นครศรีธรรมราช
อาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นอาณาจักรที่สิ้นสุดลงก่อนหน้าอาณาจักรอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัย จนสืบเนื่องมาถึงอาณาจักรอยุธยา เรื่องราวของอาณาจักรนี้จึงค่อนข้างมืดมนไม่ชัดเจน

อาณาจักรนครศรีธรรมราช มีวิวัฒนาการมาจากแคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหนึ่งในเขตวัฒนธรรมศรีวิชัยตอนบน (ภาคใต้ของไทย) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดี ชาวนครศรีธรรมราชเป็นคนไทกลุ่มหนึ่ง ปกครองเมืองสิบสองนักษัตร (๑๒ เมือง) โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองศูนย์กลาง กษัตริย์ปกครองอยู่ในราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีที่มาจากกษัตริย์ผู้สถาปนา อาณาจักรนครศรีธรรมราช (จังหวัดนครศรีธรรมราช) คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จากหลักฐานที่พบจดบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณในหอสมุดแห่งชาติ มีชาวนครศรีธรรมราชท่านหนึ่งซึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราช สถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับพ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังจากอาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายไปแล้ว เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัย มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1000- 1800

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงมีพระอนุชา 3 พระองค์ องค์รองชื่อ จันทรภาณุ ซึ่งเป็นพระนามฐานันดรตำแหน่งอุปราช องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า พงษาสุระ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเชษฐาสวรรคต องค์รองพระเจ้าจันทรภาณุขึ้นเสวยราชย์แทน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากกษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์พระองค์ต่อมาก็เป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแทน ดังเช่นเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์พี่สิ้นพระชนม์ พระเจ้าจันทรภาณุ ก็ได้รับพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เช่นกัน แต่คนทั่วไปก็มักจะเรียกจนติดปากว่า พระเจ้าจันทรภาณุ หรือในอีกชื่อหนึ่งของพระองค์คือ จตุคามรามเทพ

"ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช" เป็นราชวงศ์หนึ่ง ของไทยที่เคยมีอำนาจปกครอง อาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งปกครองเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย จำนวน 12 เมือง เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ดังนี้

เมืองสายบุรี ใช้ตราหนู เมืองสายบุรีเป็นเมืองเก่าบนฝั่งแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นราบริมทะเลหลายแห่ง จัดเป็นหัวเมืองที่ 1 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี

เมืองปัตตานี ใช้ตราวัว เมืองตานีเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งรู้จักในหมู่พ่อค้าต่างชาติช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-18 ในชื่อ "ลังกาสุกะ" จัดเป็นหัวเมืองที่ 2 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราวัว (ฉลู) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี

เมืองกลันตัน ใช้ตราเสือ เมืองกลันตันเป็นชุมชนเก่าแก่ทางตะวันออกของคาบสมุทรมลายู แต่เดิมประชาชนนับถือศาสนาพุทธและฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ 3 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราเสือ (ขาล) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

เมืองปาหัง ใช้ตรากระต่าย เมืองปาหังเป็นชุมชนทางตอนล่างของแหลมมลายู ติดกับไทรบุรีหรือเกดะห์ จัดเป็นหัวเมืองที่ 4 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรากระต่าย (เถาะ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

เมืองไทรบุรี ใช้ตรางูใหญ่ เมืองไทรบุรีเป็นชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและบึงตม เดิมประชาชนนับถือพุทธศาสนา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ 5 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ชื่อว่า "เกดะห์"

เมืองพัทลุง ใช้ตรางูเล็ก เมืองพัทลุงเป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 11-13 ได้รับอิทธพลทางพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องทุกยุคสมัย จัดเป็นหัวเมืองที่ 6 ในทำเนียบสิบสองนักษัตร ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง

เมืองตรัง ใช้ตราม้า เมืองตรังเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันตก ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ควนธานี ต่อมาได้ย้ายไปที่กันตังและทับเที่ยงตามลำดับ จัดเป็นหัวเมืองที่ 7 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราม้า (มะเมีย) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง

เมืองชุมพร ใช้ตราแพะ เมืองชุมพรเป็นชุมชนเกษตรและท่าเรือบนคาบสมุทรขนาดเล็ก มีประชากรไม่มากนักเนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้ทำมาหากิน จัดเป็นหัวเมืองที่ 8 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราแพะ (มะแม) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดชุมพร

เมืองบันทายสมอ ใช้ตราลิง เมืองบันทายสมอสันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่มาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นอย่างน้อย มีร่องรอยความเจริญทางเศรษฐกิจและศาสนาพุทธนิกายหินยานและมหายาน รวมทั้งศาสนาฮินดูนิกายไวษณพและนิกายไศวะจำนวนมาก จัดเป็นหัวเมืองที่ 9 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราลิง (วอก) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองสะอุเลา ใช้ตราไก่ เมืองสะอุเลาสันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแดะ เคยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงชั้นเอกและเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของนครศรีธรรมราช จัดเป็นหัวเมืองที่ 10 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราไก่ (ระกา) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองตะกั่วป่า ใช้ตราสุนัข เมืองตะกั่วป่าเคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตก เป็นแหล่งผลิตดีบุกและเครื่องเทศมาแต่โบราณ จัดเป็นหัวเมืองที่ 11 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุนัข (จอ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เมืองกระบุรี ใช้ตราหมู เมืองกระบุรีเป็นชุมชนเล็ก ๆ บนฝั่งแม่น้ำกระบุรี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และภูเขาสลับซับซ้อน จัดเป็นหัวเมืองที่ 12 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุกร (กุน) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง

เมื่อสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ ของอาณาจักรไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง อาณาจักรนครศรีธรรมราช เองก็มีอำนาจรุ่งเรืองในภาคใต้ อาณาจักรนครศรีธรรมราชเป็นมิตรที่ดีต่ออาณาจักรสุโขทัย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีส่งพระสงฆ์ไปยังอาณาจักรสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ยังไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราชยอมเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่ง ของประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่ในสมัยใด แต่จากการสันนิษฐานคาดว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราชคงเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัยตามลำดับมาตั้งแต่ประกาศเอกราชจากศรีวิชัย เนื่องจากประวัติศาสตร์ของสองนครนั้นกล่าวว่านครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชของตนในช่วงต่อเนื่องกันพอดี และต่อมาคงได้มีเอกราชอยู่สักระยะหนึ่ง จึงเข้ามาเป็นประเทศราชของอาณาจักรไทยอีกครั้งในสมัยอาณาจักรอยุธยาในประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ปรากฏในหลักฐานที่เด่นชัดที่สุดคือในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระองค์มีพระมเหสี 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระมเหสีจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศก ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติในสมัยโบราณ ที่จะให้อาณาจักรของตน มีความสัมพันธ์กับกับอีกราชอาณาจักรหนึ่ง เพื่อเป็นมิตรกันจะได้เกื้อหนุน ช่วยเหลือกัน

อาณาจักรนครศรีธรรมราชรุ่งเรืองอยู่ได้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ โดยอาจเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัยตามลำดับก็ตาม แต่ก็คงมีช่วงที่เป็นเอกราช สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เรียกว่า "ไทยถิ่นใต้" ตามเขตแดนปัจจุบันนั่นเอง



Create Date : 14 มกราคม 2554
Last Update : 14 มกราคม 2554 11:55:30 น.
Counter : 673 Pageviews.

0 comment
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
พระราชประวัติ

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นกษัตริย์นครศรีธรรมราชโบราณในสมัยที่ยังเรียกว่า "ตามพรลิงค์" พระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ปัทมวงศ์ พระราชประวัติของพระองค์กล่าวเป็น ๓ นัยด้วยกัน คือ

(๑) จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองอื่นมาก่อน ภายหลังเกิดโรคห่าระบาดในเมืองนั้นจนทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก จนต้องอพยพผู้คนที่เหลือลงเรือหนีตายมาขึ้นที่หาดทรายแก้ว และได้ตั้งบ้านเมืองขึ้น ณ ที่นั้น และขนานนามว่า"นครศรีธรรมราชมหานคร" เมื่อสร้างเมืองเสร็จก็ได้สร้างสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นที่เมืองนั้น

