บุคคลสำคัญของ อัมพวา ทูล ทองใจ

ทูล ทองใจ

     เกิดวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๒ ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม 

ก่อนที่จะเป็นนักร้อง

       เมื่อครั้งวัยเยาว์ ด.ช น้อย ทองใจ มีความมุ่งมั่นและส่อแววความเป็นนักร้อง โดยได้ไปประกวดร้องเพลงตามสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะร้องเพลงของครู ควันธรรม เช่นเพลง ค่ำแล้วในฤดูหนาว และได้รางวัลชนะเลิศมาโดยตลอด พร้อมถูกรับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินเมื่อครั้งจบชั้น ม.3

ก่อนที่จะดัง

       เคยเข้ารับราชการจนติดยศสิบตรีและได้ลาออก ต่อมาได้เดินทางเข้า กรุงเทพฯ ร้องเพลง โดยได้ร่วมงานกับ สิทธิ์ โมระกรานต์ - สมพงษ์ โมระกรานต์ ตั้งวงดนตรีเล็กๆ ชื่อวง SP แมมโบ้ รับเล่นตามงานของเพื่อนๆ ปี 2498 ได้มีโอกาศพบกับ ครูตุ้มทอง โชคชนะ หรือ เบญจมินทร์ ซึ่งเป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงรำวง เกิดถูกชะตากับทูล ทองใจ จึงชวนไปอยู่ด้วย ให้ขึ้นร้องเพลงหน้าม่านเวที เพลงแรกในชีวิตคือ พี่ทุยหน้าทื่อ จนได้บันทึกแผ่นเสียง ต่อมาครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงดนตรี จุฬารัตน์ ชวนทูล ทองใจ มาอยู่ด้วยที่วง ทุกเพลงที่บันทึกเสียงล้วนเป็นเพลงที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเพลงที่แต่งด้วย ครูไพบูลย์ บุตรขัน
        ทูล ทองใจ เป็นนักร้องเพลงไทยสากลที่มีลีลาเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งมีลีลาอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นทีหลัง น้ำเสียงของทูล ทองใจ มีพลังกังวาลใส อ่อนหวาน ชัดเจนในการออกเสียงภาษาไทย ไม่มีเหน่อ มีลูกเอื้อน อ้อยอิ่ง ฯลฯ ชวนให้คนฟังหลงใหลในน้ำเสียง 

        แผ่นเสียงทองคำที่เขาได้รับพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือปริญาเกียรติคุณและความสามารถ ถ้าเขาไม่เสียชีวิตเสียก่อน เมื่ออายุ 67 ปี (พ.ศ 2538) ปีถัดไปของเขา ต้องมีโอกาสได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติเป็นแน่  แม้เขาจะไม่มีโอกาศแต่เขาก็เป็นศิลปินของชาติ และเป็นศิลปินของมหาชนอยู่แล้ว อย่างสมศักดิ์ศรี

เล่าสู่กันฟัง 

       ครูนคร ถนอมทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บทประพันธ์ที่ทูล ทองใจ ร้องไว้นั้นสละสลวยสวยงาม ด้วยถ้อยคำที่เป็นสำนวนกวีลีลาทำนองไพเราะอ่อนหวาน ผสมผสานกับดนตรี ในแนวไลน์มิวสิคที่ฟังแล้วประทับใจ สมควรแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง "ผมเคยร่วมงานกับทูล ทองใจ อย่างใกล้ชิด กระผมและวงดนตรีจุฬารัตน์ เราเคยเดินสายขึ้นเหนือ ล่องใต้ กินเที่ยวมาด้วยกัน เคยแบ่งเบาภาระของครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวง โดยได้รับมอบหมายให้ผมเรียบเรียงเสียงประสานเพลงที่ทูล ทองใจ ร้องอัดแผ่นเสียงไว้หลายเพลง เท่าที่จำได้คือ 
- รอยรักในอารมณ์ 
- อันเป็นดวงใจ 
- รักสุดหัวใจ 
- เหนือดวงชีวา 
- กระดังงาลนไฟ 
- ขอบฟ้ากำแพงดิน 
- ตัดไม่ขาด



