ทะเลทุกข์...กว้างไกล กลับใจ......คือฟากฝั่ง

คั้นส้ม กวาดบ้าน ฯลฯ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ




ยังคิดไม่ถูก ยังคิดไม่เป็น ยังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ

ท่านอาจารย์สอน เมื่อเห็นเราหงุดหงิดขณะที่คั้นส้ม

เพราะรู้สึกว่าเสียเวลามาก

ท่านบอกว่า "ต้องทำความเห็นให้ถูกต้อง ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ"

ทำงานต้องทำด้วยสติสัมปชัญญะและความพอใจ

ขณะที่คั้นส้ม การคั้นส้มเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก

อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ



ขณะที่กวาดบ้าน การกวาดบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในโลก

อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ

ขณะที่ทำอาหารให้ลูก การทำอาหารให้ลูกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก

เรื่องอื่นในโลกไม่สำคัญ ฯลฯ



คั้นส้มก็ให้รู้อยู่ว่าคั้นส้ม ให้สติอยู่กับการคั้นส้ม

ให้ทำด้วยความพอใจ

กวาดบ้านก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังกวาดบ้าน

ให้สติอยู่กับการกวาดบ้าน ให้ทำด้วยความพอใจ

ทำอาหารให้ลูก ก็ให้รู้อยู่ว่ากำลังทำอาหารให้ลูก

ให้สติอยู่กับการทำอาหาร ให้ทำด้วยความพอใจ ฯลฯ



การคั้นส้มก็ดี การกวาดบ้านก็ดี การทำกับข้าวก็ดี

การทำอะไรทุกๆ อย่าง ให้ถือเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นหน้าที่

ต้องเอาใจใส่ ทำด้วยความตั้งใจและทำดีที่สุด



ทำเพื่อเพิ่มความดีของเราเอง

ทำเพื่อตัวเราเอง

ทำเพื่อขัดเกลากิเลสของเรา

ทำเพื่อละทิฏฐิมานะของเรา



อย่าคิดว่าทำให้คนอื่น

อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นไม่ทำ

อย่าคิดว่าต้องทำเพราะคนอื่นให้เราทำ

อย่าห่วงว่าคนอื่นจะพอใจหรือไม่พอใจ

เรามีหน้าที่ เราก็ทำให้ดีที่สุด คิดอย่างนี้เราก็ไม่เป็นทุกข์

ใจก็จะสงบ มีปีติได้ตลอดเวลา เป็นสัมมาทิฏฐิ

ภาวนาให้มากๆ นะ ปรับปรุงความคิดความเห็นของเราให้ถูกต้อง

โยนิโสมนสิการ ยกอารมณ์กรรมฐานขึ้นพิจารณาบ่อยๆ นะ


จากหนังสือ พลิกนิดเดียว

โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก




 

Create Date : 09 มีนาคม 2553    
Last Update : 9 มีนาคม 2553 18:24:10 น.
Counter : 283 Pageviews.  

ชีวิตสมบูรณ์แล้วทุกประการตามเหตุปัจจัย



เหตุดี ผลก็ดี เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี

พิจารณาให้ดีเถิด

เราอาจจะเกิดมาไม่มีพ่อ หรือไม่มีแม่ หรือไม่มีทั้งพ่อและแม่

เราอาจจะเกิดมายากจน

เราอาจจะถูกกลั่นแกล้งอยู่เรื่อยๆ

บางวันเราอาจจะเป็นทุกข์และไม่สบายใจ

แต่วันนี้เราอาจจะเป็นสุขและมีความพอใจมากที่สุดในชีวิต



วันนี้เราอาจจะไม่มีอะไรจะเสียใจแล้ว

เท่านี้เราก็เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า

ทุกอย่างดำเนินไปตามเหตุปัจจัยที่สมบูรณ์ที่สุดเสมอ

จงก้าวไปสู่อนาคตด้วยความเข้าใจเช่นนี้

จงมั่นใจในผลกรรมและเชื่อในเหตุปัจจัยอย่างสมบูรณ์เถิด

จงทำความดี ละความชั่ว มีเมตตาแก่ตนและสรรพสัตว์

และยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยจิตที่สงบ



โลกนี้สมบูรณ์ด้วยกรรม

เรามีทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว

วันนี้เราอาจทุกข์ แต่พรุ่งนี้เราก็อาจจะเป็นสุข

ทุกอย่างไม่แน่นอน

ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา และทำใจให้เป็นสุข

และอย่าลืมทำเหตุให้ดีตั้งแต่วันนี้

เพื่อผลที่ดีในวันนี้และวันข้างหน้า

เรามีหน้าที่รักษาข้อวัตร และทำให้ดีที่สุดเสมอ..... เท่านั้น

นอกจากนั้น เขาจะเป็น "เป็นไปเอง" ตามเหตุปัจจัยของเขา


จากหนังสือ “ธรรมประทาน”




 

Create Date : 09 มีนาคม 2553    
Last Update : 9 มีนาคม 2553 18:19:26 น.
Counter : 948 Pageviews.  

