*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

หลักเกณฑ์ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
โดย พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ


กระบวนการดำเนินคดีอาญาเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยจะต้องมีการนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่มีความอิสระโปร่งใสและเป็นกลางอย่างแท้จริง โดยรัฐจะต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากสงสัยตามสมควรว่า ผู้ที่ถูกฟ้องร้องได้กระทำความผิดจริง ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยต่อไป กระบวนการพิสูจน์ความผิดโดยหลักแล้ว จะต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบต่อศาล ดังนั้น เมื่อมีการฟ้องร้องผู้ใดเป็นจำเลยต่อศาลในคดีอาญา หากศาลประทับฟ้องแล้ว ศาลจะมีหมายเรียก ผู้ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง ในวันเวลาที่ถูกกำหนด และหากครบกำหนดแล้ว ยังไม่มา ศาลก็จะออกหมายจับ หรือ ในกรณีที่รัฐจะฟ้องคดีอาญากับผู้ใด รัฐโดยพนักงานอัยการ ก็จะต้องนำตัวจำเลยไปในศาลในวันฟ้องคดีต่อศาลด้วย

ในกรณีที่จำเลยในคดีอาญาได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศนั้น ประเทศไทย จะมีกระบวนการเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลต่อไป โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (extradition treaty) กับประเทศต่างๆ ๑๔ ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิจิ เบลเยียม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้ ลาว บังกลาเทศ และกัมพูชา และสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา (treaty on mutual assistance in criminal matters) กับประเทศต่างๆ ๖ ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และอินเดีย ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการเจรจาทำความตกลงในเรื่องความร่วมมือในทางอาญานี้กับประเทศจีน เกาหลี โปแลนด์ ศรีลังกา ออสเตรเลีย และประเทศเบลเยียมเสร็จสิ้นแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาเกี่ยวกับการก่อการร้ายทั้งหมด และยังไม่มีความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและความตกลง ว่าด้วยความช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญากับทุกประเทศ แต่ประเทศไทยก็อาจให้ความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องทางอาญากับต่างประเทศได้ หากต่างประเทศพร้อมจะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยเป็นการตอบแทน (reciprocity) ในลักษณะอย่างเดียวกัน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีหลักประกันที่ว่า “ผู้ก่อการร้ายจะต้องไม่สามารถหลบหนีจากกระบวนการยุติธรรม และใช้ประเทศใดๆ เป็นแหล่งหลบภัยได้”

สำหรับหลักกฎหมายทั่วไป เกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน นั้น โดยทั่วไป จะมีข้อพิจารณา ดังนี้

๑. หลักความผิดที่สามารถส่งตัวข้ามแดนได้ (Extraditable Offences) ซึ่งโดยทั่วไป จะมีข้อตกลงกันของประเทศคู่สัญญาว่า จะส่งผู้ร้ายที่หลบหนีไปให้แก่ประเทศที่ร้องขอ หากว่า ความผิดอาญาที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นความผิดทางอาญาของทั้งสองประเทศ ที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ขึ้นไป และไม่เข้าเงื่อนไข ที่จะไม่ส่งผู้ร้ายให้แก่กัน
๒. หลักการต่างตอบแทน(Reciprocity) โดยหลักการนี้ จะใช้บังคับในกรณีที่ประเทศที่ผู้ร้ายได้หลบหนีไปกบดานนั้น ไม่มีสนธิสัญญา หรือข้อตกลงในเรื่องความร่วมมือทางอาญาระหว่างกัน แต่หากเป็นกรณีที่ประเทศผู้ร้องขอ และประเทศผู้รับคำร้องได้พิจารณาว่า จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือการดำเนินคดีทางอาญาแก่กัน เป็นการตอบแทนในลักษณะเช่นเดียวกัน
๓. เงื่อนไขความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันได้ จะต้องเป็นการกระทำความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดของทั้ง ๒ ประเทศ (Double Criminality)
๔. เงื่อนไขไม่ยอมรับโทษประหารชีวิต (Death Penalty) กล่าวคือ ความผิดที่ถูกกล่าวหานั้น จะต้องไม่มีโทษถึงขึ้นประหารชีวิต หลักการนี้ ยืนยันว่า ประเทศที่ได้รับคำร้องขอจะไม่ยอมส่งผู้ร้ายไปยังประเทศอื่นเพื่อให้มีการประหารชีวิตผู้นั้น
๕. เงื่อนไขต้องมีโทษจำคุก สำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา ซึ่งโดยปกติ จะต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ขึ้นไป
๖. เงื่อนไขห้ามแทรกแซงการดำเนินคดีภายในของประเทศ และ ห้ามลงโทษซ้ำ (Double Jeopardy) โดยหลักการนี้ เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่จะพิจารณาคดี และ ห้ามลงโทษผู้นั้นอีก หากมีการลงโทษในประเทศใดประเทศหนึ่งไปแล้ว
๗. ข้อยกเว้นความผิดทางการเมืองและการทหาร หมายถึง กรณีที่ถูกกล่าวหานั้น มีมูลเหตุจากคดีการเมือง หรือ การทหาร ที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหานั้น มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาได้
๘. โดยหลักการแล้ว ในการพิจารณาของศาลว่าควรจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่นั้น ศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานข้อต่อสู้ฝ่ายจำเลย นอกจากในข้อต่อไปนี้ คือ

