Group Blog
 
All blogs
 

7 อาหารแสลงหน้าร้อน กินแล้วยิ่งร้อนกาย อันตรายสุขภาพ

7 อาหารแสลงหน้าร้อน กินแล้วยิ่งร้อนกาย อันตรายสุขภาพ

    เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

    อาหาร 7 อย่างต้องห้ามหน้าร้อน มาดูกันซิว่า อาหารแสลงในช่วงอากาศร้อน ๆ อย่างนี้มีอะไรบ้าง จะได้หนีห่างให้ไกล ๆ เลย

              ไอร้อนและเปลวแดดที่แผดเผาในช่วงซัมเมอร์นี้ทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลียได้มากกว่าปกติจริง ๆ นะคะ เราถึงได้รู้สึกหิวกระหายน้ำอยู่บ่อย ๆ ถึงได้มีคำแนะนำให้จิบน้ำเปล่าเยอะ ๆ หรือทานผลไม้ฉ่ำ ๆ จะได้ช่วยเติมน้ำเติมความสดชื่นให้ร่างกายได้

    อ๊ะ ! แต่นอกจากการทานอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยดับร้อนให้ร่างกายแล้ว ก็ต้องระวังอย่าเผลอไปทานอาหารที่จะมาเพิ่มความร้อนให้ร่างกายเด็ดขาด อย่างที่ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ แนะนำอาหารแสลงร้อน 7 อย่าง ที่ต้องหนีให้ห่างในช่วงซัมเมอร์ร้อน ๆ เพราะจะทำให้ร่างกายเรายิ่งร้อน เสี่ยงต่อการอักเสบและเกิดโรค มาดูกันค่ะว่ามีอาหารประเภทไหนบ้าง

    1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

              เวลาเราดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เราจะรู้สึกร้อนวูบวาบใช่ไหมคะ นี่ล่ะ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำให้เส้นเลือดขยาย หากดื่มในเวลาที่อากาศรอบตัวร้อนจัด มีโอกาสที่คุณจะช็อกได้เลย

              นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ยังมีผลเสียกับตับเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะไปเพิ่มความร้อนให้ตับ ทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้นในการล้างพิษเหล้า เลยยิ่งเกิดกระบวนการอักเสบขึ้นในตัวเรา

    2. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

    อย่างกาแฟ หรือชา เพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ทำให้เราต้องปัสสาวะบ่อยขึ้น เป็นการขับน้ำออกจากร่างกาย เมื่อร่างกายขาดน้ำเราจะรู้สึกเพลียแดดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ฤทธิ์ของคาเฟอีนยังไปกระตุ้นถึงแต่ละอณูของสมอง ทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย ใจสั่น ดังนั้น จึงควรงดดื่มกาแฟในวันที่ต้องออกไปทำงานกล้างแจ้ง หรือถ้าติดกาแฟจริง ๆ ไม่ดื่มไม่ได้ ก็ขอให้ดื่มน้ำตามเข้าไปช่วยอีกแรง


    ขนมหวาน

    3. ขนมหวานทั้งหลาย

              ไม่ว่าจะเป็นลูกอม ขนมไทยที่ส่วนใหญ่จะมีรสหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมเค้ก ฯลฯ ก็ทำให้ร่างกายเราร้อนขึ้นได้ เพราะเมื่อร่างกายเราเผาผลาญน้ำตาลจะสร้างความร้อนขึ้นมา และยังปล่อยขยะที่เกิดจากการเผาผลาญออกมาทำร้ายร่างกายอีกด้วย

    4. ของทอด ของมัน

              ของทอดแสนอร่อยที่ชอบทานกันนั้นได้รับความร้อนมาจากน้ำมันที่ใช้ทอด และน้ำมันทอดนี่เองที่ทำให้ร่างกายเราร้อน และเกิดการอักเสบได้ด้วย เช่นเดียวกับของมัน ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนม เนย วิปครีม ครีมเทียม ถือเป็นทรานส์แฟตที่ทำให้ร่างกายของเราเกิดการอักเสบ และกระทบต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจได้ทีเดียว

    5. อาหารรสเค็มจัด

              ยิ่งกินเค็มเท่าไร ไตก็ทำงานหนักขึ้นเท่านั้น ซึ่งปกติแล้วในหน้าร้อนไตของเราจะทำงานหนักขึ้นอยู่แล้ว เพื่อคอยสงวนน้ำไว้ในร่างกาย จะได้ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะและขับเหงื่อดับร้อน แต่ถ้าเรายิ่งทานของเค็ม ๆ ซ้ำเติมลงไปอีก จะยิ่งกดดันให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น ดังนั้นต่อไปถ้าจะทานอาหาร ไม่ควรปรุงรสเค็มจากน้ำปลา ซีอิ๊ว ฯลฯ เพิ่มอีก ปริมาณที่พอดีก็คือ ไม่ควรทานน้ำปลาเกิน 1 ช้อนโต๊ะต่อวัน ส่วนเกลือก็ไม่ควรทานเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน


    ทุเรียน

    6. ผลไม้รสหวานฉ่ำน้ำตาล

              ผลไม้หวาน ๆ อย่างเช่น ทุเรียน ละมุด ขนุน ลำไย จริง ๆ ก็สามารถทานได้ แต่ไม่ควรทานมากจนเกินไป เพราะในผลไม้เหล่านี้มีน้ำตาล "ฟรุกโตส" ซึ่งมีส่วนในการสร้างอนุมูลอิสระและไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะทุเรียนต้องระวังอย่าทานมากเกินไปค่ะ เพราะในเนื้อทุเรียนมี "กำมะถัน" ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สร้างความร้อนให้ร่างกายมาก ยิ่งมาผสมกับน้ำตาลฟรุกโตสแล้ว ดังนั้นควรทานพอประมาณเท่านั้น ไม่ใช่นั้นได้ร้อนในแน่ ๆ

    7. น้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวาน

              หลายคนอาจคิดในใจว่า ยิ่งอากาศร้อนก็ต้องยิ่งดื่มน้ำหวานน้ำอัดลมจะได้สดชื่นดับกระหายคลายร้อน ซึ่ง นพ.กฤษดา ก็ยอมรับว่า เครื่องดื่มหวานจัดเย็นเจี๊ยบช่วยให้ความสดชื่นได้จริง แต่ถ้าดื่มบ่อยไปก็ยิ่งชวนให้กระหายน้ำมากขึ้นเหมือนกัน เพราะในเครื่องดื่มเหล่านี้มีน้ำตาล อีกทั้งดื่มมากไปจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินโควต้าต่อวัน และยิ่งมีกรดซ่าหรือคาร์บอนิกที่ทำให้เกิดความซาบซ่า จะไปกัดกร่อนเคลือบฟันได้

    อย่างไรก็ตาม นพ.กฤษดา ก็บอกด้วยว่า อาหารทั้ง 7 อย่างนี้อาจส่งผลหรือไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายก็ได้ขึ้นอยู่กับตัวเองเป็นสำคัญ เพราะถ้าหากทานเยอะ ๆ ทานบ่อย ๆ ก็มีสิทธิ์ป่วยไข้ในหน้าร้อนนี้ได้


    อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




 

Create Date : 05 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 5 พฤษภาคม 2557 18:44:39 น.
Counter : 2719 Pageviews.  

โนโมโฟเบีย โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ เราเข้าข่ายไหมนะ?

           ...ตื่นนอนขึ้นมาปุ๊บ สิ่งแรกที่คุณทำคืออะไร?
              ...แล้วก่อนจะหลับตาลงนอนล่ะ สิ่งสุดท้ายที่คุณทำคืออะไร?

    ถ้าคำตอบของคุณคือการเล่นสมาร์ทโฟน แสดงว่าคุณก็เหมือนกับหลาย ๆ คนในยุคดิจิตอลที่รับเอาสมาร์ทโฟนมาเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายไปอย่างมิต้องแปลกใจเลยค่ะ เพราะเดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่คนจด ๆ จ้อง ๆ จิ้ม ๆ จอสี่เหลี่ยมที่ไม่ได้มีหน้าที่เป็นแค่โทรศัพท์อีกต่อไป

              แบบนี้แล้ว หลายคนก็เลยมีอาการเสพติดมือถือ ประเภทที่ชอบถ่าย ชอบอัพ ชอบแชร์ให้ทันต่อทุกสถานการณ์ รวมทั้งยังชอบเช็กมือถือบ่อย ๆ ถึงขนาดที่ว่าถ้าได้ยินเสียง "ติ๊ง" แล้วไม่ได้หยิบขึ้นมาดู ก็กระวนกระวายใจ (จนแทบจะลงแดง) เลยเชียว อาการอย่างนี้เขาเรียกว่า "โนโมโฟเบีย" (Nomophobia)ที่หลายคนรวมทั้ง "คุณ" ก็กำลังเป็นอยู่โดยไม่รู้ตัวจริง ๆ นะ


    โนโมโฟเบีย


    โรคโนโมโฟเบีย เป็นอย่างไร?

    โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า "no mobile phone phobia" เป็นศัพท์ที่ YouGov องค์การวิจัยของสหราชอาณาจักร บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัวจากการขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล

              ทั้งนี้ ถ้าเราอยู่ในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือจู่ ๆ แบตเตอรี่โทรศัพท์ดันหมดซะงั้น แล้วเรารู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย แสดงว่าเข้าเค้าอาการโนโมโฟเบียแล้วล่ะ ถ้าบางคนเป็นมาก ๆ อาจมีอาการเครียด ตัวสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ ซึ่งอาการจะหนักเบาขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละคน

    ที่ต้องรู้ก็คือ โรคโนโมโฟเบียไม่ได้พบแค่ในคนไทยเท่านั้นนะ แต่พบได้ทั่วโลก โดยจากการสำรวจทั่วโลกพบคนมีอาการโนโมโฟเบียกันมากขึ้นตั้งแต่ยุคดิจิตอลเข้ามาครอบงำชีวิตประจำวัน และคนที่มีอาการพะว้าพะวงกับการใช้โทรศัพท์ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น วัยทำงานมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เพราะวัยรุ่นวัยทำงานเป็นวัยที่มีเพื่อนมาก ชอบเล่นเกมส์ ชอบเที่ยว ชอบทำกิจกรรมมากมาย จึงอัพเดทข่าวคราวถึงกันบ่อย ๆ และในคนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเสียด้วย อาจเป็นเพราะนิสัยของผู้หญิงที่ชอบคุย มีความสนใจในสิ่งรอบ ๆ ตัวมากกว่าผู้ชายนั่นเอง


    โนโมโฟเบีย



    พฤติกรรมไหน เข้าข่ายอาการโนโมโฟเบีย?

    รู้จัก "โนโมโฟเบีย" ไปกันบ้างแล้ว งั้นมาลองเช็กอาการหน่อยดีกว่าว่า "คุณ" เริ่มมีแนวโน้มการเป็น "โนโมโฟเบีย" แล้วหรือยัง? ถ้าใครเริ่มมีพฤติกรรมคล้าย ๆ นี้ ก็ฟันธงได้เลย เช่น...

    พกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ ตัว และจะรู้สึกกังวลใจมากถ้ามือถือไม่ได้อยู่กับตัว

    หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความ อัพเดทข้อมูลในสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา ชอบหยิบขึ้นมาดูบ่อย ๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน เพราะห้ามใจไม่ไหว

    เมื่อมีเสียงเตือนเข้ามา คุณจะวางภารกิจตรงหน้าทั้งหมด เพื่อเช็กข้อความในโทรศัพท์ ไม่งั้นจะไม่มีสมาธิ ลุกลี้ลุกลน กระวนกระวายใจ จนทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อไม่ได้

    ตื่นนอนปุ๊บก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กข้อความปั๊บ พอก่อนจะนอน ก็ยังเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์

    ชอบเล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่ทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันไปด้วย เช่น ระหว่างทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า

    หากวางมือถือไว้ผิดที่ หรือหาไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมาก

    กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม

    ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย

    ใช้เวลาพูดคุยกับเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าคุยกับเพื่อนที่อยู่ตรงหน้าเสียอีก

    ลองตั้งใจจะไม่เล่นมือถือสัก 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถทำได้ ต้องหยิบมือถือขึ้นมาเล่นทุกทีสิ


    โนโมโฟเบีย

    รู้ไหม? โนโมโฟเบียทำเสี่ยงอีกสารพัดโรค

              สำรวจพฤติกรรมดูแล้วตรงกับตัวเองกี่ข้อ แต่ตรงหลายข้อต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองกันแล้วล่ะค่ะ เพราะคนที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเองเป็นเวลานาน ๆ นอกจากจะขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างแล้ว ยังเสี่ยงต่อสารพัดโรคที่เกิดจากเครื่องมือสื่อสารในยุคไซเบอร์ ทั้ง...

    นิ้วล็อก

              เกิดจากการใช้มือกด จิ้ม สไลด์หน้าจอติดต่อกันนานเกินไป ทำให้มีอาการนิ้วชา ปวดข้อมือ เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ ถ้ารู้สึกว่าตัวเองนิ้วมือเริ่มแข็ง กำแล้วเหยียดขึ้นไม่ได้ นี่เป็นสัญญาณบอกให้รีบไปพบแพทย์แล้ว

    อาการทางสายตา

              เกิดจากการเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็ก ๆ นานเกินไป ทำให้สายตาล้า เกิดอาการตาแห้ง นาน ๆ เข้าทำให้จอประสาทตาเสื่อม และวุ้นในตาเสื่อมได้

    ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่

              เพราะคนส่วนใหญ่เวลาเล่นโทรศัพท์มักจะก้มหน้า ค้อมตัวลง ทำให้คอ บ่า ไหล่ เกิดอาการเกร็ง เลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากเล่นนาน ๆ อาจมีอาการปวดศีรษะตามมา

    หมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร

              จากการนั่งผิดท่า นั่งเกร็งเป็นเวลานาน ๆ และทำเป็นประจำจนเป็นนิสัย หากเป็นหนักจนมีอาการปวดมาก ๆ แพทย์ต้องผ่าตัดรักษาให้

    โรคอ้วน

              แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้สมาร์ทโฟนนาน ๆ โดยตรง แต่ถ้าเราติดมือถือขนาดหนัก นั่งเล่นทั้งวันแทบไม่ลุกเดินไปไหน ร่างกายก็จะไม่เกิดการเผาผลาญ อาหารที่เราทานเข้าไปก็จะเป็นไขมันไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทีนี้โรคอ้วนถามหาแน่นอน

    โนโมโฟเบีย

    ติดมือถือซะแล้ว ต้องแก้ไขซะใหม่ !

