นิยาย สู่ นวนิยาย







นิยาย สู่ นวนิยาย



วันนี้นึกสนุกอยากหยิบเรื่อง “นิยาย” มาเล่าสู่กันฟังครับ ต้องขอออกตัวก่อนว่า ตัวผมเองไม่ได้จบการศึกษามาจากสายวรรณกรรมโดยตรง แต่อาศัยการอ่านและลองค้นคว้าไปเรื่อยๆ เลยอยากเอาสิ่งที่รับรู้มาเล่าดูบ้าง หลายๆ ประเด็นที่จะเล่าให้ฟังนี้ คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้ไปพร้อมกันอีกสักรอบนะครับ และหากมีข้อมูลใดผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ผมก็พร้อมน้อมรับคำแนะนำจากทุกคน หรือถ้าใครมีข้อมูลอยากแชร์เพิ่มเติม ผมก็ยินดียิ่งครับ

ความอยากเล่าครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากได้อ่านเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยว “นิยายน้ำเน่า-น้ำดี” ของคุณวินทร์ เลียววาริณ ในเพจเฟซบุ๊คของคุณวินทร์ โดยเขาได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า นิยายน้ำเน่า เอาไว้ให้อ่าน พร้อมแสดงความคิดเห็นถึงมุมมองของตัวเขาเองต่องานเขียนว่า ไม่ได้สนใจประเด็นการแบ่งแยกงานเขียนตระกูลน้ำดี-น้ำเน่า แต่เขาเลือกมองคุณค่าที่ควรได้จากงานเขียนมากกว่า ซึ่งผมได้เก็บมาฝาก (อ่าน) กันในครั้งนี้ด้วย...


บ้านเรานิยมแบ่งแยกงานเขียนโดยใช้คำ 'น้ำเน่า' กับ 'น้ำดี'

ผู้บัญญัติคำว่า ‘น้ำเน่า’ เป็นคนแรกน่าจะเป็นอาจารย์เปลื้อง ณ นคร

ความหมายของท่านคือ อะไรที่จำเจไม่เปลี่ยนแปลง (เหมือนน้ำที่ขังนิ่ง) ก็คือน้ำเน่า

แต่ความหมายที่ชาวเรานิยมใช้ก็คือ นิยายน้ำเน่าคือนิยายที่เป็นเรื่องแย่งชิงมรดก

พ่อแง่แม่งอน อะไรทำนองนั้น

ผมเห็นด้วยกับความหมายเดิมของอาจารย์เปลื้อง

ในความเห็นของผม อะไรที่ซ้ำซากก็คือน้ำเน่า ไม่ว่าดีแค่ไหน มันก็เป็นน้ำเน่า

หากทุกคนในโลกเขียนวรรณกรรมระดับรางวัลโนเบลซ้ำ ๆ กัน มันก็คือน้ำเน่า!

ผมเองไม่ค่อยสนใจกับการแบ่งตระกูลน้ำดีน้ำเน่า หรือวรรณกรรมดีกับวรรณกรรมขยะเท่าไหร่

เพราะมันเป็นเรื่องอัตวิสัย

ผมเองได้อะไรมากมายจาก ‘นิยายน้ำเน่า’ ที่เคยอ่านตอนเด็ก

คุณค่าของงานจึงขึ้นกับผู้อ่านด้วยในส่วนหนึ่ง

แต่โดยภาพรวมแล้ว งานที่ดีคืองานที่มีองค์ประกอบศิลปะลงตัว

และถ้ามีเนื้อหาที่ทำให้สมองเติบโตขึ้นอีกหลายเซลล์ ก็ยิ่งดี

ในความเห็นของผม ไม่มีเรื่องน้ำดีหรือน้ำเน่า มีแต่เขียนดีกับเขียนไม่ดี

- วินทร์ เลียววาริณ

Cr. facebook.com/winlyovarin


ก่อนจะย้อนกลับมาขยายความเรื่อง “นิยายน้ำเน่า” ให้ฟังเพิ่มเติม ผมขอเริ่มจากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า “นิยาย” กันก่อน หากพูดถึงนิยาย ทุกคนน่าจะเห็นภาพแรกตรงกันว่า คืองานเขียนหรือบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเป็นเรื่องยาว โดยมักอิงกับชีวิตของผู้คนจริงๆ หรือสร้างโลกในจินตนาการขึ้นมาใหม่ และมีความหลากหลายทางอารมณ์ ความรู้สึก ให้ผู้อ่านได้ร่วมสัมผัส 