(๒) จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชอีกฉบับหนึ่งคือฉบับที่พบที่วัดเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับฉบับที่พบที่ทุ่งตึก อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กล่าวความตรงกันว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนั้นเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย เดิมชื่อว่า "พราหมณ์มาลี" ได้อพยพพรรคพวกลงเรือสำเภาหลายร้อยลำ หนีการรุกรานพวกอิสลามจากอินเดียมาขึ้นบกที่บ้านทุ่งตึก ใกล้เมืองตะกั่วป่า ฝั่งทะเลตะวันตก ในชั้นแรกได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นที่นั่น อภิเษกพราหมณ์มาลีขึ้นเป็นกษัตริย์ถวายพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" พราหมณ์มาลาผู้เป็นน้องเป็นพระมหาอุปราช

การอพยพครั้งนั้นพวกอินเดียได้นำเอาพระทันตธาตุมาด้วยพวกอินเดียสร้างเมืองทุ่งตึกไม่ทันเสร็จก็ถูกพวกอิสลามตามตีแตกพ่ายอีก จนต้องอพยพทิ้งบ้านเมือง หนีขึ้นไปตามลำน้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก ล่องเลียบริมฝั่งแม่น้ำพุมดวงมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีท่าทีว่าจะตั้งราชธานีที่นั่นอีก แต่เพราะเหตุภูมิประเทศไม่อำนวยทำให้พวกอินเดียที่อพยพมานี้ผิดน้ำผิดอากาศ จนเกิดโรคระบาดขึ้น ทำให้ต้องอพยพผู้คนต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปตั้งถิ่นฐานที่เชิงเขาชวาปราบปลายคลองสินปุน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แต่ก็มีสาเหตุคล้าย ๆ กับที่บ้านน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต่อไปเพื่อหาชัยภูมิใหม่ได้อพยพขึ้นมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้งและได้มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านเสียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะโรคห่ายังไม่ขาดหาย ต้องรื้อถอนต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนพบหาดทรายใหญ่อยู่ริมทะเล ภูมิประเทศต้องลักษณะชัยภูมิที่ดี คือมีลำน้ำและที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตร จึงได้สร้างราชธานีขึ้น ณ ที่นั่น โดยสร้างกำแพงเมือง ปราสาทราชวัง เทวสถาน และพระมหาธาตุเจดีย์บรรจุพระทันตธาตุที่เอามาจากอินเดียด้วย

(๓) ขจร สุขพานิช ได้เสนอเรื่อง "ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช" โดยอ้างหลักฐานจากจารึกหลักหนึ่งที่พบจากจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบกับการศึกษาจารึกวัดหัวเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีและหลักฐานจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชมาประกอบกัน ทำให้ได้ความเลา ๆ ว่า ราชวงศ์นี้อุบัติขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยามาก่อนแล้ว จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏราชวงศ์นี้มีเหตุให้ต้องทิ้งราชธานีเดิม ลงไปแสวงหาที่พักพิงใหม่ทางปักษ์ใต้ และขณะเดินทางลงใต้ได้พบและทำสัตย์ปฏิญาณกับราชวงศ์อู่ทอง ได้แบ่งอาณาเขตปกครองซึ่งกันและกัน และสัญญาจะเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันในยามคับขัน และลงความเห็นว่าราชธานีน่าจะตั้งอยู่ลพบุรีมาก่อน

จากสาเหตุดังกล่าว พอจะอนุมานได้ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนั้นเป็นผู้ที่อพยพมาจากถิ่นอื่นและเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อได้สร้างบ้านเมืองขึ้น จึงนำเอาพระพุทธศาสนารวมทั้งลัทธิความเชื่อในศาสนาพราหมณ์มาด้วย พระนามว่า"ศรีธรรมาโศกราช" นี้ ภายหลังได้ใช้เป็นพระนามหรือนามที่เป็นอิสริยศของพระมหากษัตริย์หรือเจ้าเมืองที่ปกครองเมืองนี้ตลอดมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อราว ๆ พ.ศ. ๑๐๙๘ ในชั้นแรกคนทั่วไปเรียกว่า "สิริธัมนคร" ในศิลาจารึกเมืองไชยาเรียกว่า "ตามพรลิงค์" หรือในจดหมายเหตุของจีนเรียกว่า "ตั้งมาหลิ่ง" เป็นต้น การที่เรียกเมืองตามพรลิงค์ว่า "นครศรีธรรมราช" นี้ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (หลักที่ ๑)เป็นครั้งแรกชื่อนี้มีเค้ามูลที่จะเชื่อถือได้ว่า เป็นราชอิสริยยศที่ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราชว่า "ศรีธรรมราช" คงจะถือเป็นประเพณีสืบต่อเนื่องกันมาหลายองค์ จึงเป็นเหตุให้ไทยขนานนามราชธานีนี้ตามพระนามราชอิสริยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ว่า"นครศรีธรมราช"ตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นต้นมาเมืองที่ทรงสร้างดังกล่าวเป็นมหานครใหญ่มีอำนาจมาก มีกำแพงปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน นอกจากนั้นยังมีเมืองขึ้น ๑๒ หัวเมือง เรียกว่า ๑๒ นักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบพระราชอาณาเขต ด้านศาสนจักรได้ทรงสร้างสิ่งสำคัญคือสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้น จึงนับได้ว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช และสร้างพระสถูปเจดีย์ที่เรียกว่า "พระบรมธาตุ"ปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยต่อมา

พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณ

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงมีพระกรณียกิจและมีพระเกียรติคุณดังนี้

๑. ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครศรีธรรมราชโบราณ และได้เป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองให้เป็นอาณาจักรสำคัญในแหลมอินโดจีน
๒. ได้ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๐๙๘ โดยสร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้น ๑๒ หัวเมืองเรียกว่า ๑๒ นักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราเมืองแต่ละเมือง
๓. ได้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญในสมัยต่อมาตราบจนปัจจุบัน




Create Date : 14 มกราคม 2554
Last Update : 14 มกราคม 2554 11:45:51 น.
Counter : 431 Pageviews.

0 comment
บทคัดย่อ กระบวนการประกอบธุรกิจเดย์สปา
กระบวนการประกอบธุรกิจเดย์สปา
กับการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้


ผู้วิจัย ยอดสร้อย ดีชัยยะ
สาขา ยุทธศาสตร์การพัฒนา
ปี พ.ศ. 2547
ประธานกรรมการที่ปรึกษา ดร.จิรพันธ์ ไตรทิพจรัส
กรรมการที่ปรึกษา รศ.ดร.ชิรวัฒน์ นิจเนตร
ISBM 974 – 234 – 067 - 6

งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษากระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปากับการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ 2) เพื่อศึกษาเงื่อนไขที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้
การวิจัยครั้งนี้ ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นจังหวัดที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือหาดทราย และชายทะเล อันเหมาะสมแก่การประกอบอาชีพธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว วิธีการหลักที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจเดย์สปา ผู้จัดการธุรกิจเดย์สปา ผู้รับบริการ พนักงานบำบัด นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น พนักงานขาย บริษัททัวร์ รวม 24 คน
ผลวิจัยพบว่ากระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา มีสามขั้นตอน คือ 1) กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา 2) การเลือกสถานที่สร้างธุรกิจเดย์สปา และ 3) การวางแผนธุรกิจเดย์สปา
สำหรับเงื่อนไขในการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา มีเงื่อนไขสำคัญด้วยกันแปดประการ คือ 1) เงื่อนไขด้านบุคคลากร 2) เงื่อนไขด้านการกำหนดราคาและการตลาด 3) เงื่อนไขด้านเทคนิควิธีการในการให้บริการ 4) เงื่อนไขด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ 5) เงื่อนไขด้านการสื่อสารระหว่างพนักงานบำบัดกับผู้รับบริการ 6) เงื่อนไขด้านอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ 7) เงื่อนไขด้านการสร้างยี่ห้อ (Brand) และ 8) เงื่อนไขด้านบทบาทของรัฐในการสนับสนุนงบประมาณและการออกกฎหมาย
ซึ่งผลของการวิจัยทำให้ทราบถึงกระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปาและเงื่อนไขที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนี่งในจังหวัดภาคใต้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการนำไปสู่การพัฒนาการประกอบอาชีพธรุกิจเดย์สปาต่อไป



ABSTRACT

The Title THE OPERATION AND EXISTENCE OF THE DAY SPA BUSINESS ; A CASE STUDY OF A SPA IN ONE PROVINCE IN THE SOUTH OF THAILAND
The Author Yodsoi Deechaiya
Program Education Development Strategy
Year 2004
Chairman Of Supervisor Dr. Jirapan Tritipjaras
Committee Advisor Assoc. Prof. Dr. Chirawat Nitchanet
ISBM 974 – 234 – 067 - 6

