*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

White Collar Crime ในประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ต.ท.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ


อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (White Collar Crime) เป็นอาชญากรรมร้ายแรง ที่รัฐบางสหรัฐฯ และรัฐบาลมลรัฐให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปรามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายจำนวนมากออกมา เพื่อให้หน่วยงานสอบสวนของตำรวจ FBI มีอำนาจสอบสวนได้ทั่วประเทศ หากการกระทำความผิดเกิดขึ้นในลักษณะข้ามเขตมลรัฐ หรือ เขตอำนาจศาลของรัฐใดรัฐหนึ่ง

การสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจนั้น โดยหลักการแล้วจะใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานด้วยวิธีการพิเศษ โดยใช้คณะลูกขุนใหญ่ หรือ Grand Jury Investigation เนื่องจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เป็นภัยคุกคามต่อสังคม และระบบเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายแก่ปัจเจกชนได้มาก การจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีประเภทนี้ จึงต้องใช้วิธีการรวบรวมพยานหลักฐานที่พิเศษกว่าการสืบสวนสอบสวนคดีปกติทั่วไป เนื่องจาก Grand Jury Investigation นั้น สามารถบังคับให้จำเลยหรือพยานให้การแก่คณะลูกขุนได้ ภายใต้สัญญาว่า บุคคลนั้นจะได้รับการคุ้มกันและเอกสิทธิ์ที่จะไม่ถูกฟ้องคดีอาญาอันเนื่องจากมาจากถ้อยคำของตนเอง ตาม Federal Rule of Criminal Procedure ข้อ ๑๗ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้ กฎหมายห้ามฟ้องคดีโดยอาศัยเฉพาะถ้อยคำนั้น ๆ ที่พยานหรือผู้ต้องหาให้การต่อคณะลูกขุนเท่านั้น แต่ถ้าคณะลูกขุน ซึ่งมีพนักงานอัยการเป็นผู้นำสืบพยานหลักฐาน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ FBI ให้ความช่วยเหลือในการแสวงหาพยานหลักฐาน ยังสามารถฟ้องคดีนั้นได้ ถ้าหากสามารถแสวงหาพยานหลักฐานโดยอิสระอันเป็นหลักฐานใหม่ ซึ่งโดยปกติ ก็อาศัยแหล่งข้อมูลมาจากถ้อยคำของพยานหรือผู้ต้องหานั้นเอง และถ้าพบว่า พยานหรือผู้ต้องหา เบิกความอันเป็นเท็จ ก็สามารถดำเนินคดีฐานให้การเท็จ (Perjury) อย่างจริงจังด้วย โดยเฉพาะหากพบว่า พยานหรือผู้ต้องหา พยายามทำลายพยานหลักฐานใด ๆ หรือ ข่มขู่พยาน ก็จะมีความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือ Obstruction of Justice อีกส่วนหนึ่ง ทำให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาในสหรัฐฯ เกิดความสมดุลระหว่างการปกป้องสิทธิ์ของผู้ต้องหาในฐานปัจเจกชน กับ การดำเนินคดีอาญาที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ ได้แก่ความสงบเรียบร้อยของสังคม อันเป็นจุดมุ่งหมายร่วมกันของการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ เพราะว่า หากสังคมไม่อาจจะดำรงอยู่สังคมสุขได้ สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกชนก็ไม่จะเป็นจริงได้

การสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่ดำเนินการโดย ระบบ Grand Jury Investigation ยังมีข้อพิเศษตรงที่ว่า สามารถสร้างข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นข้อยกเว้นสิทธิทางรัฐธรรมนูญได้บางประการ โดยมีหลักประกันอื่นเข้ามาทดแทน เช่น สิทธิที่จะมีทนายระหว่างการสอบสวนปากคำนั้น อาจจะถูกจำกัดลงได้ด้วย ในลักษณะที่ว่า จำเลยต้องให้การต่อคณะลูกขุนโดยลำพัง แต่อาจจะขอเวลามาปรึกษากับทนายความที่อยู่นอกห้องสอบสวนได้ตาม Federal Rule of Criminal Procedure ข้อ ๑๕.๑(a) แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเป็นคดีที่มีโทษร้ายแรง ระบบ Grand Jury Investigation ซึ่งปกติ มีระบบการคัดเลือกอย่างเป็นธรรมและป้องกันอคติของบุคคลที่จะมาเป็นคณะลูกขุน เป็นระบบที่ป้องกันการฟ้องร้องคดีตามอำเภอใจของพนักงานอัยการหรือฝ่ายรัฐ เนื่องจากการตัดสินใจจะฟ้องหรือไม่ฟ้องขั้นสุดท้ายนั้น อยู่ที่คณะลูกขุนใหญ่นี่เอง โดยพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า ประชาชนในสังคม จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาภายในชุมชนของตน ซึ่งเป็นการรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนที่อยู่ในสังคมนั้นเอง บทความนี้ เขียนขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เป็นความพยายามที่จะยกตัวคดีอาชญกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ บางประเภท มาเป็นแนวคิด ซึ่งอาจจะนำมาใช้ในประเทศไทยได้ ในบางกรณี

ก.นิยามของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ มาจากภาษาอังกฤษว่า White Collar Crime หรือ อาชญากรรมเสื้อคอปกขาว คำนี้ อาจจะเป็นที่คุ้นเคยในประเทศไทยกันแล้วระดับหนึ่ง แต่กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของไทย และสหรัฐอเมริกา มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายนั้น แตกต่างกันมาก จึงขอนำกฎหมายว่าด้วย อาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อท่านจะได้นำไปเปรียบเทียบ และเป็นแนวทางในการค้นคว้าต่อไป

คำว่า White Collar Crime นี้ นาย Edward Sutherland นักอาชญาวิทยาและนักสังคมวิทยา เป็นบุคคลแรกที่ใช้คำ ๆ นี้ โดยให้นิยามตั้งแต่ ปี ค.ศ.๑๙๓๙ ว่า “เป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยบุคคลมีสถานทางสังคมระดับสูงและเป็นที่เคารพนับถือ โดยอาศัยโอกาส หรืออาชีพของตนในการกระทำผิด ซึ่งรวมถึงการกระทำผิดโดยบริษัท หรือนิติบุคคลอื่นด้วย”

คำนิยามดังกล่าว ซึ่งเกิดจากมุมมองเฉพาะในตัวแบบอาชญาวิทยา (Criminology) ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ถูกต้องนัก เพราะจำกัดขอบเขตของผู้กระทำผิดโดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานในทางสังคมและทางเศรษฐกิจของตัวผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ เช่น พิจารณาเฉพาะพื้นเพทางครอบครัว (Family background) และ ความระดับร่ำรวยของบุคคลคนนั้น ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้ว บุคคลที่กระทำผิดนั้น ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี หรือเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยเสมอไป และผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีอำนาจในทางการบริหารขององค์กรนั้นๆ เท่านั้น คำนิยามข้างต้น จึงถือว่าค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว

ประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการฟ้องร้องคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นใน ปีช่วงปี ค.ศ.๑๙๗๐ เป็นต้นมา และได้มีการให้คำนิยามเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ที่แตกต่างจากที่ Sutherland ได้กล่าวไว้ เช่น คดีเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับภาษี (tax fraud) หรือความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ (Securities fraud) ก็พบว่า บุคคลที่ทำผิดไม่จำเป็นต้องบุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่สูงแบบที่ Sutherland ให้คำนิยามไว้แต่ประการใด แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า white collar crime ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ใช่การกระทำผิดกรณีทั่วไป ที่เรียกว่า street crime ซึ่งได้แก่คดี ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice) ได้นิยาม white collar crime ว่าหมายถึง การกระทำความผิดที่ไม่ใช่ความผิดรุนแรง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางการเงิน โดยวิธีการฉ้อโกงของบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ซึ่งมีสถานะประกอบอาชีพในฐานะผู้เป็นเจ้าของกิจการ หรือมีวิชาชีพ หรือกึ่งวิชาชีพเฉพาะ โดยใช้วิธีการทั้งหลายซึ่งจะต้องมีความชำนาญเฉพาะและโอกาสในการกระทำความผิด นอกจากนี้ ยังรวมความถึง การกระทำความผิดที่ไม่รุนแรง เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางการเงินโดยใช้วิธีการอันเป็นการฉ้อโกง และกระทำความผิดโดยบุคคลใดก็ตามซึ่งจะมีความรู้พิเศษหรือทางเทคนิควิธีการทางธุรกิจและทางการบริหารงาน โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะมีอาชีพอะไร ( “Nonviolent crime for financial gain committed by means of deception by persons whose occupational status is entrepreneurial, professional or semi-professional and utilizing their special occupational skills and opportunities; also, nonviolent crime for financial gain utilizing deception and committed by anyone having special technical and professional knowledge of business and government, irrespective of the person’s occupation.”)

คำนิยามข้างต้น ให้ความสำคัญกับการใช้วิธีการโกง เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ตามคำนิยามนี้ ผู้กระทำผิดอย่างน้อง จะต้องเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเป็นพื้นฐาน (Semi-professional) หรือ มีทักษะ (special technical and professional knowledge) แต่ในทางข้อเท็จจริงผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำเป็นต้องมีความรู้พิเศษหรือทักษะเฉพาะดังกล่าวเลย คำนิยามดังกล่าว จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังแคบเกินไป ผู้ที่ในวงวิชาชีพผู้ใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ ศาล อัยการ และทนายความ จึงได้พยายามให้คำนิยามคำนี้ เพื่อแยกแยะความแตกต่างจาก อาชญากรรมทั่วไป (street crime) ไว้เชิงปฏิเสธ (โดยไม่ได้ให้นิยามเฉพาะเจาะจง) ดังนี้ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการกระทำความผิดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งไม่จำต้องมีลักษณะ ดังนี้ (๑) เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคคลหรือทรัพย์ (๒) เกี่ยวข้องกับการครอบครอง การขาย หรือการจำหน่ายซึ่งยาเสพติด (๓) เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม (๔) เกี่ยวข้องกับนโยบายการเมืองเกี่ยวกับคนเข้าเมือง สิทธิพลเมือง และ ความมั่นคงของชาติ และ เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่เป็นการสิ่งที่ชั่วร้าย หรือ การกระทำผิดฐานลักทรัพย์ทั่วไป (“White Collar Crime as crime that does not: (a) necessarily involve force against a person or property; (b) directly relate to the possession, sale, or distribution of narcotics; (c) directly relate to organized crimes activities; (d) directly relate to such national policies as immigration, civil rights, and national security; or (e) directly involve “vice crimes” or the common theft of property.)

การนิยามข้างต้น จึงเป็นการนิยามเชิงปฏิเสธที่กว้างขวางมาก คดี White Collar Crime ในสหรัฐจึงค่อนข้างกว้างขวาง ในบางกรณีคดีอาญาทั่วไป ผู้กระทำผิดอาจจะถูกดำเนินคดีได้ทั้งแบบคดีอาญาทั่วไป และคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับว่าลักษณะข้อเท็จจริงและเหตุผลธรรมชาติของการกระทำผิดนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานสมคบ (conspiracy) กรรโชก (extortion) การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (obstruction of justice) เป็นต้น

ฉะนั้น ในการดำเนินคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบัน คลอบคลุมกฎหมายหลายร้อยฉบับ โดยองค์กรที่ดำเนินคดีจะเป็นหน่วยงานทั้งระดับรัฐบาลกลาง (Federal Government) ได้แก่ F.B.I และพนักงานอัยการ หรือ หน่วยงานทางภาษีอากร (IRS) กับอัยการ ได้ร่วมกันดำเนินการสืบสวนสอบสวน และจะต้องดำเนินการไต่สวนผ่านขณะลูกขุนใหญ่ (Grand Jury) เพื่อให้คณะลูกขุนออกคำรับรองให้ฟ้องคดีต่อศาล (Indictment) ต่อไป ซึ่งมีระบบที่ให้อำนาจแก่คณะลูกขุนใหญ่อย่างมากในการแสวงหาพยานหลักฐานและการรับฟังพยานหลักฐาน และพิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดีกับพยานหรือจำเลยหรือไม่

ข.ประเภทคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ

คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่สำคัญ ๆ จะประกอบไปด้วยการกระทำผิด เหล่านี้

๑. ความผิดของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

๒. ความผิดฐานสมคบ (Conspiracy) ที่เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยผู้ที่สมคบกัน จะมีความผิดทันที ตั้งแต่มีการตกลงกันโดยบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป

๓. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงโดยวิธีการทางจดหมาย (Mail Fraud) การ
ฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร (Wire Fraud) การฉ้อโกงธนาคาร (Bank Fraud) การฉ้อโกงประกันภัย (Health Care Fraud) และการฟ้องคดีอันเป็นเท็จ (False Government Claims) การแจ้งล้มละลายอันเป็นการฉ้อโกง (Bankruptcy Fraud)

๔. การฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud)

๕. อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Computer crime)

๖. ความผิดเกี่ยวสิ่งแวดล้อม (Environmental Crimes) ได้แก่ ความผิด
เกี่ยวกับการสารพิษ (Hazardous Wastes) การก่อมลพิเศษต่อน้ำ (Water Pollution) การก่อมลพิษทางอากาศ (Air Pollution)

๗. การติดสินบนเจ้าพนักงาน (Bribery and Gratuities)

๘. ความผิดฐานกรรโชก (Extortion)

๙. การแจ้งความอันเป็นเท็จ (False Statements) โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับภาษี และ ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน

๑๐. การเบิกความทันเท็จต่อศาล (Perjury)

๑๑. ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) ตัวอย่างเช่น การการกระทำใดที่กระทบต่อการดำเนินคดีของศาล เช่น ให้เงินแก่พยานเพื่อไม่ให้ไปเบิกความต่อศาล ไปจนถึง ฆ่าพยาน เป็นต้น

๑๒. การกระทำผิดเกี่ยวกับทางภาษี (Tax Crimes)

๑๓. การกระทำผิดเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมทางการเงิน (Currency Transaction Reporting Crimes) ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวน้องกับความผิดในฐานฟอกเงิน

๑๔. ความผิดฐานฟอกเงิน (Money Laundering) กฎหมายฟอกเงินของสหรัฐนี้ ต่างจากกฎหมายฟอกเงินของไทยอย่างมาก เพราะกฎหมายฟอกเงินของสหรัฐ ไม่ได้กำหนดประเภทของการกระทำผิดมูลแบบของไทย โดยกำหนดเพียงแต่ว่า หากมีการใช้เงินในลักษณะกระทำธุรกิจทางด้านเงินตรา (Monetary transaction)ที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย (lawful activity) โดยรู้ว่าเงินนั้นเกี่ยวพันและเป็นดอกผลมาจากการกระทำผิดนั้น ผ่านสถาบันทางการเงินฯ หรือ มีการทำธุรกรรมทางการเงิน (Financial transaction) ที่ได้มาจากการกระทำผิดใด ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกระทำผิดนั้น หรือ ซ่อนเร้นแหล่งที่มาของเงินฯ ก็เป็นความผิดฐานฟอกเงิน ไม่จำเป็นต้องมีการกระทำผิดพื้นฐานที่เฉพาะเจาะจงแค่ ๘ ความผิดมูลฐานแบบกฎหมายฟอกเงินของไทย

๑๕. ความผิดฐาน RICO : Racketeer Influenced and Corrupt Organizations ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐ ออกมาบังคับใช้ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เพื่อเสริมมาตรฐานเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการกระทำขององค์กรอาชญากรรม (Organized Crime Control Act ค.ศ.๑๙๗๐)

สำหรับกฎหมาย RICO กล่าวโดยย่อ คือ เป็นกฎหมายที่ควบคุมองค์กรอาชญากรรม ซึ่งมี (๑) การนำเงินที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมายไปลงทุนในธุรกิจปกติ (๒) การนำเงินผิดกฎหมายมาใช้แทรกแซงและควบคุมธุรกิจผู้อื่นที่ถูกกฎหมาย เพื่อแสวงกำไรอันไม่ควรได้ (๓) การนำกลไกธุรกิจที่ถูกกฎหมายมาใช้บังหน้าหรือเป็นเครื่องมือในการดำเนินการธุรกิจผิดกฎหมาย (๔) การสมคบกันกระทำผิด ตามข้อ (๑) ถึง (๓) ซึ่งจะเป็นการกรทำความผิดที่มีโทษรุนแรงมาก ๆ

ค. ตัวอย่างการกระทำผิดตามกฎหมายบางประเภทของคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

๑. การกระทำความผิดของนิติบุคคล และ กรรมการผู้มีอำนาจ

นิติบุคคล เป็นบุคคลที่สมมุติทางกฎหมาย (artificial entity) ซึ่งในทางกฎหมายอาจจะถูกฟ้องดำเนินคดีต่อนิติบุคคล หรือ กรรมการผู้มีอำนาจที่กระทำผิดร่วมกับนิติบุคคลนั้น โดยถือเป็นความรับผิดอย่างเด็ดขาด (Strict Liability) ซึ่งรัฐสภาอเมริกัน ได้ตรากฎหมาย Sherman Antitrust Act of 1890 และกฎหมายอื่น ๆ ที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลสูงสุดสหรัฐฯ (The U.S. Supreme Court) ได้รับรองการบัญญัติกฎหมายให้มีความรับผิดกฎหมายอย่างกว้างขวาง ในการใช้บทลงโทษต่อการกระทำความผิดของนิติบุคคล ( New York Central & Hudson River Railroad v. U.S., 212 U.S. 481 (1909) ) โดยกฎหมายจะกำหนดความผิดต่อนิติบุคคล เช่น ปัจเจกบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารนิติบุคคล (Respondeat Superior) ในกรณีที่ (๑) เป็นบุคคลที่กระทำการในนามของนิติบุคคลนั้น (๒) กระทำให้เกิดประโยชน์ต่อนิติบุคคล (๓) ภายในขอบอำนาจของนิติบุคคลนั้น ซึ่งความรับผิดนี้ จะขยายไปถึงผู้แทนนิติบุคคล รวมถึงลูกจ้าง และ คู่สัญญาของนิติบุคคลนั้น (Independent contractors) ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของนิติบุคคลในระดับที่มีความรับผิดชอบน้อยที่สุดด้วย นอกจากนี้ ศาลสูงสุดสหรัฐ ยังได้ขยายความรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำผิดไปแล้วไปยัง บริษัทหรือนิติบุคคลที่เป็นจัดตั้งเพื่อดำเนินกิจการต่อเนื่องจากบริษัทหรือนิติบุคคลเดิม (Successor Corporations) นั้น แม้บริษัทเดิมจะสิ้นสภาพ (Non-Existent Corporations) ไปแล้ว

Model Penal Code มาตรา ๒.๐๗(๑) กำหนดว่า นิติบุคคลอาจจะต้องรับผิดทางอาญา เมื่อ กระทำผิดซึ่งเป็นการละเมิด หรือกระทำผิดที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติ ซึ่งกฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะกำหนดความรับผิดทางอาญาแก่นิติบุคคลนั้น ซึ่งได้กระทำลงโดยผู้แทนนิติบุคคล (corporation agent) ซึ่งได้กระทำในนามนิติบุคคล ภายในขอบเขตของอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหรือหน้าที่ในทางการที่จ้าง ..., หรือ การกระทำความผิด ซึ่งเป็นกระทำที่ละเว้นหน้าที่กระทำการที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติ หรือ การกระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการให้อนุญาต หรือ เป็นการสั่งการ หรือ ร้องขอ หรือ การกระทำอย่างใด ๆ หรือ เป็นการละเลยการกระทำอันควรของคณะผู้บริหารนิติบุคคล หรือ ผู้บริหารระดับสูงของนิติบุคคลนั้น ซึ่งได้กระทำการในนามของนิติบุคคล ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น


ข้อสังเกต ที่น่าสนใจ

ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับต่ำสุดของนิติบุคคล และ การกระทำอันเป็นการละเลยไม่ควบคุมดูแลการบริหารงานของนิติบุคคลใด้ดี ปล่อยให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยคณะผู้บริหาร หรือ ผู้บริหารระดับสูงด้วย เว้นแต่บุคคลนั้นพิสูจน์ได้ว่า ตนเองได้ใช้ความพยายามในการกำกับดูแลเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลกระทำอาญาใด ๆ ในระดับที่ดีพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ กฎหมายสหรัฐฯ ยังได้มีบทจูงใจให้บริษัทหรือนิติบุคคลมีมาตรการจูงใจในการป้องกันมิให้ตัวแทนหรือลูกจ้างของตนกระทำผิดอาญา ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายของมลรัฐ หรือ กฎหมายของรัฐบาลกลาง เป็นต้นว่า กฎหมายว่าด้วยอาหาร ยา และเครื่องสำอางค์ ( Federal Food, Drug, and Cosmetic Act ) ด้วย เช่น การกำหนดโปรแกรมในการป้องกันการกระทำผิดกฎหมายใด ๆ และ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว หากบริษัทให้ความร่วมมือในการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นแล้ว โทษปรับต่อนิติบุคคลจะลดลงด้วย ซึ่งกรรมการหรือผู้มีอำนาจ หรือลูกจ้าง ฯลฯ จะต้องรับผิดทางอาญาและโทษปรับในทางแพ่งเป็นการส่วนตัว แยกจากนิติบุคคลด้วยอีกส่วนหนึ่ง ฉะนั้น ในกรณีที่ตัวแทนนิติบุคคล มีอำนาจกระทำการใด เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายแล้ว แต่ไม่ได้ทำการป้องกัน หรือ กระทำการแก้ไขการละเมิดเหล่านั้น นิติบุคคลและตัวแทนนิติบุคคลนั้น จะต้องรับผิดตามกฎหมาย (U.S. v. Dotterweich, 320 U.S. 277 (1943))

๒. ความผิดฐานสมคบ (Conspiracy)

ความผิดฐานอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ โดยปกติจะต้องกระทำความผิดโดยบุคคลหลายคน สมคบกระทำความผิด ความผิดในฐานสมคบ หรือ Conspiracy จึงได้นำมาใช้ในความผิดอาชญากรรมทางเศรษฐกิจด้วยเหตุผลที่ว่า ความผิดในลักษณะนี้ มีความสลับซับซ้อน

หลักการในเรื่องสมคบ ตามกฎหมายสหรัฐฯ มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นความรับผิดที่เกิดขึ้น แม้จะยังไม่ได้มีการกระทำความผิดสำเร็จ หรือ ยังไม่ได้มีการลงมือกระทำความผิดอันเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใกล้จะถึงขั้นความผิดสำเร็จก็ตาม แต่ความผิดฐานสมคบ จะเป็นความผิดสำเร็จทันที เมื่อบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ได้ตกลงกัน ที่จะกระทำความผิดใด ๆ (Agree to commit crime ) หากมีกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด (Overt Act) อันเกี่ยวข้องกับการตกลงกันนั้นเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระทำความผิดในฐานนั้น ๆ แม้จะยังไม่มีความผิดสำเร็จเกิดขึ้นก็ตาม โดยฝ่ายรัฐ ไม่จำต้องพิสูจน์ว่า ผู้สมคบ ได้กระทำการในขั้นตอนสำคัญ (Substantial Steps) แล้ว จนผลแห่งการกระทำใกล้จะเกิดขึ้น ตามหลัก Dangerous Proximity ซึ่งต่างจาก ความผิดในฐานพยายาม (Attempt) ที่จะต้องมีเจตนาร่วมกัน และมีการลงมือกระทำความผิดจนถึงขั้นตอนสำคัญ ที่เพียงแต่รอให้มีผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นเท่านั้น