    เพื่อป้องกันโรคทั้งหลายทั้งมวล และไม่ปล่อยให้คุณเสพติดมือถือขนาดหนักอีกต่อไป ลองมาดูคำแนะนำดี ๆ ให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองกันค่ะ ลองใช้วิธีง่าย ๆ อย่างเช่น...

    พยายามใช้มือถือเท่าที่จำเป็น และหากิจกรรมอื่นทดแทน เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย

    ถ้ารู้สึกเหงา ให้หาเพื่อนคุยแทนการใช้โทรศัพท์ เช่น คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน นัดเพื่อนมาเจอกัน อย่าหมกมุ่นอยู่กับการสนทนาผ่านหน้าจอโลกไซเบอร์

    ตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องมือถือภายในเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง แล้วค่อย ๆ เพิ่มเวลาห่างจากมือถือให้ได้มากขึ้น

    ลองกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดมือถือ แล้วทำตามให้ได้ จะได้ไม่ต้องหยิบมือถือมาเล่นทันทีตั้งแต่ลืมตาตื่น หรือผล็อยหลับไปกับมือถือที่เล่นก่อนนอน

    หากมีอาการหนัก ไม่สามารถห่างมือถือได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งถ้าใครมีอาการหนักมาก ๆ ทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ

    ใครจะไปคิดว่าเรื่องเล็ก ๆ อย่างการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สุดแสนจะมีประโยชน์ก็ทำร้ายสุขภาพจิตสุขภาพกายของเราได้เหมือนกัน ถ้าเราใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่ระวัง อ่านจบแล้ว ใครที่รู้ตัวว่าเริ่มมีปัญหาและส่อเค้ามีอาการ "โนโมโฟเบีย" แล้วล่ะก็ ลองปรับเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่ตั้งแต่วันนี้กันเถอะค่ะ




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2557 19:36:54 น.
Counter : 1127 Pageviews.  

เรียกเหงื่อลดโรค กิจกรรมทางกาย ใคร ๆ ก็ทำได้

    ออกกำลังกาย


    เรียกเหงื่อลดโรค (นิตยสารสร้างสุข โดย สสส.)

              กิจกรรมทางกาย ใคร ๆ ก็ทำได้ เริ่มเลย

    ว่ากันว่า "กีฬาเป็นยาวิเศษ" แต่พอชวนเล่นกีฬา หลายคนมักมีข้ออ้างว่า ไม่มีเวลา ไม่ว่าง ไม่พร้อม สารพัดเหตุผลที่ยกมา จนสารพัดโรคเรื้อรังรุมเร้า

              แต่การขยับเขยื้อนร่างกายให้กล้ามเนื้อได้ยืดหยุ่น ให้เหงื่อได้ออก มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ร่างกายทั้งมีภูมิต้านทาน ไม่บาดเจ็บได้ง่าย และเหงื่อยังขับสารบางอย่างโดยเฉพาะโซเดียมที่จะขับออกมาทางเหงื่อจำานวนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นความดันโลหิตสูง จนนำไปสู่โรคเรื้อรังอย่างไตวายเรื้อรังด้วย

    การเคลื่อนไหวร่างกายไม่จำเป็นว่าต้องเล่นเฉพาะกีฬาแบบจริง ๆ จัง ๆ เพราะนั่นกลายเป็นเงื่อนไขให้หลายคนไม่สามารถออกกำลังกายได้ ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายตัวชี้ให้เห็นว่า แม้ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่หากมี "กิจกรรมทางกาย" ซึ่งหมายความรวมถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูก ได้ทำงานจนทำให้เกิดการเผาพลาญพลังงานตามมา หากสามารถมีกิจกรรมทางกายได้ก็จะเป็นส่วนช่วยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพได้เช่นกัน

    กิจกรรมทางกายง่ายนิดเดียว

    ไม่ง้อรถ สองขาที่ก้าวเดิน เป็นสิ่งพื้นฐานสุดง่ายที่ทุกคนทำได้ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้เริ่มทำ ไม่ว่าจะเดินไปซื้อของ เดินไปขึ้นรถ เดินไปต่อรถ เดินไปหาเพื่อน หรือ เดินชมนกชมไม้ ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานได้โดยที่ไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ออกแรงและเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อแลกกับสุขภาพที่ดีเท่านั้น

    ไม่ง้อลิฟต์ ความสะดวกสบายเป็นสิ่งที่ทุกคนชอบ แต่หากลองเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ได้พบกับสุขภาพที่ดี ลองหันมาเดินขึ้นบันไดแทน เริ่มจากชั้น 2 ไม่ใช่ลิฟต์ เพิ่มเป็นชั้น 3 ไม่ใช่ลิฟต์ ชั้น 4 ไม่ใช่ลิฟต์ ถ้าทำได้ทุกวันก็ถือเป็นการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ได้เหงื่อซึมนิด ๆ หัวใจเต้นแรงหน่อย ๆ เผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี

    รักษ์โลก เลือกใช้บริการพาหนะสุดฮิตอย่างสองล้อ จักรยานเป็นสิ่งที่ทุกบ้านน่าจะมี และไม่ใช่ว่าการปั่นจักรยานจะต้องเป็นจักรยานสีสวย ราคาแพง เสือหมอบ หรือ แข่งได้ แต่จักรยานสามัญประจำบ้าน อย่างจักรยานแม่บ้านที่มีตะกร้าหน้ารถ หรือไม่มีก็แล้วแต่ที่เราชินตา ก็สามารถเปลี่ยนเป็นสุขภาพดี ๆได้เช่นกัน เพียงแค่หากมีธุระไม่ไกลระยะทาง 1-2 กิโลเมตร สามารถใช้จักรยานไปแทนการขับรถได้

    รักความสะอาด การเคลื่อนไหวในกิจกรรมประจำวันให้ติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะเป็น กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ปลูกต้นไม้ สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานทั้งสิ้น หากเราทำเป็นประจำ นอกจากก็จะช่วยให้บ้านสะอาด และได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี ไม่เชื่อต้องลองดู รับรองว่าได้เหงื่อแน่นอน และถือเป็นสิ่งที่ทำได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะร่างกายต้องการตัวช่วยในการเผาผลาญพลังงานให้หมดไป

    แค่ขยับ หลาย ๆ คนโดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ มักจะทำงานโดยนั่งจมอยู่กับคอมพิวเตอร์เกือบตลอดทั้งวัน ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ระบาดไปทั่ว และสุดท้ายคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ฉะนั้น หากรู้ว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มนี้ ยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินขึ้นบันได การยืดเหยียดร่างกายให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายบ้าง เป็นต้น

    ยืดเส้นยืดสาย


    นอกจากการเคลื่อนไหวโดยมีกิจกรรมทางกายให้เป็นนิสัย แต่ละช่วงวัยร่างกายต้องการการออกกำลังและมีกิจกรรมทางกายอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องบาดเจ็บ


    เด็กไทย

    เด็กและเยาวชน (อายุ 5–17 ปี)

               เป็นวัยที่ควรมีกิจกรรมทางกายที่ออกแรงระดับปานกลางถึงหนักทุกวันเป็นประจำอย่างน้อย 60 นาทีต่อครั้ง กิจกรรมส่วนใหญ่ควรเป็นประเภทแอโรบิค และควรมีกิจกรรมที่ออกแรงอย่างหนักทำควบคู่ไปพร้อมกัน อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกได้อย่างดี


    แอโรบิค


    ผู้ใหญ่ (อายุ 18-64 ปี)

               วัยนี้ควรมีกิจกรรมทางกายที่ออกแรงระดับปานกลาง อาจจะใช้วิธีการผสมผสานทั้งกิจกรรมออกแรงปานกลางและหนัก ในเวลาเท่า ๆ กันได้ โดยควรมีกิจกรรมในลักษณะแอโรบิคร่วมด้วย โดยในช่วงวัยนี้ร่างกายจะสะสมมวลกระดูกได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกายด้วย ซึ่งการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังขึ้นด้วย


    ออกกำลังกาย


    ผู้สูงอายุ (65 ปี ขึ้นไป)

               วัยนี้สามารถมีกิจกรรมทางกายเหมือนกับวัยผู้ใหญ่ในช่วงอายุ 18-64 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวควรมีกิจกรรมเพิ่มความ สมดุลของร่างกาย เช่น ฝึกการเดินทรงตัวเพื่อป้องกันการหกล้ม 2-3 วันต่อสัปดาห์ กิจกรรมที่สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ควรทำ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำตามข้อแนะนำดังกล่าวได้นั้น ควรจะทำกิจกรรมทางกายตามศักยภาพและเงื่อนไขของร่างกายเท่าที่จะเอื้ออำนวย

    เพียงเท่านี้สุขภาพดี ๆ ก็เป็นของทุกคน



    ขอขอบคุณข้อมูลจาก

    จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับ สร้างสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 149 มีนาคม 2557




 

Create Date : 30 เมษายน 2557    
Last Update : 30 เมษายน 2557 18:37:19 น.
Counter : 1014 Pageviews.  

9 เรื่องน่ารู้ของการจาม เซอร์ไพร์สจนคาดไม่ถึง !

    จาม


    เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

    ฮัดชิ้ว ! เคยสังเกตไหมคะว่า อาการจามเกิดกับเราได้ทุกฤดูจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหวัด หรือไม่มีอาการป่วยร่วมด้วย เราก็สามารถจามออกมาได้อย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือบางคนอาจจะทราบสาเหตุว่าจามเพราะภูมิแพ้ หรือได้กลิ่นฉุนอะไรบางอย่าง

              เอ๊ะ ! แต่นอกจากอาการคันจมูกก่อนจาม เสียงจามที่ดัง-เบาไม่เท่ากันของแต่ละคน มีใครทราบข้อมูลอื่น ๆ ของการจามอีกบ้างไหมเอ่ย ? เอาล่ะ ถ้าไม่รู้ วันนี้เราก็มี 9 เรื่องน่ารู้ของการจาม จากเว็บไซต์ Huffington Post  มาบอกต่อคุณ ๆ กันด้วย พร้อมแล้วก็มาเก็บเกี่ยวเกร็ดความรู้กันเลยจ้า

    1. อัตราความเร็วของการจามวัดได้สูงสุดกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง !

               โอ้โฮ ไม่น่าเชื่อเลยเนอะ ว่าฮัดชิ้วเดียวของเรา จะมีอัตราความเร็วพุ่งแรงไม่ต่างจากเครื่องยนต์ดี ๆ สักชิ้นเลย และถึงแม้การจามเบา ๆ ที่แทบไม่ได้ยินเสียง เมื่อตรวจวัดแล้ว ก็ยังมีความเร็วเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอยู่ดี แรงไม่เบาเลยนะจ๊ะ

    2. เชื้อโรคจากการจามสามารถแพร่กระจายได้ไกลถึง 9 เมตร

               เคยมีคนคาดคะเนว่า การจามในแต่ละครั้งของเราจะแพร่กระจายเชื้อโรคได้ภายในรัศมี 1.5 เมตร แต่ถ้าจามแบบแรงสุด ๆ เชื้อโรคก็จะสามารถกระจายตัวได้ไกลเกินกว่า 9 เมตรทีเดียวนะคะ เรียกได้ว่า รัศมีกว้างขนาดนี้เชื้อโรคก็น่าจะทั่วถึงเลยล่ะ ฉะนั้นรู้ตัวว่าจะจามเมื่อไร ก็อย่าลืมปิดปากให้สนิทกันด้วยนะ


    จาม

    3. เราจามเพื่อฟื้นฟูการทำงานของจมูก

               ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอาการหวัด แต่บ่อยครั้งเราก็จามโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเหตุผลนี้ก็สามารถอธิบายทางการแพทย์ได้ว่า จมูกของเราก็คล้ายกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ ที่เมื่อเกิดระบบขัดข้อง ก็ต้องรีสตาร์ทเครื่องใหม่เพื่อล้างความขัดข้องนั้นออกไป

               เช่นเดียวกันกับจมูก เมื่อร่างกายสูดเอาฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป อาการจามก็จะเกิดขึ้น เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป แต่อีกนัยหนึ่งก็คือ การจามก็เหมือนเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่า ณ ขณะนี้ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยต่อระบบทางเดินหายใจเท่าไรนะ

               ด้วยเหตุนี้หลังการจามทุกครั้ง เราจึงสังเกตได้ว่า จะหายใจไม่ค่อยสะดวก หรือมีอาการคัดจมูกนิดหน่อย ซึ่งนั่นก็เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการสูดเอาฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมเข้าไป โดยมีเซลล์ขน (cilia) คอยจับความผิดปกนั้นไว้นั่นเองค่ะ

    4. แสงแดดจ้า ๆ ตัวการทำให้จามได้เหมือนกัน

               โดยปกติเรารู้กันดีอยู่แล้วเกี่ยวกับตัวกระตุ้นให้เกิดอาการจาม เช่น ฝุ่น กลิ่นฉุนของอาหาร หรือถูกกระตุ้นด้วยอาการป่วย เป็นต้น ซึ่งหลายคนอาจเคยนึกสงสัยบ้างเหมือนกันใช่ไหมคะ ว่า แม้จะไม่มีตัวกระตุ้นที่ว่ามานี่เลย แต่พอเจอเข้ากับแสงแดดจ้า ๆ เรากลับจามออกมาซะดังลั่น ดีไม่ดีก็จามติดกันเป็นเซตใหญ่เลยด้วยล่ะ

    และคำตอบของสาเหตุนี้ก็มีนักประสาทวิทยาออกมาให้ความรู้ไว้ว่า จริง ๆ แล้วยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับเรื่องแสงแดดจ้า ๆ ที่ทำให้คนจามออกมา แต่ก็มีการคาดเดาอย่างแพร่หลายถึงปฏิกิริยาที่เรียกว่า Photic Sneeze Reflex หรือปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อได้เจอแสงแดด สมองจะส่งสัญญาณไปกระทบกับเส้นประสาทในจมูก ทำให้เราจามในที่สุด

               โดยการทดลองก็พบว่า อาสาสมัคร 1 ใน 4 คนจะมีอาการจามมื่อต้องออกแดดแรง ๆ เป็นประจำ ซึ่งก็นับว่าเป็นผลดีกับคนที่รู้สึกอยากจาม แต่กลับจามไม่ออก แต่สำหรับคนที่ไม่อยากจามเมื่อต้องออกแดด ก็คงต้องใส่แว่นตากันแดด เพื่อยับยั้งอาการจามแล้วล่ะค่ะ

    5. จาม 3 ครั้งติดกัน เป็นเรื่องปกติ

               ในขณะที่ร่างกายมีสิ่งรบกวนผ่านเข้าไปทางจมูก ก็ไม่น่าแปลกที่จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านด้วยการจามดัง ๆ ออกมาติดกัน 2-3 ครั้ง เพื่อกำจัดสิ่งรบกวนออกไปให้หมดสิ้น ดังนั้นใครที่จามไม่หยุดสักที ก็อย่าเพิ่งตกใจว่าร่างกายมีอาการผิดปกตินะคะ และทางที่ดีก็ย้ายจากพื้นที่เสี่ยง ไปยังพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เร็ว ๆ ดีกว่า

    จาม

    6. เราไม่สามารถลืมตาได้ในขณะที่จาม

               ไม่รู้ว่ามีใครเคยสังเกตหรือเปล่าว่า ในขณะที่เราจามทุกครั้ง เราจะหลับตาโดยไม่ได้ตั้งใจทุกที ซึ่งนั่นก็เป็นผลพวงจากอาการตอบสนองโดยอัตโนมัติของร่างกาย เหมือนกับเวลาที่คุณหมอเอาค้อนเล็ก ๆ มาเคาะบริเวณหัวเข่าเรานั่นล่ะค่ะ และแม้วาจะมีคนพยายามฝืนปฏิกิริยานี้อย่างจริงจังแค่ไหน ก็ไม่มีใครเคยทำสำเร็จสักทีเลยด้วย

    7. หัวใจยังคงเต้นอย่างปกติเมื่อเราจาม

               ถ้าหากคุณกำลังสงสัยว่า ระหว่างที่เราจาม หัวใจเราจะหยุดเต้นไปด้วยหรือเปล่า ก็ขอบอกตรงนี้เลยค่ะว่า นอกจากการสูดหายใจเข้าลึก ๆ และเส้นประสาทส่วนใหญ่ในร่างกายจะตื่นตัวก่อนการจามแล้ว ร่างกายส่วนอื่น ๆ ก็ยังคงทำงานตามปกติ แม้แต่อัตราการเต้นของหัวใจก็ไม่เปลี่ยนแปลงสักนิดเลยล่ะ

    8. กลั้นจามไม่ใช่เรื่องที่ดี

               อาการจามสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ จามแบบทันทีทันใด กับรู้สึกอยากจาม แต่จามไม่ออก ซึ่งอย่างหลังก็ทำให้เรารู้สึกอัดอัดน่าดูเลยเนอะ แต่ส่วนมากเมื่อจามไม่ออก เราก็มักจะกลั้นจามเอาไว้ แล้วปล่อยให้ร่างกายลืม ๆ มันไปในที่สุด ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็บอกว่า พฤติกรรมแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างแรงเลยนะจ๊ะ เพราะนอกจากจะเป็นสาเหตุเล็ก ๆ ของอาการเส้นเลือดในตาเปราะขาด หรือแตก แก้วหูฉีกขาด และเสี่ยงมีความผิดปกติเกี่ยวกับกระบังลมแล้ว การกลั้นจามยังเป็นการเปิดโอกาสให้เชื้อโรคสะสมอยู่ในร่างกายเราอีกด้วยนะ

    จาม

    9. แต่คุณสามารถระงับอาการจามได้ด้วยนะ

               แม้ว่าการกลั้นจามจะส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี แต่บางครั้งเราก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถจามออกมาได้จริง ๆ ซึ่งคุณสามารถระงับอาการจามด้วยตัวเองได้โดยถูจมูกแรง ๆ เม้มปากและสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ เอาล่ะ ! ชอบวิธีไหนก็ลองนำวิธีไปทำกันดูนะจ๊ะ

    ไม่น่าเชื่อเลยนะว่า การจามจะมีความลับที่น่ารู้มากมายขนาดนี้ บางอย่างก็เป็นข้อมูลที่เรียกความขำขัน หรือทำให้ทึ่ง และทำให้รู้สึกว่าต้องระวังตัวให้มากขึ้นได้เลยเหมือนกัน สาระดี ๆ แบบนี้ตรงกับสุภาษิตที่ว่า รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามจริง ๆ เลยเนอะ




 

Create Date : 28 เมษายน 2557    
Last Update : 28 เมษายน 2557 17:19:23 น.
Counter : 1812 Pageviews.  

เช็กสัญญาณป่วย เนื้องอกต่อมใต้สมอง คุชชิ่ง ซินโดรม

    คุชชิ่ง ซินโดรม
    ผู้ป่วยเนื้องอกต่อมใต้สมอง ชนิด คุชชิ่ง ภาพประกอบจาก homeescapade.com


    อาการคุชชิ่งแม้ไม่ได้กินยาสเตียรอยด์ก็เป็นได้ หากเกิดเนื้องอกต่อมใต้สมอง
    โดย ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

    ศ.นพ.อภิชาติ วิชญาณรัตน์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง (Cushing’s Disease) ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย แต่มีอาการคล้ายกับโรคอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมโรคเหล่านี้ได้ยาก

    คนที่อ้วนขึ้นผิดสังเกต โดยเฉพาะผู้ที่มีใบหน้าอ้วน กลม และแดง พุงยื่นป่อง แต่แขนขากลับลีบ ผิวหนังมีรอยแตกสีชมพูม่วงคล้ำ มักพบที่หน้าท้องหรือต้นขา บริเวณต้นคอด้านหลังอาจมีไขมันพอกหนาคล้ายหนอก ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือดได้ชัด เส้นเลือดบนผิวหนังเปราะและแตกง่าย เห็นเป็นรอยช้ำสีม่วง มีสิวและขนอ่อนขึ้นบนใบหน้า ผู้ที่มีลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่าเกิดภาวะ "คุชชิ่ง ซินโดรม" เป็นสัญญาณบอกว่าในร่างกายมีระดับคอร์ติโคสเตรอยด์สูงเป็นเวลานาน

              การที่ร่างกายมีคอร์ติโคสเตรอยด์ (เรียกสั้นๆ ว่าสเตรอยด์) สูง เกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุภายในร่างกาย และภายนอกร่างกาย ส่วนใหญ่เราจะพบภาวะคุชชิ่งซินโดรมจากสาเหตุภายนอกร่างกาย คือคนที่รับประทานยาลูกกลอนหรือยาหม้อที่มีส่วนผสมของสเตรอยด์เป็นเวลานาน ๆ หรือซื้อยาชุดที่มียาเม็ดสเตรอยด์อยู่ด้วย เพื่อรักษาโรคปวดข้อ โรคปวดเมื่อย โรคคัน โรคหอบหืด หรือเพื่อให้เจริญอาหาร

              ในปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้กันอย่างมาก ร้านขายยาส่วนใหญ่ไม่จ่ายยากลุ่มนี้ถ้าไม่มีใบสั่งแพทย์

    ส่วนสาเหตุจากภายในร่างกายซึ่งพบน้อยมาก คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักกัน สาเหตุอาจเกิดจากเนื้องอกต่อมหมวกไต หรือต่อมหมวกไตโต และสร้างสเตียรอยด์มากเกินจากผลของเนื้องอกต่อมใต้สมอง ทั้งต่อมหมวกไตและต่อมใต้สมองเป็นต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสเตรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย

              หลาย ๆ คนอาจไม่ทราบว่าสเตรอยด์เป็นฮอร์โมนที่มีการผลิตในร่างกายอยู่แล้ว เป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบเมตาบอลิซึม (เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารแป้ง ไขมัน และโปรตีนเพื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน) การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด และการตอบสนองต่อความเครียดของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะมีการผลิตสเตียรอยด์ในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ


    คุชชิ่ง ซินโดรม


              เนื่องจากในเดือนเมษายน ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่ง จึงอยากให้ความรู้เกี่ยวกับโรคชนิดนี้ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันนัก แล้วต่อมใต้สมองคืออะไร…..

              ต่อมใต้สมองเป็นต่อมขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 0.6 กรัม ที่ติดอยู่กับส่วนล่างของฐานสมอง มีหน้าที่ควบคุมการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด รวมทั้งฮอร์โมนที่ควบคุมการสร้างสเตรอยด์ เมื่อเกิดเนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดที่มีการสร้างฮอร์โมน ACTH ฮอร์โมนนี้จากเนื้องอกจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการสร้างสเตรอยด์ฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้เกิดอาการและโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา

    ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงออกแตกต่างกัน แต่ทุกรายจะมีลักษณะเด่นต่าง ๆ ของคุชชิ่ง  ซินโดรมดังกล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปร่างอ้วน หน้ากลมแดง อาจมีสิวและขนอ่อนเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง

              ผู้ป่วยโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดคุชชิ่งยังอาจมีอาการอื่น ๆ ที่เกิดจากการมีสเตรอยด์ฮอร์โมนในร่างกายสูง เช่น ปวดหลังเนื่องจากกระดูกผุ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ นอนไม่หลับ ติดเชื้อง่ายและเป็นแผลหายช้า ผมร่วง ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาน้อยหรือไม่มาเลย ส่วนในผู้ชายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ ตัวเนื้องอกต่อมใต้สมองอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

              ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้ใช้วิธีการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกไปเป็นลำดับแรก เนื่องจากมีโอกาสหายขาด ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วไม่หาย หรือโรคกลับมาเป็นซ้ำ รวมทั้งผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกได้ จะรักษาด้วยรังสีรักษาหรือให้ยาเพื่อยับยั้งการสร้างสเตรอยด์ฮอร์โมน

    ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น ความดันโลหิตสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง แต่ควบคุมไม่ได้ กระดูกหักง่าย ติดเชื้อง่าย ความดันโลหิตสูงทำให้เกิดโรคหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก โรคหัวใจขาดเลือด ถ้ามีลักษณะหรืออาการต่าง ๆ ดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป




 

Create Date : 27 เมษายน 2557    
Last Update : 27 เมษายน 2557 17:21:14 น.
Counter : 2019 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.