Douro Valley แม่น้ำ ขุนเขา และพอร์ตไวน์ II
วันที่สองของทริปนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พวกเราโชคดีที่ฟ้าเปิดในช่วงเช้า พอจะมีแสงได้เก็บรูปสวยเป็นที่ระลึก


ช่วงหลังพวกเรามีโอกาสเห็นสิ่งสวยๆ ใหม่ๆ จนรู้สึกว่ากล้อง nikon แบบพกพา รึกล้องจากมือถือเริ่มไม่ดีพอ อยากได้กล้องใหญ่ๆ เลนส์ดีๆ แต่พอเขียนลงรายการที่จำเป็นต้องซื้อ และไม่จำเป็นแต่อยากซื้อทั้งหมดแล้วจิตตก สงสัยคงถึงโอกาสกลับไปทำงานหาเงินกันอีกซักพักใหญ่


พอได้เห็นบรรยากาศเก็บองุ่น ไอบินหลาอยากไปลองทำดูมั่ง แต่โดนสะกิดเตือนประมาณว่า ดูอยู่ห่างๆ อ่ะดีแล้ว อย่าไปทำให้เขาเสียผลิตผลมากไปกว่าเลย  




ดูเหมือนเวลาที่หุบเขาดูโรจะผ่านไปเร็วกว่าที่ในทะเล  ค่ำวันนั้นเรานั่งรวมโต๊ะกินข้าวกับนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนอารมณ์ดีกลุ่มใหญ่กว่าสิบคนที่มีเพื่อนชาวโปรตุเกสเป็นไกด์กิติมศักดิ์ให้  พวกเขาทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นกลุ่มเพื่อนบ้านที่ยกทีมกันมาทัวร์ดูโร  บรรยากาศจึงสนุกสนาน ครื้นเครงกว่าเมื่อคืนวาน 


ส่วนคนนอกอย่างพี่พีกับนักไวโอลีนชาวเยอรมันก็เริ่มคุยกันถูกคอมากขึ้น



หลังอาหารค่ำ คาร์ลอสพาพวกเราไปชมห้องเก็บไวน์ของที่นี่พร้อมเล่าความเป็นมาของธุรกิจและครอบครัวสู้ชีวิตที่ต้องหนีสงครามไปตั้งถิ่นฐานทำไร่นุ่นในทวีปอัฟริกาเมื่อตอนที่เขายังเด็ก และต้องย้ายกลับมาอยู่โปรตุเกสอีกครั้งช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศแองโกล่าเมื่อปี คศ.1975 พ่อกับพี่ชายของพ่อได้รวมเงินกันซื้อที่ดินบน  Quinta Santo António  เพื่อเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้ง




ความยากลำบากของเกษตรกรรายย่อยของที่นี่ไม่ต่างจากเมืองไทยที่ถูกเอาเปรียบไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่  ผลผลิตองุ่นที่ได้ในแต่ละปีถูกจำกัดโควต้าจากสมาคมผู้ค้าไวน์ว่าสามารถนำไปผลิตไวน์เพื่อจำหน่ายได้เท่าไหร่ ส่วนที่เหลือชาวไร่จำเป็นต้องขายให้กับผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งเขาจะบอกราคากันในช่วงปลายปี คาร์ลอสเคยทำงานให้ Sandeman มาก่อนที่จะลาออกมาช่วยธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว เขาจึงเข้าใจธุรกิจนี้ในภาพรวมได้เป็นอย่างดี


คาร์ลอสเปรยกับพวกเราว่ายิ่งกว่าถูกปล้น ชาวไร่ลงทุน ลงแรงทำกันทั้งปีขายองุ่นไปแล้วก็ต้องรอจนถึงปลายปีจึงจะรู้ว่าได้ราคาเท่าไหร่ เทียบกันแล้วชาวนาไทยก็ยังโชคดีที่สามารถเก็บผลผลิตไว้ได้นานกว่าและมีประกันราคาข้าวให้อุ่นใจ



ช่วงท้ายคาร์ลอสให้พวกเราลิ้มลองพอร์ตไวน์คอลเล็คชั่นพิเศษที่บ่มไว้นานถึง35 ปีจากถึงไม้โอ๊ค พร้อมบอกว่าพอร์ตไวน์ผลิตไม่ยาก เพียงนำไวน์มาบ่มกับบรั่นดี  ชาวไร่องุ่นแถบนี้ทำกันเกือบทุกรายแต่ไม่สามารถวางขายในท้องตลาดได้เพราะถูกควบคุมโดยสมาคมฯ



พี่พีติดใจรสชาติของพอร์ตไวน์ที่นี่จึงขอแบ่งซื้อใต้โต๊ะจากคาร์ลอสในวันรุ่งขึ้น ราคาขวดละ 40 ยูโร  พี่พียิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ทำท่าดีใจเหมือนได้เปล่าเพราะรู้ว่าราคาในท้องตลาดแพงและหาซื้อได้ยาก


วันสุดท้ายของทริปนี้ พวกเราติดรถชาวสวีเดนไปสถานีรถไฟเพื่อนั่งรถไฟต่อไปยัง Pocinho สถานีปลายทางเพื่อนใหม่ชาวสวีเดนก็เดินทางไปกับรถไฟขบวนนี้ หัวหน้าทัวร์ (จำเป็น)บอกว่าจาก Pinhoa ขึ้นไปเป็นเส้นทางพิเศษ รถไฟใช้เวลาวิ่งกว่าชั่วโมงเลียบแม่น้ำดูโร ลัดเลาะริมเขาวันนั้นมีฝนตกพรำๆ ได้บรรยากาศน่าประทับใจอีกแบบ




ถึงสถานีปลายทาง Pocinho เพื่อนใหม่ใจดีชาวสวีเดนก็นั่งดื่มไวน์รอเวลารถ หลังจากร่ำลากันเรียบร้อยไอบินหลากับพี่พีก็เดินดูรอบๆ สถานี


พอได้เวลาพวกเรานั่งรถขบวนเดิมกลับเมืองปอร์โต ขากลับฝนตกพรำๆ  แต่หมอกฝนที่ปกคลุมภูเขาด้านบนทำให้ที่นี่สวย โรแมนติกไปอีกแบบ











ขากลับรถไฟวิ่งผ่าน  Quinta de Santo António ไอบินรีบคว้ากล้องเก็บภาพหน้าต่างห้องพักเล็กๆทางซ้ายมือ เป็นความทรงจำกลับบ้าน




จากสถานี Pocinho - Porto ปกติรถไฟใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ วันนั้นเหมือนถูกหวย รถจิ๊ปวิ่งตัดหน้ารถไฟยังไงไม่รู้ โดนชนเสียยุบ กว่าจะลากรถเคลียร์ทางได้ก็กินเวลานาน ทั้งๆ ไม่ไกลจากตัวเมืองปอร์โตเท่าไหร่นัก  ไอบินหลาเลยได้นั่งรถไฟนานขึ้น ฟรี! ไม่เพิ่มค่าธรรมเนียม :D








เสียดายที่ไอบินหลาไม่มีโอกาสเดินทางต่อไปยังเมืองอื่นๆในหุบเขาดูโร เช่น Matues, Lamego, Vila Real เพราะติดภารกิจครอบครัว แอบหวังลึกๆในใจว่าสักวันคงได้กลับมาเที่ยวที่นี่อีกสักครั้ง 


ประเทศสเปนและโปรตุเกสยังมีที่ท่องเที่ยวสวยๆ อีกหลายแห่ง ไอบินหลาจะพยายามทยอยเขียนไปเรื่อยๆ  ค่ะ




Create Date : 25 ตุลาคม 2555
Last Update : 25 ตุลาคม 2555 6:50:33 น.
Counter : 2064 Pageviews.

