*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
แด่ผู้มีพระคุณทางการศึกษา

ผมอยากจะกล่าวถึงผู้มีพระคุณทางการศึกษาของผมตั้งแต่เด็กมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนมากมายเหลือเกิน ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ภาคประเทศไทย กับภาคสหรัฐฯ




ผมเข้าโรงเรียนครั้งแรก ในยุคนั้น ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๑ ในจังหวัดบ้านเกิดผม ยังไม่มีโรงเรียนอนุบาล การเริ่มเรียนของเด็กส่วนใหญ่จะเริ่มค่อนข้างช้ามาก เช่นตัวผมเองนี่ เริ่มเรียนตอน ๗ ขวบบริบูรณ์ ขอเน้นนะครับว่า "บริบูรณ์" จริง ๆ เท่านั้น โรงเรียนจะไม่ยอมรับเด็กที่มีอายุ ๖ ขวบนิด ๆ เข้าเรียนโดยเด็ดขาด ต้องบริบูรณ์แบบไม่ขาดไปเลยแม้แต่วันเดียวเท่านั้น

ผมได้เฝ้ารอวันที่จะเข้าโรงเรียนอย่างใจจดใจจ่อ เท่าที่จำได้ ผมรอนานมาก เพราะเห็นพี่ ๆ ที่บ้านผม เดินทางไปโรงเรียนแต่เช้าทุกวัน ผมได้แต่รอว่าพี่ ๆ เมื่อไหร่จะกลับมา แล้วก็ถามพี่ ๆ ว่า วันนี้เรียนอะไรกันบ้าง มีอะไรสนุกบ้าง รออยู่อย่างนั้น ถามอยู่อย่างนั้นอยู่หลายปีก่อนที่ตัวเองจะได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตการเรียนจริง ๆ

ครูคนแรก ชื่อ คุณครูทิพย์วรรณ หมุยจินดา ท่านสอนจับดินสอแบบที่ทำด้วยไม้แล้วก็ลากมือผมไปตามตัวอักษร ก. ข. ฯลฯ ดินสอสมัยนั้น ต้องใช้มีดเล็ก ๆ เหลาไส้ดินสอให้คม เพื่อนบางคนผมเขามีวิทยาที่ล้ำหน้าหน่อย ในสมัยนั้น ก็จะใช้กบเหลาดินสอตัวเล็ก ๆ ซึ่งมันน่าตื่นเต้นไม่น้อยเลย เพราะครูคนนี้แหละ ที่ทำให้ผมอ่านออกเขียนได้มาจนถึงปัจจุบัน ขอบพระคุณท่านครับ ไม่มีท่านแล้ว ผมคงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ครับ

ตอนไปเรียนใหม่ ๆ เห็นเพื่อนนั่งร้องไห้ เพราะต้องมาโรงเรียน กว่าพ่อแม่จะกลับบ้านได้ ก็แทบย่ำแย่ ผมแปลกใจไม่น้อย และไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเพื่อน ๆ ผม เขาต้องร้องไห้นะ นอกจากนี้ ยังสะเออะ เข้าไปปลอบเขาอีก ตัวผมเองดีใจแทบตายที่ได้เข้าโรงเรียนเสียที ทำไมเพื่อนผมมันร้องไห้ที่ต้องมาโรงเรียนฟะ .... งงนะเนี่ย

รุ่นผมเป็นรุ่นแรก ที่มีการวัดผลการเรียนแบบตัดเกรด (ตั้งแต่เกรด ๑ ถึงเกรด ๔) รุ่นพี่ชั้น ป. ๒ เขาเรียนแบบคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตอนเล็ก ๆ นี่ ตั้งใจเรียนมาก ได้เกรด ๔ หมดทุกตัว ... รุ่นพี่ผมที่อยู่ ป.๒ เขารู้สึกแปลกใจกับระบบเกรดมาก มาขอดูแบบบันทึกการเรียนของรุ่นน้อง ๆ กันใหม่ แล้วเขาก็บอกว่า

คนที่ได้เกรด ๑ คือ ได้ที่ ๑ ส่วนคนที่ได้เกรด ๔ คือ คนที่ได้ที่ ๔


เวรกรรมเลยครับ รุ่นพี่ผมเขาว่าอย่างนั้น .... เฮ้อ..... ผมยังทันแบบเรียน ปิติ มานะ มานี กับเจ้าแก่ ที่พวกเขาเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เริ่มไปโรงเรียนตั้งแต่เด็ก ๆ แบบผม จนกระทั่งเจ้าแก่มันแก่ตายไป ตอนนี้ แบบเรียนนี้ คงไม่ได้ใช้แล้ว แต่ผมชอบแบบเรียนแบบนี้ วิธีการสอนแบบที่ผมเรียน โดยเฉพาะการเรียนวิชาภาษาไทย ที่เน้นการผสมคำและผสมเสียง ทำให้สะกดคำได้อย่างถูกต้อง

ผมเห็นวิธีการอ่านหนังสือของหลาน ๆ ผมแล้ว ผมตกใจมากกับวิธีการสอนของครูสมัยใหม่ ในการสอนสะกดคำ เช่นคำว่า "โรงเรียน"

ถ้าเป็นสมัยผม ก็สอนว่า

"ร" - "โอ" - "โร" - ง" - "โรง", "ร" - "เอีย" - "เรีย" - "น" - "เรียน"

แต่ครูสมัยใหม่ สอนให้อ่านแบบเรียงตัวแบบภาษาอังกฤษ คือ

"โอ - รอ - ง" = "โรง", "เอ- รอ- อี- ยอ- นอ" = "เรียน"


ไม่รู้สิครับ สอนแบบนี้ ผมว่าเด็กอ่านและผสมคำใหม่ ๆ ด้วยตัวเองไม่ได้แน่ ๆ ไม่รู้ว่าใครคิด ให้สอนแบบนี้ น่ากังวลจริง ๆ ผมเห็นเด็กยุคใหม่หลายคน (ไม่รู้ว่าจะเป็นเฉพาะแค่หลาน ๆ ผมหรือเปล่า) อ่านหนังสือ และเขียนสะกดคำไม่ค่อยถูก น่าแปลกมาก

ที่จริงยังมีครูอีกหลายท่านที่อยู่ในความทรงจำที่ดีของผม โดยเฉพาะคุณครู "สมสมัย" และคุณครู "เพ็ญศรี" ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ทั้งสองท่านนี้ มีความเมตตากรุณาต่อลูกศิษย์เป็นอย่างมาก ท่านแรกสอนวิชาภาษาอังกฤษ ส่วนท่านที่สองสอนวิชาคณิตศาสตร์ ผมต้องขอขอบคุณครูทุกท่านที่สอนสั่งผมมาโดยตลอด

ที่ธรรมศาสตร์ ก็มีอาจารย์หลายท่านที่กรุณาผมมาก ๆ โดยเฉพาะก่อนผมมาเรียนที่สหรัฐฯ นี่ เป็นช่วงที่ผมจะต้องทำอะไรเร่งด่วนให้เสร็จสิ้นหลายประการ เช่น ต้องส่งเอกสารวิจัย สำหรับหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ที่ธรรมศาสตร์ ให้เสร็จสิ้น ไม่งั้นผมก็ต้องทิ้งมันไป ซึ่งแน่นอนครับ ได้ความเมตตาจากอาจารย์ ช่วยเหลือ แนะนำ แก้ไข งานวิจัยจนสำเร็จลงจนได้ ขอบคุณครับ

อีกท่านที่ผมต้องขอบคุณ คือ อาจารย์สงวนฯ ที่เสาชิงช้า อาจารย์สงวน เป็นเพื่อนกับผู้บังคับบัญชาของ ท่านเห็นผมจะมาเรียนที่สหรัฐฯ ท่านก็ให้โอกาสผมไปเรียนที่โรงเรียนเสริมหลักสูตร ที่เสาชิงช้า โดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายเลย แต่บังเอิญผมมียังต้องทำงานในตำแหน่งหัวหน้านิติกร ฝ่ายตรวจสอบสำนวนคดีอาญา (เสนอความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ) จึงทำให้มีเวลาไปเรียนน้อย เพียงสองเดือนก่อนมาเรียนในสหรัฐฯ แต่ก็ได้อะไรมากมาย โดยเฉพาะภาคคำศัพท์ ซึ่งเป็นพื้นฐานอย่างดีในการอ่านหนังสือเรียนในสหรัฐฯ



ที่กล่าวมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวนะครับ เพราะยังมีอีกมากมายหลายท่าน ที่ผมไม่ได้เอ่ยนาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่ได้เคารพรักท่านนะครับ


Professor Hoffmann


ส่วนในสหรัฐฯ นี้ อาจารย์คนแรกของผม คือ Professor Hoffmann ที่ Indiana Law School นอกจากท่านจะมีประวัติโดดเด่น ตั้งแต่เริ่มชีวิตการทำงานของท่าน โดยเป็นเลขาของ Justice William H. Rehnquist อดีตประธานศาลสูงสุดสหรัฐฯ ผู้เพิ่งล่วงลับไปไม่นาน แล้ว ท่านเข้าใจเด็กต่างชาติดี ท่านจึงจัดการเรียนการสอนเป็นพิเศษ นอกหลักสูตร เพื่อปูพื้นฐานให้แก่เด็กต่างชาติที่เป็นกะเหรี่ยงอย่างพวกผมนี่แหละ Professor Hoffmann สอนหลายวิชาในเรื่องกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีความสามารถในการอธิบายและหยิบยกปัญหามากระตุ้นให้นักเรียนได้คิด นำประเด็นใหม่ ที่น่าสนใจและท้าทายมาให้คิดเสมอ ท่านยังสามารถพูดได้หลายภาษา เข้าใจวัฒนธรรมของเด็กต่างชาติเป็นอย่างดี มีน้ำใจเอื้ออาทร จัดงานเลี้ยงตอนรับพวกเรา ตอนแรกเข้า และงานแสดงความยินดีตอนสำเร็จการศึกษา น่ารักมากครับ


Professor Thomas Ulen


ลักษณะที่โดดเด่นอย่าง Professor Hoffmann นี้ ผมได้มาเจออีกครั้งที่ University of Illinois College of Law คือ Professor (Dr.) Tom Ginsburg และ Professor (Dr.) Thomas Ulen ซึ่งปัจจุบัน ท่านทั้งสองคนเป็น Advisor ของผมในหลักสูตรปริญญาเอกทางกฎหมาย (JSD Program)


Professor Ginsburg


เพื่อน ๆ ของผมจะทราบดีว่า ผมไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมาย แต่อาจจะเป็นคนที่มีความพยายาม (ในระดับหนึ่ง) เท่านั้น ซึ่งผมก็ตระหนักดีเสมอมา ยิ่งเป็นการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาเอก (JSD Program) ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญยิ่งนัก มีคนที่ฉลาดปราชญ์เปรื่องจำนวนมากมาย ที่ไม่อาจจะต่อปริญญาเอกทางกฎหมายในสหรัฐฯ ได้ จะสังเกตได้จากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในประเทศไทย มีจำนวนน้อยมากที่สำเร็จปริญญาเอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ด้วยเหตุนี้ที่มันสมัครเข้าเรียนยากมาก เพราะแต่ละ Law School จะรับเด็กของตัวเอง เข้าเรียนปีละ ๒ หรือ ๓ คน เป็นอย่างมาก มีข้อยกเว้นบ้าง ที่จะรับเด็กที่จบปริญญาโทจาก Law School อื่น ที่สำคัญมีเพียงไม่กี่ Law School ที่เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญเอกอีกต่างหาก

ผมเป็นคนโชคดี ที่ได้อาจารย์สองท่านนี่แหละสนับสนุน หากปราศจากสองท่านนี้แล้ว ผมก็คงได้ขนกระเป๋ากลับเมืองไทยไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๔๘ แล้ว ในโอกาสนี้ จึงขอเขียนบล๊อกขอบคุณท่านทั้งสองครับ แม้ท่านจะไม่อ่านภาษาไทยได้ ก็ตาม

Professor Tom Ginsburg จบการศึกษาระดับปริญญาเอก จาก UC Berkeley เคยไปการศึกษาวิจัยที่ญี่ปุ่นและประเทศไทย เป็นเวลา ๑ ปี พูดและเข้าใจภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าใจภาษาจีนและภาษาเกาหลีได้ดีอีกระดับหนึ่งด้วย ผมว่าท่าน Professor Tom กับ Professor Hoffmann เหมือนกันหลายจุด โดยเฉพาะการเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีการเลี้ยงต้อนรับ และ เลี้ยงแสดงความยินดีกับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาที่บ้านของท่าน เหมือน ๆ กัน สอนให้เข้าใจได้ดีเหมือนกัน ๆ

ส่วนท่าน Professor Ulen นี่ ท่านจบปริญญาเอก จาก Stanford University งานวิจัยของท่านเน้นทางด้าน Law and Economics ที่นักกฎหมายส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศไทย มองข้าม เพราะวิชาเศรษฐศาสตร์ มันช่างล้ำลึกเข้าใจยากยิ่งนัก ปัจจุบันท่านได้รับแต่งตั้งจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เป็น Swanlund Chair ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมาก เพราะ ตำแหน่ง Chair เป็นตำแหน่งสูงสุดทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐจะมอบให้ได้

ผมได้มีโอกาสเรียนกับ Professor Ulen ตอนเรียนปริญญากฎหมาย(ใบที่สอง) ที่อิลลินอยส์ นี่แหละ ท่านได้บรรยายกฎหมายให้พวกเราฟัง พร้อมยกงานวิจัยของศาสตราจารย์ทางกฎหมายและสาขาอื่น ๆ อย่างรอบด้านมาเปรียบเทียบ ทำให้เรามองกฎหมายในด้านต่าง ๆ กว้างขึ้นโดยเฉพาะ แนวคิดทางกฎหมาย ที่วิเคราะห์วิจัยโดยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ท่านยังพาพวกเราไปดูงานและกระบวนพิจารณาคดีของศาลในสหรัฐฯ ทั้งระดับ State Court & Federal Court พร้อมกับมีงานเลี้ยงมากมาย ที่ท่านออกค่าใช้จ่ายเอง

ท่านเป็นคนมีน้ำใจอย่างมาก นอกจากท่านจะรับเป็นที่ปรึกษาของผมอย่างเต็มใจและกระตือรือร้นแล้ว เมื่อท่านทราบว่า ผมจะขออนุญาตเดินทางไประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูงานกระบวนการยุติธรรมที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก โดยเฉพาะแนวคิด และทางปฏิบัติในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาของประเทศญี่ปุ่น รวมถึงแนวคิดในด้านตำรวจชุมชนสัมพันธ์นั้น ท่านได้เสนอให้เงินช่วยเหลือผมทันที เป็นเงินจำนวน ๕๐๐ เหรียญ (ซึ่งความจริงท่านให้ผมมากกว่านั้นเยอะ ตอนไปจริง ๆ ครับ) โดยผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีใครที่ใจดีต่อเราได้ถึงเพียงนี้

ผมแทบน้ำตาไหลพราก ๆ ออกมาเลยก็ว่าได้ เพราะอะไรหรือครับ .... ก็ไอ้โครงการที่ผมจะไปดูงานและเก็บข้อมูลในประเทศญี่ปุ่นนี่แหละครับ ผมได้ทำเรื่องถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อร้องขอรับการสนับสนุน ให้ช่วยจัดทำหนังสือถึงประเทศญี่ปุ่น (ผ่านสถานฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) เพื่อให้ผมได้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายหน่อย ทั้งนี้ เพื่อนผมชาวญี่ปุ่นของผม ซึ่งเป็นพนักงานอัยการ ได้เมตตาต่อผม ติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ของญี่ปุ่น จนได้รับคำยืนยันว่า รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่น ยินดีต้อนรับ และอำนวยความสะดวก พร้อมจะจัดหาล่ามแปล ฯลฯ ทุกประการแก่ผมแล้ว เพียงแต่ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ในทำนองยืนยันว่า ผมเป็นตำรวจ และขอความช่วยเหลือทางวิชาการเท่านั้น ................ แต่ผมกลับได้รับการตอบสนองแบบแปลก ๆ จากองค์กร ที่ผมรักมากที่สุดของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณขององค์กรเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว

ผมได้แต่คิดและหวังว่าหลายอย่างจะสดใสขึ้น เพราะหากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ดูเหมือนอะไร ๆ ของญี่ปุ่นมันจะง่ายไปหมด เพื่อนผม ติดต่อรัฐมนตรีของเขา ผ่านระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ..... รัฐมนตรีของเขาตอบกลับมาทันควัน ผ่านระบบอีเมลล์เช่นกัน ว่ายินดีต้อนรับ พร้อมให้รายชื่อ เจ้าหน้าที่ในการติดต่อ ทั้งประเทศญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ที่สถานทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นมาพร้อมสรรพ .... หลายเหตุการณ์ เช่น ความวุ่นวายในเมืองไทย แนวคิดผู้บริหาร และระบบราชการไทย ทำให้ผมชักคิดย้อนหลังไปเสมอ ๆ ว่า ผมคิดถูกหรือผิดนะที่ปฏิเสธโอกาสที่สวยงามของตัวเอง ที่ครั้งหนึ่งได้รับการเสนอจาก World Bank ในฐานะนักกฎหมายไป

ผมชักเชื่อคำพูดของเพื่อนผมซะแล้วว่า พนักงานอัยการประเทศญี่ปุ่น ซื่อสัตย์ และขยันทำงานอย่างมาก โดยญี่ปุ่นมีอัยการมากกว่าประเทศไทยเพียงเล็กน้อย แต่ประชากรมากกว่าประเทศไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อนผมบอกว่า พนักงานอัยการของญี่ปุ่น ตั้งแต่ระดับเล็กสุด จนถึงอัยการสูงสุด ทำงานวันละไม่น้อยกว่า ๑๔ ชั่วโมง ไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ในขณะที่ได้เงินเดือนมากกว่าข้าราชการอื่น ๆ เพียง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ คงจะจริงครับ เพราะเขาสามารถติดต่อกันทางอีเมลล์ ในทุกระดับ ตั้งแต่เพื่อนผมที่เป็นอัยการใหม่ ๆ ใช้อีเมลล์ ติดต่อสื่อสารกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเขาได้ ไม่ทราบว่าเป็นเพราะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของเขาเคยเป็นพนักงานอัยการด้วยกันหรือเป็นเพราะเขามีระบบการทำงานที่ดีนะครับ

เอ่อ .... ผมกล่าวนอกเรื่องไปเสียนาน ใจจริง อยากจะกล่าวขอบคุณอาจารย์ของผมเท่านั้นครับ ส่วนปัญหาอุปสรรค มันเป็นเรื่องธรรมดาครับ ทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะผม ยังต้องเจอปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ Professor Ginsburg มีแนวโน้มกำลังจะย้ายไปสอนที่ University of Pennsylvania Law School แล้ว เฮ้อ ...... ไม่มันส์เลยครับ .......

ปีก่อน เห็นรุ่นน้องที่ คณะเศรษฐศาสตร์ ต้องยุติการเรียนระดับปริญญาเอก เพราะอาจารย์ย้ายมหาวิทยาลัยนี่แหละ หวังว่าผมจะไม่ต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกัน และผมหวังว่า ผมคงคิดไม่ผิดที่ทิ้งโอกาสอันงดงามกับ World Bank ในครั้งนั้น



ปล. ผมได้อัพเดทบล๊อกกฎหมาย ที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไว้ด้วย หากสนในขอเชิญ คลิ๊กที่นี่ ได้เลยครับ


Create Date : 28 มกราคม 2549
Last Update : 2 มิถุนายน 2553 14:42:38 น. 18 comments
Counter : 738 Pageviews.

 
เรียนจบเป็น ด๊อกฯ เร็วๆ นะค่ะ
สมัยเอ๋ ก็สะกดเหมือนพี่เลยอ่ะ แต่เอ๋อายุน้อยกว่าพี่เยอะ


โดย: jaa_aey วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:6:37:13 น.  

 
ผมก็ยังได้เรียน มานี มานะ ปิติ ชูใจ จันทร เพชร นะครับ

ขอให้พี่รีบเรียนจบ แล้วกลับมาปฏิวัติวงการตำรวจไทยนะครับ


โดย: praphrut608 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:6:55:38 น.  

 
เข้ามาอ่านเหมือนเดิมครับพี่


โดย: jamba_juice IP: 12.178.137.231 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:10:36:15 น.  

 
แวะเข้ามาอ่านด้วยค่ะ

ร่ำรวยเงินทอง ประสบความสุขความสำเร็จ ตลอดไปนะคะ


Image hosting by Photobucket


โดย: Batgirl 2001 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:10:55:12 น.  

 
มิ้มเรียนปิติมานี เหมือนกันชอบและคิดถึงมาก
แต่ว่าเมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีโอกาสได้อ่าน "ทางช้างเผือก" หนังสือเล่มต่อ ที่เฉลยว่ามานะ มานี ปิติ และเพือนๆไปทำอะไรกันตอนจบ
รู้สึกจินตนาการหายไปเยอะเลย ไม่หนุกค่ะ ไม่ชอบเลย
พี่พลลองหาอ่านดูละกันนะพี่นะ แล้วมาคุยกันเด้อ


โดย: มิ้ม IP: 203.107.214.162 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:11:16:18 น.  

 
ขอให้การไปญี่ปุ่นราบรื่นด้วยดีนะคะ


โดย: rebel วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:11:32:32 น.  

 
เรื่องมานะ มานี นี่จำได้ว่าตอนแม่เพชรตายผมร้องไห้เลยครับ

ว่าแต่เรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาตินี่แปลกยังไงเหรอครับ .. แต่ Professor Ulen ท่านใจดีนะครับ ต่างชาติต่างภาษาแท้ ๆ

ปล. ผมคุ้นกับวิธีสะกดแบบ รอ-โอ-งอ มากกว่าแฮะ

ปล.๒ เห็นความเห็นของคุณมิ้มแล้วเห็นด้วยจังครับ ทางช้างเผือกนี่มันแฟนตาซีเหลือเกิน ออกแนวขำหน้าตายซะด้วย เอเลียนเอย เวทมนตร์เอย มาเฟียเอย ออสเตรเลียเอย .. มานะ มานี ปิติ ชูใจของผมหมดกันเลย


โดย: dio ฯ IP: 220.245.178.134 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:16:05:02 น.  

 
รุ่นผมยังได้เรียนปิติมานีมานะชูใจเหมือนกันครับ

เรื่องภาษาไทยของเด็กเป้นเรื่องน่าหนักใจจริงๆ เด็กบางโรงเรียนจำในลักษณะตัวอักษรภาพเลย คือไม่จำเป็นการผสมคำ นา กา ม้า สี ฯลฯ ใช้วิธีจำแบบนี้ ผลสุดท้ายคือผสมคำไม่ได้เลย

ต้องมาไล่แก้ตอนป.6ก็มีครับคือเพิ่งมาค้นพบว่าเด็กผสมคำไม่ได้เมื่อป.6

อ่านเรื่องเจ้าหน้าที่ระดับสูงของญี่ปุ่นติดต่องานผ่านอีเมลแล้วทึ่งมาก

บ้านเราแค่โทรหารมต.ได้ก็วิเศษแล้ว บางคนให้เลขาเป็นคนรับหน้าตลอดติดต่อทุกอย่างต้องมีหนังสือผ่านไปก่อน เชื่องช้าน่ารำคาญนัก ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าสมัยหัวหน้ารัฐบาลนักกฎหมายหรือหัวหน้ารัฐบาลพ่อค้า ยังอยู่ในกรอบล้าหลังเหมือนเดิม

อ้อพี่ความจำดีมากครับ ยังจำชื่ออาจารย์ย้อนหลังไปถึงสมัยนั้นได้ ผมแค่สมัยประถมก็เลือนลางเต็มทีแล้ว


โดย: นายเบียร์ วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:20:28:35 น.  

 
^
^
นั่นดิครับ ความจำวัยเด็กดีมาก ไม่น่าล่ะถึงได้เก่งกฎหมายซะขนาดนี้ ส่วนผมก็จำได้นะ จำได้แต่ชื่อ นามสกุลคุณครูจำไม่ได้

รักษาสุขภาพนะครับ



ชินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้
เฮง เฮง นะคร้าบบบ..


โดย: T_Ang วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:21:17:45 น.  

 
หวัดดีวันตรุษจีนค่ะคุณพล มีความสุขมากๆ งานการที่ตั้งใจขอให้ทำได้ฉลุยสมมาตรปรารถนาค่ะ

คุณพลแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรนะคะ อ่านแล้วมีความสุขไปด้วยค่ะ ถือเสียว่าอุปสรรคบางเรื่องทำให้แข็งแกร่งขึ้นนะคะ


โดย: SevenDaffodils IP: 69.140.210.74 วันที่: 28 มกราคม 2549 เวลา:22:42:20 น.  

 
แวะมารายงานตัววันตรุษจีนคับพ้ม

หวังว่าจขบ.คงสบายดี
แข็งแรง
กินอิ่มนอนหลับ
...แล้วก็ยังรักใคร่กันดีกะ supervisor
(พรที่เด็ก ป.เอก มักจะอยากได้)

แฮ่ ... เพิ่งเคลียร์งานเสร็จเจ้าค่ะ
ว่าจะลุยอีกงานต่อวันนี้
แต่หมดแรงซะแล้ว
เลยแวะมาทักทายเพื่อน ๆ
แล้วก็จะไปนอนล่ะ

รักษาสุขภาพนะค้าบบบ




โดย: แ ม ง ป อ วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:0:48:14 น.  

 
ผมถ่ายภาพในสวนเองครับคุณ pol…
เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ขอให้คุณ pol มีความสุข
สุขภาพแข็งแรง และร่ำรวยๆครับ
ส่งข้าวเหนียวมะม่วงมายั่วน้ำลายคนไกลครับ




โดย: maczy วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:8:34:31 น.  

 
โอ้ววว บล๊อกบ่งบอกวัย
เหอๆๆๆๆ


โดย: นายกาเมศ วันที่: 29 มกราคม 2549 เวลา:15:47:15 น.  

 
เอาใจช่วยค่ะ

คนญี่ปุ่นขยันทำงานมากๆค่ะ
เคยทำงานกับเจ้านายญี่ปุ่นมาหลายปี
ช่วงนั้นเป็นคนบ้างานสุดๆ



โดย: keyzer วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:3:06:36 น.  

 
เป็นกำลังใจให้ครับพี่

ประเทศเราเป็นอย่างนี้ ชอบไม่ชอบ ถ้ารักประเทศนี้ต้องอยู่กันไป และพยายามทำให้ดีขึ้นเท่ที่ทำได้

ขอชื่นชมพี่ครับ ที่กลับมารับใช้ประเทศโดยทิ้งโอกาสในการทำงานกับ ธนาคารโลกไป ผมเชื่อว่า คนรุ่นผม ถ้าได้รับข้อเสนอทำงานกับองค์กรระดับโลกกับทำงานกับรัฐบาลไทย คงไม่มีใครเลือกกลับมาทำงานกับรัฐบาลไทยอย่างแน่นอน


โดย: ปริเยศ IP: 210.213.5.238 วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:9:14:01 น.  