๘.๑) จำเลยไม่ใช่ตัวบุคคลที่ถูกร้องขอให้ส่งข้ามแดน
๘.๒) ความผิดนั้นไม่อยู่ในประเภทที่จะส่งข้ามแดนได้ หรือว่าเป็นความผิดอันมีลักษณะในทางการเมือง
๘.๓) การที่ขอให้ส่งข้ามแดนนั้น ความจริงเพื่อประสงค์จะเอาตัวไปลงโทษสำหรับความผิดอย่างอื่นอันมีลักษณะในทางการเมือง
๘.๔) สัญชาติของจำเลย เป็นคนชาติใด และ ควรจะส่งบุคคลนั้นไปลงโทษในประเทศที่ร้องขอหรือไม่


ในปัจจุบัน ประเทศไทย มี พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่บัญญัติหลักการทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้ โดยกฎหมายนี้จะใช้เสมือเป็นกฎหมายกลาง และ ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดกับบรรดาสนธิสัญญาเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศอื่น ๆ หรือ องค์กรระหว่างประเทศ ที่ได้มีการจัดทำสนธิสัญญาไว้ เป็นต้นว่า พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑ จะใช้บังคับได้ เท่าที่ไม่ขัดต่อ สัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยาม กับอังกฤษ รศ. ๑๓๐
กล่าวโดยสรุป พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีหลักการสำคัญ ดังนี้