0 comment
นั่งรถไฟเที่ยว Douro Valley ชมแม่น้ำ ขุนเขา หนึ่งในมรดกโลก I


ขอเปิดตัวตอนนี้ด้วยวีดีโอจากยูทูปที่ไอบินหลาเคยเปิดดูตอนหาข้อมูลเดินทางทริปนี้ ยืนยันได้ว่าถ้าใครไปเที่ยวแล้วจะประทับใจมากกว่านั่งดูจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นไหนๆ ....ส่วนเสียงเพลงคงต้องพกพาหาฟังกันเองตอนนั่งรถไฟ


ไอบินหลาได้ยินชื่อความสวยงามของแม่น้ำดูโรจากกลุ่มนักเดินเรือสินค้าในของยุโรปหรือ inland ship มานานแล้ว และอยากไปเยี่ยมเยียนดูสักครั้ง


ที่นี่เพิ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเท่ียวเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว และเพิ่งบูมในช่วง2-3 ปีนี้เอง



แม่น้ำดูโรมีต้นกำเนิดทางตอนเหนือของประเทศสเปน เลาะเลี้ยวผ่านขุนเขาน้อยใหญ่เรื่อยมา และไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกใกล้เมืองปอร์โต หรือ Oporto ประเทศโปรตุเกส แม่น้ำสายนี้นำความอุดมสมบูรณ์ให้กับหุบเขาดูโรและเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับพืชเศรษฐกิจของที่นี่มาหลายร้อยปีทั้งไร่องุ่น สวนผลไม้และโอลีฟ ถึงแม้ที่นี่จะมีอุณหภูมิค่อนข้างสูงในช่วงฤดูร้อนแต่ก็เย็นสบายด้วยไอเย็นจากลำน้ำน้อยใหญ่ ด้วยความลงตัวของธรรมชาติ บวกกับไร่องุ่นหรือที่เรียกกันว่า quintas เรียงรายบนขุนเขา ทำให้ภูมิทัศน์แถบนี้มีมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวและขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกับทางยูเนสโก



หลังสเปนเลิกการค้าขายไวน์กับประเทศอังกฤษที่นี่กลายเป็นแหล่งไวน์สำคัญ โดยเฉพาะพอร์ตไวน์ (Port) ซึ่งเป็นไวน์ที่บ่มกับบรั่นดีที่รู้จักกันดีของนักดื่มทั่วโลกหลากหลายยี่ห้อเช่น Sandeman, Taylor’s, Croft และ Cálem นอกจากยังมีไวน์เขียวหรือ vinho verdre ที่มีรสซ่า หวาน หอม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว


หนนี้เราไม่สามารถนำอาซาเลล่องแม่น้ำดูโรไปได้ไกลนักเพราะสะพานติดหลายแห่งมีความสูงไม่พอ จึงต้องหาข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนั่งเรือนำเที่ยวจากเมืองปอร์โต (Porto)ล่องทวนลำน้ำขึ้นไปยังเมือง Regaue ซึ่งมีบริการอยู่เจ้ามีทั้งประเภทไปเรือ-กลับรถไฟ ไปรถไฟ-กลับเรือในวันเดียวหากมีเวลาและงบประมาณมากหน่อยก็มีทริปเจาะลึกดูโร ล่องเรือแบบ 3 - 7 - 10วันก็ว่ากันไป



รถไฟเป็นทางเลือกที่ราคาไม่แพงสำหรับนักท่องเที่ยว จากเมืองปอร์โตมีรถไฟท้องถิ่นบริการวันละหลายเที่ยวตลอดสายใช้เวลาประมาณสามชั่วโมงกว่าๆ ถ้าตื่นเช้าสักนิดก็นั่งแบบไปกลับได้สบายวันเสาร์-อาทิตย์มีรถไฟไอน้ำบริการนักท่องเที่ยว อ่านจากโบรชัวร์แล้วน่าสนใจย้อนบรรยากาศเก่าๆ ดื่มไวน์ ฟังดนตรีท้องถิ่นพอไปถามที่สถานีรถไฟก็ได้คำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า “จ่ายแพงกว่าทำไมนั่งรถไฟธรรมดาไปก็ได้ รถวิ่งเส้นทางเดียวกัน” อ่าาาาาาา เอางั้นก็ได้


ขอออกตัวก่อนว่าไอบินหลามัวแต่ยุ่งอยู่กับการเดินเรือจนแทบไม่ได้เตรียมข้อมูลท่องเที่ยวโปรตุเกสเลย เที่ยวกันแบบสุกเอาเผากิน



ไอบินหลาพอรู้มาบ้างว่าไฮไลต์ความงามของหุบเขาดูโรนี้เริ่มจากเมืองPinhão ซึ่งอยู่ไกลโขจากเมือง Regau ที่เขามีเรือท่องเที่ยวบริการกันอยู่ทั่วไป รถไฟดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจากตารางเดินรถเราคงต้องออกกันแต่เช้าตรู่เพื่อให้ทันรถไฟแบบไป-กลับ  พอดีช่วงนั้นคลื่นลมแรง ท่าเรือ "ดูโร มารีน่า" ที่บริเวณปากแม่น้ำดูโรไม่มีแนวกำบังลมและกระแสน้ำสักเท่าไหร่เรือที่จอดอยู่ที่นั่นจึงได้รับผลกระทบ พี่พีของเราเริ่มเกิดอาการเมาเรือ … เห็นแล้วน่าสงสาร ไอบินหลาจึงติดต่อหาที่พักบรรยากาศดีๆกะว่านอนบนฝั่งสัก 2-3 คืนจนลมฝนสงบ


แต่พอเปิดเน็ตเห็นราคาแล้วเหงื่อตก คืนละ 120 – 250 ยูโร แถมยังตั้งอยู่กันไกลๆ ไม่สะดวกหากไม่ขับรถไปเอง ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของไร่องุ่น แหล่งผลิตไวน์ที่เปิดห้องพักและมีแขกประจำส่วนที่พักถูกๆ ก็พอหาได้แต่อยู่ในเมือง ใกล้สถานีรถไฟเช่น Regau หรือ Pinhão จนในที่สุดก็ลงตัวที่ Quinta de Santo António




รถไฟท้องถิ่นของโปรตุเกสอาจไม่ดูหรูหราเหมือนสเปนแต่ก็ถือว่าสะอาด บริการดี ราคาไม่แพง เราเลือกนั่งฝั่งขวาของขบวนรถ เพื่อจะได้เห็นวิวแม่น้ำและภูเขาได้ชัดเจนรถไฟแล่นจากสถานี  SãoBento ในเมืองปอร์โตกันประมาณ 10 โมงเช้า ผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่น มีนักท่องเที่ยวบ้างแต่ไม่มากนัก


ช่วง 40 นาทีแรกบรรยากาศเหมือนนั่งรถไฟสายใต้ช่วงจากศาลายา-กรุงเทพฯ จนไอบินหลาหน้าเสีย แต่สักพักก็เริ่มใจชื้นเมื่อเห็นทิวเขาชัดขึ้น บ้านคนน้อยลง




ถึงสถานี Regauเราต้องลงไปรอที่สถานีประมาณครึ่งชั่วโมงและขึ้นรถไฟขบวนเดิมไปลงสถานี Pinhão คราวนี้ได้เห็นวิวสวยของจริงรถไฟแล่น ลัดเลาะขนานกับแม่น้ำถัดจากแม่น้ำก็เป็นภูเขา ทิวเขา มีแนวต้นองุ่นปลูกวางแบบไว้สวยแปลกตาภูเขาบางช่วงยังเป็นคงสภาพความสวยงามแบบธรรมชาติ



จากสถานี Pinhão เรานั่งรถแท็กซี่ข้ามแม่น้ำ ขึ้นเขาไปอีกประมาณ15 นาทีก็ถึงที่พัก แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะถูกฟันค่ารถหัวแบะ เพราะเขามีแท็กซี่มิเตอร์บริการ


Quinta de Santo António เป็นไร่องุ่นและโรงผลิตไวน์เล็กๆมีห้องพักเพียง 9 ห้องเท่านั้น คาร์ลอสและภรรยาเป็นคนดูแลกิจการทั้งโรงแรมไร่องุ่น และโรงผลิตไวน์ คาร์ลอสบอกว่า ปีนี้มีแขกมาพักมากจนไม่มีเวลาทำไวน์ต้องขายองุ่นให้โรงผลิตไวน์รายใหญ่ และฝากบอกว่าหากใครจะมาพักที่นี่ก็ติดต่อเขาได้โดยตรงดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมที่//www.quintasantoantonio.pt/eng/




โชคดีเราได้ห้องพักด้านหน้าของโรงแรมเห็นวิวแม่น้ำและแนวเขาทอดยาวสุดลูกหูลูกตา เราได้ห้องพักวันอาทิตย์ - อังคารเพียง2 คืนเท่านั้น เดือนสิงหาคม - กันยายนนักท่องเที่ยวแถบสแกนดิเนเวียนจะมาพักที่นี่กันเยอะ เพราะเป็นช่วงเก็บองุ่นและอากาศเย็นสบายกำลังดี


รูปห้องพักจากเว็บไซต์ของโรงแรม


อาหารค่ำมื้อแรกที่นี่เป็นประสบการณ์พิเศษของพี่พีและไอบินหลากินข้าวร่วมโต๊ะกับแขกคนอื่นๆ อีก 9 คน ตอนแรกไอบินหลาแอบกลัวว่าอาหารจะกร่อยเพราะพี่พีขี้อาย ถามคำ-ตอบคำแต่โชคดีที่คาร์ลอสเป็นเจ้าบ้านที่ดี จัดที่นั่งให้แขกต่างชาติ ต่างภาษาต่างคนต่างมาได้อย่างลงตัว อาหารค่ำอร่อย ไม่กร่อย ไม่เคอะเขิน


แขกของที่นี่ส่วนใหญ่เช่ารถขับกันมาเอง มีจุดชมวิวสวยๆขึ้นชื่อหลายจุด และออกเดินทางกันต่อในวันรุ่งขึ้น มีเพียงไอบินหลา พี่พีและนักไวโอลินชาวเยอรมันอีกคนที่อยู่ต่อเขาบอกว่าเขามาที่นี่เป็นครั้งที่สาม แต่ละครั้งจะอยู่ยาวเป็นอาทิตย์พักผ่อนทำโน่น นี่ นั่นในไร่ไปเรื่อยแถมยังชวนพวกเราตื่นเช้าไปช่วยคนงานเก็บองุ่นอีกต่างหาก




งานนี้พี่พีบอกไม่ไหว ขอพักสบายๆ ดีกว่าช่วงบ่ายไอบินหลาเดินเก็บองุ่นใส่ท้องไปเรื่อย เห็นด้านบนของภูเขาเห็นคนงานกลุ่มนึงกำลังช่วยกันเก็บองุ่นอยู่เลยเดินไปดูไม่ได้ไปกำลังใจ แต่ตั้งใจไปเก็บองุ่นกินเพราะคิดว่าแถวนั้นคงมีองุ่นพวงโตสุกหวานได้ที่ให้ชิมกัน




นอกจากองุ่นที่เป็นพืชเศรษฐกิจแล้วทางไร่ยังเว้นเนื้อที่ด้านหลังของที่พักไว้ปลูกผลไม้อื่นๆ พวกทับทิม ส้ม แอปเปิ้ลเชอรี่บ้างเล็กน้อย เป็นเกษตรพอเพียง เลี้ยงเป็ด ไก่ มีพืชผักสวนครัวอย่าง เลม่อน กะหล่ำปลีแม้แต่พริกขี้หนูที่ไอบินหลาเห็นแล้วตาโตจนต้องไปขอเจ้าของสวนเก็บพริกกลับบ้าน



ที่นี่มีกิจกรรมให้ทำมากมาย ทั้งในไร่ ขับรถเที่ยวรอบๆ หรือนั่งเรือโบราณที่เขาเคยใช้บรรทุกไวน์ แต่วันนั้นไอบินหลาไม่ได้ไปเที่ยวไหนไกล แค่นั่งอ่านหนังสือ เดินเที่ยว ซึมซับบรรยากาศบริเวณรอบๆ ที่พักก็สุขใจเกินพอ





Create Date : 25 ตุลาคม 2555
Last Update : 25 ตุลาคม 2555 5:28:08 น.
Counter : 2958 Pageviews.

2 comment
ซานดิอาโก เดอ คอมโพสเตลา จุดหมายของนักแสวงบุญ บนเส้นทางวัฒนธรรมแห่งยุโรป



หลังจากเริ่มฟื้นต้วจากความเหนื่อยล้าในการเดินทางข้ามอ่าวบิสไคย์ พวกเราตกลงเปลี่ยนแผนมาเจาะลึกเสเปน+โปรตุเกสในช่วงหน้าหนาวแทนการข้ามแอนแลนติกไปหมู่เกาะคานาริส  ไอบินหลาจึงต้องเริ่มหาข้อมูลของสองประเทศนี้โดยด่วน


เริ่มต้นด้วยการซื้อหนังสือออนไลน์ที่แสนแพงจาก amazon …. จริงๆราคาจะไม่่แพงขนาดนี้หากพวกเราเตรียมสั่งซื้อกันล่วงหน้าถึงจะเสียค่าส่งแพงไปสักนิดแต่ก็ยังดีกว่าเสียเวลาเดินหาหนังสือภาษาอังกฤษในสเปน


สุดท้ายลงตัวที่หนังสือจากสองค่ายคือ Rough Guide และ Michelin, the Green Guide(Michelin ปกสีเขียวสำหรับแนะนำที่ท่องเที่ยวส่วนเล่มแนะนำร้านอาหารที่รู้จักกันดีจะเป็นปกสีแดง) ประเดิมด้วยทริปนี้เป็นทริปแรก ซึ่งถือว่าคุ้มค่าทีเดียว ทางมารีน่าคำแนะนำให้เราเช่ารถขับไปเองแต่พวกเราพบว่าการเดินทางโดยรถไฟจากเมือง A Coruña ที่พวกเราจอดเรืออยู่สะดวกรวดเร็วและราคาถูกกว่ากันมาก ไป-กลับไม่เกิน 14 ยูโรต่อคน





เมื่อถึงสถานีรถไฟยิ่งประหลาดใจกับความสะอาดของตัวสถานีและความไฮเทคของรถไฟที่แตกต่างจากหลายประเทศในยุโรป ไอบินหลายกให้เป็นอันดับหนึ่งทั้งราคาและบริการดีกว่า Thalys และ EuroStar รถไฟทำความเร็วเฉลี่ย 157 กม./ชม. ใช้เวลาเพียง 35นาทีก็ถึงเมือง Santiago de Compostela




ในยุคกลางเมืองซานดิอาโก เดอ คอมโพสเตลา เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ของชาวคริสเตียนมากกว่าพันปี ที่นี่เคยเป็นจุดดึงดูดนักแสวงบุญทั่วทวีปยุโรปเดินเท้าจาริกแสวงบุญจากเมืองที่อยู่อาศัยของตนเองผ่านดินแดนที่แห้งแล้ง กันดารเพื่อพิสูจน์เจตนาที่บริสุทธิ์และความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า



เส้นทางจาริกแสวงบุญนี้ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Way of St. James) นับเป็นเส้นทางหนึ่งในสามที่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณอย่างยิ่งยวดของชาวแคธอลิกรองจาก เส้นทางฟรันชิเจนาไปยังกรุงโรม และเส้นทางไปยังกรุงเยรุซาเล็ม อันเป็นที่สุดของนักแสวงบุญชาวคริสเตียน



