แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
เอกซเรย์ "บอนด์น้ำมัน" หาจุดเด่น-ข้อด้อยก่อนลงทุน

เอกซเรย์ "บอนด์น้ำมัน" หาจุดเด่น-ข้อด้อยก่อนลงทุน



โดยทีม Fundamentals


แม้ "กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น" จะเป็นนางเอกที่ฮอตข้ามปี แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกอย่างหนึ่งที่เรียกความสนใจจากนักลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ได้แก่ "บอนด์น้ำมัน" หรือ "พันธบัตรกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง" ที่เปิดให้จองซื้อได้ในวันนี้

บอนด์ล็อตนี้ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับ AA- จากบริษัท ทริส เรทติ้ง ซึ่งถือว่าเป็นระดับ ที่น่าพอใจ แต่ยังคงถูกตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับรายได้ของกองทุนน้ำมันที่จะนำมาชำระหนี้พันธบัตรในอนาคต แต่ในทางกลับกัน เสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายคน ยังแสดงความเห็นถึงพันธบัตรน้ำมันใน "แง่บวก"

ยิ่งสงสัย และพูดถึงข้อดีข้อด้อยมากกันเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนว่า ทำให้บอนด์ล็อตนี้ทั้ง "ฮอต" และ"ฮือฮา" มากขึ้นจนต้องปรับวงเงินที่ออกเพิ่มเป็น 2.64 หมื่นล้านบาท

หากคุณเองก็ยังลังเลอยู่ไม่น้อย Fundamentals ฉบับนี้ จึงหยิบแง่มุมต่างๆ ของพันธบัตรล็อตนี้มานำเสนอ เพื่อให้คุณได้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

**********

แม้จะยืดเยื้อมาได้พักใหญ่ แต่ในที่สุดมติการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 20 ก.ย. 2548 ก็ได้ไฟเขียวให้แก้ไขมติ ครม.เดิมที่ให้มีการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 8.5 หมื่นล้านบาท โดยสามารถให้กองทุนกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ด้วย โดยหลักการในการออกพันธบัตรดังกล่าว ยังเป็นแบบเดิมทุกประการ คือ ให้ออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากสถาบันการเงินได้โดยอายุพันธบัตรจะมีอายุไม่เกิน 5 ปี และให้ออกในล็อตแรก เดือน ต.ค.จำนวน 2.2 หมื่นล้านบาท และงวดที่สองประมาณเดือน ก.พ. 2549 อีกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท

แต่ยังไม่ทันได้เปิดขาย ก็มีการเพิ่มวงเงินบอนด์ล็อตนี้เพิ่มอีก 4.4 พันล้านบาท เป็น 2.64 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มเฉพาะบอนด์อายุ 3 ปี โดยพันธบัตรล็อตแรกจำนวน 2.64 หมื่นล้านบาทนี้ แบ่งเป็นพันธบัตรอายุ 1 ปี วงเงิน 8,800 ล้านบาท อายุ 2 ปี วงเงิน 8,800 ล้านบาท และ 3 ปี วงเงิน 8,800 ล้านบาท

สำหรับอายุพันธบัตร 1 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.28% อายุ 2 ปี อยู่ที่ 5.26% และอายุ 3 ปี อยู่ที่ 5.87% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่น่าพอใจ เพราะสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยของตลาดในปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดหาเงินมาเพื่อใช้หนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วถือได้ว่าเป็นอัตราที่ไม่แพงจนสร้างภาระมากเกินไป ในขณะเดียวกันอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในพันธบัตรนี้ เพราะสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ และนับว่าเป็นพันธบัตรระยะสั้นเพียงพันธบัตรเดียวที่ออกมาในช่วงนี้

"อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวคาดว่าจะเป็นแรงจูงใจที่ดีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรน้ำมัน โดยการขายให้กับสถาบัน และประชาชน หากมีผู้สนใจจองเกินวงเงินแล้วจะจัดสรรเพิ่มหรือไม่ คงจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดต่อไป" "ศิวะนันท์ ณ นคร" ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพ.) ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ยังได้ปรับสัดส่วนการเสนอขายใหม่ โดยเพิ่มสัดส่วนการขายให้กับนักลงทุนสถาบันเพิ่มเป็น 60% ของมูลค่าพันธบัตรที่เสนอขายทั้งหมด ขณะที่นักลงทุนรายบุคคลได้ปรับลดสัดส่วนการขายเหลือ 40% จากเดิมที่ สบพ. จะเสนอขายให้นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มนี้ในอัตราส่วน 50% เท่ากัน

สาเหตุที่ สบพ.ได้ปรับเพิ่มมูลค่าการขาย และปรับสัดส่วนการขายให้กับนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการสำรวจความต้องการซื้อของผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งพบว่านักลงทุนกลุ่มนี้ให้ความสนใจจองซื้อพันธบัตรของกองทุน มากกว่าจำนวนที่เสนอขายอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของพันธบัตรรุ่นอายุ 3 ปี ซึ่งมีความต้องการล้นถึง 5 เท่า ทาง สบพ. จึงตัดสินใจปรับสัดส่วนและมูลค่าการขาย

สำหรับนักลงทุนสถาบันได้เปิดให้มีการจองซื้อตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนนักลงทุนรายย่อยจะเปิดจองในวันที่ 10-12 ต.ค.นี้ ผ่านสาขาธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย นครหลวงไทย และทหารไทย

ทั้งนี้ พันธบัตรน้ำมันเป็นส่วนหนึ่งในการออกมาจัดจำหน่ายเพื่อใช้หนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำไปตรึงราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 2547 จนส่งผลทำให้หนี้น้ำมันมีรวมกว่า 92,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สบพ.จะออกพันธบัตรเพียง 42,000 ล้านบาท เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะกู้เงิน และรีไฟแนนซ์หนี้จนครบ 85,000 ล้านบาท

"สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 1.5-1.6 พันล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 4 สตางค์ต่อลิตร เบนซิน 95 ที่ 1.50 บาทต่อลิตร และ 91 ที่ 1.30 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นรายได้ที่แน่นอน และเชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น"

ขณะเดียวกัน พันธบัตรดังกล่าวมีระยะสั้น-ปานกลาง รวมทั้งมีโครงสร้างและแหล่งรายได้การชำระหนี้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการในการให้ความคุ้มครองนักลงทุนให้ได้รับชำระหนี้อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา สบพ. จึงมั่นใจว่าพันธบัตรชุดนี้จะได้รับความสนใจในวงกว้าง

แม้ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันพันธบัตรของ สบพ. เนื่องจากข้อห้ามตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 แต่พันธบัตรของ สบพ. ก็ยังคงมีสถานะที่มั่นคง เนื่องจาก สบพ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ตลอดจนได้รับเงินสนับสนุนในรูปเงินยืมไม่มีดอกเบี้ยจำนวน 12,000 ล้านบาท จากรัฐบาลหากเกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยให้ สบพ.ทยอยเบิกตามความจำเป็น และให้ชำระคืนภายหลังจากการชำระหนี้พันธบัตร และเงินกู้ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว

"การออกพันธบัตรครั้งนี้จะออกอายุ 1-3 ปี แทนที่จะออกอายุ 5 ปี เพราะนักลงทุนให้ความสนใจพันธบัตรระยะสั้นมากกว่า ขณะเดียวกันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ สบพ.ต้องปรับแผนดังกล่าว ส่วนสาเหตุของการปรับลดวงเงิน เนื่องจากภาวะอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อการออกตราสาร และการที่รัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเร็วกว่ากำหนด 6 เดือน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ทำให้กองทุนไม่มีภาระสูงมากจึงได้ปรับลดวงเงินดังกล่าวลง "

นั่นเป็นข้อมูลจากผู้ออกบอนด์อย่าง สบพ. ลองมาฟังข้อดี และข้อด้อยที่คนในแวดวงการเงินพูดถึงกันบ้างดีกว่า จะได้บาลานซ์ข้อมูลก่อนตัดสินใจ

@ผลตอบแทนสูง...ข้อดีที่ทำให้บอนด์ล็อตนี้โดดเด่นขึ้นมา คงเป็นเรื่องของผลตอบแทน "ธีระศันส์ ทุติยะโพธิ" ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บลจ.อเบอร์ดีน มองว่า พันธบัตรน้ำมันที่ออกมานี้ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง โดยหากเปรียบเทียบกับผลตอบของพันธบัตรอายุ 3 ปีในปัจจุบันอยู่ที่ 4.67% แต่บอนด์น้ำมันอายุ 1 ปี ก็ให้ดอกเบี้ยถึง 4.28% เข้าไปแล้ว

ตรงนี้เชื่อว่าผู้ออกบวกผลตอบแทนเข้ามาให้ค่อนข้างเยอะ เพราะต้องการความมั่นใจว่าจะสามารถขายได้หมด เพราะ 2.64 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าเป็นขนาดการระดมทุนที่ไม่น้อย เมื่อผู้ลงทุนเห็นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็คงจะลืมเรื่องอื่นไปหมด

@เครดิตเรทติ้งดี.... จุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ช่วยกลบความเสี่ยงไปได้เยอะคือ มีเครดิตเรทติ้งที่ดี "ดร.สันติ กีระนันทน์" ผู้จัดการตลาดตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกว่า สำหรับพันธบัตรน้ำมันล็อตนี้หลายคนบอกว่าอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ทั้งๆ ที่เรทติ้งก็อยู่ในระดับที่ดี คือ AA- ซึ่งการที่ออกพันธบัตรมาแล้วยังให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงน่าจะทำให้มั่นใจว่าขายได้หมดเท่านั้นเอง เพราะว่าตอนนี้ภาวะของนักลงทุนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจอยู่ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง

"นักลงทุนชอบฝังใจว่าดอกเบี้ยขาขึ้นไม่ควรลงทุนในพันธบัตร ซึ่งคงไม่ใช่อย่างที่นักลงทุนเข้าใจ ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนต้องการลงทุน ณ ขณะใด ถ้าเขาต้องการลงทุนตอนนี้เลย ก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง ผมคิดว่าคนที่จะลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าตัวเองวางระยะเวลาการลงทุนไว้ยาวสักเท่าไร เพราะฉะนั้นนักลงทุนต้องตอบ 2 อย่างนี้ให้ได้ แล้วถึงจะนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะลงทุนในพันธบัตรประเภทไหน"

ดร.สันติ มองว่า การที่บอนด์น้ำมันให้ดอกเบี้ยสูง คงไม่ได้สื่อกลับไปว่าบอนด์น้ำมันมีความเสี่ยงสูงไปด้วย นั่นเป็นเรื่องที่นักลงทุนคิดไปเอง เราต้องเชื่อว่าเครดิตเรทติ้งที่ออกมา AA- จัดทำโดยบุคคลที่สามที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนได้เสีย เพราะฉะนั้นไม่มากก็น้อยต้องเชื่อ ไม่งั้นระบบเครดิตเรทติ้งมันพังทั้งระบบ ถ้าไม่เชื่อเสียแล้ว ผู้ออกบอนด์ก็ค่อนข้างจะลำบากพอออกน้อย คนก็ไม่ซื้อ พอออกมาก คนก็สงสัย ทั้งๆ ที่มีเครดิตเรทติ้งกำกับมาด้วยซ้ำ คืออย่าไปกังวลใจมากเลย เพราะบอนด์น้ำมันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุน

@อายุสั้น....ขณะเดียวกันการที่บอนด์ล็อตนี้มีอายุสั้น หลายคนจึงเชื่อว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยค่อยๆ ขยับขึ้น "ธีระศันส์"มองว่าระยะเวลาการลงทุน 1-3 ปี ถือว่าไม่นานจนเกินไปที่จะลงทุน เมื่อหักอัตราภาษีไปเรียบร้อยผลตอบแทนที่ได้รับก็ไม่ถือว่าต่ำ ถ้าไปเทียบกับการฝากแบงก์ในระยะเวลาที่เท่ากัน ผลตอบแทนที่ได้รับต่างกันน่าจะทำให้นักลงทุนรายย่อยให้ความสนใจค่อนข้างมาก

ธีระศันส์ แนะผู้ลงทุนว่าควรจะพิจารณาว่าตัวเองมีระยะเวลาในการลงทุนขนาดไหน สามารถที่จะถือลงทุนได้ตามระยะเวลาของตราสารที่ออกมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบอนด์น้ำมันที่ออกมาในครั้งนี้มีอายุไม่ยาวมาก คือ 1 ปี ,2 ปี และ 3 ปี ซึ่งมีอายุที่สั้นกว่าพันธบัตรออมทรัพย์ และให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นเดียวกัน ก็น่าจะถูกใจนักลงทุน และยังสามารถทำการซื้อขายในตลาดรองได้ด้วย หากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องใช้เงินก่อนครบกำหนด แต่ก็จะเป็นการซื้อขายที่ราคาตลาดในขณะนั้น

สำหรับ "ดร.สันติ" มองว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรออมทรัพย์อายุของบอนด์น้ำมันสั้นกว่า จึงน่าลงทุนกว่าหากมองในแง่ของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ข้อแนะนำของ ดร.สันติ คือ อย่าเหมารวมว่าดอกเบี้ยขาขึ้นแล้วลงทุนในบอนด์ไม่ได้ ไม่ต้องไปกังวลมาก ถ้ามัวแต่กังวลมากแล้วเก็บเงินไว้เฉยๆ หรือเก็บเงินฝากแบงก์ได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ยิ่งเสียประโยชน์ไปอีก หรือถ้านำไปเทียบกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกมาทุกเดือน ก็อาจจะรู้สึกว่าพันธบัตรออมทรัพย์จูงใจมากกว่า เพราะด้วยโครงสร้างของพันธบัตรออมทรัพย์เองชดเชยภาษีเข้าไปไว้ในดอกเบี้ยเรียบร้อยแล้ว คือ เอาผลตอบแทนตามปกติบวกด้วยพรีเมียมเข้าไป

นั่นเสมือนหนึ่งว่าผู้ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ได้รับส่วนชดเชยภาษีไปก็ได้เปรียบเรื่องนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าพันธบัตรออมทรัพย์มีซัพพลายไม่เยอะ แต่ละเดือนนับจากนี้ไปมีแค่เพียงเดือนละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่ามีความต้องการสูงกว่าแน่ๆ

รู้จุดเด่นของบอนด์ล็อตนี้กันไปแล้ว คราวนี้ลองมาดูจุดด้อยกันบ้าง

@รัฐบาลไม่ค้ำประกัน..... นับเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก เพราะการที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทำให้บอนด์ล็อตนี้ลดความน่าสนใจลงไปเยอะ แต่ถึงกระนั้นก็ดี "ดร.สันติ" แนะว่าสิ่งที่ สบพ.ควรทำบอกกับผู้ลงทุนอย่างชัดเจนว่าบอนด์ชุดนี้รัฐบาลไม่ค้ำประกัน

ด้าน "ธีระศันส์" บอกว่าบอนด์น้ำมันนี้ไม่ใช่พันธบัตรรัฐบาล ความเสี่ยงย่อมสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นตราสารที่ออกมาจากองค์กรของทางภาครัฐ ดังนั้น เชื่อว่าในเรื่องของความเสี่ยงด้านเครดิตเองคงไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่จะมีความเสี่ยงในเรื่องของโครงสร้าง หรือกระบวนการที่มีความสลับซับซ้อนแตกต่างจากตราสารหนี้โดยทั่วไปในเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ชำระคืนหนี้

