‘บอกรักก่อนสาย’ คำขวัญสมาคมสามีผู้อุทิศตัว
‘บอกรักก่อนสาย’ คำขวัญสมาคมสามีผู้อุทิศตัว
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2550 14:28 น.

เอเอฟพี – ชายวัยกลางคนกลุ่มหนึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขึ้นโพเดียมชั่วคราวที่ทำจากลังเบียร์ ณ มุมหนึ่งกลางกรุงโตเกียว เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในการประคับประคองชีวิตคู่ของพวกเขาเอง และอาจรวมถึงชีวิตแต่งงานของคนญี่ปุ่นทั่วไป

ในประเทศที่การปกปิดชีวิตส่วนตัวเป็นค่านิยมหลัก ผู้ชายเหล่านี้กลับพยายามพิสูจน์คุณค่าของตัวเองแก่ภรรยา ด้วยการเปิดเผยความในใจและคำมั่นสัญญาต่อหน้าธารกำนัล

“ผมมาที่นี่เพื่อจะบอกว่า ผมจะเลิกไปเที่ยวบาร์ที่มีผู้หญิงนั่งดริงก์ ผมขอโทษ” หนุ่มคนหนึ่งประกาศ โดยมีภรรยายืนเป็นสักขีพยานร่วมกับฝูงชนกลุ่มใหญ่

“ผมรักคุณนะ ถึงผมจะไม่ค่อยได้พูดคำนี้ออกมาเท่าไหร่” หนุ่มอีกคนเอ่ยความในใจ

ผู้ชาย 20 คนที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ปกตินัก ประสานเสียงคำขวัญ “ไม่ต้องลังเลที่จะพูดคำว่า ‘ขอบคุณ’ อย่ากลัวที่จะเอ่ยคำว่า ‘ขอโทษ’ และบอกว่า ‘ผมรักคุณ’ โดยไม่ต้องอาย”

การชุมนุมนี้ริเริ่มโดยชูอิชิ อามาโนะ บรรณาธิการนิตยสารฉบับหนึ่งในเมืองฟูกูโอกะ และผู้ก่อตั้งเนชันแนล ไตชู-กัมปากุ แอสโซซิเอชัน หรือแปลคร่าวๆ ได้ว่า สมาคมสามีผู้อุทิศตัว

อามาโนะก่อตั้งสมาคมขึ้นมาในปี 1999 ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่เขารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาชีวิตแต่งงานที่ยาวนานกว่า 20 ปี ดังนั้น อามาโนะ ในวัย 40 ปลายๆ ในขณะนั้น จึงชักชวนเพื่อนที่ชีวิตคู่ยืนอยู่บนปากเหวเหมือนกัน รวมถึงเพื่อนที่กลายเป็นพ่อม่ายเต็มตัว มารวมตัวกัน

ในปรากฏการณ์สังคมที่ถูกลอกเลียนกลายเป็นละครยอดฮิต ผู้หญิงญี่ปุ่นมากมายเริ่มลุกขึ้นมาฟ้องหย่าสามีหลังจากฝ่ายชายปลดเกษียณ จุดประสงค์คือ เพื่อยุติปัญหาในชีวิตคู่ที่เกิดจากความไม่เอาใจใส่ รวมถึงการทำตัวเป็นคุณชายเวลาอยู่บ้านของฝ่ายสามี

“ผู้ชายมากมายชอบเสี่ยงเรื่องธุรกิจ แต่เวลาอยู่บ้านกลับไม่สนใจอะไรเลย” อามาโนะแจงและว่า “วิธีเก่าๆ ไม่ได้ผลอีกต่อไป และสามีอย่างพวกเราต้องเลิกหลงใหลกับการมีอำนาจเหนือภรรยา เราต้องแสดงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อรักษาชีวิตแต่งงานเอาไว้

“การแต่งงานก็เหมือนไตรกีฬา เป็นการที่เรารักใครสักคนระหว่างการแข่งขัน ชนะหรือแพ้ไม่สำคัญ แต่คุณต้องฝ่าฝันอุปสรรคตลอดเส้นทางเพื่อเข้าสู่เส้นชัย”

อามาโนะพยายามอุทิศตัวเองเพื่อเอาใจภรรยาด้วยการซักผ้า ล้างจาน หรือกระทั่งแกล้งตั้งใจฟังภรรยาคุยทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเลย

จากการพูดคุยกับผู้หญิงมากมาย อามาโนะพบว่า ความปรารถนาสูงสุดของภรรยาคือ การได้ยินสามีเอ่ยสามวลีมหัศจรรย์ ‘ขอบคุณ’ ‘ขอโทษ’ ‘ผมรักคุณ’ บ่อยครั้งขึ้น

เขาอธิบายเทคนิคในการประคับประคองชีวิตคู่ หรือ ‘สไมเลจ’ ว่าสามีต้องหมั่นเอาใจภรรยา เขายอมรับว่า แรกๆ คำพูดของเขาเหมือนลมที่พัดเลยผ่านไป เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขาเป็นเหมือนผู้ชายญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือเลือกที่จะเก็บงำอารมณ์ความรู้สึก

“ภรรยาสงสัยด้วยซ้ำกับความเปลี่ยนแปลงของผม แต่ผ่านไป 2-3 ปี ผมเชื่อว่ารอยยิ้มของเธอกลับคืนมาอีกครั้ง”

สมาคมสามีผู้อุทิศตัวชักชวนสมาชิกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตคู่กลางหมู่คน เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น

เทรุโอะ มานาเบะ วัย 67 ปี ที่เพิ่งเข้าสมาคมได้ไม่นาน หวังว่าจะสามารถรักษา ‘สุนทรียภาพในครอบครัว’ ไว้ได้ เขาบอกว่า ได้เรียนรู้ที่จะชมภรรยาต่อหน้าคนอื่น

“ผมเชื่อว่าคนวัยผมควรเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง”

“เดี๋ยวนี้เขาพูดขอบคุณคล่องปากขึ้น และเริ่มพูดคำว่าขอโทษมากขึ้น แต่ฉันยังไม่ได้ยินเขาบอกรักเลย” ชินโกะ ภรรยาของมานาเบะ พูดยิ้มๆ

ปัจจุบัน การหย่าร้างแพร่หลายมากขึ้นในสังคมอาทิตย์อุทัย แม้สถิติยังต่ำกว่าในประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ก็ตาม ทั้งนี้ การหย่าร้างในกลุ่มประชากรวัยกลางคนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ปี 2002 มีสามี-ภรรยาที่อยู่กินกันมากว่า 20 ปีถึงกว่า 45,000 คู่ชวนกันหย่า หรือ 3 เท่าของเมื่อสามทศวรรษที่แล้ว นอกจากนั้น ยังคาดว่าอัตราการหย่าร้างของชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นต่อไปในจังหวะที่คนรุ่นเบบี้บูมเตรียมตัวปลดเกษียณ

การแก้ไขกฎหมายในปีนี้ให้สิทธิ์ภรรยาที่จะได้รับส่วนแบ่งบำนาญของสามี ขณะนี้ ระบบบำนาญกำลังตกอยู่ภายใต้ความกดดันหนักหน่วง ค่าที่ประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ขณะที่หนุ่มสาวเลือกที่จะชะลอการสร้างครอบครัว

อามาโนะบอกว่า รากของปัญหาคือความจริงที่ว่า ผู้ชายมีอายุมากมายถูกอบรมมาให้เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว รวมทั้งเชื่อว่าภรรยาควรดูแลบ้านโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือโอดครวญใดๆ

อามาโนะเสริมว่า หนุ่มสาวญี่ปุ่นยุคนี้โตมาในโรงเรียนและสภาพแวดล้อมการทำงานที่หญิง-ชายเท่าเทียมกัน กระนั้น เขาบอกว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งรวมถึงอัตราการแต่งงานที่ลดต่ำลง จะไม่เกิดขึ้นหากความเป็นไปภายในบ้านและที่ทำงานยังเหมือนเดิม ที่สำคัญ ผู้ชายควรริเริ่มและผลักดันเรื่องนี้

ปัจจุบัน สมาคมของอามาโนะมีสมาชิก 4,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งน่าทึ่งไม่ใช่เล่นหากนึกถึงสิ่งที่สมาชิกสมาคมปวารนาตัวว่าจะทำ อาทิ ขอโทษภรรยาที่ไม่ได้เปลี่ยนที่นั่งชักโครกต่อหน้าคนมากมาย

สมาชิกทั้งหมดที่มาจากหลากหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ 20 ปีจนถึง 60 ปี ไม่มีใครต้องหย่า แต่เรียนรู้ที่จะอยู่รอดและเอาชนะปัญหาที่มีตั้งแต่การพูดจากันไม่รู้เรื่อง ไปจนถึงการทะเลาะกันต่อหน้าลูก การห่างเหินเรื่องบนเตียง และการนอกใจ

กลุ่มสามีผู้อุทิศตัวร่วมกันกำหนดคุณสมบัติ 10 ระดับในการเป็นสามีที่ดี ระดับแรกคือ สามีต้องเชื่อว่าตนยังรักภรรยาอยู่

อามาโนะยอมรับว่า แม้จะเป็นผู้ริเริ่ม แต่เขาเพิ่งไปถึงระดับ 5 คือการเดินจูงมือภรรยาในทุกๆ ที่

กระนั้น เขายืนยันว่ากำลังพยายามพัฒนาตัวเองให้ไปถึงระดับ 10 คือ ไม่ต้องอายที่จะเอ่ยคำว่า ‘ผมรักคุณ’



Create Date : 11 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2550 21:44:41 น.
Counter : 791 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend