Group Blog
 
All blogs
 
ทีมชาติอังกฤษ ปฏิวัติวงการให้โอกาส เยาวชน ดาวรุ่ง ใน พรีเมียร์ลีก



ข่าวฟุตบอล วงการลูกหนังอังกฤษถึงคราวต้องปฏิวัติเพื่ออนาคตของทีมชาติ เกร็ก ไดค์ ประธาน เอฟเอ คนใหม่ ลั่น ไม่อยากเห็น "สิงโตคำราม" กลายเป็นแค่ทีมชั้นสองของยุโรป


เกร็ก ไดค์ ประธาน สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) คนใหม่ เปิดแสดงวิสัยทัศน์ โดยขอดำเนินการให้เกิดการปฏิวัติในวงการลูกหนังเมืองผู้ดี เพื่อกอบกู้อนาคตของทีม "สิงโตคำราม" ให้จงได้

ไดค์ วัย 66 ปี เข้ามาตำแหน่งประธาน เอฟเอ แทนที่ เดวิด เบิร์นสไตน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา หลังจากอำลาตำแหน่งประธานสโมสร เบรนฟอร์ด โดยล่าสุดในการแสดงปาฐกถา เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน ผู้นำสูงสุดของวงการลูกหนังเมืองผู้ดี ประกาศพันธกิจ ขอดึงเหล่าสโมสรต่างๆ เข้ามาร่วมแผนการเพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมชาติอังกฤษ พร้อมกำหนดเป้าหมายว่า พลพรรค "สิงโตคำราม" ต้องผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ในฟุตบอล ยูโร 2020 และก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์โลก ใน เวิลด์ คัพ 2022

ปัญหาที่ก่อตัวจนกลายเป็นกำแพงสูงขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทีมชาติอังกฤษก็คือ โอกาสที่เหล่าดาวรุ่งเยาวชนเลือดผู้ดีแท้ๆ มีโอกาสที่จะได้พัฒนาฝีเท้าอย่างจำกัด นั่นเป็นเพราะกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บรรดาทีมชั้นนำใน พรีเมียร์ลีก ต่างก็นิยมที่ทุ่มเงินซื้อผู้เล่นฝีเท้าดีจากต่างชาติเข้ามาใช้งานมากกว่าพยายามพัฒนานักเตะท้องถิ่นของตัวเอง

ในเรื่องนี้ ไดค์ ย้ำว่าไม่ได้มองสโมสรต่างๆ เป็นตัวปัญหา แต่เมื่อดูถึงสถิติจำนวนนักเตะอังกฤษที่อยู่ในสถานะผู้เล่นตัวจริงของทีมต่างๆ ใน พรีเมียร์ลีก ที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้ไม่อาจจะละเลยไปได้

"วงการฟุตบอลอังกฤษจำเป็นต้องมีทีมชาติอังกฤษที่แข็งแกร่ง การที่บรรดาทีมสโมสรคว้าแชมป์ แชมเปี้ยนส์ ลีก โดยที่ทั้งทีมมีแต่ผู้เล่นต่างชาติมันไม่สามารถทดแทนความสำเร็จของทีมชาติได้หรอก"

"ตอนนี้เรามีนักเตะพรสวรรค์ดีๆ อยู่ค่อนข้างจำกัด และดูเหมือนจำนวนมันจะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตมันมีความเป็นไปได้เหมือนกันที่เราจะไม่เหลือผู้เล่นคนที่ดีพอจะเล่นให้ทีมชาติอังกฤษ แล้วก็เป็นตัวจริงของสโมสรในลีกสูงสุดทั้งในประเทศหรือต่างประเทศด้วย และผลที่ตามมามันก็หมายความว่า ทีมชาติอังกฤษจะไม่มีศักยภาพพอที่จะสู้กับคู่แข่งทีมอื่นๆ ในเวทีโลกได้อีกแล้ว"

"เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว ไม่อย่างนั้น มันคงยากที่เราจะได้เห็นอังกฤษได้มีโอกาสลุ้นคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยุโรป ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เราต้องมาช่วยกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ดีกว่า" ประธาน เอฟเอ กล่าว


มีข้อมูลน่าสนใจจากตลาดซื้อขายนักเตะที่เพิ่งปิดลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า บรรดาทีมหัวแถวของ พรีเมียร์ลีก ไม่ว่าจะเป็น อาร์เซน่อล, เชลซี, ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ท็อตแน่ม ฮอทสเปอร์ ทั้งหมดนี้ใช้จ่ายเงินเสริมทัพรวมกันกว่า 300 ล้านปอนด์ เพื่อซื้อผู้เล่นไม่น้อยกว่า 30 คน แต่ในจำนวนนั้นไม่มีผู้เล่นชาวอังกฤษแม้แต่รายเดียว ยกเว้นกรณีของ วิคเตอร์ โมเซส ที่เป็นย้ายเซ็นสัญญายืมตัวของ "หงส์แดง"

นั่นยิ่งทำให้ ไดค์ ต้องพยายามหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหา เริ่มจากการตั้งคณะกรรมธิการร่วมที่มีตัวแทนจากสโมสรใน พรีเมียร์ลีก, ฟุตบอลลีก, สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (พีเอฟเอ) ในการจัดทำรายงานเพื่อกำหนดแนวทางให้เพิ่มจำนวนผู้เล่นท้องถิ่น, จำกัดโควต้านักเตะต่างชาติ, เพิ่มความเข้มงวดให้การออกใบอนุญาตทำงานสำหรับนักเตะต่างชาติ, การกำหนดระบบยืมตัวผู้เล่น และการพักเกมฟุตบอลลีกในฤดูหนาวเหมือนลีกอื่นๆ

ทั้งนี้อังกฤษ ไม่ใช่ชาติแรกที่ต้องเจอกับปัญหาความตกต่ำของทีมชาติ โดยที่ผ่านมาชาติชั้นนำของโลกลูกหนังต่างต้องคิดค้นมาตรการต่างๆ มาใช้ ซึ่งบางครั้งต้องอาศัยระยะเวลานานนับศตวรรษกว่าที่ผลสำเร็จจะเกิดขึ้น


ฝรั่งเศส - ที่ฝรั่งเศสเคยเกิดปัญหาความตกต่ำพร้อมกันทั้งในระดับชาติและระดับสโมสรตั้งแต่ในทศวรรษที่ 70 ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (แอฟเอฟแอฟ) จัดการก่อตั้ง แกลร์กฟองแต็ง ขึ้นมาที่ชานกรุงปารีส ให้เป็น 1 ใน 11 ศูนย์พัฒนาฟุตบอลแห่งชาติ

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษที่ 90 สโมสรต่างๆ ของฝรั่งเศสจะต้องส่งผู้เล่นเยาวชนที่ดีที่สุดมาร่วมฝึกซ้อมและเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ในระหว่างสัปดาห์ จากนั้นเด็กๆ จึงจะถูกปล่อยตัวกลับบ้านและไปเล่นให้ทีมต้นสังกัดในสุดสัปดาห์ 

หลังจากจมอยู่กับความผิดหวังมาหลายปี วงการลูกหนังโลกจึงได้เห็นเหล่านักเตะแข้งทองของฝรั่งเศสสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาใน "ฟร้องซ์ 98" และผู้เล่นอย่าง เธียร์รี่ อองรี กับ นิโกลาส อเนลก้า ก็ถือเป็นผลผลิตโดยตรงจาก แกลร์กฟองแต็ง


เยอรมนี - จากความสำเร็จใน เวิลด์ คัพ 90 จนถึง ยูโร 96 ทีมชาติเยอรมนีกลับตกต่ำลงอย่างรวดเร็วในฟุตบอลโลก 98 ที่ฝรั่งเศส และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ยูโร 2000 ที่ขุนพล "อินทรีเหล็ก" ตกรอบแรกอย่างน่าอับอาย

ครั้งนั้น สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมนี (เดเอฟเบ) ที่ได้รับการหนุนหลังจากทุกสโมสรอย่างเต็มตัว หันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีมชาติอีกครั้ง เริ่มด้วยการยกเครื่องมาตรฐานของโค้ชในทุกระดับ จากนั้นมีการปรับเปลี่ยนศูนย์เยาวชน 366 แห่งทั่วประเทศให้รองรับการฝึกฝนสำหรับผู้เล่นในระดับอายุ 11 - 14 ปี 

ขณะที่บรรดาผู้ตัดสินถูกสั่งให้ทำหน้าที่แมวมอง มีหน้าที่ต้องรายงานถึง เดเอฟเบ เมื่อพบนักเตะดาวรุ่งที่มีฝีเท้าโดดเด่น และแม้กระทั่งในทีมฟุตบอลระดับโรงเรียนก็จะมีการส่งโค้ชที่เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการกีฬาลงไปช่วย เพื่อการพัฒนาฝีเท้าของเด็กๆ ให้ถึงขีดสุด
ผลจากมาตรการทั้งหลาย ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แล้วดูได้จากเหล่าผู้เล่นอย่าง โธมัส มุลเลอร์, มาริโอ เกิทเซ่, มาร์โก รอยส์ หรือ มานูเอล นอยเออร์


สเปน - สมัยก่อน สเปนก็เป็นอีกทีมหนึ่งที่ถูกปรามาสพอๆ กับอังกฤษ ว่าไม่อาจจะประสบความสำเร็จกับชาวบ้านเขาได้สักที ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2003 เมื่อ ซิวดาด เดล ฟุตบอล ศูนย์ฝึกซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยลูกหนัง ถูกก่อตั้งขึ้นที่ ลาส โรซาส ชานกรุงมาดริด 

ว่ากันว่าด้วยปรัชญาการเล่นฟุตบอล ติกี้-ตาก้า ของ บาร์เซโลน่า ผนวกกับนโยบายการเสาะหาและคัดเลือกดาวรุ่งระดับเยาวชนที่มีประสิทธิภาพของ เรอัล มาดริด นี่แหละที่ทำให้ทั้ง หลุยส์ อราโกรเนส จนถึง บิเซนเต้ เดล บอสเก้ มีทรัพยากรนักเตะชั้นดีไว้ให้เลือกแบบเหลือกินเหลือใช้ และสเปนก็กลายเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดพร้อมกับสามารถเล่นฟุตบอลได้ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทั้ง อีเคร์ กาซิยาส, ชาบี เอร์นานเดซ หรือ อันเดรส อีเนียสต้า กับ เซร์คิโอ รามอส ทุกคนจะลืมความเป็นปรปักษ์ของต้นสังกัดได้หมดสิ้น เมื่่อมาสวมเสื้อสีแดงของทีมชาติสเปน





Create Date : 06 กันยายน 2556
Last Update : 6 กันยายน 2556 19:59:37 น. 0 comments
Counter : 945 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

jureeporn
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




src='http://roomsite.freeserverhost.com/blogproject/toolbar.js'>
FC Barcelona


Google
จำนวนผู้ชมบล็อกทั้งหมด คน




















[Add jureeporn's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.