มีอะไรดีๆ เอามาแบ่งกันบ้างนะ
 
 

สีน้ำ ไม่ง่ายแต่ไม่ยาก(เกิน)

สีน้ำเป็นสีที่มีเสน่ห์ ดูแล้วสบายใจ สบายตา หลายๆคนอยากจะหัดใช้ แต่รู้สึกว่าสีน้ำเป็นสีที่ใช้ยาก คุมยาก


จริงแล้วการใช้สีน้ำนั้นมีเทคนิคเพียงเล็กน้อย(มั้ง) หากใช้บ่อยๆ เราจะจับเทคนิคได้เองนะครับ


สีน้ำเกิดมาบนโลกนี้นานแล้ว เห็นๆก็มีจีน(เจ้าประจำ ทำก่อนคนอื่นทุกที) เค้าใช้เขียนตัวหนังสือ ต่อมาก็พัฒนาเพิ่มจำนวนสีเข้าไป มากกว่าสีดำ จากนั้นก็แพร่ไปทั่วโลก ในยุโรปเอง ศิลปินมักใช้สีน้ำในแบบที่เรียกว่า Color Sketch แปลตรงตัวเลยครับ เพราะสมัยก่อนไม่มีกล้อง หรือมีแล้วแต่ยังเป็นขาวดำอยู่ เวลาศิลปินออกไปเก็บบรรยกาศ เช่นภูเขา ทะเล ทุ่งนา ป่าเขา หรือบ้านเรือน เพื่อเอามาเขียนสีน้ำมัน ไอ้เจ้าสีน้ำมันเนี่ยค่อนข้างใช้เวลาในการทำงานสูง แห้งช้า จะหิ้วไปตั้งข้างนอกทุกวันคงไม่ไหว แสงก็เปลี่ยนทุกวัน ก็เลยต้องใช้สีน้ำเนี่ยแหละ เก็บบรรยากาศและสีสรรคในช่วงที่ประทับใจนั้นๆ กลับมาทำงานต่อในสตู (สมัยนี้ใช้มือถือเก็บความประทับใจแทน)


สีน้ำมีลักษณะคล้ายสีโปสเตอร์(สียอดนิยนตอนเด็ก) แต่ต่างกันตรงสีน้ำมีคุณสมบัติโปร่งแสง ส่วนโปสเตอร์นั้นทึบแสง บางท่าน(หรือแม้แต่ผมเองบางครั้ง)จะใช้โปสเตอร์มาระบายโปร่งแสง(ผสมน้ำเยอะๆ) หรือเอาสีน้ำมาระบายทับๆกันให้ทึบ ถามว่าผิดมั้ย ตอบว่าไม่ผิด แต่ไม่ถูกทาง อีกทั้งการเอาสีน้ำมาระบายทึบเนี่ย โครตเปลืองสีเลยครับ ยิ่งแพงด้วย


ทีนี้สีน้ำในเมืองไทย มียี่ห้ออะไรบ้าง


ถ้านึกถึงสี(น้ำ) เราจะนึกถึง winsor ชื่อเต็มๆคือ winsor newton cotman เจ้านี้ทำสีมาช้านาน นักเรียน นักศึกษา ปัญญาชน รวมถึงศิลปิน ต่างรู้จักในคุณภาพของเค้าดี winsorแบ่งสีของเค้าเป็นสองเกรด คือเกรดนักศึกษา กับเกรดศิลปินอาชีพ สีมมีทั้งแบบตลับ(สีแห้ง) และแบบหลอด(เหลว) อยกรู้จักมากขึ้น เข้า //www.winsornewton.com/products/water-colours/cotman-water-colour/


นอกนั้นก็มีซากุระ Pebeo fragonard และอีกหลายสิบเจ้า ลองหามาใช้กันดู บางยี่ห้อสีสด บางยี่ห้อสีธรรมชาติดี


มีน้องใหม่ ยี่ห้อ ศิลปากร คงเคยผ่านตากันมาบ้าง ถามว่าดีมั้ย ขอบอกว่าบางสีดี แต่บางสีคงต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเนื้อสี


สีน้ำก็เหมือนสีอื่นๆคือมี เฉดสีให้เลือกหลากหลาย ขนาดว่าบีบใส่จาน24ช่องยังไม่พอเลย เอ๊ะ!แล้วจะเลือกสีไหนมาใช้ดีล่ะ อันนี้อยู่ที่ความชอบเลยครับ แต่อยากจะบอกว่า มีสีจำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างได้ด้วยการผสมจากสีที่เรามี แต่บางสีผสมยังไงก็ไม่ได้ อันนี้ถ้าอยากใช้ก็ต้องซื้อละครับ สำหรับผม สีที่มีติดไว้ คือ ชุดแม่สี Pigmentary Primaries


แดง Arizarin Crimson Hue กับ Crimson red อันแรกแดงแท้ อันที่สองก็แท้แต่สว่างกว่า ถ้ามีตังค์ เก็บCadmium Red อีกหลอด แจ่มเลย


เหลือง Gamboge กับ Lemon Yellow Hue สองตัวนี้ให้เหลืองต่างกัน ตัวแรกดูเหลืองๆ ตัวที่สองดูเหลืองสว่างๆ เวลาผสมเป็นสีอื่นเช่นเขียวก็จะได้เฉดที่ต่างกันด้วย


น้ำเงิน Prussian Blue กับ Ultramarine ตัวแรกน้ำเงินเข้มออกมืด ตัวที่สองออกแนวสว่างใสๆ


ครบสามสีแล้ว ก็เก็บสีที่ต้องใช้บ่อย นั่นคือ


เขียว Viridian Hue ตัวนี้เขียวสด Sap Green ตัวนี้เขียวแบบหม่นๆหน่อย แต่ใช้วาดใบไม้ ต้นไม้เนี่ยSapใช้ดี


ผมใช้แค่นี้ครับ รับรองว่าครอบคลุมเกือบทุกสิงในธรรมชาติแล้ว ลูกศิษย์บางคนถามว่าสีขาวกับดำ ไม่ต้องซื้อเหรอ ผมก็ตอบเค้าไปตามที่อาจารย์ผมท่านเคยสอนไว้ คือสีดำ(สนิท)กับขาว(แท้ๆ) ในธรรมชาติไม่มี สีดำเราจะใช้การผสมสีคู่ตรงข้ามมาผสมกัน(เรียกเบรคสี) ส่วนสีขาวมี่ใช้กับของประเภทแก้ว ส่วนที่สะท้อนแสง เราใช้วิธีเว้นไว้ บางท่านยังติดใจว่า แล้วดอกบัวหรือกุหลาบขาวล่ะ พวกนี้คงเว้นไม่ได้ เทคนิคก็คือเราใช้สีบรรยากาศระบายครับ แล้วใส่แสงเงาเข้าไปเหมือนปกติ (อธิบายเป็นตัวเขียนยาก เดี๋ยวสอนเป็นภาพในบทอื่นละกันครับ)


อุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ ได้แก่


จานสี แบบไหนก็ได้ ขอให้เป็นหลุมลึกๆหน่อย เพราะสีน้ำใช้น้ำเป็นหลัก ถ้าก้นไม่ลึกพอ จะใส่น้ำได้น้อย จะเป็นจานพับหลายช่องแบบมีฝาหรือไม่มีก็ได้ครับ แต่แบบเป็นรูปดอกไม้อันเล็กๆไม่ต้องซื้อมานะครับ แบบนั้นเค้าเอาไว้ให้เด็กๆระบายตุ๊กตาปูนพลาสเตอร์


พู่กัน ซื้อตามต้องการ เบอร์หลักๆก็ 12 , 10 , 8หรือ6 , 3 , 1 เอาแบบเกรดกลางๆก็พอ แบบแพงๆเดี๋ยวเก่งแล้วค่อยใช้ ขยายความนิดนึง พู่กันดีๆ(แพงๆ)ส่วนใหญ่จะใช้ขนสัตว์เป็นวัสดุในการทำ เช่นขนตัวเซเบอร์ ขนกระรอก ขนแกะ ข้อดีคืออุ้มน้ำได้ดี ขนไม่ค่อยหลุด(ก็แน่หละของเค้าแพงนิ่) ส่วนเกรดกลางๆจะเป็นขนวัว หรือขนสังเคราะห์ อุ้มน้ำได้พอประมาณ ถ้ารู้จังหวะแล้ว การใช้งานก็ไม่แตกต่างกันซักเท่าไหร่ ข้อดีคือถูกกว่ากันมากมาย  พู่กันสีน้ำยังแบ่งตามลักษณะหัวอีก เช่น กลม แบนตัดตรง แบนตัดเฉียง แต่ละแบบก็เหมาะกับการใช้ที่แตกต่างกัน รายละเอียดค่อยว่ากันในบทต่อไป


กระดาษ สีน้ำต้องใช้กระดาษที่อุ้มน้ำดี ซึมดี สมัยเรียนจะใช้ร้อยปอนด์(หลังไก่) กระดาษจะออกเหลืองๆหน่อย เนื้อกระดาษหนาดี เดี๋ยวนี้หายากแล้ว ต้องไปตามแหล่งที่มีสถาบันศิลปะอยู่ถึงจะพอหาได้ สำหรับคนไม่สะดวก เข้าB2Sโลด มีกระดาษให้เลือกสรรค์เยอะแยะ ถ้าฝึกวาดก็ master art หรือ canson ก็โออยู่ครับ หรือแบบแพงบ้าพลัง ก็ลองเล็งๆพวกกระดาษทำมือ พวกนี้คุณภาพดีมาก ซื้อมาไม่กล้าใช้เลย วิธีสังเกตุก็คือตรงขอบกระดาษจะเป็นขุยๆบางๆไม่เสมอกัน(เหมือนขอบกระดาษสา) บอกให้รู้ว่าทำมือทีละแผ่นจ้าๆๆๆ


สุดท้าย(มั้ง) กระดาน แบบเก่าเป็นแผ่นบางๆสีน้ำตาลเข้ม ใช้ดี โดนน้ำได้นาน แบบที่สองเรียก MDF สีน้ำตาลอ่อนๆใช้ดีเช่นกัน แต่โดนน้ำจังๆไม่ค่อยสู้



คราวหน้ามาลองหัดวาดกันครับ






Free TextEditor




 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2554   
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2554 19:34:28 น.   
Counter : 10917 Pageviews.  



flipbook
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ข้อความและรูปภาพทั้งหมดในblog saveได้ printได้
แต่!ไม่อนุญาติให้นำไปใช้หาผลประโยชน์ด้านการค้า เช่น แอ๊บว่าเป็นงานตัวเอง หรือเอาไปดัดแปลง แก้ไข ทำซ้ำ ถ้าอยากได้ก็ขอกันดีๆ หรือใส่เครดิตให้หน่อยนะครับ
[Add flipbook's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com