ธรรมะอยู่ที่ 50 : 50



ธรรมะอยู่ที่ 50 : 50, ธรรมจาก หลวงพ่อมิตซูโอะ คเวสโก

--------------------------------------------------------------------

ถ้าคิดว่า "เขาทำผิด" "เขาไม่ควรทำอย่างนี้"
ให้คิดว่าเราก็ผิด 50% ด้วย
คิดอย่างนี้เราก็จะไม่โกรธเขา เพราะถ้าโกรธเขาก็ต้องโกรธตัวเราด้วย
และเขาอาจจะไม่ผิดก็ได้ เชื่อไว้ 50% ก่อน
คิดอย่างนี้เราก็ไม่ทุกข์

ใครเล่าว่า "คนนั้นเขานินทาเราอย่างนั้นอย่างนี้" "คนนั้นเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้"
อย่าเพิ่งเชื่อ และก็อย่าเพิ่งปฏิเสธทันที
รับฟังไว้ 50% ก่อน
อย่าวิพากษ์วิจารณ์ทันที แล้วก็เป็นทุกข์ แล้วก็ปรุงแต่งต่อไป
บ่อย ๆ ครั้งเราก็จะโกรธและเสียเวลาคิด เสียอารมณ์ไปโดยเปล่าประโยชน์

อย่าไปทำตามคำพูด ความคิดของใคร ๆ ทั้งหมดทันที
ฟังแล้วทำตามเขา 100% ก็มักจะวุ่นบ่อย ๆ
เพราะความคิดก็เป็นอนิจจัง เขา (ผู้พูด) อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้
เราอาจฟังผิดก็ได้ เขาอาจคิดผิดและเปลี่ยนความคิดใหม่ก็ได้
ถ้าเรารับฟังไว้ 50% ก่อน
ตั้งสติของเราเข้าไว้ ก็จะปลอดภัย ไม่สับสน ไม่ทุกข์

แม้แต่ความคิดของเราเองก็อย่าเชื่อ 100%รับฟังไว้ 50% ก่อน
เพราะเราก็อาจเปลี่ยนความคิดได้
ที่เราคิดว่าถูก จริง ๆ อาจผิดก็ได้
ไม่แน่หรอก

สรุปว่า อย่าเชื่อทั้งตัวเรา ตัวเขา อย่าเชื่อทั้งสุข และทุกข์ 100%
รับฟังไว้ 50% ก่อน
ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องแปลกใจ.......ตั้งสติเข้าไว้ก่อน
พิจารณาให้ดีก่อน
สุขก็ไม่แน่นอน ทุกข์ก็ไม่แน่นอน
สุขหายไปก็ทุกข์ ทุกข์หายไปก็สุข
ทุกอย่างไม่แน่นอน.....ก็เท่านั้นเอง




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2552    
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 12:38:07 น.
Counter : 309 Pageviews.  

ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก



ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
(Mitsuo Gavesako)


วัดป่าสุนันทวนาราม
ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี


๏ อัตโนประวัติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท)
อดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีท่านคือเอกอุพระกรรมฐานสายมหานิกาย
ที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและอเมริกา
ปัจจุบันหลวงพ่อชามีทายาทธรรมถึง ๑๑๗ สาขาเป็นสักขีพยาน

จำเพาะวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ ของวัดหนองป่าพง เพชรแท้แดนปลาดิบ
“พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก” พระภิกษุชาวญี่ปุ่น
เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค
อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยังทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมเป็นกิจวัตร
ศิษย์ท่านไซร้มีทั้งคนไทยและคนต่างแดน

พระอาจารย์มิตซูโอะ มีนามเดิมว่า มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ

เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ จังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น
จบการศึกษาระดับไฮสคูล (ปวช. หรือ มศ. ๕) สาขาเคมี ณ จังหวัดโมริโอก้า ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงออกเดินทางสัญจรรอนแรม จากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยได้ท่องเที่ยวเพื่อศึกษาชีวิต สังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ในตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย, เนปาล, อิหร่าน และในยุโรป เป็นเวลา ๒ ปีเศษ แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกา วกกลับสู่อินเดีย

พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อเดินทางถึงพุทธคยา ประเทศอินเดีย ท่านจ้องมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และประจักษ์ขึ้นมาในใจว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้” ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก เข้าสู่การแสวงหาภายใน

จากนั้นท่านก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต
แต่บังเอิญวีซ่าหมด มีคนแนะนำให้เดินทางมาประเทศไทย ต่อมาก็มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะอายุ ๒๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ เดือนก็พยายามแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ทีแรกเพื่อนก็พาไป
ดูวัดที่ภาคใต้ ๓-๔ วัด เป็นวัดที่มีชาวต่างชาติไปปฏิบัติกัน แต่ท่านดูแล้วก็ยังไม่รู้สึกตกลงใจ

หลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ไปจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปหาหลวงพ่อชา ตอนนั้นก็มีพระชาวอินเดียที่พูดภาษาไทยได้พาไป นั่งรถทัวร์จากกกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี
แล้วท่านก็ยืนงงๆ อยู่ว่าจะไปวัดหนองป่าพงได้อย่างไร