เล่าสู่กันฟัง เบญจมินทร์ 

           ทูล ทองใจ เป็นชื่อที่เบญจมินทร์ ตั้งให้ จากนามจริงว่า น้อย ทองใจ เป็นเด็กหนุ่มเร่ขายไอศกรีมที่ชอบร้องเพลง เมื่อไปเร่ขายในกรมทหารจึงได้พบกับ เบญจมินทร์ และได้ฝึกการร้องเพลงอย่างจริงจัง เบญจมิทร์ จึงแต่งเพลง พี่ทุยหน้าทื่อ บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในปี 2499 เป็นแนวเพลง คำรณ ผู้ฟังตอบรับพอประมาณ รุ่งขึ้นปี 2500 เบญจมินทร์ จึงเขียนเพลง โปรดเถิดดวงใจ เพลงไพเราะเหมาะกับเสียงร้องของทูล มีชาญชัย บัวบังศร เรียบเรียงดนตรี บทเพลง ดนตรี เสียงร้องไพเราะ ลงตัว จึงขายดีถล่มทลาย 

           เบื้องหลังการทำแผ่นเสียงครั้งนั้น เบญจมินทร์ เผยไว้ว่า ได้รับการสนับสนุนจากครูไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งขณะนั้นเป็นนักแต่งเพลงชั้นนำ ได้รับการยอมรับจากบริษัทแผ่นเสียง และมีเครือข่ายทีมงานดนตรีพร้อมมูล เบญจมินทร์เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ต่อมาเด็กหนุ่มคนหนึ่งก้าวมาในชีวิตผม"ทูล ทองใจ" คุณ(ไพบูลย์) คงจำได้ ผมมาหาคุณ และบอกว่าอยากทำแผ่นเสียงเอง แต่เงินไม่มี ทำไงถึงจะเป็นแผ่นเสียงออกมาได้ "ไปหามงคล อมาตยกุล เพื่อนเราขายอยู่ดีคูเปอร์ฯ เขาช่วยได้" 
"คุณแนะนำเช่นนั้น ผมดิ่งไปหามงคลเพื่อนรักทันที และครั้นแล้วเพลงต่างๆของผมก็หลั่งใหลออกมา ทั้งร้องเอง ทั้งทูลร้อง คุณขอทูลไปร้องบ้าง ผมอนุญาตด้วยความเต็มใจ นั่นคือการที่ทำให้ทูลมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น นั่นคือสายสัมพันธ์รักนักเพลงระหว่าง เบญจมินทร์ กับไพบูลย์ บุตรขัน ที่ต่างนับถือฝีมือกัน ช่วยเหลือกัน ส่งผลเป็นการสร้างสรรค์ให้ ทูล ทองใจ ได้ร้องเพลงดีๆ กล่อมโลก กล่อมผู้คน เพลงในความทรงจำจากเสียงร้องของทูลจึงเป็นสองส่วนสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลงานของเบญจมินทร์ เช่น โปรดเถิดดวงใจ ในฝัน คืนนั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นของครูไพบูลย์ บุตรขัน ซึ่งมากที่สุด 

เพลงดีที่มีคุณภาพค้ำจุนชื่อเสียงคนร้องให้คนจดจำข้ามยุคข้ามสมัย ได้แก่ 
- น้ำตาเทียน 
- เสียงดุเหว่าแว่ว 
- แล้วจะรู้ว่าพี่รัก 
- คืนนั้นสวรรค์ล่ม 
- เหนือดวงชีวา 
- กระดังงาลนไฟ 
- ดอกทานตะวัน 
- น้ำเหนือบ่า 
- ขอบฟ้า 
- เทพธิดาหลงฟ้า 
- ฝนโลมพื้นหล้า 
- สวรรค์จำลอง 
- นางไสยาสน์ 
- เดือนต่ำดาวตก 
- สาสน์รักฉบับล่า 
- นกเขาขันฉันครวญ 
- อันเป็นดวงใจ 
- รังรักในจินตาการ 
- รอยรักในอารมณ์ 
- จากเหนือเมื่อหนาว 
- แสบทรวง 
- กำแพงดิน 
- ไพรรำพึง 
- รสสวาทวาย 
- น้องนางเมืองใต้ 

         ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครองเมือง ผลงานโดดเด่นส่วนมากของครูไพบูลย์ บุตรขัน คือเพลง รัก เศร้า ลึกซึ้ง ป้อนให้ทูล ทองใจ ขับร้อง พลิกจากเรื่องราวของสังคมการเมือง มาล้วงลึกถึงอารมณ์โรแมนติก ความรัก ความฝัน โดยมีแรงบันดาลใจจากชีวิตของเรา

การสูญเสียศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็นสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ

         ในบั้นปลายชีวิตเขายังใช้เวลาร้องเพลงตามห้องอาหาร เพื่อขับกล่อมแฟนเพลงของเขา แม้จะได้รับการทัดทานจากลุกๆ แต่ก็มิอาจหยุดยั้งความเป็นศิลปินของเขาได้  ท่านได้จากเราไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ด้วยโรคร้าย มีก้อนเลือดคลั่งในสมอง เกิดโรคความดันโลหิตจนเกิดหัวใจวาย สุดปัญญาที่แพทย์จะเยียวยาฉุดรั้งชีวิตไว้ได้

รางวัลที่ภูมิใจ ก่อนสิ้นลมปราณ 

พ.ศ 2509 รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ เพลง รักใครไม่เท่าน้อง บทประพันธ์ของ ครูพยงค์ มุกดา
พ.ศ 2514 รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ เพลง นางรอง ผลงาน ครูพยงค์ มุกดา
พ.ศ 2522 รางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ เพลง อยากจะบอกว่ารัก ผลงาน ครูมงคล อมาตยกุล
พ.ศ 2532 รางวัลเชิดชูเกียรติ เพลง น้ำตาเทียน เพลง โปรดเถิดดวงใจ ผลงานของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน 


                                                              ที่มา //www.baanbaimai.com






 

Create Date : 02 กันยายน 2555   
Last Update : 2 กันยายน 2555 16:36:36 น.   
Counter : 2023 Pageviews.  


บุคคลสำคัญของ อัมพวา หลวงประดิษฐฺไพเราะ

หลวงประดิษฐไพเราะฯ

         จังหวัดสมุทรสงครามนั้นเป็นถิ่นทองของดนตรีไทยมาตั้งแต่ครั้งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีครูผู้ใหญ่หลายคนหลายกลุ่มซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังและถือกำเนิดมาจากดินแดนแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองแห่งนี้อาทิเช่น ครูสิน ศิลปบรรเลง ครูกล้อย , ครูกล้ำ ณ บางช้าง ครูปาน, ครูปน นิลวงศ์ ครูสมบุญ สมสุวรรณ ครูโต(ไม่ทราบนามสกุล) คนฆ้องฝีมือดี ครูเหล่านี้มีลูกศิษย์ลูกหากระจายออกไปมากมาย ครูเนื่อง รัตนประดิษฐ์ (พ.ศ. 2439-2538) เล่าว่า สมัยที่ท่านไปเรียนปี่พาทย์ที่บ้าน ครูสมบุญ สมสุวรรณ นั้นจากแม่กลองไปจนถึงอัมพวามีวงปี่พาทย์มากกว่า 100 วง ส่วนมากเป็นเครื่องคู่

         ครูสิน ศิลปบรรเลง เป็นครูผู้ใหญ่คนหนึ่งของอัมพวา บุตรชายคนโตซึ่งเกิดจากภรรยาคนแรกชื่อ สุวรรณ เป็นคนระนาดฝีมือดี แต่ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม ครูหลวงประดิษฐไพเราะฯ หรือนายศรเป็นบุตรชายคนเล็ก เกิดจากภรรยาคนที่สอง อายุห่างจากพี่ชายคนแรกถึงยี่สิบกว่าปี

         หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นคนมีพรสวรรค์ทางดนตรี สามารถตีฆ้องวงใหญ่ได้เองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มเรียนปี่พาทย์จริงจังตั้งแต่อายุ 11 ปี และแตกฉานมีฝีมือดีอย่างรวดเร็ว ตีระนาดไหวจัดมาตั้งแต่เด็ก ท่านได้แสดงฝีมือจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นครั้งแรกในงานโกนจุกเจ้าจอมผู้เป็นธิดาคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรพันธุ์ พิสุทธิ์ ที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีบุตรสาวถวายตัว ร.5 ถึง 5 คนคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอียม เจ้าจอมเอ็ย (เกิด พ.ศ. 2422) เจ้าจอมเอี่ยม (พ.ศ. 2424) และเจ้าจอมเอื้อน (พ.ศ. 2430) ถ้าดูตามอายุน่าจะเป็นงานโกนจุกเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งถ้าเป็นไปตามปกติก็ควรเป็นปี พ.ศ. 2441 หรือก่อนนั้น (ขณะนั้นนายศร อายุ 17 ปี) ในงานนั้นมีปี่พาทย์ 3 วง นายศรเป็นคนตีฆ้องวงเล็ก โขนเล่นตอนสุครีพหักฉัตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงเฉิดต่อตัวกัน คนระนาดเอกวงครูสินต่อวงอื่นไม่ทัน ครูสินจึงเรียกนายศรไปตีระนาดเอกแทน วงไหนส่งมานายศรก็รับส่งได้ไม่บกพร่อง พอถึงรอบสองตีไหวมากจนวงอื่นรับไม่ทัน นายศรต้องบรรเลงเพลงต่อไปเองจนจบ เจ้าพระยาสุรพันธุ์พิสุทธิ์ ถึงกับตบมือตะโกน ร้องว่า "นี่..ผู้ใหญ่แพ้เด็ก" ตั้งแต่นั้นมาชื่อ นายศร ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วลุ่มน้ำแม่กลอง

         ต่อมาเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ มีงานเปิดตลาดบ้านหม้อ มีปี่พาทย์ประชัน 3 วง คือ วงมหาดเล็กหลวง วงพระนายไวย และ วงเจ้าพระยาเทเวศรฯ ขณะนั้นนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์)น่าจะเป็นคนระนาดเอกวงปี่พาทย์หลวงหรือไม่ก็วงปี่พาทย์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯนายศรได้เข้ามาดูงานนี้ด้วยบังเอิญพระนายไวยซึ่งน่าจะรู้จักนายศรเหลือบมาเห็นเข้ารู้ว่าเป็นระนาดบ้านนอกฝีมือดี ก็เลยเรียกให้เข้าไปตีระนาดในวงของท่าน นายศรได้ตีระนาดหลายเพลงจนถึงเพลงเดี่ยวกราวในทำให้เจ้านายและผู้อยู่ในงานนั้นตะลึงในฝีมือ ได้รับรางวัลถึง 32 บาท ซึ่งนับว่ามากมายอักโขอยู่ในสมัยนั้น

         อีกครั้งหนึ่งในงานคล้ายวันเกิดของเจ้าคุณจอมมารดาสำลีชนนีของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีในรัชกาลที่ 5 นายศรได้มีโอกาสมาร่วมบรรเลงปี่พาทย์ด้วยโดยได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงกราวในเถาด้วยชั้นเชิงและฝีมืออันยอดเยี่ยมจนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ชื่อเสียงของนายศรก็เริ่มเข้ามาโด่งดังในกรุงเทพฯ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นนักดนตรีเอก ทรงระนาดได้ดี โปรดระนาดที่ไหวจริง ชัดเจน การที่ประทานรางวัลนายศรแสดงว่าต้องตีได้เยี่ยมจริง ๆ