การพิสูจน์ความรับผิดในฐานสมคบนั้น รัฐสามารถนำพยานหลักฐานที่เป็นพยานบอกเล่า (Hearsay evidence) มาใช้พิสูจน์ความผิดจำเลยได้ และ การกระทำของผู้สบคบ ที่เรียกว่า Overt Act นั้น ขยายไปถึงการกระทำใด ๆ ที่กระทำโดยผู้ร่วมสมคบ (Co-Conspirator) นั้น เช่น ความผิดฐานสมคบกันฉ้อโกงภาษี หากผู้ร่วมสมคบได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปก่อนหน้าที่จะมีการลงมือกระทำผิดของอีกบุคคลหนึ่ง ก็ถือเป็นความผิดแล้ว เช่น ในคดี Pinkerton v. U.S., 320 U.S. 640 (1946) นั้น นายแดเนี่ยล ถูกพิพากษาลงโทษฐานสมคบกับพี่ชายกระทำผิดในฐานฉ้อโกงภาษี แม้ในขณะนั้น เขาถูกจำคุกอยู่และไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดในขั้นตอนการฉ้อโกงภาษีก็ตาม เนื่องจาก ความผิดฐานสมคบ เป็นความผิดเพื่อการกระทำของบุคคลอื่น และในคดีนี้ นายแดเนี่ยล ได้ตกลงในการฉ้อโกงภาษีกับพี่ชาย และได้มีการเตรียมเอกสารบางส่วนไว้แล้ว ซึ่งแม้จะไม่ใช้เอกสารที่จะเป็นหลักฐานในฉ้อโกงภาษีจากรัฐบาลโดยตรง อันเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐ ที่กำหนดความผิดฐานฉ้อโกงภาษี ตาม 18 U.S.C. § 371 เป็นต้น

๓. ความผิดฐาน Mail Fraud, Wire Fraud, and Related Offenses

ความผิดในฐานนี้ มีลักษณะแตกต่างจากความผิดในฐานอาญาของประเทศไทย เนื่องจาก ในสหรัฐฯ นั้น มี ๕๐ มลรัฐ แต่ละรัฐมีอำนาจในการออกกฎหมายอาญาและควบคุมการกระทำทางอาญาภายในเขตมลรัฐของตนเอง แต่ความผิดระหว่างมลรัฐ หากมีความผิดอาญาที่เกิดขึ้นและข้ามดินแดนแต่ละมลรัฐแล้ว หากรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ไม่มีมาตรการควบคุมแล้ว ก็จะเกิดภาวะสูญญากาศในทางกฎหมายได้ หรือ การป้องกันอาชญากรรมอาจจะไม่มีประสิทธิภาพได้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงออกกฎหมายที่ควบคุมการกระทำที่มีลักษณะข้ามมลรัฐ ข้ามเขตอำนาจศาลของแต่ละมลรัฐ เช่น การป้องกันการฉ้อโกงที่กระทำลงในลักษณะข้ามมลรัฐ ซึ่งผู้กระทำผิดอาจจะใช้วิธีการส่งจดหมาย หรือ การหลอกลวงให้โอนเงินเข้าบัญชีผ่านระบบ Wire เป็นต้น

ความผิดฐานฉ้อโกงโดยใช้วิธีการทางไปรษณีย์ (Mail) หรือ โดยสายอิเล็คทรอนิกส์ (Wire) เป็นกฎหมายที่คลอบคลุมการกระทำความผิดที่กว้างขวางตั้งแต่ การฉ้อโกงเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึง การฉ้อโกงประกันภัย จนถึงการฉ้อโกงหลักทรัพย์ ฉ้อโกงธนาคาร ฯลฯ ความผิดฐานฟอกเงิน จนกระทั่งความผิดร้ายแรงในฐานความผิดฐาน RICO หรือ Racketeer Influenced and Corrupt Organizations และ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง โดยกฎหมายนี้ มีบทบัญญัติ ใน18 U.S.C.§ 1341, 1343 ซี่งกำหนดไว้ ดังนี้

มาตรา ๑๓๔๑ ลงโทษการกระทำผิดฐานฉ้อโกง สำหรับบุคคลใด ๆ ซึ่งใช้แผนแห่งวิธีการในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง (scheme or artifice to defraud) หรือ กระทำการเพื่อได้มาซึ่งเงินตรา หรือ ทรัพย์สินโดยวิธีแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ สัญญา เพื่อดำเนินการตามวิธีการในการฉ้อโกง หรือ พยายามกระทำการเช่นนั้น โดยการใช้วิธีการส่งจดหมาย หรือ กระทำการอันเป็นส่งเอกสารหรือสิ่งของใด ๆ หรือ เพื่อให้ได้รับซึ่งผลประโยชน์ใด ๆ โดยวิธีการไปรษณีย์ ...,

มาตรา ๑๓๔๓ ลงโทษการกระทำผิดฐานฉ้อโกง สำหรับบุคคลใด ๆ ซึ่งใช้แผนแห่งวิธีการในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง หรือ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินตรา หรือทรัพย์สินโดยวิธีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือสัญญา โดยการส่งข้อมูล หรือ ก่อให้เกิดการส่งข้อมูลผ่านระบบสาย หรือ วิทยุ หรือ การสื่อสารโดยโทรทัศน์ ข้อความใด ๆ สัญลักษณ์ ภาพ หรือ เสียง ข้ามผ่านระหว่างมลรัฐ เพื่อดำเนินการตามแผนแห่งวิธีการฉ้อโกง

ด้วยเหตุนี้ การส่งข้อมูล โดยการส่งจดหมาย หรือทางสาย หรือ วิทยุโทรทัศน์ อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฉ้อโกง เพื่อได้ทรัพย์สินหรือเงินทอง หรือ การรับเงินผ่านธนาคารโดยระบบ Wire หรือ รับเช็คโดยวิธีการทางจดหมาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแผนแห่งวิธีการฉ้อโกงนั้น ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีเครื่องมือทีทรงพลานุภาพในการปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนได้อย่างกว้างและรวดเร็ว ครอบคลุมเขตอำนาจรัฐทั้ง ๕๐ มลรัฐ

ข้อสังเกต

ความผิดในฐานนี้ ยังรวมถึง การได้ทรัพย์สินในลักษณะที่เป็น Intangible Proper Rights สำหรับการกระทำผิดฐาน คอรับชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าได้รับผลประโยชน์ใด ๆ เช่น การรับเช็คจากการส่งจดหมาย หรือ โอนเงินเข้าบัญชีโดยวิธีการ Wire หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใด ๆ เพื่อให้ได้รับทรัพย์สินใด ๆ ก็ถือเป็นการกระทำผิดฐานฉ้อโกงด้วย โดยศาลสูงสุดสหรัฐฯ ได้ตีความขยายในคดี U.S. v. Carpenter, 484 U.S. 19 (1987) ว่า กฎหมายนี้ ครอบคลุมและปกป้องสิทธิของประชาชน ที่จะไม่ถูกพรากไปซึ่งการบริการที่ซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย (Mail Fraud statute clearly protects property rights which does include the intangible property rights – good and honest services of the officials.) ซึ่งต่อมา สภาคองเกรส ได้ตรากฎหมายมาตรา ๑๓๔๖ เพื่อให้ครอบคลุมกรณีป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ ขยายไปการกระทำไม่ชอบของพนักงานหรือลูกจ้างบริษัทหรือของนิติบุคคลเอกชนใด ๆ ด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานนี้อีก เช่น ความผิดฐานการฉ้อโกงอันเกิดจากการแจ้งการล้มละลายอันเป็นเท็จ (Bankruptcy Fraud) การฉ้อโกงอันเนื่องจากการแจ้งเอาประกันสุขภาพอันเป็นเท็จ (Health Care Fraud) และ การแจ้งความอันเป็นเท็จเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากรัฐ (False Government Claims) ตามกฎหมายมาตรา ๒๗๘ ของ Federal Criminal Code และความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำการดังกล่าว ตามมาตรา ๒๘๖ ของกฎหมายเดียวกัน

๔. กฎหมายว่าด้วยการฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud)
หลักทรัพย์ เป็นเรื่องที่กระทบต่อความผาสุกของสังคมอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะระบบเศรษฐกิจอเมริกัน พึ่งพาระบบตลาดหลักทรัพย์ และการซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งกระบวนการทำนิติกรรมบนอินเตอร์เน็ต จะดำเนินการได้อย่างมั่นคง หากบริษัทต่าง ๆ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทให้สาธารณชนทราบ การปกปิดข้อมูล หรือ การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน ย่อมกระทบต่อความมั่นคงและความถูกต้องของระบบตลาด ซึ่งเป็นการบิดเบือนความรับรู้ของสาธารณชนให้ผิดเพี้ยนไปได้

เนื่องจากหลักทรัพย์มีความสำคัญดังกล่าว ทำให้รัฐสภาสหรัฐฯ ได้กำหนดกฎหมายที่ให้อำนาจดุลพินิจที่กว้างขวางแก่พนักงานอัยการในการดำเนินคดีทั้งในปกครอง ทางแพ่ง และทางอาญาประกอบกัน และสามารถถือเอาพยานหลักฐานในกระบวนการใด ๆ ข้างต้น มาใช้พิจารณาการดำเนินคดีอาญาได้ด้วย

กฎหมายหลักทรัพย์ได้กำหนดไว้ ตาม Securities Exchange Act ปี ค.ศ. ๑๙๓๓ และ ๑๙๓๔ ซึ่งมีคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities Exchange Commission : SEC) ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีกับบริษัทที่กระทำผิดตามกฎหมายนี้ โดยกฎหมายหลักทรัพย์ ค.ศ.๑๙๓๓ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดของบริษัทแก่สาธาณชนที่ประสงค์จะซื้อขายหุ้นของบริษัท และ กฎหมายหลักทรัพย์ ค.ศ. ๑๙๓๔ เป็นเครื่องมือในการกำหนดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดความผิดทางอาญาไว้อย่างกว้างขวาง หากมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น รวมถึงการกระทำการในลักษณะที่เป็นการช่วยเหลือในการฉ้อโกงหุ้น นอกจากนี้ กฎหมาย Litigation Reform Act ปี ค.ศ.๑๙๙๕ ยังกำหนดให้ SEC ดำเนินคดีทางแพ่ง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้บริษัทเอกชน และ ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์ ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

กล่าวโดยสรุป กฎหมายหลักทรัพย์ ปี ๑๙๓๓ กำหนดฐานความผิด เช่น มาตรา ๑๑ กำหนดค่าเสียหาย กรณีบริษัทแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อ SEC เกี่ยวกับสถานะของบริษัท มาตรา ๑๒(๑) กำหนดค่าเสียหายกรณีไม่จดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับการออกหุ้น มาตรา ๑๒(๒) กำหนดความรับผิดทางอาญา สำหรับการเสนอซื้อหรือขายหุ้นอันมีข้อความอันเป็นเท็จ และ กฎหมายหลักทรัพย์ปี ๑๙๓๔ มาตรา ๙ กำหนดความผิด กรณีที่มีการกระทำการในลักษณะการควบคุม (Manipulative Devices) โดยจงใจในการบิดผันราคาตลาดของหุ้น และหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตามมาตรา ๒๔ และ ๓๒(a) ของกฎหมายหลักทรัพย์ปี ค.ศ.๑๙๓๔ จะมีความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้น หากเจตนากระทำผิดต่อกฎหมายและกฎเกณฑ์ใด ๆ ของ SEC รวมถึงกรณีเจตนากระทำผิดโดยวิธีการละเลยหรือไม่ใส่ใจต่อหลักเกณฑ์อันเป็นปล่อยให้ผู้อื่นกระทำผิดด้วย (acted with reckless indifference to the truth.)

