สิ่งทอ คือ วิทยาศาสตร์บนพื้นฐานของศิลปะ

เรื่องสีที่ตกเวลาซักผ้าครับ

เวลาเราซักผ้าสีบางชิ้นร่วมกับผ้าชิ้นอื่น จะมีบางชิ้นที่สีตก ไปติดกับผ้าชิ้นอื่น อยากรู้ว่า สีที่มันตกไปติดกับผ้าชิ้นอื่นได้ง่ายๆขนาดนั้น เวลาไปติดผ้าชิ้นอื่นแล้ว มันไม่ตกต่อไปอีก หรือซักแล้วหลุดได้ง่ายๆ เหมือนตอนที่มันออกจากผ้าชิ้นแรกครับ

หรือกลับกัน เวลาสีมันตกใส่ผ้าเรา เราซักออกได้ยากมาก หรือไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ก้อในเมื่อมันหลุดยากขนาดนี้ แล้วมันหลุดออกจากผ้าต้นฉบับได้ไงครับ

จากคุณ : ARMS STRONG

+ มันเป็นสมดุลการย้อมสีครับ เพราะปกติ สีย้อม 1 ตัวจะมีค่า K หรือค่าคงที่สมดุล ซึ่ง เท่ากับ ความเข้มข้นของสีบนผ้า / ความเข้มข้นของสีที่เหลือในน้ำ

ในกรณีผ้าขาว นั้นความเข้มข้นเริ่มต้นของสีเท่ากับ 0 ดังนั้น การที่สีจะติดผ้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากค่าความสามารถในการเกาะติดของสีนั้นเ็ป็นค่าที่สัมพันธ์กับค่า K ครับ โดยที่

ค่าความสามารถในการเกาะติด (จูล/โมล) = R (ค่าคงที่ของแก๊ส) * T (อุณหภูมิสัมบูรณ์) * ln K

Note : K = ความเข้มข้นของสีที่อยู่บนผ้า / ความเข้มข้นของสีที่อยู่ในน้ำย้อม

ใน ขณะที่ผ้าต้นฉบับที่ทำสีตกออกมานั้นมีค่าความเข้มข้น X บนผ้า สีก็จะพยายามหลุดออกมาสู่น้ำให้ได้ความเข้มข้นของสีที่อยู่ในน้ำ เพื่อให้ได้อัตราส่วน K ของความเข้มข้นของสีที่อยู่บนผ้า / ความเข้มข้นของสีที่อยู่ในน้ำย้อม
ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่สีจะหลุดออกมาครับ

: ในแง่ของฟิสิกส์การย้อมครับ

+ โดยมากการตกแล้วติดนี่มักจะเกิดขึ้นจากสีประจุลบบนเส้นใยฝ้าย เนื่องจากสีที่หลุดออกมาสามารถที่จะติดบนเส้นใยที่อุณหภูมิห้องได้ดี

+ ซึ่งสีในกลุ่มนี้อาจจะได้ทำปฏิกิริยากับเส้นใยซึ่งอาจจะสมบูรณ์แต่กำจัดสี ส่วนเกินออกได้ไม่หมด หรือ ไม่สมบูรณ์ทำให้ปริมาณสีที่ไม่ได้ทำปฏิกิริยามีปริมาณสูงครับ ในกรณีนี้สีที่เป็นประจุลบนั้นมักจะเกาะอยู่บนเส้นใยเป็นแบบหลายชั้น (Multilayer) ซึ่งแน่นอน สียิ่มเข้มเท่าไรนั้นก็หมายถึงว่ามีจำนงนชั้นโมเลกุลของสีเยอะขึ้น ระยะห่างของโมเลกุลสีกับเส้นใยก็ห่างกันมากขึ้น รวมไปถึงการผลักกันเองของประจุลบอันเนื่องมาจากโมเลกุลสีย้อมเอง ก็จะทำให้สีหลุดง่ายขึ้น

+ ในทำนองเดียวกันผ้าขาวหรือสีอ่อนเองก็มีความเข้มข้นของสีย้อมเข้าใกล้ 0 ทำให้ความสามารถในการดูดติดสียังคงดีอยู่ไม่มีอุปสรรคของประจุลบของโมเลกุล สีเองที่จะผลักมันออกมา ดังนั้นสีที่ติดเข้าไปจึงดูเหมือนว่าจะเอาออกยาก

