การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง

การตรวจการตกไข่
วิธีการเดียวที่จะบอกได้แน่ชัดว่าไข่ตกออกมาจากรังไข่ของผู้หญิงทุกเดือนหรือไม่คือการสังเกตการตกของไข่ออกมาจากรังไข่โดยตรง แต่ไม่มีวิธีการใดที่จะทำเช่นนั้นได้โดยไม่ต้องทำให้เกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นความพยายามที่จะบอกวันที่ไข่ตกจึงทำได้เพียงการสังเกตอาการหรือผลที่เกิดจากกระบวนการตกไข่นั่นเอง ซึ่งการแพทย์ในอดีตได้มีการพยายามค้นหาวิธีการต่างๆเพื่อสังเกตการตกไข่ เช่น การตรวจอุณหภูมิของร่างกาย หรือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของมูกปากมดลูก แต่ก็มักพบความคลาดเคลื่อนได้สูง ปัจจุบันเนื่องจากมีเครื่องมือที่ก้าวหน้ามากขึ้น ขึงช่วยให้แพทย์ตรวจการตกไข่ได้ง่ายขึ้น และแม่นยำมากขึ้น วิธีการดังกล่าวคือการตรวจอัลตร้าซาวด์และการตรวจเลือด

การตรวจฮอร์โมนต่างๆ
การตรวจความเข้มข้นของฮอร์โมน Follicle stimulating hormone: FSH และ LH ในเลือด จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ ระดับของ FSH นั้นจะสูงมากในผู้หญิงที่รังไข่ล้มเหลว และในรายที่มีซิทส์ที่รังไข่ระดับของ LH จะมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ระดับของฮอร์โมน Estrogen ในเลือดก็สามารถทำการตรวจได้เช่นเดียวกัน ค่าที่แน่ชัดนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาของรอบเดือน ผลการตรวจนั้นช่วยในการวินิจฉัยปัญหาของรังไข่ได้ ระดับ Estrogen ต่ำหมายถึงการทำงานของรังไข่ไม่ดี พบได้ในพวกที่รังไข่ล้มเหลว ระดับฮอร์โมน Prolactin ในเลือดควรได้รับการตรวจด้วยเช่นกัน ถ้าพบว่าระดับ Prolactin ในเลือดสูงจะทำการตรวจซ้ำเพื่อป้องกันการวนิจฉัยผิดพลาดจากความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ Prolactin สูงขึ้นได้ แต่เพียงในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น การที่มีระดับ Prolactin ในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อการตกไข่ และอาจเกิดจากเนื้องอกที่ต่อม Pituitary

Hysterosalpingogram (HSG)
เป็นการตรวจด้วยการ X-ray ดูภาพของโครงร่างของโพรงมดลูกและท่อนำไข่ วัตถุประสงค์ของการตรวจนี้จะกระทำเพื่อวินิจฉัยว่าท่อนำไข่ทั้งสองข้างมีการอุดตันหรือไม่ นอกจากนี้ผลการตรวจจะยังแสดงให้เห็นได้ว่าโพรงมดลูกมีรูปร่างผิดปกติไปหรือไม่ จากการที่มีเนื้องอกอยู่ภายในหรือความผิดปกติของมดลูกเองแต่กำเนิด นอกจากนี้การตรวจนี้ยังมีประโยชน์ในการวินิจฉัย Asherman’s syndrome (ภาวะที่ผนังโพรงมดลูกติดกัน) โดยปกติการตรวจจะกระทำเมื่อแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นจึงจะทำการตรวจในวันที่ 10 ของรอบเดือน เมื่อจะทำการตรวจแพทย์จะใส่เครื่องมือขยายช่องคลอดเพื่อให้สามารถมองเห็นปากมดลูกได้ชัดเจน แพทย์จะทำความสะอาดปากมดลูกและจะฉีดสีซึ่งเป็นสารทึบแสงผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกอย่างช้าๆโดยใช้ท่อเล็กๆใส่เข้าไปในปากมดลูก ในเวลาเดียวกันนักรังษีวิทยาก็จะทำการ X-ray และหากท่อนำไข่ไม่อุดตันก็จะเห็นสีที่ฉีดเข้าไปนั้นไหลผ่านท่อนำไข่ออกไปในช่องท้อง
สิ่งสำคัญคือจะต้องแน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์ในขณะที่จะทำการตรวจ และหากเคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน แพทย์จะเลือกทำการตรวจด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้องและฉีดสีแทนการทำ HSG หากมีประวัติการแพ้สารไอโดดีน เช่นแพ้อาหารทะเลจะไม่สามารถทำการตรวจด้วย HSG เนื่องจากสีที่ใช้ในการตรวจนั้นประกอบด้วยสารไอโอดีน การตรวจ HSG เป็นการตรวจคัดกรองที่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อย สามารถคัดกรองผู้ที่มีท่อนำไข่อุดตันได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผลการตรวจที่พบจากการทำ HSG นั้นต้องการการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการฉีดสี นอกจากนี้การตรวจ HSG ไม่ได้บ่งบอกสิ่งที่อยู่ภายนอกโพรงมดลูกและท่อนำไข่ภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากเช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และพังผืดที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในอดีต

Laparoscopy and dye test (ส่องกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการฉีดสี)
หากเป็นไปได้ ผู้มีบุตรยากควรได้รับการตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสี เนื่องจากการตรวจชนิดนี้ให้ผลการตรวจซึ่งตอบสนองถึงสองจุดมุ่งหมายของการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากทั้งสภาพของท่อนำไข่และให้ข้อมูลที่ชัดเจนของสภาพภายในอุ้งเชิงกราน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือปัญหาอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก อย่างไรก็ตามการตรวจจะต้องกระทำเมื่อแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ในขณะนั้น
การตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีสามารถทำได้ในวันเดียวและไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล โดยจะต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการตรวจเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไปเนื่องจากจะมีการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกนั้นจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น และการฟื้นคืนสิติจะกลับมาสมบูรณ์ภายในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการตรวจเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง
หลังจากให้ยาระงับความรู้สึก แพทย์จะทำการกรีดผิวหนังบริเวณไต้สะดือเป็นแผลยาวประมาณ 0.3 – 0.5 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องมือที่ใช้ เพื่อนำกล้อง (Laparoscope) ลงไปในช่องท้อง และทำการตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้รังไข่ ท่อนำไข่ และมดลูก ในอุ้งเชิงกรานจะได้รับการตรวจด้วยว่ามีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือพังผืดเกิดขึ้นหรือไม่ ในบางกรณีแพทย์อาจทำการกรีดผิวหนังอีกแผลหนึ่งเล็กๆต่ำลงมาจากไต้สะดือเหนือหัวหน่าว เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปช่วยจับอวัยวะต่างๆ เพื่อช่วยให้การตรวจทำได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การฉีดสีเข้าไปในท่อนำไข่ระหว่างการส่องกล้องทางหน้าท้องนั้น จะช่วยตรวจสภาพของท่อนำไข่ได้ชัดเจน โดยแพทย์จะทำการฉีดสีเมธิลีนบลู (Methylene blue) ผ่านปากมดลูกเข้าไปยังมดลูกอย่างช้าๆ หากท่อนำไข่ไม่อุดตัน สีก็จะไหลผ่านปลายเปิดของท่อออกมาให้เห็นในอุ้งเชิงกรานได้
การตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีนั้นแม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่นอาจมีอาการท้องอืดแน่นท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปใน 1 – 2 วัน นอกจากนี้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหรือในช่องท้อง รวมถึง ลำไส้ และเส้นเลือด อาจได้รับบาดเจ็บในระหว่างการตรวจ หากการบาดเจ็บนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดเข้าไปแก้ไข และจะต้องนอนพักในโรงพยาบาล

Hysteroscopy (การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก)
ทำได้โดยใส่กล้องที่ใช้สำหรับการตรวจผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก น้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาตรเพียงเล็กน้อยจะถูกใส่เข้าไปเพื่อขยายโพรงมดลูกออก เพื่อช่วยให้มองเห็นสภาพภายในได้อย่างชัดเจน การตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยสภาพภายในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอกในโพรงมดลูก มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ Asherman’s syndrome (ภาวะที่ผนังโพรงมดลูกติดกัน) และสาเหตุบางประการที่ทำให้มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการตรวจนี้จำเป็นต้องให้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรืออาจให้เพียงยานอนหลับ และอาจทำร่วมกับการตรวจการตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีเพื่อจะสามารถประเมินสภาพของมดลูกและท่อนำไข่ได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียว

การตรวจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
นอกจาการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแล้ว ผู้หญิงยังต้องรับการตรวจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่การตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันในเลือด หัดเยอรมันนั้นเป็นเชื้อไวรัส เมื่อติดเชื้อจะทำให้มีไข้ และมีผื่นตามตัว และเมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อซ้ำอีก และถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสนี้ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทารกมีความพิการของร่างกายขั้นรุนแรง ดังนั้นสำหรับผู้หญิงที่ตรวจแล้วว่าไม่มีภูมิคุ้มกันจะได้รับการฉีดวัคซีนให้ก่อนที่จะเริ่มรักษาให้ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังอาจได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และไวรัสตับอักเสบบีและซี การตรวจเลือดอื่นๆได้แก่การตรวจหมู่เลือด ตรวจนับเม็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด และการตรวจโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย เช่น ธาลัสซีเมีย



Create Date : 05 กรกฎาคม 2553
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:26:21 น. 3 comments
Counter : 4299 Pageviews.

 
ได้ผ่าตัดชอคโกแลคซีสส่องกล้องผ่านทางหน้าท้องพร้อมทั้งฉีดสีผลปรากฏว่าท่อนำไข่ด้านขวาตัน แล้วเราต้องรักษายังไงต่อค่ะ


โดย: ปุ๋ม IP: 118.173.122.229 วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:19:46:45 น.  

 
ส่วนมากเป็น Endometriosis จะมีปัญหามีบุตรยากเนื่องจาก chocolate cyst ที่รังไข่ ส่งผลต่อการตกไข่ พังผืดในช่องท้อง ส่งผลต่อการจับไข่ของท่อนำไข่ และท่อนำไข่อุดตัน 1 ข้าง อีกข้างก็ไม่แน่ว่าจะดีนัก น่าจะรักษาด้วยวิธี เด็กหลอดแก้วบลาสโตซิสท์มากกว่า ถ้าจะฉีดเชื้อหรือ GIFT ข้างที่ท่อไม่ตัน ก็อาจลองดูได้แต่ถ้าอายุมากก็อย่ารอนานนักนะคะ เอาใจช่วยค่ะ


โดย: Nomadus วันที่: 7 กันยายน 2553 เวลา:9:17:03 น.  

 
สวัสดีค่ะ ประจำเดือนมา 13 กย 55 หนูไปฉีดสี มาวันที่ 21 กย 55 แต่พอมาถึงวันที 12 ตค 55 มีอาการเหมือน ปจด. แต่เปนตกขาว ท 13 ตค 55 ก็มี เลือดออกมาเท่าเหรียญบาท เป็นช่วงบ่าย 14 ตค 55 ก็ออกมาเหมือนกัน แต่ตอนกลางคืน ไม่มีเลือดเลย และวันที่ 15 ก็ยังมีเลือดมานิดเดียว คือหนูกังวลจะมีผลมาจากการฉีดสีหรือป่าวคะ แต่ผลการฉีด ว่าปกติ ไม่มีปัญหาอะไร ค่ะ กลัวมากๆๆเลยคะ แต่ลองเทส ดูแล้วว่าไม่ท้อง
รบกวนตอบหนูด้วยนะคะ


โดย: taky IP: 182.52.33.39 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2555 เวลา:16:09:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

Nomadus
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประวัติการศึกษา
-ปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1992 - 1996
-Certificate of Workshop on Professional Counseling, National University Hospital, Singapore, April 2000
-Certificate of CGFNS Certification Program, the Commission on Graduates of Foreign Nursing School, Philadelphia, Pennsylvania, United States of America, September 2003

ประวัติการทำงาน
2006 – ปัจจุบัน Managing Director, Fertility Center Co.,Ltd
1999 - 2005 Blastocyst Center, Infertility Counselor: ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอนามัย การเจริญพันธุ์
1996 - 1999 Newborn Intensive Care Unit, Incharged Nurse: ดูแลทารกแรกเกิดอาการปกติ และทารกแรกเกิดอาการวิกฤตในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และให้คำแนะนำปรึกษาในการเลี้ยงดูทารกแก่บิดามารดา
[Add Nomadus's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com