*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
ถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน........... ฝ่ายเสื้อแดง ทำไม่ได้จริงหรือ .....

ช่วงนี้ คงจะมีข่าวเยอะแยะ โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาล และ มีนักวิชาการ (ฝ่ายเสื้อเหลืองและรัฐบาลพี่มาร์ค) ออกมาตีโพยตีพาย คัดค้าน การถวายฎีกาของฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับเรียกว่า "พวกหางแดง" ซึ่งที่จริงผมก็ไม่ทราบว่า ใครมีหางสีแดงกันบ้างแน่ .....

ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงผู้คัดค้าน ก็อ้าง การถวายฎีกาในลักษณะเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่สามารถกระทำได้ ... เพราะมีกฎหมายเขียนไว้ในลักษณะที่ว่า ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเสนอเรื่องไปตามสายการบังคับบัญชา ยันรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พร้อมความเห็นเสนอว่าควรจะดำเนินการอย่างไร แต่ท้ายที่สุดก็เป็นพระราชอำนาจที่จะให้พระราชทานความเมตตา ซึ่งกรณีนี้ ก็สอดคล้องกับแนวคิดของประเทศต่าง ๆ เช่นในสหรัฐอเมริกา ก็ให้อำนาจแก่ผู้ว่าการรัฐ และ ประธานาธิบดี ที่จะให้อภัย (Mercy) ซึ่งก็แล้วแต่จะเห็นสมควร

ถามว่าจะต้องได้รับโทษก่อนหรือไม่ ความจริง ก็หาจำเป็นไม่ที่จะต้องได้รับโทษก่อนเสมอไป มีหลายกรณี ที่เราไม่สามารถจะลงโทษทางอาญาแก่ผู้นั้นก่อนได้ เช่น กรณีต้องโทษประหารชีวิต หากจะได้รับโทษก่อน คือ ต้องเอาไปทำให้ตายก่อน แล้วจึงจะมาถวายฎีกาต่อไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ดังนั้น ข้อโต้แย้งหรือข้อเถียงว่า ถ้าจะถวายฎีกา จะต้องได้รับโทษก่อน จึงเป็นเรื่องไร้สาระ รับฟังไม่ได้ มีอีกหลายกรณี ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษเสียก่อน ในช่วงที่ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ (ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๖) ได้สั่งห้ามนำนิตยสารฉบับหนึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะมีบทความวิพากษ์วิจารณ์ ราชสำนัก อันเข้า ป.อาญา มาตรา ๑๑๒ แต่ท่านได้โฆษณาเนื้อความในหนังสือนั้น ซึ่งเข้าหลักการตามกฎหมายทั่วไปว่า ถ้าจะกำหนดมาตรการทางปกครอง คือ สั่งห้าม อันกระทบสิทธิของผู้นำเข้า ก็จะต้องระบุสาเหตุว่าเพระอะไร แต่ในทางกฎหมายหมิ่นประมาท การลงโฆษณาถ้อยคำซ้ำ ก็คือ การหมิ่นประมาทเสียเอง

ท่านจึงได้ถูกสั่งปลดจากการเป็นอธิบดีกรมตำรวจ แล้วถูกดำเนินคดีซ้ำ โดย พล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ ท่านผู้นำในสมัยนั้น แต่ก่อนที่จะถูกดำเนินคดี ทางสำนักพระราชวัง ก็แจ้งกลับมาก่อนว่า ได้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯลฯ ได้พระราชทานอภัยโทษให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนักวิชาการ ได้อ้างว่าจะต้องมีการลงโทษจริง ๆ เสียก่อน จึงจะสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ จึงเป็นเรื่องโกหก หรือ ไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด




นอกจากนี้ การถวายฎีกา ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับโทษทางอาญาแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จาก โบราณราชประเพณี ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง มีการแขวนกระดิ่งไว้หน้าวัง เพื่อให้ประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก ไปร้องขอความเป็นธรรม หรือ ขอความเมตตา จากพ่อขุนราม โดยไม่ต้องมีโทษทัณฑ์ทางอาญาใด ๆ เกิดขึ้นก่อนเลย

ในสมัย ร.๖ ก็ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการร้องทุกข์ขอความเมตตาไว้เช่นเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงโทษหรือถูกดำเนินคดีอาญาใด ๆ เพราะการร้องทุกข์ อาจจะเป็นเรื่องการขอความเมตตาในทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางปกครอง หรือ ทางแพ่ง

ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็ได้รับรองพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัวที่จะพระราชทานความเมตตาได้ทุกกรณี ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับโทษทางอาญา และถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางอาญา ก็ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษอาญาใด ๆ เลย ซึ่งเท่ากับ รัฐธรรมนูญ ฉบับ ๕๐ นี้ เป็นทั้งการรับรองโบราณราชประเพณีเดิม และ ยังรับรองพระราชอำนาจในการพระราชทานความเมตตาตามการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ยอมรับว่า ประมุขของประเทศ สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง และให้ความเมตตากรุณาแก่ประชาชนในประเทศนั้น ๆ ได้






ดังนั้น ข้ออ้างข้อเถียงของรัฐบาล หรือ นักวิชาการ ฝ่ายเสื้อเหลือง หรือ ฝ่ายรัฐบาลที่อ้างต่าง ๆ นานาว่า ฝ่ายเสื้อแดงกระทำการถวายฎีกา ไม่อาจจกระทำได้นั้น จึงถือได้ว่า รัฐบาลและกลุ่มนักวิชาการนั้น ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เสียเอง ..... หากรัฐบาลต้องการจะจำกัดอำนาจประมุข หรือ จำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์จริง ๆ ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรม ไม่ใช่ หลอกลวงประชาชน ทำให้คนเข้าใจผิด และบิดเบือนหลักการ หรือ เสนอหลักการที่จริงเพียงบางส่วน ไม่เสนอข้อมูลทั้งหมด อันเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ...







อย่างไรก็ตาม ผมเห็นด้วยกับ อาจารย์ธงทองฯ กระบวนการทางการเมือง ควรจะแก้ไขด้วยกระบวนการทางการเมือง ไม่ใช่ใช้วิธีการที่ผิด ซึ่งไม่ใช่แต่การถวายฎีกา แต่รวมถึงการกระทำการทั้งหลาย ที่มีการดึงฟ้าลงมาต่ำ เช่น ตั้งแต่สมัยระดมพลมาต่อต้านรัฐบาล โดยอ้างว่า เรารักในหลวง เราจะทำเพื่อในหลวง ฯลฯ เหล่านี้ ก็เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องด้วย เป็นการดึงฟ้าลงมาต่ำ .... ไม่ผิดเพี้ยนกันเลย





สำหรับ พรฎ. เกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ ตั้งแต่สมัย ร.๖ (ซึ่งแท้จริง คือ พระราชบัญญัติในปัจจุบัน ) เนื้อความมี ดังนี้


มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา วชิรวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยได้ทรงสังเกตเห็นมาว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ หรือขอพระราชทานพระมหากรุณาบารมีในกิจต่างๆ ตามที่กระทำกันอยู่ในเวลาที่แล้วมายังหาเปนระเบียบเรียบร้อยดีไม่ เพราะความไม่เข้าใจระเบียบแบบแผนอันควรที่จะประพฤตินั้นและเปนเหตุ

การที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าแผ่นดินทุกชั้นได้มีโอกาศทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงให้นั้น ก็เหมือนทรงประกาศพระราชประสงค์ให้ปรากฏชัดเจนว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งกุลบิตรของชาวไทย มีพระราชหฤทัยปราถนาที่จะระงับทุกข์ผดุงศุขแห่งประชาชนอยู่เปนนิจ และจะได้มีพระราชประสงค์ที่จะลดหย่อนพระมหากรุณาคุณข้อนี้ก็หามิได้ แต่เปนการสมควรอยู่เหมือนที่ข้าแผ่นดินจะเข้าใจว่า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งต้องทรงปฏิบัติ หรือทรงพระราชดำริห์และทรงแนะนำผู้ที่รับราชการในตำแหน่งน่าที่ต่างๆ อยู่เปนเนืองนิจ จะได้ประทับ อ.ว่างเปล่าก็หามิได้ และถ้าแม้จะต้องทรงเปนพระราชธุระโดยพระองค์เองในการวินิจฉัยฎีกาทุกฉบับที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็จะหาเวลาทรงพระราชดำริห์ในราชกิจพแนกอื่นๆ ไม่ได้เลย จึงมีความจำเปนที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการศาลฎีกาไว้เปนผู้พิจารณาอรรถคดีเปนศาลอุทธรณชั้นสูงสุด เพื่อแบ่งพระราชภาระส่วน 1

ถึงกระนั้นก็ดี การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงจะได้ทรงห้ามปรามหรือตัดรอนเสียทีเดียวนั้นก็หามิได้ ยังทรงพระกรุณารับฎีกาของข้าแผ่นดินอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ นับว่าเปนพระมหากรุณาอันควรที่จะรู้สึกอยู่ทั่วหน้ากัน แต่บางคนก็ยังเข้าใจผิดคิดเห็นไปว่า การที่ยังทรงรับฎีกาอยู่นั้น แปลว่าทรงรับอุทธรณจากศาลฎีกาอีกชั้น 1 จึงได้มีผู้ถวายฎีกาคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่เนืองๆ ทำให้เปลืองเวลาเปนอันมากส่วน 1 กับอิกประการ 1 มีบุคคลบางคนซึ่งไม่รู้จักกาละเทศะ เที่ยวตักถวายฎีกาในเวลาและที่อันไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวงนั้นอยู่เนืองๆ

เหตุฉนี้วิ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกา กำหนดระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณอย่างใดอย่าง 1 ดังต่อไปนี้คือ

1.ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไป ได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้นๆ)

2.ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง

3.กล่าวโทษเจ้าน่าที่ ผู้ใช้อำนาจนอกเหนือที่สมควรแก่น่าที่ราชการซึ่งตนปฏิบัติอยู่ หรือใช้อำนาจนั้นโดยอาการอันรุนแรงเกินเหตุ จนทำให้ข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน

4.กล่าวโทษเจ้าน่าที่ ผู้ประพฤติทุจริตในน่าที่ มีการใช้อำนาจทางราชการเพื่อกดขี่ข่มเหง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงเปนต้น

ข้อ 2 บรรดาที่ฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องมีนามและตำแหน่งและสถานที่อยู่ของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น ปรากฏอยู่ในฎีกา เพื่อเจ้าน่าที่จะได้พบตัวผู้ถวายฎีกาได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเนิ่นเกินกว่าที่จำเป็น (บัตรสนเท่ห์ไม่ทรงรับพิจารณาเปนอันขาด)

ข้อ 3 ถ้าแม้ว่าฎีกานั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตนเอง ให้ปฏิบัติเปนระเบียบดังต่อไปนี้

1.ถ้าเปนข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ในวันที่เสด็จออกขุนนาง และให้พูดจาตกลงกับเจ้าพนักงานกระทรวงวังว่าจะให้คอยเฝ้าในแห่งใด จึงจะเปนที่เหมาะที่สุดสำหรับก็จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระหัตถ์ได้ หรือถ้าเปนการด่วนแต่ไม่มีโอกาศเหมาะที่จะทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จะนำฎีกานั้นไปส่ง ณ ที่ทำการราชเลขานุการเองทีเดียวก็ได้

2.ถ้ามิใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ก็ให้ไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายที่น่าพระลานสวนดุสิต ถ้าประทับอยู่สวนดุสิตหรือที่ถนนน่าพระลานริมประตูวิเศษไชยศรี ถ้าประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีนายตำรวจไปยืนคอยอยู่เพื่อรับฎีกาในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านไป หรือถ้าเปนการด่วนจะรอมิได้ ก็ให้นำฎีกาไปส่งยังทีมดาบกรมพระตำรวจทีเดียวก็ได้

3.ถ้าเปนเวลาเสด็จเลียบมณฑลหัวเมือง หรือประทับอยู่ในพระราชสำนักในหัวเมือง ผู้ที่เปนข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตนเอง ก็ให้พูดจานัดหมายกับเจ้าพนักงานกระทรวงวังเพื่อนำเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในโอากสอันเหมาะ หรือถ้าใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ก็ให้ถามที่กรมพระตำรวจเพื่อนัดหมายไปรับฎีกาต่อน่าพระที่นั่ง หรือจะส่งกรมพระตำรวจทีเดียวก็ได้

ข้อ 4 ถ้าผู้ใดมีความปราถนาที่จะส่งฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายโดยทางไปรสนีย์ ให้สอดฎีกาในซองสลักหลังว่า ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย ซองนั้นต้องเปิดผนึกไว้ แต่ให้สอดลงในซองอีกชั้น 1 สลักหลังซองถึงราชเลชานุการ ซองชั้นนอกนี้ให้ปิดผนึกและปิดตัวตราไปรสนีย์ตามระเบียบการส่งหนังสือทางไปรสนีย์

ข้อ 5 ถ้าผู้ใดจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยวิธีอันผิดระเบียบซึ่งกล่าวมาแล้วในข้อ 3 นั้น ถ้าเปนที่ภายในเขตรพระราชฐานให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกระทรวงวัง และกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติให้ถูกระเบียบ และถ้าจำเปนก็ให้ห้ามปราบเสีย อย่าให้เปนที่ขุ่นเคืองหรือรำคาญใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้

ถ้าเปนที่ภายนอกพระราชฐาน ให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกองอารักษา คือกรมกองตระเวน (ในกรุง) และกรมตำรวจภูธร (ในหัวเมือง) ว่ากล่าวแลห้ามปรามดังกล่าวมาแล้ว

อนึ่ง ถ้าพะเอินเปนเวลาเจ้าน่าที่ มิทันที่จะว่ากล่าวห้ามปราม ผู้ถวายฎีกาได้เข้าไปยื่นฎีกาเสียแล้วฉนี้ไซร้ ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนั้น ต้องให้ถวายใหม่ให้ถูกต้องถามระเบียบจึงค่อยรับ

ให้เปนน่าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้จงทุกประการ และให้เจ้าน่าที่ต่างๆ ซึ่งได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติกิจการตามน่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันสืบไป

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานมา ณ วันที่ 5 มกราคม พระพุทธศักราช 2457 เปนวันที่ 1517 ในรัชกาลปักยุบันนี้






ความเห็นของ อ.ธงทองฯ ในบทความเรื่อง การถวายฎีกาไม่ใช่ศาลที่ 4 ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับนพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 มี ดังนี้




นาย ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวในการจัดเวทีปาฐกถาวิชาการเรื่อง “ฎีกาในประวัติศาสตร์ไทย”ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ฎีกาเป็นคำมหัศจรรย์คำหนึ่งในภาษาไทย เพราะมีความหมายในหลายด้าน ซึ่งเป็นหนังสือที่ยื่นเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ มีสองประเภท คือ ขอพระราชทานอภัยโทษ และร้องทุกข์ ในประวัติศาสตร์ไทยการถวายฎีกามีความหมายยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีการแปรเปลี่ยนขั้นตอนการถวายฎีกาตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ฎีกาจะเป็นการร้องทุกข์ของประชาชน

นายธงทอง ยังกล่าวด้วยว่า ฎีกาไม่ใช่ศาลชั้นที่สี่ และไม่ใช่การคัดค้านคำพิพากษาของศาล ซึ่งกรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับเรื่องฎีการวบรวมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรวบรวมความเห็นถวายประกอบ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า การเมืองควรแก้ปัญหาด้วยการเมือง การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้พระราชอำนาจต้องตรึกตรองโดยรอบคอบ ดังนั้น พยายามอย่าให้ท่านเกี่ยวข้องกับการเมืองจะเป็นเรื่องที่งดงามมากกว่า.

Source: //www.posttoday.com/breakingnews.php?id=59172




คราวนี้ ลองดูความเห็นที่แตกต่างจากผู้เขียน ... ซึ่งผู้เขียนยังไม่คล้อยตามกับท่าน ดังนี้




วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 20:42:58 น. มติชนออนไลน์


การใช้สิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณี

โดย..ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต


ความนำ



การโฆษณาชักชวนประชาชนให้ร่วมกันเข้าชื่อทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านนั้น มีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์และเชิญผู้เขียนบทความนี้ไปออกรายการโทรทัศน์ วิทยุหลายรายการ แต่ผู้เขียนตอบปฏิเสธ เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงกาละอันสมควร


บัดนี้ อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้สนับสนุนฎีกาดังกล่าว อ้างความเห็นผู้เขียนซึ่งเขียนไว้ในสารานุกรมไทยฉบับกาญจนาภิเษก เรื่อง “พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” (หน้า ๒๖๐-๒๖๕) ซึ่งว่าด้วยพระราชอำนาจตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้อ้างหยิบข้อความเพียงบางตอน (ดูหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๔ , หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันเดียวกัน หน้า ๑๓) ที่ตนเห็นว่าจะให้ประโยชน์แก่ตนมาอ้าง ไม่ได้อ้างข้อความทั้งหมด ซึ่งถ้าอ่านทั้งหมดแล้ว ก็จะเข้าใจว่าฎีกาที่กำลัง “ล่ารายชื่อ” นี้ ถูกหรือผิดกฎหมาย ดังนั้น ถึงกาละอันควรที่ผู้เขียนจะได้อธิบายหลักกฎหมาย นิติประเพณี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนเสียที โดยมุ่งหวังให้เป็นบทความวิชาการที่แสดง “สัจจะ” ของหลักวิชา


สิทธิของประชาชนในการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาตามนิติราชประเพณี


เมื่อพูดถึง “สิทธิ” (right) ตามหลักนิติศาสตร์ถือว่า คือ “ผลประโยชน์ (interest) ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง” จุดสำคัญก็คือ จะเป็น “สิทธิ” ได้ ต้องมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองกฎหมายนั้น จะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายรับรองก็ไม่เรียกว่าสิทธิ และสิทธิจะต้องก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่น เช่น ราษฎรมีสิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา รัฐบาลและราชเลขาธิการก็ต้องมีหน้าที่นำฎีกาขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย แต่ถ้าไม่ใช่สิทธิ ก็ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องทำให้ สมดังสิทธิ


หลักการของการ “มี” สิทธิ และ “ใช้” สิทธิที่สำคัญอีก ๓ ประการ ก็คือ


๑.การใช้สิทธิต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายวางไว้ เช่น ใครใช้สิทธิได้ ใช้สิทธิเมื่อใดจึงจะอยู่ในเวลากำหนดไม่ขาดอายุความ ฯลฯ


๒.การใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริต การใช้สิทธิโดยมุ่งแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กฎหมายถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (มาตรา ๔๒๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)


๓.หากมีผู้มาขัดขวาง หรือทำให้ผู้มีสิทธิเสียหาย ต้องสามารถฟ้องร้องต่อศาลที่อิสระ เพื่อให้คุ้มครองและเยียวยาให้ความเสียหายยุติลง


ดังนั้น การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่องใด ๆ จะเป็น “สิทธิ” ของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องยึดหลักข้างต้นนี้เช่นกัน


สิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง



สิทธิราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา เป็นสิ่งที่ควบคู่กับการปกครองของไทยนับตั้งแต่สมัยที่สุโขทัยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองที่เรียกว่า “พ่อปกครองลูก” สมัยนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองแผ่นดิน เพื่อร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม โดยมีสิทธิที่จะไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าพระราชวังได้ และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงได้ยินก็จะเสด็จออกมาตรัสถามถึง ความเดือดร้อนนั้นโดยตรง ดังความในศิลาจารึกว่า “...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้นไพร่ฟ้าหน้าปกกลางเมืองมันจักกล่าวถึงเจ้าขุนบ่ไร้ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้ายซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม...” สิทธิในการร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมนี้เป็นที่มาขอประเพณีถวายฎีการ้องทุกข์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในสมัยต่อมา


ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ประเพณีตีกลองร้องฎีกา คือราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา สามารถไปตีกลอง “วินิจฉัยเภรี” เพื่อถวายเรื่องต่อพระองค์ หรือผู้ที่ได้ทรงมอบหมายได้ โดยถ้าฎีกาเป็นความจริงก็พระราชทานเงินให้ ๑ สลึงก่อน ถ้าชำระความเสร็จก็พระราชทานให้อีก ๑ สลึง ทรงเอาพระทัยใส่ฎีกา จนแม้ใกล้เสด็จสวรรคตก็รับสั่งให้พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อไปถือเป็นพระราช ธุระสำคัญ


นอกจากนั้นทรงออกประกาศกำหนดรูปแบบและวิธีการถวายฎีกาหลายประการเป็นรากฐานสำคัญมาในปัจจุบัน อาทิ ประกาศฉบับที่ ๒๔ เรื่องถวายฎีกา ซึ่งทรงกำชับให้ข้าราชการอำนวยความสะดวกให้ราษฎร รวมทั้งวางระเบียบการถวายฎีกา เรื่องต่าง ๆ และทรงเอาผิดต่อผู้ร้องฎีกาเท็จ ประกาศฉบับที่ ๔๑ , ๔๓ , ๘๑ , ๑๒๘ , ๑๕๓ และอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับที่ ๑๕๓ มีความว่า “...ผู้ใดจะทำเรื่องถวายฎีกาว่าด้วยเหตุใดก็ดี ก็ให้ลงชื่อเป็นลายมือของตัว...” หรือฉบับที่ ๑๒๘ มีความตอนหนึ่งว่า “... แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโสแลถ้าฟ้องว่าด่าคำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง...” หากเขียนลงไป “...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการจะฟังไม่เปนอันยกความ...” (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาวิชิตชลธี จากหนังสือพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ,หน้า ๓๒๖)


ครั้นมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีการปรับธรรมเนียมการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาอีก คือ ฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลภายหลังการปฏิรูปการศาลแล้ว โปรดเกล้า ฯ ให้ร้องทุกข์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหลวงได้ โดยทรงแต่งตั้งคณะกรรมการองคมนตรีฎีกาขึ้นพิจารณา แต่ธรรมเนียมการคัดค้านคำพิพากษาของศาลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ , เล่ม ๓๑ , หน้า ๔๘๖) ทรงห้ามมิให้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอีกต่อไป อนึ่ง พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และต้องหยิบยกมาวินิจฉัยกรณีฎีกาล้านชื่อที่กำลังทำอยู่ด้วย



ใครที่อยากศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาโดยละเอียดโปรดศึกษาใน วรรธนวรรณ ประพัฒน์ทอง , พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์ , วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๔๐ , ๒๙๗ หน้า ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์


สิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาของประชาชนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง


เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ แล้ว ก็มีการออกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี ๒๔๗๘ กำหนดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษไว้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในภาค ๗ ว่าด้วยอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษโดยอยู่ในมาตรา ๒๕๙ ถึงมาตรา ๒๖๗ โดยเฉพาะมาตราสำคัญ ๓ มาตรา ดังนี้

“มาตรา ๒๕๙ ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุด ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้


มาตรา ๒๖๐ ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือ ผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


มาตรา ๒๖๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่


ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้”


พึงสังเกตว่ากฎหมายกำหนดตัวผู้มีสิทธิยื่นฎีกา คือผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องอันได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ญาติพี่น้อง (มาตรา ๒๕๙) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจถวายคำแนะนำให้พระราชทานอภัยโทษก็ได้ (มาตรา ๒๖๑ วรรคสอง)


สถานที่ที่จะยื่นฎีกา ต้องยื่นที่เรือนจำ หรือ กระทรวงยุติธรรม (มาตรา ๒๖๐และประกาศว่าด้วยผู้ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ร.ศ. ๑๑๖ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา , ๑๒ กันยายน ร.ศ.๑๑๒ หน้า ๓๑๔-๓๑๕ )


ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (มาตรา ๒๖๐ วรรคแรก)


ที่สำคัญที่สุดก็คือฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอื่นทำไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรค ๒ที่ว่า “คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้วคู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่” ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและประกาศใช้บังคับ เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗ ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ข้อ ๑ (๑) ที่ว่า “ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใด ๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไปได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้น)”


สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาในปัจจุบัน


ในปัจจุบัน สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาย่อมเป็นไปนิติราชประเพณีเดิมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และตามกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ



๑.ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา ๒๕๙-๒๖๗



๒.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรคสอง



๓.พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน


ถ้าแยกเป็นประเภทฎีกาที่จะทูลเกล้า ฯ ถวาย ก็มี ๒ ประเภทคือ


๑.ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ


๒.ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมหรือที่เรียกว่าฎีการ้องทุกข์


ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย



ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย ๓ ฉบับ และนิติประเพณีดังกล่าวข้างต้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีผู้ใช้สิทธิผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็ไม่มีสิทธิแต่ประการใด


ถ้าดูฎีกาล้านชื่อที่แกนนำกำลังดำเนินการโฆษณาให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าร่วมลงชื่อ โดยอ้างว่าได้จำนวนหลายล้านคนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าฎีกานี้มีปัญหาว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้



๑. ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต้องยื่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติพี่น้อง แต่กลุ่มแกนนำดังกล่าวของขบวนการนี้ ไม่ได้มีฐานะใดฐานะหนึ่งดังกล่าวเลย


๒. นอกจากนั้น การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๒๓ วรรคสอง และพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑ (๑) แต่เนื้อความในฎีกาฉบับนี้ในข้อ ๒ ที่ว่า“....ใช้กฎหมายที่ไม่ต้องด้วยหลักนิติธรรมดำเนินคดี...”


ในข้อ ๓ ที่ว่า “การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙..... ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จนนักกฎหมายผู้เคารพต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจาก ปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบันนี้ ประเทศเรามีปัญหาด้านนิติรัฐและนิติธรรม เป็นที่น่าอับอายแก่นานาอารยประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าและชาวบ้านทั่วไปต่างรู้ซาบซึ้งดีว่าการใช้กฎหมายสองมาตรฐานกับคนสองพวก การไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาคเป็นวิธีการที่อนารยะ เป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้........” (เนื้อความฎีกาอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ จะผิดถูก จึงขึ้นอยู่กับแหล่งที่ผู้เขียนอ้างอิง) ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตลอดเวลาว่า ไม่ได้รับความยุติธรรม และตนเองไม่มีความผิดใดๆ


รวมทั้งแกนนำก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะ “เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกกลไกที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายปฏิปักษ์กลั่นแกล้ง” (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ หน้า ๑๕) ซึ่งเป็นคำสัมภาษณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาลฎีกา เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ พิพากษาถึงที่สุดว่า ท่านผู้นั้นกระทำความผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ก็พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การโต้แย้งดังกล่าวนี้ วิญญูชนผู้มีจิตใจเที่ยงธรรมย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ โดยตรงซึ่งขัดต่อกฎหมาย ๒ ฉบับ ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง


๓. สถานที่ที่จะยื่นฎีกาก็มีปัญหาอีก เพราะกฎหมายกำหนดสถานที่ที่จะยื่นฎีกาคือ เรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการ ตามที่แกนนำให้สัมภาษณ์นั้น “ถือเป็นการยื่นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย” (ดู เพ็ญจันทร์ โชติบาล , พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย , วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ๒๕๓๓ หน้า ๒๓๐) หากไปยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำความเห็นกราบบังคมทูลขึ้นไปก่อน


๔. แกนนำผู้ทำฎีกานี้ อาจอ้างว่าฎีกาของตนไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ดังที่แกนนำบางคนที่เป็นนักกฎหมายอาวุโสอธิบาย แต่เมื่ออ่านคำขอรับพระมหากรุณาตอนท้ายฎีกาที่ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจึงกราบบังคมทูลถวายฎีกามาเพื่อทรงพระกรุณาอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก ๒ ปี นั้นเสีย เพื่อจักได้อิสรภาพกลับมาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทำประโยชน์ต่อแผ่นดิน อย่างน้อยก็เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของปวงข้าพระพุทธเจ้า ผู้ยังเชื่อมั่นและศรัทธาในความสามารถของเขา” วิญญูชนก็ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นฎีกาที่มุ่งหวังการขอพระราชทานอภัยโทษอย่างแท้จริง


จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าฎีกาดังกล่าวหากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายถึง ๓ ฉบับ การใช้สิทธิที่มิได้เป็นไปตามกฎหมายไม่มีประเทศใดในโลก ถือว่าถูกต้อง ถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องดำเนินการ ดังนี้ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตรธิดา หรือญาติพี่น้องต้องยื่นเอง และต้องยื่นที่กระทรวงยุติธรรม โดยขอพระราชทานอภัยโทษตรง ๆ ไม่ต้องพรรณนาความโต้แย้งให้เข้าใจว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ฯ ที่พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม หรือ “เป็นการไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาค เป็นวิธีการอนารยะ” ข้อความทำนองนี้ต้องเอาออกให้หมด ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำเช่นนี้ก็จะเป็นการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี ที่ไม่มีใครมาขวางได้ !


ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม (ฎีการ้องทุกข์) ที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมาย


ฎีกาประเภทนี้ ประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถทูลเกล้า ฯ ถวายได้ไม่ว่าเป็นทุกข์ร้อน ขอพระมหากรุณาให้ทรงช่วยเหลือหรือทรงแก้ทุกข์ให้ เช่น ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ขอพระราชทานแหล่งน้ำ หรือส่วนราชการอาจกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น ฎีกาประเภทนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ ข้อ ๑ (๒) กำหนดว่า “บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ
..........................


๒.ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจการส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง” กล่าวอีกนัย ก็คือการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ประเภทนี้ ต้องขอโดยผู้มีทุกข์และขอในกิจการส่วนตัวของผู้นั้นเอง ฎีการ้องทุกข์ประเภทนี้จะทูลเกล้า ฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการ หรือทูลเกล้า ฯ ต่อพระองค์เอง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้แต่ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา


ที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพราะก่อนนำความกราบบังคมทูล เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องติดต่อ เจ้าตัวผู้มีทุกข์เพื่อขอทราบข้อมูลรายละเอียด อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เข้าทำนองมีคนป่วยไม่สบาย จะฝากให้คนอื่นมาหาหมอแล้วเล่าอาการให้หมอฟัง คงไม่มีหมอคนไหนรับรักษา เพราะถ้าจะรักษาก็ต้องตรวจคนไข้ แต่กลับไม่มีคนไข้ มีแต่คนกลาง!


แต่ฎีกานี้ คนมีทุกข์ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ยื่นเอง แต่มีผู้หวังดีเป็นแกนนำประชาชนชักชวนให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาร่วมเข้าชื่อกับตนเพื่อทูลเกล้า ฯ ถวายแทนผู้มีทุกข์ ก็ดูจะแปลก ที่ผู้มีทุกข์กลับเฉย ๆ แต่คนอื่นทุกข์แทน



ครั้นจะอ้างว่าคราวนี้ทุกข์เป็นทุกข์ของผู้ยื่น ก็แปลกอีก เพราะทุกข์แทนกันได้ และที่สำคัญเมื่อไปสอบถามผู้ยื่น ผู้ยื่นแต่ละคนก็คงจะอธิบายทุกข์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจไม่เหมือนกับทุกข์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นได้ ที่สำคัญก็คือท้ายที่สุดก็จะพบว่าผู้ยื่นไม่ใช่ผู้มีทุกข์จริงแต่เข้าทำนองทุกข์แทน เหมือนคนกลางไปหาหมอเล่าอาการของผู้ป่วยให้ฟัง แต่คนกลางก็ไม่ใช่ผู้ป่วยอยู่วันยังค่ำ !


ฎีกานี้จึงไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาแม้แต่น้อย !


ยิ่งกว่านั้น ฎีกานี้ก็ยังมีข้อความไม่เหมาะสมหลายประการ อาทิ “ระบอบเผด็จการทหารที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หรือกล่าวตู่พระบรมราชวินิจฉัยว่า “ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีสายพระเนตรยาวไกล คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป” อันแสดงในตัวว่า หากทรงยกฎีกาหรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยก็เป็นการปล่อยให้ประชาชนระทมทุกข์ เมื่อจะให้ประชาชนพ้นทุกข์ก็ต้องทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นการตู่พระบรมราชวินิจฉัย ไม่ปล่อยให้การเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอันกอปรด้วยทศพิธราชธรรม


ถ้อยคำสองแง่สองง่ามนี้รวมทั้งถ้อยคำประณามระบบยุติธรรมไทยข้างต้น หากดูตามนิติประเพณีในประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๑๒๘ ก็ต้องห้ามตามประกาศดังกล่าวที่ว่า “...แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโส และถ้าฟ้องว่าด่า คำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง...”


หากมีความดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า “...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการฟังไม่ ก็เป็นอันยกความ...” (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว , หน้า ๓๒๖)


ดังนั้น ไม่ว่าพิจารณาในแง่ใดฎีกานี้ก็ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี



การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง


เมื่อฎีกาล้านชื่อที่ทำอยู่มิได้เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับข้างต้น แม้จะมีคนลงชื่อ ๒๐ ล้านคน ก็ไม่ทำให้ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการมีสิทธิและการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณคน

แม้ลงชื่อในฎีกาคนเดียวถ้าถูกกฎหมาย ก็ไม่มีใครบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ถูกต้องเพียงคนเดียวก็พอ แล้วมีคนมาขัดขวาง ผู้เขียนพร้อมจะอธิบายให้สังคมฟังว่า เป็นสิทธิของเขา ขัดขวางไม่ได้

มีปัญหาว่า แล้วเหตุใดแกนนำจึงเน้นจำนวนคนทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะมีนักกฎหมายอยู่หลายคน จะอ้างว่าไม่รู้คงลำบาก !


คำตอบก็คือ ฎีกานี้ไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาการเมือง ดังที่คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สรุปไว้อย่างดี และผู้เขียนเห็นด้วย จึงขอนำข้อความมาอ้างไว้ ดังนี้



ฎีกานี้จึงเป็นฎีกาการเมือง โดยกระบวนการทำ โดยเป้าหมาย เนื้อหาและผลกระทบ ดังนี้


ก. การโฆษณารวบรวมรายชื่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ลงชื่อในฎีกาได้นับล้านคน เป็นกระบวนการสร้างกระแสกดดันพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งยังหวังผลในการวัดความนิยมทางการเมืองต่อตัวอดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่สนับสนุน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดุจนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องต่อรอง


อนึ่ง การรวบรวมรายชื่อคนจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาอาจมีแล้วในอดีต แต่ก็นับว่าเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรอ้างการกระทำดังกล่าวเป็นแบบอย่างการกระทำในครั้งนี้


ข. เป้าหมายของฎีกานี้มีขึ้นเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ หากมีพระบรมราชวินิจฉัยยกฎีกา หรือไม่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประการใด ผู้เป็นแกนนำก็คงทราบดีว่า จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากที่เข้าชื่อ อันเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนพรรค หากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับคณะก็จะได้ประโยชน์ทางกฎหมายและทางการเมืองอีก



ค. เนื้อความในฎีกามีความไม่เหมาะสมหลายประการ ............