+ ดังนั้น หนามยอกต้องเอาหนามบ่งครับ ต้องหาวัสดุที่สามารถดูดติดสีได้แรง แต่ละลายน้ำได้ง่าย ที่แนะนำเลย คือ เจลแต่งผม เนื่องจากมีส่วนผสมของ PVP (polyvinylpyrollidone) ซึ่งมีประจุบวกแรง มันก็สามารถที่จะดึงสีที่ตกออกมาได้ดี โดยการเอาเจลแต่งผม (ที่ไม่มีสีด้วยนะ ไม่งั้นจะซ้ำร้ายขึ้น) ป้ายตรงสีตก แล้วขยี้ ซึ่งวิธีนี้จะไม่กัดสีพื้นเดิมออกด้วย แต่ถ้าเป็นผ้าขาวก็ใช้ไฮเตอร์เลยก็ได้

: ในแง่ของเคมีการย้อม และเคล็ดแม่บ้าน ฮี่ ฮี่




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2552 11:14:21 น.   
Counter : 1307 Pageviews.  

ทำอย่างไรให้กางเกงยีนส์ซีดเก่าเร็วๆ ได้บ้าง

ด่างทับทิมครับ เร็วที่สุด ง่ายที่สุด...

เนื่อง จาก Manganate ion เป็น oxidising species ที่แรงกว่า Hypochlorite ion (หรือ ไฮเตอร์น่ะแหละ) และนอกจากนั้้นพอมัน oxidise โครงสร้างของ indigo ใน denim แล้วเนีั่่ย มันจะให้ตะกอนเหลืองอมน้ำตาลของ manganese dioxide ทำให้ดูเป็นสีสนิมที่สวยไปอีกแบบ....แต่ถ้าตะกอนเหลืองของคุณเยอะเกินไป (คือ บางคนทำแล้วแช่นานไปนิด หรือ ใส่ด่างทับทิมไปเยอะเกิน) ก็ให้ล้างในสารละลาย hydrogen peroxide ในกรดได้ เพื่อปรับสีสนิมให้อ่อนลงตามความต้องการ

How to?....
ละลายด่างทับทิมประมาณ 1 ช้อนกาแฟในน้ำ 1 กาละมัง ต่อกางเกงยีนส์ 1 ตัว จนได้สารละลายสีบานเย็นเข้ม.....
แช่กางเกงยีนส์ในกาละมังตั้งแต่ 10 - 60 นาที ดูว่าซีดรึยัง....(ขั้นตอนนี้กางเกงจะดูดำๆเหลืองๆอ่ะแหละ)
ถ้าชอบก็ยกขึ้นซักออกด้วยน้ำเปล่า....ซักจนได้ความเหลืองที่ต้องการ...
ถ้าเหลืองเกินไป ใช้ไฮโดรเจนทาแผล 1 ขวดเล็ก น้ำส้มสายชู 1/2 ถ้วย ล้างตะกอนเหลืองออกตามความชอบ...




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2552   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2552 11:12:03 น.   
Counter : 6453 Pageviews.  

*** ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ผ้าเรียบ ***

คือผมอยากรู้ว่า ผ้าจะเรียบได้นั้น มีสาเหตุหรือปัจจัยใดบ้าง
ความร้อนหรือไอน้ำนั้น ไปส่งผลทางวิทยาศาสตร์ใดกับเนื้อผ้า
และเป็นไปได้มั้ยว่า การที่จะทำให้ผ้าเรียบ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเดิมๆ
เสมอไป เพื่อนๆ คิดว่ามีวิธีการอื่นใดอีกบ้างที่จะทำให้ผ้าเรียบครับ

+++ ที่ต้องการจะรู้เพราะ จะนำไปศึกษาและทำวิจัยต่อไป จึงอยากได้ความเห็นของเพื่อนๆ ขอบคุณทุกๆความเห็นมากๆครับ

