76 ปี บรูซ ลี มีดีที่เปลี่ยนโลก


รายงานกระแส โดย เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

ภาพใบหน้าของบรูซ ลี ฮีโร่ทางวัฒนธรรมกังฟูแห่งศตวรรษ ที่หน้าห้างฯ แห่งหนึ่งในฮ่องกง
ซึ่งยังคงเป็นที่จดจำรำลึกถึงเสมอ แม้จะล่วงลับไปนานเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว (ภาพ เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)



หากศึกษาประวัติศาสตร์จีน ในรอบร้อยปี ก่อนบรูซ ลี เกิดนั้น ภาพคนจีนในสายตาของชาวโลก
หรือกระทั่งโลกทัศน์ฯ คนจีนที่มองด้วยกันเอง มีแต่ภาพของความอ่อนแอ เจ็บป่วย แตกแยก
ทิ้งแผ่นดินวิปโยค อพยพโพ้นทะเล ไปเป็นคนชายขอบ ไร้ตัวตนยิ่งกว่าพลเมืองชั้นสองในแผ่นดินอื่น
บางคนพูดให้แรงกว่านั้นก็ได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่คนจีนเกิดมาก้มหน้ารับชะตากรรม ซึ่งไม่มีอะไรให้ภาคภูมิเลย

ภาพของคนจีนคงจะยังเป็นอย่างนั้นอีกนาน ...
จนกระทั่ง วันที่ชายหนุ่มคนหนึ่งกระโดดเตะแผ่นป้ายซึ่งเขียนคำว่า "ขี้โรคเอเชีย" หักเป็นสองท่อน!!

ความรับรู้เกี่ยวกับความอ่อนแอขี้โรคติดฝิ่นงอมแงมของชาวจีนนั้น เริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 18
อังกฤษร่ำรวยมหาศาลจากการค้าขายฝิ่นให้จีน โดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม ฝิ่นแก้ปัญหาขาดดุลบัญชีให้แก่อังกฤษ
แต่ก่อความสูญเสียอย่างมหาศาลทางด้านสังคมในจีน เมื่อจีนต่อต้านก็ส่งผลให้เกิดสงครามฝิ่น ระหว่างอังกฤษกับจีนขึ้นในปี ค.ศ. 1830

จีนแพ้จักรวรรดิ์อังกฤษ ในสงครามฝิ่นครั้งแรก ปี ค.ศ. 1839-1842 ถูกบังคับทำสนธิสัญญานานกิง 1842
สูญเสียอำนาจปกครองฮ่องกง จีนแพ้อังกฤษ-ฝรั่งเศส ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1856 - 1860)
กองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศส ปล้นและเผาพระราชวังฤดูร้อน(หยวนหมิงหยวน) เสียเกาลูน จำยอมลงนามสนธิสัญญาเทียนสิน

ความทะเยอทะยานลัทธิล่าอาณานิคมและสยบตะวันออกไกล ทำให้จีนตกเป็นเป้าฯ
การไล่ล่าของมหาอำนาจตะวันตกเพื่อเข้ายึดครองผลประโยชน์ ค.ศ. 1894-1895
จีนแพ้สงครามเกาหลีที่ทำกับญี่ปุ่น เสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นมูลค่าสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์
ยกเกาะไต้หวันหรือฟอร์โมซาและหมู่เกาะใกล้เคียงให้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย
ซึ่งต่างขยายเขตอิทธิพลของกันและกันเหนือดินแดนจีนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1897-1898
เยอรมันได้ อ่าวเจียวโจว, ชานตง และหุบเขาฮวงเหอ / รัสเซียได้คาบสมุทรเหลียวตง
และสิทธิเหนือทางรถไฟในแมนจูเรีย / อังกฤษได้เว่ยไห่เว่ย และหุบเขาแยงซี / ฝรั่งเศสได้สิทธิอ่าวกวางโจว
และสามจังหวัดทางใต้ เซี่ยงไฮ้กลายเป็นเขตเช่าของฝรั่งเศสนานเกือบร้อยปี (ค.ศ. 1849-1943)

เมื่อกลุ่มนักมวยจีนก่อจลาจลเรียกร้องสิทธิขับไล่ต่างชาติบนแผ่นดินตนเอง (ค.ศ. 1899 - 1901)
กองทัพแปดชาติ (อังกฤษ, รัสเซีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา, อิตาลี, ออสเตรีย และญี่ปุ่น)
จึงถือเป็นเหตุจับมือผนึกกำลังนำทัพเข้าสู่เมืองหลวงปักกิ่งปราบกบฎจีนราบคาบ

