*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
กฎหมายชุมนุม กับการสลายการชุมนุม ... ตัวอย่างที่น่าสนใจ

ความจริง ผมเป็นขาประจำอยู่เวปไซต์หนึ่ง คือ Bio Law Com ซึ่งใน Blog ผมก็มีจัดทำลิงก์ไว้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่ผมรู้จักท่านเขียนงานด้านกฎหมายไว้น่าสนใจหลายประการ ท่านกำลังศึกษา ป.เอก ที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย เพราะกฎหมายเยอรมัน ก็เป็นต้นแบบของกฎหมายไทย หลายเรื่อง และมีคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงจบจากที่เยอรมันเยอะ แม้บางท่านจะเริ่มไขว้เขวไป สนับสนุนหลักการการอะไรก็ได้ที่ต่อต้านทักษิณฯ เท่านั้น ก็พอ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นไปได้ สำหรับอาจารย์ มธ. ที่จบจากเยอรมัน ท่านหนึ่ง แต่ก็ช่างมันเหอะ

ผมได้นำบทความที่ Bio Law Com มาตัดแปะไว้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ น่าจะได้รับการเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ดังนี้ครับ





สลายม็อบ

หลังเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจและกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สำหรับผมแล้ว ไม่เป็นเรื่องน่าแปลกใจเลย (แต่น่าเสียใจหรือไม่ ก็อีกเรื่อง) ที่ว่า ต้องมีแถลงการณ์ที่เอาแต่ประนามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ออกมามากมายอีกตามเคย ที่ไม่แปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถลงการณ์ของบรรดานักพิทักษ์สิทธิ ก็เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นคนยุคเก่าที่เติบโต คร่ำวอด หรือคุ้นเคยอยู่แต่กับการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ และการใช้กำลังโดยฝ่าย "เจ้าหน้าที่รัฐ" หลักแท้ ๆ ที่ควรยึดถือประเภทต้องยืนอยู่ข้างความเป็นธรรม (คนละเรื่องกับความเป็นกลาง) หรือต้องประนาม "ความรุนแรง" ที่ถูกผลิตออกมาจากทุก ๆ ฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ เลยถูกเจือจางลงโดย "เครื่องแบบ" จนยากเยียวยา เรียกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเกิดด้วยเหตุผลใด ฝ่ายไหนสูญเสีย ฝ่ายใดเป็นผู้กระทำที่แท้จริงหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง ถ้ามีเครื่องแบบมาเกี่ยวข้อง ต่อมยุติธรรมใต้สมองของคนกลุ่มนี้จะหยุดทำงาน ปุ่มเกลียดกลัวรัฐบาลใต้ลิ้นก็หลั่งสารเข้มข้นพ่นประนามซ้ำๆ แต่เพียงว่า เจ้าหน้าที่เลว

คุยกับบรรดาสหายหลายคนแล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่า ตราบใดที่เมืองไทยยังไม่มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อื่นใด เพื่อขีดเส้นให้การใช้สิทธิชุมนุมประท้วงเสียบ้าง และตราบใดที่สถานการณ์ ขยิบตาขวาทีซ้ายที ยังดำรงอยู่ในองค์กรที่ควรยึดความเป็นธรรม หรือบรรดานักวิชาการที่มักมีเสียงดังในสังคม ในอนาคต "ม็อบไทย" คงเป็นม็อบที่น่ากลัวที่สุดในโลก! ที่ว่าน่ากลัว ก็หาได้หมายถึงความรุนแรงบ้าพลังถึงขนาดอย่างพวกฮูริแกน แต่หมายถึงว่าม็อบบ้านเรานั้น นอกจากสามารถรวมตัวกันพกพาอาวุธได้โดยถูกต้อง และไม่ค่อยเห็นผู้ชอบแสดงตัวว่ารักความเป็นธรรมบ่นประนามแล้ว ยังสามารถบุกยึดสถานที่ราชการ ขัดขวางการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้องหาการปฎิวัติโดยทหารอันขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างโจ่งแจ้ง หรือประกาศนโยบายชูพวกตนเป็นผู้กุมอำนาจในการออกแบบ หรือกำหนดหน้าตาผู้บริหาร ได้แบบ(ดูเหมือนจะ)ชอบธรรม ด้วย โดยใคร ๆ แม้แต่หน่วยงานผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งรัฐเอง ก็ยังทำอะไรกลุ่มคนที่ว่านี้ไม่ได้ (อันนี้เขียนโดยละปัญหาว่า ใครเป็นคนหนุนหลังที่แท้จริงของ พธม. ไป)

ล่าสุด ไม่เฉพาะแต่ม็อบติดอาวุธม็อบนี้เท่านั้น แต่ทหารเก่า, ทหารตกกระป๋อง, ทหารที่กำลังกุมอำนาจ หรือแม้แต่ ราษฎรอวุโส ก็ยังพยายามส่งสัญญาณกระจองอแงร้องขอรถถัง มันช่างเป็นตลกร้ายที่ยากจะเค้นเสียงหัวเราะ เพราะในขณะที่ปากของหลายคนในกลุ่มนี้ พร่ำบอกประชาชนอยู่ตลอดเวลาว่า ชอบอหิงสา ขอภาวนาให้ด้วยสันติ แต่ในสายตาของพวกเขา แม้การใช้แก๊ซน้ำตาจะรุนแรง แต่ใช้ธงปลายแหลมกลับ(ดูเหมือน)นุ่มนวล ตำรวจยิงรุนแรงและผิดแน่ ๆ แต่ประชาชนยิงจะรุนแรง/ผิดหรือไม่ ปิดปากเงียบ ตำรวจดำเนินการเพื่อความสงบเรียบร้อยภายในนั่นเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ แต่ถ้าทหารลากรถถังออกมากำหนดชะตาชาติเขากลับบอกว่า มันเป็นเรื่องจำเป็น !

ถ้านับจำนวนคนตาย ความขมขื่นทางจิตใจ หรือความเสียหายอีกร้อยแปดที่วัดค่าได้ คงต้องถือว่าเหตุการณ์หลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ยังน้อยนักเมื่อเทียบกับเยอรมนี ที่นอกจากต้องเผชิญกับความโหดร้ายของสงครามโดยตรงแล้ว คนเยอรมันส่วนใหญ่ยังคงเข็ดขยาดกับ Propaganda, อำนาจเด็ดขาดของผู้นำ และการปราบปรามคนคิดต่าง, ผู้ชราขนลุกซู่ทุกครั้งเมื่อพูดถึงการเข่นฆ่าคนสัญชาติเยอรมันด้วยกันเพียง เพราะเขามีเชื้อชาติยิว, สถานกักกันนักโทษยุคสงครามยังคงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้ผู้คนเข้าชมเพื่อ สำเหนียกถึงความป่าเถื่อนของมนุษย์ ฯลฯ (อ้อ...เว้นแต่การทำร้ายกระทั่งศพ เมื่อ 6 ตุลา 19 นี่ผมว่าโหดร้ายผิดวิสัยมนุษย์) ประวัติศาสตร์ อันขมขื่นยากจะลืมเลือนเหล่านี้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในยุโรป (ไม่เฉพาะในเยอรมัน) จริงจัง และแสวงหา "เสรีภาพในการแสดงออก" กันอย่างเป็นการเป็นงาน ม็อบประท้วงนักการเมือง, ม็อบแสดงความเห็นต่างจากกฎหมายที่บัญญัติ หรือประนามปฏิบัติการต่าง ๆ อันไม่เป็นธรรมจากรัฐ, ม๊อบการเมืองสุดโต่งทั้งซีกซ้ายและฝ่ายขวา ถึงกระทั่ง ม็อบประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น แม้ในส่วนอื่น ๆ ของโลก ได้รับการรับรองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Art. 8 GG) และในความเป็นจริงมันก็เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ จนนับครั้งไม่ถ้วน

ใช่ว่าตำรวจเยอรมันไม่เคยสลายม็อบ ใช่ว่าไม่เคยมีผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ใช่ว่าไม่เคยมีม็อบที่มีพฤติกรรมรุนแรง หรือก่อความไม่สงบ ตรงกันข้าม เหตุการณ์เหล่านี้แทบจะทุกรัฐ หรืออาจจะทุกเมืองในเยอรมันล้วนผ่านมาแล้วทั้งนั้น แต่จนแล้วจนรอด ม็อบ (และนักสิทธิมนุษยชน) เยอรมันก็ยังถือได้ว่า "อยู่กับร่องกับรอย" ไม่ใช่ "ม็อบติดอาวุธ" ที่สามารถใช้กำลังบุกยึดสถานีโทรทัศน์ของรัฐ อาจหาญปิดทำเนียบรัฐบาล หรือกระทั่งฮึกเหิมปิดทางเข้าออกรัฐสภา ได้โดยไม่ถูกประนาม หรือเมื่อโดนปราบปรามก็ยังได้รับความเห็นอกเห็นใจจากสังคม แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะโดนต่อว่าต่อขานบ้าง แต่ก็ยังไม่มีนักสิทธิมนุษยชน หรือผู้อวุโสคนไหน บังอาจร้องหาชวนทหารเข้าแทรกแซง

ถ้าไม่นับความเป็นกลาง และ(การยังคง)ความน่าเชื่อถือของผู้พิพากษาในการยุติเหตุต่าง ๆ ด้วยความเป็นธรรม, ถ้าตัดความไม่นิยมความรุนแรง และความเป็น "อารยะ" แล้ว หรือ "อหิงสา" จริงของม็อบส่วนใหญ่ออก, สลัดความไม่ดัดจริต หรืออ่อนไหวจนเกินเหตุของนักวิชาการ หรือนักสิทธิมนุษยชนเยอรมันเสีย รวมทั้งมองข้ามการยอมรับการใช้อำนาจ หรือมาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยฝ่ายรัฐของคนในสังคมเยอรมันไป ก็เห็นควรต้องลองให้ความสนใจการมีอยู่และการบังคับใช้ได้จริงของ "กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม" ของเยอรมันดูบ้างกระมัง

Versammlungsfreiheit หรือ สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เป็นผลมาจากการต่อสู้อันยาวนานของประชาชน ที่ก่อนหน้านี้จำต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ และการควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ อย่างเข้มงวดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาตรา 8 อนุมาตรา (1) รัฐธรรมนูญเยอรมัน (Grundgesetz) บัญญัติว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการจัดตั้ง หรือเข้าร่วมชุมนุม โดยสันติและปราศจากอาวุธ ทั้งนี้ไม่สำคัญว่าการชุมนุมนั้นจะได้รับอนุญาต หรือรับรองให้จัดได้จากรัฐหรือไม่

แม้โดยหลักการพื้นฐานเยอรมันจะให้เครดิตสิทธิในการชุมนุมนนี้ ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย และถือเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชน (นอกเหนือจากการเลือกตั้ง) แต่ก็ใช่ว่าเยอรมันชน (รวมทั้งคนสัญชาติอื่น ๆ ที่อยู่ในเยอรมันด้วย) จะชวนกันชุมนุมที่ใด หรือมีท่าทีอย่างไรในการชุมนุมก็ได้ เพราะนอกจากเงื่อนไขในเรื่องท่าที (โดยสันติ) และอาวุธ ที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (1) จะชัดเจนอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญเยอรมันไม่คุ้มครองการชุมนุม/ผู้ชุมนุมที่มีลักษณะ "ก่อความไม่สงบ" "ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง" หรือที่ "ติดอาวุธ" แล้ว มาตรา 8 อนุมาตรา (2) ยังบัญญัติให้อำนาจรัฐ ในการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขอื่นใดสำหรับการชุมนุมที่กระทำใน "ที่สาธารณะ" ไว้ด้วย ทั้งนี้ทั้งในระดับสหพันธรัฐ และระดับมลรัฐ

กฎหมายฉบับสำคัญแห่งสหพันธรัฐ ฯ ที่ยังใช้บังคับอยู่ ก็คือ Versammlungsgesetz หรือ Das Gesetz über die Versammlung und Aufzüge (กฎหมายว่าด้วย การประชุม และการชุมนุมประท้วง) ถูกบัญญัติขึ้นตั้งแต่ปี 1953 จุดมุ่งหมาย ก็เพื่อขีดเส้นกำกับ ไม่ให้การใช้ "เสรีภาพในการชุมนุม หรือการประท้วง" ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เกินเลยไป จนล้ำเส้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนกลุ่มอื่น กระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือกระทั่งล่วงละเมิดกฎหมายฉบับอื่น Versammlungsgesetz แบ่งลักษณะการชุมนุมที่ควรต้องมีการกำกับดูแล (ตัวรูปแบบ และวิธีการ ไม่ใช่ เนื้อหา เว้นแต่กรณีที่เนื้อหาผิดกฎหมายชัดเจน) ออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ 1) การประชุมสาธารณะ (ใครเข้าร่วมก็ได้) ในพื้นที่ปิด (บ้าน, อาคาร หรือห้องประชุม) กับ 2) การชุมนุม หรือการประท้วงสาธารณะในพื้นที่สาธารณะ (เช่น ชุมนุมบนถนน ในสวนสาธารณะ หรือการชุมนุมที่เคลื่อนขบวนไปเรื่อย ๆ) แต่ในบล็อกนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะที่เข้ากับสถานการณ์ประเทศไทย คือ การชุมนุมในที่สาธารณะฉบับรวบรัด ซึ่งมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามกฎหมาย ดังนี้

เงื่อนไขและข้อจำกัดในแง่รูปแบบ และวิธีการชุมนุม

1. กรณีเป็นการชุมนุมที่จัดตั้งขึ้น (ไม่ใช่การชุมนุมที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย : Spontanversammlung) ผู้จัดตั้งมีหน้าที่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (ของเยอรมัน คือ ตำรวจในพื้นที่นั้น ๆ) ทราบก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง (§ 14 VersammlG : Anmeldungspflichtung) โดยสิ่งที่ต้องระบุในการแจ้ง ก็อาทิ ใครเป็นผู้จัดตั้ง หรือใครเป็นผู้รับผิดชอบการจัดชุมนุม, วัน, เวลา, สถานที่, จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยประมาณ, หัวข้อที่จัดชุมนุม, อุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม เส้นทางหรือทิศทางในกรณีที่จะมีการเดินขบวน เป็นต้น

ผู้จัดตั้งนั้น มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องรับผิดชอบ และควบคุมดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการชุมนุม รวมทั้งพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้งหมด สามารถตั้งผู้ช่วยดูแลความเป็นระเบียบของการชุมนุมได้ตามจำนวนที่เหมาะสม โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมก็มีหน้าที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งของผู้จัดตั้ง และผู้ช่วย ฯ ผู้จัดตั้งเท่านั้นที่มีอำนาจกำหนดเวลา หรือยกเลิกการชุมนุมในเวลาใด ๆ ก่อนหน้านั้น และมีหน้าที่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานทราบด้วย หากไม่สามารถเลิกการชุมนุมได้ในเวลาที่กำหนดไว้

อนึ่ง ควรต้องทราบนะครับว่า หน้าที่ในการแจ้งการจัดตั้งชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่นี้ เป็นแค่เพียงการ "แจ้งเพื่อทราบ" เท่านั้น ไม่ใช่การ "ขออนุญาต" ซึ่งนั่นหมายความว่า โดยปกติแล้วการชุมนุมใด ๆ สามารถเริ่มได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคำรับรองจากรัฐก่อน เว้นไว้ก็แต่ การชุมนุมนั้นมีจุดมุ่งหมายและเนื้อหา ที่ต้องห้ามตามกฎหมายอย่างชัดเจน มีปัจจัยที่หนักแน่นว่าน่าจะก่อให้เกิดอันตราย หรือเข้าข่ายบางอย่างที่จะทำให้เกิดความไม่สงบ เจ้าหน้าที่จึงจะสามารถห้ามไม่ให้จัด หรือกำหนดเงื่อนไขบางอย่างให้ต้องปฏิบัติเพิ่มได้

จะเห็นได้ว่า ภาระหน้าที่ทั้งปวงนี้ มิได้ขัดกับหลัก "สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม" แต่อย่างใด เป็นแต่เพียงเงื่อนไขเพื่อกำหนดตัวผู้รับผิดชอบการชุมนุม และผู้ร่วมชุมนุมให้ชัดเจน และเพื่อให้ฝ่ายรัฐได้จัดเตรียมความพร้อม รวมทั้งหามาตรการป้องกันความสงบเรียบร้อย เท่านั้น
2. ต้องเป็นการชุมนุมโดยสันติ (friedliche Versammlung) แม้ในกฎหมายฉบับนี้ จะไม่มีคำจำกัดความสำหรับคำว่า "ชุมนุมโดยสันติ" ระบุไว้โดยตรง มีก็แต่ความหมายในเชิง negative ที่ปรากฎใน §§ 5 Nr. 3, 13 I Nr. 2 VersammlG เท่านั้น แต่ทั้งศาล และนักกฎหมายต่างก็ยอมรับและตีความว่า การชุมนุมใด ๆ ย่อมไม่อาจถือว่า "โดยสันติ" ได้ หากการชุมนุมนั้นดำเนินไปด้วย "ความรุนแรง" และมีลักษณะของการ "ก่อความไม่สงบ" โดยคำว่า ความรุนแรงในที่นี้ หมายถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะใช้กำลัง ในเชิงรุก (active) เพื่อคุกคาม หรือจะก่ออันตรายแก่บุคคลหรือสิ่งของ รวมทั้งพฤติกรรมที่แสดงออกมามีลักษณะก้าวร้าวเกินควร และแน่นอนถ้า "ติดอาวุธ" เมื่อไหร่ ก็ยากนักที่จะเรียกได้ว่า สันติ

ดังนั้น คำว่า "ไม่สันติ" ในที่นี้ จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นจริง หรือต้องถึงขั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา (เช่น ทำร้ายร่างกาย หรือ ทำให้เสียทรัพย์) ก่อน เพราะเพียงแค่มีการแสดงออกที่ไม่สันติก็เป็นเรื่องต้องห้ามแล้ว [BVerfGE 73, 206, 248 f. (Sitzblockade); 87, 399, 406 (Versammlungsauflösung)]

อย่างไรก็ตาม แค่เพียงพฤติกรรมไม่สันติของผู้ร่วมชุมนุมบางคน (ในขณะที่คนอื่น ๆ ชุมนุมโดยสันติ) ยังไม่อาจบอกได้ว่า การชุมนุมนั้นทั้งการชุมนุมเป็นไปโดยไม่สันติแล้ว กรณีนี้มีผลแค่ว่า รัฐธรรมนูญย่อมไม่คุ้มครองผู้ชุมนุมผู้ไม่สันตินั้นเท่านั้น [BVerfGE 69, 315, 261 (Brokdorf); Kannengießer, in: Schmidt-Bleibtreu/Klein, GG, Art. 8 Rn 4 a.)] มาตราการแก้ไขที่เป็นไปได้ในขั้นตอนนี้ ก็คือ เจ้าพนักงานรัฐที่มีอำนาจ สามารถสั่งให้ผู้ชุมนุมคนนั้นออกไปจากการชุมนุม (§ 18 Abs. 3 VersammlG) แต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถห้ามปรามการใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมคนใด คน หนึ่งได้ หรือ เล็งเห็นแล้วว่าการห้ามปรามความรุนแรงในการชุมนุมไม่เป็นผล ก็อาจนำไปสู่เงื่อนไขที่จำเป็นต้องห้ามปรามหรือสลายทั้งการชุมนุม ตามที่มาตรา 8 อนุมาตรา 2 รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ (จะพูดถึงต่อไป)

ซึ่งประเด็นนี้น่าจะตีความได้ว่า กฏหมายประสงค์ให้ผู้ชุมนุม (รวมทั้งผู้จัดตั้งการชุมนุม มีข้อกำหนดไว้ในมาตรา 11 VersammlG ให้อำนาจผู้จัดตั้งสั่งให้ผู้ร่วมชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายออกจากการชุมนุม ได้ ในกรณีการชุมสาธารณะในพื้นที่ปิด) ต้องควบคุมดูแลกันเองด้วย เพราะหากยังปล่อยให้ใครคนหนึ่งก่อความวุ่นวาย ย่อมเปิดช่องให้ตำรวจใช้มาตราการห้ามการชุมนุมทั้งหมดได้ทีเดียว

3. ห้ามมีอาวุธ (Waffentrageverbot) อาวุธในที่นี้หมายทั้ง อาวุธตามความหมายในกฎหมาย เช่น ปืน, ดาบ หรือสนับมือ (§ 1 WaffG) และอุปกรณ์หรือเครื่องมืออื่นใดที่โดยกฎหมายไม่ใช่อาวุธ แต่โดยสภาพสามารถใช้ (ตามความมุ่งหมายของผู้ใช้) เพื่อก่ออันตรายขึ้นได้ เช่น ไม้เบสบอล, โซ่ หรือ จอบขุดดิน (§ 224 StGB) ทั้งนี้ไม่สำคัญว่า ผู้นำมานั้นมีจุดมุ่งหมายแค่เพียงพกพา เพื่อป้องกันตัว หรือว่าใช้ทำอันตรายบุคคลอื่นหรือสิ่งของอื่น นอกจากนี้ ยังห้ามทั้งกรณีมีอาวุธในที่ชุมนุม และการพกพาอาวุธเหล่านั้นไปในระหว่างเดินทางมาเพื่อร่วมชุมนุมด้วย หากฝ่าฝืนมีโทษอาญา (§§ 2 Abs. 3, § 17a Abs. 1, 27 Abs. 1 and Abs. 2 Nr. 1 VersammlG)

4. ห้ามใส่ชุด เครื่องหมาย หรือใช้สี หรือสัญลักษณ์ใด ๆ เพื่อแสดงจุดร่วมกันทางการเมือง (§ 3 VesammlG : Uniformierungsverbot) อนึ่ง บทบัญญัตินี้ ไม่ได้มุ่งหมายห้ามแสดงจุดร่วมทางการเมืองทุกชนิด แต่มุ่งหมายเฉพาะสี หรือสัญลักษณ์ที่เกี่ยวพันกับ ลัทธิความรุนแรงต่าง ๆ อาทิ ชุดดำ หรือ ฮูทสีดำ กรณีของ "Black Block" ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มอนาธิปไตย แต่ปัจจุบันถูกใช้บ่อยในการชุมนุมของกลุ่ม นีโอนาซี หรือ กรณีการรวมตัวของกลุ่มต่อต้านคนต่างด้าวอย่างกลุ่มที่โกนหัว (สกินเฮด) เป็นต้น กรณีของไทยจะหมายถึง ม็อบเสื้อเหลือง (อำมาตยาธิปไตย) หรือ ม็อบเสื้อแดง (ต่อต้านเสื้อเหลือง ?) ก็น่าจะได้

อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่า มาตรา 3 ของกฎหมายการชุมนุมนี้ เขียนไว้ไม่ชัดเจน และควรต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้รัดกุมขึ้น เพื่อไม่ให้สามารถตีความครอบคลุมไปถึง การแสดงออกที่ไม่เป็นภัย หรือไม่มีลักษณะรุนแรงอย่าง กลุ่มสีขาวที่เรียกร้องสันติ หรือกลุ่มสีเขียวที่เรียกร้องให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้ ซึ่งบ้านเราอาจหมายถึง ม็อบเสื้อส้ม หรือ ม็อบริบบิ้นขาว ได้กระมัง

5. ห้ามปิดบังอำพรางตัวตน (Vermummungsverbot) ในการชุมนุม รวมทั้งระหว่างการเดินทางไปร่วมการชุมนุม ห้ามไม่ให้ใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ใด ๆ (หน้ากาก, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ฯลฯ) โดยมุ่งหมายเพื่อปิดบังอำพราง หรือขัดขวางการระบุตัวตน ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา (§§ 17a Abs. 2, 27 Abs. 2 Nr. 2 VersammlG) ทั้งนี้บังคับกับการชุมนุมของทุกกลุ่ม ทุกสี

บุคคล และสถานที่ต้องห้าม

นอกจากเงื่อนไขในแง่รูปแบบวิธีการที่กล่าวมาแล้ว Versammlungsgesetz ยังห้าม "กลุ่มบุคคลบางกลุ่ม" ไม่ให้จัดตั้ง หรือเข้าร่วมการชุมนุมใด ๆ อีกด้วยดังนี้

1. บุคคลใด ๆ ที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่า เป็นผู้ละเมิดหรือกระทำผิดต่อหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประเภทต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ (อาทิ เสรีภาพสื่อมวลชน, เสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ฯลฯ) ตามมาตรา 18
2. บุคคลใด ๆ ที่ต้องการสนับสนุน เป้าหมายของพรรคการเมือง หรือองค์กรเครือข่ายที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
3. บุคคลผู้เข้าสังกัดฝ่ายใด ๆ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว
4. กลุ่มบุคคลใด ๆ (ที่อยากจัดตั้งเป็นสมาคมแต่ทำไม่ได้) ที่มีเป้าหมาย และกิจกรรมเข้าข่ายต้องห้ามไม่ให้จัดตั้งเป็นสมาคมตาม กฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz) หรือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Art. 9 Abs. 2 GG) เช่น มีเป้าหมายขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือ ต่อต้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สำหรับสถานที่นั้น ใน Versammlungsgesetz เอง กำหนดห้ามไม่ให้ชุมนุมในพื้นที่ทำการของ องค์กรผู้บัญญัติกฎหมาย ทั้งของสหพันธฯ และของมลรัฐ และพื้นที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ (§ 16 VersammlG) ทั้งนี้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ (§ 4 BannmG) นอกจากนนี้ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับอื่น [Das Bannmeilengesetz (BannmG)] รัฐสภาเยอรมัน (Bundestag) ก็อยู่ในข่ายสถานที่ต้องห้ามด้วย เว้นแต่ การชุมนุมนั้น ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายในการขัดขวางการทำงานของสภาผู้แทน ฯ, วุฒิสภา หรือองค์กรตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอื่นๆ ทั้งนี้ การชุมนุมที่ขัดขวางทางเข้าออกสถานที่ดังกล่าว ก็ย่อมถือเป็นการขัดขวางการทำงานขององค์กร ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมนั้นมีขึ้นในวันที่มีการประชุมรัฐสภา หรือวุฒิสภา (§ 5 Abs. 1 S. 2 BefBezG)...เห็นไหมว่า ขนาดประเทศเสรีอย่างเยอรมัน องค์กรรัฐก็ยังได้รับการคุ้มครองจากกลุ่มผู้ประท้วง ตั้งแต่อยู่มา ผมก็ไม่เคยได้ยินว่า รัฐสภาเยอรมันต้องหอบเอกสารไปนั่งทำงานกันที่สนามบินไหน (ฮา)


นอกจากสถานที่ดังกล่าวแล้ว นับแต่ปี 2005 เป็นต้นมา เยอรมันยังห้ามไม่ให้ชุมนุมด้วย ถ้าการชุมนุมนั้นถูกจัดในสถานที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อผู้ตกเป็น เหยื่อนาซี และการชุมนุมนั้นจะทำให้ศักดิ์ศรีของเขาถูกทำลายลง โดยถือเป็นอำนาจของเมือง (มลรัฐ) แต่ละแห่งในอันที่จะกำหนดสถานที่ลักษณะดังกล่าวขึ้นเอง นอกเหนือจาก อนุสรน์สถานเพื่อรำลึกถึงชาวยิวที่ตกเป็นเหยื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง Denkmal für die ermordeten Juden Europas ที่ตั้งอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน ( (§ 15 Abs. 2 VersammlG)


การชุมที่ฝ่าฝืนข้อห้าม และอำนาจในการสลายการชุมนุม (Auflösung/Verbot der Versammlung) :

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ ก็คือ เมื่อรัฐใดรัฐหนึ่งตกลงปลงใจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับการชุมนุมสาธารณะเป็นกฎหมายแล้ว เพื่อให้กฎหมายที่กำหนดนั้นใช้ได้จริง ไม่เป็นหมัน ก็จำเป็นต้องมีบทลงโทษสำหรับคนที่ฝ่าฝืน รวมทั้งบทให้อำนาจเจ้าพนักงานในการ "บังคับใช้กฎหมาย" เอาไว้ด้วย โดยผู้ที่จะใช้อำนาจนั้นได้ก็ต้องเป็น "เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ" โดยตรงเท่านั้น (put the right man on the right job) ไม่ใช่นึกอยากจะเรียกทหารเข้ามาสลายก็ทำได้ หรืออยากส่งตำรวจไปยิงปืนใหญ่ป้องกันประเทศก็ไม่มีใครว่า

และในกฎหมายฉบับนี้นอกจากโทษทางอาญาในกรณีที่ฝ่าฝืนแล้ว มาตรา 15 ใน Versammlungsgesetz ยังบัญญัติ มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมาย สามารถห้าม หรือกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการชุมนุมใด ๆ ที่หากจัดแล้ว อาจกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อย (§ 15 Abs. 1 VersammlG) เช่น กรณีของการขอชุมนุมเพื่อประท้วง กลุ่มที่ชุมนุมอยู่ก่อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้ดูร่วมสมัยก็ เช่น นปก VS พธม. เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานสามารถเข้าสลายการชุมนุมได้นั้น โดยหลักการ จะทำได้ก็ต่อเมื่อ เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายอาญา หรือเป็นการชุมนุมที่เข้าข่ายข้อกำหนด "ห้ามชุมนุม" ต่าง ๆ ตามที่กล่าวถึงข้างต้น อาทิ ไม่เป็นการชุมนุมโดยสันติ และปราศจากอาวุธ, ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าตามกฎหมายการชุมนุม (เว้นแต่ เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการจัดตั้งนัดหมาย ซึ่งไม่ต้องแจ้งให้รัฐทราบ), เป้าหมายหรือขอบเขตการชุมนุมนั้นถูกเบี่ยงเบน หรือเปลี่ยนแปลงไปจากที่แจ้งไว้ (§ 15 Abs. 3, 4 VersammlG) แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือ แม้กฎหมายการชุมนุมจะไม่ได้ระบุชัดเจน แต่ศาลก็เคยวางแนวไว้ ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องชัดเจนและหนักแน่นพอ มิใช่เพียงการสันนิษฐาน หรือต้องสงสัยเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ก็ต้องใช้มาตรการขั้นต่ำที่สุดก่อน

อนึ่ง ปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติการ (ภายหลังชัดเจนว่าเข้าเงื่อนไขให้สลายได้ตาม Versammlungsgesetz) ว่าตำรวจจะสามารถนำมาตรการระดับต่าง ๆ มาใช้ดูแลการชุมนุม หรือในกรณีที่ต้องมีการสลายการชุมนุมได้บ้างนั้น Versammlungsgesetz ไม่ได้กำหนดไว้ครับ โดยเขาปล่อยให้เป็นไปตาม "กฎหมายตำรวจ" (Polizeirecht) ของแต่ละรัฐ ว่ามีมาตรการในเรื่องนี้อย่างไรบ้างซึ่งแตกต่างกันไป