The purposes of this research were to study the operation and existence of the day spa business and to investigate the factors affecting the existence of the day spa business in one province in the South of Thailand.
This research employed a qualitative design. The researcher selected one day spa situated in one province in the South that has plentiful natural resources and is thus suited for the tourism industry as the site of the study. The main instrument used in collecting data was an in-depth interview. The main informants consisted of entrepreneurs, managers, customers, masseurs, health care officers and others indirectly involved such as day spa salespersons and tour company representatives. The study revealed that there were three steps involved in establishing a day spa business. The first step concerned complying with law and regulations of day spa business operation in Thailand. The second step was to look for a suitable place for the spa and the last one was to plan for the spa business. Moreover, the study found that there were eight factors affecting the existence of the day spa business. These factors included
1) the quality of the personnel 2) the price and marketing strategies 3) the skills and quality of the service 4) the promotion strategy 5) the communication skills between masseurs and customers 6) equipment and products used 7) branding and 8) the level of support from the government in terms of budget and regulations. All of these contribute the existence and success of day spa business.



Create Date : 18 ตุลาคม 2551
Last Update : 18 ตุลาคม 2551 12:06:03 น.
Counter : 1227 Pageviews.

0 comment
นักศึกษาปริญญาโท ม.ราชภัฎภูเก็ต วิจัยสปาภาคใต้บูมสุด ๆ อุปสรรคคือบุคลากรขาดหนัก-ตัดราคา รัฐต้องมีแผน
นักศึกษาปริญญาโท ม.ราชภัฎภูเก็ต วิจัยสปาภาคใต้บูมสุด ๆ อุปสรรคคือบุคลากรขาดหนัก-ตัดราคา รัฐต้องมีแผนแม่บทเพื่อพัฒนาสปาไทยเป็น Franchise



วิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ระบุปัญหาบุคลากรด้านพนักงานบำบัดของสปาขาดแคลนหนัก ภาครัฐต้องมีแผนแม่บทเพื่อแก้ปัญหาและผลักดันสปาไทยให้เป็นสินค้าบริการเพื่อการส่งออกในลักษณะเครือข่าย (franchise or chain operation) สร้างรายได้เข้าประเทศ


นางยอดสร้อย ดีชัยยะ นักศึกษาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่องกระบวนการประกอบธุรกิจเดย์สปากับการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปากับการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปา และเพื่อศึกษาเงื่อนไขที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจเดย์สปาแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ โดยการศึกษาวิจัยได้ทำการสัมภาษณ์ระดับลึก เก็บรวบรวมข้อมูลระดับกลุ่มบุคคลจากผู้ให้ข้อมูลหลักคือ ผู้ประกอบการธุรกิจเดย์สปา ผู้จัดการธุรกิจเดย์สปา พนักงานบำบัด ผู้รับบริการ นักวิชาการสาธารณสุขและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น บริษัททัวร์ พนักงานขาย เป็นต้น
โดยเน้นกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ได้ทำการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจากหัวข้อคำถามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา เงื่อนไขในการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา ทั้งหมด 24 ราย โดยผู้ให้ข้อมูลหลัก เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเดย์สปา อายุระหว่าง 36 ปี - 42 ปี ผู้จัดการธุรกิจเดย์สปา อายุระหว่าง 35 ปี - 43 ปี ผู้รับบริการ อายุระหว่าง 25 ปี – 41 ปี พนักงานบำบัด อายุระหว่าง 23 – 34 ปี นักวิชาการสาธารณสุข อายุ 43 ปี ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น พนักงานขาย บริษัททัวร์ อายุระหว่าง 29 – 32 ปี



จากการศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่ากระบวนการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา มี 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก คือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายในการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา ขั้นตอนที่ 2 คือการเลือกสถานที่สร้างธุรกิจเดย์สปา และขั้นตอนที่ 3 คือการวางแผนธุรกิจเดย์สปา
สำหรับเงื่อนไขในการประกอบอาชีพธุรกิจเดย์สปา มีเงื่อนไขประการสำคัญด้วยกัน 8 ประการ ประการแรก เงื่อนไขด้านบุคคลากร ประการที่สอง เงื่อนไขด้านการกำหนดราคาและการตลาด ประการที่สาม เงื่อนไขด้านเทคนิควิธีการในการให้บริการ ประการที่สี่ เงื่อนไขด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ประการที่ห้า เงื่อนไขด้านการสื่อสารระหว่างนักบำบัดกับผู้รับบริการ ประการที่หก เงื่อนไขด้านอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ และประการที่เจ็ด เงื่อนไขด้านการสร้างยี่ห้อ (brand) และประการที่แปด เงื่อนไขด้านบทบาทของรัฐในการสนับสนุนงบประมาณ และการออกกฏหมายในการจัดเก็บภาษี


จากการที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเซีย โดยธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฯ ดังกล่าวด้วย ผู้วิจัยจึงเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการให้บริการสปาไทยให้เป็นที่ยอมรับ รัฐบาลควรกำหนดแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการประกอบธุรกิจสปาเพื่อให้ธุรกิจสปาได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาให้
สปาไทยเป็นสินค้าบริการเพื่อการส่งออกในลักษณะเครือข่าย (franchise or chain operation) สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยจะต้องมีการประสานการทำงานในลักษณะบูรณาการร่วมกัน ดังนี้
1. กระทรวงสาธารณสุข ดูแลทางด้านมาตรฐาน และคุณภาพการให้บริการสปา
2. กระทรวงการคลัง ปรับปรุงกฎหมายด้านภาษีเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสปาไทยเป็นธุรกิจที่สามารถดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
3. กระทรวงพาณิชย์ ดูแลทางด้านการเจรจาเปิดตลาด และแก้ไขปัญหาตลอดจนขจัดข้ออุปสรรคด้านกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเอื้ออำนวยในการลงทุนธุรกิจสปาไทยในต่างประเทศเป็นไปอย่างคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันปัญหาข้อกฎหมายเป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ผู้ประกอบการจะมีองค์ความรู้และมีศักยภาพพร้อมที่จะลงทุนในต่างประเทศก็ตาม นอกจากนี้ยังต้องพยายามสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการสปาไทยโดยดึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมไทยผสมผสานกับความเป็นสากลของตะวันตกเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันกับสปาต่างประเทศ
4. กระทรวงการต่างประเทศ มอบหมายให้ผู้แทนกระทรวงฯประจำประเทศต่าง ๆ ตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยเพื่อให้เป็นจุดหมายปลายทางของการให้บริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและการให้บริการสปาไทย รวมทั้งการใช้เวทีการประชุมในระดับนานาชาติที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและการให้บริการสปาไทย
5. กระทรวงแรงงานดูแลด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยเฉพาะการพัฒนาแรงงานด้านพนักงานบำบัด เพื่อผลิตออกมารองรับความต้องการของตลาดซึ่งมีความต้องการแรงงานทางด้านนี้สูงมาก
6. กระทรวงศึกษาธิการ ควรมีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสปา เพื่อรองรับการเติบโตของสปาไทย และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และเข้าใจในศาสตร์แห่งสปาอย่างแท้จริง มีการจัดหลักสูตรทั้งในระดับอาชีวะและระดับมหาวิทยาลัย ดังเช่น ภาควิชาธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว
7. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรส่งเสริมการตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดเดิม และเพิ่มตลาดใหม่ ๆ ในการนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
8. กระทรวงอุตสาหกรรม โดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม สนับสนุนแหล่งเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจสปาที่มีการวางแผนธุรกิจชัดเจน
9. สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ กำหนดแนวทางการให้สิทธิพิเศษการนำเข้าวัตถุดิบ อุปกรณ์และเครื่องมือในการให้บริการสปา
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติมีดังนี้ 1) ชมรมธุรกิจสปาต้องมีการพัฒนาโครงสร้างให้เข้มแข็ง เพื่อให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายร่วมกันพัฒนาธุรกิจสปาทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน และราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายร่วมกับบริษัททัวร์ที่มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ในการทำตลาดร่วมกัน 2) ชมรมธุรกิจสปา ควรทำงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขพื้นที่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อกระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วยการจัดทำปฏิทิน ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพประจำปี มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ทั้งในและต่างประเทศโดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มสัมมนา อาจจะจัดเป็นลักษณะให้บริการรวม โดยมีการดึงสายการบิน โรงพยาบาล ศูนย์ทันตกรรม สนามกอล์ฟ โรงแรมหรือรีสอร์ท และกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย 3) สำนักงานสาธารณสุข ร่วมกับชมรมธุรกิจสปา ควรเร่งทำการประชาสัมพันธ์ สปาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยอาจจะทำเป็นแผ่นพับ บรรจุภาพ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ให้กับนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปได้รับทราบ 4) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ จัดฝึก
อบรมให้ความรู้ในการเป็นพนักงานบำบัด และผลักดันให้ผู้เขารับการอบรมผ่านเกณฑ์การประเมินตามประกาศฯ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลิตบุคลากรออกมารองรับให้เพียงพอกับความต้องการของแรงงานที่ยังขาดแคลน 5) สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ควรร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข และชมรมธุรกิจสปา จัดหลักสูตร ฝึกอบรมการเป็นพนักงานบำบัดให้แก่นักศึกษาที่สนใจและควรมีการฝึกทดลองปฏบัติงานจริงเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต่ออาชีพพนักงานบำบัด และผลักดันให้ผู้เข้ารับการอบรมผ่านเกณฑ์การประเมินตามประกาศฯ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้นควรจัดหลักสูตรฝึกอบรมภาษาต่างประเทศให้แก่พนักงานบำบัด โดยคำนึงถึงเวลาในการอบรมให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานของพนักงานบำบัดด้วย 6) ผู้ประกอบธุรกิจเดย์สปารายใหม่ ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านธรุกิจสปาให้คำปรึกษา เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ




นอกจากนี้ยังได้เสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไปว่า เนื่องจากธุรกิจสปากำลังได้รับความสนใจลงทุนทั้งจากผู้ประกอบการคนไทยและชาวต่างชาติ ธุรกิจสปาสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท หากได้รับการพัฒนาจะสามารถเป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตสดใส นอกจากการสร้างรายได้เข้าประเทศแล้วธุรกิจสปายังก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากตามมาอีกด้วย ดังนั้นในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการทำวิจัยในหัวข้อ
1. ศึกษาความคาดหวังของผู้ประกอบการสปาที่มีต่อชมรมธุรกิจสปา
2. ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการของชมรมธุรกิจสปา เพื่อให้ชมรมธุรกิจสปาเข้มแข็ง จะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาชมรมธุรกิจสปาต่อไป
3. ศึกษาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการทำตลาดของธุรกิจเดย์สปา เพื่อสร้างยุทธศาสตร์ใน
การทำตลาดธุรกิจสปา
4. ศึกษาแนวทางการทำตลาดใหม่ที่ไม่ผูกโยงกับบริษัทธุรกิจนำเที่ยว
5. ศึกษาทัศนคติของคนไทยในจังหวัดภาคใต้ที่มีต่ออาชีพนักงานบำบัด


ทั้งนี้เพราะปัญหาบุคลากรด้านพนักงานบำบัดในธุรกิจเดย์สปายังอยู่ในภาวะขาดแคลน แรงงานที่มาประกอบอาชีพนักงานบำบัดส่วนมากมาจาก ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ มีส่วนน้อยที่มาจากภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่ความต้องการแรงงานประเภทพนักงานบำบัดในธุรกิจสปาในพื้นที่มีสูงมาก





Create Date : 18 ตุลาคม 2551
Last Update : 18 ตุลาคม 2551 11:47:52 น.
Counter : 1652 Pageviews.

0 comment
ดีใจได้ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่นิวเดลลี
ไปอินเดียครั้งแรกในชีวิต สิ่งที่ดีใจและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตที่สุดคือได้มีโอกาสไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดีย ในกรุงเดลลีค่ะ






เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบนั้น มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไป พระบรมสารีริกธาตุที่นี่ลักษณะเหมือนกระดูกคนพบเห็นได้ในประเทศอินเดีย ตามโบราณสถานต่างๆ ที่ขุดค้น สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ 2 รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน






Create Date : 11 ตุลาคม 2551
Last Update : 11 ตุลาคม 2551 13:21:55 น.
Counter : 1253 Pageviews.

1 comment
1  2  

โอ๊ะเอ๊ว
Location :
ภูเก็ต  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ทำงานด้านสื่อสารมวลชน
สื่อสารเพื่อการสร้างสรรค์ค่ะ
ยินดีต้อนรับบล็อคโอ๊ะเอ๊ว
  •  Bloggang.com