จากคุณ : NP-PINK

ถ้าอยากจะรู้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้ผ้าเรียบ เราต้องรู้ก่อนว่าปัจจัยใดทำให้ผ้ายับครับ
+ ปกติเส้นใยที่ยับง่ายนั้นมักจะมีแรงหรือพันธะที่เชื่อมโยงระหว่างสายโซ่ โมเลกุลที่แข็งแรงไม่มาก และมักจะเกิดการเปลี่ยนตำแหน่งเชื่อมขวางแบบผันกลับได้ (reversible mobility crosslink) เช่น พันธะไฮโดรเจน หรือ ไม่ก็มีอุณหภูมิ Tg (Glass transition temperature) ที่ไม่สูงไปกว่าอุณหภูมิห้องสักเท่าไรครับ

+ เส้นใยที่เข้าเกณฑ์ยับง่าย และรอยยับมักจะถาวรจึงมักจะเป็นเส้นใยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นใยที่ได้จากพืช เนื่องจากองค์ประกอบหลัก คือ เซลลูโลส ที่สามารถสร้างพันธะไฮโดรเจนกับโซ่โมเลกุลข้างๆ เช่น ฝ้าย และถ้ามีลิกนินเป็นองค์ประกอบก็ยิ่งยับง่ายเข้าไปใหญ่ เช่น ป่าน ปอ ลินิน เป็นต้น ส่วนขนสัตว์และไหมก็มีโอกาสยับที่ไม่แพ้กัน

+ เส้นใยสังเคราะห์ที่ยับง่ายก็มักจะเป็นเส้นใยที่มีค่า Tg ไม่สูงมากนัก เช่น Cellulose diacetate เป็นต้น

+ นอกจากนั้นโครงสร้างของผ้าก็สามารถทำให้เกิดการยับได้มาก-น้อยต่างกันด้วย ปกติโครงสร้างผ้าที่มีการขวางกันของเส้นด้ายมาก (เช่น ช่วงเส้นด้ายขัดกันในผ้าทอ หรือ ช่วงคล้องกันของผ้าถัก) ก็จะทำให้เกิดการทนยับได้มากขึ้น เช่น ผ้าทอลายขัด หรือผ้าถักซิงเกิลเจอรซี (Single jersey) ในขณะที่ถ้าผ้ามีโครงสร้างการข้ามของเส้นด้ายเยอะ เช่น ผ้าลายสอง หรือ ผ้าถักแบบตราจระเข้หรือผ้าลายตริโก (Tricot) ก็จะยับได้ง่ายและถาวรมากขึ้น

+ ดังนั้นการทำให้ผ้าเรียบจึงต้องกำจัดสิ่งที่เป็นต้นเหตุของการยับให้ได้

+ ปัจจัยแรก ถ้าขึ้นอยู่กับโครงสร้างเส้นใยที่เกิดจากการที่พันธะืัที่เชื่อมขวางเส้นใย นั้นอ่อนแอเกินไป และพร้อมที่จะเกิดขึ้นใหม่เสมอนั้น เราก็ใช้วิธีการทำให้พันธะเชื่อมขวางที่ถาวรลงไปแทน เช่น การใช้ Thermosetting plastic เช่น melamine formaldehyde, glyoxal resin ลงไป เพื่อที่จะทำปฏิกิริยากับหมู่ที่เป็น neucleophile เช่น หมู่ -OH หรือ -NH2 ในเส้นใย เพื่อที่จะมีพันธะืั้ที่เชื่อมแข็งแรงขึ้น

+ ปัจจัยที่ 2 ถ้าเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้มี Tg ไม่สูง อันนี้แก้ไม่ได้แฮะ แต่ก็ไม่ค่อยมีการใช้งานกันเท่าไร อย่างมากก็ทำการอบโดยใช้ความร้อน (annealing) เพื่อเลี้ยงให้เกิดผลึกเส้นใยใหญ่ๆ ก็จะทำให้ส่วน amorphous นั้นน้อยลง โอกาสจะยับก็ยากขึ้น

+ ปัจจัย 3 ถ้าจะไม่แก้ที่ต้นเหตุ ก็ต้องแก้ที่ปลายเหตุครับ

- แล้วแก้ปลายเหตุจะทำอย่างไรดี

+ ความร้อนที่ใช้รีดควรจะสูงกว่าค่า Tg ของเส้นใย (แต่ก็ไม่ควรเกิน 10 องศาเซลเซียสนะครับ เพราะทำให้ให้เกิดการเคลื่อนตัวด้วยความร้อน [Thermomigration] ของสีย้อมส่งผลทำให้สีย้อมซีดจางลงได้) ในกรณีที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์

+ ถ้าเป็นกรณีที่เป็นเส้นใยธรรมชาติก็ควรจะมีน้ำทำหน้าที่เป็น plasticizer หรือทำลายพันธะไฮโดรเจนระหว่างสายโซ่ชั่วคราว แล้วจัดการรีดด้วยเตารีด ซึ่งมีหน้าที่กดทับ เพื่อให้เกิดพันธะไฮโดรเจนใหม่ (ในลักษณะตำแหน่งที่ทำให้ผ้าเรียบ) โดยที่ควรจะมี external lubricant แช่น parafin wax หรือ polyethylene wax เป็นตัวช่วยในการทำให้การรีดนั้นเีรียบลื่น และควรจะมีสารที่เพิ่มความคงรูป เช่น แป้ง หรือ PVA ที่ช่วยก่อฟิล์มบนผ้า ทำให้ความคงรูปของการรีดเพิ่มขึ้น เป็นต้น




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2552   
Last Update : 17 มิถุนายน 2552 9:19:34 น.   
Counter : 3045 Pageviews.  

====ทำไมใยไหม ถึงติดสีง่ายครับ===

แล้วใยไหมแตกต่างจากเส้นผมยังไง ครับ ถ้าย้อมสีผมไม่ต้องใช้สารเคมีจะได้ไหมครับ

จากคุณ : Zenith4z_parn

ใยไหมมีองค์ประกอบสำคัญคือ Fibroin ซึ่งเป็นโปรตีนครับ (ส่วนที่เรากำจัดออกคือกาวไหม หรือ Sericin ซึ่งก็เป็นโปรตีนเ่ช่นกัน เอามาทำสบู่ใยไหม ทำให้ผิวนุ้มนุ่ม) ซึ่ง Fibroin มีองค์ประกอบเป็นกรด alpha-amino acid หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น glycine, Arginine, Alanine, Tyrosine เป็นต้น (จริงๆ มีอีกหลายชนิด แต่ผมไม่ได้สนใจเท่าำไร แฮ่ แฮ่)

คราวนี้มาดูสีย้อมบ้าง เค้าใช้พันธะอะไรติดผ้า......

1. Cationic dyes สีกลุ่มนี้มีประจุบวก ดังนั้นสามารถเกิดพันธะอิออนิกกับเส้นใยที่มีประจุลบ
+ ด้วยความว่า เส้นใยไหมมีองค์ประกอบเป็น amino acid ดังนั้นหมู่ Carboxylic acid ที่สามารถแตกตัวเป็นประจุลบได้ ในสภาวะที่เป็๋นกรดอ่อน-ด่าง ดังนั้นจึงสามารถติดด้วยสีกลุ่มนี้ได้

2. Anionic dyes สีกลุ่มนี้มีประจุลบ ดังนั้นสามารถเกิดพันธะอิออนิกกับเส้นใยที่มีประจุบวก
+ และเช่นกัน amino acid ก็มีหมู่ -NH2 ที่สามารถดูดซับกรด (H+) ได้กลายเป็น -NH3+ ได้ ดังนั้นจึงสามารถที่จะติดด้วยสีกลุ่มนี้ได้ในสภาวะที่เป็นกรด

3. Reactive dyes สีกลุ่มนี้สามารถทำปฏิกิริยากับเส้นใยที่มีหมู่ nucleophlie เช่น -OH, -NH2, -SH เป็นต้น
+ หมู่ -NH2 ก็เป็น nucleophile ที่ดี ดังนั้นจึงสามารถที่จะทำปฏิกิริยากับสีกลุ่มนี้ได้ดี

4. Non-ionic dyes สีกลุ่มนี้ไม่มีประจุ แต่ติดด้วย polarization force หรือ pi-bond interaction ครับ
+ มีส่วนที่เป็น Tyrosine unit จึงมี aromatic ที่สามารถเกิด pi-bond interaction ได้ แต่ไม่มาก ทำให้เกิดการย้อมแบบเปื้อน (Staining) แทนที่จะย้อมแบบติดคงทน (dyeing) แต่ก็ติดนะครับ แต่ซักออกง่ายไปนี๊ด ไม่นิยมครับ

+ ไหมและเส้นผม ต่างก็เป็นโปรตีนทั้งคู่ครับ แต่ขนสัตว์และผมคนต่างตรงที่มี Cystein unit ครับ ซึ่งกรดอะมิโนตัวนี้นั้นมี disulfidic linkage (-S-S-) ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมขวางพอลิเปปไทด์ได้ ทำให้เส้นใยกลุ่มขนสัตว์และผมคนจึงต้านทานต่อสารเคมีมากกว่า เพราะมีการยึดเหนี่ยวระหว่างสายโซ่ แต่โชคดีที่ใยไหมนั้นมีการจัดเรียงตัวของสายโซ่พอลิเปปไทด์ที่แน่นกว่าครับ จึงสามารถที่จะทนทานต่อสารเคมีและสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น (แต่ก็นะ ไหมก็คือไหมวันยังค่ำ) ถ้าส่ิองกล้องจุลทรรศน์ดู จะเห็นว่าผมคนและขนสัตว์จะมีหน้าตัดเป็นเกือบวงกลม และผิวเส้นใยเป็นรูปเกล็ดปลา ในขณะที่ไหมนั้นเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่ามน และผิวเรียบ (จึงทำให้ไหมนั้นเงาวับแวบ)

+ ย้อมผมไม่ใช้สารเคมีได้มั้ย? ได้ครับถ้าผมคุณสีขาวหรือสีอ่อนครับ แต่ว่าไอ้ที่สารเคมีที่เค้าใส่นี่ วัตถุประสงค์หนึ่งก็คือ ต้องการฟอกสีผมเก่าออกบางส่วนด้วยครับ ไม่งั้นผมคุณสีดำ คุณจะย้อมสีอะไรก็ไม่เห็นสีครับ แต่ถ้าผมคุณหงอกแล้วจะย้อมสีไม่ใช้สารเคมีก็แนะนำสีกลุ่ม Cationic dyes ครับ แต่ว่าจะรับสีของมันได้รึเปล่า เพราะสีในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีสีสัน สดใส เช่น เหลืองอ๋อย ชมพูแปร๊ด ม่วงสด ฟ้าคราม ประมาณนั้น ก็คงทนได้ 6-12 wash (สระ 6-12 สีก็หายไปครึ่งหนึ่ง)

+ ส่วนสีย้อมผมชนิดถาวร นั้นใช้แบบ oxidation colorant ครับ เป็นการนำสารประกอบ aromatic amine compound มาผสมกับสาร oxidasing agent เช่น hydrogen peroxide แล้วเกิดเป็น pigment ที่เป็น polymer แทรกอยู่ตามรูพรุนของเส้นผมครับ

ปล. เคล็ดลับช่างเสริมสวยและคนที่ย้อมผมเอง : ย้อมผมเสร็จ ควรจะล้างน้ำเปล่าออกนะครับ ไม่ควรสระทันที ไม่งั้น polymer pigment ที่แทรกอยู่ในเส้นผมจะยังไม่มีเวลาพอที่จะตกผลึก พอสระออกด้วยยาสระผม ก็จะทำให้โครงผลึกของสีเสียหาย สมบัติที่ดีของสีย้อมก็จะหายไปนะครับ...ย้ำไว้เลย ต้องทิ้งไว้ให้ตกผลึกก่อนซักคืนนึง แล้วค่อยสระออกครับ


ภาพขยายของรูปที่ดูคล้ายเกล็ดปลาของขนสัตว์หรือผมคน (ในภาพเป็นของขนแกะ merino)


กรดอะมิโนแต่ละชนิดที่มี
+ หมู่ -NH2 ที่เป็นนิวคลีโอไฟล์ที่ดี หรือ ดูดซับกรดแล้วมีประจุบวกทำให้สามารถย้อมด้วยสีประจุลบได้
+ หมู่ -COOH ที่มีประจุลบ จากการแตกตัวแล้วกลายเป็น -COO- (pH ต้องสูงกว่า Ka ของกรดอะมิโนนั้น)
+ Aromatic ที่สามารถเกิด pi-bond interaction ได้
+ -S-S- linkage ของ cystein ที่สามารถเชื่อมขวางเส้นพอลิเปปไทด์ได้


ลักษณะหมู่ฟังก์ชันที่แสดงสมบัติต่างๆของขนสัตว์และผมคน ส่วนไหมนั้นจะไม่มี disulfide crosslink


เส้นใยโปรตีนก็เหมือนโปรตีนทั่วไป คือ สามารถแสดงได้ทั้งประจบวกในสภาวะที่เป็นกรด และประจุลบที่เป็นเบส ทำให้เราเรียกสารที่มีประจุทั้ง 2 ในตัวเดียวกันว่า Amphoteric substant (Ampho = สอง) โดยที่จะมี pH ช่วงที่โปรตีนไม่แสดงประจุว่า isoelectric point (iso = เท่ากัน, electric = ประจุ) ถ้าเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ เช่น อัลบูมินในไข่ขาว เราจะเห็นการตกตะกอน แต่สำหรับเส้นใยโปรตีนไม่ละลายน้ำอยู่แล้ว จึงไม่สามารถสังเกตการณ์จากตรงนี้ได้


ตัวอย่างโครงสร้างของสีประจุลบบนเส้นใยที่มีประจุบวก (ในรูปเป็น nylon ที่มีหมู่ -NH2 เช่นกัน ดังนั้นสมบัติการย้อมสีของ nylon, ไหม ขนสัตว์ จึงคล้ายกันมาก)


โครงสร้างของสีย้อมที่มีประจุบวก


โครงสร้างของสีที่เป็น Reactive dyes หรือ สามารถทำปฏิกิริยากับนิวคลีโอไฟล์ของเส้นใยได้ หมู่ที่ทำปฏิกิริยาได้นี้เรียกว่า Reactive group สำหรับสีตัวนี้ Reactive group คือ beta-sulfatoethylsulfone (เบต้า-ซัลฟาโตเอทธิลซัลโฟน) ซึ่งมีเส้นสีแดงแสดงเครื่องหมายอยู่


นี่คือ ภาพขยายของเส้นใยไหม โดยที่รูปใหญ่นั้นเป็นเส้นใยไหม (Fibroin) ล้วนๆ หลังฟอกเอากาวไหม (Sericin) ออก ส่วนภาพเล็กนั้นยังเป็นไหมดิบอยู่ จะเห็นว่ามีกาวยึดอยู่


ผมคน แถวบนนั้นเป็นผมธรรมดายังไม่ได้ใส่เจลแต่งผม ส่วนแถวล่างจัดทรงเรียบร้อยแล้วครับ

มียาย้อมผมที่ไม่ต้องใช้ H2O2 หรือเปล่าครับ
+ ถ้าขายในท้องตลาด ก็มีกลุ่มแชมพูที่สระแล้วผมค่อยๆดำขึ้น โดยที่ใช้หลักการของการตกตะกอนของโลหะที่ละลายได้ในน้ำ แล้วถูก -S-S- สลายพันธะให้ -SH ซึ่งสามารถรีดิวซ์อิออนของโลหะ เกิดเป็นตะกอนโลหะสีดำในผม ซึ่งกลไกก็เป็นแบบเดียวกันกับการเกิดเงาดำของรูปถ่ายขาว-ดำของเกลือเงินน่ะ ครับ

+ จริงๆ สีย้อมผมที่มีแต่ ammonia อย่างเดียวก็มีครับ ไม่มี H2O2 เพราะเค้าใช้ Oxygen ในอากาศเป็น Oxidising agent แทน แต่จะไม่มีผลในการฟอกสีผมนะครับ จึงเหมาะสำหรับการย้อมทับผมหงอกเท่านั้น ไม่เหมาะกับการย้อมเปลี่ยนสีผมจากเข้มเป็นอ่อน


กลไกของเฮนน่าย้อมผม
+ กลไกการเกิดสีของเฮนน่า เกิดจากสารประกอบ phenol ถูก oxidise จากออกซิเจนในอากาศครับ ปรากฏการณ์นี้เทียบเหมือนกับการแอปเปิ้ล หรือ ปลีกล้วยที่ถูกเฉือนแล้วผิวสัมผัสที่โดนอากาศ จะมีสีดำหรือน้ำตาลครับ