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมาย Sarbanes-Oxley Act ปี ค.ศ. ๒๐๐๒ กำหนดฐานความผิดฐานฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud) โดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา Federal Criminal Code มาตรา ๑๓๔๘ ( 18 U.S.C.§1348) สำหรับความผิดที่กระทำโดยการพยายามที่ดำเนินการมาตราการหรือแผนการในการฉ้อโกงประชาชน ในการออกหุ้น ที่จดทะเบียนตามกฎหมายหลักทรัพย์ ค.ศ. ๑๙๓๔ หรือ หุ้นที่กำหนดให้ต้องมีการรายงาน รวมถึงกำหนดความผิดสำหรับการดำเนินการแผนการเพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินตราของประชาชน หรือทรัพย์สินใด ๆ โดยวิธีการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการซื้อหรือขายหุ้นนั้น ภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ ปี ค.ศ.๑๙๓๔ เป็นต้น

โดยสรุป กฎหมายหลักทรัพย์ ห้ามมิให้มีการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ไม่ว่าจะดำเนินการโดยผู้บริหาร หรือโดยที่ปรึกษา หรือโดยพนักงานของบริษัท รวมถึง กรณีการให้ผู้อื่นถื้อหุ้นแทนตนเอง ในลักษณะ Stock Parking ซึ่งมีผลทำให้การรายงานผลการดำเนินการ รายได้ ฯลฯ ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง จึงอาจถูกดำเนินคดีฐานจดทะเบียนหรือบันทึกข้อความอันเป็นเท็จ สืบเนื่องจากการไม่ได้จดทะเบียนผู้ถือหุ้นที่แท้จริงนั้น นอกจากยังเอาผิดทางอาญา กับ บริษัทที่เป็นหุ้นส่วน หรือ Partner ทนายความ หรือ นักบัญชีที่มีส่วนร่วมกระทำผิด สนับสนุน หรือ ให้คำแนะนำในการกระทำผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น ๆ ด้วย

ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยังมีหลายประการ เช่น ความผิดที่กระทำโดยหรือกระทำต่อคอมพิวเตอร์ (Computer crime) ซึ่งปกป้องข้อมูลภายในระบบคอมพิวเตอร์ มิให้ถูกบุกรุกเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะกระทำเพื่อการฉ้อโกง หรือ ทำความเสียหายแก่ข้อมูล หรือ เพียงการลักข้อมูล หรือ เปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือ เพียงบุกรุกเข้าไป ตามกฎหมาย Counterfeit Access Device and Computer Fraud and Abuse Act of 1984 ความผิดต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Crimes) ตามกฎหมาย ป้องกันขยะพิษ มลพิษทางน้ำ และมลพิษทางอากาศ ความผิดฐานสินบนและของรางวัล (Bribery and Gratuities) ที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา Federal Criminal Code มาตรา ๒๐๑ และ มาตรา ๖๖๖ ซึ่งห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลให้ติดสินบนหรือรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนให้เจ้าหน้าทีกระทำการหรือไม่กระทำการตามหน้าที่ โดยความผิดดังกล่าว ได้มีการกำหนดควบคู่กับความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ (Extortion law) ตาม 18 U.S.C.§1951 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของรัฐในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ภายใต้กฎหมายที่มีชื่อว่า Hobbs Act of 1946 (18 U.S.C.§1951) หากเจ้าหน้าที่คนใด ใช้อำนาจหรือเพราะการเป็นเจ้าพนักงาน (under color of the official right) กระทำการอันใด อันเป็นการถ่วงหรือทำให้ล่าช้าหรือกระทบต่อการค้าระหว่างมลรัฐ โดยการปล้น หรือ รีดเอาทรัพย์ หรือพยายามกระทำการนั้น จากบุคคลใด ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ความผิดฐานแจ้งความเป็นเท็จ (False Statements) ความผิดฐาน เบิกความเป็นเท็จ (Perjury) ตาม 18 U.S.C.§1621, 1623 ความผิดฐาน Obstruction of Justice ซึ่งกฎหมายที่ครอบคลุมกว้างขวางมากในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทางอาญาใด ๆ ที่เสริมเพิ่มเติมจากความผิดฐานเบิกความหรือให้การอันเป็นเท็จต่อศาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้ต้องสาบานตนก่อนให้การหรือเบิกความ ซึ่งครอบคลุมการกระทำของบุคคลใด ๆ ที่ลักษณะขัดขวางกระบวนการดำเนินคดีอันบริสุทธิ์ยุติธรรม ความผิดฐานนี้ อาจจะเกิดจากการที่จำเลย ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการทำให้ตนพ้นผิดในทางที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ กระทำการใด ๆ ที่ศาลเห็นสมควรว่าเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม เช่น การทำร้ายพยาน หรือเหยื่ออาชญากรรม ตามกฎหมายว่าด้วย การคุ้มครองพยาน (Victim and Witness Protection Act of 1982) การทำร้ายหรือข่มขู่เจ้าหน้าที่ ตาม 18 U.S.C.§ 1503, 1505, 1510 การข่มขู่คณะลูกขุน ตามมาตรา 1503 และยังมีความผิดอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันเป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ความผิดอื่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ความผิดฐานฟอกเงิน (Money Laundering) ตามมาตรา 1956 และ 1957 เช่น การกระทำธุรกรรมทางเงิน หรือ ธรุกรรมอื่น โดยการนำเงินที่ผิดกฎหมายที่ได้มาจากการกระทำความผิดกฎหมาย เพื่อนำเงินที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมายนั้น ใช้เพื่อสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ความผิดฐานฟอกเงิน แยกจากความผิดฐานไม่แจ้งการกระทำธุรกรรมทางการเงินที่มีมูลค่าเกิน ๑๐,๐๐๐ เหรียญอีกประการหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เรียกว่า RICO หรือ Racketeer Influenced and Corrupt Organization ซึ่งบัญญัติขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ ซึ่งบัญญัติไว้ใน 18 U.S.C. §1961-1964 เพื่อป้องกันการกระทำผิดในลักษณะที่เป็นองค์กรอาชญากรรม (Racketeering pattern activities) และมีการนำเงินที่ได้จากกระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรม ไปใช้ในการกระทำผิดอื่น ๆ ประกอบกิจการอันสุจริตอื่น ๆ ซึ่งทำให้การดำเนินคดีในลักษณะนี้ จะกว้างขวางครอบคลุมการกระทำผิดอื่นอย่างกว้างขวางมาก

ง. บทส่งท้าย

ผู้เขียนหวังว่า เอกสารนี้ จะมีประโยชน์ในทางวิชาการบ้าง ไม่มากก็น้อย อย่างน้อย จะได้เผยแพร่ในสิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ในระหว่างศีกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาบ้าง ส่วนรายละเอียดในคดีแต่ละประเภท ผู้เขียนหวังว่าจะได้มีโอกาสเขียนในโอกาสต่อไป แต่ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขอได้โปรดอภัย เนื่องจากเป็นการสรุปในเวลาอันจำกัด





หมายเหตุ

ผู้เขียน สำเร็จปริญญาเอก ทางกฏหมาย (J.S.D.) จาก University of Illinois at Urbana-Champaign (UIUC)., LL.M.(UIUC)., LL.M.(Indiana University – Bloomington)., นม.(กม.มหาชน) (มธ.)., รม.(บริหารรัฐกิจ) (มธ.)., น.บ.ท., นบ.(เกียรตินิยม)(มธ.).. รป.บ.(ตร.) (รร.นายร้อยตำรวจ) ติดต่อ siriphon@siriphon.com เวปไซต์ //www.siriphon.com

เอกสารนี้ สรุปมาจากการศึกษาในชั้นปริญญาโท (LL.M.) ณ University of Illinois ในวิชา White Collar Crime และ หนังสือ J.Kelly Strader, Understanding White Collar Crime, 2002



Create Date : 27 สิงหาคม 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:43:42 น. 4 comments
Counter : 4338 Pageviews.

 
พยายามอ่านแบบ ทำความเข้าใจ
ติดใจตรง ความผิดฐานสมคบ (Conspiracy) นี่แหละ

อย่างถ้ามีผู้เชียวชาญ แนะนำให้มีการหลบเลี่ยงภาษี หรือแนะนำให้ทำการฟอกเงินไปฟอกเงินมา
โดยให้คำปรึกษา และมีการรับเงินค่าปรึกษา
บังเอิญว่าผู้ที่ทำตามคำปรึกษา โดนกฎหมายตรวจสอบแล้วเห็นว่าผิด
(ประมาณว่าทำแล้ว ไม่เนียน โดนจับได้)

ผู้ที่ให้คำปรึกษา หรือ บ.ที่รับปรึกษา
จะต้องมีความผิดฐานสมคบ หรือเปล่า?

คำว่าสมคบนี่ มันกว้างดีนะครับ


โดย: merf1970 วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:20:01:02 น.  

 
K'Pol, just stopping by to say "hi", long time no see.


โดย: The Zephyr วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:20:42:14 น.  

 


โดย: เก่งกว่าผมตายไปหมดแล้ว วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:23:37:41 น.  

 
เรื่อง สมคบ ตามกฎหมายสหรัฐฯ ก็เหมือนกับ คดีของนาย Pinkerton แม้ติดคุกอยู่ แต่ก็ร่วมตกลงใจกันแต่ต้น ย่อมผิดกฎหมายฐานสมคบได้ เพราะเขาได้กระทำการส่วนใดส่วนหนึ่งแล้ว

ความผิดฐานสมคบนี้ ค่อนข้างกว้างขวางมาก คือ ต้องมีการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย หลังจากมีการตกลงกันว่าจะกระทำผิดอาญาใด ๆ ซึ่งรวมถึง การโกงภาษีด้วย

ต่อประเด็นที่ถาม คงจะหมายถึง กรณีที่บริษัท หรือ ผู้ใดก็แล้วแต่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่ต้องการจะเลี่ยงภาษี ถ้าเป็นการเลี่ยงภาษีแบบไม่จ่ายเลย หรือ ที่ผิดกฎหมายแล้ว ย่อมถือว่ากระทำผิดด้วย แม้เพียงให้คำปรึกษา เพราะมีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำผิด

แต่ปัญหาทางกฎหมายในเรื่องกฎหมายภาษีนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะในทางข้อเท็จจริง ของทุกประเทศ เกือบทุกผู้ทุกคนที่มีรายได้ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ย่อมต้องการหลีกเลี่ยงภาษี หรือ จ่ายภาษีให้น้อยที่สุด นักบัญชี ฯลฯ จึงเรียกวิธีการนี้ว่า การบริหารจัดการภาษี คือ พยายามจ่ายภาษี ในอัตราที่น้อยที่สุด แต่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ในทางกฎหมายจึงยอมรับข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาอย่างนี้เสมอมา และพยายามออกข้อกำหนดและกรอบทางกฎหมายเพิ่มขึ้นเรื่อย กฎหมายภาษี จึงมีความหนามากขึ้นเรื่อย ๆ และ เต็มไปด้วยช่องว่าง และการขัดกันเอง .... กฎหมายภาษี จึงเป็นเรื่องยากครับ

การจะตอบคำถามของคุณ Merf ได้ นั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ และ พิจารณาจากกรอบกฎหมายเป็นสำคัญ ข้อเท็จจริงที่สมมุติมานั้น คงไม่เพียงพอ ครับ


โดย: POL_US วันที่: 29 สิงหาคม 2551 เวลา:14:52:05 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.