แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
แกะรอยกลยุทธ์ "สิงห์" พลิกเกมโค่นเบียร์ช้าง

แกะรอยกลยุทธ์ "สิงห์" พลิกเกมโค่นเบียร์ช้าง

เวลานี้คนในวงการเบียร์ต่างรับรู้อย่างเป็นทางการแล้วว่า ค่ายเบียร์สิงห์กลับมาผงาดยึดบัลลังก์ตลาดเบียร์จากค่ายคู่แข่งตลอดกาล "เบียร์ช้าง" ได้สำเร็จแล้ว

ด้วยตัวเลขส่วนแบ่งตลาดที่ 47-48% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 83,000 ล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น "สันติ ภิรมย์ภักดี" แม่ทัพใหญ่สิงห์ก็ยังหมายมั่นปั้นมือว่า อย่างไรเสียปีนี้จะต้องเปิดเกมรุกให้หนักขึ้นเพื่อที่จะกวาดมาร์เก็ตแชร์มาครองให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% เพื่อให้มีชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

อาจจะกล่าวได้ว่า วันนี้เป็นวันที่บุญรอดฯหายใจโล่งอกมากที่สุด หลังจากที่ต้องรอเวลานี้มานานนับกว่า 10 ปี

อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจจะตั้งคำถามในใจว่า บุญรอดบริวเวอรี่มีกลยุทธ์เด็ดอะไรกันแน่ที่พลิกสถานการณ์จากยุคตกต่ำ ถดถอย และโดนแซงหน้าไปไกล กลับมาผงาดในฐานะของแชมป์ในตลาดเบียร์ไทยได้อีกครั้งหนึ่ง

"เบียร์ช้าง" ผู้ท้าชิงบัลลังก์

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเข้าสู่ตลอดของ "เบียร์ช้าง" ท่ามกลางสถานะที่เบียร์สิงห์ผูกขาดตลาดอยู่เกือบทั้งหมดนั้นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมและตลาดเบียร์ในเมืองไทย

วันแรกที่ราชาน้ำเมาเมืองไทย เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เริ่มสยายปีกจากอาณาจักรเหล้าเข้ามาสู่อาณาจักรเบียร์ที่มีเบียร์สิงห์ครองแชมป์อยู่นั้น เชื่อว่าค่ายบุญรอดฯเองก็ยังไม่ได้มองว่านี่คือคู่แข่งในสายตาแต่อย่างใด

ในข้อเท็จจริงก่อนที่เสี่ยเจริญจะกระโดดเข้ามาเป็นราชันย์เบียร์ช้างอย่างเต็มภาคภูมินั้น เสี่ยเจริญสาวเท้าเข้าสู่ตลาดเบียร์ครั้งแรกด้วยการทาบทามคาร์ลสเบอร์กเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์กเพื่อแข่งกับเบียร์สิงห์เจ้าตลาดในเวลานั้น

ซึ่งก็ดูเหมือนจะไม่อาจเขย่าบัลลังก์ของอาณาจักรสิงห์ให้สั่นคลอนได้เลย

แต่ถัดจากนั้นอีกเพียง 2-3 ปี เบียร์ช้างก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

หากยังคงจำกันได้กับแคมเปญเบียร์ช้างแจกโชค 500 ล้าน ที่สร้างความฮือฮาให้กับคนในวงการ

ครั้งนั้นแม้ว่าเบียร์สิงห์จะหันมาเหลียวมองเบียร์ช้างอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ขยับตัวที่จะยกการ์ดขึ้นปกป้อง

อาจจะกล่าวได้ว่า นั่นเป็นหมัดแยบหมัดแรกที่เจ้าสัวเจริญยิงเข้าใส่เจ้าตลาดเป็นการลองเชิง

แต่ก็ถือว่าได้ผลยิ่งในแง่ของการเกณฑ์เอาบรรดาคอทองแดงที่เคยดื่มเหล้าขาวเป็นประจำ ให้หันมาเป็นสาวกของเบียร์น้องใหม่ได้อย่างไม่ยากนัก

ด้วยราคาที่สบายกระเป๋ากว่า เมาหนักกว่าหรือใกล้เคียงกับเหล้าขาว

จากนั้นราชาน้ำเมาก็ชกหมัดเป็นชุด ด้วยกลยุทธ์การขายเหล้าพ่วงเบียร์ที่แพร่ระบายและกระจายไปอย่างรวดเร็วในทุกๆ สารทิศ และราคาขายปลีกเบียร์ช้างก็ปรับตัวลดลงเริ่มจาก 3 ขวด 100 และจากนั้นก็ลดลงมาเรื่อยๆ เหลือเพียงขวดละ 20 บาท หรือที่ขาย 5 ขวด 100 หรือบางพื้นที่ 6-7 ขวด 100 ก็มีให้เห็น

นี่คือปฐมเหตุของความเพลี่ยงพล้ำที่ "สิงห์" มีให้กับ "ช้าง"

สิงห์พ่ายพิษ "ขายพ่วง"

สัญญาณเตือนภัยของค่ายบุญรอดฯดังขึ้นเมื่อสิ้นไตรมาส 1 ปี 2541 ตัวเลขการผลิตเบียร์จากกรมสรรพสามิตระบุว่า การผลิตเบียร์สิงห์นั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ 48% จากช่วงเดียวกันในปี 2540 ที่ตัวเลขของค่ายนี้สูงถึง 83%

ขณะที่เบียร์ช้างมีตัวเลขการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราดมาอยู่ที่ 45% จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมามีตัวเลขอยู่เพียง 10% เท่านั้น

ถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำครั้งใหญ่ของเบียร์สิงห์ในรอบ 66 ปีเลยก็ว่าได้

แม้ว่าสิงห์จะยังไม่ยอมรับถึงความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดค่ายสิงห์ก็ต้องออกมาดำเนินการในด้านกฎหมายด้วยการฟ้องร้องต่อคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

แต่ท้ายที่สุดการฟ้องร้องดังกล่าวก็ไม่เป็นผล

ตรงกันข้าม ลูกเล่น "ขายพ่วง" ยิ่งทำให้เบียร์ช้างเบียดแย่งมาร์เก็ตแชร์มาจากค่ายสิงห์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

และเป็นที่รับรู้ของคนในวงการว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าบุญรอดฯจะพยายามต้านคู่แข่งด้วยการที่สิงห์ เบียร์ลีโอ และซูเปอร์ไลอ้อน ออกมาเป็นตัวกันชนและต่อกรกับเบียร์ช้าง แต่ก็ดูเหมือนว่ากระสุนที่บุญรอดฯยิงออกไปจะ "แป้ก" และพลาดเป้าเป็นส่วนใหญ่

ขณะเดียวกัน มาร์เก็ตแชร์เบียร์ช้างก็เริ่มขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแซงหน้าแชมป์เก่า

ช้างมีมาร์เก็ตแชร์ 66% ขณะที่ค่ายบุญรอดฯมีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 26% (ช่วงปี 2544)

"เบียร์ช้าง" ยกชั้นขึ้นเป็นเจ้าตลาดเบียร์ไปโดยปริยาย

บุญรอดฯยกเครื่องครั้งใหญ่

ขณะที่เกมการตลาดของทั้ง 2 ฝ่ายยังเดินหน้าต่อไป

ค่ายบุญรอดบริวเวอรี่ภายใต้การนำทัพของ "สันติ ภิรมย์ภักดี" ได้ระดมสรรพกำลังมันสมองจาก ทีมงานเพื่อจะนำไปสู่การปรับตัว ครั้งใหญ่

กระบวนการทุกอย่างมีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ละขั้นแต่ละตอนก็มีเรื่องของการวิจัยเข้ามาซัพพอร์ต

โดยมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การทวงความเป็นเบอร์ 1 กลับคืนมาให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

รูปธรรมที่ปรากฏออกสู่สายตาสาธารณชนเริ่มทยอยมีให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2543

จากก่อนหน้านี้ที่บุญรอดฯได้มีการปรับเพื่อลองผิดลองถูกทั้งในส่วนของลีโอ และซูเปอร์ ไลอ้อนที่ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นชื่อไทเบียร์มาระยะหนึ่งจนเข้าที่เข้าทาง ตอนนี้ก็ถึงเวลาของเบียร์สิงห์

หลังจากที่บุญรอดฯได้ปรับทรงขวดด้วยการหันกลับไปใช้ขวดทรงคอยาวแทนขวดเดิม และนำกระดาษฟอยล์สีขาวมาหุ้มคอขวด และเริ่มปรากฏต่อสายตาเมื่อต้นปี 2544 ภายใต้คอนเซ็ปต์ พ.ศ.ใหม่ รูปลักษณ์ใหม่

ถัดมาบุญรอดฯก็ปรับภาพลักษณ์ของเบียร์สิงห์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเทรดโปรโมชั่นกับร้านค้า และคอนซูเมอร์โปรโมชั่นกับผู้บริโภค

นับเป็นการรีโพซิชันนิ่งเบียร์ทุกแบรนด์ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยการวางเบียร์ลีโอให้เป็นเบียร์ที่มีบุคลิกเป็น younger beer เจาะกลุ่มวัยรุ่น ส่วนไทเบียร์เจาะตลาดล่างคล้ายๆ กับไฟติ้งแบรนด์

สำหรับเบียร์สิงห์จากเดิมที่มีภาพลักษณ์แก่ ก็จะปรับภาพลักษณ์ให้เป็นเบียร์ที่มีบุคลิกเหมือนผู้ชายที่ไม่หนุ่มไม่แก่จนเกินไป และเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน

ปรับเบียร์ "สิงห์" ยกกระบิ

ก่อนถึงฤดูการขายปลายปี 2545 บุญรอดฯได้ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการปรับโฉมเบียร์สิงห์ใหม่ชนิดยกกระบิ เพื่อให้มีภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัยมากขึ้นผ่านหนังโฆษณา 3 ชุด ซึ่งมี 3 ดาราดัง ดอม เหตระกูล-อู๋ ธนากร-เคน ธีระเดช เป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นการลบภาพงานโฆษณาเบียร์สิงห์ในอดีตที่ผ่านๆ มา ที่เป็นการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยๆ

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น บุญรอดฯยังได้ประกาศให้สาธารณชนรับรู้ด้วยว่า วันนี้เบียร์สิงห์ได้พัฒนารสชาติที่คนไทยคุ้นเคยมาอย่างยาวนานเกือบ 70 ปี ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะนักดื่มรุ่นใหม่ และเหมาะกับแนวโน้มของตลาดเบียร์ในปัจจุบัน

ด้วยการปรับลดความขมให้น้อยลง พร้อมกับการปรับลดความแรงของแอลกอฮอล์ลงเล็กน้อย จาก 6% ลงมาที่ 5.5%

อาจจะกล่าวได้ว่า การปรับตัวของเบียร์สิงห์ครั้งนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ถือเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวและเปราะบางยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการแข่งขันของตลาดเบียร์ที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกๆ ขณะ

ผู้บริหารบุญรอดฯย้ำว่า "การลดความขมและลดความแรงของแอลกอฮอล์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้รสชาติเบียร์สิงห์เปลี่ยนไป ส่วนในแง่ของโพซิชันนิ่งของสินค้าเบียร์สิงห์ยังคงเป็นเบียร์พรีเมี่ยม"

ความขมที่น้อยลงทำให้สามารถดื่มได้ง่ายขึ้นทั้งชายและหญิง การลดระดับแอลกอฮอล์ลงก็ช่วยให้การดื่มของคอเบียร์ยาวนานขึ้น และเป้าหมายสำคัญของบุญรอดฯก็คือ การขยายกลุ่มผู้ดื่มออกมายังคนวัยรุ่น คนหนุ่มสาว

สิ่งดังกล่าวมาจากการวิจัยตลาดที่พบว่า กลุ่มผู้ดื่มเบียร์สิงห์เดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุ 50-60 ปี ตอนหลังๆ มานี้เริ่มมี health concious มากขึ้น และแนวโน้มของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตลาดโลกก็เป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ผลวิจัยระบุชัดเจนว่ารสชาติเดิมของเบียร์สิงห์นั้นทำให้คนรุ่นใหม่ดื่มยาก