ปัจจุบันเส้นทางจาริกบุญแห่งนี้กลับมาเป็นที่นิยมของนักแสวงบุญและนักเดินทางอีกครั้ง  ปีที่แล้วพ่อแม่สามีของไอบินหลาก็ใช้เวลาประมาณ 40 วันเดินเท้าจากประเทศฝรั่งเศสมายังเมืองซานติอาโก้ เดอ คอมโพสเตลาแห่งนี้เช่นกันทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นชาวแคธอลิกอีกแล้ว  แม่สามีบอกว่าเป็นเส้นทางท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศาสนาที่น่าจดจำ  ระหว่างทางพวกเขาได้รับการต้อนรับที่ดีจากชาวบ้าน  ในแต่ละเมืองและหมู่บ้านจะมีที่พัก+อาหารราคาพิเศษสำหรับนักแสวงบุญตลอดเส้นทางจนมาถึงเมืองซานติอาโก้ เดอ คอมโพสเตลา




เมื่อนักแสวงบุญต้องเดินทางตามเส้นทางและระยะทางที่กำหนดจะได้รับหนังสือรับรอง ประทับตราสำคัญ ที่สามารถใช้ลดค่าห้องพัก อาหารแม้กระทั่งค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในเมือง ทุกวันนี้นักแสวงบุญสิบคนแรกของแต่ละวันจะได้รับอาหาร 3 มื้อจาก Parado Hotel ReyesCatolicos โรงแรมสุดหรูของเมืองที่ไอบินหลาจ่ายเงินค่าอาหารค่ำไปกว่า 100 ยูโร


....มาว่ากันต่อกับการเดินทางแบบสมัยใหม่ของไอบินหลากันต่อ จากสถานีรถไฟใช้เวลาเดินประมาณ10 นาทีก็ถึงวิหารศักดิ์สิทธิ์อันเลื่องชื่อของนิกายแคธอลิกที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งนักแสวงบุญ นักท่องเที่ยวและนักเดินทางทุกระดับชั้น



วิหารสร้างขึ้นประมาณศตวรรณที่ 11 – 13 ด้านนอกของวิหารเป็นสถาปัตยกรรมบาร็อค จากลาน Plaza del Obradoiro จะเห็นความสูงใหญ่ อลังการของวิหารได้ชัดเจน  เมื่อจินตนาการถึงนักแสวงบุญสมัยพันกว่าปีที่แล้วก็พอนึกภาพออกว่าพวกเขาจะอัศจรรย์ใจมากแค่ไหนที่ได้เห็นภาพนี้  หลังจากที่ต้องเดินเท้าฝ่าความร้อน ความหนาวและความยากลำบากเมาเป็นแรมเดือน


















ด้านในของวิหารอาจไม่ได้อลังการเท่าด้านนอก แต่จุดไฮไลท์ของที่นี่คือการเดินชมหลังคาวิหารพร้อมไกด์ที่ควรไปลงชื่อรอไว้ก่อนเที่ยงเพราะเขาจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน และที่พลาดไม่ได้อีกแห่งนึงก็คือพิพิธภัณฑ์ของวิหาร

งานศิลปะภายในวิหารและที่แสดงในพิพิธภัณฑ์หลายชิ้นเป็นการต่อยอดผลงานของศิลปินเลื่องชื่อชาวสเปน Francisco de Goya และ Peter Paul Rubens ศิลปินชื่อดังชาวเฟลมิช







ในเขตเมืองเก่ายังมีจตุรัสโบสถ์และอาคารสวยงามให้ชมตลอดเส้นทางตามแผนที่เช่น Praza da Quintana, Praza dasPraterias, San Martino Pinario บนถนนทุกสายที่ทอดสู่ตัววิหารมีที่พัก ร้านอาหารและร้านขายของสำหรับนักท่องเที่ยว  มีศิลปิน นักร้อง และปาหี่แสดงบนถนนสำคัญบางคณะเช่น นักร้องดูโอ้ เซโฟร่า ที่ทรงพลังสามารถตรึงผู้ชม (รวมทั้งไอบินหลา) ได้นานเป็นชั่วโมง


วิวจากห้องพักใน Hotel Pazos Alba

วิวจากห้องพัก Hotel Pazos Alba 


คืนนั้นพวกเราพักกันที่ Hotel Pazos Alba ที่ปีเตอร์บอกว่าหน้าตาเจ้าของโรงแรมละม้ายคล้ายกับJude Law นักแสดงในดวงใจของไอบินหลา โรงแรมทำเลดี เดินลงบันไดจาก Praza do Obradorio ไม่เกิน 300 เมตรอากาศดี เงียบสงบ จากห้องพักเห็นวิวสวยของวิหาร ราคา 55 ยูโรต่อคืน ด้านหน้าของโรงแรมเป็นสวน Alameda ซึ่งไม่ควรพลาด นอกจากความร่มรื่นของต้นไม้เก่าแก่แล้วในสวนมีจุดชมวิวของวิหารที่นักท่องเที่ยวชาวสเปนนิยมไปถ่ายรูปกัน


สำหรับคนที่ชื่นชอบอาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา octopus หรือ Pulpo อาหารพื้นเมืองขึ้นชื่อของ Galicia ไอบินหลาแนะนำให้ไปที่ตลาดสดในช่วงก่อนบ่ายสองโมง มีร้านอาหารคล้ายๆ ร้านโต้รุ่งบ้านเราลวกขายกันสดๆ กินแกล้มกับไวน์ขาวเย็นๆ แสนชื่นใจ






ที่ออฟฟิศของท่องเที่ยวไม่ไกลจากตัววิหารมีแผนที่และเส้นทางเดินชมเมืองไว้บริการฟรี และมีไกด์ภาษาอังกฤษนำชมเมืองบริการทุกวันศุกร์/เสาร์/อาทิตย์ ใครมีเวลาน้อยก็มีรถไฟทัวร์ไว้บริการ บนเว็บไซต์ของการท่องเที่ยว มีข้อมูลรายลเอียดทุกอย่าง แม้กระทั่งโปรแกรมทัวร์ 1-3 วัน เตรียมไว้ให้พร้อมสรรพ หากมาเที่ยวสเปนและพอมีเวลาก็ควรแวะมาทางตอนเหนือฝั่ง Galicia ดูนะคะ มีสถานที่น่าสนใจเยอะ อาหารทะเลอร่อย ผู้คนเป็นมิตร 




Create Date : 30 สิงหาคม 2555
Last Update : 1 กันยายน 2555 15:47:31 น.
Counter : 3131 Pageviews.

