Trappist beer & Abbey beer เบียร์สัญชาติเบลเยียมที่ต้องลอง
หลังจากได้แนะนำสุดยอดเบียร์สัญชาติเบลเยียมที่หาดื่มได้ยากที่สุดไปแล้ว ไเรามาต่อยอดกับเบียร์ที่มีต้นกำเนิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเบียร์เบลเยียมคือ Trappist และ Abbey

เบียร์ทรัปปิสต์และเบียร์แอ็บบีย์จัดเป็น ales beer ด้วยกรรมวิธีในการผลิตและรสชาติที่คล้ายคลึงกัน ทำให้หลายๆ คนไม่ทราบถึงความแตกต่างของเบียร์ทั้งสองชนิดนึง วันนี้แหละค่ะไอบินหลาจะมาเผยเคล็ดน่ารู้อันนี้ เพื่อเพิ่มสุนทรียรสและเรื่องเล่าในวงเบียร์กันค่ะ



ในยุคกลางเบียร์เป็นที่นิยมมากในยุโรปเหนือเพราะถูกสุขลักษณะกว่าน้ำและมีคุณค่าทางโภชนาการอยู่ในตัว ช่วงศตวรรษที่ ๑๙ วัดและสำนักสงฆ์นิกายคาทอลิคแถบนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส พัฒนาการผลิตเบียร์เพื่อสร้างรายได้สำหรับซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารและศาสนสถานที่ถูกทำลายไปในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส แม้เวลาจะร่วงเลยไปเป็นร้อยปี เคล็ดลับในการผลิตเบียร์เหล่านั้นยังคงมีการถ่ายทอดและพัฒนากันจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีให้เราได้ลิ้มลองกันอยู่ภายใต้ชื่อ ทรัปปิสต์เบียร์ (Trappist Beer) และแอ็บบีย์เบียร์ (Abbey Beer)



เบียร์ที่สามารถเรียกว่า “ทรัปปิสต์” (Trappist) ได้นั้นจะต้องผลิตโดยพระในนิกายคาทอลิคซึ่งมีความเกี่ยวพันกันกับสำนักสงฆ์ La Grande Trappe แห่งนอร์มังดี อันเป็นแหล่งที่มาของชื่อ Trappists ซึ่งปัจจุบันนี้มีแอ็บบีย์เพียง ๗ แห่งในโลกที่ยังคงผลิตเบียร์ทราปปีสต์และได้รับอนุญาตให้ใช้โลโก้ “Authentic Trappist Product” โดย ๖ ใน ๗ แอ็บบีย์นี้อยู่ในประเทศเบลเยียม





กฎเหล็ก ๓ ข้อของเบียร์ทรัปปิสต์คือ
๑. เบียร์นั้นต้องผลิตในโรงเบียร์ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของทรัปปิสต์แอ็บบีย์เท่านั้น
๒. ต้องผลิตภายใต้การควบคุมดูแล รับผิดชอบของพระทรัปปิสต์
๓. รายได้จากการจำหน่ายเบียร์ส่วนใหญ่ต้องมีการกำกับดูแลและนำไปใช้จ่ายในด้านสาธารณะกุศล





ปริมาณเบียร์ที่ผลิตจึงมีไม่มากนัก แค่เพียงพอสำหรับจะค่าใช้จ่ายภายในวัดและกองทุนการกุศลเท่านั้น ทรัปปิสต์บางแห่งจึงผลิตน้อยและเปิดขายเฉพาะหน้าโรงเบียร์ให้เฉพาะผู้ซื้อรายย่อย ดั่งเช่น ทรัปปิสต์ เวสฟลีเตียเรน (Westvleteren) ที่ไอบินหลาได้เขียนไปแล้ว



ภาพนี้ป็นเบียร์ทรัปปิสต์ที่มีจำหน่ายกันอยู่ในปัจจุบัน ไอบินหลาขอเแนะนำจากซ้ายไปขวาพร้อมด้วยชื่อของแอ็บบีย์ที่ผลิตค่ะ เริ่มกันที่

- Achel โดย Sint-Benedictus Abdij,
- Westvleteren โดย Sint-Sixtusabdij van Westvleteren,
- Orval โดย Abbaye Notre-Dame d'Orval,
- Rochefort โดย Abbaye Notre-Dame de Saint-Rémy,
- Chimay โดย Abbaye Notre-Dame de Scourmont,
- Westmalle โดย Abdij Onze-Lieve-Vrouw van het Heilig Hart van Westmalle
- สุดท้ายประเทศเนเธอร์แลนด์ส่งเข้าประกวด คือ La Trappe โดย Abdij Onze Lieve Vrouw van Koningshoeven