สิงห์ภายใต้สโลแกนที่ว่า ความนุ่มนวลที่หนักแน่น เบียร์สิงห์ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ของเบียร์สิงห์ เบียร์ไทยไว้เช่นเดิม

วันนี้เบียร์สิงห์ได้ปรับตัวอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบแล้ว ทั้งแพ็กเกจจิ้ง ภาพลักษณ์ และรสชาติ

ผ่าตัดองค์กรลดความอุ้ยอ้าย

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นการปรับตัวไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างการบริหารงานภายใน

"สันติ ภิรมย์ภักดี" ได้จัดทัพบริษัทในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ครั้งใหญ่

ตามชาร์ตบนสุดจะเป็นบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และรองลงไปจะเป็นบริษัท บุญรอด อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด จะมี 2 ขา โดยขาแรกเป็นโรงงานทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วยบริษัท เชียงใหม่ เบเวอเรช จำกัด บริษัท สุราษฎร์ธานี เบเวอเรช จำกัด บริษัท วังน้อย เบเวอเรช จำกัด บริษัท ปทุมธานี บริวเวอรี่ จำกัด และบริษัท สามเสน บริวเวอรี่ จำกัด

ส่วนขาที่ 2 จะเป็นในส่วนของการขายและการตลาดคือ บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งดูตลาดในประเทศ และบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

โครงสร้างใหม่นี้จะมีการแบ่งความรับผิดชอบให้กับบริษัทต่างๆ อย่างชัดเจน แต่ละบริษัทจะมีลักษณะเป็นโปรฟิตเซ็นเตอร์

เดิมที่ทุกอย่างจะต้องมาจากการตัดสินใจของบุญรอดฯที่ส่วนกลาง จากนี้ไปบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ก็จะสามารถตัดสินใจและดำเนินการได้ทันทีตามความเห็นของกรรมการผู้จัดการบริษัทนั้นๆ ที่จะต้องรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัท

จากนี้ไปแต่ละบริษัทจะทำงานและตัดสินใจได้เร็วขึ้น โดยไม่ต้องรอการตัดสินใจของบริษัทแม่

การปรับโครงสร้างภายในครั้งนี้ก็เพื่อลดความอุ้ยอ้าย ล่าช้า และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

นี่ยังไม่นับรวมถึงการปรับโครงการในส่วนของเอเย่นต์ที่ถือเป็น "แขน-ขา" ที่สำคัญของการกระจายเบียร์เข้าสู่ช่องทางต่างๆ ในตลาดที่มีมาเป็นระลอกๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเอเย่นต์เป็นสำคัญ

เปิดเสรีเหล้าตัวแปรสำคัญ

จะว่าไปแล้วอีกประเด็นหนึ่งที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้ค่ายบุญรอดฯชกกับค่ายเบียร์ช้างได้อย่างน่าดูมากก็เห็นจะเป็นนโยบายสุราเสรี

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายสุราเสรีเมื่อปี 2542 ถัดมาไม่นานนโยบายดังกล่าวก็เริ่มแผลงฤทธิ์และส่งผลให้สภาพตลาดเหล้าเปลี่ยนไปมาก และยังกระทบต่อส่วนแบ่งตลาด กลยุทธ์การทำตลาดสุราของบริษัทในเครือของราชันย์น้ำเมาเมืองไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ตลาดเหล้าสีหรือสุราผสม สุราพิเศษ และตลาดเหล้าขาว ในกลุ่มสุรามหาราษฎร-แสงโสม เคยครองส่วนแบ่งสูงสุดนั้นกำลังถูกผู้ผลิตรายย่อย ซึ่งผลิตไวน์ผลไม้ สาโท รวมถึงสุราแช่พื้นบ้านราคาถูก หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า "เหล้าชุมชน" เข้ามาเป็นคู่แข่งแย่งกลุ่มผู้บริโภคอย่างหนัก

ประกอบกับการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าต่างๆ ซึ่งรวมถึงกรณีของเหล้าจากกลุ่มประเทศอาฟต้าที่เริ่มมีผล จึงทำให้มีเหล้าที่เรียกว่า เซ็กเมนต์อีโคโนมี (Economy) จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดแข่งกับเหล้าสีของไทยมากขึ้น