2 comment
MAYDAY Asalei !! กับทางเลือกสุดท้ายกลางอ่าวบิสไคย์



อ่าวบิสไคย์อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก  ทอดยาวจากแนวชายฝั่งตะวันตกวันตกของประเทศฝรั่งเศส จรดแนวชายแดนสเปน จนถึงชายฝั่งตอนเหนือของประเทศสเปน


ในการข้ามอ่าวบิสไคย์ครั้งแรก (และอาจจะเป็นครั้งเดียว) ของพวกเรา มีสมาชิกร่วมทางกันเพียงสองคนคือ ปีเตอร์กับไอบินหลา  จากเมือง Falmouth ประเทศอังกฤษไปยังเมือง Bayona ประเทศสเปน ระยะทางประมาณ 650 ไมล์ทะเล คาดว่าจะใช้เวลา 5-6วันก็น่าจะถึงเมือง Bayona โดยมีไอบินหลาเป็น skipper ตั้งแต่ออกเดินทางจากท่าเรือในเมืองเกนท์เมื่อสองเดือนก่อน


เครดิตภาพจาก wiki


เราจัดสรรเวลาแบ่งกะยามกันคนละ 3-4 ชั่วโมงตลอดการเดินทางโดยเวรยามมีหน้าที่หลักคือ เฝ้าระวัง บันทึกการเดินทางใน Logbook ระบุตำแหน่งพิกัดลงในแผนที่ ปรับเปลี่ยนใบเรือและทิศทางของหางเสืออาซาเลมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ 2 แบบด้วยกัน คือ


  • Raymarine Autopilot ST4000+เป็นระบบอิเล็คโทรนิคควบคุมการทำงานร่วมกับ GPS และมี electronic compassอยู่ในตัว เราจะใช้ออโต้ไพล็อตเมื่อมีเครื่องยนต์ช่วยในการแล่นเรือ
  • แต่หากแล่นโดยใบเรือเพียงอย่างเดียว เรามี Hydrovane Self Steeringที่ใช้ลมในการขับเคลื่อน เพราะเรือจะลู่ เรียบไปกับสายลม ให้ความรู้สึกสบายกว่าถึงแม้จะราคาสูงมากแต่ก็เป็นที่นิยมสำหรับนักล่องเรือยอร์ชระยะไกล

ช่วงแรกของการเดินทางเป็นไปอย่างชื่นมื่นจนเข้าสู่เช้าตรู่ของวันที่ 9 สิงหาคม พวกเราต้องเผชิญกับหมอกหนาวิสัยทัศน์ไม่เกิน 3 เมตร เล่นเอาใจสั่นระทึกเพราะพวกเรายังอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางเดินเรือสินค้า Ouessant  ห่างจากชายฝั่งบริตตานีของฝรั่งเศสประมาณ 60 ไมล์ทะเล ต้องอาศัยเครื่องรับสัญญาณ AIS ช่วยในการเฝ้าระวังเรือพาณิชย์และเรือขนส่งสินค้าที่แล่นอยู่รายรอบด้วยความเร็วสูงและใช้เครื่องยนต์ช่วยเพราะแรงลมน้อย


สองวันแรกของการเดินทาง อาซาเลทำระยะทางโดยเฉลี่ยวันละ 90 ไมล์ทะเล ซึ่งพอๆ กับที่ไอบินหลาได้ประเมินไว้ จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อคืนที่สามลมเริ่มเปลี่ยนทิศจากทิศเหนือ มาเป็นตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกจนมาเป็นทิศใต้ในที่สุดและเพิ่มความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ 6 ในขณะที่พวกเรามุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อาซาเลถูกคลื่นลมพัดพากลับไปยังช่องแคบอังกฤษทำให้เราเลือกที่จะเปลี่ยนจุดหมายเป็นเมือง A Coruña ซึ่งอยู่บริเวณปากอ่าวบิสไคย์ห่างจาก Bayona จุดหมายเดิม 137 ไมล์ทะเล




ก่อนจะเล่าต่อถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น ขอบอกรายละเอียดระดับความแรงของลมที่เรียกกันว่าโบฟอร์ต (Beaufort) ซึ่งใช้ในการพยากรณ์อากาศและการเดินเรือสำหรับนักแล่นเรือยอร์ชทั่วไปที่ทำด้วยโพลิเอสเตอร์หรืออะลูมิเนียม


ลมระดับ 3-4ถือว่ากำลังดี และสำหรับเรือมีน้ำหนักมากอย่างอาซาเลต้องระดับ 4-5

ระดับ 6 ถือเป็นพายุของนักแล่นเรือใบหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Yachtman’s gale

ลมระดับ 8 เป็น Gale หรือพายุ ถือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือกำลังลมตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปจะมีการประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุฯหรือยามชายฝั่งท้องถิ่น มีการเฝ้าระวังและอัพเดตข้อมูลอย่างน้อยทุกๆ สองชั่วโมง

ระดับ 10 เป็น Storm

ระดับ 11 เรียกว่า Violent storm

กำลังลมระดับ 12 เป็นเฮอร์ริเคน ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะ Azores กลางมหาสมุทรแอตแลนติคไม่กี่วันหลังจากพวกเราได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย

ช่วงค่ำของวันที่ 11 สิงหาคม ลมเพิ่มกำลังแรงขึ้นใบเรือใหญ่บริเวณหัวเรือฉีดขาดด้วยกำลังลมแรงถึงแม้เราจะลดระดับใบเรือลงจนสุดแล้ว กว่าจะเสร็จเรื่องก็เกือบเที่ยงคืนอาซาเลถึงทำความเร็วและระยะทางได้ตามปกติ ถึงตอนนี้เราไม่สามารถใช้ Hydrovane ได้ต้องอาศัยเครื่องยนต์ + Autopilot เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนแล่นฝ่ากระแสลมแรงเพื่อมุ่งหน้าไปทางสเปน


ถึงตอนนี้ปีเตอร์เริ่มเกิดอาการเมาเรืออย่างหนักจนไม่สามารถดื่มน้ำ กินอาหารได้ตามปกติอ่อนเพลียจนทำให้สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจไอบินหลาต้องพร้อมและคอยควบคุมดูแลจนแทบไม่ได้พักผ่อน


เย็นของวันที่ 12 สิงหาคม เหตุการณ์เริ่มเลวร้ายขึ้น ลมเพิ่มกำลังแรงขึ้นเป็นระดับ 6-7 ผันเปลี่ยนเป็นทิศตะวันออกเฉียงใต้ คลื่นสูงกว่า 5 เมตรที่ถูกพัดพามาจากมหาสมุทรแอตแลนติก 


คืนนั้นเราเหมือวนอยู่ในอ่างน้ำ เรือแล่นได้ไม่เกินรัศมี 10 ไมล์ทะเล ซ้ำร้าย ระบบเดินเรืออัตโนมัติยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ท้องทะเลที่ดุดันทำให้ตัวบังคับทิศทางที่เชื่อมต่อกับหางเสือถูกคลื่นกระชากออกจากหางเสือ ต้องใช้มือคอยประคองไว้ตลอดเวลา คืนนั้นไอบินหลาอยู่เวรยาวทั้งคืน เพราะปีเตอร์เมาเรืออย่างหนัก แววตาส่อความกลัวและกังวลจนทำให้ไอบินหลาใจเสีย จึงให้เขาไปนอนพักเอาแรง



รุ่งสางของวันที่ 13 สิงหาคม เริ่มเห็นเมฆบนท้องฟ้าได้ชัดเจนขึ้นYachtmaster ทุกคนต้องฝึกการพยากรณ์อากาศ ดูเมฆ ทิศทางลมท้องถิ่นประกอบการอ่าน weather map เพื่อการคาดเดาที่แม่นยำว่า ลมฝนจะพัดมาทางทิศใด  และวันนี้ไอบินหลาได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่มีในตำราคือ Cyclonic หรือศูนย์กลางของดีเปรสชั่นถึง 2 ลูก ซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนักในคราวเดียว เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เห็นท้องฟ้าน่ากลัวขนาดนี้ 



ตอนนี้เริ่มใจคอไม่ดีเพราะพอเดาออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า จึงตัดสินใจปลุกปีเตอร์มาคุมท้ายเรือ และค้นดูตำราทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้เป็นกระต่ายตื่นตูม แต่ไม่เจออะไรที่เข้าเค้ากับเหตุการณ์ที่เราประสบพบเจอ จนกระทั่งเวลาประมาณ 08.00 น. เราได้รับประกาศเตือนจากยามชายฝั่งของสเปน เตือนพายุ Galeforce 8-9 ระหว่างเวลา 15.00 – 15.20 แถบเขต Pazzen ซึ่งอยู่บริเวณทิศเหนือจากจุดพิกัดของอาซาเล ตอนนั้นเราอยู่ทางตอนเหนือห่างจาก Cabo Prior ซึ่งเป็น Landfall หรือจุดเข้าแผ่นดินของเราเพียง 60 ไมล์ทะเล รึไม่เกิน 20 ชั่วโมงเราก็จะถึงท่าเรือในเมืองโครุนย่าแล้ว


คลื่นลมกระหน่ำแรงขึ้นพัดพาเรือให้ห่างจากฝั่งออกไป ดูจาก GPS จะเห็นได้ชัดว่าอาซาเลถูกพัดย้อนกลับไปในอ่าวบิสไคย์ ในขณะที่เรามีน้ำมันสำรองเหลือประมาณ 10 ชม. ไม่พอในการต่อสู้กับคลื่นลมและพายุที่จะเกิดขึ้นในช่วงบ่าย พวกเราประเมินกันว่าเราจะต้องอยู่อิทธิพลของพายุในทะเลแห่งนี้กันไปอีกไม่ต่ำกว่า 30 ชม.




เมื่อมองไปยังปีเตอร์ที่อิดโรยและท้อถอย ไอบินหลามีน้ำตาซึมด้วยความเป็นห่วงและกังวลว่าเขาจะไม่สามารถจะต่อสู้อยู่ในทะเลอันโหดร้ายได้ 24 ชม. ถึงนาทีนี้คำของครูผู้สอนดังก้องอยู่ในหัว “One hand for the boat, one hand for yourself” 


ไอบินหลาตัดสินใจขอความช่วยเหลือ MAYDAY ผ่านวิทยุ VHF เริ่มด้วยการส่งสัญญาณ DSC ต่อด้วย “MAYDAYMAYDAY MAYDAY”, “THIS IS yacht ASALEI, ASALEI, ASALEI. MMSI ….” เพียงเท่านั้น ก็เกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิคสวิตซ์วงจรไฟฟ้าตัดขาดเพราะสัญญาณวิทยุพ่วงด้วยอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น GPS, Autopilot ที่กินกำลังไฟมากทำให้เกินกำลังฟิวส์ จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่โดยส่งสัญญาณ DSC ผ่าน VHF ประจำเรือ และเรียกเมย์เดย์ผ่านวิทยุมือถือ (VHF handel) ที่มีกำลังส่งต่ำ รอสักพักก็ยังไม่ได้การตอบรับ


จึงตัดสินในส่งสัญญาณผ่าน EPIRB และเรียก MAYDAY ผ่าน VHFมือถืออีกครั้งโดยบอกตำแหน่งพิกัดและปัญหาที่เกิดขึ้น จนเวลาประมาณ 09.30 น.เราได้รับการติดต่อจากยามชายฝั่งสเปน แต่การสื่อสารติดขัดเพราะ VHF ประจำเรือที่มีกำลังส่งสูงไม่สามารถใช้งานได้ ต้องอาศัย VHF มือถือเท่านั้นจับใจความได้ว่า ยามชายฝั่งฯ แจ้งว่าจะส่งเฮลิคอร์ปเตอร์มาช่วย


ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา ไอบินหลาก็ได้ยินเสียงเฮลิคอร์ปเตอร์  ทางหน่วยกู้ภัยขอให้เราสละเรือขึ้นเฮลิคอร์ปเตอร์ไปกับเขา เป็นนาทีที่ไอบินหลาตัดสินใจลำบากที่สุดในชีวิต โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นแววตาของปีเตอร์ที่ต้องการกลับขึ้นฝั่งและหนีไปให้พ้นจากทะเลที่บ้าคลั่งนี้  


แต่เมื่อคิดถึงอาซาเล.... เรือที่เป็นเหมือนบ้านของเรา ความรู้สึกรัก ความผูกพันธ์ที่พวกเรามีให้กับอาซาเลนั้นยากจะบรรยาย เธอเป็นเพื่อนตายที่ช่วยปกป้องคุ้มครองเราหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะตลอดเวลา 3 คืนอันตรายในบิสไคย์  จนใกล้จะถึงจุดหมายแล้วจะทิ้งเธอไว้โดดเดี่ยวไอบินหลาทำไม่ลง


พวกเราไอบินหลาตัดสินใจขออยู่กับอาซาเล เพราะแน่ใจว่าหากปล่อยอาซาเลให้ลอยลำอยู่ที่นี่พวกเราคงสูญเสียเธอไปอย่างแน่นอน!!!


ก่อนให้คำตอบกับทางหน่วยกู้ภัยฯ ไอบินหลาขอให้ปีเตอร์เดินทางไปกับเฮลิคอร์ปเตอร์เพราะสภาพเขาดูแย่มาก แต่ปีเตอร์ก็ขออยู่ ขอสู้กันต่อพวกเราต้องแสดงเจตน์จำนงและยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่รับการช่วยเหลือจากเฮลิคอร์ปเตอร์ และร้องขอการช่วยเหลือจากเรือลากจูงแทนสุดท้ายทางหน่วยกู้ภัยฯ แจ้งว่าอีกประมาณ 2-3 ชม. เรือลากจูงจะมาถึง ให้เรายืนยันอีกครั้งว่าจะอยู่รอ…. ตอนนั้นไอบินหลาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องยืนยันกัน 6-7 หน



เป็นการรอคอยที่ยากและยาวนาน ไอบินห ลาต้องคอยประคองเรือให้แล่นผ่านคลื่นสูงกว่า 8 เมตร และต้องให้่กำลังใจปีเตอร์ไปด้วยพร้อมๆ กัน จนประมาณเที่ยงนิดๆก็ได้รับวิทยุจากเรือกู้ภัยเพื่อยืนยันตำแหน่งและนัดแนะวิธีการช่วยเหลือ วินาทีที่ได้เห็นเรือลากจูงเป็นเสี้ยวเวลาที่ดีที่สุดได้ยินเสียงตะโกนในใจว่า “เฮ้อ! รอดแล้วกู”


ปีเตอร์ทำหน้าที่รับเชือกจากเรือลากจูงใช้เวลาไม่นานอาซาเลก็ผูกติดกับเรือกู้ภัย  นาทีนี้ไอบินหลาหมดห่วงและมั่นใจว่าทั้งคนทั้งเรืออยู่ในความปลอดภัยจนพลั้งปากตะโกนออกท้าทายใครบางคนที่เรามองไม่เห็นท้ายเรือว่า “You almost got me !!”




ตอนนี้เองที่เรื่องราวลึกลับ ชวนขนลุกก็เริ่มเปิดเผย ระหว่างลากจูงเรือออกจากอ่าวบิสไคย์ พวกเราเริ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์แปลกๆ บางอย่าง ปีเตอร์เล่าว่า สามวันสุดท้ายในอ่ายบิสไคย์เขาได้ยินเสียงคนพูดอยู่รอบๆ ตัวตลอดเวลา เป็นเสียงหญิงและชาย ทั้งผู้ใหญ่และเด็กส่วนใหญ่จะเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาสเปน บางทีก็ได้ยินเสียงตะโกนเรียกชื่อเขาในช่วงกลางคืน


ไอบินหลาก็ได้เจออะไรคล้ายๆ กันคือ ได้ยินเสียงผู้ชายบ่นพึมพำๆ จากบริเวณท้ายเรือในช่วงอยู่ยามกลางคืน ความกลัวทำให้คิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปถึงเรือหลายร้อยลำและชีวิตนับไม่ถ้วนที่สังเวยให้กับท้องทะเลแห่งนี้ 


หลังแลกเปลี่ยนเรื่องพิศวง ชวนขนลุกกันแล้ว พวกเราก็นอนงีบเอาแรงกันด้วยความเหนื่อยล้า ประมาณ 10 ชั่วโมงต่อมาพวกเราก็ถึงท่าเรือ Cariño หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ 