แต่จริงๆ แล้ว คำว่า “นิยาย” (น.) หมายถึง เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา คนไทยเราน่าจะยืมคำนี้มาจากภาษาเขมรว่า “นิเยย" (និយាយ) แปลว่า พูด, กล่าว จะเห็นว่ารูปศัพท์เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกันตามแต่ภาษา และแน่นอนว่านิยายในสมัยก่อนมักเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาแบบมุขปาฐะ (เล่ากันปากต่อปาก) เป็นหลัก โดยนิยายจะมีความสมจริง รายละเอียด และความหนักแน่นลึกซึ้งของเรื่องราวมากกว่านิทาน เชื่อหรือไม่ว่า วรรณคดีไทยเรื่องยาว เช่น รามเกียรติ์ สามก๊ก ราชาธิราช อิเหนา พระอภัยมณี ขุนช้าง-ขุนแผน ฯลฯ เหล่านี้จัดเป็นนิยายรูปแบบหนึ่ง (แต่ไม่ใช่นิยายทุกเรื่องจะเป็นวรรณคดี) ซึ่งมีความล้ำขึ้นมาอีกตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น แต่มีการเรียงร้อยเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ด้วย

ก่อนที่คนไทยจะรู้จักนิยายแบบที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน ผมเคยสงสัยว่า คนไทยสมัยก่อนจะไปหานิยายจากไหนมาอ่าน อีกทั้งผู้คนส่วนมากก็ไม่ได้รู้หนังสือเหมือนกันทุกคน มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ ผมจึงเชื่อว่า คนไทยระดับสามัญชนส่วนใหญ่ น่าจะมีโอกาสรู้จักนิยายเรื่องต่างๆ ผ่านการเล่าจากผู้รู้ อาจเป็นผู้รู้ที่เคยได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ มาก่อน หรือเป็นผู้รู้ที่เคยได้ฟังเรื่องนั้นๆ แล้วเอามาเล่าต่อ ส่วนอีกทาง คือ การจดจำเรื่องราวจากละครที่ถูกหยิบมาแสดงให้คนดู อย่างโขน ละคร ลิเก ฯลฯ แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง

แล้วคนไทยรู้จัก “นิยายแบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน” ตั้งแต่เมื่อไร ?

เท่าที่เคยได้ลองค้นคว้า คนไทยเริ่มรู้จักนิยายแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน มาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเราเรียกกันว่า นวนิยาย หมายถึง นิยายแบบใหม่ (นว แปลว่า ใหม่) เป็นการแปลความหมายจากคำว่า Novel ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า "ของใหม่" เช่นกัน นวนิยายนี่เอง คือรูปแบบนิยายที่เป็นแบบแผนการแต่งร้อยแก้วเรื่องยาวแบบตะวันตก นับเป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีร้อยแก้วขนาดยาวที่มีตัวละคร โครงเรื่อง เหตุการณ์ และสถานที่ ซึ่งเนื้อเรื่องมีความสมจริง มีบทพูดเจรจา บทพรรณนา และบทบรรยายที่ให้อรรถรส มีทั้งสาระและความบันเทิง แต่ถึงอย่างนั้น คนไทยก็ยังนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “นิยาย” เป็นภาษาปากอยู่ตามเดิม ไม่ได้นิยมเรียกชื่อเต็มๆ ว่า "นวนิยาย" สักเท่าไร



ความพยาบาท (Vendetta)

นวนิยายแปลเล่มแรกในวงการวรรณกรรมไทย โดย แม่วัน

ปัจจุบัน มีฉบับแปลสมบูรณ์ 

โดย ว.วินิจฉันกุล


ในยุคแรกนั้น คนไทยเริ่มรับนวนิยายของตะวันตกเข้ามาก่อน เรายังไม่ได้มีนักเขียนนวนิยายเป็นของตัวเอง แต่เรารู้จักรูปแบบนวนิยายจากงานแปล เชื่อกันว่า “ความพยาบาท” (Vendetta) ของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) ฉบับแปลภาษาไทยโดย แม่วัน (พระยาสุรินทราชา) น่าจะเป็นนวนิยายแปลเล่มแรกของวงการ ตีพิมพ์ในช่วงปี 2445 จนทำให้เกิดกระแสความนิยมอ่านนวนิยายแผ่ขยายออกไป โดยเฉพาะนวนิยายแปล จนมีการแปลเรื่องอื่นๆ ตามมา

ชื่อของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) คงกลับมาคุ้นหูนักอ่านนวนิยายยุคใหม่อีกครั้ง ด้วยเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ หลายคนคงได้ยินกระแสละคร “พิษสวาท” ที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งออกมาบอกว่า ผู้เขียนเรื่องพิษสวาทได้นำเอาเค้าโครงเรื่อง (พล็อต) มาจากนวนิยายเรื่อง Ziska ของ มารี คอเรลลี เป็นนวนิยายอังกฤษ แต่งขึ้นราวพุทธศักราช 2429 และเรื่องนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมานานแล้ว ใช้ชื่อว่า “กงเกวียน” แปลโดย อมราวดี นักแปลรุ่นเก่าและเก๋าคนหนึ่งแห่งวงการวรรณกรรมไทย ผมคิดว่าถ้าพล็อตจะซ้ำก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเนื้อแท้ของนวนิยายทั่วโลกมีพล็อตอยู่ไม่กี่แบบ แต่สิ่งที่ผมเห็นจากกระแสครั้งนี้ คือสะท้อนให้เห็นถึงแรงบันดาลใจและอิทธิพลของนวนิยายตะวันตก ที่มีต่อนักเขียนนวนิยายไทยในยุคหนึ่ง



มารี คอเรลลี

(1 พฤษภาคม ค.ศ.1855 – 21 เมษายน ค.ศ.1924)

นักเขียนหญิงแห่งยุควิกตอเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอังกฤษ 

ไปจนถึงอเมริกา และเอเชีย

นวนิยายของเธอเป็นที่แพร่หลายมากตลอดช่วงปลายรัชสมัยวิกตอเรียน

อีกทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก


เมืองไทยเราน่าจะเริ่มมีนักเขียนนวนิยายเป็นของตัวเองบ้างแล้ว นับแต่นวนิยายแบบตะวันตกนิยมกันไปทั่วเมือง แต่ยุคที่นวนิยายไทยมีวิวัฒนาการและเฟื่องฟูอย่างเป็นล่ำเป็นสัน น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีเรื่องแต่งให้อ่านตามนิตยสาร-วารสารมากมาย และเมื่อคิดถึงนักเขียนนวนิยายไทยยุคนั้น ส่วนตัวแล้วผมนึกถึง ดอกไม้สด ศรีบูรพา และ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนรุ่นบุกเบิกของวงการนวนิยายไทย ทั้งสามท่านนี้แทบไม่ต้องบอกว่าเขียนเรื่องอะไรมาบ้าง เพียงแต่เอ่ยชื่อนักเขียน เชื่อว่าแฟนๆ นักอ่านน่าจะนึกชื่อหนังสือของพวกท่านออก อาจสัก 1-2 เรื่องเป็นอย่างน้อย เช่น ศรีบูรพา เขียนเรื่อง “ลูกผู้ชาย” ราวปี 2471 ต่อมาในปี 2472 ดอกไม้สด ก็แต่งเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ส่วนม.จ.อากาศดำเกิง แต่งเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ทั้งสามท่านได้รับการยกย่องมากทีเดียวว่า เป็นต้นแบบการริเริ่มขนบการเขียนนวนิยายไทยที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วคำว่า “นิยายน้ำเน่า” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

นิยายน้ำเน่า จากที่ผมรู้มาไม่ผิดจากที่คุณวินทร์กล่าวไว้ในข้างต้น คือเป็นคำกล่าวของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร นักวิชาการด้านภาษาไทย คำว่า “นิยายน้ำเน่า” สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ราวๆ ปี 2500 เป็นต้นมา) ซึ่งยุคนั้นมีการปิดกั้นสื่อและวงการวรรณกรรม ไม่ให้เขียนเรื่องการเมือง หรือเสียดสีการเมือง นักเขียนนวนิยายยุคนั้นเลยนิยมเขียนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชิงรักหักสวาท พ่อแง่แม่งอน ความรักต่างชนชั้น แย่งชิงมรดก ฯลฯ แบบที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้จักกันดี การที่เขียนนวนิยายวนๆ จำเจอยู่แต่ในพล็อตรูปแบบนี้ จึงเปรียบได้กับ “น้ำเน่า” ที่ขังนิ่งอยู่นั่นเอง

จะเห็นว่าอาจารย์เปลื้อง ท่านไม่ได้ใช้คำว่า นิยายน้ำเน่า ในความหมายว่าเป็นนิยายไร้สาระ ไม่มีคุณค่า แต่ท่านต้องการสื่อถึงความจำเจของพล็อตเรื่อง อีกทั้งพล็อตสไตล์นี้ถูกผลิตซ้ำๆ แถมยังนิยมนำไปสร้างหนังและละครไทยก็มากมาย เลยถูกประทับตราติดตัวไปด้วยในฐานะ “นิยายน้ำเน่า” หรือ “ละครน้ำเน่า” ที่เพียงแต่บอกว่า “น้ำเน่า” คนก็เดาออกเลยว่าเรื่องราวมาทำนองไหน ต่อมาได้มีการบัญญัติคำว่า “ละครน้ำดี” “นิยายน้ำดี” ขึ้นมาเป็นคู่เปรียบ จึงทำให้ความหมายของนิยายน้ำเน่าเปลี่ยนแปลงไปเป็น “นิยายไร้สาระ” เสียอย่างนั้น

ยอมรับครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดนิยายน้ำเน่า อาจเพราะดูละครไทยมากไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถึงได้นิยมอ่านเรื่องทำนองนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องลองเลือกสรรสักหน่อยครับ เพราะสิ่งหนึ่งที่นักอ่านควรได้รับจากการอ่านนวนิยาย คือ คุณค่าที่ผู้เขียนได้สอดแทรกให้เราได้อ่าน หรืออาจสะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราว มีข้อคิดจรรโลงใจ เตือนใจ หากนิยายเรื่องใดไม่ได้แฝงสิ่งเหล่านี้ไว้เลย ก็น่าคิดครับว่า “เราจะอ่านเอาอะไร” นอกจากความบันเทิงเริงอารมณ์

พูดถึงตรงนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2515 ความว่า...


“...นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือแสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิตหรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมอง ว่าสิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ ในขอบเขตของศีลธรรม...”


ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่านนวนิยายนะครับ

สวัสดีครับ


Jim-793009

24 : 11 : 2016




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2560 18:35:50 น.
Counter : 4112 Pageviews.

2 comments
  
ว้าวววววว ได้ความรู้เยอะเลย

เอาจริงๆ โดยส่วนตัวเมือก่อนก็อ่าน แล้วก็อ่าน อ่านๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ เพราะใจมันอยากอ่าน ไม่ได้จดจำ บันทึก คิดลึกอะไรมากมาย

พึ่งจะมาเริ่มคิด เริ่มจด อะไรๆ ที่รู้สึกว่าได้จากการได้อ่าน จนกลายเป็นบันทึกหลังอ่านตั้งแต่นั้นมา

พอเราได้มอง ได้คิด เราก็จะรับรู้ได้เองนะ ว่านักเขียน ผู้ส่งสาร เขาอยากจะบอกอะไร บางที่เขาอาจไม่ได้ตั้งใจจะบอก แต่เราดันกลับคัดกรองได้เองซะงั้น นั่นล่ะมันคือความสุขที่ได้อ่าน ความสุขที่ได้เป็นผู้รับสารนั้นๆ

กดโหวตให้ค่ะ อยากให้หลายๆคนได้เห็นบทความนี้ ดีงามๆ
โดย: Prophet_Doll วันที่: 25 พฤศจิกายน 2559 เวลา:23:24:44 น.
  
คุณ Prophet_Doll --- คิดเหมือนกันอย่างหนึ่งเลยครับ ว่าเมื่อก่อนอ่านอย่างเดียว อ่านๆ จบก็จบไป ไม่ได้ใส่ใจอะไรอีก แต่พอตัดสินใจอ่านแล้วจดบันทึก แล้วลองเอาเนื้อหามารีวิว รู้สึกเลยว่ามันทำให้เราได้ทบทวนสิ่งที่อ่าน เราได้อะไรจากเรื่องที่อ่านจบไปบ้าง หลังจากนั้น พอเวลาผ่านไป เราย้อนกลับมาอ่านที่ตัวเองบันทึกไว้ ก็ทำให้ไม่ลืมเรื่องราวในหนังสือ รู้ด้วยว่า ณ เวลานั้นเรารู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ ที่เราได้อ่านบ้าง

ขอบคุณที่โหวตให้นะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 26 พฤศจิกายน 2559 เวลา:10:41:08 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments