*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
ความเข้าใจผิด ต่อผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

วันนี้ (๒๖ มี.ค.๔๙) ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการออนไลน์ ในหัวข้อ พันธมิตรฯ ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษ "ทักษิณ" แล้ว หวังตำรวจไม่ใช้ 2 มาตรฐาน แล้ว นึกถึงห้องเรียนที่ ธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ในวิชา "กฎหมายปกครอง"

ที่ว่าเนื้อข่าวนี้ ทำให้ผมนึกถึง เนื้อหาวิชากฎหมายปกครอง ก็เพราะว่า ตามเนื้อข่าว นายสนธิฯ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชน "เพื่อนายกพระราชทาน" ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๑๕๗ จากกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา ๒ ฉบับ ที่ใช้แปรรูป กฟผ.

หากจะว่ากันเป็น เรื่องความเข้าใจผิดต่อผลคำพิพากษาของศาลปกครอง (Administrative Court) นี้เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปครับ คนส่วนใหญ่ ก็มักจะเข้าใจว่า ศาลปกครอง ก็เหมือนศาลอาญาทั่วไป ที่สามารถลงโทษ ฝ่ายปกครอง (Administrative agent) ซึ่งออกกฎ หรือ คำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

แต่ทางข้อเท็จจริงแล้ว ศาลปกครอง หาได้มีอำนาจเช่นว่านั้นไม่ แต่ศาลปกครอง อาจมีอำนาจเพียงเพิกถอนกฎ หรือ คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งยังอาจจะกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การบังคับการตามคำพิพากษามีผลในทางปฏิบัติ ผลของคำสั่งทางปกครอง จึงไม่ได้มีผลโดยตรงที่จะต้องก่อให้เกิดความรับผิดชอบในทางอาญากับตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นแต่ประการใด

ผลในทางกฎหมาย หากมีคำพิพากษาให้เพิกถอนกฎ หรือคำสั่ง ก็จะต้องดูว่า คำพิพากษากำหนดให้มีผลตั้งแต่เมื่อใด โดยหลักการแล้ว การเพิกถอนกฎหรือคำสั่งใด ๆ จะไม่มีผลกระทบต่อการกระทำที่สมบูรณ์ไปในแล้วในอดีต ซึ่งเท่าที่ผมระลึกได้ ยังไม่เคยเห็นให้การกระทำที่สมบูรณ์ไปแล้ว มีผลเสียหายไป เพราะคำพิพากษาของศาลสักครั้งเลยก็ว่าได้ (แต่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ มีผลย้อนหลังตั้งแต่ต้น และเสียไปทั้งหมด รวมไปถึงการกระทำของฝ่ายปกครองที่สมบูรณ์ไปด้วย)

หากศาลสั่งให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกา กฎ หรือ คำสั่ง ทางปกครองแล้ว ฝ่ายปกครอง ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม และทางเลือกของฝ่ายปกครอง ก็คือ การออกพระราชกฤษฎีกา กฎ หรือ คำสั่งทางปกครองนั้น ให้ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามแนวทางที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้ว จะกล่าวง่าย ๆ คือ คิดผิด ก็คิดใหม่ ทำผิด ก็แก้ไขให้ถูกต้อง ครับ

ฝ่ายปกครอง หาได้มีความรับผิดทางอาญา และทางแพ่ง แต่ประการใดไม่ หากกระทำการโดยสุจริต แม้ภายหลังศาลจะพิพากษาให้การกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ออกมาบังคับใช้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้ว แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะก่อให้เกิดความเสียหาย สักหมื่นล้าน แสนล้าน ก็ไม่ต้องรับผิดใด ๆ หากการกระทำนั้น กระทำโดยสุจริต ปราศจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงครับ ซึ่งก็ชอบด้วยเหตุผลดี เนื่องจากเหตุผลที่ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้กระทำการสิ่งต่าง ๆ ลงไป ก็เพื่อประโยชน์มหาชน (Public Interest) หาได้กระทำเพื่อประโยชน์ตนเองแต่ประการใดไม่

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐ หาจะใช่หลุดพ้นความรับผิดทางอาญาและทางแพ่ง หากกระทำการโดยทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ที่ต้องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงต้องมีหน้าที่พิสูจน์ ถึงองค์ประกอบความรับผิดทางอาญา หรือ องค์ประกอบทางแพ่งในเรื่องความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ นี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นความผิดครอบจักรวาล ที่ใช้ควบคุมความประพฤติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป แต่ในทางกฎหมายแล้ว ผู้แจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องกระทำการพิสูจน์ว่า

(๑) เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และ

(๒) เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้แจ้งความร้องทุกข์ หรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเจตนากระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริต

ที่ตลกที่สุด ก็คงจะเป็นการเรียกร้องให้ นายกฯ รับผิดชอบ ในฐานไม่จงรักภักดี ภายหลังพระราชกฤษฎีกา ถูกเพิกถอน หากนายกฯ ไม่ลาออก แสดงว่าไม่จงรักภักดี ...โอ้ พระเจ้า ...... เรื่องที่เป็นกระบวนการทางการเมือง ที่ต้องมีการรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น กฎหมายไม่มีทางก้าวล่วงไปเตะต้องแม้แต่น้อย .... คนที่เรียกร้องเรื่องนี้ ต้องกลับไปกินหญ้าและกินฟาง เพื่อบำรุงสมองสักนิดหนึ่งก่อนครับ

ส่วนในทางแพ่งนั้น หากเป็นคดีละเมิดทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๔๒๐ แล้ว ผู้ฟ้องร้อง มีหน้าที่นำสืบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ ตามหลักที่ว่า ผุ้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ กล่าวคือ ผู้ฟ้องคดี จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้กระทำละเมิด ได้กระทำการโดยประมาทประเมินเลินเล่อ หรือ จงใจก่อให้เกิดความเสียหาย และ การกระทำนั้นมีผลทำให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ฟ้องร้องคดีอย่างแท้จริงด้วย การพิสูจน์ในชั้นศาล ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายที่ค่อนข้างยากพอสมควร เพราะหากผู้ฟ้องร้องคดี ไม่อาจพิสูจน์ให้ศาลเชื่อตามหลักการ "ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน" ที่มีมาตราฐานต่ำกว่าในคดีอาญา ที่ต้อง "พิสูจน์โดยปราศจากสงสัย" แล้ว ผู้ฟ้องร้อง ก็จะต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดเพราะการการใช้อำนาจตามกำหมายต่อศาลปกครอง มาตราฐานจะแตกต่างจากการพิสูจน์ในคดีแพ่งทั่วไปข้างต้น ศาลปกครอง จะมีมาตรการในการแสวงหาพยานหลักฐานที่ต่างจากศาลแพ่งทั่วไป กล่าวคือ มีพนักงานคดีปกครอง เข้าทำการสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน ออกหมายเรียกเอกสาร ฯลฯ จากฝ่ายรัฐ ที่มีอำนาจเหนือกว่าเอกชน มาพิจารณาว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ หากเป็นการกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ศาลก็จะพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี และได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไป (ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก)

มาพูดถึงคำพิพากษากรณี กฝผ. กันสักนิด ท่านที่เคยติดตาม blog ผม นั้น จะทราบว่า ผมได้ทำนายว่า ท้ายที่สุด ศาลปกครองจะต้องพิพากษาไม่รับคดีไว้พิจารณา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ตามหลักการตามกฎหมายปกครอง และหลักกฎหมายมหาชน ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เพราะแท้จริงแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่า มีความจำเป็น เป็นรัฐประศาสโนบาย (Public policy) ที่อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหาร (Executive power) โดยแท้ ตามหลักการแห่งกฎหมาย รวมถึงหลักรัฐศาสตร์แล้ว เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องละเว้นการก้าวล่วงเข้ามาตรวจสอบ (Judicial Review) เพราะถือเป็นการกระทำของรัฐบาล ที่ศาลไม่ควรเข้าแทรกแซง และศาลมักจะให้การยอมรับนับถือ (Great deference) ต่อการตัดสินใจของฝ่ายบริหารเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ก็ตาม ไม่เจาะจงเฉพาะจะต้องเป็นรัฐบาล ปชป. หรือ ทรท. เอาเป็นว่า ผมผิดถนัด ในเรื่องของผลสุดท้ายของการวินิจฉัยคดีของศาลปกครองสูงสุด แต่ผมมั่นใจโดยแน่แท้ว่า การทำนายของผมอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางกฎหมายและรัฐศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่มีอารมณ์และความรู้สึกเกลียดชังหรือรักใคร่เป็นพิเศษมาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ปัญหา

หากจะมองไปยังทฤษฎีทางกฎหมายของต่างประเทศที่ไทยเรายอมรับนำมาใช้แล้ว จะพบว่า ในฝรั่งเศส จะไม่มีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายบริหาร เมื่อรัฐได้ตรากฎหมายออกมาแล้วโดยเด็ดขาด เพราะฝรั่งเศสยึดถือหลักอำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนอย่างเคร่งครัด กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ในฝรั่งเศส จะมีเฉพาะการตรวจสอบก่อน โดยการกระบวนการปรึกษาหารือ เท่านั้น ในขณะประเทศ เยอรมัน กระบวนการตรวจสอบความชอบของกฎหมาย โดยศาลจะเป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการกระทำของรัฐบาลด้วยแล้ว ศาลแทบจะไม่มีอำนาจตรวจสอบเลย เช่นกัน ส่วนพี่ไทยเรา เอาทั้งหน้า เอาทั้งหลัง .... เรามีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายฯ ทั้งก่อนจะเป็นกฎหมาย และหลังจากการที่รัฐสภาได้ตราเป็นกฎหมายแล้ว

หลักการสำคัญที่เป็นพื้นฐานแห่งแนวคิดในเรื่องนี้ คือ หลักประชาธิปไตย ที่จะต้องมีการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ให้อยู่รวมกันในองค์กรเดียว หรือ Separation of Powers เพื่อป้องกันมิให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจโดยไม่ชอบ (Abuse of Power) แน่นอนที่สุดครับ มีเหตุผลที่สนับสนุนมิให้ศาลเข้ามาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาล หรือการกำหนดรัฐประศาสโนบาย (Public policy) หลายประการ เช่น ประการแรก ศาลไม่ใช่องค์กรที่ได้รับมอบอำนาจอธิปไตย มาจากปวงชน ฝ่ายบริหารเท่านั้น ที่มาจากปวงชน ในการใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายบริหารเพื่อประโยชน์ของส่วนร่วม ศาลจึงขาดความชอบธรรมที่จะเข้ามาหักหาญหรือทำลายเจตนารมณ์ของปวงชน (General will) ที่แสดงออกโดยฝ่ายบริหาร ประการที่สอง ศาลไม่มีข้อมูล และเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการบริหารรัฐกิจ รวมถึงกลไกที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายสาธารณะของรัฐ ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีเครื่องมือและกลไกในการตัดสินใจกำหนดนโยบายอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์กว่า บนพื้นฐานของหลักในเรื่องความชำนาญ (Expertise) ของฝ่ายปกครองที่เหนือกว่าศาลอย่างมากมาย เป็นต้น

หากอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในเรื่อง การแปรรูป กฟผ. นี้แล้ว นับว่ามีความแปลกประหลาดเกิดขึ้น จากคำพิพากษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องเหตุผล และหลักกฎหมายที่ศาลได้วางหลักเอาไว้จากคำพิพากษานี้ เหตุผลหนึ่งที่ ศาลได้วินิจฉัยไว้ คือ นายโอฬารฯ มีส่วนได้เสียในการแปรรูปฯ ไม่เป็นกลาง จึงทำให้ พระราชกฤษฎีกา ทั้งสองฉบับ เสียไปด้วย อืม .... แปลกประหลาดดีครับ ..... ที่จริง การแต่งตั้งบุคคลไม่ชอบ ก็ไม่น่าจะมีผลถึงขนาดทำให้พระราชกฤษฎีกา ทั้งฉบับเสียไป ศาลได้อ้างเหตุผลว่า นายโอฬารฯ เป็นกรรมการในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักของในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารและโทรคมนาคม จึงทำให้เป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฝผ. ซึ่งมีระบบรับส่งข้อมูลประกอบด้วยเส้นใยแก้วนำแสงฯ .....

โอ้ .... ศาลท่านช่างให้เห็นผลเชื่อมโยงไปได้ .... อะไรมันจะเชื่อมโยงไปไกลได้ขนาดนั้นละครับ .... อีกหน่อย กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้ง ตามพระราชกฤษฎีกาที่ถูกเพิกถอนนี้ ไปกินข้าวกับคนในรัฐบาล ก็อาจจะถือว่ามีส่วนได้เสียได้เช่นกัน หากพิจารณาจากหลักการของศาลปกครองในคดีนี้ .... ท่านผู้พิพากษาศาลปกครอง ส่วนหนึ่ง ก็อาจารย์ผมนั่นแหละครับ ด้วยความเคารพ ผมไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลของท่านแม้แต่น้อยครับ ... ท่านอาจารย์ที่เคารพรัก .......

หากจะพูดถึง หลักความเป็นกลาง หรือ หลักความไม่มีส่วนได้เสีย แล้ว โดยปกติ จะใช้หลักการนี้ ในกรณีที่ ฝ่ายปกครอง หรือ บุคคลผู้มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น จะต้องตัดสินใจกระทำการ เช่น ออกกฎกระทรวง หรือ คำสั่งทางปกครอง ไปมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมาย แล้วผู้ออกกฎหรือคำสั่งนั้น มีส่วนได้เสียกับคำสั่งทางปกครองนั้น เช่นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด จะออกคำสั่งทางปกครอง เกี่ยวกับการอนุญาต ปิดหรือเปิด โรงงานของน้องเมีย ผู้ว่าเอง ไม่ได้ หากจะพิจารณาจาก กรณี กฟผ. ดูเหมือนจะยังห่างไกลจากหลักการการมีส่วนได้เสีย หรือ หลักความไม่เป็นกลางยิ่งนัก .... จะว่าไป ไม่อาจจะถือได้ว่า มีความเกี่ยวข้องที่จะนำมาใช้เป็นเหตุผลในการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฯ นี้เสียด้วยซ้ำ

ที่จริง หากจะพิจารณากันจริง ๆ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ สามารถถูกโต้แย้งได้เกือบทุกเหตุผล ถึงความชอบด้วยเหตุผลในการใช้เป็นฐานในการวินิจฉัยของท่าน แต่ไม่เป็นไรครับ พิพากษามาแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม เพราะประเทศไทย ไม่มีระบบการทบทวนคำพิพากษาของศาลสูงสุดในแต่ละแท่งของศาลในระบบคู่ขนานแบบของไทยในปัจจุบัน ที่แยกแท่งศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญออกจากกันเด็ดขาด เว้ากันซื่อ ๆ ก็คือ ไม่มีองค์กร มาตรวจสอบว่า คำพิพากษาศาลฎีกา หรือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอันว่าต้องจบและถึงที่สุด

คำถามว่า คำพิพากษานี้ มีผลบังคับอย่างไร ... กรณีนี้ ฝ่ายปกครอง หรือ ฝ่ายบริหาร ก็มีอำนาจที่จะทบทวน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยการออกพระราชกฤษฎีกาใหม่ ให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กล่าวคือ ฝ่ายบริหาร ยังมีอำนาจในการออกกฎ หรือพระราชกฤษฎีกา ฉบับใหม่ ให้อยู่ในขอบเขตอำนาจของฝ่ายปกครอง ตามที่กฎหมาย ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ดำเนินการได้เสมอ ศาลปกครองหาได้มีอำนาจที่จะตัดสิทธิ์ฝ่ายบริหาร ที่จะกระทำการ ออกกฎฯ ซึ่งรวมถึงพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ ให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act) ต่อไปไม่ จะว่ากันตรง ๆ ง่าย ๆ ก็คือ คำพิพากษาฉบับนี้ ไม่ได้มีผลอะไรที่จะยับยั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด นั่นเอง

ในความเห็นส่วนตัวผมแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระทำการ แต่ต้องกระทำการอย่างรอบคอบ หากจะทำรูปแบบ ทุนนิยมเสรี แบบสหรัฐ หรือ อังกฤษ มาใช้อย่างเต็มที่ คงจะไม่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นแน่ เพราะ ระบบเศรษฐกิจของไทย อยู่ในกำมือของชนชั้นนำทางธุรกิจ เพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น ในอังกฤษ ขายกิจการรัฐวิสาหกิจ ทั้งหมดให้เป็นเอกชน ในสมัยนางมากาเร็ต แธชเช่อร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในอเมริกา การไฟฟ้า การปะปา หรือ แก๊ส ฯลฯ รัฐบาลไม่ดำเนินการเลย รัฐบาล จะเข้าดำเนินการเฉพาะในเรื่อง Public work เพื่อสร้างถนนหนทาง ระหว่างรัฐ หรือเมือง เป็นสำคัญ

ในสหรัฐฯ แม้จะไม่มีรัฐวิสหากิจ แต่ศาลได้ขยายหลักการกฎหมายมหาชน ไปคุ้มครองสัญญาทางเอกชนด้วย เช่นว่า มีคดีหนึ่ง ที่บริษัทแก๊ส ที่ได้ให้บริการในเขตพื้นที่ที่มีประชากรน้อย เกิดขาดทุนขึ้นมา จึงหยุดให้บริการ ประชาชนในเขตนั้น จึงฟ้องร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งบริษัทเอกชนให้บริการแก๊สแก่ตน ศาลได้พิพากษาว่า บริษัทผู้ให้บริการแก๊ส ที่ใช้ในการทำความร้อน ไม่อาจหยุดให้บริการแก่เอกชน ด้วยเหตุผลว่าขาดทุนได้ เนื่องจากเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ เพราะประชาชน ไม่อาจอยู่ในได้ฤดูหนาว หากปราศจากแก๊สที่จะใช้ในการทำความร้อน เพราะเป็นที่รับรู้กันว่ามนุษย์เราไม่อาจจะทนอยู่ในสภาวการณ์ที่เลวร้ายเช่นนั้นได้ ดังนั้น แม้จะไม่มีรัฐวิสาหกิจ แต่หากมีกฎหมายที่ดีในการคุ้มครองประชาชนแล้ว ย่อมเป็นเครื่องมือและหลักประกันให้ประชาชนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ผมไม่เห็นประชาชนเขาจะเดือดร้อนแบบที่เรากังวลอะไรกันเลย การแข่งขันที่สมบูรณ์ โดยมีกฎหมายเป็นกลไก การควบคุมที่เป็นธรรม น่าจะเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อรัฐโดยรวม มากกว่าการผูกขาดโดยรัฐที่บริหารงานอย่างไร้ประสิทธิภาพเป็นไหน ๆ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในรูป Privatization ที่อาจจะเป็นตัวแบบที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย ได้ถูกเสนอไว้โดยนักวิชาการ จำนวนมาก เช่น รัฐอาจจะขายกิจการให้เอกชนบางส่วน โดยรัฐจะต้องสงวนสิทธิ์ในการควบคุมกลไกราคา และการซื้อคืนจากเอกชนเมื่อมีความจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การให้บริการสาธารณะ (Public services) จะไม่ขาดความต่อเนื่อง และราคาอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เป็นต้น

ผมจำได้ว่า เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เราพูดกันมาเนิ่นนานจริง ๆ ครั้งแรกที่ได้ศึกษา ก็คือ ช่วงเรียนปริญญาโท ที่คณะรัฐศาสตร์ (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ โน่น นานมาแล้ว มาเห็นแนวคิดในการแปรรูป ที่จะขายให้เอกชนทั้ง ๑๐๐% สมัย ดร.สาวิต ฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลไทยรักไทย ... แต่แรงต่อต้าน แตกต่างกันมาก ทั้ง ๆ ที่สมัย ปชป. การแปรรูปฯ รุนแรงกว่าสมัย ทรท. เสียด้วยซ้ำ เหตุผลส่วนหนึ่ง คือ ความเกลียดชังในตัวผู้นำรัฐบาล ซึ่งผสมด้วยเหตุผล เรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจเอง ที่จะถูกทำลายลง ผมว่าหลายอย่าง อธิบายไม่ได้เลย เช่น สิทธิการใช้ไฟฟรี น้ำฟรี ฯลฯ ชั่วชีวิต ผู้บริหาร รวมถึงสิทธิประโยชน์ ในเรื่องเงินเดือนและสวัสดิการที่สูงลิบลิ่ว และมีโบนัส ในขณะที่องค์กรรัฐวิสหกิจขาดทุน มีเบี้ยประชุมครั้งละเป็นหมื่น ต่อคณะกรรมการแต่ละคน เป็นต้น ที่จริง มันควรได้รับการแปรรูป เพื่อประสิทธิภาพที่ดีขึ้นมานานแล้ว ผมไม่รู้ว่า ทำไม เราจึงต้องรักษารัฐวิสาหกิจในรูปแบบเดิม เพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ได้สิทธิประโยชน์อันมหาศาลเหล่านี้ โดยอ้างเหตุผลว่า ประชาชน จะต้องใช้บริการในราคาสูงขึ้น หรือ รัฐวิสาหกิจ เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น หรือว่า เมื่อเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินแล้ว จะบริหารให้ไร้ประสิทธิภาพอย่างไรก็ได้ เช่นนั้นหรือ

ข้อความส่งท้าย เรื่องคำพิพากษาของศาล และผลของคำพิพากษาศาลปกครอง ในคราวนี้ ดูเหมือนจะเป็นข้อดีของสังคมไทยเหมือนกันครับ กระบวนการเรียนรู้ของสังคมไทย ได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ..... ต้องยอมรับว่า พันตำรวจโท ดร. ทักษิณฯ ท่านสามารถจริง ๆ ..... ท่านทำให้กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมหลายอย่างเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นครับ สุดท้ายของสุดท้ายจริง ๆ สำหรับ คำพิพากษาเรื่องนี้ โดยส่วนตัวแล้ว ด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้งต่อศาลปกครองสูงสุดครับ ผมเห็นว่า ศาลท่านมีธงคำตอบไว้ล่วงหน้า แล้วหาเหตุผลมารองรับ ทำให้เหตุผลมันแปร่ง ๆ ทะแม่ง ๆ ปราศจากหลักการพื้นฐานที่หนักแน่น มั่นคง จนไม่อาจจะถือเป็นหลักการแห่งกฎหมายที่ดีได้ครับ




ปล.๑) หากสนใจอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณี กฝผ. สามารถ คลิ๊ก เพื่ออ่านที่นี่ ครับ

ปล.๒) ผมเพิ่ง Up date เรื่องราว และภาพ การไปเที่ยวในหลาย ๆ รัฐ ในช่วงสปริงเบรกที่ผ่านมาครับ ขอเชิญเข้าดูได้ครับ เชิญ Click ที่นี่ได้เลยครับ

ปล. ๓) ท่านที่เข้ามาแล้วรำคาญใจ เพราะมันยาว น่าเบื่อ ก็ต้องขอโทษด้วยครับ ..... แต่ขอร้อง "อย่าบ่นว่ายาวเลย" ครับ ... ไม่อยากอ่าน ไม่ว่ากันครับ

ปล. ๔) หากท่านที่สนใจ การวิเคราะห์ คดี กฟผ. ของนักวิชาการท่านอื่น โปรด click นิติรัฐ ที่นี่ หรือ click ที่นี่ครับ





Create Date : 27 มีนาคม 2549
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:21:50 น. 25 comments
Counter : 1873 Pageviews.

 
ไม่ได้เข้ามาบ่นนะ เข้ามาอ่านจริง ๆๆๆ


โดย: Xenosaga วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:16:27:39 น.  

 
เข้ามาอ่านเช่นกัน

มุมมองของคนธรรมดา ที่ไม่ใช่นักวิชาการนะครับ
ดีใจที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเช่นนั้น
ส่วนเหตุและผลอื่น ๆ ขอให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ
ที่จะค้นคว้า หาคำตอบที่เหมาะสมต่อไป

ผมก็จำได้เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พูดกันมานานมาก
ทั้งถกเถียงก็หลายเวที
เมื่อก่อนผมก็เห็นด้วยกับการแปรรูป เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงาน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย การตรวจสอบการปฏิบัติ
การตรวจสอบทางบัญชี สารพัด

แต่ตอนนี้ผมไม่เห็นด้วยแล้ว
กิจการสาธารณูปโภค ต้องเป็นของรัฐ
ส่วนกิจการอื่น ๆ จะแปรรูปก็คงไม่มีใครว่าอะไร



โดย: เฒ่าน้อย ไม่ได้ล็อคอิน IP: 124.121.110.231 วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:19:25:47 น.  

 
กำลังเขียนเรื่องนี้อยู่พอดี

เช่นเดิม คงเอาไปลงในโอเพ่น ออนไลน์



โดย: Etat de droit IP: 84.100.103.209 วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:19:50:09 น.  

 
ยาวจังพี่ท่าน


โดย: rebel วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:19:52:45 น.  

 
แวะเข้ามาทักทายครับ


โดย: ตงเหลงฉ่า วันที่: 27 มีนาคม 2549 เวลา:22:12:03 น.  

 
อ่านข่าวในไทยรัฐแว็บ ๆ แต่ขอตอบในฐานะคนธรรมดาที่ไม่ค่อยรู้เรื่องกฏหมายเท่าไหร่ ก็ต้องบอกว่าดีใจมากกับข่าวนี้ที่ศาลตัดสินยกเลิกการแปรรูป กฟผ. โดยส่วนตัวลึก ๆ ไม่เคยเห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ยังอยากให้ประเทศมีสมบัติของชาติสืบไป..อีกอย่างขออย่าให้มีกฏหมายปล่อยให้ต่างชาติมีสิทธิ์ถือครองที่ดินได้โผล่มาเลย กลัวตาสีตาสาจะสู้เงินต่างชาติไม่ได้ เพราะเคยอ่านแว็บ ๆ จากกระทู้ในห้องไกลบ้านว่าต่างชาติมีสิทธิ์ถือครองที่ดินได้ แต่มีลิมิตไม่เกิน 1 ไร่อะไรประมาณนี้ ไม่รู้จริงรึเปล่า

ปล. นี่อาจจะเป็นเพียงมุมมองตื้น ๆ ของคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องกฏหมายเท่าไหร่นะคะ

ปล. อีกครั้ง เดี๋ยวจะแวะเข้ามาอ่านรายละเอียดที่คุณ POL_US เขียนรายละเอียดอีกครั้งค่ะ ตอนนี้แว็บ ๆ มาเยี่ยมและอ่านคร่าว ๆ เห็นเป็นเรื่องเดียวกันกับที่อ่านข่าวเจอ เลยขอแจมความคิดเห็นเท่านั้นเอง...


โดย: JC2002 วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:1:17:25 น.  

 
สวัสดีครับพี่พล

เข้ามาเก็บเกี่ยวความรู้ครับทั้งสองเรื่อง

เรื่องการแปรรูป ผลตัดสินที่ผ่านมามีการพูดวิเคราะห์ไว้มุมหลายแง่ หลายประเด็น ในฐานะที่อยู่กับการไหลของข้อมูลก้พยายามเปิดรับให้กว้างที่สุดเหมือนกัน รวมถึงลองทำนายทิศทางต่อไปด้วย


โดย: นายเบียร์ วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:1:47:26 น.  

 
สวัสดีครับเพื่อนสมาชิกที่เคารพรักทุกท่าน

ที่จริง เรื่องนี้ ผมก็ไม่ได้สนใจเป็นพิเศษอะไร ไม่ได้ค้นคว้าทางวิชาการเชิงลึก แต่หยิบความทรงจำในสมองที่มีรอยหยักน้อย ๆ มาเขียนเท่านั้นแหละครับ เพราะว่า เห็นคำพิพากษาแล้ว ก็ต้องตกใจในเหตุผลและหลักกฎหมายที่ท่านพยายามเอามาเรียงร้อย เพื่อรองรับ ผลสุดท้าย ที่ศาลท่านต้องการ .... เฮ้อ ....

ผมอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ก็ได้แต่เสียดายในภูมิความรู้ของหลายท่าน ปกติคำพิพากษาจะต้องมีเหตุผล โดยวางหลักกฎหมาย และตัวอย่าง หรือ คำอธิบาย ไว้อย่างชัดเจน ดังคำว่าที่ ต้องแจ่มแจ้งดั่งแสงตะวัน ขนาดที่ว่าผู้แพ้คดี ยังต้องเคลิบเคลิ้มไหลลง เมื่อได้อ่านคำพิพากษานั้น แต่กรณีนี้ คำพิพากษาออกมาแสนจะสั้น และไม่มีตรรกะ ทั้งทางกฎหมายและเหตุผลรองรับที่ดีพอเท่านั้น

ผมขอย้ำว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่จะแปรรูปอย่างไรเท่านั้น คือ ประเด็นสำคัญ น่าเสียดายที่ นักการเมืองไทย และผู้มีอำนาจทั้งหลาย คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว มากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ... การดำเนินการทั้งหลาย จึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน แม้แนวคิดจะเป็นเรื่องดี และในความเห็นส่วนตัว ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ มากกว่ารัฐบาลก่อน ๆ เสียด้วยซ้ำ แต่มีเรื่องทุจริต และความไม่โปร่งใสทางจริยธรรม มากเกินกว่าจะยอมรับได้เท่านั้น ..... เฮ้อ ...

เอ...... ... ตอนนี้เขาเฟ้นหา "นายก" กันอยู่นี่ครับ .... หรือว่า เดี๋ยวผมจะกลับไปสมัครเลยดีกว่า เหอ เหอ ...


โดย: POL_US วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:3:34:30 น.  

 
เค้ากำลังตามหาจะเด็ดกันอยู่ รู้สึกว่าจะเจอแล้วนะ ถ้ายังไม่เจอจะได้แนะนำให้ไปสมัครเป็นจะเด็ดกะเค้าบ้าง


โดย: เหลี่ยวฝาน IP: 58.10.20.32 วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:14:14:18 น.  

 
ไม่ทราบว่าพี่พลมอง policy เบื้องหลังคำพิพากษานี้ว่าไงครับ

ลองคิดดูว่าถ้าศาลไม่รับคำร้อง หรือพิพากษาไปในทางตรงข้าม จะเกิดอะไรขึ้น


โดย: praphrut608 วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:17:08:39 น.  

 
อิอิ แวะมาเก็บความรู้ครับ ..


โดย: เด็กชายหัวหอม วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:21:46:42 น.  

 
มีข้อมูลน่าสนใจนิดนึง

ผมอ่านจาก นสพ ไทยโพสต์ แท็บลอยด์ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มีนา ที่ผ่านมา

คุณรสนา แกนนำผู้ฟ้องคดี ให้สัมภาษณ์เองว่า ยอมรับว่าประเด็นที่ศาลปกครองใช้ในการยกฟ้องนั้น ทางผู้ฟ้องไม่ได้กะเป็นหมัดเด็ดแต่อย่างใด ใส่ไปให้มันครบๆ เขียนกว้างๆไว้เท่าน้น แต่ศาลหยิบยกมาใช้เพิกถอน พ.ร.ฎ.

คุณรสนาใช้คำว่า "สวรรค์มีตา"


โดย: Etat de droit IP: 84.97.185.107 วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:22:29:47 น.  

 
ชอบมาก


ด้วยความนับถือ


โดย: gopcap วันที่: 28 มีนาคม 2549 เวลา:22:55:22 น.  

 
"ศาลท่านมีธงคำตอบไว้ล่วงหน้า แล้วหาเหตุผลมารองรับ ทำให้เหตุผลมันแปร่ง ๆ ทะแม่ง ๆ ปราศจากหลักการพื้นฐานที่หนักแน่น มั่นคง"

Sorry that I can't type in Thai on this computer.

The above quote is what I had a conversation with my father on the other day. Not about the EGAT but we talked about the logic of thinking of Thai people nowadays. I think we usually make a decision first, then we look for reasons to back it up. It's like the other way around of what it should be.

We talked about this after we watched some experts on TV talking about why we need PM or the cabinet from our King. It's like they want it that way and then try to find sound reasons to support their thought.

Quite sad about the way Thai people think today.


โดย: คนทับแก้ว IP: 203.159.12.16 วันที่: 29 มีนาคม 2549 เวลา:18:38:48 น.  

 
ปกติคำพิพากษาจะต้องมีเหตุผล โดยวางหลักกฎหมาย และตัวอย่าง หรือ คำอธิบาย ไว้อย่างชัดเจน ดังคำว่าที่ ต้องแจ่มแจ้งดั่งแสงตะวัน ขนาดที่ว่าผู้แพ้คดี ยังต้องเคลิบเคลิ้มไหลลง เมื่อได้อ่านคำพิพากษานั้น แต่กรณีนี้ คำพิพากษาออกมาแสนจะสั้น และไม่มีตรรกะ ทั้งทางกฎหมายและเหตุผลรองรับที่ดีพอเท่านั้น

ที่จริง หากจะพิจารณากันจริง ๆ คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในครั้งนี้ สามารถถูกโต้แย้งได้เกือบทุกเหตุผล




เห็นด้วยครับว่าต้องแปรรูป และเห็นด้วยครับว่า มีความเข้าใจผิด คือเข้าใจไปว่า ศาลตัดสินเพราะไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป

ที่จริงคือมีรายละเอียดที่ไม่ถูกกฎหมายบางประการอยู่ (เช่น เรื่องผู้บริหารบางคนได้ประโยชน ที่ยกตัวอย่างมา) ต่างหาก

ดังนั้น ในแง่รัฐบาล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ที่ไม่ใช่พวกต่อต้าน) จึงไม่ได้มีสัญญาณที่จะมองว่า การแปรรูปขายชาติ

คือผมเข้าใจแบบนี้นะ เอ หรือว่าผมก็เข้าใจผิดครับ คุณ POL_US




อืม มีข้อสังเกตุที่ผมอยากเสนอไว้คือ ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษนี่เอง อาจจะเป็นเหตุให้คนทะเลาะกัน

ถ้าพูดถึงแปรรูป โดยพูดเป็นภาษาไทย คนก็อาจจนึกว่าเป็น transform หรือ metamorphorsis คือเปลี่ยนรูปร่าง คนก็ว่าดี ๆ ๆ ๆ จะไดบริหารงานดีขึ้น โดยสนว่า เป็นการเปลี่ยนการทำงาน

แต่ไม่ได้สนใจ การบริหาร หรือ ผู้ถือหุ้น

แต่พูดว่า privatization แปลว่า ทำให้เป็นของเอกชน แบบนี้ หลายคนคงบอกว่า ขายชาติแน่ ว่าแต่ คำว่า privatize นี้ แปลว่า "แปรรูป"

ดังนั้น ที่เราเถียงกันน่ะ เราเถียงเรื่อง ทำให้เป็นเอกชน หรือ เถียงเรื่อง การปรับปรุงการทำงาน กันแน่นะ

เอ หรือว่า ผมเข้าใจผิดอีกแล้ว


โดย: Plin, :-p วันที่: 29 มีนาคม 2549 เวลา:19:06:07 น.  

 



เข้ามาอ่านเป็นความรู้ครับ


โดย: < h r i s t i A n Vi e ri >> วันที่: 30 มีนาคม 2549 เวลา:17:33:56 น.  

 
ผมก็เป็นคนที่สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่จะให้กิจการนั้น ๆ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จำไม่ได้แล้วว่าเคยอ่านใน blog ของท่านไหน (หรือ MSN กับท่านไหน) ว่า "ของถูกและดีมีที่ไหน" ดังนั้นจะเอาทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้

รัฐควรจะค่อย ๆ ถอยห่างจากกิจการที่เอกชนสามารถดำเนินการได้ แต่ควรจะมี independent regulator เพื่อมากำกับดูแลสาธารณูปโภคสำคัญ ๆ เพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภค

การแต่งตั้งผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วซ้อนอีก (ในกรณีนี้คือดร.โอฬาร) เป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัยเป็นอย่างยิ่ง แต่จะเอาเรื่องความผิดพลาดของรัฐบาลนี้มาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกการแปรรูป (หรือจะใช้คำว่าเพิ่มประสิทธิภาพก็ตามที) รัฐวิสาหกิจทุก ๆ ที่นั้น มันเป็นคนละประเด็น

ตกลง "สมบัติชาติ" คืออะไรกันแน่ครับ คือสิ่งที่รัฐเป็นเจ้าของใช่หรือไม่ อย่างนี้การที่เอาทุนสำรองระหว่างประเทศ มาแลกเป็นเงินบาท ถือว่าขายชาติด้วยหรือเปล่า? การจำหน่ายครุภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วนี้เป็นการขายสมบัติชาติด้วยรึเปล่า? งงครับ ไม่ทราบว่านิยามมันคืออะไรจริง ๆ แต่เห็นพูดกันจัง

บอกไว้ก่อนนะครับว่ายืนอยู่คนละมุมกับทั้งรัฐบาล, ม็อบ, และฝ่ายค้านอยู่แล้ว ไม่ได้มาถล่มหรือเชียร์ใคร ๆ


โดย: Tony Almeida วันที่: 30 มีนาคม 2549 เวลา:20:57:00 น.  

 
ภาษากฏหมายอ่านแล้วหูไม่กระดิกเลย...

กลับมาจากเที่ยวตะลอนแล้วเหรอครับพี่พล... หนุกมั้ยครับ?


โดย: namit วันที่: 30 มีนาคม 2549 เวลา:22:04:01 น.  

 
เพิ่งได้เข้ามาปรับปรุง blog ใหม่ เพราะว่า มีหลายท่าน แนะนำว่า พื้นที่สีดำ มีดาวกระพริบ ๆ มันอ่านยาก เลยลองเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ไม่ทราบว่า มันมีประโยชน์บ้างหรือเปล่าครับ เพื่อน ๆ

ด้านข้างขวามือของ blog ผมนี้ มันเป็นแผนที่สำรวจว่า ใครที่ไหน อ่าน หรือ เข้ามาเยี่ยม blog เราบ้าง ได้รับคำแนะนำมาจาก เพื่อนสมาชิก blogspot มาอีกที .... น่าสนุกสนานดีครับ ... ลองคลิ๊ก แล้วลองสมัครเล่น ๆ นะครับ

ขอบคุณหลายท่าน เข้ามาคอมเม้นท์ บางคอมเม้นท์ขอสงวนสิทธิ์ในการลบครับ ... ท่าน Namit พี่กลับมาแล้ว ภาพงาม ๆ กลับไปดูในคอลัมน์ ชีวิต เล่าเรื่องครับผม ... ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชม .... อีกครั้งครับ


โดย: POL_US วันที่: 1 เมษายน 2549 เวลา:4:14:58 น.  

 
เรื่องการแปรรูปอย่างคุณ Pol_us บอกนั้นผมไม่ค่อยเห็นด้วยครับ เราอย่าไปยึดติดกับระบบ แบบทุนนิยมทางฝั่งอเมริกาที่บอกว่าตัวเองมีหลักธรรมาธิบาลนะครับ เพราะว่าหลายบริษัทก็โดนตรวจสอบว่า "โกงจริงๆ" อันนี้ผมยกตัวอย่างให้เห็น ส่วนจะบอกว่าให้เป็นแบบอังกฤษ ยิ่งแล้วใหญ่ การที่เขาจะมาแบบนี้ ผมอยากไปดูประวัติศาสตร์ ประเทศอังกฤษ เป็นผู้ปฎิวัติอุตสาหกรรมนะครับ แต่ก็อย่าลืมว่า ระบบสหภาพแรงงานหรือระบบสหกรณ์ และระบบทุนนิยมก็เข้มแข็งมากๆ

แล้วก็ถ้าบอกว่า ให้แปรรูปแล้วให้บางส่วนให้เอกชนทำ ผมเจอมากับตัวเอง การเกือบโดนตัดไฟ ที่จริงแล้วต้อง 2 เดือนนี่เดือนชนเดือน แล้วคิดว่าอย่างนี้แปรรูปดีไหมล่ะครับ ถามหน่อย

แต่ถ้าแปรในการบริหารการจัดการ เนี่ยผมเห็นด้วยครับ กับการให้มีความคล่องตัวมากๆ อันนี้เห็นด้วย แต่แปรรูปแล้วให้เข้าไปในตลาดทุนบอกได้เลย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
คือ
1.ไฟฟ้าเป็นของรัฐและรัฐคือประเทศ ประเทศคือประชาชน นี้คือสมบัติประชาชน แต่ถ้าแปรรูปแล้วบอกให้คนไทยซื้อหุ้นได้เพียงอย่างเดียว ก็ดี แต่ก็ทำไม่ได้อีก เพราะว่าจะโดนผูกขาดจากตระกูลใหญ่ๆ อีก นี่คือสิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูป
2.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในรูป Privatization ที่อาจจะเป็นตัวแบบที่เหมาะสม สำหรับประเทศไทย ได้ถูกเสนอไว้โดยนักวิชาการ จำนวนมาก เช่น รัฐอาจจะขายกิจการให้เอกชนบางส่วน โดยรัฐจะต้องสงวนสิทธิ์ในการควบคุมกลไกราคา และการซื้อคืนจากเอกชนเมื่อมีความจำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า การให้บริการสาธารณะ (Public services) จะไม่ขาดความต่อเนื่อง และราคาอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เป็นต้น
ขอพูดตรงๆคือยิ่งแล้วใหญ่ครับ ขายอะไรละ การเก็บค่าตัดไฟโดนกันถ้วนหน้าแล้วครับ คือไม่จ่ายเดือนนี้มันตัดเลย ทั้งทีจริงต้อง 2 เดือนตัดเหมือนกับโทรศัพท์ และถ้าเป็นการกระจายไฟ ผมไม่อยากคิดครับ ว่าจะเป็นอย่างไง ถ้าผมไม่จ่ายสักเดือนขึ้นมาล่ะ มันไม่ล่อบ้านผมไฟดับทั้งบ้านเลยหรือ อย่าลืมนะครับ ว่าเงินในประเทศไทยนี้ไม่สมดุลอยู่แล้ว และที่สำคัญเลยคือความเข้มแข็งของภาคประชาชนนี้เข้มแข็งพอหรือยังครับ อย่าเปรียบเทียบกับในประเทศสหรัฐหรืองยุโรปนะครับ การเมืองภาคประชาชนอ่อนแอ่มากๆครับ ไม่งั้น ไม่เกิดกรณีประท้วงหรอกครับ นี้คือความคิดเห็นส่วนตัวในสมองอันน้อยนิดครับ แต่จริงใจ


โดย: Tarnold IP: 58.9.40.119 วันที่: 6 เมษายน 2549 เวลา:13:31:36 น.  

 
ผมงง นะครับ .... ถ้ามีกลไกล ควบคุมราคาที่เป็นธรรม ... แล้วไม่จ่ายเงิน ..... ก็ควรจะต้องมีบทลงโทษนั่นแหละครับ .... ก็ถูกต้องแล้วนี่ครับ .... เพราะมันไม่ใช่ องค์การการกุศลนี่ครับ มีต้นทุนการดำเนินการเช่นกันครับ ...


โดย: POL_US วันที่: 7 เมษายน 2549 เวลา:12:35:28 น.  

 
Khun Pol,

"หากอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในเรื่อง การแปรรูป กฟผ. นี้แล้ว นับว่ามีความแปลกประหลาดเกิดขึ้นจากคำพิพากษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องเหตุผล และหลักกฎหมายที่ศาลได้วางหลักเอาไว้จากคำพิพากษานี้ เหตุผลหนึ่งที่ ศาลได้วินิจฉัยไว้ คือ นายโอฬารฯ มีส่วนได้เสียในการแปรรูปฯ ไม่เป็นกลาง จึงทำให้ พระราชกฤษฎีกา ทั้งสองฉบับ เสียไปด้วย อืม .... แปลกประหลาดดีครับ ..... ที่จริง การแต่งตั้งบุคคลไม่ชอบ ก็ไม่น่าจะมีผลถึงขนาดทำให้พระราชกฤษฎีกา ทั้งฉบับเสียไป"

As you said, Dr. Olarn's conflict of interest was ONE of the issues the Court considered in regards to the EGAT ruling. There was also the fact that EGAT Pcl still had the right to expropriate land and still held the deed to nominally 'state assets' like expropriated land for the site of the Bang Pakong power station. Any opinion on this second plank of the reasoning behind the decision?


โดย: Naphat IP: 158.34.240.23 วันที่: 27 เมษายน 2549 เวลา:17:40:11 น.  

 
หาทางกลับมาทำงานเป็นนิติบริกรหรือครับ


โดย: jod77 IP: 203.150.30.31 วันที่: 6 พฤษภาคม 2549 เวลา:16:12:33 น.  

 
นักวิชาการ มธ.ยัน จำคุก “ปัญญา” ไม่กระเทือน เก้าอี้ “จารุวรรณ” ชี้ เป็นคนละเรื่องกัน ห่วงศาลหวั่นล้ำเส้นการเมือง กลายเป็นผู้เล่นในสนามอีกฝ่าย ส่งผลคำชี้ขาดมีปัญหาความเป็นกลาง ย้ำ ภารกิจนักนิติศาสตร์ ต้องเป็นไม้หลักปักกลางสายน้ำเชี่ยว

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่ นายประธาน ดาบเพชร อดีตผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียกร้องให้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.คนปัจจุบัน ลาออกจากตำแหน่ง ว่า คำพิพากษาจำคุก นายปัญญา ตันติยวรวงศ์ ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะไม่กระทบต่อการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ อย่างแน่นอน เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน การเรียกร้องให้ลาออกนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่การที่คุณหญิงจะพ้นจากตำแหน่งต้องมีเหตุตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้อ้างเรื่องพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ทราบว่าที่ศาลพิพากษามาเช่นนี้ เพราะเหตุผลใด และที่สำคัญไม่ทราบว่านายปัญญา สู้คดีอย่างไรจึงออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งหากตนเป็น นายปัญญา ในสถานการณ์ขณะนั้นก็อาจจะตัดสินใจทำแบบนายปัญญาก็ได้ เพราะเห็นว่า การส่งรายชื่อขึ้นไปให้วุฒิสภาเพียงชื่อเดียวขัดต่อกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

นอกจากนี้ นายวรเจตน์ ยังแสดงความเห็นถึงบทบาทนักกฎหมายในสถานการณ์วิกฤตการเมืองขณะนี้ ว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ นักกฎหมายต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ยึดหลักกฎหมายไว้ให้มั่น แต่ที่ผ่านมานักกฎหมายทั้งหลายต่างออกมาให้ความเห็นโดยไม่มีหลัก แต่มีธงนำหน้าแล้วบีบกฎหมายให้เข้ามารองรับเป้าหมาย หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตน ไม่ต่างกับที่เคยเรียกคนของรัฐบาลว่าเป็นเนติบริกร ทำให้ประชาชนผู้รับข่าวสารสับสน ไม่ทราบว่าอะไรคือความจริง เมื่อฟังนักกฎหมายพูดแล้วก็คิดว่านักกฎหมายที่ตีความตามกระแสเป็นฝ่ายถูกต้อง ซึ่งตนเห็นว่าไม่ใช่เสมอไป

“ผมมองว่า สถานการณ์ช่วงนี้มันมั่วมาก ทั้งสองฝ่ายใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการเอาชนะกัน ใช้กฎหมายรับใช้การเมือง ผมอ่านหนังสือ 5 เล่ม 10 เล่ม เพื่อถ่ายทอดความรู้ แต่กลับต้องเจอกับนักกฎหมายที่มีธงของตัวเองแล้วมาเล่นถ้อยคำ โดยไม่รู้ว่าความผิด ความถูกอยู่ตรงไหน มีแต่การจะเอาชนะกันในทางการเมือง แล้วใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ยอมรับว่ากฎหมายต้องคู่กับการเมือง แต่ทั้งสองไม่ใช่สิ่งเดียวกัน นักกฎหมายต้องมองให้เห็นประเด็นทางกฎหมายที่อยู่ในปัญหาการเมืองให้ได้ ไม่ใช่ปะปนกันไปหมดเหมือนขณะนี้” นายวรเจตน์ กล่าว

พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงการมองประเด็นเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 37 วัน ว่า เป็นความผิด ตนเห็นว่า เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของกกต.และรัฐบาล ที่สามารถกำหนดได้แต่ต้องภายใน 60 วัน บางเรื่องที่ กกต.มีอำนาจทำได้ ก็ต้องเคารพ แต่การเวียนเทียนผู้สมัครนั้นไม่ถูกต้องก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย ในภาวะที่กระแสน้ำเชี่ยวกรากอย่างรุนแรง นักกฎหมายต้องเป็นผู้เอาไม้ไปปักไว้ในน้ำเชี่ยวอย่างมั่นคง ไม่ว่าใครจะพัดไปไหนนักกฎหมายต้องไม่ไปตามกระแส ต้องยืนเป็นหลักให้กับสังคม

นักกฎหมาย มธ.ผู้นี้เห็นว่า การที่ศาลฎีกาออกมาแถลงแสดงความไม่เห็นด้วยกับการอยู่ในตำแหน่งของ กกต.ที่เหลือก่อนหน้านี้ เท่ากับว่า ศาลเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นในสนาม หรือเลือกฝักฝ่ายโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าอาจจะมีปัญหาในเรื่องการชี้ขาดปัญหาในอนาคต ในสถานการณ์ที่บ้านเราขณะนี้ เหลือแต่องค์กรตุลาการเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง ดังนั้น ในช่วงหลังที่ศาลพยายามไม่นำเสนอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจึงถือเป็นเรื่องที่ดี

//www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000072258


โดย: ME IP: 219.0.238.46 วันที่: 1 มิถุนายน 2549 เวลา:23:16:51 น.  

 
เห็นข่าวนี้แล้ว ต้องยอมรับว่า "ตกใจ" กับคำอธิบายของศาลฎีกา ...... สมมุติว่า กกต. ทุกคน พร้อมใจกัน ลาออก ศาลฎีกา จะยอมเสนอชื่อหรือไม่ .... เหตุผลอะไรหรือ ....... บ้าไปแล้ว ศาลฎีกา .....




ศาลฎีกาส่งหนังสือด่วนถึงประธานวุฒิฯ แจงเหตุไม่สามารถ สรรหา กกต.ใหม่อีก 2 คน ตามที่ร้องขอได้ ระบุ กกต.ที่เหลืออยู่ทั้ง 3 คนขาดคุณสมบัติ หลังศาล รธน.วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.เป็นโมฆะ เหตุ กกต.จัดการเลือกตั้งไม่เป็นกลาง ขาดความเที่ยงธรรม ตอกย้ำ“3หนา” ไม่สมควรได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1มิ.ย.) (นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) ประธานศาลฎีกา ได้ทำหนังสือถึง ประธานวุฒิสภา (นายสุชิน ชาลีเครือ) เพื่อแจ้งถึงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ร้องขอให้พิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนตำแหน่ง กกต. ที่ว่างลง 2 คน หลังจากนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี เสียชีวิต และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณลาออก

หนังสือดังกล่าวได้แจ้งถึงมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 72 ต่อ 4 เสียง ที่จะไม่สรรหา กกต. 2 คน แทนตำแหน่งที่ว่างลงตามที่ประธานวุฒิสภาร้องขอ โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่าเนื่องจาก กกต.ที่เหลืออยู่ทั้ง 3 คน คือพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร ขาดคุณสมบัติที่จะเป็น กกต. หลังจากได้จัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 2549 และการเลือกตั้งอื่นตามมาอย่างไม่เที่ยงธรรม จนเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งในวันดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายประการ ซึ่งมีความหมายในตัวว่า กกต.ที่จัดการเลือกตั้งครั้งนั้นขาดความเป็นกลางทางการเมือง จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็น กกต. ถึงแม้จะมีการสรรหา กกต.ใหม่มาเพิ่มอีก 2 คน ก็ไม่สามารถเยียวยาความไม่ชอบธรรมนั้นได้

นอกจากนี้ การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย. 49 ยังถูกสั่งเพิกถอนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง จนเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง และเป็นคดีฟ้องร้องหลายคดีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้แล้ว ดังนั้น กกต.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งในวันดังกล่าว จึงไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่อีก

รายละเอียดหนังสือจากประธานศาลฎีกา ถึง ประธานวุฒิสภา มีดังนี้

ด่วนที่สุด ศาลฎีกา
ถนนราชดำเนินใน กทม. 10200

1 มิถุนายน 2549

เรื่อง การพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง
กราบเรียน ประธานวุฒิสภา
อ้างถึง หนังสือวุฒิสภาฯ ด่วนที่สุด ที่ สว.0008/1884 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2549

ตามหนังสือที่อ้างถึง ขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งกรณีของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และกรณีของพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ รวมจำนวน 2 คน แล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 นั้น

ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 เวลา 9.30 น. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 138 (2) บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่จะพิจารณาสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งเสนอต่อที่ประธานวุฒิสภา จึงเป็นกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการได้เองตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องดำเนินการตามที่มีการร้องขอ

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล แต่ในเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะว่างเว้นรัฐสภา และคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสงวนรักษาระบอบการปกครองและความสงบสุขของราชอาณาจักรไว้ พระมหากษัตริย์ย่อมทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางศาลได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประธานศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจของศาลตามที่ได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาการสรรหาผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างจำนวน 2 คนแล้ว เห็นว่า ในการพิจารณาดังกล่าวที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องธำรงคงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและนำมาซึ่งความผาสุกของอาณาประชาราษฎร ทั้งต้องคำนึงถึงพันธกิจของผู้พิพากษาและตุลาการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏในคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 252 ว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายทุกประการ ดังนั้น เมื่อปัจจุบันประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤตทางการเมือง ประชาชนแบ่งแยกเป็นอีกฝ่าย ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน มีผลกระทบกระเทือนต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความผาสุกของอาณาประชาราษฎรอย่างรุนแรง จึงนับเป็นสถานการณ์พิเศษที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องพิจารณาด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยมองผลที่จะตามมาในอนาคตด้วย

การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมาเป็นเหตุส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีข้อวินิจฉัยที่ 2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งและในส่วนที่เกี่ยวกับมติการจัดคูหาเลือกตั้งที่ไม่เป็นการลงคะแนนโดยลับ ทำให้เกิดผลการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรม ไม่เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 2 มาตรา 13 มาตรา 104 วรรค 3 และมาตรา 144 มาตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญได้เพิกถอนการเลือกตั้งดังกล่าว การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งที่ไม่เที่ยงธรรมหมายความว่าไม่ตั้งตรงในความเป็นธรรม จึงหมายความอยู่ในตัวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประกอบด้วย พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 134 จึงจะต้องเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐตามมาตรา 218 หากบุคคลดังกล่าวที่เหลืออีก 3 คนยังคงใช้อำนาจหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งต่อไป การดำเนินการและการกระทำต่างๆ ก็จะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายอย่างไม่สิ้นสุด การที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อผู้ที่สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้ง กระทั่งที่สุดมีการแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้งเพิ่มเติมอีก 2 คน ย่อมไม่สามารถเยียวยาปัญหาความชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวได้

ตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นตำแหน่งที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 วรรคหนึ่ง บัญญัติ ให้เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งบุคคลเข้าเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้งจึงต้องมีความรับผิดชอบ (Accountabilty) ต่อประเทศชาติและประชาชน ทั้งยังจะต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างอื่นของรัฐ ให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 อีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรรมการการเลือกตั้งที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องมา โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดทำให้การเลือกตั้งดังกล่าวถูกเพิกถอนไปโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองกลาง เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างร้ายแรง จนถูกฟ้องเป็นคดีอาญาหลายคดี ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้บางศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วและมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ประทับรับฟ้องไว้พิจารณา จึงเห็นได้ว่ากรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ 3 คนนี้ มิได้อยู่ในฐานะที่สมควรจะได้รับความไว้วางใจที่จะให้ทำหน้าที่ต่อไป ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการของบุคคลทั้งสามนี้ได้

อนึ่ง เมื่อครั้งที่นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้งถึงแก่อนิจกรรม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้พิจารณาสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) และเสนอชื่อ นายเกษม วีรวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 แต่ประธานวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการจัดให้มีการสรรหาตามมาตรา 148 (1) ได้ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งไม่ครบองค์ประกอบ กระทั่งครบกำหนด 30 วัน ประธานวุฒิสภาพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่อาจดำเนินการสรรหาตามมาตรา 138 (3) ได้ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามหนังสือวุฒิสภา ด่วนที่สุด ที่ สว (กกต) 0008/6886 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2548 จนถึงบัดนี้วุฒิสภายังไม่สามารถดำเนินการเลือกกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าว และยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นายเกษม วีรวงศ์ ก็ได้ถอนตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้มีปัญหาข้อขัดข้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองที่จะเสนอรายชื่อผู้แทนพรรคการเมืองให้เลือกกันเองเหลือกี่คน คณะกรรมการสรรหากรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 138 (1) จึงไม่อาจครบองค์ประกอบได้ เช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว หากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งอีก ก็จะประสบปัญหาเช่นเดิมซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อการสรรหาตามมาตรา (1) และ (3) ไม่อาจดำเนินการได้ตามที่ประธานวุฒิสภาเคยให้ความเห็นไว้เช่นนั้นแล้ว การสรรหาโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาตรา 138 (2) ก็ไม่มีประโยชน์จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) จนกว่าจะไม่มีกรรมการการเลือกตั้งเหลืออยู่ทำหน้าที่ต่อไป จึงจะสามารถนำมาตรา 138 (3) มาใช้โดยอนุโลม เพื่อแก้ปัญหาสุญญากาศทางการเมืองให้แก่ประเทศ

อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า การเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งเข้าไปเป็นกรรมการการเลือกตั้งร่วมกับกรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ในขณะนี้ จะทำให้ไม่สามารถธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และจะกระทบถึงหน้าที่ของศาลยุติธรรมในการรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยเสียงข้างมาก 72 เสียง ต่อ 4 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง จึงมีมติไม่ดำเนินการเสนอชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างทั้งสองคน


จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ)
ประธานศาลฎีกา


โดย: ME IP: 219.0.238.46 วันที่: 1 มิถุนายน 2549 เวลา:23:19:27 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.