 
สวัสดีครับเพื่อนสมาชิก และผู้ที่มาเยือนทุกท่าน

ผมได้แต่หวังว่า หน่วยงานผมเขาจะเห็นคุณค่า และสนับสนุนแนวคิดผมบ้าง ..... นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอก ที่หน่วยงานผม ท่านมีความกรุณาต่อผมขนาดนี้ ตอนนี้ ชักไม่แน่ใจ ว่าจะทำได้อะไรบ้าง ถ้ากลับไปทำงานที่เมืองไทย ขนาดไม่เสียเงินสักแดงเดียว เขายังไม่แสดงทีท่าที่จะสนับสนุนเลย ............. ที่สำคัญ สิ่งที่ผมจะไปเรียนรู้จริง ๆ ก็ตั้งใจจะเอาไปใช้พัฒนาหน่วยงานทั้งนั้น ไม่เข้าใจเลยจริง ๆ

อีกเรื่อง ผมลืมบอกไปว่า ผมได้ปิดบล๊อกหลายกลุ่มบล๊อกไปแล้ว เพราะเห็นว่า ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ฯ ของการจัดทำบล๊อกตั้งแต่ต้นของผม บล๊อกในดินแดนส่วนตัวของชีวิต จึงมีอันต้องยุติไป เหลือเพียงบล๊อกกฎหมายเท่านั้น ที่เลือกจะเขียนสิ่งที่เรียนมา ด้วยเงินภาษีประชาชน ก็เพราะเห็นว่า มันเป็นวิถีทางในการตอบแทนแผ่นดินเกิดในปัจจุบันที่ผมจะทำได้ ผมไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการอื่น .... เพื่อนสมาชิกท่านใด ที่เห็นว่าบล๊อกผมไร้ความบันเทิง ไม่ใช่มุมพักผ่อนฯ ผมก็ต้องกราบขออภัยด้วย

ปล. ผมเห็นเมืองไทยยุ่ง ๆ สังคม และผู้อำนาจลุ่มหลงกับผลประโยชน์ โดยเฉพาะการใช้เทคนิคทางกฎหมาย โดยมีนักกฎหมายเป็นผู้ชี้แนะ ในการแสวงประโยชน์ และอำนาจ จนลืมคิดถึงเมืองไทย แผ่นดินไทย ที่บรรพบุรุษเรา ได้สละเลือดเนื้อ เพื่อรวบรวมความเป็นปรึกแผ่นและความมั่งคั่งของชาติเราแล้ว ผมละอายใจ ที่จะบอกว่า ผมเป็นนักกฎหมายครับ .... รู้สึกเศร้าใจอย่างไรบอกไม่ถูก

แต่ผมก็ยังรักการปกครองระบอบประชาธิปไตย

และวิถีทางประชาธิปไตยครับ

ขอประเทศไทย จงเจริญ


โดย: POL_US วันที่: 30 มกราคม 2549 เวลา:11:08:40 น.  

 
โห ทำไมความจำดีจังเลยคะ อ่านแล้วทำให้คิดขึ้นมาได้ว่าบางครั้งคนเราไม่ว่าจะฉลาดหรือเก่งขนาดไหน ความสำเร็จมันก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นด้วย บางครั้งโอกาสก็อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความสามารถอีก (ไม่ได้หมายถึงพี่พลนะ กำลังคิดถึงตัวเองค่ะ!) 555 แต่ไม่น่าเชื่อว่าเลยว่ารุ่นพี่พลกับรุ่นฟ้านี่ใช้หนังสือเรียนภาษาไทยเล่มเดียวกัน


โดย: Fah IP: 130.126.80.237 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา:9:47:10 น.  

 
Beautiful site!


โดย: Kurt IP: 194.149.90.23 วันที่: 7 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:19:42 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.