ผลกระทบจากนโยบายเหล้าเสรีและเหล้านอกราคาถูก ทำให้ยอดขายเหล้าและเบียร์ของกลุ่มได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากสุราพื้นบ้านที่กลุ่มผู้ผลิตต่างๆ ผลิตออกมามีราคาถูก และตอนนี้ก็สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ กลไกของสุราเสรียังทำให้ลูกเล่นการขายพ่วงที่ทรงอานุภาพด้อยประสิทธิภาพลงไปอย่างถนัดตา

เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้เบียร์สิงห์โจมตีได้ง่ายขึ้น

"ช้าง" ออกอาการแผ่ว/ "สิงห์" เริ่มตีตื้น

ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้านที่รุมเร้ามากขึ้น ทำให้บรรดาผู้ประกอบการเหล้าเบียร์ต้องคิดหนักอย่างยิ่งกับยอดขายที่ลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะกับเบียร์ช้างที่ต้อง "ดิ้น" ครั้งใหญ่

กลางปี 2547 เจ้าสัวเจริญส่งทายาททางธุรกิจ ฐาปน สิริวัฒนภักดี ลงมาคุมการเปิดตัวเบียร์น้องใหม่ของค่ายช้างชื่ออาชา ลงสมรภูมิด้วยงบฯการทำตลาดก้อนโตกว่า 300 ล้านบาท

แต่เบียร์อาชาก็ยังไม่สามารถต้านความแรงของลีโอได้ และเบียร์ตัวนี้ก็ยังตกอยู่ในวังวนของการขายพ่วงอีกเช่นเดิม

นอกจากนี้ ช่วงก่อนเข้าหน้าขายเมื่อปลายปี 2547 เบียร์ช้างได้จัดกิจกรรมส่งเสริมครั้งใหญ่ด้วยการแจกรถเบนซ์ รถกระบะ เพื่อปลุกยอดขายอย่างมีนัยสำคัญด้วยการยิงแคมเปญยาวตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมกราคม 2548

ช่วงต้นปี 2548 วงการเบียร์ต้องตะลึงเมื่อกรมสรรพสามิตเปิดตัวเลขการผลิตเบียร์ในช่วงไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม 2548)

ที่พบว่าตัวเลขการผลิตเบียร์เพื่อเสียภาษีสรรพสามิตของค่ายเบียร์ช้างนั้นมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียง 54% จากช่วงต้นปี 2547 ที่ยอดผลิตของเบียร์ช้างมีมากกว่า 70%

ตรงกันข้ามกับค่ายบุญรอดบริวเวอรี่

ทั้งเบียร์สิงห์-ลีโอที่ต้องเรียกว่าแฮปปี้สุดๆ เพราะตัวเลขการผลิตพุ่ง ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 40% จากเดิมเมื่อช่วงต้นปี 2547 ที่ตัวเลขของค่ายนี้อยู่ที่ระดับ 22-23% เท่านั้น

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปี 2547 จะเห็นว่าสัดส่วนปริมาณการผลิตเบียร์ของกลุ่มเบียร์ช้างนั้นมีมากกว่า 70% ของตลาดรวม ขณะที่กลุ่มเบียร์สิงห์นั้นมีอยู่เพียง 22-23%

จากนั้นเป็นต้นมาตัวเลขการผลิตของค่ายเบียร์ช้างก็ลดลงมาเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเลขของค่ายสิงห์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจนเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2547 ตัวเลขการผลิตเบียร์ของทั้ง 2 ค่ายทิ้งห่างกันเพียง 10-11% เท่านั้น

ค่ายเบียร์ช้างมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 51% ของตลาดรวม ขณะที่ค่ายสิงห์มีสัดส่วนประมาณ 40%

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับค่ายเบียร์ช้าง นอกจากเรื่องของการตีกรอบการโฆษณาของทางการซึ่งผู้ประกอบการทุกๆ ค่ายต่างก็เจอปัญหานี้เหมือนๆ กันแล้ว การเตรียมตัวเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวทางการทำตลาดของค่ายนี้ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก

สิงห์ได้ทีขย่มหนัก

กลางปี 2549 ที่ผ่านมา หลังจากที่แม่ทัพใหญ่บุญรอดฯเห็นตัวเลขการผลิตเบียร์และสถิติยอดขายของเบียร์ในตลาด โดยเฉพาะลีโอที่พุ่งทะยานอย่างร้อนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ท่าทีของเบียร์ช้างก็เริ่มออกอาการแผ่วให้เห็นอย่างชัดเจน

ยอดขายลีโอที่ผนึกกับสิงห์ไล่จี้ติดเบียร์ช้างชนิดหายใจรดต้นคอ

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2549 ที่ผ่านมา "สันติ" กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" อย่างภาคภูมิใจว่า ที่ผ่านมายอดขายเบียร์ของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 46-47% แซงหน้าคู่แข่งได้สำเร็จ

หลังจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทเป็นที่ 2 มาตลอด

สิ้นปี 2549 ยอดผลิตเบียร์ของบุญรอดฯทะลุเป้าที่วางไว้คือ 900 ล้านลิตร จากเป้า 800 ล้านลิตร ทำให้ตัวเลขมาร์เก็ตแชร์ขยับมาอยู่ที่ 47-48%

และปีนี้แม้ว่าปัจจัยหลายๆ อย่างจะไม่ค่อยเอื้อนัก แต่บุญรอดฯก็ประกาศเกมรุกอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตั้งเป้าการเติบโตในแง่ของยอดการผลิตไว้ถึง 1,100 ล้านลิตร

แน่นอนว่าอาวุธหลักก็จะยังคงเป็น 2 ทหารเสือ "ลีโอ-สิงห์"

เพิ่มดีกรีบุก ตปท.

อย่างไรก็ตาม ทีมงานบุญรอดฯได้ประเมินสถานการณ์ตลาดเบียร์ในประเทศด้วยว่า จากนี้ไปโอกาสที่ตลาดเบียร์จะเติบโตเพิ่มขึ้นน้อยมาก ทั้งยังมองว่าตลาดใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และน่าจะอยู่ที่ราว 2,500 ล้านลิตร ซึ่งในส่วนของบุญรอดฯจะใกล้เคียง 1,000 ล้านลิตร

"ความยากอยู่ที่การรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ เนื่องจากตลาดช่วงนี้ไม่โตก็จะเป็นการแย่งกันไปมา เมื่อเอาชนะคู่แข่งได้แล้วเป้าหมายของเราคือเน้นการเปิดตลาดในต่างประเทศต่อไป" แม่ทัพใหญ่ค่ายสิงห์ระบุ

ดังนั้น การจะสร้างยอดขายอย่างก้าวกระโดดจะต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเท่านั้น

ที่ผ่านมาชื่อเสียงของเบียร์สิงห์ถูกแนะนำผ่านร้านอาหารไทยจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในระดับหนึ่งแล้ว ก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ การสร้างยอดขายจากการเปิดตลาดเบียร์สิงห์ในต่างประเทศอย่างจริงจัง

ปัจจุบันยอดขายเบียร์สิงห์ในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 4% ของกำลังการผลิตทั้งหมด บุญรอดฯจึงพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนการขายดังกล่าว การเปิดตลาดต่างประเทศที่

กำลังจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังนี้จะพุ่งเป้าไปที่สหรัฐอเมริกา เป็นเป้าหมายหลัก รองลงมาคือยุโรป เนื่องจากที่ผ่านมาร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาประมาณ 80% จะมีเบียร์สิงห์จำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว

และเป้าหมายของบุญรอดฯในเวลานี้ก็คือ จะพยายามวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด

ทั้งนี้ แม่ทัพใหญ่บุญรอดฯตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปีจากนี้ไปจะขยับจาก 4% ไปอยู่ที่อย่างน้อย 15% ขึ้นไป

อาจจะเรียกว่าตอนนี้สิงห์มองข้ามคู่แข่ง "เบียร์ช้าง" และมองไปที่การเติบโตในต่างประเทศแล้ว


Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2550 19:58:13 น. 0 comments
Counter : 9151 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com