๑) หลักการต้องเป็นความผิดของทั้งสองประเทศ ในมาตรา ๗ มีการกำหนดไว้ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหลักการทั่วไปที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กล่าวคือ ความผิดที่ได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องเป็นความผิดทางอาญาของทั้งสองประเทศ คือ ประเทศที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ โดยจะต้องมีอัตราที่จำกัดเสรีภาพหรือโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป เว้นแต่จะเป็นความผิดเกี่ยวพันกับความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งแรกซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี
๒) หลักการไม่เข้าข้อต้องห้ามในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในมาตรา ๙ กำหนดไว้ว่า จะต้องไม่เป็นความผิดทางการเมือง หรือ เป็นความผิดที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญาทหาร ซึ่ง ไม่รวมถึงกรณี ความผิดในฐานะการปลงพระชนม์ ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือ รัชทายาท รวมถึง การฆ่าหรือประทุษร้ายร่างกายหรือเสรีภาพของประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล หรือ สมาชิกโดยตรงในครอบครัวของบุคคลนั้น
๓) ในกรณีที่จะผู้มีสัญชาติไทยไปยังประเทศอื่น ๆ จะดำเนินการได้เมื่อผู้นั้นยินยอมให้ส่งข้ามแดน หรือ เป็นการปฏิบัติต่างตอบแทน (Reciprocity) กับประเทศที่ร้องขอ หรือ กรณีมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศที่ร้องขอกำหนดไว้ (มาตรา ๑๒)
๔) การดำเนินการยื่นคำร้อง จะต้องดำเนินการผ่านวิถีทางการทูต เพื่อพิจารณาว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ หากไม่มีผลกระทบ หรือ กรณี ครม. เห็นควรให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ให้ส่งเรื่องให้ผู้ประสานงานกลาง ซึ่งปัจจุบัน คือ อัยการสูงสุด หรือผู้ได้รับมอบหมาย ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ ต่อไป กล่าวคือ การดำเนินการออกหมายจับผู้นั้น เพื่อดำเนินการกระบวนการทางศาลให้พิจารณาว่าสมควรจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่ร้องขอหรือไม่ (มาตรา ๑๓-๑๔) หรือ ร้องขอให้มีการจับกุมคุมขังไว้ชั่วคราว เป็นการเร่งด่วน ก่อนการพิจารณาการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (มาตรา ๑๕)
๕) เมื่อการมีจับกุมผู้ใด ตามคำร้องขอได้ ให้นำส่งพนักงานอัยการ เพื่อร้องขอให้ศาลสั่งขังผู้นั้นไว้ และหากไม่ได้มีกระบวนการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ถูกร้อขอให้จับ ตามมาตรา ๑๕ หรือ ภายในเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน ๙๐ วัน นับแต่วันที่ถูกจับ ก็ให้สั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป และห้ามประเทศผู้ร้องขอ ร้องขอให้มีการจับกุมบุคคลนั้นใหม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน ตามมาตรา ๑๕ อีก แต่ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะดำเนินการตามวิถีทางการทูตปกติ (ตามมาตรา ๑๓ และ มาตรา ๑๔)
๖) กระบวนการพิจารณา นั้นให้เป็นไปตามส่วนที่ ๒ ของ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งกฎหมายให้ศาลพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และให้นำ ป.วิ.อาญา มาใช้โดยอนุโลม (มาตรา ๑๘)
๗) สาระสำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณา (มาตรา ๑๙)
๗.๑) บุคคลนั้น ไม่มีสัญชาติไทย หรือ เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย แต่อาจส่งตัวไปยังประเทศที่ร้องขอได้ ตามหลักการที่กล่าวไปแล้วใน ข้อ ๓)
๗.๒) คดีนั้น มีมูลที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาได้ หากว่า เป็นความผิดที่กระทำลงในประเทศไทย หรือ ให้ถือว่ากระทำลงในประเทศไทย และ
๗.๓) คดีนั้น เป็นความผิดที่อาจจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ อันไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือ ความผิดต่อกฎหมายอาญาทหารเป็นการเฉพาะ
หากศาลพิเคราะห์เห็นว่า พยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่เพียงพอ ก็ให้ศาลสั่งปล่อย และดำเนินการปล่อยบุคคลนั้นไปเมื่อสิ้นระยะเวลา ๗๒ ชั่วโมง นับแต่อ่านคำสั่งปล่อย เว้นแต่ พนักงานอัยการจะได้แจ้งความจำนงค์ที่จะอุทธรณ์ไว้ ก็ให้ขังบุคคลนั้นได้ในระหว่างอุทธรณ์ ไม่เกิน ๓๐ วัน
๘) กรณีประเทศไทย ร้องขอจากประเทศอื่นให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังไทย ให้ประเทศไทย ปฎิบัติตาม มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑ กล่าวคือ
๘.๑) พิจารณาว่า กรณีความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ตรงตามหลักการเป็นความผิดอาญาของทั้งสองประเทศ หรือไม่
๘.๒) หากเป็นความผิดของทั้งสองประเทศ จะต้องเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปีขึ้นไป และ ประเทศไทย จะต้องทำหนังสือรับรองว่า จะไม่มีการประหารชีวิตบุคคลนั้น (หากจำเป็นต้องดำเนินการ) และ ในกรณีที่ศาลพิพากษาประหารชีวิต ก็ให้รัฐบาลไทย ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้มีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีการจำคุกตลอดชีวิตแทนการประหารชีวิต และห้ามลดหย่อนผ่อนโทษ เว้นแต่จะเป็นกรณี พระราชทานอภัยโทษ

การส่งผู้ร้ายข้ามแดน กรณีประเทศไทย กับ อังกฤษ

จากบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.๒๕๕๑ ข้างต้น นั้น ประเทศไทยมีกฎหมายกลาง ที่จะใช้กรณีที่มีการดำเนินกระบวนการให้ได้ผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทย หรือ กรณีที่ประเทศไทย จะต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่ร้องขอ ซึ่งจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับสนธิสนธิหรือกฎหมายอื่นที่ประเทศไทย ดำเนินการไว้กับประเทศอื่น ๆ เช่น กรณีไทยกับอังกฤษ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

หลักการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย กับอังกฤษ ตามสัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันในระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ รศ.๑๓๐ นั้น มีหลักการสำคัญที่จะต้องพิจารณา คือ

๑. ผู้ร้ายนั้น ( จำเลย หรือผู้ต้องหา) เป็นบุคคลที่ถูกขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
๒. ความผิดที่ร้องขอไปดำเนินคดีนั้น สามารถลงโทษได้ทั้งสอง ประเทศ ซึ่งปัจุจบัน มี ๓๑ ข้อกล่าวหา ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน ข้อ ๒ ขอสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นต้นว่า โทษฆ่าคนตายโดยเจตนา โทษฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา โทษประทุษร้ายร่างกายถึงบาดเจ็บ หรือ บาดเจ็บสาหัส โทษปลอมเงินตรา โทษกระทำเครื่องจักรกลสำหรับการปลอมแปลงเงินตรา โทษยักยอกทรัพย์ หรือลักทรัพย์ โทษฉ้อโกงเอางเงิน โทษลักของโจร โทษฉ้อโกงโดยผู้มีที่ได้รับความไว้วางใจในการดูแลทรัพย์สิน โทษเบิกความเท็จ โทษข่มขืนกระทำชำเรา โทษกระทำอนาจาร โทษทำให้แท้งลูก โทษลักพาคนหนี โทษลักเด็ก โทษละทิ้ง หรือทอดทิ้งเด็ก ฯลฯ และ โทษอย่างอื่น ๆ ตามที่ทั้งสองประเทศจะได้พิจารณาเห็นสมควรว่าจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันหรือไม่ก็ได้
๓. ไม่เป็นการพิจารณาคดีเพื่อการลงโทษซ้ำซ้อน
๔. ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเมือง
๕. คดีที่ร้องขอไม่ขาดอายุความ

เป็นที่น่าสงเกตว่า กรณีที่ประเทศไทย ร้องขอให้ประเทศอังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังประเทศไทย แม้จะผู้ร้ายจะเป็นคนที่มีสัญชาติไทยเองก็ตาม แต่การส่งผู้ร้ายก็เป็นไปโดยยากลำบาก เช่น กรณีการร้องขอให้ปรเทศอังกฤษส่งตัว นายปิ่น จักพาก อดีตผู้บริหาร บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ มาดำเนินคดีในประเทศไทย เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ประเทศอังกฤษใช้ระยะเวลายาวนานในการพิจารณาว่าคดีนั้นควรส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ และยังมีมาตรฐานการพิจารณาที่สูงขนาดว่า คดีนั้นสามารถลงโทษโดยปราศจากสงสัยหรือไม่ ซึ่งพนักงานอัยการของไทย จะต้องมีความพยายามอย่างหนักจะต้องพิสูจน์ให้ศาลอังกฤษเห็นว่า คดีนั้น หากเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ตามกฎหมายอังกฤษนั้นเอง พนักงานอัยการก็สามารถนำพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า ผู้นั้นกระทำผิดจริง และศาลสามารถพิพากษาลงโทษได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ



หลักการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา

หลักการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทย กับ สหรัฐอเมริกา เป็นไปตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีต่อมาประเทศไทยได้บัญญัติกฎหมายรับรองให้สนธิสัญญาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามระบบกฎหมายของไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๓๓
ข้อ ๑) ข้อผูกพันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความว่า
“๑. ภายใต้บังคับของบทบัญญัติที่ระบุไว้ในสนธิสัญญานี้ ภาคีคู่สัญญาตกลงที่จะส่งให้แก่กันและกัน ซึ่งตัวบุคคลที่พบในดินแดนของภาคีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกดำเนินคดี ถูกฟ้อง ถูกตัดสินว่ามีความผิด หรือถูกต้องการตัว เพื่อบังคับการลงโทษตามคำพิพากษาศาล สำหรับการกระทำผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยเจ้าหน้าที่ทางศาลของรัฐที่ร้องขอ...,
๒. สำหรับความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ซึ่งการกระทำภายนอกดินแดนของรัฐที่ร้องขอ รัฐที่ได้รับการร้องขอจะส่งผู้ร้ายข้ามแดนภายใต้บทบัญญัติของสนธิสัญญานี้ หากกฎหมายของตนกำหนดให้ลงโทษความผิดดังกล่าวในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน”


เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายข้างต้น ประเทศไทยมีพันธะผูกพันระหว่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสนธิสัญญาโดยจะต้องมีการกำหนดมาตรการเพื่อให้การปฎิบัติการตามภาระผูกพันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างสุจริตใจ (good faith) ดังตัวอย่างเช่น กรณีนี้ นายวิคเตอร์ บูธ ถูกกล่าวหาว่าจัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินเพื่อก่อการร้าย ที่ถูกจับกุมได้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ มี.ค. ๕๑ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ตามหมายจับศาลอาญาที่ ๘๙๓/๒๕๕๑ หากพิจารณาจากความผิดที่กล่าวหาแล้ว ก็จะพิจารณาได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด ที่ได้กระทำลงอันเป็นส่วนร่วมกับการกระทำผิดฐานก่อการร้ายในประเทศที่มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ตามทฤษฎีสมคบ หรือ Conspiracy ซึ่งในสหรัฐฯ การกระทำส่วนใดส่วนหนึ่ง หากได้มีการวางแผนตกลงที่จะกระทำผิด และได้มีการลงมือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว ถือเป็นความผิดสำเร็จในทันที

