"พระเจ้า"ของซิกมุนด์ ฟรอยด์
"พระเจ้า"ของซิกมุนด์ ฟรอยด์

ที่มา : นสพ. มติชน ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2547

คอลัมน์ หน้าต่างความจริง

โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งวิชาจิตวิเคราะห์" (Psycho-analysis) ได้เสนอแนวคิดในเรื่องการกำเนิดของ "พระเจ้า" (God) ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ฟรอยด์สนใจว่าเพราะเหตุใด ผู้คนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ จึงเชื่อในเรื่องพระเจ้า ทั้งๆ ที่พระเจ้าเป็นเพียงแนวคิด ในเชิงนามธรรมเท่านั้น หลังจากที่เฝ้าศึกษาอยู่นานหลายปี ในที่สุดฟรอยด์ก็อธิบายได้สำเร็จ และกลายเป็นทฤษฎีหนึ่ง ที่มีความสำคัญยิ่งในเรื่องของศาสนากับจิตวิเคราะห์

ฟรอยด์ซึ่งเป็นนักคิดในโลกตะวันตกมองว่า ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ธรรมชาติภายนอกเป็นภัยคุกคามของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอากาศที่หนาวจัด สิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย โรคภัยไข้เจ็บที่คร่าชีวิตมนุษย์ครั้งละเป็นจำนวนมาก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เหล่านี้เป็นต้น มนุษย์จึงได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อปกป้องมนุษย์ให้พ้น จากภัยคุกคามของธรรมชาติ ครั้นเมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม และสร้างวัฒนธรรมเมืองขึ้นแล้ว มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับภัยที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ด้วยกันเองอีก ไม่ว่าจะเป็นสงคราม การกดขี่เบียดเบียนกัน ความอิจฉาริษยา การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน เป็นต้น มนุษย์จึงต้องสร้างกฎกติกาทางสังคมขึ้นมา

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความต้องการทางร่างกาย หรือสัญชาตญาณตามธรรมชาติ เช่น มนุษย์ต้องการอาหาร การนอนหลับ การขับถ่าย และการสืบพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งฟรอยด์เรียกว่า "อิด" (id) เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม และต่างคนต่างก็ทำตามสัญชาตญาณแห่งความ ต้องการทางร่างกายของตน ความสับสนอลหม่านจึงเกิดขึ้น มนุษย์จึงได้สร้างกฎระเบียบหรือ "กติกา" ทางสังคมขึ้น เช่น ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศีลธรรม ศาสนา และกฎหมาย เป็นต้น โดยต่างฝ่ายต่างยินยอมจำกัดความต้องการตามสัญชาติญาณของตนเองลง ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขของสังคม แต่ขณะเดียวกันก็เพื่อความสงบสุขของตนเองด้วย ฟรอยด์เรียก "กฎระเบียบหรือกติกาทางสังคม" นี้ว่า "ซูเปอร์อีโก้" (super-ego) ตามทรรศนะของฟรอยด์ มนุษย์แต่ละคนจะประนีประนอมระหว่าง "อิด" กับ "ซูเปอร์อีโก้" ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน กลายเป็นบุคคลิกภาพหรือความเป็น "ตัวตน" ของคนๆ นั้นขึ้นมา ซึ่งฟรอยด์เรียกว่า "อีโก้" (ego)

ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ มนุษย์รับรู้โลกภายนอกโดยผ่าน "จิตสำนึก" (conscious mind) ตั้งแต่เด็กประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในจิตสำนึกของมนุษย์ ในที่สุดแล้วมิได้หายไปไหน แต่กลับถูกเก็บไว้ในก้นบึ้งของจิตใจที่เรียกว่า "จิตใต้สำนึก" (subconscious mind) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่มีผลกระทบกับเราอย่างรุนแรง ไม่ว่าทางดีหรือทางร้าย จะฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกยาวนานเป็นพิเศษ

ฟรอยด์วิเคราะห์ว่า ในวัยเด็กเล็กเมื่อเราเกิดความตกใจกลัวไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เราจะวิ่งเข้าไปกอดพ่อ เรียกร้องหาพ่อ (ส่วนแม่นั้นเราจะร้องหาก็ต่อเมื่อเราต้องการความรักความอบอุ่น เช่น เวลาจะกินนม หรือจะให้กล่อมนอน เป็นต้น) เพราะพ่อคือที่พึ่งที่สูงสุดของเด็ก ในวัยเด็กเรามีความรู้สึกว่า พ่อเป็นบุคคลที่เข้มแข็งที่สุดที่สามารถปกป้องคุ้มครองภัยทุกอย่างแก่เราได้ (omnipotent) พ่อเป็นบุคคลที่รอบรู้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเราสงสัยอะไรหรือถามอะไร พ่อจะตอบได้ทุกอย่าง (omniscient) พ่ออยู่กับเรา (หรืออยู่ฝ่ายข้างเรา) ตลอดเวลา เราสามารถเรียกหาพ่อได้ในทุกโอกาส และทุกเวลา (omnipresent) และพ่อก็จะอยู่กับเราตลอดไป แม้ว่าบางครั้งพ่ออาจจะดุเราบ้างทำโทษเราบ้าง แต่พ่อก็มีความรักความเมตตาต่อเรา เราจึงมีความรู้สึกทั้งรักทั้งเคารพทั้งยำเกรงต่อพ่อ ความรู้สึกเช่นนี้ได้ฝังอยู่ใน "จิตใต้สำนึก" ของเด็กทารกหรือเด็กเล็ก ซึ่งฟรอยด์เรียกว่า "ปมแห่งความต้องการพ่อ" (Father Complex)

ครั้นเมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราก็ค้นพบ (ด้วยความเจ็บปวด) ว่า ในความเป็นจริงแล้วพ่อของเราไม่ได้ยิ่งใหญ่อย่างที่เราคิดในตอนที่เราเป็นเด็กเล็ก พ่อนั้นมีข้อจำกัดอย่างมากในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง พ่อไม่ได้มีอำนาจในทุกเรื่องอย่างที่เราคิด พ่อมีความรู้ที่จำกัด และพ่อก็ไม่สามารถอยู่เคียงข้างกับเราได้ตลอดเวลา แม้ว่าพ่อจะยังมีความรักความเมตตาต่อเราอยู่ก็ตาม และเหนือสิ่งอื่นใดพ่อนั้นมิได้เป็นอมตะ

ในวัยผู้ใหญ่เราอยู่ในสังคมที่สลับซับซ้อน ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องของหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว เราเรียกร้องหาพ่อ แต่พ่อก็ไม่อาจตอบสนองต่อเราได้อีก ด้วยข้อจำกัดโดยประการทั้งปวงดังที่กล่าว และอีกไม่นานพ่อก็จะตายจากเราไป เราจะรู้สึกว้าเหว่เปล่าเปลี่ยว

ฟรอยด์วิเคราะห์ว่า เมื่อพ่อที่เป็นจริงไม่อาจเป็นที่พึ่งแก่เราได้อีก แต่ "ปมแห่งความต้องการพ่อ" ยังฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ มนุษย์จึงไขว่คว้าเรียกร้องหา "พ่อที่ยิ่งใหญ่" พ่อซึ่งมีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อซึ่งมีความรอบรู้ในทุกเรื่อง พ่อซึ่งจะอยู่กับเราในทุกหนทุกแห่ง พ่อซึ่งมีความรักความเมตตาอันยิ่งใหญ่ พ่อซึ่งเป็นอมตะและจะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ตลอดไป มนุษย์จึงได้สร้าง "พระเจ้า" (God) ในฐานะ "พ่อที่ยิ่งใหญ่" (Father) ขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อ "ปมแห่งความต้องการพ่อ" ในส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ "พระเจ้า" จึงสะท้อนออกมาจากความสัมพันธ์ในส่วนลึกของจิตใจของลูกที่มีต่อพ่อ ศาสนาจึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในจิตใจของมนุษย์



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2550 23:53:52 น.
Counter : 941 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

iamZEON
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 111 คน [?]



ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ^^/

ข่าวสารการ์ตูนญี่ปุ่น
กับเกี่ยวข้องอย่างภาพยนตร์-เพลง
รายชื่อการ์ตูนออกใหม่-งานหนังสือ
เรื่องทั่วๆไปทั้งในและนอกประเทศก็มีบ้าง
New Comments
Group Blog
All Blog
MY VIP Friend