แต่โดยหลัก ตำรวจเยอรมันจะหลีกเลี่ยงการปะทะตรง ๆ กับผู้ชุมนุม และมีหลักเกณฑ์ว่า ต้องมีการการประกาศเตือนให้ผู้ร่วมชุมนุมออกจากการชุมนุมก่อนเสมอ และทิ้งช่วงในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งในการประกาศนั้นเจ้าหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนต่อผู้ชุมนุมด้วยว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีการใช้อุปกรณ์ใด หรือมาตรการใดเพื่อสลายการชุมนุม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้เลือกตัดสินใจเองว่าจะชุมนุมต่อไป หรือจะรอรับผลต่าง ๆ จากการสลายนั้น โดยส่วนใหญ่ตำรวจเยอรมันมักใช้ น้ำจากรถดับเพลิงฉีดก่อนเสมอ เมื่อไม่เป็นผลจึงจะใช้แก๊สน้ำตา จากนั้นก็ส่งกำลังกระจายเข้าสกัดกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้กลับมารวมตัวกันได้อีก อย่างไรก็ตาม เทคนิคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมให้ได้ผลแบบไม่ต้องปะทะกันตรง ๆ โดยผู้คนไม่บาดเจ็บล้มตายนั้น แต่ละประเทศในยุโรปก็แตกต่างกันไปในรายละเอียดครับ ถ้าหน่วยงานตำรวจไทยเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญจริง ๆ ก็ควรต้องเร่งรีบหางบประมาณส่งคนมาศึกษาดูงานกันโดยด่วน


[โปรดดู ภาพสลายการชุมนุมประท้วง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ Moorburg 2008 : //de.indymedia.org ]


กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม สำคัญอย่างไร ?

การชุมนุมทีไร้กฎเกณฑ์กำกับว่าอะไรทำได้หรืออะไรทำไม่ได้ หรือการชุมนุมที่ผู้จัดตั้งไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อผู้ชุมนุม ย่อมมีโอกาสที่จะนำไปสู่สถานการณ์อันตราย และการละเมิดกฎหมายได้เสมอ ในขณะที่การสลายการชุมนุมที่ไร้อำนาจ และขาดประสบการณ์ย่อมมีแนวโน้มนำไปสู่การประทะ การใช้กำลัง และความรุนแรง และสุดท้าย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็จะเหลือไว้แต่เงื่อนงำ และการประนามอย่างเลื่อนลอย

ดังกล่าวไปแล้วว่า ใช่ว่าในเยอรมันจะไม่มีการสลายการชุมนุมเลย หรือใช่ว่าตำรวจเยอรมันไม่เคยโดนประท้วงว่าใช้กำลังกับประชาชน แต่ควรต้องทราบว่า ทั้ง การตัดสินใจที่จะสลายการชุมนุมหรือไม่ หรือปัญหาว่าควรสลายอย่างไรของฟากผู้ปฏิบัติงาน และทั้งข้อกล่าวหาว่าเจ้าพนักงานใช้กำลังโดยมิชอบกับประชาชนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงลอย ๆ ตามความรู้สึกของใคร แต่ล้วนตั้งอยู่บนข้อกำหนดที่ชัดเจน สามารถโต้แย้ง และอ้างยันกันได้ตามหลักกฎหมายทั้งสิ้น ที่ผ่านมา ในเยอรมันมีคำพิพากษาศาลในเรื่องนี้วางเป็นบรรทัดฐานหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งฝ่ายที่ต้องรับผิดก็มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายผู้ชุมนุมเอง

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว กฎหมายว่าด้วยการชุมนุม จึงไม่ใช่เพียง กฎหมายที่ทำให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพในเรื่องนี้่ ซึ่งถูกเขียนไว้ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรมจับต้องได้ หรือเพียงเพื่อขีดเส้นกำกับพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมให้อยู่กับ ร่องกับรอย ป้องกันการ "ใช้สิทธิเกินส่วน" จนไปละเมิดหรือกระทบสิทธิ และความปลอดภัยสาธารณะของคนอื่น เท่านั้น แต่มันยังเป็นแนวทาง และหลักยึดสำหรับฝ่ายตำรวจผู้จำต้องปฏิบัติการ รวมทั้งเป็นมาตรวัดความถูกผิดสำหรับสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นให้กับ ผู้คนในสังคม อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบัญญัติกฎหมายในเรื่องซึ่งเกี่ยวพันใกล้ชิดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดง ความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างสิทธิเสรีภาพในการชุุมนุมนี้ นับว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว และไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การวิจัยศึกษากฎหมาย และแนวทางที่เหมาะสม รวมทั้งการถามความเห็นประชาชนเจ้าของสิทธิ ทั้งประเด็นข้อจำกัดหรือข้อห้ามในแง่รูปแบบ และท่าทีว่าควรอยู่ระดับใด, หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้จัดตั้งการชุมนุมควรมีอะไรบ้าง, เจ้าพนักงานที่มีอำนาจควรเป็นตำรวจเท่านั้น หรือเป็นคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย, สถานการณ์ใดที่สามารถสลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการ รูปแบบวิธีการ และเครื่องมือที่ใช้ในการสลายการชุมนุมควรเป็นอย่างไร จึงถือว่าสำคัญมาก


กรณีเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เมื่อมีผู้บาดเจ็บล้มตาย ไม่ใช่เรื่องผิดเลย หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการจะถูกตรวจสอบ หรือตั้งคำถามถึงความเหมาะสมแห่งวิธีการ และความรับผิดชอบ แต่ต้องถือว่าผิดและแปลกมาก หากคนในสังคมไม่สนใจวิธีการและเนื้อหาที่ประท้วง ไม่คิดหาคำตอบ หรือทวงถามความรับผิดชอบจากการชุมนุมติดอาวุธอย่างกลุ่มพันธมิตร ฯ เลย

สังคมที่ชวนให้ผู้คนดัดจริต คือ สังคมที่ปากบอกว่าชอบสันติ แต่กลับเลือกข้างในการประนามความรุนแรง และชี้ถูกผิดด้วยการขยิบตาตามความรู้สึก สังคมที่ดัดจริต คือ สังคมที่นิยมเสรีภาพและสันติสุข แต่ปล่อยให้ประชาชนใช้สิทธิจนละเมิดสิทธิของประชาชนคนอื่น ๆ สังคมที่ปากว่าตาขยิบ คือ สังคมที่จ้องเอาผิดกับปฏิบัติการของตำรวจ แต่ชวนเชิญทหารให้ยึดอำนาจ...ฤาว่าสังคมไทยอยาก เป็นสังคมประเภทนี้ (อยู่ต่อไป) ?

เพิ่มเติม : ปี 2006 เยอรมันให้อำนาจแต่ละมลรัฐในการบัญญัติ Versammlungsgesetz ใช้บังคับเฉพาะในรัฐตัวเองได้ครับ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่าVersammlungsgesetz ของสหพันธรัฐเองบัญญัติตั้งแต่ปี 1953 แม้จะมีการแก้ไขบ้าง (ล่าสุด 2005) แต่ก็อาจไม่ทันต่อลักษณะการประท้วงรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้ง ประวัติศาสตร์ ลักษณะนิสัย แนวคิดของพลเมืองในแต่ละเมือง มีความแตกต่างกัน แน่นอนที่ว่า ทั้งความถี่ และความเข้มข้นของการประท้วงจึงย่อมแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น รัฐแต่ละรัฐจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีรายละเอียดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการประท้วงที่เกิดในรัฐของตัว ด้วย

และรัฐที่ขอใช้สิทธินั้นเป็นรัฐแรก ก็คือ รัฐบาวาเรีย (Bayern) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเยอรมันนี่เอง ครับ แต่กว่าที่กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมของรัฐบาวาเรียตัวใหม่จะออกมาบังคับใช้ได้ ตำรวจแห่งรัฐบาวาเรียก็ต้องรับมือกับม๊อบจำนวนมากเป็นการส่งท้ายบทบัญญัติ เก่า ทั้งนี้เพราะ ร่างกฎหมายดังกล่าวที่ประกาศตัวออกมาราวกลางปี 2008 โดนประท้วงอย่างขนานใหญ่ทั่วทั้งมลรัฐ เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่ว่า มีรายละเอียด เงื่อนไข และข้อห้ามเพิ่มเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง



แม้รัฐบาวาเรียเองจะให้เหตุผลว่า กฎหมายตัวใหม่นี้มีจุดประสงค์หลักในการควบคุมอย่างเข้มงวดเฉพาะกับ การประท้วงของกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงสองฟาก (ซ้าย และขวา) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่ม นาซีใหม่ (Neonazi) ที่เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ชาวบาวาเรียก็ยังไม่อาจรับเงื่อนไขโดยรวมบางประการได้อยู่ดี อาทิ จากที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 48 ชั่วโมง ก็กลายเป็น 72 หรือ 96 ชั่วโมง (ตามลักษณะและเป้าหมายการชุมนุม), การเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานสามารถถ่ายวีดีโอการชุมนุมโดยรวมได้ (เพิ่มจากเดิม คือ ถ่ายรูป หรืออัดเสียงได้เฉพาะกับ ผู้ร่วมชุมนุมที่ต้องสงสัย) หรือการห้ามการเคลื่อนไหวในรูปแบบการชุมนุมของกลุ่มซ้ายและขวาที่ใช้ตอบโต้ เจ้าหน้าที่ปราบจราจล เช่น การรวมตัวและเคลื่อนขบวนแบบ "Black Block" เป็นต้น อย่างไรก็ตามกฎหมายตัวใหม่นี้ก็ได้รับการลงนามและคลอดบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2008 ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ มีนักการเมืองคนหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าใคร) เคยกล่าวไว้ทำนองว่า ถ้ารัฐบาวาเรียทำอะไรเกี่ยวกับกฎหมายเมื่อไหร่ ในไม่ช้ารัฐอื่น ๆ ก็จะออกกฎหมายแบบนั้นตามมาเป็นแถว....ก็เห็นจะจริง เพราะตอนนี้ ฐานการประท้วงถูกย้ายไปอยู่ที่รัฐบาเดน-วืดเทนแบร์ก เรียบร้อย เพราะที่นั่นก็กำลังผลักดัน Versammlungsgesetz ของรัฐตัวเองตามหลังบาวาเรียมาติด ๆ



Create Date : 25 มิถุนายน 2552
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 9:12:52 น. 0 comments
Counter : 1651 Pageviews.

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.