กนั้น ก็จะต้องถูกดำเนินคดีแบบศาลผู้ใหญ่ปกติ ไม่มียกเว้นหรือการคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ หรือแม้กระทั่งในคดีแแพ่งว่าด้วยการละเมิด (Torts) แล้ว หากเด็กไปกระทำการเยี่ยงที่จะต้องใช้ความระมัดระวังแบบผู้ใหญ่แล้ว ก็ต้องรับผิดแบบผู้ใหญ่ และพ่อแม่ของเด็กนั้น จะต้องมีส่วนรับผิดในละเมิดด้วย เช่น ขับรถไปชนคนตาย เช่นนี้ พ่อแม่ที่ให้เงินเด็กไปซื้อรถฯ ก็ต้องรับผิดทั้งหมด หรือแม้กระทั่งผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ที่ขายรถให้เด็กทั้ง ๆ ทราบข้อเท็จจริงเหล่านี้อยู่แล้ว ว่าเด็กจะก่ออันตรายขับรถชนคนอื่นได้ตาย ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ก็ต้องรับผิดเพื่อละเมิดด้วย ไม่มีข้อยกเว้นเลย

บ้านเมืองไทยของเรา ชอบวิจารณ์บนความไม่รู้ ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และตัดสินปัญหาต่าง ๆ ด้วยอารมณ์ เรื่องนี้ ร้อนไปถึงรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยุติธรรมคนใหม่ ต้องลงไปเจราจาไกล่เกลี่ยคดีกับเจ้าของร้าน ขอยุติเรื่อง อัยการท่านไวต่อกระแสฯ เรียกว่ายังไม่ได้ทันได้เล้าโลมเลยด้วยซ้ำ

ท่านตั้งท่าสั่งไม่ฟ้อง โดยท่านยังไม่ได้ดูพฤติการณ์แห่งคดีเลยด้วยซ้ำฯ จึงกลายเป็นการเล่นเกมส์อะไรสักอย่าง โดยใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์ แต่หลังจากจบเรื่องนั้น ก็ไม่มีใครทำอะไรต่อไป หรือ ในกรณีที่ทำ ก็ทำแบบสุดโต่ง จนขาดความสมดุลย์ระหว่าง ประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมของรัฐ กับเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งได้ก่อปัญหาให้แก่สังคมโดยรวม

ท้ายที่สุด ความเสียหายก็ตกอยู่กับประชาชนตาดำ ๆ ที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งปัญหานี้ เกิดจากพื้นฐานแนวคิดของนักคิดฯ และนักกฎหมายทั้งหลาย ที่คิดว่ามาตรการใหม่ที่ตนสร้างขึ้นมาใหม่นั้นดีเลิศ แต่หาได้รู้ไม่ว่า สิ่งที่นักวิชาการได้ดำเนินการ “ชักว่าวทางวิชาการ” ขึ้น จากความหวังดีแต่อยู่ บนพื้นฐานของความไม่รู้และไม่มีประสบการณ์ตรง เป็นการมองเหรียญเพียงด้านเดียว

[last udate: ๑๐ มิ.ย. ๔๘]




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:42:42 น.
Counter : 538 Pageviews.  

จำเป็นต้องแยกหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ หรือการพิสูจน์หลักฐานออกจากตำรวจจริงหรือ

ผมได้กล่าวถึง องค์กรตำรวจของสหรัฐฯ ไปคร่าว ๆ แล้วว่า ก่อนปี ค.ศ.๑๘๐๐ ระบบตำรวจจะมีเฉพาะเมืองใหญ่ ในลักษณะเหมือนยาม (Watchman) ที่ว่าจ้างให้ดูแลในเวลากลางคืน ต่อมากลาง ค.ศ.๑๘๐๐ ผู้บริหารเมืองต่าง ๆ ในออกกฎหมาย จัดตั้งระบบตำรวจที่รักษาความปลอดภัยขึ้นแทนที่ Watchman โดยในช่วงแรกรัฐบาลกลางสหรัฐ (Federal Government) จะไม่มีอำนาจเข้ายุ่งเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของรัฐเลย รัฐบาลกลางจึงได้ตั้งองค์กรบังคับใช้กฎหมายของตนเองขึ้นมาบ้าง ในช่วงปี ค.ศ.๑๘๗๐ จัดตั้งกระทรวงยุติธรรม (Department of Justice) และจัดตั้ง FBI ในปี ๑๙๒๔ เป็นต้น




ก่อนปี ค.ศ.๑๙๐๐ การพัฒนาตำรวจ เป็นเรื่องภายในของรัฐ แต่ละรัฐก็พัฒนาไปตามมีตามเกิด ตำรวจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและฝ่ายการเมืองก็ปกป้องตำรวจ จนประชาชนเดือดร้อนมาก ตำรวจที่ไม่มีเส้นสายก็เดือดร้อนเช่นกัน รัฐบาลกลางได้ออกกฎหมายข้าราชการพลเรือน (Pendelton Act) ในปี ๑๘๘๓ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันการแทรกแซงการบริหารงานจากฝ่ายการเมือง สถานะตำรวจจึงเป็นแบบกึ่งลูกจ้างกึ่งทหาร ตำรวจจึงมีสิทธิได้รับความคุ้มกันจากกฎหมายดังกล่าว และมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน (Police Union) เพื่อต่อรองด้านสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขการทำงานกับรัฐ เป็นต้น

รัฐบาลกลาง ได้ออกกฎหมาย George-Dean Act of ๑๙๓๖ เพื่อพัฒนาตำรวจในระดับมลรัฐ โดยให้ทุนการศึกษาแก่ตำรวจ และทำงานตอบแทน ทั้งนี้ เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ มีระดับการศึกษาเพียงมัธยมศึกษาตอนปลาง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดีเท่าที่ควร และในขณะเดียวกันรัฐบาลกลาง ก็สนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจของทุกรัฐและทุกเมือง ในด้านเทคโนโลยี และห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Forensic Laboratory) โดยให้เงินพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาห้องปฎิบัติการของ FBI เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจท้องถิ่นอย่างเต็มที่ฯ

การพัฒนาห้องปฎิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์

ทุกประเทศในโลกนี้ ก็มีการพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน คือ การจัดตั้ง Forensic Laboratories หรือ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจพิสูจน์หลักฐาน ไว้ในสถานีตำรวจทุกแห่ง โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น หรือ ประเทศจีน และ ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ก็จะจัดตั้งห้องปฎิบัติการเพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน (Investigation) และการฟ้องร้อง (Prosecution)ไว้ในสถานีตำรวจทั้งสิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกานี้ ตำรวจในระดับเมืองและระดับรัฐ ล้วนแต่มีห้องปฏิบัติการของตัวเอง ซึ่งแยกต่างหากจากห้องปฏิบัติการฯ ของ F.B.I. ที่ขึ้นอยู่กับ Department of Justice ที่เป็นของรัฐบาลกลาง (Federal Government) ทั้งสิ้น รัฐบาลกลางสหรัฐฯ มีแนวคิดที่สำคัญ ตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๖๐ เป็นต้นมา ว่าจะต้องสนับสนุนด้านเงินและด้านเทคโนโลยีในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้กับตำรวจในระดับท้องถิ่นและระดับรัฐ โดยการเสริมเขี้ยวเล็บ และทุ่มเททรัพยากรลงไปในการพัฒนาห้องปฏิบัติการทางการตรวจพิสูจน์หลักฐานของตำรวจระดับท้องถิ่นและระดับมลรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน

จึงอาจจะสรุปได้ว่าไม่มีประเทศใดโลกนี้ (ตั้งแต่มีโลกใบนี้มา) ที่มีแนวคิดแบบประเทศไทย ที่จะต้องแยกสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ออกจากฝ่ายตำรวจ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการตัดมือตัดไม้ในการพิสูจน์หลักฐานและช่วยเหลือการในการสืบสวนสอบสวนของตำรวจไปเลย ทุกประเทศ จึงมีแต่แนวคิดที่พัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่เชื่อถือได้ และถูกต้องมากที่สุด เพื่อให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนและฟ้องร้องคดีเป็นไปโดยถูกต้อง แต่ประเทศไทยนี่แปลกมาก เพราะมีแนวคิดจากบุคคลที่ไม่มีความรู้ความด้านการสืบสวบสอบสวน แต่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่เก่งกาจเหนือผู้อื่น ท่านได้เสนอความคิดว่าจะต้องแยกสถาบันนิติเวชศาสตร์ออกไปจากตำรวจให้ได้

คำถามในใจ คือ ผู้ที่ผลักดันเรื่องนี้ ท่านต้องการอะไรกันแน่ มันเป็นเกมส์แห่งอำนาจ และการสร้างภาพใช่หรือไม่ เพราะการแยกสถาบันนิติเวช หรือหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานของตำรวจไปสังกัดกระทรวงที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ก็ไม่ได้ช่วยประกันความเป็นอิสระให้แก่ผู้ทำการตรวจพิสูจน์หลักฐาน หรือประกันมาตรฐานการตรวจพิสูจน์ว่าจะถูกต้องไร้ข้อผิดพลาดไปได้ เพราะแม้แต่ ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ที่พัฒนาความรู้เกี่ยวกับ Forensic Science มาโดยตลอด จากการศึกษาของ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice หรือ DoJ) เมื่อประมาณปี ๑๙๙๐ ก็พบว่า หน่วยงานตรวจพิสูจน์หลักฐานของมลรัฐและท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการและการเงินจากรัฐบาลกลาง มาอย่างต่อเนื่อง ก็มีข้อผิดพลาดอย่างมหาศาล จนต้องมีการทบทวนการวางมาตรฐานกันใหม่ โดยศาลสูงสุดของสหรัฐ เรียกว่า Daubert Standard ซึ่งกำหนดให้ศาลชั้นต้น ทำกาารไต่สวนและวิเคราะห์ว่า นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการตรวจพิสูจน์หลักฐานนั้น ใช้หลักการทางวิชาการ (methodology) อะไร น่าเชื่อถือหรือไม่ มีการนำความรู้ดังกล่าวมาวิเคราะห์กับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานนั้นอย่างถูกต้องสมเหตุสมผลหรือไม่ สามารถแสดงอัตราการผิดพลาดได้หรือไม่ มีวัตถุตัวอย่างในการควบคุมคุณภาพการทดลองและวิเคราะห์พยานหลักฐานในคดีเพียงพอหรือไม่ เป็นต้น แล้วนับประสาอะไรกับหน่วยงานที่เกิดขึ้นใหม่อย่างนี้ และที่สำคัญ Forensic Science ไม่ใช่แค่มีแค่แพทย์ซึ่งได้ผ่านการอบรมเกี่ยวกับความรู้เบื้องตั้นทางนิติเวชศาสตร์ แล้วจะทำงานนี้ได้สำเร็จ จะต้องมีนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ที่มีความรู้เชี่ยวชาญ และสามารถประยุกต์ใช้วิชาการนั้นกับข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาได้อย่างน่าเชื่อถือและถูกต้อง (reliability and validity)

แนวคิดเรื่องการแยกนิติวิทยาศาสตร์ออกจากตำรวจ จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลากและขัดแย้งกับแนวคิดของทั่วโลก รัฐบาลจึงควรที่จะต้องหันมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักวิชาการในการตรวจพิสูจน์หลักฐานให้น่าเชื่อถือ กับองค์กรที่มีพื้นฐานของการปฏิบัติงานมายาวนาน โดยมีการลงทุนอย่างจริงจังแล้ว ก็จะต้องมีกฎหมายที่จะประกันความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานทางการตรวจพิสูจน์หลักฐาน พร้อมทั้งพัฒนาด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ฯ การจัดการด้านเทคโนโลยี ที่ดีพอ เพื่อให้หน่วยงานตำรวจและหน่วยบังคับใช้กฎหมาย สามารถขอรับการสนับสนุนการตรวจพิสูจน์หลักฐานผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในการสั่งการถูกผิด รัฐบาลไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของเกมส์แห่งอำนาจและการสร้างภาพของใคร [last update: 11 พฤษภาคม 2548]




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:42:55 น.
Counter : 1188 Pageviews.  