"ผู้ลงทุนควรพิจารณาถึงผลตอบแทนสุทธิหลังหักภาษีแล้วว่า คุ้มค่าที่ตัวเองจะลงทุนหรือเปล่า โดยใครที่คาดหวังผลตอบแทนสูงก็อาจจะเลือกลงทุนในพันธบัตรกองทุนน้ำมันที่มีอายุยาวกว่าแทนได้ แต่ก็ต้องมั่นใจว่าสามารถถือจนครบอายุได้ สำหรับกองทุนรวมเองนั้นคงต้องดูอีกครั้ง เพราะกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ของแต่ละ บลจ.ก็แตกต่างกันออกไป ประกอบกับเป็นพันธบัตรที่ไม่มีการค้ำประกันจากทางภาครัฐ เชื่อว่าส่วนนี้ บลจ.ต่างๆ คงต้องบริหารความเสี่ยงกองทุนของตัวเองเพิ่มเข้าไปด้วย"

@รายได้ไม่ชัดเจน........มุมมองของ"ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" ประธานกรรมการ บลจ.กสิกรไทย ได้แสดงความเห็นถึงพันธบัตรล็อตนี้ว่า สำหรับพันธบัตรกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ออกมานั้น ยังไม่มีความชัดเจนที่เพียงพอเกี่ยวกับ "รายได้" ของกองทุนน้ำมันที่จะนำมาชำระหนี้พันธบัตรในอนาคต เพราะถ้าดูจากรายรับของกองทุนน้ำมันในปัจจุบัน คำนวณดูแล้วกองทุนน้ำมันอาจไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้

ดร.ปิยสวัสดิ์ ยังมองว่ากระทรวงพลังงาน ควรจะเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันสำหรับน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท/ลิตร จนเต็มเพดาน จากปัจจุบันที่เก็บเพียง 50 สตางค์/ลิตร เท่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการขายพันธบัตรเพื่อชดเชยภาระหนี้กองทุนน้ำมัน เพราะจะสร้างความมั่นใจในการชำระหนี้พันธบัตรกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากขึ้น

"รัฐควรประกาศความชัดเจนนี้ก่อนที่นักลงทุนสถาบันจะเสนออัตราผลตอบแทนจองกองทุนน้ำมัน เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากองทุนมีความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง รัฐบาลควรจะกล้าดำเนินการในสิ่งที่จำเป็น ควรจะจัดการความชัดเจนให้ดี แทนที่จะยอมเสียส่วนเพิ่มด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ไม่ใช่ขายพันธบัตรแล้วมาระบุว่าจะเพิ่มการเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันของดีเซลภายหลัง ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมาก ไม่ใช่ขายพันธบัตรไปแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาล จะเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มเติมเมื่อใด และไม่ควรคาดหวังที่จะเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มเติมในช่วงที่ราคาดีเซลในตลาดโลกลดลง เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนในระดับสูงจนกระทั่งความต้องการใช้ชะลอตัวลง หรือมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นมา "

@นโยบายตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาลที่อาจเปลี่ยนแปลง.......นับเป็นจุดที่มีคนจับตามองกันเยอะ ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐบาล อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาระเงินชดเชยของกองทุนน้ำมัน และในอนาคตหากรัฐบาลนำนโยบายตรึงราคาน้ำมันกลับมาใช้ ในขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าราคาที่รัฐบาลต้องการตรึงไว้ให้แก่ผู้บริโภคอย่างมาก ย่อมจะทำให้ภาระเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่กำหนดโดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานในปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายสำหรับเงินชดเชยและมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ตามพันธบัตรของ สบพ.ได้ในที่สุด

แง่มุมด้านต่างๆ ของพันธบัตรน้ำมันล็อตนี้ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องศึกษาและไตร่ตรอง ก่อนจะตัดสินใจควักกระเป๋าลงทุน



Create Date : 30 ตุลาคม 2548
Last Update : 30 ตุลาคม 2548 12:52:48 น. 0 comments
Counter : 427 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com