หน่วยกู้ภัยให้ลากจูงอาซาเลไปจอดใกล้สะพานปลาของหมู่บ้าน หลังเสร็จเรื่องเอกสาร หัวหน้าทีมกู้ภัยใจดี ช่วยเป็นธุระโทร.จองโรงแรมและมีน้ำใจขับรถไปส่ง พร้อมทั้งฝากฝังทางโรงแรมให้ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี คืนนั้นปีเตอร์กินอาหารมื้อแรกด้วยความอร่อยแบบตายอดตายอยาก เหมาเรียบทุกจาน 



ที่นี่พวกเราได้เจอเรื่องบังเอิญจนขนลุกคือ ไอบินหลาเหลือบไปเห็นแผนที่โบราณของอ่าวบิสไคย์ห้อยไว้บนฝาผนังหน้าโต๊ะอาหารประจำของ เป็นภาพสงครามทางทะเล มีเรือรบสมัยโบราณหลายลำท่ามกลางคลื่นสูงไม่ไกลจากแหลม Cabo Ortegal ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับที่พวกเราประสบเหตุจนได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยกู้ภัย พอเอาเรื่องที่ได้ยินมาปนกับภาพที่เห็น ทำเอาเราทั้งสองขนลุกเสียวสันหลังขึ้นมาทันที





ตื่นเช้ามาเห็นเรือประมงจอดเสียบท่าแทนที่อาซาเลตามรูป


 

 

ไอบินหลาขอขอบคุณชื่นชมทีมกู้ภัยของสเปนที่มีการปฏิบัติตามแนวทางสากลกันอย่างมืออาชีพ 


ขอเกริ่นถึงเรื่องการกู้ภัยสักนิด ในยุโรปกัปตันเรือยอร์ชทุกคนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของเรือ ลูกเรือในทะเลเป็นอย่างมาก เราต้องรู้และเข้าใจขั้นตอนการทำงานของทีม SAR หรือ Search And Rescue  (แตกตางกันไประหว่างยุโรป - สหรัฐ - ออสเตรเลีย)


อุปกรณ์สื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่เรือทุกลำต้องมีคือวิทยุ VHF  ซึ่งต้องใช้ภายใต้การดูแลของผู้มีใบอนุญาตเท่านั้น


EPIRB เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่ชาวเรือยอร์ชเริ่มนิยมใช้กันเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้มีหลากรุ่นหลายราคาให้เลือก พวกเราเลือกรุ่นที่พอใช้ได้ มีสัญญาณ GPS อยู่ในตัว เป็นอุปกรณ์ราคาแพงที่ไม่ค่อยมีคนได้ใช้งานและไม่มีใครอยากใช้งาน ไอบินหลารู้จักตอนเรียน YachtMaster และยอมให้ปีเตอร์ทุบกระปุกซื้อไว้เพื่อความอุ่นใจ 

EPIRB


พอหายเหนื่อยปีเตอร์รีบติดต่อพ่อแม่ในเบลเยียมทันที เพราะหลังจากที่พวกเราส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือผ่าน  EPIRB สัญญาณจะยิงผ่านดาวเทียมไปยังศูนย์ประสานงานการกู้ภัย ในกรณีของไอบินหลาสถานีภาคพื้นดินบนหมู่เกาะคานารีส กลางมหาสมุทรแอตแลนติก ได้รับข้อมูลผ่านดาวเทียม แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังยามชายฝั่งสเปน ศูนย์ฯ ในแมดริดโทร.ติดต่อญาติตามรายชื่อที่เราแจ้งไว้ คือพ่อแม่ของปีเตอร์และน้องชายของไอบินหลา วันนั้นพ่อแม่ปีเตอร์ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากสเปน นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนีและเบลเยียม เขาแจ้งสถานการณ์คร่าวๆ พร้อมสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเรือเพื่อช่วยในการค้นหา คงไม่ต้องบอกว่ตอนนั้นหัวใจพ่อแม่จะเป็นยังไง ศูนย์ฯ จะรายงานความคืบหน้าให้ญาติพี่น้องได้ทราบเป็นระยะๆ ระหว่างการปฏิบ้ติการค้นหา จนอาซาเลถูกลากจูงถึงท่าเรือโดยสวัสดิภาพ




คืนนั้นพวกเราหลับจนบ่าย ลงมากินข้าว เจ้าของโรงแรมบอกว่าพวกเราได้ลงหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โชคดีที่ไม่มีรูปพวกเราลงไปด้วย ช่วงเย็นพวกเราไปดูแลความเรียบร้อยและทำความสะอาดเรือ มีคนมาเดินดู และถ่ายรูป จนเย็นๆ มีเด็กมาบอกว่าข่าวพวกเราออกโทรทัศน์ทุกช่อง ช่วงค่ำพวกเรากลับไปโรงแรมถึงเห็นภาพข่าวพวกเราที่ถ่ายจากเฮลิคอร์ปเตอร์ และภาพนักข่าวมารอสัมภาษณ์เต็มหน้าโรงแรมในช่วงเช้าที่พวกเรากำลังหลับเป็นตายกันอยู่



เราได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอบอุ่นตลอดเวลาที่พักอยู่ LA CEPA ได้กินอาหารอร่อยทุกมื้อ หลังเช็คเอ้าท์เจ้าของโรงแรมที่อยู่ด้านซ้ายมือยังช่วยขับรถมาส่งพวกเราจนถึงที่จอดเรือ นับเป็นความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีที่สุดกว่าการเดินทางครั้งไหนๆ


วันรุ่งขึ้นพวกเราได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากกัปตันเรือของหน่วยกู้ภัยอีกคน ช่วยขับรถพาพวกเราไปซื้อน้ำมันที่ปั๊ม (คนที่ช่วยพวกเราไว้ไปฮอลิเดย์ในวันรุ่งขึ้นหลังจากช่วยอาซาเล)  เพราะตามกฎหมายทางท่าเรือขายน้ำมันให้กับเราไม่ได้ น้ำมันดีเซลปลอดภาษีสงวนไว้สำหรับเรือประมงเท่านั้น ที่สเปนเขาเคร่งครัดมากเช่นเดียวกับเบลเยียม


ก่อนจากกันกัปตันบอกว่าเราควรแวะซื้อผลไม้ในตลาดนัดไว้เป็นเสบียงก่อนออกเดินทางไปทอดสมอที่ Ria de Cedeira ไปถึงก็ไม่ผิดหวังเพราะผลไม้ที่นี่สด ราคาถูก




เมื่อคนพร้อม เรือพร้อมเราก็ออกเดินทางกันต่อ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ไอบินหลาได้รู้ถึงจุดหมายที่แท้จริงในการเดินเรือรอบโลก  ว่าไม่ได้อยู่ที่เราไปไกลแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราได้เห็น ได้สัมผัสอะไรบ้าง... สายลม แสงแดด พายุฝนลมแรง ชาวเมือง ชาวบ้านท้องถิ่น เพื่อนชาวเรือ  ทุกสิ่ง ทุกอย่างระหว่างทางคือเสน่ห์ของเรือยอร์ชที่ไอบินหลาไม่ได้สัมผัส... เป็นเวลากว่า 2 เดือน จากเบลเยียม - บิสไคย์ 






Create Date : 27 สิงหาคม 2555
Last Update : 20 เมษายน 2556 20:26:00 น.
Counter : 2537 Pageviews.