คนจีนตกอยู่ในสภาพบอบช้ำและวิปโยคซ้ำในช่วงเวลาสงครามกลางเมือง
และสงครามญี่ปุ่นบุกจีน สังหารหมู่ประชาชนชาวจีนที่นานกิง ในปี 1937
ตลอดจนโศกนาฎกรรมอันเกิดขึ้นจากการบริหารประเทศหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ตลอด 100 ปีก่อนบรูซ ลีเกิด ชาวจีนจึงกลายเป็นชนชาติอพยพโพ้นทะเล
โดยในสหรัฐอเมริกานั้น คนจีนจำนวนมากเข้าไปอยู่อย่างผู้อพยพ
เป็นแรงงานหลักเยี่ยงกุลีผู้รับใช้ในยุคขุดทอง และสร้างบ้านแปลงเมืองของคนอเมริกัน
แรงงานจีนนั้นยอมรับราคาค่าชีวิตต่ำ และยอมทำงานเสี่ยงตายในสภาพกันดาร
อยู่อาศัยอย่างคนนอกเขตชายขอบ รวมกลุ่มแยกตัวเป็นชุมชนเล็กๆ ในระดับล่างสุด

ครั้นเมื่อคนงานผิวขาวเริ่มกังวลว่า แรงงานจีนซึ่งเรียกค่าแรงถูกและยอมทำงานกุลี จะเข้าไปแย่งงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ
กระแสต่อต้านแรงงานจีน จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น และถึงขนาดก่อเหตุรุนแรงทำร้าย-ขับไล่คนจีน เผชิญปรากฏการเหยียดเชื้อชาติ
ด้วยวัฒนธรรมและอัตลักษณ์จีนอันเป็นสิ่งแปลกแยก ถูกกดข่มกีดกันเหยียด ต่อต้านทั้งในทางสังคม และในตัวบทกฎหมายต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายกีดกันคนอพยพจากจีน รัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน ค.ศ. 1882 (The Chinese Exclusion Act 1882)
มลรัฐทางตะวันตกหลายมลรัฐ ได้ผ่านกฎหมายห้ามชาวจีนรวมถึงคู่สมรสของชาวจีนอพยพถือครองกรรมสิทธิที่ดิน
ชาวจีนยังถูกกีดกันออกจากอุตสาหกรรมต่างๆ ในเวลานั้น เหลืองานให้ทำเพียงซักเสื้อผ้า และหลังร้านอาหาร

ชั่วรุ่นอายุคนจีนอพยพผู้อ่อนแอ จำนนชะตากรรมนั้นคงอยู่ในการรับรู้ผู้คนตะวันตกนานเป็นร้อยปี
จนทศวรรษแห่งการกำเนิดมังกรบรูซ ลี ซึ่งอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1964 - 1974
อันมีประวัติการณ์เปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทางการเมืองสังคม
ส่งผลให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในทุกซอกมุมสังคมอเมริกัน
ชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ก็เป็นกลุ่มที่เคยเก็บตัวเงียบอย่างสันติในกลุ่มเหล่านี้
ที่นำประเด็นของเชื้อชาติวัฒนธรรมและเพศ ขึ้นมากางเผยจิตสำนึกเสรีชนของชาวอเมริกัน
ด้วยบริบททางสังคมนี้เอง คือฉากหลังที่ขับให้บรู๊ซ ลี ก้าวขึ้นมาปรากฏเด่น!

“คนจีนไม่ใช่คนขี้โรคอีกต่อไป” เป็นวลีสำคัญที่ บรูซ ลี กล่าวผ่านบทบาทของเฉินเจิน
ตัวเอกในภาพยนตร์เรื่อง Fist of Fury (1972) และยังเป็นคติประจำใจซึ่งบรูซ ลี ยึดมั่นตลอดชีวิต
ชาวจีนไม่ได้เป็นบุคคลที่อ่อนแอ และยอมถูกกระทำย่ำยี ก้มรับป้ายแขวนคอทั้งในทางประวัติศาสตร์และในวัฒนธรรมบันเทิงอีกต่อไป
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ บรูซ ลี ปลดป้ายมายาคติดังกล่าวที่แขวนฝังอยู่ในหัว เขาเผยภาพคนจีนในลักษณ์ใหม่ แววตาคมกล้า แข็งแรง
สวมชุดชนชั้นแรงงาน ไม่ใช่คนผอมแห้ง หนวดเรียวแหลม ใส่ชุดขุนนางแมนจู เหมือนตัวละครอื่นๆ ที่คนตะวันตกคุ้นเคย

บรูซ ลี ได้ทำสิ่งที่ไม่มีดารานักแสดงคนไหนทำได้ การปรากฏตัวของเขาคือ
ความภาคภูมิของอารยธรรมตะวันออก ซึ่งหลอมรวมกับวัฒนธรรมสากลสมัยใหม่
บรูซ ลี ยังไปไกลกว่าใครในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ที่ผู้คนมีต่อชาวจีน หรือกระทั่งที่ชาวจีนมีต่อตนเอง

