*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
ข้อบกพร่องบางประการที่ตรวจพบจากสำนวนการสอบสวน

ในส่วนของการทำสำนวนการสอบสวน เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้นแล้ว พงส. จะต้องมีความรู้และความเข้าใจในหลักกฎหมาย เพราะมีบ่อยครั้งที่ พงส. เข้าใจหลักกฎหมายผิดหลายประการ เช่น ความผิดระหว่างลักทรัพย์กับยักยอก ซึ่ง พงส. จำนวนไม่น้อย ไม่อาจจะแบ่งแยกความแตกต่างของการกระทำผิดฐานยักยอก ที่จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ให้แก่กันโดยสมัคร แต่ต่อมาได้มีการยึดถือเบียดบังไว้เป็นของตนเอง จึงจะเป็นความผิดฐานยักยอก ที่แตกต่างจากการลักทรัพย์ที่จะต้องมีการแย่งการครอบครองในลักษณะที่จะตัดกรรมสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของ หรือผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์นั้นไป มีหลายกรณี เช่น การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ธนาคาร ซึ่งแนวคำพิพากษาฎีกาสมัยปัจจุบัน ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคาร แม้จะได้รับความไว้วางใจจากธนาคารให้ดูแลเงิน มีหน้าที่เก็บรักษาเงินที่ประชาชนนำมาฝาก แต่ก็เป็นเพียงการให้ยึดถือแทนชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่การส่งมอบการครอบครอง หากเจ้าหน้าที่ธนาคารนำเงินไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่การยักยอกไม่

มีปรากฎบ่อยครั้งที่ พงส. ได้มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในการกระทำอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โดยเห็นว่าเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง เช่น กรณีมีการลวงขายสินค้าที่มีคุณภาพต่ำผิดเพี้ยนไปจากที่ได้ตกลงกันในสัญญาซื้อขาย แม้การกระทำนี้ จะไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อาญา มาตรา ๓๔๑ แต่อาจจะเป็นความผิดฐานลวงขาย ตาม ป.อาญา มาตรา ๒๗๑ ได้ หรือในบางกรณี มีการตกลงที่จะทำสัญญาซื้อขาย หรือ สัญญาเช่าทรัพย์สินกันไว้ แต่ปรากฎว่าโดยพฤติการณ์แล้ว ผู้ที่ตกลงทำสัญญาซื้อขาย หรือ สัญญาเช่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายหรือเช่าทรัพย์นั้นเลยตั้งแต่ต้น หากมีพฤติการณ์ปรากฎแน่ชัดแล้ว การกระทำนั้น อาจจะไม่ใช่การกระทำผิดสัญญาทางแพ่งก็เป็นได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ พงส. ไม่เข้าหลักกฎหมายทางแพ่ง ทำให้ทำการสอบสวนไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีจำนวนมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การขายฝาก กับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนขาย มีความแตกต่างกัน ถ้าหากว่า เป็นกรณีแต่งตั้งเป็นตัวแทนในการจำหน่ายสินค้าอย่างใดอย่างใด โดยผู้แต่งตั้ง (ตัวการ) ได้มอบหมายให้ตัวแทนขายสินค้าในราคาที่กำหนดไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงราคาใด ๆจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้แต่งตั้ง เช่นนี้ เงินที่ได้จากการขายสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นทรัพย์สินที่ตัวแทนได้ครอบครองไว้แทนผู้แต่งตั้ง หากนำเงินไปย่อมมีความผิดตามกฎหมายอาญา แต่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกนั้น จะต้องดูรายละเอียดในข้อกำหนดสัญญาแต่งตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นกรณีการขายฝาก คือ เจ้าของได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ให้ขายแทน โดยไม่สนใจว่าผู้ขายจะขายได้ราคาเท่าใด ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่ขายได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้เท่านั้น ดังนี้ เงินที่ได้รับย่อมเป็นเงินของผู้ขายในทันที หากไม่ส่งมอบเงินให้กับเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น หาได้เป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใดไม่

หลักกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งนิติบุคคลและอำนาจในการประกอบกิจการของนิติบุคคลเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ พงส. จะมีความเข้าใจสับสนเสมอ ซึ่งโดยหลักการแล้ว นิติบุคคล (Legal Person) เป็นบุคคลกฎหมายสมมุติขึ้นให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ที่จะมีได้เฉพาะบุคคลธรรมดา เช่น การสมรส เป็นต้น นิติบุคคลจึงไม่อาจกระทำการได้ด้วยตนเอง จะต้องมีผู้แทนนิติบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาในการดำเนินกิจการใด ๆ แทนนิติบุคคล โดยปกติแล้ว การพิจารณาว่านิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ก็จะต้องพิจารณาจากหนังสือบริคณฑ์สนธิที่ระบุว่า นิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการใดบ้าง และมีผู้ใดเป็นกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการแทนนิติบุคคลบ้าง ฉะนั้น เมื่อนิติบุคคล ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญา หรือ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้ว การทำสำนวนการสอบสวนในส่วนของตัวผู้เสียหาย หรือบุคคลที่จะเป็นผู้ต้องหาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างมาก

พงส. ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะมีบ่อยครั้ง ที่ปรากฎว่า นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้น มอบอำนาจไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีการประทับตราของนิติบุคคล ไม่มีการลงลายชื่อของกรรมการที่มีอำนาจ หรือ กรรมการลงลายชื่อและประทับตราแต่เกินขอบอำนาจของกรรมการ ฯลฯ เหล่านี้ พงส. จะต้องตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายในคดีอาญาเหล่านั้น เพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย จนกระทั่งท้ายที่สุดต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในคดีนั้น เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการมอบอำนาจที่ไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยรวม โดยผู้เสียหายจะมีความเชื่อว่า พงส. ไม่ให้ความเป็นธรรม หรืออาจจะมีผลประโยชน์กับฝ่ายผู้ต้องหา จึงไม่ให้คำแนะนำ ทั้ง ๆ ที่เป็นความบกพร่องในเรื่องรูปแบบพิธีการตามกฎหมายวิธีสบัญญัติเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาทางกฎหมายหรือการช่วยเหลือในทางที่ผิดกฎหมาย ผิดธรรมเนียมหรือศีลธรรมแต่ประการใด

ในกรณีที่นิติบุคคล ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา พงส. ก็ยิ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินคดี โดยจะต้องพิจารณาว่าแท้จริงแล้ว ผู้เสียหาย ประสงค์จะร้องทุกข์ให้ พงส. ดำเนินคดีอาญากับผู้ใดบ้าง เช่น กรณีนิติบุคคลนั้น มีกรรมการสามคนที่มีอำนาจ แต่ผู้เสียหายประสงค์จะให้ดำเนินคดีอาญากับกรรมการเพียงคนเดียว ฯลฯ มีบ่อยครั้งที่ พงส. ดำเนินคดีผิดตัว จนเป็นเหตุให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง และนำความเสื่อมเสียต่อตัวผู้ต้องหาด้วย และอาจจะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้อีกเช่นกัน

ปัญหาทางกฎหมายวิธีสบัญญัติที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่บ่อยครั้งนัก ยังได้แก่ การสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุที่ พงส. ไม่ใช่ พงส. ผู้รับผิดชอบ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๘ หรือ การสรุปความเห็นในรายงานการสอบสวน โดย พงส. แต่ไม่ใช่ พงส.ผู้รับผิดชอบ ในคดีที่มีการแต่งตั้ง พงส. อื่นเข้าร่วมทำการสอบสวน เป็นต้น แต่กรณีสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายต่ออำนาจการฟ้องคดี ได้แก่ กรณีที่ พงส. ไม่ได้ทำการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา และ ไม่ได้แจ้งข้อหา ตามที่ ป.วิ.อาญา บัญญัติบังคับไว้ กรณี ไม่ได้แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหา คำให้การใด ๆ ในส่วนของผู้ต้องหา ย่อมไม่สามารถรับฟังได้ แม้จะฟังว่ามีการสอบสวนโดยชอบและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลก็ตาม แต่พยานหลักฐานที่ได้มาจากถ้อยคำของผู้ต้องเอง หากไม่อาจรับฟังได้ย่อมเกิดความเสียหายแก่รูปคดี แต่ในกรณีที่มีตัวผู้ต้องหา แต่ไม่ได้มีการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาเลยนี้ ผลเสียหายต่อสำนวนการสอบสวนมีความร้ายแรงถึงขนาดไม่ถือว่ามีการสอบสวนคดีนั้นเลย

กรณีไม่ได้แจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาและจะมีผลร้ายแรงถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดนี้ หมายถึงเฉพาะกรณีมีตัวผู้ต้องหา และ พงส. มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้นั้น แล้วส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งหากพนักงานอัยการมีความรอบคอบในการพิจารณาสำนวนนั้น ๆ ก็ชอบที่จะสั่งการให้ พงส. ดำเนินการให้ถูกต้อง แต่มีบางกรณีเหมือนกันที่มีเหตุหลงลืม จนคดีไปสู่ศาล ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องไปในที่สุด ส่วนในคดีที่ พงส. เห็นว่าผู้ต้องหา ถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้กระทำผิดจริง กรณีนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้วางระเบียบและคำแนะนำในการปฏิบัติไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ให้ พงส. สรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนั้นไปได้เลย โดยไม่ต้องเรียกตัวผู้ที่ถูกกล่าวหามาแจ้งข้อหา หรือในกรณีที่ผู้ต้องหานั้นเดินทางเข้ามา พงส. ก็หามีเหตุที่จะต้องทำให้ พงส. จะต้องควบคุมบุคคลนั้นไว้แต่ประการใดไม่

มีตัวอย่างคดีหมิ่นประมาท กับการดูหมิ่นซึ่งหน้าคดีหนึ่ง ข้อเท็จจริง ฟังได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ (๕ ต.ค.๕๑) ผู้กล่าวหา และผู้ต้องหา ซึ่งอาชีพค้า ที่แผงลอยหน้าร้านวิริยา แยกนัมเบอร์วัน ที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยมีเหตุทะเลาะวิวาทกันมาก่อน ได้มาพบกันและด่ากันและท้ายที่สุดกล่าวทำนองว่า “มึงจะเอาไง มึงจะไม่จบใช่ไหม อีดอก เอาไงอีเหี้ย อีสัตว์” และมีการกล่าวด่าทอต่อกันไปมา เช่น “ทำไม มึงมาแขวะกูทุกวันเลย อีดอก” “ลูกกะหรี่ มึงน่ะลูกกะหรี่ อีดอก เนี่ยมา มาดูอีนี่มันลูกสลัม ลูกกะหรี่ เค้าเก็บมันมาจากในสลัม พ่อแม่ไม่สั่งสอน” พร้อมยังได้กวักมือเรียกคนภายนอกมาดู นอกจากนี้ ยังมีแม่ค้าอีกคนหนึ่งพูดสำทับว่า “อ๋อ อีดอกนี่อีกแล้วหรอ เนี่ยลูกกะหรี่ ลูกหลานสลัม ชอบเอานิสัยกะหรี่มาใช้กับลูกชั้น ปากกะหรี่”

ต่อมาแม่ค้าที่ทะเลาะวิวาทกัน ได้ต่างฝ่ายต่างแจ้งความร้องทุกข์ เป็นคดีอาญาต่อกัน เช่นคดีหนึ่ง เกิดขึ้นที่ สน.พระราชวัง มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นและหมิ่นประมาท คดีนี้ พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท จึงส่งสำนวนมายังกองคดีอาญา เพื่อพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๔๕ หรือไม่ กองคดีอาญา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คำว่า “ลูกกะหรี่” จะมีความหมายว่า เป็นลูกของโสเภณี และเป็นหญิงสำส่อน ซึ่งอาจจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐/๒๕๐๘, ๖๒๑/๒๕๑๘ และ ฎีกาที่ ๒๓๑๗/๒๕๒๒ แต่จากบริบทในขณะเกิดเหตุ ผู้กล่าวหาและผู้ต้องหา ต่างฝ่ายต่างด่าทอซึ่งกันและกันด้วยถ้อยคำหยาบคาย เพื่อให้อีกฝ่ายเจ็บแค้นด้วยอารมณ์โกรธ เนื่องจากมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่มีเจตนาจะหมิ่นประมาทซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้ พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท จึงชอบแล้ว ซึ่งกรณีนี้ กองคดีอาญา ได้พิจารณาว่าเป็นหมิ่นประมาท จึงได้ทำความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด ปรากฎว่าอัยการสูงสุด ชี้ขาดไม่ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท ตามนัยคำชี้ขาดความเห็นแย้งที่ อส.๐๐๒๓.๑/๒๒๖ ลง ๑๖ ก.ย.๒๕๕๑

สำหรับ ตัวอย่างคดีต่าง ๆ กองคดีอาญา ได้รวบรวมการชี้ขาดความเห็นแย้งไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ พงส. แต่การจัดพิมพ์มีต้นทุนการดำเนินการ จึงไม่สามารถดำเนินการแจกจ่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายได้ หาก พงส. เห็นว่า มีประโยชน์ในการปฏิบัติงาน ก็ควรจะได้จัดหามาไว้เป็นคู่มือในการดำเนินการ

แนวคิดและตัวอย่าง กรณีที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หาก พงส. ได้ทบทวนความรู้เรื่องหลักกฎหมายนั้นเสมอ ๆ โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ที่กฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงไปจำนวนมาก มีองค์กรภาคเอกชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ พงส. จำนวนมาก บ่อยครั้ง ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา ร้องขอให้ ตร. เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การจับกุมตัวผู้กระทำผิด โดยอาศัยเพียงคำซัดทอดของผู้กระทำผิดอื่นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ได้ทำการสืบสวนและแสวงหาพยานแวดล้อมอื่น ๆ เพิ่มเติมเสียก่อน สำหรับตารางต่อไปนี้ เป็นเพียงตัวอย่างข้อต่อสู้เกี่ยวกับการสอบสวนว่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พงส. จึงควรจะระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการซักถาม

นอกจากนี้ กองคดีอาญา ยังตรวจสอบพบความบกพร่องที่ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องเช่นกัน ในบางกรณี เจ้าหน้าที่สืบสวนหรือเจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมในจำหน่ายคดียาเสพติดคดีหนึ่ง บันทึกการจับกุมอย่างหนึ่ง การสอบสวนปากคำพยานที่จับกุมให้การรายละเอียดเป็นอีกอย่างหนึ่ง ในชั้นศาลพนักงานผู้จับกุมถูกอ้างเป็นพยานสามปาก ปรากฎว่าให้การคนละทิศคนละทาง ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย และพิพากษายกฟ้องในที่สุด แม้ความผิดพลาดเช่นนี้จะไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องของ พงส. โดยตรง แต่ พงส. ก็ควรจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือ และนำสำนวนการสอบสวน บันทึกการจับกุม ฯลฯ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกอ้างเป็นพยานนั้นได้ตรวจสอบโดยละเอียดก่อนเบิกความ เพื่อที่จะไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัย เพราะมีเหตุสงสัยว่าเหตุใดจึงเบิกความผิดเพี้ยนจากกันไปมาก น่าเชื่อว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนั้นเป็นอย่างแน่แท้



Create Date : 10 มิถุนายน 2552
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 8:11:54 น. 0 comments
Counter : 2709 Pageviews.

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.