*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
คดีเขาพระวิหาร กับความเห็น รศ.ประสิทธิ์ฯ

ข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีสถานะทางกฎหมายของคำเเถลงการณ์ร่วม

บทนำ

ผู้พิพากษา Lord Denning กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลเป็นของสาธารณะ สาธารณชนพึงวิจารณ์คำพิพากษาของศาล อนุสนธิจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสถานะทางกฎหมายของคำเเถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) นั้นมีข้อสังเกตที่ควรพิจารณา ดังนี้

1.เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความหมายของหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 เเห่งรัฐธรรมนูญ 2550

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับขอบเขตความหมายของคำว่า “หนังสือสัญญา” ตามมาตรา 190 วรรคเเรกนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวิเคราะห์หรืออธิบายความหมายของคำว่า “หนังสือสัญญา” ไม่ละเอียด

แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีก่อน 2 คดี คือ คดีเกี่ยวกับหนังสือเเสดงเจตจำนง กับคดีการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เเละที่น่าเเปลกใจที่สุดคือการนำ “ความเห็นของผู้ร้อง” คือ วุฒิสภา มาเป็น “เหตุผล” หลัก ในการอธิบายความหมายของคำว่า “หนังสือสัญญา” โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญแทบมิได้ใช้ความพยายามใดๆ ที่จะค้นคว้าอ้างอิงเกณฑ์ที่ศาลโลกได้เคยกล่าวไว้ในคดีไหล่ทวีปเเห่งทะเลอีเจียน (Aegean Sea Continental Shelf) ระหว่างประเทศกรีซกับตุรกี

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ.1978 ซึ่งเป็นคดีที่ศาลโลกได้กล่าวถึงเกณฑ์ 3 ประการที่ใช้ประกอบพิจารณาว่าเเถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่ เกณฑ์ที่ว่านี้ได้เเก่ การใช้ถ้อยคำ บริบทของการทำเเถลงการณ์ร่วม (Context) เเละทางปฏิบัติของรัฐภายหลังทำเเถลงการณ์ร่วม (Subsequent conduct) อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้พิจารณาทางปฏิบัติของนานาประเทศเกี่ยวกับสถานะของเเถลงการณ์ร่วมว่า ส่วนใหญ่มีสถานะทางกฎหมายเป็นสนธิสัญญาหรือไม่

เเต่ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังนำข้ออ้าง หรือข้อสนับสนุนของวุฒิสภา มาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของเเถลงการณ์ร่วม โดยไม่ได้ให้น้ำหนักต่อคำชี้เเจงของอธิบดีกรมสนธิสัญญาเเต่ประการใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญรวบรัดสรุปว่าเเถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญานั้น มีประเด็นที่ควรกล่าวถึง ดังนี้

ประการเเรก ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “เมื่อคำเเถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมิได้กำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง จึงต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ” การสรุปของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ทำให้เข้าใจต่อไปว่า “คำเเถลงการณ์ร่วม” จำเป็นต้องตกอยู่ภายใต้ “กฎหมาย” เสมอ โดยกฎหมายนั้นถ้าไม่เป็น “กฎหมายภายใน” ก็ต้องเป็น “กฎหมายระหว่างประเทศ” เเต่ในทางปฏิบัติระหว่างประเทศ มีคำเเถลงการณ์ร่วมมากมายที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (non-legal binding) เเต่เป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองหรือท่าทีทางการเมืองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น

โดยปกติเเถลงการณ์ร่วมจะไม่ตกอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐใดรัฐหนึ่ง เพราะการทำเเถลงการณ์ร่วมมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของรัฐ (Equality of state) สถานะของเเถลงการณ์ร่วมกับ “สัญญาสัมปทาน” (Concession) นั้นมีความเเตกต่างกัน

ประการที่สอง ข้อความตอนหนึ่งศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “…ซึ่งปกติแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ประสงค์จะให้มีผลทางกฎหมายนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม...” ไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญนำหลักกฎหมายข้อนี้มาจากที่ใด มีแถลงการณ์ร่วมมากมายที่ลงนามโดยประมุขของรัฐ (Head of State) ประมุขของรัฐบาล (Head of Government) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (Ministers for Foreign Affairs) หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในฐานะที่เป็นสนธิสัญญา เช่น คำแถลงการณ์ร่วมระหว่างประเทศจีนกับประเทศญี่ปุ่น ลงนามวันที่ 29 กันยายน ค.ศ.1972 ที่กรุงปักกิ่ง ก็มีการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น

ประการที่สาม หนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่ใช้พิจารณาว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นสนธิสัญญาหรือไม่ คือ ทางปฏิบัติภายหลังของรัฐของคู่สัญญา (Subsequent practice) ว่ามี “เจตนา” ที่จะก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ในทางระหว่างประเทศ เกณฑ์เรื่องเจตนา (Intention test) มีบทบาทสำคัญในการวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแถลงการณ์ร่วมว่า เป็นสนธิสัญญาหรือไม่ ซึ่งไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้คำนึงเกณฑ์ข้อนี้มากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังทางกัมพูชา เพื่อขอระงับการใช้แถลงการณ์ร่วม กรณีนี้ไม่ทราบว่าทางกัมพูชาได้มีหนังสือโต้ตอบทางการทูตหรือไม่ และหากหนังสือโต้ตอบทางการทูตจากกัมพูชามีเนื้อหาสาระฟังได้ว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่มีเจตนาที่จะให้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นสนธิสัญญา (พูดง่ายๆ ก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีเจตนาตรงกันที่จะให้แถลงการณ์ร่วมก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่) ศาลรัฐธรรมนูญจะอธิบายประเด็นนี้อย่างไร

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนไม่ติดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญา แต่อยากเห็น “เหตุผล” หรือ “เกณฑ์” ที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้พิจารณาสถานะทางกฎหมายของแถลงการณ์ร่วมรอบคอบกว่านี้

2.การก้าวล่วงบทบาทอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารเเละฝ่ายนิติบัญญัติ

หลักการเเบ่งเเยกอำนาจเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรากฎหมาย ฝ่ายบริหารมีหน้าที่บริหารประเทศตามกฎหมาย เเละฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตีความเเละใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น หากตุลาการขยายขอบเขตอำนาจของตนมากจนเกินไป จนล้ำเเดนของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารเเล้ว (ultra vires) ก็จะส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศได้ อีกทั้งยังอาจขัดต่อคุณลักษณะของความเป็นองค์กรตุลาการที่เรียกว่า Judicial Propriety ด้วย เมื่ออ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีหลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปก้าวล่วงอำนาจหรือภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ดังนี้

1) การก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ

ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตีความเเละใช้กฎหมายตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ซึ่งมีนัยว่า การตัดสินคดีฝ่ายตุลาการถูกผูกพันว่าจะต้องวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่ถ้อยคำมีความคลุมเครือ หรือกำกวม ตุลาการสามารถตีความกฎหมายได้ เเต่ตุลาการต้องไม่บัญญัติกฎหมายขึ้นเสียเอง

มาตรา 190 วรรคสอง บัญญัติว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนเเปลงอาณาเขตไทย...” หมายความว่า หนังสือสัญญานั้นต้องมี “บท” ซึ่งเเสดงว่าต้องมีข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการ “เปลี่ยนเเปลง” คือทำให้ดินเเดนหรืออาณาเขตไทยเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง เเละการเปลี่ยนเเปลงนั้นต้องเป็นผลที่เกิดขึ้นจริง มิใช่ “อาจมีบท” อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน การเพิ่มคำว่า “อาจ” เข้าไปโดยพลการ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญกำลังเข้าไปก้าวก่ายงานของฝ่ายนิติบัญญัติเเล้ว

2) การก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายบริหาร

ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีอยู่หลายตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เเสดงบทบาทเกินขอบเขตขององค์กรตุลาการอย่างที่ควรจะเป็น เช่น กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ผู้ทำหนังสือสัญญาจะต้องใคร่ครวญให้รอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการทำหนังสือสัญญาดังกล่าว...” “...การดำเนินการเเละพิจารณาวินิจฉัยในเรื่องนี้จึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ” เเละ “...ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน เเละอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้” และ “...พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามคำเเถลงการณ์ร่วมไป ก็อาจก่อให้เกิดการเเตกเเยกกันทางด้านความคิดของคนในสังคมทั้ง 2 ประเทศ

อีกทั้งอาจก่อให้เกิดวิกฤติเเก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศกัมพูชา” ที่น่าฉงนก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญกำลังคิดเเทน “คนกัมพูชา” ว่า การลงนามจะก่อให้เกิดความเเตกเเยก ยิ่งกว่านั้น หากคิดกลับกัน การไม่ทำเเถลงการณ์ร่วม เเล้วยอมให้กับพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยพ่วงเเผนที่ฉบับเเรกที่เสนอในที่ประชุม ณ ประเทศนิวซีเเลนด์ ปีที่เเล้ว ก็จะที่กินพื้นที่ฝั่งไทยเข้ามาเป็นจำนวนมาก จะไม่เป็นการสร้างความเเตกเเยกหรือ

จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ดูประหนึ่งว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารเสียเองในเรื่องเกี่ยวกับกิจการด้านการต่างประเทศ “Foreign Affairs” หรือการดำเนินวิเทโศบาย ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศอยู่เเล้ว หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลย่อมอาศัยช่องทางทางการทูต (Diplomatic Channels) เป็นวิถีทางในการเเก้ไขปัญหาความขัดเเย้งระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีความถนัดเเละประสบการณ์มากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ คำกล่าวข้างต้นของศาลรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะของ “การตำหนิหรืออบรม” การทำงานของฝ่ายบริหาร รวมถึงศาลพยายามเเก้ไข “ข้อพิพาททางการเมือง” (Political dispute) มากกว่าที่จะใช้ความพยายามที่จะวินิจฉัยปัญหา “ข้อพิพาททางกฎหมาย” (Legal dispute) ดังจะเห็นได้จาก ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลามากไปกับการกล่าวถึงข้อวิตกห่วงใยถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ มากกว่าที่จะใช้เวลาในการอธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา (Conclusion of Treaty) หรือการขอความเห็นชอบจากสภา (Parliamentary Approval) หรือวิเคราะห์ ตีความถ้อยคำต่างๆ ที่เป็นศัพท์เฉพาะทางกฎหมาย เช่น คำว่า “เปลี่ยนเเปลง” “อาณาเขตไทย” “ความมั่นคงทางสังคม” ฯลฯ ว่ามีความหมายเเคบกว้างเพียงใด

3.ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเรื่องการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

ข้อความตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยกล่าวว่า “เเต่หากเเปลความเช่นนั้น ก็จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งจะตรวจสอบควบคุมการทำหนังสือสัญญาก่อนที่ฝ่ายบริหารจะไปลงนาม...” ศาลรัฐธรรมนูญกำลังสับสนระหว่าง “การควบคุมตรวจสอบ” (Monitoring) หรือ “การถ่วงดุล” (Check and balance) เเต่การเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบกับสนธิสัญญาบางประเภทนั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า “การมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติ” (Parliamentary Participation) ในกระบวนการทำสนธิสัญญา เช่น ในหนังสือชื่อว่า “Parliamentary Participation in the Making and Operation of Treaties” บรรณาธิการคือ Stefan Riesenfeld ตีพิมพ์ ค.ศ.1994

ความคลาดเคลื่อนสับสนนี้เกิดขึ้นเพราะเนื้อหาของมาตรา 190 เอง ที่ผู้ร่างต้องการความคุมการทำหนังสือสัญญาของฝ่ายบริหารจนมากเกินควร เสียจนไปกระทบหลักใหญ่ที่รับรองว่าการทำหนังสือสัญญาเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร (มาตรา 190 อยู่ในหมวดของคณะรัฐมนตรี มิใช่รัฐสภา)

กล่าวโดยสรุปเเล้ว มาตรา 190 มิใช่เป็นเรื่องการควบคุมตรวจสอบหรือการถ่วงดุล แต่เป็นเรื่องการเปิดโอกาสให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำสนธิสัญญา

4.การเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังจากที่แสดงเจตนาผูกพันแล้ว

หากรัฐธรรมนูญไทยต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญควบคุมการทำหนังสือสัญญาแล้ว ควรระบุให้ชัดเจนว่า ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในทางระหว่างประเทศ (Consent to be bound) ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา “ก่อน” อย่างรัฐธรรมนูญของประเทศโคลอมเบีย ค.ศ.1991 ตามมาตรา 240 ข้อ 10 แต่กรณีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามแล้ว จึงมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า การลงนามนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็หามีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันไม่ เนื่องจากอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 มาตรา 46 บัญญัติห้ามมิให้รัฐอ้างการละเมิดกฎหมายภายใน (ในที่นี้คือรัฐธรรมนูญ) เกี่ยวกับการนำอำนาจทำสนธิสัญญามาเป็นเหตุปฏิเสธพันธกรณีระหว่างประเทศได้ เว้นแต่การละเมิดกฎหมายภายในนั้นจะแจ้งชัด อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการอ้างมาตรา 46 ทำได้ยากมาก เพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำสนธิสัญญามาก

5.ความไม่เเน่ใจของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับขอบเขตของ คำเเถลงการณ์ร่วม

ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า “สำหรับคำเเถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 นั้น เเม้จะไม่ได้ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจน ว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนเเปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม เเต่เมื่อพิจารณาจากข้อบททั้งหมดในคำเเถลงการณ์ร่วม...”

ประโยคข้างต้นเเสดงให้เห็นว่า เเม้เเต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มั่นใจว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนเเปลงอาณาเขตไทยหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ผู้เขียนเข้าใจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เหมือนกับประชาชนคนไทยที่ยังสับสน ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยเสียดินแดนหรืออำนาจอธิปไตยอาณาบริเวณรอบๆ ปราสาท (Perimeter) หรือไม่

เนื่องจากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่เคยถูกทำให้กระจ่างแจ้งหรือเป็นที่ยุติเสียที แผนที่หรือแผนผังที่นำเสนอสู่สาธารณชนนั้นมีมากมาย ต่างฝ่ายต่างเถียงกันถึงความถูกต้อง ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าในเมื่อประเด็นเรื่องแผนที่และพื้นที่รอบๆ ประสาทว่าจะรุกล้ำเข้ามาในฝั่งไทยหรือไม่ยังไม่ยุติลงเป็นเด็ดขาด ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ควรวินิจฉัยประเด็นนี้จนกว่าข้อเท็จจริงจะฟังเป็นที่ยุติอย่างชัดเจนก่อน ในคำวินิจฉัยไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังคำชี้แจงจากกรมแผนที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่เทคนิค มีเพียงคำชี้แจงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาเท่านั้น นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 216 วรรคสี่ บัญญัติว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องประกอบด้วยเหตุผลในการวินิจฉัยใน “ปัญหาข้อเท็จจริง” แต่ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังไม่เป็นที่ยุติลงเด็ดขาด

ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญจึงตัดสินว่า “แถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลง...” ในทางปฏิบัติ หากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดน ศาลหรืออนุญาโตตุลาการได้ไปเยือนพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทด้วยตนเอง หรือไม่ก็อาจแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่แน่ชัดเสียก่อน ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย

6.ความคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากความไม่เเน่ใจของศาลรัฐธรรมนูญเเล้ว การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของศาลยังอิงหรือตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “การคาดคะเนผลที่จะเกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น” ดังจะปรากฏให้เห็นหลายตอนในคำวินิจฉัย เช่น “...อาจจะก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปภายหน้าได้” “พึงเล็งเห็นได้ว่า ก็อาจก่อให้เกิดความเเตกเเยกกัน...”

“อีกทั้งอาจก่อให้เกิดดวิกฤติเเก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา...” การคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญยังพบเห็นได้อีกครั้ง ตอนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า “เเถลงการณ์ร่วมเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนเเปลงอาณาเขตของประเทศ…” ที่น่าเเปลกที่สุดก็คือ ความคาดคะเนของศาลรัฐธรรมนูญมีตลอดทั้งในส่วนที่เป็น “เหตุผล” เเละตอนที่กำลังจะมี “คำวินิจฉัย” ที่เรียกว่า Dispositif

บทส่งท้าย

เมื่อพิจารณาจาก “เหตุผล” เเละ “คำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายบริหารเเละฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่ง “ก็อาจก่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างองค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ เเละฝ่ายตุลาการ เสียไป” หรือ “ก็อาจก่อให้เกิดความไม่น่าถือของศาลรัฐธรรมนูญ” ตามมาในอนาคตก็เป็นได้ ความกังวลในเรื่องความลังเลของศาลสะท้อนจากคำกล่าวของท่าน Shigeru Oda อดีตผู้พิพากษาศาลโลก ในความเห็นแย้งในคดีความชอบด้วยกฎหมายของอาวุธนิวเคลียร์ ที่กล่าวว่า “การที่ศาลสามารถกล่าวถึงข้อสรุปที่ไม่ชัดเจนแน่นอนนั้น แทบจะไม่เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ศาล (โลก) แต่อย่างใด”

รศ. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



Create Date : 24 กรกฎาคม 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:25:47 น. 1 comments
Counter : 943 Pageviews.

 
เเวะมาทักทาย....สบายดีป่าวครับลูกพี่....


โดย: Frank Abanel (Frank Abanel ) วันที่: 28 กรกฎาคม 2551 เวลา:23:18:11 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.