ฉากต่อสู้ของเฉินเจิน ในภาพยนตร์ Fist of Fury, 1972 ได้กอบกู้ความภาคภูมิเชื่อมั่นตนเองของชาวจีนทั้งในด้านกายภาพ
และที่สำคัญกว่านั้นคือทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการฉีกแผ่นข้อความ “ขี้โรคเอเชีย” ยัดใส่ปากผู้ดูถูกเหยียดหยาม
หรือ กระโดดเตะป้าย “ห้ามคนจีนและสุนัขเข้า” ที่ประตูทางเข้าสวนสาธารณะฯ ฯลฯ
(แม้ว่า ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การตกเป็นอาณานิคมต่างชาตินั้น
ป้ายข้อความดังกล่าวจะไม่ได้ปรากฎชัดเจนในคำห้ามดังกล่าว แต่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ
คนจีนในเขตเช่าเซี่ยงไฮ้ ถูกระบุเป็นบุคคลต้องห้ามเดินในสวนสาธารณะหลายแห่ง
ซึ่งเป็นกฎหมายที่เหยียดคนจีนให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองในแผ่นดินของตนเอง เช่นเดียวกัน
กฎหมายเทศบาลเซี่ยงไฮ้ยังได้ระบุห้ามสุนัขเดินในสวนสาธารณะหวงผู่)

ภาพยนตร์ Fist of Fury มีแรงส่งมหาศาล ผู้ชมชาวจีนในโรงภาพยนตร์เวลานั้น นั่งไม่ติด
ลุกขึ้นยืนปรบมือไปกับฉากเหล่านี้ กระนั้นก็ตามในหนังของบรูซ ลีนี้ คู่ต่อสู้ต่างชาติ
สำนึกชาตินิยม ยังไม่สำคัญเท่ากับการปลุกสำนึกมนุษยนิยม เปลี่ยนโลกทัศน์ใหม่ มองตัวเองใหม่
ปกป้องจิตวิญญาณรักสันติ ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค พัฒนาตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด
ไม่จำนนต่ออุปสรรค เหล่านี้คือความหมายแท้จริงของคำว่า "กังฟู" (功夫)
แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์และชีวิตจริงที่ บรูซ ลี ส่งผ่านให้กับแม้กระทั่งเด็กน้อยวัยอนุบาลในยุคสมัยนี้
ก็ยังจดจำเลียนแบบลีลาท่ากังฟูอันแฝงปรัชญานี้ได้

แม้จะเป็นเวลานานกว่า 40 ปี นับจากการเสียชีวิตในวัย 32 ปี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2516
แต่บรูซ ลี ซึ่งหากอยู่ถึงวันนี้จะอายุ 76 ปีแล้ว (27 พฤศจิกายน 2483) ได้พิสูจน์ความเป็นอมตะ
ยืนยันความเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลทางวัฒนธรรมทั้งในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล ชาวอเมริกันและทั่วโลก
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2542 นิตยสารไทม์ ได้สำรวจซึ่งจัดให้ บรูซ ลี เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษ
ภาพยนตร์ซึ่งเขาแสดงเพียง 4 เรื่อง The Big Boss (1971), Fist of Fury (1972), and Way of the Dragon (1972),
ล้วนสร้างสถิติรายได้ถล่มทลาย เช่นเดียวกับ ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องเดียวของเขา Enter the Dragon (1973)
ก็เป็นหนึ่งในหนังที่ทำกำไรสูงสุด นั่นยังไม่เท่ากับมูลค่าเพิ่มทางวัฒนธรรมมังกรที่เขาปลุกขึ้นในจิตใจคนจีน และการรับรู้ของชาวตะวันตก

ช่วงเวลาการปรากฏของ บรูซ ลี สั้นเพียงระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2514 - 2516) กับภาพยนตร์ 4 เรื่อง (อีกเรื่องที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ)
แต่ความสั้น-ยาวของชีวิตคงไม่สำคัญนัก บรูซ ลี เคยกล่าวไว้ว่า “กุญแจสู่ความเป็นอมตะนั้น แรกสุดคือการใช้ชีวิตให้ควรค่าแก่การจดจำนึกถึง”

ภาพจากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Fist of Fury (1972) หรือในอีกชื่อหนึ่ง "The Chinese Connection" ซึ่งบรูซ ลี
ที่รับบทเป็น เฉินเจิน ปลดป้าย “ขี้โรคเอเชีย” (東亞病夫) ไปคืนให้กับกลุ่มชาวต่างชาติผู้เหยียดหยามข่มเหงกดขี่
(ภาพจาก Fist of Fury, 1972)



ที่มา manager



Create Date : 23 ธันวาคม 2559
Last Update : 23 ธันวาคม 2559 23:35:52 น.
Counter : 1171 Pageviews.

1 comments
  
The piece is superbly written; the material is superb; the distribution map is exquisite. free games
โดย: otegeo (สมาชิกหมายเลข 7618872 ) วันที่: 29 มิถุนายน 2566 เวลา:11:49:09 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend