แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
จุดไอเดียรักษาสิ่งมีค่า รับปัญหาพายุ-น้ำท่วมฉับพลัน(ตอนที่ 1)

จุดไอเดียรักษาสิ่งมีค่า

รับปัญหาพายุ-น้ำท่วมฉับพลัน(ตอนที่ 1)

+++++++++++++++++++++

"ภัยธรรมชาติทำให้ผู้ประสบภัยต้องสูญเสียทรัพย์มีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลอันเป็นที่รัก นอกเหนือจากเอกสารสำคัญต้องรักษาไว้สุดชีวิต วิลลิส คอลัมนิสต์ ซีเอ็นเอ็น มันนี่ ได้รวบรวมข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ นำเสนอเคล็ดลับ 5 ข้อ ช่วยคนไทยทั้งในและต่างประเทศ ปรับตัวป้องกันสิ่งมีค่าหวงแหนดั่งชีวิตจิตใจได้ทัน"

++++++++++++++++++++++++++++

เมื่อเร็วๆ นี้ หลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ มีข่าวประสบภัยธรรมชาติ เป็นอุทกภัยมีความรุนแรงสร้างความเสียหายให้กับเชียงใหม่มากที่สุดในรอบ 40 ปี

ผู้ดูแลคอลัมน์ Tricks and Tips ในอดีตเคยใช้ชีวิตนักศึกษา พำนักพักอยู่หอหญิงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มานานกว่า 4 ปี เดินทางซอกแซกกับเพื่อนร่วมรุ่น ไปเกือบทุกที่หรือเกือบจะทั่วทั้งจังหวัด จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาออกมาหาประสบการณ์ในวงการสื่อไทยมานานกว่าทศวรรษ ก็ยังไม่เคยพบหรือได้ยินปัญหาน้ำท่วมรุนแรงเช่นนี้มาก่อน

แม้แต่กรุงเทพฯ เมืองหลวงดินแดนศิวิไลซ์ของคนเมือง เคยมีข่าวพยากรณ์อากาศจนทำให้ผู้คนพากันกลัว และลุ้นระทึกกันว่า ทั้งเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำมากน้อยแค่ไหน หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุฝนรุนแรง กระหน่ำพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุง

ในสหรัฐช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีข่าวแพร่ภาพไปทั่วโลกว่า พายุเฮอร์ริเคนถล่มมลรัฐนิวออร์ลีนส์ สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่ไปมากมาย จนต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะบูรณะซ่อมสร้าง ทั้งที่พักอาศัย และอาคารสำนักงานต่างๆ ให้ดีและใช้งานได้เหมือนเดิม

ดังนั้นหัวเรื่อง "ปกป้องสิ่งมีค่าของคุณ" ของเกอร์รี่ วิลลิส คอลัมนิสต์มือโปรแห่งซีเอ็นเอ็น มันนี่ จึงโดนใจ Tricks and Tips ว่าจะเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์ให้กับคนไทย และคนไทยในต่างประเทศ ได้พิจารณานำไปเป็นข้อมูลเพื่อการเตรียมตัวระวังภัยอาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยความพร้อมเสมอที่จะเก็บรักษาทรัพย์สมบัติ โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว และบุคคลอันเป็นที่รักให้อยู่ครบ และพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่พัดหายหรือสาบสูญไปกับกระแสน้ำ

วิลลิสเข้าใจหัวอกของผู้ประสบอุทกภัยว่า ไม่เพียงแต่เศร้าและปวดใจไปกับการสูญเสียบุคคลในครอบครัว หรือการจัดการกับซากอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง ที่ถูกน้ำท่วมทำลายจนเสียหายเท่านั้น

แต่ในบางครั้งความไม่ระวังหรือเตรียมตัวรับภัยธรรมชาติ ทำให้ผู้ประสบภัยต้องสูญเสียทรัพย์มีค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลอันเป็นที่รัก นอกเหนือจากเอกสารสำคัญ หรือสิ่งหวงแหนต้องรักษาไว้จนสุดชีวิต เพราะของเหล่านี้อาจเปี่ยมด้วยคุณค่า และความทรงจำอันงดงามของครอบครัว

ดังนั้นวิลลิสจึงรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ นำเสนอเป็นกลเม็ดเคล็ดลับ 5 ข้อ ช่วยคนไทยทั้งในและต่างประเทศ สามารถปรับตัวเตรียมการป้องกันรักษาสิ่งมีค่าหวงแหนดั่งชีวิตจิตใจได้ทันท่วงที ก่อนจะเผชิญกับภัยธรรมชาติซึ่งเกิดขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้ตลอดเวลา

"ควรรู้แหล่งช่วยตามหาสมาชิกในครอบครัวที่พลัดหลงหรือหายสาบสูญ" ข้อเสนอแนะนี้วิลลิสให้ความสำคัญกับบุคคลเป็นอันดับแรก เพราะยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติสิ่งของมีค่า คือ สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องอยู่ครบ ในยามเกิดอุทกภัยแบบฉับพลัน

ในสหรัฐมีสภากาชาดซึ่งจัดตั้งหน่วย Family Links Registry ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยธรรมชาติ และพลัดหลงกับญาติสนิทมิตรสหาย ได้มีโอกาสหรือมีแหล่งเป็นความหวัง สามารถช่วยพวกเขาสืบเสาะหาบุคคลอันเป็นที่รัก

โดยผู้อพยพต้องลงทะเบียนระบุชื่อกับสถานที่พำนักที่ติดต่อได้ รวมทั้งตรวจสอบรายชื่อสมาชิกในครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก ได้จากหมายเลขโทรศัพท์ (877) 568-3317 หรือเข้าไปค้นหาในเวบไซต์ //www.redcross.org.