+ กลไกการเกิดเป็น polymer pigment ของสารประกอบอนิลีน ในสีย้อมผม เพราะเนื่องจากการย้อมผมคนนั้นต้องย้อมที่อุณหูมิห้อง แตกต่างไปจากการย้อมเส้นใยอื่นๆ อีกทั้งเส้นผมคนยังมีการเชื่อมขวางของพอลิเปปไทด์มาก ก็เลยทำให้เป็นการยากที่จะทำให้สีย้อม (ซึ่งมีโมเลกุลที่ใหญ่) แทรกซึมเข้าลึกจนเป็นที่น่าพอใจได้ จึงต้องอาศัยกลไกในการใช้สารโมเลกุลเล็ก เช่น aniline แทรกซึมเข้าเส้นผมไปก่อน แล้วจึงกระตุ้นให้ aniline นั้นเกิด polymerisation เกิดเป็นสารโมเลกุลใหญ่ที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ ทำให้มีความคงทนต่อการสระค่อนข้างสูง ส่งผลทำให้มีความคงทนไม่ต่ำกว่า 1 เดือนได้




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2552   
Last Update : 10 มิถุนายน 2552 16:52:37 น.   
Counter : 7535 Pageviews.  

พลาสติกเหลือง

อะไรทำให้พลาสติก พวกภาชนะพลาสติก, โครงเครื่องใช้ไฟฟ้า, หน้ากากสวิทช์ไฟ เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลืองครับ
ทำไมเปลี่ยนสีเฉพาะด้านนอก ด้านในยังขาวอยู่
ถ้าคำตอบคืออากาศ อะไรในอากาศ ที่ทำให้เปลี่ยนครับ

จากคุณ : PV - [ 6 พ.ค. 52 08:56:00 A:124.120.9.166 X: TicketID:102349 ]

+ บางทีการเหลืองส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดจากการเติมสาร phenolic anti-oxidant ครับ เช่นพวก BHT หรืออนุพันธ์ของมัน ซึ่งเป็นสารป้องกันการเสื่อมสภาพของพลาสติกเกือบทุกตัว ดังนั้นความเหลืองที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นี้จึงถูกเรียกว่า "Phenolic yellowing" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการเก็บรักษาหรือการใช้งาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศที่มีออกไซด์ของไนโตรเจนค่อนข้างสูง เช่น ในบรรยากาศที่มีความร้อนสูง หรือ มีการเผาใหม้ของเครื่องยนต์สูง) ทำให้บางครั้งเรียกว่า "Storage yellowing" ก็ได้ ซึ่งกลไกก็เป็นไปตามรูป


+ ซึ่งการเหลืองที่ชัดเจนที่สุด และ เกิดได้ง่ายที่สุด ก็ึคือ การเหลืองที่เกิดจาก Phenolate anion (จากเส้นกราฟการดูดกลืนแสงของสารแต่ละสปีชีส์) ซึ่งมักจะเกิดในสภาวะที่เป็นเบส ดังนั้นการควบคุมสภาวะของวัสดุให้อยู่ในสภาวะที่เป็นกรดก็จะเป็นสิ่งที่ ป้องกันที่ปลายเหตุได้ง่ายที่สุด (ในทางทฤษฏี) แต่ในทางปฏิบัติ แม้ในสภาวะที่เป็นกรด แต่มีสารที่เหนี่ยวนำทำให้เกิด phenolate anion เช่น สารที่มีประจุบวกแรงๆ เช่น สารตกแต่งกันไฟฟ้าสถิตย์ที่เป็นประจุบวกแรงๆ ก็ทำให้เกิดความเหลืองได้อยู่ดี ส่วนความเหลืองที่เกิดจากอนุพันธ์ตัวอื่นนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่ามาก (เกิดขึ้นเฉพาะที่ความเข้มข้นของ BHT สูงๆเท่านั้น)




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2552   
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 15:31:54 น.   
Counter : 4331 Pageviews.  

1  2  3  4  

in-situ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




[Add in-situ's blog to your web]