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กและสตรี

ท่านผู้อ่าน คงจะได้พอทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า มีการกล่าวหาว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เหมาะสม โดยนำตัวเด็กไปทรมานเพื่อให้รับสารภาพ ในจังหวัดสกลนคร เมื่อประมาณเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ผมบังเอิญได้ผ่านกระดานข่าวของตำรวจภูธร ภาค ๔ และไปเจอจดหมายเปิดผนึกถึงคุณปวีณา หงสกุล โดย พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ที่ได้ลงเผยแพร่ไว้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.48 ที่ผ่านมา เห็นว่าน่าสนใจ ผมจึงขออนุญาตนำมาลงใน ณ ที่นี่




ท่านผู้อ่าน ต้องปลอยวาง ทำให้ใจให้ว่างและเป็นกลาง ก่อนที่จะอ่านจดหมายเปิดผนึกนี้ ผมชอบประโยคหนึ่งของท่าน พล.ต.ท.อชิรวิทย์ฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการและวงการตำรวจว่า เป็นนายตำรวจที่มีความรู้ความสามารถ และมีภาพลักษณ์ที่ซื่อสัตย์สุจริตมาตลอดชีวิต ท่านกล่าวว่า

“ผมยอมรับความจริงตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตำรวจอย่างพวกผมต้นทุนทางสังคมติดลบในความรู้สึกของประชาชนคนทั่วไป ตำรวจที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม บกพร่องต่อหน้าที่ กดขี่ ข่มเหง ประชาชนยังหลงเหลืออยู่ปฏิเสธไม่ได้แต่มิใช่ทั้งหมด ตำรวจส่วนใหญ่ยังมีศรัทธาในความเป็นตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เสียสละทั้งชีวิตและเลือดเนื้อให้สังคมได้อยู่อย่างเป็นปกติสุข ตำรวจส่วนใหญ่เหล่านี้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพียงพอที่จะตอบโต้เมื่อคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ต่อไปนี้ คือ เนื้อความของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว

“เมื่อวันที่ ๒๑ มี.ค.๔๘ ที่ผ่านมา คุณปวีณา หงสกุล ได้นำ ด.ช.บ๋อม (นามสมมติ) อายุ ๑๒ ปี พร้อมมารดาของเด็ก คือ นางบัวระภาฯ เข้าพบ พล.ต.ต.วินัย ทองสอง ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจ สภ.อ.เมืองสกลนคร ในข้อหาทำร้ายร่างกาย ด.ช.บ๋อม(นามสมมติ) ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีลักรถจักรยานยนต์ โดยวิธีใช้ไฟแช็กลนลูกอัณฑะ บังคับให้รับสารภาพดังปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

คุณปวีณาได้ให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงผม พอจับประเด็นได้ว่า คุณปวีณาไม่ได้ฟังความข้างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องการพิทักษ์สิทธิเด็ก ไม่ได้มองว่าเป็นการกลั่นแกล้งตำรวจ เพราะส่วนตัวก็ต้องทำงานร่วมกับตำรวจมาตลอด และการสอบสวนเด็กทำ หลายครั้งมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยามาร่วมสอบ และเด็กยืนยันนับ ๑๐ ครั้ง ในทางตรงกันข้าม อยากให้มองว่าการฟังความข้างเดียวน่าจะเป็นฝ่ายตำรวจมากกว่า โดยเฉพาะ พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ผบช.ภ.๔ ที่ออกมาให้ความคุ้มครองผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างมาก จากการที่ทราบทางสื่อมวลชนเห็นว่ามีหลายประเด็นที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง จึงอยากฝากไปถึงท่านผู้บัญชาการด้วยว่า อย่าฟังข้อมูลจากลูกน้องเพียงฝ่ายเดียว

ในฐานะคุ้นเคยกันมาช้านาน ติดตามผลงานของคุณปวีณา และแอบชื่นชมอยู่เงียบ ๆ อยากจะเรียนคุณปวีณา ด้วยความสัตย์จริงว่า คดีนี้เมื่อเป็นข่าวขึ้นมาครึกโครม ในตอนแรกผมยืนอยู่ข้างเด็กผู้ต้องหา ฝั่งเดียวกับคุณปวีณา อ่านข่าวด้วยความตกใจ พาลนึกไม่ถึงว่า ถ้าเป็นความจริงตามข่าวทำไมผู้ใต้บังคับบัญชาถึงขาดสติสัมปชัญญะ ทำกับผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก อายุ ๑๒ ปีได้ลงคอ

หลังจากนั้นจึงได้ให้ ผกก.สภ.อ.เมืองสกลนคร และ ผบก.ภ.จว.สกลนคร รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยละเอียด พร้อมกับสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทันทีในชั้นต้น เป็นไปตามระเบียบตำรวจ คณะกรรมการชุดแรกจึงเป็นตำรวจทั้งหมด

เมื่อทบทวนกระแสสังคม การจะให้ตำรวจสืบสวนตำรวจด้วยกันเอง อาจจะเสียรังวัด จึงได้สั่งการให้ ผบก.ภ.จว.สกลนคร นำเรื่องนี้ขึ้นนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วยอัยการ ฝ่ายปกครอง ครู และตำรวจ เพื่อให้การสืบสวนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม


นอกจากนั้นผมได้สั่งการให้สอบสวนพยานแวดล้อมกรณีในคดีนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายปาก และสรุปบันทึกการปฏิบัติทุกขั้นตอน ชั่วโมงต่อชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มมีการจับกุม ควบคุมตัว นำส่งพนักงานสอบสวน การสอบสวนโดยสหวิชาชีพ จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ สรุปสำนวนการสอบสวน เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ

อยากจะเรียนให้คุณปวีณาได้ทราบด้วยว่า มิใช่เฉพาะแต่ข้อมูลเชิงลึกด้านตำรวจเท่านั้น ผมยังสั่งให้ฝ่ายอำนวยการตั้งแฟ้มตัดข่าวคดีนี้จากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เพื่อนำมาเปรียบเทียบถึงความแตกต่างของข้อมูลกับฝ่ายตำรวจ จากนั้นจึงได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และข้อความประโยคหนึ่งผมพูดชัดเจนว่า ถ้าเรื่องนี้สอบสวนแล้วพบเห็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจแม้เพียงน้อยนิดกับเด็กซึ่งเป็นผู้ต้องหา ผมจะลงทัณฑ์สถานหนักทันที คือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน และดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญาอย่างนี้แล้ว เรียกได้ว่า ผบช.ภ.๔ ฟังความข้างเดียวอยู่หรือเปล่าครับ !!