ความผิดฐานสมคบ หรือ Conspiracy นั้น มีลักษณะความผิดเช่นเดียวกับฐานซ่องโจร ในประเทศไทย อีกทั้งในปัจจุบัน ประเทศไทยยังได้มีการบัญญัติฐานความผิดเพิ่มเติม ตาม ป.อาญา มาตรา ๑๓๕/๑ – ๑๓๕/๔ ซึ่งเป็นความผิดฐานก่อการร้ายโดยตรง เมื่อความผิดข้างต้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง และมีข้อกำหนดตามสนธิสัญญาข้างต้นให้ต้องให้ความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจจะปฎิเสธที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ ภายใต้ ข้อ ๔) ที่ว่า การกระทำนั้นได้กระทำผิดลงทั้งหมดหรือบางส่วนในดินแดนของประเทศไทย หรือสถานที่ที่เสมือนเป็นดินแดนของไทย แต่ว่าประเทศไทยจะต้องแสดงความประสงค์ที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด กรณีนายวิคเตอร์ บูธ นี้ ตามหลักการแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นยิ่งกว่า และเชื่อโดยสุจริตว่า ประเทศไทยสามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ แต่ในกรณี เมื่อ พงส. บก.ป. ได้รับการร้องขอให้ยุติดำเนินคดี พร้อมร้องให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูธ ให้ดำเนินคดีอาญาในสหรัฐฯ พงส. บก.ป. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในนามของรัฐบาลไทย (state agent) ได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องในทันที ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทย ไม่มีพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดี หรือ ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับนายวิคเตอร์ บูธ ข้างต้น

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย จึงมีพันธะที่จะดำเนินการส่งตัวผู้ที่ถูกร้องขอ หากผู้ที่ร้องขอได้ปฎิบัติตามข้อกำหนดและกระบวนการพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. ๒๕๕๑ ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ตามมาตรา ๑๒ (๑) และมาตรา ๑๘ – ๒๐ โดยศาลจะต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานที่นำเสนอโดยประเทศผู้ร้อง




๑. ผู้เขียน สำเร็จปริญญาเอกทางกฎหมาย (J.S.D.) จาก University of Illinois at Urbana-Champaign

๒. โปรดดูหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจาก เวปไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่
//www.mfa.go.th/web/463.php?id=3332&lang=th

๓.โปรดดู พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยกับอังกฤษ จากราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๓๒ ก ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ และ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๒๘ ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๑๓๐

๔. โปรดดูบทความ ของ วิเชียร ศิริมงคล, ความไม่เท่าเทียมกันทางกฎหมาย ของไทยกับต่างประเทศ… กรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน, โพสต์ครั้งแรกในมติชน และ โพสต์ซ้ำใน //konthaiuk.wordpress.com/about/ เมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๐




Create Date : 12 สิงหาคม 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 13:26:28 น. 7 comments
Counter : 2130 Pageviews.

 
ขออนุญาตเข้ามาเก็บความรู้ค่ะ ตรงกับที่กำลังเรียนอยู่พอดีเลย


โดย: :: Not Really :: วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:20:26:25 น.  

 
แวะมาอ่านเอาความรู้เช่นกันค่ะ แต่อ่านได้แค่ครึ่งนึง (ลูกร้องให้ไปเล่นด้วยเลยต้องพักก่อน) เดี๋ยวแวะกลับมาอ่านต่ออีกครั้งค่ะ


โดย: JC2002 วันที่: 12 สิงหาคม 2551 เวลา:21:33:45 น.  

 


มาบล๊อกนี้ ได้ความรู้ทันเหตุการณ์ตลอดเลยค่ะ



โดย: Big Spender วันที่: 18 สิงหาคม 2551 เวลา:0:07:37 น.  

 
ย ศ เ ดี ย ว กั น เ ล ย .........


โดย: นิรมาณ วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:21:30:43 น.  

 
ขอเอาบทความของพี่ไปให้เด็กๆที่กำลังจะสอบดูกันนะครับพี่พล ผ่านลิงค์พี่เลยละกันนะครับ


โดย: hi-jinarashi วันที่: 21 สิงหาคม 2551 เวลา:12:22:42 น.  

 
แวะมาเก็บความรู้ค่ะ ขอบคุณค่ะ


โดย: Liege วันที่: 26 สิงหาคม 2551 เวลา:10:29:52 น.  

 
ขอเก็บบทความไปอ่านสอบนะครับพี่พล


โดย: cykqoo วันที่: 26 กันยายน 2551 เวลา:20:47:36 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.