อารยธรรมจีนในสยาม

               จากความเจริญทางด้านการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสยามและจีน
ส่งผลให้มีชาวจีนจำนวนมากอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในสยาม โดยส่วนมากชาวจีนจะประกอบอาชีพค้าขายและมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในสมัยนั้น
นอกจากนี้ชาวจีนยังได้นำความรู้และอารยธรรมจีนมาสู่สยามด้วย


การติดต่อค้าขายกับจีนทำให้มีภาษาจีนปนอยู่ในภาษาไทยมากมายและปรากฏอยู่ในสังคมไทยเป็นเวลานานเช่น
คำว่าจิ้มก้อง หมายถึงการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายแก่จักรพรรดิจีน
หรือคำที่เกี่ยวกับการเดินเรือเช่นเรือสำปั้น ไต้ก๋ง จุ๊นจู๊ เป็นต้น ส่วนตำนานพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับจีนก็มีหลายเรื่องด้วยกันเช่น
เจิ้งเหอผู้นำคณะสำรวจทางทะเลของจีนในสมัยพระเจ้าหย่งเล่อ
ที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถือมากเสมือนเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งชาวจีนเรียกกันว่าซำปอกง หรือหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั่นเอง


นอกจากนี้วัดพนัญเชิงยังมีตำนานเกี่ยวกับพระนางสร้อยดอกหมาก
ที่เล่ากันว่าเป็นเจ้าหญิงากเมืองจีนเพื่อมาแต่งงานงานกับ
“พระเจ้าสายน้ำผึ้ง”
แต่น้อยใจที่พระนางไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจึงฆ่าตัวตาย
พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นที่บริเวณที่พระราชทานเพลิงสพของนาง
และกลายมาเป็นที่ตั้งของวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน


และนอกจากนี้ยังมีตำนานของเจ้าแม่ลิ้มกอเนี่ย
ได้กล่าวถึงชีวิตของสาวจีนผู้หนึ่งที่มาตามหาพี่ชายของตน
ซึ่งเป็นทหารแห่งราชวงค์หมิงและได้มาแต่งงานกับเจ้าหญิงปัตตานีแล้วไม่ยอมกลับบ้าน
นางลิ้มกอเนี่ยได้อ้อนวอนให้พี่ชายกลับบ้านเพื่อไปดูแลพ่อแม่
แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงฆ่าตัวตาย
ชาวจีนในไทยจึงได้สร้างศาลให้นางและเซ่นสรวงบูชาเป็นเทพเจ้าประจำชุมชนและได้รับการนับถือสืบต่อมา


ส่วนด้านศิลปะนั้น
ศิลปะไทยที่ได้รับอิทธิพลจากจีนมีหลายอย่างด้วยกันเช่น งานจิตรกรรมและเครื่องปั้นดินเผา
ที่สำคัญได้แก่ ภาพจิตรกรมฝาผนังวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ซึ่งอยู่ในผนังห้องภายในที่เรียกว่า กรุ มีภาพเขียนรูปศิลปินหรือนักรบ
แต่งหน้าและเครื่องแต่งกายแบบชาวจีน มีอักษรภาพภาษาจีนโบราณกำกับไว้
สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช
นอกจากนี้ยังมีภาพนอกและต้นไม้ที่กรุชั้นล่างวัดราชบูรณะ
สัณิษฐานว่าช่างชาวจีนเป็นผู้เขียนเพราะการจัดองค์ประกอบภาพแตกต่างจากช่างของอยุธยา
หรือภาพชาดกเรื่องพระมหาชนก ที่ตำหนักพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์
ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยพระเพทราชา ปรากฏภาพโขดหินและต้นไม้ที่ได้รับอิทธิพลการเขียนภาพในธรรมชาติของจีนแฝงอยู่








จิตรกรรมฝาผนังที่วัดราชบูรณะ



ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมระหว่างสยามกับจีนเกิดขึ้นได้เพราะความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีมายาวนาน
ส่งผลให้เกิดอารยธรรมจีนในไทยและผสมผสานให้เข้ากันกับอารยธรรมท้องถิ่น





หลวงพ่อโตหรือหรือหลวงพ่อซำปอกงและศาลพระนางสร้อยดอกหมากที่วัดพนัญเชิง








 

Create Date : 18 ธันวาคม 2553    
Last Update : 18 ธันวาคม 2553 17:10:20 น.
Counter : 23689 Pageviews.  

บทบาทของพ่อค้าชาวจีนในเมืองท่าสยาม ในช่วงศตวรรษที่๑๕-๑๘

ชาวจีนในราชสำนักอยุธยามีบทบาทที่สำคัญมากโดยเฉพาะบทบาทเกี่ยวกับการค้า
ซึ่งความเจริญด้านการค้าของอยุธยาส่วนหนึ่งเกิดจากการติดต่อทางการค้ากับจีน
มีชาวจีนจำนวนมากได้รับตำแหน่งทางราชการในอาณาจักรสยามและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศกับสยาม
โดยเฉพาะการเข้ามาดูแลหน่วยงานงานที่เรียกว่า พระคลังสินค้า ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
พระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการค้าของกษัตริย์โดยทำหน้าที่ติดต่อค้าขายสินค้าพื้นเมือง
สิ่งของบรรณาการและการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ
โดยมีหน่วยงานย่อยสามหน่วยงานได้แก่กรมท่าซ้ายดูแลรับผิดชอบการค้าระหว่างจีน
และเวียดนาม กรมท่าขวาดูแลการค้ากับอินเดีย อาหรับชวา มลายู
และกรมท่ากลางดูแลการค้ากับชาติตะวันตก


โดยในส่วนของกรมท่าซ้ายนั้น
ชาวจีนมีบทบาทอย่างยิ่งในการดูแลรับผิดชอบ มีพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นเจ้ากรมชาวจีน
มีเจ้าหน้าที่ในสังกัดเป็นชาวจีนตัวอย่างเช่น จุ่นจู๊
เป็นนายสำเภาผู้มีหน้าที่นำร่อง ล้าต้าทำหน้าที่ฝ่ายบัญชี ไต้ก๋งเป็นนายท้ายเรือ
เท่าเต้ง ฮู้เตี้ยว ทำหน้าที่ทอดสมอและทอดดิ่งเป็นต้น
ใช้ภาษาจีนในการติดต่อสื่อสาร
หน้าที่ของกรมท่าซ้ายมีบทบาทอย่างมากต่ออยุธยาเพราะต้องดูแลรับผิดชอบการเดินเรือสำเภาเพื่อไปค้าขายยังเมืองท่าจีนตอนใต้และเมืองท่าอื่นๆใกล้เคียงได้แก่
นางาซากิ ริวกิว และเมืองท่าในเวียดนามเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการดูแลพ่อค้าชาวจีนเอกชนและดูแลเมืองท่าทางด้านตะวันออก
ตลอดจนหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่เข้ามาพำนักในอยุธยาเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดย่านการค้าชาวจีนที่เป็นแหล่งรวมสินค้าต่างๆเช่นย่านนายก่าย
ที่มีสินค้าประเภทเครื่องสำเภา ไหม แพ ทองเหลือง ถ้วยโถ ชาม เนื้อหมู และปลาสด
เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีชาวจีนที่ประกอบอาชีพต่างมากๆมายเช่นตีเหล็ก
ชาวจีนที่เข้ามาพำนักอยู่ในอยุธยานี้ได้สร้างความเจริญทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากให้แก่อยุธยาไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต
การเดินเรือ และการค้า ชาวจีนได้นำเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างมากในสมัยนั้นจากจีนมาเผยแพร่ให้แก่สยามโดยเฉพาะการเดินเรือและการสร้างเรือสำเภา
มีการสร้างเรือสำเภาแบบจีนชื่อเรือสำเภาเสียนโล้
ซึ่งเป็นเรือสำเภาที่ได้รับรูปแบบและเทคนิคมาจากจีน เป็นต้น


เจิ้งเหอกับบทบาทในสยาม




เจิ้งเหอแม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่ของจีน



กองทัพเรือของเจิ้งเหอได้เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระอินทรราชา(พระเจ้านครอินทร์)ซึ่งเป็นการเดินเรือครั้งที่๒
(ค.ศ.๑๔๐๗-๑๔๐๙) จากทั้งหมดเจ็ดครั้งคาด ว่าในการเดินเรือครั้งนี้
กองเรือของเจิ้งเหอได้นำตัวฑูตอยุธยาที่เดินทางไปยังราชสำนักหมิงด้วยตัวเอง
ก่อนหน้านี้กลับไปส่งที่เมืองอยุธยาด้วย

กองเรือของเจิ้งเหอมาเยือนอยุธยาในครั้งนั้น
นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อมาผูกสัมพันธไมตรีและทำการค้าแล้ว
ยังต้องการมาเพื่อสนับสนุนอยุธยาในการทำสงครามพุ่งรบกับกัมพูชาด้วย
นอกจากนี้ยังห้ามปรามอยุธยาในการจะยกทัพไปตีมะละกา ตามคำเรียกร้องของปรเมศวร
ผู้ปกครองมะละกาในขณะนั้นด้วย


เจิ้งเหอได้เข้าเฝ้าพระนครอินทร์เป็นการส่วนตัว
เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้านครอินทร์ ซึ่งความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น


การเดินเรือของเจิ้งเหอในสมัยพระเจ้าหย่งเล่อแห่งราชวงค์หมิง
เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าของจีนไม่ว่าจะเป็น การต่อเรือ การใช้เข็มทิศ ปฏิทิน
และระบบชั่งตวงวัด การเดินเรือของเจิ้งเหอ ได้แสดงถึงแสงยานุภาพทางทะเล
และวิทยาการที่ล้ำหน้าของจีนในสมัยนั้น
นอกจากนี้การเดินเรือของเจิ้งเหอยังเป็นการเผยแพร่วิทยาการเดินเรือและอารยธรรมจีนแก่ประเทศต่างๆโดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้









 

Create Date : 18 ธันวาคม 2553    
Last Update : 18 ธันวาคม 2553 17:04:24 น.
Counter : 6185 Pageviews.  

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสยามในช่วงศตวรรษที่๑๕-๑๘


ด้านการทูต


สยามและจีนมีความสัมพันธ์ด้านการทูตกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
คือในสมัยของพ่อขุนรามคำแหง และราชวงค์หยวนของจีนภายใต้การนำของกุบไลข่าน
โดยเป็นความสัมพันธ์แบบการทูตระบบบรรณาการ
ซึ่งหมายถึงระบบที่กำหนดขึ้นเพื่อติดต่อกับอาณาจักรต่างๆมาตั้งแต่สมัยโบราณ ประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่
มีประชากรและทรัพยากรมาก จีนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร ด้วยเหตุนี้จีนจึงมองเห็นถึงความสำคัญของตนในฐานะเป็นศูนย์กลางของโลก
มีอารยธรรมเหนือกว่าชาติอื่น ชาติทั้งหลายต้องแสดงความอ่อนน้อมต่อจีนด้วยการนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายแด่จักรพรรดิจีน ดังนั้นในส่วนของสุโขทัยเองก็ตระหนักดีว่า
ในช่วงสมัยของกุบไลข่าน จีนมีอำนาจที่เข้มแข็งและสามารถขยายอาณาเขตไปได้กว้างไกล
จึงยอมอ่อนน้อมโดยส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแด่จักรพรรดิจีน
และมีการส่งทูตไปจีนเรื่อยมา



จักรพรรดิกุบไลข่าน 


ต่อมาในสมัยอยุธยา
ตรงกับสมัยที่ราชวงค์หมิงของจีนปกครอง
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอยุธยาและราชวงค์หมิงเป็นไปด้วยดีตลอด ๔๑๗
ปี
แม้จะมีติดขัดบ้างในช่วงที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ตลอดระยะเวลา๔๑๗ปี
กษัตริย์อยุธยาได้ส่งของมีค่าและเป็นสินค้าที่หายากให้แก่จักรพรรดิจีนเป็นจำนวนมาก
เช่น พริกไทยดำหนึ่งหมื่นชั่ง ไม้ฝางหนึ่งหมื่นชั่ง เป็นต้น
เราะพริกไทยและไม้ฝางเป็นสินค้าราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก


ในสมัยของสมเด็จพระอินทรราชา (ค.ศ.๑๔๐๙-๑๔๒๔)
เป็นช่วงเวลาที่การทูตระหว่างสยามและจีนแน่นแฟ้นมาก เนื่องจากสมัยที่พระองค์ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทเป็นผู้นำคณะทูตเสด็จไปยังจีนได้สร้างพระราชไมตรีอันดีต่อกัน
เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงได้สานต่อความสัมพันธ์นั้น มีการส่งทูตไปจีนเป็นจำนวนทั้งสิ้น๑๐ครั้ง
ตลอดระยะเวลา๑๕ปีในรัชสมัยของพระองค์ โดยเฉลี่ยปีละครั้งหรือสองครั้ง และในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่แม่ทัพนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ของจีนนามว่าเจิ้งเหอ
เดินทางมายังอยุธยา


ในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่สยามและขยายพระราชอาณาเขตไปกว้างไกล
ทรงยึดล้านนา ล้านช้าง เขมร และพม่าบางส่วน
ทรงตะหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีน
นอกจากจะส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีแล้วยังมีสัมพันธไมตรีด้านการทหารอีกด้วย
เมื่อเกาหลีขอความช่วยเหลือไปยังจีนเพื่อขอความช่วยเหลือจากการถูกญี่ปุ่นรุกราน
(ค.ศ.๑๕๙๒-๑๕๙๗) ทรงส่งทูตไปจีนและเสนอให้ความช่วยเหลือแก่จีน


แต่จีนเห็นว่าสยามอยู่ไกลและเสียเวลาในการเดินทางจึงได้ปฏิเสธไปแต่ก็แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีกับจีน
แต่ต่อมาจีนก็ได้รับความช่วยเหลือทาการทหารจากสยามเมื่อจีนถูกพม่ารุกรานเขตชายแดนยูนนาน
สยามได้ให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่จีนจนพม่าต้องแตกพ่ายไป
นับว่าเป็นความสัมพันธ์ทางการทหาร ครั้งที่สองระหว่างสยามกับจีน


ในสมัยพระเอกาทศรศจนถึงสมเด็จพระนารายณ์
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น แม้จะส่งทูตไปจีนไม่บ่อยเท่าในสมัยแรกๆ
แต่การเจริญสัมพันธ์ทางการทูตของสยาม ก็ได้ส่งผลต่อการค้าระหว่างสยามกับจีนมาก
โดยในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรศเป็นสมัยที่ชาติตะวันตกได้เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยาและสินค้าจากจีนเป็นที่ต้องการของพ่อค้าชาวตะวันตกอย่างมาก
ส่งผลให้ต้องเจริญความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเพื่อส่งเสริมทางด้านการค้า
ในสมัยพระนารายณ์นั้นแม้พระองค์จะทรงมีสัมพันธไมตรีแก่ชาวต่างชาติทุกๆชาติที่เข้ามาติดต่อ
แต่พระองค์ก็ยังคงให้ความสำคัญกับจีนเพราะการติดต่อทางการค้ากับจีนเป็นผลประโยชน์อย่างมากกับสยาม
มีการส่งทูตไปจีนเป็นจำนวนมากถึง๑๒ชุด ในอัตราเฉลี่ย๑ชุดทุกๆ๓ปี


แต่ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา
การเมืองในสยามเกิดเป็นความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างจีน
หรือแม้แต่ชาติอื่นๆจะต้องชะงักลง จนกระมั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
ไปจนถึงก่อนเสียกรุงให้พม่า ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนก็เฟื่องฟูขึ้นอีกครั้งนึง


ด้านการค้า


ด้วยความสัมพันธ์อันดีด้านการทูตระหว่างสยามกับจีนส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้าเป็นไปด้วยดีมาตลอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย
โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าหย่งเล่อ ในสมัยราชวงค์หมิงซึ่งมีการส่งเสริมการค้าทางทะเล
ทำให้กิจการการค้าทางทะเลระหว่างสยามและอยุธยาเป็นไปด้วยดีมาโดยตลอด
แม้ในช่วงปลายจักรพรรดิหย่งเล่อพ่อค้าชาวจีนจะถูกรุกรานโดยโจรสลัดญี่ปุ่นจนทำให้ต้องเข้มงวดในนโยบายการเดินทางออกทะเล
แต่ก็ไม่เป็นผลที่ทำให้การค้าระหว่างสยามกับจีนหยุดชะงัก


โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่๑๘
(ค.ศ.๑๗๒๑-๑๗๙๔)
เป็นช่วงที่ประชากรของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดสภาวะการขาดแคลนข้าว
ทางการจีนในสมัยจักรพรรดิคังซีจึงต้องนำเข้าข้าวจากสยามซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดี ทำให้การค้าข้าวกับจีนเฟื่องฟูมาก
โดยเฉพาะในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ซึ่งอยู่ในปลายสมัยอยุธยามีความก้าวหน้ามากที่สุด
เพราะพรองค์ทรงลดอัตราภาษีข้าวไทยที่ส่งไปขายยังจีนลงครึ่งหนึ่งต่อข้าวทุกๆหมื่นหาบหรือสามในสิบ
ต่อปริมาณข้าวทุกๆห้าพันหาบ และเมื่อพระองค์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาเมื่อค.ศ.๑๗๕๑
พระราชทานกระดุมขุนนางแก่พ่อค้าที่สั่งซื้อข้าวจากไทยมากกว่าสองพันหาบ
ทำให้ปริมาณการค้าข้าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก


ส่วนการค้าในส่วนเอกชนนั้น
พ่อค้าชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรานอยู่ในสยามตั้งแต่สมัยสุโขทัย พ่อค้าชาวจีนมีบทบาทสำคัญต่อการค้าของราชสำนักอย่างมาก
เพราะมีการจ้างนักเดินเรือชาวจีนเพื่อคุมเรือหลวงไปทำการค้าขายกับต่างประเทศ
ทำให้ปริมาณชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรานอยู่ในสยามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีนโยบายห้ามชาวจีนออกนอกประเทศก็ตาม
บทบาทชาวจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่มีการขับไล่ชาวญี่ปุ่นออกจากราชอาณาจักรทำให้บทบาทชาวจีนมีบทบาทกับพระราชสำนักมากขึ้นแทนในส่วนของพ่อค้าชาวญี่ปุ่น






 เรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา


ชาวจีนที่มาค้าขายในอยุธยามักทำการค้าเกี่ยวกับเครื่องสำเภา
ไหม แพ ทองเหลือง ถ้วยโถ ชาม เนื้อหมู และปลาสด
อยู่ในตลาดสมัยนั้นเรียกว่าย่านนานก่าย
นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวจีนที่ประกอบอาชีพตีเหล็ก ทำขวาน หัวเหล็ก หัวป้าน
และขวานปลูขายในบริเวณที่เรียกว่า บ้านวัดน้ำวน ซึ่งอยู่ในตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา



ในสมัยปลายอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
เรื่อยไปจนถึงสมัยเสียกรุงแก่พม่า
พ่อค้าชาวจีนยังคงมีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศของสยาม
โดยเฉพาะการค้าระหว่างมณฑลฝูเจี้ยน เมืองปัตตานีและเมืองสงขลา
ซึ่งมีความรุ่งเรืองอย่างมาก ในขณะที่บทบาทพ่อค้าชาวยุโรปลดลงไป ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับจีนเข้มแข็งมากขึ้น
โดยเฉพาะข้าวที่เป็นสินค้าสำคัญระหว่างประเทศทั้งสอง







 

Create Date : 18 ธันวาคม 2553    
Last Update : 18 ธันวาคม 2553 16:59:27 น.
Counter : 1144 Pageviews.  

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสมัยอยุธยา ตั้งแต่สมัยพระนเรศวร-พระนารายณ์






ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเมืองการปกครองหลังสมัยพระนเรศวร




ในสมัยต้นอยุธยาการปกครองของ ลักษณะการเมืองการเมืองการปกครองในราชอาณาจักร
ค่อนข้างจะเป็นอิสระต่อกัน
แต่เมื่ออยุธยาขยายอำนาจ ไปยังศูนย์อำนาจอื่นๆอย่างกว้างขวางขึ้นทำให้ระบบราชการของอยุธยา
ขยายตัวและซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย พยายามจะกลืนอำนาจเล็กๆของศูนย์อำนาจต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในระบบราชการ
และขยายอำนาจการปกครองครอบคลุมทั่วอาณาจักรมากขึ้น
รากฐานอำนาจของการเมืองในอยุธยาคือการคุมเลกไพร่ และการคุมกำลังพล
อันเป็นรากฐานของการปกครองของอยุธยา ซึ่งขุนนางนอกจากขุนนางฝ่ายปกครองแล้ว ยังมี ขุนนางฝ่ายชำนาญการ
ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นชาวต่างชาติและสังกัดกับกษัตริย์โดยตรง
ระบบราชการใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพมากหากกษัตริย์ฉลาดและเข้มแข็ง ซึ่งสามารถกอบโกยทั้งพระราชอำนาจและพระราชทรัพย์จากระบบนี้
แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งของสถาบันกษัตริย์คือ การสืบราชสมบัติ สถานะของขุนนางในระบบนี้
มีอำนาจทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยิ่ง อำนาจที่ทวีมากขึ้นของขุนนางเหล่านี้
ทำให้กษัตริย์ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามและ
เป็นผู้อนุญาตให้กษัตริย์ดำรงอยู่ในเศวตฉัตร
และขุนนางที่มีอำนาจเช่นนี้ล้วนเป็นขุนนางฝ่ายปกครองทั้งสิ้น โดยเฉพาะออกญากลาโหม
และขุนนางที่มีอำนาจทางการเมืองนี้ จึงใช้อำนาจนี้ช่วงชิงราชบัลลังก์
อันจะเป็นการเปลี่ยนโฉมลักษณะทางการเมืองอยุธยาไปอย่างยิ่ง





ความเปลี่ยนแปลงในลักษณะการเมืองตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง


การขึ้นครองราชย์ของออกญากลาโหมเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
เป็นจุดสุดยอดของอำนาจทางการเมืองของขุนนางฝ่ายปกครองอยุธยา ในช่วงสามปีแรกที่ขึ้นครองราชย์สมบัติ
ก็ยังคงมีการต่อต้านพระองค์อยู่ในลักษณะการเมืองแบบเดิม ตั้งแต่หลังรัชกาลพระเอกาทศรถ
เป็นผลให้ต้องมีการประหารพระราชโอรส๒พระองค์ ของพระเจ้าทรงธรรม และฆ่าฟันขุนนางและริบราชบาทว์เป็นจำนวนมาก
โดยทรงบั่นทอนพระราชทรัพย์ซึ่งเป็น รากฐานที่สำคัญในการสะสมอำนาจของขุนนาง
และเข้าแทรกแซงการแบ่งมรดกของขุนนางด้วย
และได้เพิ่มกิจกรรมทางการค้าของพระองค์ทำให้
เหล่าขุนนางสูญเสียกำไรจากการค้าที่เคยทำได้
และการค้านี้ก็นำกำไรอย่างไม่น่าเชื่อมาให้แก่พระองค์ นอกจากนี้ยังได้ฆ่าล้างขุนนางอำนาจสูงอีกมากมาย
เพื่อที่จะไม่ให้สามารถกระทำการทุจริตกับพระองค์ได้ เหมือนกับที่พระองค์เคยกระทำกับกษัตริย์องค์ก่อนได้
การฆ่าฟันนี้เป็นการลบล้างอำนาจของขุนนางที่สะสมมาเป็นเวลานาน รวมถึงลูกหลานด้วย
ทำให้พวกไพร่จำนวนมากได้กลายมาเป็นเสนาบดี ขุนนางซึ่งพระองค์สามารถควบคุมได้ง่ายมากกว่า ในขณะเดียวกันขุนนางที่เหลืออยู่ ก็ไม่สามารถเพิ่มอำนาจได้มากกว่าที่เคย
เพราะว่าพระองค์ทรงระวังสถานะของขุนนาง ให้ไร้เสถียรภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยทรงเปลี่ยนตัวขุนนางตำแหน่งสูงๆบ่อย จนไม่มีขุนนางคนไหนมั่นใจในสถานะของตนเลย ขุนนางในส่วนภูมิภาคก็เช่นกัน พระองค์ทรงให้เจ้าเมืองต่างๆมีอำนาจแค่ราชทินนาม
แต่ตัวต้องรับราชการอยู่ที่อยุธยา
ทำให้ไม่สามารถสะสมอำนาจทางการเมืองอยู่ที่เมืองของตนได้
และมีสถานะไม่ต่างอะไรกับทาสที่ต้องรับใช้พระองค์อยู่ในพระราชวัง และพระองค์ยังโปรดปรานชาวต่างชาติให้เข้ามารับราชการ เพื่อคานอำนาจขุนนางฝ่ายปกครอง
ซึ่งชาวต่างชาติไม่มีรากฐานอำนาจในอาณาจักรนี้และตำแหน่งราชการก็
ขึ้นอยู่กับพระองค์ทำให้ทรงไว้ใจขุนนางชาวต่างชาติ มากกว่าชาวพื้นเมืองเอง นอกจากนี้พระองค์ ยังเลื่อนชาวต่างชาติให้เข้าไปอยู่ ในตำแหน่งขุนนางฝ่ายปกครองอีกด้วย
ย่อมมีผลต่อการบั่นทอนอำนาจขุนนางฝ่ายปกครอง ที่พระองค์ไม่ไว้ใจอีกด้วย








การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์


พระนารายณ์ทรงขึ้นครองราชย์ท่ามกลางสภาวะทางการเมืองดังที่กล่าว
จุดอ่อนของสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงเป็นเรื่องการสืบราชสมบัติ
หลังสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ปัญหาเช่นนี้ก็ยังคงวนกลับมาไม่มีใครมีตำแหน่งอยู่ในวังหน้า
จึงเกิดปัญหาแย่งชิงราชบัลลังก์
ผู้ที่ชนะและขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปราสาททองได้แก่พระเจ้าไชย
ผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ เพราะเป็นโอรสที่เกิดจากชายาองค์ที่๑
และได้รับการสนับสนุนจากขุนนางฝ่ายปกครองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพระนารายณ์ก็ได้ร่วมมือกับพระศรีสุธรรมพระอนุชา ในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นชิงราชบัลลังก์
และพระศรีสุธรรมราชา ก็ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางให้ขึ้นเป็นกษัตริย์
เนื่องจากพระองค์ เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ จึงอาจจะเป็นโอกาส ให้ขุนนางกู้อำนาจที่เคยถูกลิดรอนไปมากสมัยพระเจ้าปราสาททอง กลับคืนมาอีกครั้ง นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่พระนารายณ์ไม่ได้ขึ้นครองราชย์ในทันที และรอจังหวะในการล้มราชอำนาจของพระศรีสุธรรม ขุนนางฝ่ายชำนาญการหรือชาวต่างชาติ จึงเป็นพันธมิตรใหม่ที่พระองค์ให้ความสนใจ ซึ่งขุนนางที่ให้ความช่วยเหลือแก่พระนารายณ์ส่วนมาก จะเป็นขุนนางฝ่ายปกครองตำแหน่งเล็กๆและ
ชาวต่างชาติ เป็นส่วนใหญ่ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ยังไม่สามารถช่วงชิงอำนาจเด็ดขาดจากฝ่ายปกครองได้ง่ายๆ ยังคงมีการวางแผนต่อต้านลับๆเกิดเป็นกบฏที่ชื่อว่า
กบฏไตยภูวนาทิตย์ และพระองค์ทอง ซึ่งส่วนมากเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองชั้นสูง ที่สนับสนุนอนุชาต่างมารดาของพระนารายณ์
กบฏไตยภูวนาทิตย์นี้ ถือเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายปกครอง ที่จะต่อต้านกษัตริย์ที่พวกตนไม่สามารถควบคุมได้ การกบฏครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนมากนัก ทำให้พระนารายณ์ทรงใช้ขุนนางฝ่ายชำนาญการปราบกบฏได้อย่างง่ายดาย และต้องรอจังหวะอีกนานกว่าพวกขุนนางฝ่ายปกครองจะสามารถปลุกประชาชน ให้ลุกขึ้นมาต่อต้านพระองค์ได้ ชัยชนะครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันนี้ที่พระนารายณ์ จะใช้ลิดรอนอำนาจฝ่ายปกครองลงและเสริมสร้างอำนาจให้ขุนนางต่างด้าว
นอกจากพระนารายณ์ทรงระวังไม่ให้ขุนนางฝ่ายปกครองมีอำนาจมากเกินไป
ถ้าทำได้อาจปล่อยตำแหน่งบางตำแหน่งให้วางลงไปเช่น ตำแหน่งจักรี หรือบางทีทรงใช้ขุนนางที่ไว้ใจได้
ไปดูแลซึ่งเท่ากับเพิ่มความไม่มั่นคงในตำแหน่งนั้นขึ้นไปอีก นอกจากนี้พระองค์ยังสืบต่อนโยบาย ที่ดึงเอาขุนนางและเจ้าเมืองในส่วนภูมิภาคมารับใช้ในราชธานี
นอกจากจะป้องกันไม่ให้ขุนนางเหล่านี้แข็งเมือง
ยังได้ทรงคนต่างชาติไปดูแลซึ่งจะสามารถสร้างฐานอำนาจ ได้ยากกว่าเจ้าเมืองในท้องถิ่น ขุนนางฝ่ายปกครองที่ขาดฐานอำนาจแบบนี้ย่อมปลอดภัยกับพระองค์มากกว่า ขุนนางในสมัยพระนารายณ์ไม่สามารถที่จะหาเสถียรภาพทางการเมืองได้
ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ถูกลิดรอน
ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งสูงเพียงใด ก็อาจจะต้องราชทัณฑ์อย่างรุนแรงในพริบตา ในขณะเดียวกับก็ทรงสนับสนุนให้ขุนนางต่างชาติ ดำรงตำแหน่งสูงๆในฝ่ายปกครอง
รัชกาลสมัยพระนารายณ์ต้องเผชิญกับสงครามและกบฏอยู่หลายครั้ง การที่ชาวนาต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปรบ และก็ไม่ได้นำประโยชน์ใดๆมาแก่พวกเขา ย่อมทำให้พระองค์ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของพระชาชนนัก
ขุนนางส่วนใหญ่ก็คอยเป็นปฏิปักษ์กับพระองค์ คอยวางแผนจะโค่นล้มตลอดเวลา
พระองค์จึงปกครองประเทศค่อนข้างโดดเดี่ยว ส่วนการประทับอยู่ที่ละโว้เป็นเวลานานนั้น
จากการพิจารณาจากหลักฐานชั้นต้นหลายๆชิ้นพบว่า
เหตุที่พระองค์ประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ
แต่มีเหตุผลเชื่อว่าพระองค์ทรงรู้สึกเสรีจากการวางแผนประทุษร้าย
และลพบุรีก็เป็นฐานอำนาจของพระองค์ เพราะขุนนางจากอยุธยาเมื่อขึ้นจากลพบุรีแล้ว ก็จะขาดจากฐานอำนาจของตน
ลพบุรีจึงเป็นที่มั่นทางการเมืองของพระองค์ ตราบเท่าที่ประทับที่นี่พวกขุนนางก็จะก่อการรัฐประหารได้ยากขึ้น ประสิทธิภาพของราโชบายก็ขึ้นอยู่กับการจัดการ เกี่ยวกับชาวต่างชาติด้วย พระองค์ทรงใช้ประโยชน์จากชาวต่างชาติ ซึ่งได้รับใช้ผลประโยชน์จากพระองค์มาตั้งแต่ต้น
ชาวต่างชาติที่รับพระองค์มีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น โปรตุเกส ญี่ปุ่น หรือพวก
มัวร์ โดยเฉพาะพวกมัวร์ ที่นอกจากจะช่วยพระองค์เรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองแล้ว ยังช่วยพระองค์ในเรื่องของการค้าในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย
พระองค์ทรงไว้ใจประชาคมชาวต่างชาตินี้ ยิ่งกว่าประชาชนของพระองค์เองแท้ๆ ตำแหน่งพระคลังเป็นตำแหน่งที่ดูแลประชาคมชาวต่างชาติทั้งหมด จึงทรงพิถีพิถันในการเลือกคนเข้ามารับตำแหน่ง
พระคลังจึงนับเป็นเสาเอกหนึ่ง ที่พระองค์จะใช้บั่นรอยอำนาจของขุนนางฝ่ายปกครอง เนื่องจากชาวต่างชาติมีอาวุธอยู่ในมือ และสามารถใช้อาวุธนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่ขาดสัมพันธ์โยงใยกับประชาชน
ก็สามารถใช้คนเหล่านี้พยุงฐานะทางการเมืองได้อย่างมาก
เมื่อประชาคมชาวมัวร์แตกร้าวขึ้น ก็สร้างความปั่นป่วนให้พระองค์อย่างมาก ช่วง ๑๖๘๐
สถานะทางการเมืองของพระองค์จึงออกจะมีอันตรายอยู่มาก
ในช่วงที่ดูจะน่ากลัวแก่สถานะทางการเมืองนี่เอง ฟอลคอนและฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้ทรงจัด
แนวร่วม ใหม่และดัดแปลงนโยบายทางการเมืองให้เหมาะสมกับ สถานการณ์
แม้ว่ายังทรงรักษาหลักการในแนวทางเดิมไว้ก็ตาม