ในทางกลับกัน ขอเรียนถามว่า เมื่อคุณปวีณา รับทราบข้อมูลจากเด็กและแม่ของเด็กผู้ต้องหา คุณปวีณา เคยติดต่อขอทราบรายละเอียด หรือรับฟังข้อมูลจากฝ่ายตำรวจบ้างหรือไม่ ? ถ้าคุณปวีณา นำเรื่องข้อผิดพลาดคดีหมวยโซทบทวน เป็นอุทาหรณ์ ให้โอกาสฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง แล้วนำไปประกอบการพิจารณาชั่งน้ำหนัก ก่อนตัดสินใจเปิดเรื่องนี้สู่สาธารณชนและสื่อมวลชน ผมมั่นใจว่าความผิดพลาดจะไม่เกิดขึ้นแต่คุณปวีณาไม่ได้ทำ เดินหน้าลุยลูกเดียว โดยหวังว่าจะกู้เกียรติภูมิกลับคืนมาในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนระดับกองบัญชาการ ขอเรียนคุณปวีณา ด้วยความเห็นใจ ว่าระวังประวัติศาสตร์ หมวยโซจะซ้ำรอย!!

ผมมีคำถามหลายข้อ ที่ต้องการให้คุณปวีณาไปขบคิดเป็นการบ้าน ถ้าสงสัยประการใด หรือไม่เข้าใจ กรุณาสอบถามผู้รู้ทั้งใกล้ตัวและใกล้ชิด อาจจะได้คำตอบที่ถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่า เด็กชายผู้ต้องหามีประวัติครอบครัว เป็นมาอย่างไร ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม อุปนิสัย ใจคอ ความประพฤติ สภาพปัญหา การเอาใจใส่ อบรม สั่งสอนจากมารดา

รายละเอียดทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวน สอบสวน ครอบคลุม ทุกประเด็น เป็นคดีขึ้นเมื่อไร คุณปวีณาจะรู้ได้ทันทีว่าเรื่องนี้สำคัญมาก

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง เป็นผู้จับกุมเด็กชายผู้ต้องหานำ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง และตลอดระยะเวลาในการควบคุมตัว เดินทางจากป้อมยามกลางเมืองไปยังสถานีตำรวจ ผู้เสียหายได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามไปด้วยจนถึงห้องสอบสวน เพื่อทำการบันทึกจับกุม และลงลายมือชื่อเป็นผู้จับกุม ตาม ป.วิ อาญา ม.๘๔ ! ไม่มีห้วงเวลาใดที่จะนำเด็กผู้ต้องหาไปยังสุสาน ป่าช้า เพื่อกระทำมิดีมิร้ายเลย.

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่า จังหวัดสกลนครไม่มีสถานพินิจ การควบคุมตัวผู้ต้องหา จึงต้องอนุโลมแบบผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ การให้สัมภาษณ์ของคุณปวีณา เชิงต่อว่าตำรวจ เรื่องไม่ส่งตัวเด็กให้สถานพินิจ จึงเป็นการตอกย้ำว่า คุณปวีณา ไม่ได้ศึกษาข้อมูลมาก่อน

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่า ขณะที่เด็กผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในห้องควบคุม ซึ่งถึงแม้ว่าจะอยู่เป็นสัดส่วนแยกต่างหากจากผู้ต้องหาผู้ใหญ่ แต่ก็ ไม่ถูกใจคุณปวีณา กล่าวหาว่าไม่ทำตามกฎหมาย


เรื่องนี้ อยากจะเรียนให้ทราบว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติกับเด็กที่ตกเป็นผู้ต้องหาก็ดี ออกภายหลังจากการสร้างสถานีตำรวจ

ในพื้นที่ ภาค ๔ มีโรงพักอยู่ ๒๔๗ สถานี มีอยู่เพียง ๑๕ สถานีเท่านั้น ที่การก่อสร้างอาคารสถานี กำหนดรูปแบบจัดผังอาคารเป็นสัดส่วน มีห้องควบคุมเด็กแยกต่างหากจากห้องควบคุมผู้ใหญ่ รวมทั้งห้องสอบสวนคดีที่เด็กเป็นผู้ต้องหาและพยาน การที่คุณปวีณาให้สัมภาษณ์เชิงตำหนิเรื่องห้องควบคุมไม่เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากจะไม่ศึกษาข้อมูลแล้ว ยังมีผลกระทบถึงรัฐบาล (ที่คุณปวีณา เป็น ส.ส. ในพรรครัฐบาล) ว่าไม่จัดสรรงบประมาณมาก่อสร้างสถานีให้มีมาตรฐานตามกฎหมาย

ด้วยงบลงทุนที่ บช.ภ.๔ ได้รับจัดสรรน้อยนิด ในแต่ละปี เรียนให้ คุณปวีณาทราบได้เลยว่า กว่าจะมีสถานีตำรวจมาตรฐานครบถ้วน สมใจนึก คุณปวีณา คงจะต้องรอเวลา อย่างน้อย ๑๐๐ ปี ?

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่าการสอบสวนเด็กผู้ต้องหาต่อหน้าสหวิชาชีพ ทั้ง อัยการ ทนายความ นักจิตวิทยา และญาติผู้ใหญ่ คือนายจำรัส เพชร์กัณหา ซึ่งเป็นตาของเด็ก ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพในข้อหาลักทรัพย์ ปฏิเสธข้อหารับของโจร และตลอดเวลาที่ให้การ เด็กผู้ต้องหาก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องราวที่ถูกทำร้ายหรือทารุณใด ๆ ต่อหน้าสหวิชาชีพ ผู้ร่วมรับฟังการสอบสวน แม้แต่คุณตาซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด

คุณปวีณาทราบหรือไม่ว่า หลักวิชา Psychology Aspect of Sociology ที่ศึกษากันในวิทยาลัยตำรวจ F.B.I. นั้น มีการศึกษาถึงกรณีผู้ต้องหากลุ่มคดีเดียวกัน เมื่อถูกจองจำ ร่วมทุกข์ด้วยกัน มักจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แผนประทุษกรรม และปรึกษาเรื่องความคับข้องใจที่แต่ละคนได้รับเข้ามาในชีวิต

กรณีเด็กผู้ต้องหาที่คุณปวีณาให้การสงเคราะห์ เมื่อถูกนำเข้าห้องควบคุมกับผู้ต้องหาเด็กในวัยเดียวกัน ต้องคดีลักรถจักรยานยนต์เหมือนกัน เด็กรายนี้ได้ให้การว่า ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกัน เด็กผู้ต้องหาฝ่ายคุณปวีณา ไม่เคยเล่าให้ฟังหรือปรารภเรื่องราวที่ถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหน้าที่ให้ ฟังเลย มีแต่คุยโตอวดโอ้ถึงวีรกรรมเรื่องนำรถจักรยานยนต์ของครูไปขับขี่เล่นจนถูกจับได้

คำถามสุดท้ายที่ขอเรียนถามคุณปวีณา ก็คือ ในการแถลงข่าวครั้งแรก ตามคำบอกเล่าของเด็กผู้ต้องหาหนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงข้อความตรงกันว่า ตำรวจนำตัวไปในป้อมยาม ใช้ผ้าปิดตา ถอดกางเกง ก่อนจะใช้ไฟแช็กลนที่อวัยวะเพศ โดยใช้ไฟจุดรวม ๓ ครั้ง

คุณปวีณาคงทราบดีว่า หากมีการใช้ไฟแช็กลนอัณฑะจริงดังกล่าวอ้างแล้ว ย่อมเกิดบาดแผลซึ่งแพทย์ทางนิติเวชท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าบริเวณดังกล่าว บาดแผลจะหายยากที่สุด เพราะเป็นส่วนที่เนื้อเยื่อบางมากและต้องปรากฏร่องรอยให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของเด็กผู้ต้องหา ไม่ปรากฏร่องรอยหรือบาดแผลซึ่งเกิดจากการถูกทำร้ายแต่อย่างใด กรณีดังกล่าว กรรมย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาให้ วิญญูชนเห็นว่าตำรวจได้มีการกระทำดังที่คุณปวีณาและคณะกล่าวอ้างหรือไม่

ป้อมยามที่ว่าคือตู้ยามประชาราษฎร์ อยู่ใจกลางเมือง เป็นที่สาธารณะ และเป็นเวลา ๑๔.๓๐ น. ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในป้อมยามกระทำจริงต่อหน้า นายวรัญญู เพียสา ผู้เสียหาย เจ้าของรถ ก็นับเป็นการกระทำที่อุกอาจอย่างที่สุดต่อมาภายหลังคุณปวีณาพาเด็กผู้ต้องหามาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อวันที่ ๒๐ มี.ค.๔๘ ปรากฎว่า เด็กผู้ต้องหากลับมาชี้ให้คุณปวีณาและคณะ ดูห้องที่ทำการสืบสวนของ สภ.อ.เมืองสกลนคร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงพัก แค่ไม่ถึง ๒ วัน สามารถเปลี่ยนสถานที่ประทุษร้ายเด็กได้รวดเร็วเหลือเกิน ?

ผมจะไม่ขอกล่าวถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของคุณปวีณาและคณะ เมื่อ ผกก.สภ.อ.เมืองสกลนครไม่ดำเนินการตามคำขอร้องของคุณปวีณาที่ต้องการให้เด็กชี้รูปเจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดสืบสวนจับกุม แต่ใคร่จะเรียนให้คุณปวีณาไปศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ให้กระจ่าง ถ่องแท้ เพื่อจะได้ทราบว่า ตำรวจไม่ใช่ใครอื่น เป็นคนไทยเหมือนกัน ย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน

ผมยอมรับความจริงตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตำรวจอย่างพวกผมต้นทุนทางสังคมติดลบในความรู้สึกของประชาชนคนทั่วไป ตำรวจที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม บกพร่องต่อหน้าที่ กดขี่ ข่มเหง ประชาชน ยังหลงเหลืออยู่ ปฏิเสธไม่ได้ แต่มิใช่ทั้งหมด

ตำรวจส่วนใหญ่ยังมีศรัทธาในความเป็นตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เสียสละทั้งชีวิตและเลือดเนื้อให้สังคมได้อยู่อย่างเป็นปกติสุข ตำรวจส่วนใหญ่เหล่านี้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพียงพอที่จะตอบโต้เมื่อคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

คุณปวีณาเป็นประธานมูลนิธิฯ คงมีที่ปรึกษากฎหมายหลายคน ขอเรียนให้รีบดำเนินการปรึกษาเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ ๑๗๒ และ ๓๒๖ ไว้ล่วงหน้า

ถ้าเรื่องร้องเรียนกล่าวหาของคุณปวีณาและคณะ เป็นความจริง (FACT) ผมจะดำเนินการตามที่สัมภาษณ์โดยเร็วพลัน คือลงโทษสถานหนักกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ข่มเหงรังแกประชาชน ทั้งทางวินัยและอาญา

แต่ถ้าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กุขึ้น (FICTION) ให้ตำรวจ และองค์กรตำรวจ ต้องเสียหาย คุณปวีณาได้กลับมาเยี่ยมจังหวัดสกลนครบ่อยครั้งแน่ แต่ไม่ใช่ตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร หากแต่เป็นศาลจังหวัดสกลนคร

จาก: พล.ต.ท.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช - [26 มี.ค.48 03:33]"

อ่านแล้วอย่าเชื่อใคร เราเป็นมนุษย์ ต้องมีเหตุผล มีความหนักแน่น และตัดสินปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูลที่เพียงพอ ไม่ใช่บนพื้นฐานของอารมณ์ [last update: 11 พฤษภาคม 2548]





 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:43:11 น.
Counter : 1129 Pageviews.  

โครงสร้างองค์กรตำรวจสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน องค์กรที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายทั้งในระดับรัฐบาลกลาง มลรัฐ ท้องถิ่น และองค์กรพิเศษอื่น รวมเกือบ 18,000 หน่วย

องค์กรตำรวจของสหรัฐอเมริกาจะแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ ขึ้นอยู่กับลักษณะเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสภาพปัญหาของท้องถิ่นนั้น ๆ ขนาดขององค์กรก็จะแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ตำรวจเมืองแชมเปญจ์ รัฐอิลลินอยด์ ก็จะมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 250 นาย ในขณะที่ ตำรวจเมืองชิคาโก้ จะมีกำลังประมาณ 14,000 นาย ส่วนตำรวจเมืองลอสเอลเจลลิส (LAPD) จะมีประมาณ 12,000 นาย หรือที่เมืองนิวยอร์ค (NYPD) ก็จะมีกำลังตำรวจประมาณ 25,000 นาย เป็นต้น

การจัดตั้งหน่วยงาน

องค์กรตำรวจแต่ละแห่งอาจจะจัดหน่วยงานแตกต่างกันไปตามลักษณะสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น ฉะนั้น สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะโครงสร้างของ Police Department ทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะประกอบด้วยตำแหน่งและหน่วยต่าง ๆ ดังนี้

1.Chief Police เป็นหัวหน้าสูงสุดขององค์กร
2.Deputy Chief Police ซึ่งจะมีหน้าที่ในทางการบริหารทั่วไป เช่น การติดต่อ
ประสาน และการควบคุมการดำเนินการของตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของรัฐบาลมลรัฐ
3.แผนกมาตรฐานวิชาชีพตำรวจ (Professional Standard Unit or Internal Affair
Audit) หน่วยงานนี้ จะเป็นหน่วยอิสระ และขึ้นตรงต่อ Chief Police หรือ Deputy Chief Police ในการสืบสวนสอบสวนกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบด้วยประการใด ๆ (Misconduct)
4.หน่วยงานประเภท Bureau ซึ่งประกอบด้วยหลายแผนก แต่ละแผนก็จะมีหัวหน้าใน
ระดับ เช่น Major หรือ Captain และมีระดับ Lieutenant เป็นผู้ช่วย เป็นต้นว่า
4.1) หน่วยสายตรวจ (Patrol) ซึ่งกำลังตำรวจประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูก
จัดเป็นสายตรวจ และ เจ้าหน้าที่ตำรวจสายอื่น ๆ จะต้องถูกหมุนเวียนมาเป็นสายตรวจ รวมถึงหัวหน้าองค์กรตำรวจนั้น ก็จะต้องผ่านงานสายตรวจมาด้วยเช่นกัน
4.2) หน่วยสืบสวน (Investigation) จะแบ่งเป็นหลายแผนก ตามประเภทคดี
และความชำนาญเฉพาะสายงาน โดยจะมีเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน (Detective) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนในแผนกต่าง ๆ ได้แก่
4.2.1) แผนกสืบสวนคดีต่อชีวิตร่างกาย หรือ Crime against person unit
4.2.2) แผนกสืบสวนคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือ Crime against
property unit
4.2.3) แผนกสืบสวนคดีที่เด็กตกเป็นผู้กระทำผิดหรือตกเป็นเหยื่อ
Juvenile Unit
4.2.4) แผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ Computer
Crime Unit
4.2.5) แผนกสืบสวนคดีสื่อลามก การพนัน โสเภณี และยาเสพติด หรือ
Vice and Narcotic
4.2.6) แผนกสนับสนุนการตรวจที่เกิดเหตุเพื่อหาร่องรอยพยานหลักฐาน
Crime Science Investigation
4.3) หน่วยตำรวจจราจร (Traffic) ซึ่งจะแบ่งเป็นสองแผนก ได้แก่
4.3.1) แผนกสืบสวบสอบสวนคดีอุบัติเหตุจราจรร้ายแรง (Accident
Investigation) และนำตัวผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรร้ายแรง หรือ ขับรถในขณะเมาสุรา ขึ้นฟ้องต่อศาลต่อไป
4.3.2) แผนกสายตรวจรถจักรยานยนต์ (Motorcycles) ซึ่งมีหน้าที่ในการ
ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และออกใบสั่งอย่างเคร่งครัด
4.4) หน่วยบริหารและจัดการ (Administration) หน่วยงานนี้ จะทำหน้าทีบริหารงานด้านทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรตำรวจ แต่บุคคลากรในองค์กรนี้ จะเป็นพนักงานประเภท Civil employee ไม่แต่งเครื่องแบบ
4.5) หน่วยพิเศษ (Special Agent) ซึ่งจะทำหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การช่วยเหลือตัวประกันโดย SWAT team หรือ ควบคุมฝูงชน (Crowd Control) และแผนกอื่น ๆ ตามความจำเป็น และพันธกิจขององค์กรตำรวจ

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายตำรวจอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Sheriff หัวหน้าหน่วยงานนี้ จะทำหน้าที่คล้ายตำรวจ แต่มาจากการเลือกตั้ง และโดยปกติจะมีท้องที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเขตรอบนอกของเมือง (rural area) หากจะเปรียบเทียบกับประเทศไทย ก็อาจจะเปรียบเทียบได้กับกำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดย Chief Sheriff จะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้อยู่ระหว่างการพิจาณาคดี หรือระหว่างการทำทัณฑ์บน โดยจัดการให้สถานที่ที่เรียกว่า Jail ซึ่งจัดเป็น Local Correction ในคดีความผิดไม่ร้ายแรง (Misdemeanor) นอกจากนี้ ยังมีอำนาจในการบังคับบังใช้กฎหมาย ตามที่เมืองมอบหมาย หรือจัดทำสัญญาในการให้บริการสาธารณะด้วย หากจะถามว่า เหตุใดสหรัฐอเมริกา จึงยังรักษาระบบ Sheriff ไว้ ก็อาจจะมีที่มาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ อันเทียบเคียงได้กับการรักษาระบบกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นน้อยลงไปทุกที




หลักการบริหารงานตำรวจที่แตกต่างจากประเทศไทยอีกประการหนึ่ง ระบบตำรวจในสหรัฐอเมริกานี้ นอกจากจะได้รับการคุ้มครองการเป็นอิสระในการทำงาน ตามกฎหมายข้าราชการพลเรือน (Civil Service) แล้ว ยังมีสหภาพแรงงาน (Labor Union) คุ้มครองอีกด้วย ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐอเมริกาจึงมีสิทธิตามกฎหมายที่เรียกว่า Collective Bargaining กับเมืองเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำงาน (Condition of work) สวัสดิการ เงินเดือน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของตำรวจเองด้วย

การจัดแบ่งสายงานในการสืบสวนคดีอาญาของตำรวจสหรัฐอเมริกา ไม่ได้แยกสายงานสืบสวนออกจากสายงานสอบสวนแบบในประเทศไทย แต่แบ่งไปเป็นตามแผนกตามความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่ประสบปัญหาแบบประเทศไทย ที่พนักงานสอบสวนไม่อาจพึ่งพาหรือสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนและฝ่ายอื่น ๆ ได้ ทำให้พนักงานสอบสวนในประเทศไทยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

ข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้พนักงานสอบสวนไม่อาจระดมสรรพกำลังและทรัพยากรในฝ่ายอื่น ๆ เข้าร่วมทำการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานได้อย่างเต็มที่ และต้องทำงานโดยลำพังปราศจากการสนับสนุนในด้านเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์และเทคโนโลยีใด ๆ งานตำรวจจึงไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร

หากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว พบว่ารัฐบาลกลางได้ ทุ่มเททรัพยากรในการพัฒนาเทคโนโลยีและสนับสนุนงานของตำรวจมลรัฐและท้องถิ่น โดยมีการช่วยเหลือมลรัฐหลายรูปแบบ ตั้งแต่ในด้านการเงิน และการฝึกอบรม การช่วยเหลือในการพิสูจน์หลักฐาน และการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาที่ยุ่งยากโดยองค์กรตำรวจสอบสวนกลาง หรือ F.B.I. อย่างเต็มกำลัง ตั้งแต่ประมาณ ปี ค.ศ.1960 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:43:49 น.
Counter : 6914 Pageviews.  

แนวคิดในการสืบสวนคดีอาญาของตำรวจสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับของไทย

กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ได้ยอมรับว่าองค์กรตำรวจ องค์กรอัยการ และศาล เป็นองค์กรที่มีอำนาจดุลพินิจ (Discretion) ในการดำเนินคดีและเริ่มต้นคดีของตนเอง ในทางข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจในสหรัฐ จึงเป็นผู้มีอำนาจดุลพินิจสูงมาก




เรื่องดุลพินิจนั้น ในทางการบริหารงานตำรวจและทางกฎหมายนั้น ได้ยอมรับในหลักการความจำเป็นและข้อจำกัดในทางทรัพยากร ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจจะทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนกับความผิดที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของตนได้ทุกคดี เมื่อหากมีคดีเกิดขึ้นในเขตท้องที่ ตำรวจก็จะพิจารณาถึงลักษณะความร้ายแรงของการกระทำผิด ความเสียหายต่อเหยื่ออาชญากรรม ร่องรอยพยานหลักฐานที่สามารถนำไปสู่ความสัมฤทธิ์ผลในการสืบสวนสอบสวนได้ รวมถึงปัจจัยทางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดประกอบกัน หลังจากนั้น ก็จะพิจารณาถึงลำดับความสำคัญของคดี (Priority) ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเขตท้องที่เป็นสำคัญ เช่น คดีลักรถยนต์ ในท้องที่หนึ่งอาจจะสำคัญ แต่อีกท้องที่หนึ่งอาจจะสำคัญน้อยกว่าคดีประเภทฆาตรกรรมเป็นต้น และในกรณีที่เห็นว่าคดีนั้นไม่อาจจะสืบสวนต่อไปได้ ตำรวจก็จะบันทึกข้อมูลเก็บไว้เป็นสถิติเท่านั้น จะไม่ทุ่มเททรัพยากรลงไปสืบสวนสอบสวน ไม่ต้องถกเถียงแบบไทย ๆ คือ เอาหลักรัฐศาสตร์ นำหลักนิติศาสตร์ อะไรทำนองนั้น

แนวคิดในการสืบสวนคดีอาญา จึงแตกต่างแนวคิดในประเทศไทยเรามาก เพราะกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเรากำหนดให้พนักงานสอบสวนจะต้องรับคำร้องทุกข์ทันที โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจ ซึ่งในบางครั้ง ก็ไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นจริง การรับคำร้องทุกข์เข้าสารบบโดยทันที โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการสืบสวนค้นหาความจริงใด ๆ เมื่อมีการรับคำร้องทุกข์ โดยกระบวนการแล้ว ก็จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงาน ซึ่งไม่มีประโยชน์ใด ๆ นอกจากการได้เอกสาร ๑ ฉบับ เก็บไว้ พร้อมกับความเห็นตามกฎหมายจ่าหัวกระดาษนั้น

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา หากเป็นคดีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดแน่ ๆ เช่น ลักทรัพย์ โดยเจ้าทรัพย์ไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะจดบันทึกข้อมูล เพื่อเก็บสถิติ พร้อมกับแผนประทุษกรรมไว้อย่างละเอียด ซึ่งในทางกฎหมายเรียกว่า Modus Operandi เพื่อใช้พิสูจน์เปรียบเทียบแผนประทุษกรรมของคนร้ายที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก จนยืนยันได้ว่า การกระทำผิดครั้งก่อนกับครั้งหลังนั้น ต้องกระทำโดยบุคคลคนเดียวกัน และหากมีการจับตัวได้ภายหลังก็จะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้ โดยศาลได้รับรองว่าพยานหลักฐานนี้ สามารถใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ตัวบุคคลผู้กระทำผิดได้ ในกรณีมีความผิดเกิดขึ้นโดยยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ต้องทุ่มเททรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ และฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่จำเป็นต้องส่งเอกสารหรือสำนวนคดีต่อพนักงานอัยการแต่ประการ เพราะถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจในการที่จะไม่สืบสวนสอบสวนคดีที่เกิดขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่าจะเป็นในคดีที่มีเหยื่ออาชญากรรม แต่ไม่ร้ายแรง และไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะทำการสืบสวนอยู่ในชั่วระยะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น หลังจากนั้นก็จะดุลพินิจยุติการสืบสวนสอบสวนโดยไม่ต้องส่งเอกสารใด ๆ ให้พนักงานอัยการเห็นชอบเหมือนประเทศไทย

พนักงานอัยการเป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีการดำเนินคดีอย่างเป็นอิสระ เพราะอัยการของสหรัฐโดยเฉพาะในระดับมลรัฐนั้น มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในเขตนั้นโดยตรง พนักงานอัยการเอง จึงมีหน้าที่รับผิดชอบต่อเสียงมหาชนด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของการดำเนินคดีอาญานั้น พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานใกล้ชิดกัน แต่อัยการจะทำหน้าที่ในลักษณะที่เป็นที่ปรึกษาในคดีอาญาที่มีความสำคัญและร้ายแรง (Serious Crime) เช่น คดียาเสพติด คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการทำงานในลักษณะที่เรียกว่า “เคียงบ่าเคียงไหล่” ตามนโยบายแห่งรัฐในการต่อสู้กับอาชญากรรม

ในการสืบสวนคดีอาญาทั่วไป ... ในกรณีทั่ว ๆ ไปแล้ว พนักงานอัยการ จะไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องการดำเนินการสอบสวนคดีอาญาของฝ่ายตำรวจ เว้นแต่ฝ่ายตำรวจจะร้องขอความช่วยเหลือในลักษณะให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ แนวคิดนี้ ต่างจากประเทศไทยมาก เพราะสังคมไทยได้เห็นตัวอย่างว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะดำเนินคดีไม่ตรงและแสวงหาประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จะต้องมีองค์กรเข้ามาควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินคดี ทางหนึ่งที่ คือ การให้พนักงานอัยการเข้ามาควบคุมตำรวจ

ปัญหาหลักที่ตามมา คือ ไม่ว่า ใครจะเป็นผู้สอบสวนฯ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานอัยการหรือพนักงานตำรวจ ก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่าจะทำให้การดำเนินคดีเที่ยงตรงยิ่งขึ้น และถ้าหากฝ่ายพนักงานอัยการซึ่งปัจจุบันก็สามารถสั่งการให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสิ่งต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว ร่วมหัวจมท้ายกับตำรวจแล้ว ความเสียหายก็จะยิ่งมากมายยิ่งขึ้น

ในปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีระบบการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของตำรวจและอัยการที่ดีพอสมควร ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ ที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทำการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจทั้งของตำรวจและอัยการในต่างจังหวัด กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ในกรณีที่คดีเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพฯ หรือ หากเป็นคดีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯน ก็ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (โดยกองคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งเป็นองค์กรที่กลาง แยกจากตำรวจตามสถานีตำรวจฯ ในกรุงเทพฯ ทำการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการได้

อย่างไรก็ตาม ระบบที่ดี ก็จะต้องมีบุคคลที่มีประสิทธิภาพและมีจริยธรรมสูงในการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบัน ผู้ว่าฯ ท่านไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมาย เรื่องประเด็นการตรวจสอบและโต้แย้งพนักงานอัยการ จึงกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ส่วนในกรุงเทพฯ มีระบบการตรวจสอบที่รัดกุมพอสมควร และผมเชื่อว่า ดีกว่าในต่างจังหวัด แต่ก็ยังสิ่งที่ควรแก้ไขอีกมาก

ในประเทศสหรัฐนั้น พนักงานอัยการมีอำนาจดุลพินิจที่ค่อนข้างเด็ดขาด พนักงานอัยการสามารถยุติการฟ้องคดีผู้ต้องหาได้ตามที่เห็นควร สามารถต่อรองข้อหาและคำรับสารภาพของผู้ต้องหา โดยให้ผู้ต้องหารับสารภาพในข้อหาใด ข้อหาหนึ่ง เพื่อแลกการกับการไม่ฟ้องข้อหาบางข้อหา

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังมีอำนาจตามกฎหมาย บังคับให้ผู้ต้องสงสัยให้การได้ แต่ไม่อาจจะนำคำให้การนั้นมาเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีได้ ไม่มีระบบการตรวจสอบโดยองค์กรตำรวจ และผู้เสียหายในคดีอาญา ก็ไม่อาจฟ้องคดีได้เองด้วย ศาลเองก็จำกัดบทบาทในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจอัยการเป็นอย่างยิ่ง โดยศาลจะเข้ามาตรวจการใช้ดุลพินิจอัยการ เมื่อมีฝ่ายผู้คัดค้าน สามารถนำเสนอหลักฐานที่แจ้งว่า พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ โดยอาศัยเชื้อชาติ ผิวพรรณ และแนวคิดทางศาสนามาเป็นหลักในการสั่งคดี กล่าวคือ ผู้โต้แย้งคัดค้าน ต้องอ้างว่า สิทธิของตนที่ได้รับการคุ้มครอง ภายใต้หลักการ Equal Protection และ Due Process แห่ง Fourteenth Amendment and Fourth Amendment to the U.S. Constitution ถูกละเมิดโดยพนักงานอัยการ และต้องแสดงหลักฐานอย่างแจ้งชัดต่อศาล ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเลย




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 7:44:21 น.
Counter : 5049 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.