2 comment
(กว่าจะได้) ข้ามอ่าวบิสไคย์ จากอังกฤษไปสเปน
อ่าวบิสไคย์ ภาษาอังกฤษ Bay of Biscay เป็นอ่าวหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ตั้งอยู่ตามชายฝั่งตะวันตกของประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่เมืองเบรสต์ (Brest) ลงไปทางใต้จนถึงพรมแดนประเทศสเปน และไปตามชายฝั่งทางเหนือของสเปน

การแล่นเรือข้ามอ่าวบิสไคย์นับเป็นความท้าทายของนักเดินเรือมือใหม่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรือเล็กอย่างอาซาเล เรือพาณิชย์
หรือจะเป็นเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ก็ตาม เพราะนอกจากสภาพอากาศที่แปรปรวนจากอิทธิพลของความกดอากาศในมหาสมุทรแอตแลนติคแล้ว  ระดับความลึกของทะเลที่แตกต่างกันหลายกิโลเมตร ทำให้ผืนน้ำที่นี่ขึ้นชื่อในความดุดันยามมีลมพายุหรือคลื่นที่พัดพาจากมหาสมุทรแอตแลนติก (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Swell หากใครรู้ชื่อภาษาไทยช่วยบอกกับไอบินหลากันนะ)



จากแผนที่กูเกิ้ลเราจะเห็นความแตกต่างของพื้นผิวใต้ท้องทะเลอย่างชัดเจนสีฟ้าอ่อนจากแนวชายฝั่งฝรั่งเศสและสเปนมีความลึกเพียง 90 - 150 เมตรเท่านั้น ในขณะที่บริเวณกลางอ่าวที่มีสีฟ้าเข้มกินความลึกกว่า 3,000 - 4,500 เมตร (จุด A ในรูปคือเมือง La Coruna ของสเปนที่อาซาเลจอดอยู่ตอนนี้)


โดยทั่วไปจะใช้เวลาในข้ามอ่าวบิสเคยจากเมืองFalmouth อย่างน้อย 5 วัน ขึ้นอยู่กับเมืองท่าปลายทางและความเร็วของเรือทิศทางลมเป็นเงื่อนไข สำคัญในการเดินทางครั้งนี้ เราต้องอาศัยลมเหนือไปยังประเทศสเปนส่วนลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นอันตรายต่อการเดินทางเป็นอย่างมากเพราะลมอาจพัดพาเราไปยังพื้นที่ตื้นของทะเลได้ และหากโชคร้ายมีพายุแถวๆ นั้นระดับความลึกที่แตกต่างกันจะทำให้คลื่นสูงกว่าปกติอีกหลายเท่าตัว หนนนี้ไอบินหลาเจอคลื่น 4-8 เมตรในทะเลลึกยังกลัวแทบตาย นึกภาพไม่ออกว่าหากไปอยู่ในที่ตื้นจะเป็นพันปรือ


เป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์ที่พวกเราต้องชั่งใจ เฝ้ารอดูและนั่งลุ้นพยากรณ์อากาศสำหรับคนใจร้อนอย่างไอบินหลานั้นเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัด...มาก ถึงมากที่สุดส่วนใหญ่ลมยังคงพัดมาจากทิศใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้บางทีลมก็แรงเกินไปสำหรับนักแล่นเรือใบอย่างเราๆบ่นบานขอสิ่งศักดิสิทธิ์แล้วก็ยังไม่เป็นผล จะใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญด้านพยากรณ์อากาศก็เสียดายเงินถึงแม้ว่าจะพยายามซ่อมบำรุงอาซาเล ทำโน่นนี่นั่นระหว่างรอ มันก็รู้สึกว่านานอยู่ดี


แต่ในที่สุด ลมฟ้าเริ่มเป็นใจเราตัดสินใจเดินทางกันในช่วงบ่ายของวันที่ 8 สิงหาคม ไปยังเมือง Bayona ประเทศสเปนนับเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง


ก่อนจะเล่าช่วงเวลาแห่งชีวิต ไอบินหลาขอแนะนำมีอุปกรณ์สื่อสารที่นักเดินเรือทุกคนควรมีไว้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งพวกเราเลือกติดตั้งตัวที่จำเป็นและราคาไม่เกินกำลัง ส่วนมือถือสัญญาณดาวเทียมนั้นไอบินหลาตัดออกไปเพราะใช้เงินส่วนนี้ซื้ออุปกรณ์แล่นเรืออัตโนมัติไปแล้วคงต้องรอกันอีก



ตัวแรกคือ VHF หรือวิทยุคลื่นความถี่สูง เป็นอุปกรณ์พื้นฐานตามกฎหมายที่เรือขนาดอาซาเลจำเป็นต้องมี พวกเราเพิ่มออปชั่นด้วย Digital Selective Calling-DSC ใช้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือพร้อมตำแหน่งพิกัดจากจีพีเอส



EPIRB รุ่นใกล้เคียง

ถัดมาพระเอก... ไม่สิต้องเรียกว่าอัศวินของทริปนี้คือ EmergencyPosition Indicating Radio Beacon หรือ EPIRB ที่ใช้ในการแจ้งเตือนบริการค้นหาและกู้ภัยในกรณีฉุกเฉินโดยส่งรหัสข้อความขอความช่วยเหลือผ่านคลื่นความถี่ 406 MHzไปยังสถานีดาวเทียมแล้วส่งสัญญาณต่อมายังศูนย์ช่วยเหลือที่ใกล้ที่สุดเพื่อประสานงานกับทีมค้นหา (SART)


เรือพาณิชย์ทุกลำต้องติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ปัจจุบัน EPIRBS หลายยี่ห้อก็มีGPS ในตัว (บางคนเรียกกันว่า G-EPIRB)ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทีมค้นหาสามารถใช้ตำแหน่งพิกัดที่ส่งไประบุตำแหน่งของเรือเพื่อในการค้นหาระยะ 25 เมตร



ถึงแม้จะราคาแพง แต่เป็นสิ่งสำคัญมาก นักเดินเรือหลายคนรวมถึงไอบินหลาและปีเตอร์ก็รอดชีวิตมากับ EPIRB เอาไว้ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่า SART เขาทำงานกันอย่างไรหลังจากได้รับสัญญาณฉุกเฉินจากอาซาเล


Automatic Identification System-AIS  ไม่ใช่ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยแต่เป็น GMDSS ตัวนึง ซึ่งเรือพาณิชย์ส่วนใหญ่ต้องมีตัวส่งสัญญาณที่บอกรายละเอียดของเรือเช่นชื่อ เรือ หมายเลข-MMSI พิกัดดาวเทียม เส้นทางและความเร็วของเรือ




อุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือตัวช่วยพระเอก Navtex ใช้รับข้อมูลพยากรณ์อากาศเป็นอีกตัวนึงที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่นิยมกันมาก ขึ้นสำหรับยอร์ชตี้ ซึ่เป็นส่วนหนึ่งของ GMDSSที่พัฒนาขึ้นเพื่อเรือขนส่งสินค้า ซึ่งมีรัศมีครอบคลุมน่านน้ำทั้งหมดในยุโรปมีศูนย์ส่งข้อมูลตามแนวชายฝั่งของ ทวีปยุโรปและอเมริกาชื่อโซนพยากรณ์อากาศอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ


ตอนที่พวกเราติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ ไอบินหลาไม่เคยเฉลียวใจว่ามันจะมีความสำคัญเป็นยิ่งยวดในการเดินทาง ตอนนั่งเรียนภาคทฤษฎีกับ RYAที่อังกฤษ ก็ยังเซ็งๆ คิดว่า “ฝรั่งนิอะไรกันนักหนาทำไมยอรชตี้หน้าใสอย่างเราต้องมารู้อะไรให้มันวุ่นวายอย่างงี้ แต่เอาเหอะรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม” จนกระทั่งเราเจอเข้ากับตัวเองแบบจังๆตามอ่านกันนะคะว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยชีวิตพวกเราและเรือไว้ได้อย่างไร วันนี้อากาศดีตอนนี้ขอตัวไปกินลมชมแดดข้างนอกซักแป๊บนะ



 





Create Date : 25 สิงหาคม 2555
Last Update : 26 สิงหาคม 2555 18:20:55 น.
Counter : 1512 Pageviews.

2 comment
1  2  

barby
Location :
Cascias  Portugal

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



New Comments