แหล่งข้อมูล หนังสือการเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2552    
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2553 3:18:12 น.
Counter : 3096 Pageviews.  

ออกญาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ในมุมมองของฟอร์บัง




ออกญาวิชเยนทร์


(creditphoto wikipedia)



                                   ในบันทึกจดหมายเหตุฟอร์บังได้มีการเล่าถึงประวัติของบุคคลคนหนึ่ง ที่มีบทบาทอย่างยิ่งกับการเมืองไทยในสมัยอยุธยา
ซึ่งก็คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ชาวกรีก
ตอนหลังฟอลคอนได้เดินทางมาเมืองไทย และได้รับราชการเป็นขุนนางในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
โดยได้รับตำแหน่งเป็นออกญาวิชเยนทร์ เป็นบุคคลที่พระนารายณ์ไว้วางพระทัยมาก ซึ่งในจดหมายเหตุฟอร์บังได้บรรยายถึงลักษณะนิสัยของออกญาวิชเยนทร์ ว่าเป็นคนที่นิสัยไม่ดีขี้อิจฉา
อกตัญญู
ซึ่งฟอร์บังพยายามจะบอกกับผู้อ่านว่า ออกญาวิชเยนทร์เป็นคนไม่ดีและทำอะไรเพื่อหวังผลประโยชน์แก่ตนเอง
ขุนนางและประชาชนส่วนใหญ่ต่างไม่ชอบออกญาวิชเยนทร์
ซึ่งเรื่องราวที่ฟอร์บังบันทึกไว้นั้นขัดแย้งกับเอกสารของจดหมายเหตุบาทหลวงเดอะแบสที่กล่าวถึงความดีงามของออกญาวิชเยนทร์ที่เป็นคนดีเป็นที่รักของคนไทยและคนฝรั่งเศส
จากเอกสารต่างชาติทั้งสองทำให้เราเห็นความขัดแย้งของข้อมูลได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทั้งสองพูดไว้ไม่ตรงกัน
ซึ่งในจดหมายเหตุของฟอร์บังได้เล่าถึงลักษณะนิสัยและเรื่องราวของออกญาวิชเยนทร์ไว้ดังนี้
คือ


ออกญาวิชเยนทร์ คนอกตัญญู เพราะได้กล่าวหาเจ้าพระยาคลัง ซึ่งเป็นบุคคลที่บุญคุณกับเขาว่าใช้อำนาจราชการในทางมิชอบ ทำให้เจ้าพระยาคลังถูกปลดออกจากราชการ
และด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนในอยุธยาเริ่มรังเกียจออกญาวิชเยนทร์ ส่วนขุนนางทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ต่างก็เริ่มรังเกียจออกญาวิชเยนทร์ด้วยเช่นกัน
เพราะขุนนางเหล่านี้ เริ่มระแวงว่าพวกเขาอาจถูกใส่ร้ายเหมือนเจ้าพระยาคลัง
พวกขุนนางจึงวางแผนกันอย่างลับๆ ที่จะสำเร็จโทษออกญาวิชเยนทร์
แต่เขารู้ตัวเสียก่อน
จึงกราบบังคมทูลให้พระนารายณ์ลงพระอาญาขุนนางเหล่านี้ซึ่งมีถึง ๓๐๐ คน
ฟอร์บังยังบรรบายอีกว่าออกญาวิชเยนทร์ อ้างพระราชอำนาของพระนารายณ์กดขี่
ข่มเหงประชาชน สะสมทรัพย์ไว้มาก โดยริบสินค้าและทำการค้าขายเอง เขาเป็นคนเดียวที่สามารถค้าขายกับต่างประเทศได้
จากจดหมายเหตุฟอร์บัง ได้มีการบรรยายให้เห็นว่าออกญาวิชเยนทร์นั้น เป็นบุคคลที่มีความมั่งคั่ง
มีทรัพย์สินมากมากมายหลังจากที่ได้มารับราชการในอาณาจักรอยุธยา


ออกญาวิชเยนทร์รู้ดีว่ามีขุนนางจำนวนมากที่ไม่ชอบเขา
ถ้าหากพระนารายณ์เป็นอะไรไปอาจทำให้เขาตกที่นั่งลำบาก
เขาจึงพยายามโน้มน้าวให้พระนารายณ์รับรองชาวต่างประเทศและให้สร้างป้อมปราการให้ชาวต่างประเทศควบคุม
ต่อมาก็ได้ทูลให้พระนารายณ์เจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเพื่อจะได้รับประโยชน์นานัปการ
ซึ่งพระนารายณ์ก็ทรงเชื่อ จึงได้ส่งพระราชสาสน์ติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่
๑๔ ประเทศฝรั่งเศส โดยออกญาวิชเยนทร์ฝากสาสน์ไปยังพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
ซึ่งในสาสน์มีเนื้อหาใจความสรุปได้ว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจะทรงยอมเข้ารีตด้วย
เมื่อพระเจ้าหลุยส์ได้รับสาสน์จากออกญาวิชเยนทร์ก็ทรงเห็นชอบที่จะทำตามคำขอของออกญาวิชเยนทร์จึงส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรี
แต่อันที่จริงแล้วฟอร์บังได้กล่าวไว้ในจดหมายเหตุว่าสมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีที่ท่าที่จะยอมเข้ารีตดั่งที่ออกญาวิชเยนทร์ได้เขียนไว้ในสาสน์แต่อย่างใด
แสดงให้เห็นว่าออกญาวิชเยนทร์โกหกแต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุผลใด


ฟอร์บังได้กล่าวอีกว่าออกญาวิชเยนทร์เป็นคนที่ขี้อิจฉา
ริษยา
ออกญาวิชเยนทร์อิจฉาฟอร์บัง เนื่องจากไม่พอใจที่พระนารายณ์ชื่นชอบและพอใจในตัวฟอร์บังมากกว่า
จึงทำให้ออกญาวิชเยนทร์วางแผนที่จะลอบทำร้ายฟอร์บังให้เสียชีวิตอยู่หลายครั้ง
เช่น เมื่อครั้งที่ฟอร์บังป่วยออกญาวิชเยนทร์ได้ส่งนมข้นใส่ยาพิษมาให้
แต่ฟอร์บังไม่ได้กิน แต่คนใช้ทั้งสี่กินเข้าไปแล้วล้มป่วย นอกจากนี้อีกเหตุการณ์
คือ
ออกญาวิชเยนทร์ได้ส่งฟอร์บังไปให้ไกลจากพระนครโดยมีจุดมุ่งหมายให้ฟอร์บังเสียชีวิต
เช่น ออกญาวิชเยนทร์ วางแผนให้ฟอร์บังไปปราบกบฏมักกะสัน
ซึ่งเป็นแขกหัวรุนแรงและมีความร้ายกาจอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ยังใส่ให้ฟอร์บังไปจับเรืออังกฤษลำหนึ่งโดยออกญาวิชเยนทร์กล่าวหาว่านายเรือลำนี้เคยฉ้อโกงสินค้า
โดยมีพระราชโองการให้ไปจับกุมนายเรือโดยขึ้นไปบนเรือลำนี้กับนายทหารเพียงสองคนเท่านั้น


จากจดหมายเหตุฟอร์บังทำให้เราได้เห็นลักษณะนิสัยอีกด้านหนึ่งของออกญาวิชเยนทร์ที่เป็นคนอกกตัญญู
ขี้อิจฉา นิสัยไม่ดี และเป็นที่รังเกียจของขุนนาง
ซึ่งต่างจากบันทึกของเดอะแบสที่กล่าวถึงออกญาวิชเยนทร์ในแง่ดีเป็นที่รักของขุนนางไทยและขุนนางฝรั่งเศส เป็นคนดี
มีคนนับหน้าถือตาเป็นที่เคารพรักของคนสยาม
เราจะพบว่าเอกสารจดหมายเหตุเดอะแบสและจดหมายเหตุฟอร์บังมีความขัดแย้งกันในเรื่องลักษณะนิสัยของออกญาวิชเยนทร์




หมดแล้วน่ะคะ สำหรับข้อมูลที่นำมาจากจดหมายเหตุฟอร์บัง ตั้งแต่บล็อกนี้ไปจนถึงกบฏมักกะสันนี่ ข้อมูลอ้างอิงมาจากเอกสารของฟอร์บังหมดเลย (ยกเว้นเรื่องการขึ้นครองราชย์ของพระเพทราชา) บล็อกนี้เป็นบล็อกสุดท้ายที่จะนำข้อมูลมาจากเอกสารของฟอร์บังน่ะคะ พอละเดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดหาว่ายัยนี่เป็นอะไรหนักหนากับตาฟอร์บัง




 

Create Date : 24 ตุลาคม 2552    
Last Update : 29 ธันวาคม 2552 12:41:54 น.
Counter : 1371 Pageviews.  

1  2  

biyuchan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add biyuchan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.