ง. เคยปรากฏข้อความวีดีโอลิงค์ในหลายเวทีรวมทั้งในวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 มาแล้วว่า “หากได้รับพระเมตตา ก็จะกลับมารับใช้ประเทศชาติ” การกระทำดังกล่าวของแกนนำหลายจึงน่าวิตกว่าจะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา ดังนี้



(๑) ฎีกานี้สร้างแบบอย่างผิด ๆ ทางการเมืองว่า ถ้าหวังผลสำเร็จ ต้องรวบรวมรายชื่อจำนวนมากทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาให้ได้ยิ่งมากยิ่งดี



(๒) ฎีกานี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง และไม่อาจมีพระบรมราชวินิจฉัยทางการเมืองได้ ให้ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งยังนำประชาชนจำนวนมากให้เข้ามาสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่าย



ที่สำคัญคือการใช้จำนวนคนมาเป็นปัจจัยประกอบพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่บังควร เพราะหากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะ ก็อาจทำให้ผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะไม่พอใจ หากวินิจฉัยให้เป็นโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาและผู้สนับสนุนไม่พอใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยทางใด ผลกระทบทางการเมืองจะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกทาง ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้”


นอกจากนั้น รูปแบบการยื่นฎีกาที่แกนนำจะแห่แหนกันไปจำนวนมากตามที่ประกาศก็ไม่เคยมีการทำกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ! แสดงความพยายามเอาจำนวนคนเข้าข่ม โดยไม่แคร์ความเหมาะสมหรือไม่ ตามนิติประเพณี


รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรทำอย่างไรเมื่อฎีกาดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย


ในเรื่องนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา พ.ศ. ๒๔๕๗ กำหนดไว้ชัดเจนว่า


“ข้อ ๕ ถ้าผู้ใดจะทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาโดยวิธีอันผิดระเบียบซึ่งกล่าวมาแล้วในข้อ ๓ นั้น ถ้าเปนที่ภายในเขตรพระราชฐานให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกระทรวงวัง และกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติให้ถูกระเบียบ และถ้าจำเปนก็ให้ห้ามปรามเสีย อย่าให้เปนที่ขุ่นเคืองหรือรำคาญใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้


ถ้าเปนที่ภายนอกพระราชฐาน ให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกองอารักษา คือ กรมกองตระเวร (ในกรุง) และกรมตำรวจภูธร (ในหัวเมือง) ว่ากล่าวแลห้ามปรามดังกล่าวมาแล้ว


อนึ่ง ถ้าพะเอินเปนเวลาเจ้าน่าที่ มิทันที่จะว่ากล่าวห้ามปราบ ผู้ถวายฎีกาได้เข้าไปยื่นฎีกาเสียแล้วนั้นไซร์ ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนั้น ต้องให้ถวายใหม่ให้ถูกต้องระเบียบจึงค่อยรับ


ให้เปนน่าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้ทุกประการ และให้เจ้าน่าที่ต่าง ๆ ซึ่งได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติกิจการตาม น่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันสืบไป”


ใครอ่านพระราชกฤษฎีกานี้แล้วเห็นชัดว่า การทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่ผิดระเบียบ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น “ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนี้” ต้องทำให้ “ถูกต้องตามระเบียบจึงค่อยรับ”


คำถามก็คือ ใครบ้างที่เกี่ยวข้องในการรับฎีกาและถวายความเห็นตามขั้นตอน


คำตอบก็คือ หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เจ้าหน้าที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงนำเสนอตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แล้วรัฐมนตรีก็จะทำความเห็นส่งเรื่องไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะสรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายลงนามทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็น แล้วส่งเรื่องไปสำนักราชเลขาธิการเพื่อเสนอคณะองคมนตรีกลั่นกรองและทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นต่อไป ขั้นตอนต่อจากนี้ก็สุดแท้แต่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้พระราชทานอภัยโทษ หรือ ลดโทษ หรือยกฎีกา


อนึ่ง หากมีการยื่นผิดขั้นตอนไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักราชเลขาธิการก็ไม่อาจพิจารณาเรื่องได้ ต้องส่งเรื่องกลับไปที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมเพื่อเริ่มต้นให้ถูกต้อง


สำหรับฎีการ้องทุกข์นั้น ไม่ว่าจะทูลเกล้า ฯ ถวายโดยทางใด นอกจากติดต่อเจ้าตัวขอรับข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว สำนักราชเลขาธิการก็จะส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสอบถามไปยังเจ้าตัวผู้มีทุกข์ หน่วยงานที่ถูกร้องฎีกานั้นเพื่อให้ชี้แจง รวมทั้งสอบถามไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรอง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลมาทำสรุปข้อเท็จจริงเสนอสำนักราชเลขาธิการ แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ก็ต้องถามความเห็นให้ครบถ้วนแล้วสรุปเรื่องเสนอนายกรัฐมนตรีสั่งการ และทำความเห็นเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย


ฎีการ้องทุกข์นี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามประเพณีและคำพิพากษาศาลฎีกา เคยวินิจฉัยว่า “....ราชเลขาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ย่อมมีหน้าที่ต้องคอยกลั่นกรองเรื่องราวต่าง ๆ ที่นำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบตามที่เห็นสมควรให้เหมาะสมกับกาลเทศะและราชประเพณี ซึ่งจะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ มิใช่ว่าเมื่อมีการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาในเรื่องใดก็จะต้องรีบนำขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบทันที โดยไม่ต้องสอบสวนเรื่องราวให้ได้ความถ่องแท้เสียก่อน” (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๐๘/๒๕๒๘) อำนาจนี้รวมถึงการที่ราชเลขาธิการอาจงดไม่นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายได้ โดยเฉพาะฎีกาขอ พระมหากรุณาบางเรื่อง (เช่น ของานทำ) หรือฎีกาที่มีใจความหรือสาเหตุที่อ้างคลุมเครือไม่มีมูล ฯลฯ


รัฐบาลเองก็ต้องรับผิดชอบโดยตรงเพราะมีหน้าที่ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ กล่าวคือแม้การพระราชทานอภัยโทษในมาตรา ๑๙๑ ซึ่งบัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” ก็ตาม แต่จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้ โดยคำแนะนำของรัฐบาล เพราะในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจทุกชนิดที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น พระราชทานอภัยโทษก็ดี หรือแก้ไขทุกข์ของราษฎรที่ต้องให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติก็ดี พระมหากษัตริย์ก็ต้องทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านคณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมือง (มาตรา ๓ ของรัฐธรรมนูญ ฯ ) และดังที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๕ กำหนดว่า “ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินนั้น ต้องมีรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้”


ดังนั้น นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจึงต้องเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องฎีกาทุกชนิดที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ หรือฎีการ้องทุกข์ รวมทั้งกราบบังคมทูล ถวายคำแนะนำและนำพระบรมราชวินิจฉัยมาปฏิบัติ และรับผิดชอบทางการเมืองและกฎหมายแทนพระมหากษัตริย์ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยกเว้นฎีกาที่ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินเลย เช่นขอพระราชทานยืมเงิน หากมีพระมหากรุณาพระราชทานเป็นการส่วนพระองค์ก็ไม่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน จึงเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์โดยเฉพาะที่นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง


เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลก็ต้องยึดหลักในพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาคือ นายกรัฐมนตรีในฐานะบังคับบัญชาสำนักราชเลขาธิการ ต้องสั่งการให้ยุติเรื่องตามบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกา อันที่จริงราชเลขาธิการและคณะองคมนตรีซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเองก็ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาข้อ ๕ นี้ แต่ถ้าให้ทำเอง ก็คงถูก ผู้เป็นแกนนำกล่าวหาเอาอีก และอาจละลาบละล้วงไปถึงสถาบันสูงสุดได้



จึงควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายการเมืองที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองแทนพระมหากษัตริย์ ต้องตัดไฟแต่ต้นลม ระงับฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายนี้ ไม่ให้ทูลเกล้า ฯ ถวายขึ้นไปถึงองค์พระประมุข เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งการเมืองลุกลามไปเป็นภยันตรายต่อสถาบันหลักของชาติได้ เข้าทำนอง “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง”


ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ขัดขวางการถวายฎีกา จึงเป็นความสำคัญผิดในหน้าที่ตามกฎหมาย


อนึ่ง การที่กระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดออกชี้แจงและตั้งโต๊ะรับการถอนชื่อฎีกาก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาข้อ ๕ วรรค ๔ ที่ว่า “ให้เป็นหน้าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้ทุกประการ คงเหลือแต่ ตำรวจ (กรมกองตระเวรและกรมตำรวจภูธร) และทหาร (เจ้าพนักงานกองอารักขา) คงต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาที่ว่า “ให้เจ้าน่าที่ต่างๆที่กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติน่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันต่อไป”



สรุป



ภาวะ “ฎีกาโกลาหล” ครั้งนี้ระงับดับลงได้ด้วยวิธีการทางการเมือง ๒ ทาง คือ


๑. อดีตนายกรัฐมนตรีขอร้องให้แกนนำในการชักจูงประชาชน ยุติการกระทำที่มิได้เป็นไปตามกฎหมาย นิติประเพณีและระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้องเสีย เหมือนเมื่อคราวระงับการขอจัดงานแซยิดให้ตนที่สนามหลวง และอาจทำเรื่องทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ถูกกฎหมายเพียงคนเดียว เรื่องนี้ก็จะระงับลง และเป็นบทพิสูจน์หักล้างคำกล่าวหาที่ว่าไม่จงรักภักดีเสียได้ด้วยการกระทำ ซึ่งสำคัญกว่าคำพูด ถ้าเป็นเช่นนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีก็จะได้รับความชื่นชมจากผู้เขียน และคนจำนวนมากกว่า “แฟร์” และ “เล่นในเกมส์” สมกับที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาถึง ๕ ปี


๒. นายกรัฐมนตรีปัจจุบันต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๓ วรรค ๒ กำหนดไว้ และตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยคณะรัฐมนตรีต้องมีมติร่วมกัน ให้นายกรัฐมนตรีระงับการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่ขัดต่อกฎหมาย นิติประเพณีและระเบียบปฏิบัติเสียเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ และมาตรา ๗๗ ที่ว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์....... และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข....”


อนึ่ง ต้องขอจบตบท้ายว่า ผู้เขียนบทความนี้ เพราะการอ้างอิงของอดีตทนายความของอดีตนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีใครขอร้อง หรือ สั่งการอย่างที่เคยกล่าวหา ด่าทอผู้เขียน และผู้ใหญ่ที่คนเคารพนับถือผิด ๆ มาในโทรทัศน์ วิทยุหลายรายการ



แต่ผู้เขียนไม่เคยตอบโต้ เพราะถือหลักว่าสัจจะก็คือสัจจะ ต่อไปหากจะอ้างอิงก็ขอความกรุณาอ้างอิงเรื่องที่ถูกต้องตามหลักวิชา กรุณาอย่าอ้างโดยตัดตอนข้อความที่เป็นประโยชน์เฉพาะกับตน !




Create Date : 30 กรกฎาคม 2552
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:18:44 น. 0 comments
Counter : 1495 Pageviews.

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.