วิลลิสยังแนะนำให้ผู้คนทั่วไปที่ยังไม่เคยประสบเหตุจากอุทกภัย ได้ฉุกคิดจดจำขั้นตอนควรปฏิบัติ ก่อนเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมาจริงๆ หากไม่ต้องการให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวสูญหาย หรือพลัดหลงแบบไร้ทิศไร้ทาง ขอให้หารือกำหนดจุดนัดพบ ซึ่งอยู่นอกพื้นที่อันตราย และเป็นจุดนัดพบที่ทุกคนรู้จัก ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ทุกคนในครอบครัวมีแผนพร้อมอยู่ในใจในยามเกิดกรณีฉุกเฉิน

"ปกป้องรักษารูปถ่ายของครอบครัวไว้" การสูญเสียรูปภาพหรือภาพถ่าย รวมทั้งวิดีโอหรือแผ่นซีดี ที่รวบรวมความทรงจำไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แม้จะมีประกันภัยครอบคลุม มีการให้เงินชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ แต่ในความเห็นของวิลลิสเงินกลับไม่สามารถเทียบหรือทดแทนกันได้

เพื่อเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้หรือมานั่งเสียใจภายหลัง วิลลิสจึงถ่ายทอดคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญการเก็บรักษา ลดความเสียหายให้เกิดขึ้นกับหนังสือภาพหรือรูปถ่าย โดยให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศจำเป็นต้องรอบคอบระมัดระวัง ไม่ให้สีเคลือบหรือผิวหน้าภาพเสียหาย

เจ้าของอัลบั้มหรือภาพถ่าย ที่โชคดียังไม่สูญเสียหรือสามารถค้นหาภาพถ่ายหรืออัลบั้มรูป ซึ่งสามารถหาเจอระหว่างเกิดภัยพิบัตินั้น อันดับแรกให้ใช้น้ำชะล้างสิ่งสกปรกออกให้มากที่สุด นำภาพที่ชะล้างแล้วใส่ถุงพลาสติกที่สามารถปิดล็อกปากถุงได้แน่น

ถ้าเป็นไปได้ให้ใช้กระดาษไขวางคั่นระหว่างภาพที่เปียกน้ำด้วย และบางครั้งถ้าอากาศแห้งร้อนมาก เป็นเรื่องจำเป็นต้องรีบนำภาพแช่ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น หลังจากตั้งหลักได้จึงค่อยนำภาพแช่แข็งออกมาวางทิ้งไว้ให้น้ำแข็งละลายและปล่อยให้แห้งเองตามธรรมชาติ

แต่กรณีที่ไม่มีที่แช่แข็งหรือตู้เย็น ให้ชะรูปเปียกด้วยน้ำสะอาด จากนั้นให้ทำแห้งด้วยการซับผิวหน้ารูปให้แห้ง ขอให้จำไว้เสมอว่า อย่าทำให้รูปแห้งด้วยการตากรูปกับแสงแดดโดยตรง และอย่ากังวลหากรูปโค้งงอเวลาแห้งแล้ว เพราะจะมีผู้เชี่ยวชาญการเก็บรักษาภาพถ่ายทั่วไป คอยให้คำแนะนำช่วยให้รูปภาพกลับมาเรียบอยู่ในสภาพใกล้เคียงของเดิม

ทิน่า เมสัน ผู้เชี่ยวชาญจาก Regional Alliance for Preservation แนะนำด้วยว่า ผู้ประสบปัญหาสามารถเก็บรักษารูปถ่าย ด้วยการบรรจุรูปไว้ในกล่องที่ปลอดจากสารใดๆ ที่มีความเป็นกรด และเก็บให้พ้นจากพื้นดิน รวมทั้งต้องเก็บรูปหรือภาพถ่ายให้ห่างจากหน้าต่าง หรือในบริเวณที่มีแดดจ้ามากเกินไป

Tricks and Tips ฉบับหน้ายังมีกลเม็ดเคล็ดลับอีกบางส่วน ซึ่งวิลลิสรวบรวมจากผู้เชี่ยวชาญการเก็บรักษาสิ่งของมีค่าทั่วสหรัฐ มาฝากให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศได้ลองนำไปปฏิบัติ หรือประยุกต์ใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวัน เพื่อเตรียมพร้อมรับภัยธรรมชาติ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมงและในอนาคตนับจากนี้ไป



Create Date : 30 ตุลาคม 2548
Last Update : 30 ตุลาคม 2548 13:07:30 น. 0 comments
Counter : 385 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com