ชื่อของแอ็บบีย์แต่ละแห่งสะกดต่างกัน แบ่งบอกถึงที่ตั้งของแอ็บบีย์นั้นๆ คือ Abdij เป็นภาษดัตช์ แสดงว่าโรงเบียร์นั้นอยู่ในเขตที่เฟลมิชคือตอนเหนือของเบลเยียมหรือไม่ก็อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วน Abbaye เป็นภาษาฝรั่งเศสแสดงว่าแอ็บบีย์นั้นที่อยู่ทางตอนใต้ของเบลเยียม



นอกจากเคล็ดลับเฉพาะที่ซ่อนไว้หลังกำแพงสูงของแอ็บบีย์แล้ว ดอกฮ็อป (Hop) และแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตยังเป็นสิ่งสำคัญสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับเบียร์ทรัปปิสต์แต่ละตัว ทำให้เบียร์มีกลิ่นและรสชาติที่ต่างกันออกไป แต่่สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ ความหอมหวาน และรสชาติที่ละเมียดนุ่มลิ้น ชุ่มคอ เกินที่ไอบินหลาจะบรรยาย






คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับเบียร์แอ็บบีย์ (Abbey Beer) มีกลิ่น สีและรสชาติสไตล์เดียวกันกับทรัปปิสต์เพราะมีสูตรต้นตำรับเดียวกัน แตกต่างกันที่เบียร์แอ็บบีย์จะผลิตกันภายใต้ใบอนุญาตผลิตเบียร์เชิงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อและสูตรของวัดหรือสำนักสงฆ์คาทอบิคที่ปิดโรงเบียร์ของตนเอง และขายต่อให้แก่กลุ่มบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มักจะมีโรงเบียร์ตั้งอยู่่ห่างไกลจากต้นตำรับ มีโรงเบียร์จำนวนน้อยมากที่ยังคงผลิตอยู่ในเขตอารามวัด









เนื่องจากมีความนิยมนำชื่อ “Abbey beer” ไปใช้เป็นกลยุทธ์ทางตลาดกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพวกหัวหมอทั้งหลาย ทางสหภาพโรงเบียร์ของเบลเยียมจึงทำตรารับรองขึ้นมาตามรูปข้างบน อย่าลืมสังเกตกันข้างขวดเบียร์นะคะ ปกติเบียร์คาเฟ่ในเบลเยียมทุกแห่งเขาจะเสิร์ฟขวดเบียร์คู่กันมากับแก้ว ยกเว้นเบียร์สด ไม่ทราบว่าที่เมืองไทยจะเหมือนกันรึเปล่า

ถึงแม้จะมีหัวหมอบางคนโมเมนำชื่อวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ปิดตัวลงมาเป็นยี่ห้อเบียร์ของตัวไปแบบเนียนๆ อย่างงั้นก็ยังมีเบียร์แอ็บบีย์หลายๆ ตัวที่รักษาระดับคุณภาพไว้ได้เป็นอย่างดี มีองค์กรควบคุมรักษาเอกลักษณ์และคุณภาพของเบียร์แอ็บบีย์เช่นเดียวกันกับทรัปปิสต์ โดยเน้นถึงสูตรและวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมมากกว่าสไตล์และประเภทของเบียร์ที่ผลิต ซึ่งโดยทั่วไปจะมีความหลากหลายกว่าเบียร์ทรัปปิสต์



เบียร์แอ็บบีย์ที่รู้จักกันดีคือ Leffe เชื่อว่าตอนนี้สามารถหาดื่มไม่ยาก มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทั่วโลกทั้งในจีนและบราซิล นอกจากนี้ยังมี Affligem, Bornem, Ciney, Corsendonk, Grimbergen, Postel, St. Bernardus Watou, Tongerlo และเบียร์แอ็บบีย์ที่ผลิตในเบียร์เล็กๆ อีกมากมายหลายยี่ห้อ เอาที่ร่ายกันได้อีกยาว เอารูปมาฝากให้เปรี้ยวปากกันไปก่อนค่ะ







เบียร์ทรัปปิสต์และเบียร์แอ็บบีย์มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ Dubbel และ Tripel ซึ่งหากใครเคยแวะมาเบียร์คาเฟ่แถวเบลเยียมมาบ้างก็คงได้เห็นกันบ้างในเมนูเครื่องดื่ม ส่วนที่เมืองไทยคงต้องรอเพื่อนๆ มายืนยันกันอีกทีว่าเขาแยกเมนูกันยังไง เรามาดูกันค่ะว่า ไอดับเบิ้ลและไอทริเปิ้ล มันต่างกันยังไง

ดับเบิ้ล (Dubbel) ชื่อนี้เริ่มต้นที่ Westmalle Dubbel เบียร์ทรัปปิสต์แถวบ้านแม่สามีไอบินหลา ก่อนจะเป็นที่แพร่หลายกันในวงการ ที่เรียกว่าดับเบิ้ลเพราะเขาจะใช้ปริมาณมอลต์เป็นสองเท่าจากการผลิตเบียร์ธรรมดา มีการเพิ่มน้ำตาลอ้อยหรือคาราเมลลงไปด้วย บางสูตรก็เพิ่มสมุนไพร ผลไม้แห้งลงไปอีกหน่อยเพื่อความกลมกล่อมเฉพาะตัว เมื่อพูดถึงดับเบิ้ลจะเป็นที่รู้กันว่า หมายถึงเบียร์เหลืออำพันเข้มไปทางสีน้ำตาล (ส่วนจะเป็นน้ำตาลอ่อน-เข้มขนาดไหนขึ้นอยู่กับโรงเบียร์แต่ละแห่ง) รสชาติเข้ม อมขมเล็กน้อย ให้กลิ่นไอของมอลต์ น้ำตาลอ้อย คาราเมลและผลไม้บางชนิด คละเคล้ากันไปอย่างลงตัว ความแรงแอลกอฮอล์อยู่ในระดับชิวๆ ประมาณ ๖% - ๘% เพื่อนนักดื่มบางคนไม่ชอบรสขมของเบียร์ชนิดนี้ขอเพิ่มน้ำไซรัปลงไปก็มี

ตัวอย่างทรัปปิสต์ดับเบิ้ลที่นิยมคือ Westvleteren 8 (หาดื่มได้ยากหน่อย), Westmalle Dubbel, Chimay Red/Premiere, Koningshoeven/La Trappe Dubbel, Achel 8 Bruin, Rochefort 8

เบียร์แอ็บบีย์ที่หาดื่มได้ตามเบียร์คาเฟ่และร้านอาหารในเบลเยียมคือ Leffe Bruin, Grimbergen Dubbel, Ciney, Maredsous 8, Witkap Dubbel, Postel




ทริเปิ้ล (Tripel) ในการผลิตทริเปิ้ลเขาจะใช้มอลต์มากกว่าปกติถึง ๓ เท่าและเพิ่มน้ำตาลอ้อยลงไปด้วย สีของเบียร์ชนิดนี้จะเป็นสีบลอนด์แบบผู้ดีไฮโซ ไม่่ทองอร่ามเท่า lager ชื่อทริเปิ้ลยังบ่งบอกถึงดีกรีความแรงสุดยอดของเบียร์ในโรงเบียร์นั้นๆ ซึ่งจะมีระดับแอลกอฮอล์อยู่ที่ ๘% - ๑๐% ส่วนใหญ่ที่นิยมก็เป็นในค่ายของเบียร์ทรัปปิสต์ทั้งเจ็ด คือ Westvleteren12, Rochefort 10 , Westmalle Tripel, Chimay Tripel

เบียร์แอ็บบีย์ทริเปิ้ลที่นิยมก็เช่น Grimbergen Tripel, Leffe Tripel, St. Bernardus Watou Tripel

นอกจากนี้ยังมี "เบียร์ปาเตอร์ส" (Patersbier) หรือ fathers' beer ในภาษาอังกฤษ ที่ผลิตขึ้นเพื่อบริโภคกันภายในวัด ดื่มกินในหมู่พระสงห์ด้วยกัน บางครั้งอาจมีจำหน่ายในเบียร์คาเฟ่ของวัดหรือไม่ก็ตามงานเฟติวัลต่างๆ โดยเฉพาะทรัปปิสต์ที่ยังคงความเข็มงวดเช่น Chimay Doréeและ Petite Orval แต่สำหรับแอบบีย์เบียร์เราพอจะหาดื่มได้ไม่ยากเช่น Corsendonk Pater, Sint Bernardus Pater แห่ง Watou,

อีกประเภทนึงของเบียร์ทรัปปิสต์คือ เอ็นเกิ้ล (Enkel) หรือ Single ในภาษาอังกฤษ ที่เคยใช้เรียกเบียร์ที่มีส่วนผสมธรรมดาทั่วไป ปัจจุบันนี้โรงเบียร์ทรัปปิสต์ไม่นิยมใช้กันแล้ว แต่ละรายเขาพลิกแพลง เปลี่ยนศัพท์แสงกันใหม่ เช่น Westvleteren Blonde, La Trappe Blond, Achel 5 และ Rochefort 6

สุดท้ายคือ Quadrupel เป็นชื่อที่ทรับปปิสต์ La Trappe ใช้เรียกเบียร์ของตนที่มีดีกรีแอลกอฮอล์มากกว่าเบียร์ทริเปิ้ลของตัวเองที่ชื่อ La Trappe Tripel ไอบินหลายังไม่เคยลองดื่ม La Trappe Quadrupel เลย แต่เห็นจากระดับแอลกอฮอล์จากข้างขวด ๑๐% แล้ว คงต้องหาโอกาสงามๆ สักครั้ง

ไอบินหลาจะดื่มดับเบิ้ลมากกว่าทริเปิ้ลอย่าง Rochefort, Westmalle และ Leffe เพราะชอบรสชาติที่ติดจมูกหลังดื่ม อีกเหตุผลนึงคือเป็นคนดื่มเร็ว บางทีดื่มทริเปิ้ลแล้วลืมนึกถึงระดับแอลกอฮอล์ เดี๋ยวกระดก เดี๋ยวกระดก กว่าจะรู้สึกตัวก็ตอนกลับบ้าน โลกมันเอียง เดินหน้าสี่หลังแปด เดือดร้อนคนอื่นเค้าบ่อยๆ

ยังมีเบียร์ทริเปิ้ลดีๆ อีกหลายตัวที่ไม่ได้ถูกจัดไว้ในกลุ่มทรับปปิสต์/แอ็บบีย์ รวมถึงเบียร์แอบบีย์พิเศษที่มีขายและน่าสนใจนอกเหนือจาก Enkel,dubbel และ Tripel ไอบินหลาจะนำมารวบรวมไว้ในตอนหน้า แล้วเราค่อยว่ากันกับเบียร์เบาๆ พวกเบียร์ Lambic Gueuze และเบียร์ผลไม้กันทีหลัง







Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2555 18:14:59 น.
Counter : 22780 Pageviews.

5 comment
สุดยอดเบียร์ดังเบลเยียมที่หาดื่มได้ยากที่สุด
ในฐานะคอเบียร์และคน(อพยพ)ท้องถิ่น ไอบินหลาอยากเขียนถึงเบียร์สัญชาติเบลเยียมซึ่งติดอันดับ ๑ ใน ๓ เพื่อแนะนำให้คนไทยได้รู้จักกันดียิ่งขึ้น เผื่อใช้เป็นไกด์เวลาเข้าร้านเบียร์หรือมาเที่ยวกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, ลักแซมเบิร์ก) เพราะเบียร์เบลเยียมมีความหลากหลายทางรสชาติจึงถูกปากคนทั่โลกที่มีรสนิยมแตกต่างกันออกไป ไอบินหลามั่นใจว่าคอเบียร์คนไหนได้ลองลิ้มรสเบียร์สัญชาติเบลเยียมแล้วจะต้องติดใจทุกคน หรือแม้แต่สาวๆ ที่ไม่ชอบรสชาติขมๆ ของเบียร์ทั่วไปก็ตาม



ขอจั่วหัว entry แรกด้วยสุดยอดแห่งอุดมการณ์ของผู้ผลิต จนทำให้เบียร์ของเขาเป็นที่ขึ้นชื่อและโด่งดังที่สุดสำหรับคอเบียร์ทั่วโลกคือ Trappist Westvleteren



โรงเบียร์แห่ง St Sixtus monastery หรือที่เรียกกันติดปากว่า Westvleteren เริ่มในปีค.ศ.๑๘๓๘ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแห่งปลูกฮ็อบส์ชั้นดีแถบเมือง Poperinge และไม่ไกลกันนั้นเป็นเมืองเล็กๆ ชื่อ Watou ที่นอกจากจะเป็นที่รู้จักด้านนิทรรศการ modern art ซึ่งจัดขึ้นทุกหน้าร้อนของทุกปีแล้วยังโรงเบียร์ที่ผลิตเบียร์ด้วยกรรมวิธีและมีรสชาติคล้ายคลึงกันอีก ๒-๓ แห่ง

ด้วยความพิถีพิถันที่นักบวชในสำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งใจสรรค์สร้างให้คอเบียร์ได้ลิ้มลองรสชาติท่ีนุ่มละมุน และคงความเป็นเบียร์คุณภาพ ทำให้ผลิตผลในแต่ละปีจึงมีปริมาณที่จำกัด เป็น elite bier ไปโดยปริยาย



ทางวัดมีปณิธานที่แน่ชัดว่าจะไม่ผลิตเบียร์เพื่อการพาณิชย์ แต่หากเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและบำรุงรักษาวัดเท่านั้น ดังที่หลวงพ่อ Abbott กล่าวไว้ว่าอย่างชัดเจนว่า “เราไม่ใช่โรงเบียร์ เราเป็นนักบวช เราผลิตเบียร์เพื่อให้สามารถดำรงอยู่สถานะของนักบวชได้” และนักบวชชื่อ Mark Bode เคยพูดถึงเหตุผลที่ไม่เพิ่มจะนวนการผลิตเบียร์ไว้ว่า “เราผลิตเบียร์เพื่ออยู่ แต่ไม่ได้อยู่เพื่อผลิตเบียร์”



เมื่ออุปทานมีน้อยกว่าอุปสงค์ทำให้ราคาเบียร์แพงดุเดือด อยู่ที่ประมาณ ๓๐ – ๔๐ ยูโรต่อลัง (หนึ่งลังมี ๒๔ ขวด และตอนนี้ยูโรนึงตกประมาณ ๔๐ บาท) อันนี้เป็นราคาหน้าโรงเบียร์ที่ไม่รวมค่ามัดจำขวดและลังเบียร์อีกประมาณ ๑๒ ยูโร

ด้วยกฎอันเข้มงวดของทางวัดที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันพวกนายหน้าค้ากำไร เมื่อก่อนทางวัดจะเปิดขายกันเพียงปีละหน แฟนประจำของ Westvleteren แต่ละคนยอมเดินทางไกลถึงขั้นข้ามน้ำ ข้ามประเทศมาค้างคืนรอซื้อเบียร์กันเลยทีเดียว



ปัจจุบันทางวัดยังคงอุดมการณ์ที่ชัดเจนคือไม่ผลิตเพื่อค้าส่งและไม่มีผู้จัดจำหน่าย แต่เปิดให้ทุกคนสั่งซื้อตรงได้กับทางวัดทุกๆ ๖๐ วัน โดยจำกัดจำนวนไว้ที่ ๑ ลัง ต่อชื่อบุคคล หมายเลขโทรศัพท์ และป้ายทะเบียนรถ ผู้ซื้อทุกคจะได้รับใบเสร็จที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามขายต่อ” ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยเห็นเบียร์ชนิดนี้ในเบียร์คาเฟ่ (ชาวเบลเยียมเรียกร้านเบียร์หรือที่เที่ยวกลางคืนจำพวกนี้ว่า Café) ยกเว้นร้านขายเบียร์ที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งพอจะหาได้ในบรัสเซลส์ อัมสเตอร์ดัม และบางเมืองในสหรัฐอเมริกา

ส่วนไอบินหลาอาศัยมอดดื่มฟรีบ้านเพื่อนไปเรื่อย ควักเบี้ยซื้อเมื่อตอนไปเที่ยวอัมสเตอร์ดัมใน Staande Mastroute ครั้งเดียว ตกขวดละ ๗ - ๑๒ ยูโร



เรามารู้จักชนิดเบียร์ขึ้นชื่อยี่ห้อนี้กันอีกนิด ของแท้และดั้งเดิมจะต้องไม่มีฉลากปิดข้างขวด แต่เขานำข้อความที่สำคัญมาพิมพ์ไว้ที่ฝาจีบด้านบน เราสามารถแยกประเภทของเบียร์ได้ตามสีของฝาจีบที่ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดคือ
Westvleteren Blonde ฝาสีเขียว แอลกอฮอล์ ๕.๘ เปอร์เซนต์
Westvleteren 8 ฝาสีฟ้า แอลกอฮอล์ ๘ เปอร์เซนต์
Westvleteren 12 ฝาสีเหลือง แอลกอฮอล์ ๑๐.๒ เปอร์เซนต์



เบียร์ Westvleteren 12 เคยครองแชมป์สุดยอดของเบียร์ระดับโลกจากหลายสำนักทั้งฝั่งยุโรปและและฝั่งอเมริกา ข้อแนะนำในการด่ืมเบียร์ทราปีสต์คือ ดื่มช้าๆ แกล้มชีสหรือไส้กรอก .. หากเป็นเมืองไทยก็ควรดื่มในหน้าหนาว หรือคืนฝนตก แกล้มถั่วเค็ม ม็ดมะม่วงหิมพานต์ รับรองหรอยจังหู !!!




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2555 4:14:28 น.
Counter : 8190 Pageviews.

6 comment

barby
Location :
Cascias  Portugal

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



New Comments