ณ วัดหนองป่าพง ท่านได้พบกับพระฝรั่งชื่อเขมธัมโม ซึ่งก็เข้ามาช่วยแนะนำ เมื่อฉันจังหันเสร็จแล้วท่านสุเมโธและพระฝรั่งอีก ๔-๕ รูป ก็พาไปหาหลวงพ่อชาที่กุฏิ เมื่อบอกความประสงค์ที่จะมาขอปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาซักถามว่ามาจากไหน มายังไง แล้วก็ถามชื่อ พระอาจารย์มิตซูโอะ ตอบว่า ชื่อ “ชิบาฮาชิ” (ชื่อมิตซูโอะ แต่ธรรมเนียมญี่ปุ่น
จะใช้นามสกุลเป็นชื่อแนะนำตัวเอง) หลวงพ่อชาท่านก็จำเทียบเคียงเป็นภาษาไทยว่า สี่บาทห้าสิบ นับจากวันนั้นหลวงพ่อชาก็เรียกพระอาจารย์มิตซูโอะสั้นๆ ว่า “สี่บาทห้า” มาตลอด

“คำสอนข้อแรกที่หลวงพ่อชาสอน คือ เราต้องอดทน”

ครั้นเมื่อได้พบกับหลวงพ่อชาแล้ว ท่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา ขณะอายุได้ ๒๔ ปี

โดยมีเจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์,
พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง รูปปัจจุบัน)
เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวิฑูรย์ จิตฺตสัลโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนาม
ฉายาว่า “คเวสโก” (อ่านว่า คะ-เว-สะ-โก ) ซึ่งแปลว่า “ผู้แสวงหาซึ่งฝั่ง” (seeker)
ถือได้ว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์รุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้ จึงเรียกว่าเป็นสัทธิวิหาริก รุ่นแรกของหลวงพ่อชา






 

Create Date : 19 ธันวาคม 2552    
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 12:31:39 น.
Counter : 459 Pageviews.  

กลางคืน - ก่อนเข้านอน




กลางคืนก่อนนอนให้ภาวนาครึ่งชั่วโมง

ทำจิตให้สงบ ชำระจิตใจ ตรวจจิตก่อนแล้วจึงนอน
ก่อนนอนให้ตรวจความคิดทั้งวัน วันนี้ทั้งวันคิดอะไรบ้าง
ให้เห็นด้วยใจจริง ๆ ว่า ความคิดเป็นของไม่เที่ยง
คิด ๆ ๆ มากไปเสียเวลาเปล่า ๆ
ความคิดก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

ก่อนนอนทำจิตให้สงบ

ให้เห็นความว่าง ทำใจให้ว่าง ๆ ดูกายกับจิต
ให้เห็นว่า กายกับจิต แยกกันอยู่
จิตมองกายว่าง ๆ อยู่
ปล่อยวาง สัญญา อารมณ์
เหลือแต่ความว่าง ๆ ๆ ๆ
รู้ว่ากายนี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
รูปนามก็เกิดดับ ๆ อยู่อย่างนี้
เมื่อเห็นกายกับจิต ความฟุ้งซ่านก็ดับ
เห็นกายไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เป็นเพียงแต่ " รู้ " ... สักแต่ว่า

ภาวนาตายก็ได้

พิจารณาความตาย
ตายจากอดีต อนาคต สัญญาอารมณ์
ตายจากทุกอย่าง
ตายจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งหมด
เมื่อตายแล้วทุกอย่างก็จบ ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรต้องคิด
ทุกอย่างไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น
ตายจากความรู้สึกต่าง ๆ แล้วจะเห็นอนิจจัง
ปล่อยวางอารมณ์ต่าง ๆ ได้หมด

การพิจารณาความตาย ก็คือการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ถ้าคิดเป็น ก็เป็นสังมาสังกัปปะ สัมมาสติ
ยิ่งคิดก็ยิ่งสงบ เพราะเป็นความคิดที่ถูก
ส่งเสริมให้เกิดปัญญา เกิดญาณทัสสนะ เกิดความสงบ
ถ้าคิดไม่เป็น คิดผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ยิ่งคิดยิ่งกลัว ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ เป็นความคิดผิด คิดไม่ถูกทาง
ถ้ามีสติสัมปชัญญะ มีความรู้ตัวทั่วพร้อม
พิจารณาขันธ์ 5 หรือสติปัฏฐาน 4 ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ก็จะพ้นจาก ความกลัวตาย จึงไม่ต้องกลัวตาย

ไม่อยากเกิด ก็ต้องเกิด
ไม่อยากตาย ก็ต้องตาย
ตายก่อนตายนั่นแหละ จึงไม่เกิด

เมื่อจิตสงบแล้ว สงบจากสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ แล้ว จึงเข้านอน
นอนไปกับความสงบ เรื่องหนัก ๆ ปล่อยวางให้หมด
ไม่ต้องแบกไปนอนด้วย นอนกับความว่าง กับตัวรู้นั่นแหละ...เอวัง!




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2552    
Last Update : 19 ธันวาคม 2552 12:43:24 น.
Counter : 292 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

Jingjoknoi
Location :
Fl United States

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Jingjoknoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.