         ในปี พ.ศ. 2442 เป็นหัวเลี้ยวสำคัญในชีวิตของนายศรดังที่ท่านบันทึกไว้เองว่า "ปีกุน ร.ศ. 118 เจ้าเมืองสมุทรสงครามให้อำเภอคือ ขุนราชปุการเชย ไปหาบิดาที่บ้านบอกว่าสมเด็จวังบูรพาฯให้ไปตีระนาดถวายที่เขางู เมืองราชบุรี ออกจากบ้านมาก็เลยเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯทีเดียว ไปตามเสด็จเมืองพิษณุโลก หล่อพระพุทธชินศรีกลับลงมา รุ่งขึ้นปี ร.ศ. 119 เดือนยี่ ทำการสมรสที่บ้านหน้าวัง ในปีนี้ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรม"

         เบื้องหลังและรายละเอียดอันเป็นต้นเหตุให้นายศรได้เข้ามาเป็นคนระนาดเอกวังบูรพาฯมีอยู่ว่า สมเด็จกรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช (ครั้งดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงฯ) เจ้าของวังบูรพาภิรมย์ทรงโปรดปี่พาทย์ยิ่งนักและไม่ยอมแพ้ใครในเรื่องนี้ ทรงมีวงปี่พาทย์ประจำวังของพระองค์เองแต่คนระนาดของพระองค์คนแล้วคนเล่า ก็ไม่มีใครสู้นายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) ได้ จึงทรงเสาะหาคนระนาดที่จะมาปราบนายแช่มให้ได้ เมื่อเสด็จออกไปบัญชาการเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ที่จังหวัดราชบุรี ทรงทราบว่านายศรบุตรครูสินตีระนาดดีจึงให้หาตัวมาตีถวาย พอตีถึงเดี่ยวกราวในยังไม่ทันจบเพลง ก็ถอดพระธำรงค์ประทานและขอตัวจากครูสินให้ตามเสด็จเข้าวังทันที แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ต้องกลับไปเอาที่บ้านทรงแต่งตั้งให้นายศรเป็นจางวางมหาดเล็ก ซึ่งปรากฏชื่อในหมู่นักดนตรีว่า "จางวางศร"

         สมเด็จวังบูรพาฯโปรดให้จางวางศรเป็นคนระนาดเอกแทน ครูเพชร จรรย์นาฏ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนฆ้องใหญ่ ครูเพชรผู้นี้เป็นศิษย์รุ่นเล็กของครูช้อย สุนทรวาทิน มีฝีมือทั้งระนาดและฆ้องวง ได้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับจางวางศรเป็นอันมาก ส่วนครูคนสำคัญที่ทำให้ฝีมือระนาดของจางวางศรก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ครูแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) นอกจากนั้นจางวางศรยังได้เรียนและได้รับคำแนะนำจากครูผู้ใหญ่คนอื่นๆในยุคนั้นอีกหลายท่านด้วย

         สมเด็จวังบูรพาฯทรงหาครูมาฝึกสอนจางวางศรอยู่นานพอสมสมควรแล้วทรงจัดให้จางวางศรตีระนาดประชันกับนาย แช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) คนระนาดเอกของกรมพิณพาทย์หลวง เมื่อราวปี พ.ศ. 2443 ขณะนั้นจางวางศรอายุ 19 ปี นายแช่มอายุ 34 ปี เป็นการประชันระนาดเอกอย่างเป็นทางการครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการดนตรีไทยผลการประชันเป็นที่กล่าวขวัญกันมาอีกช้านาน รายละเอียดที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้ได้ข้อมูลมาจาก คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ครูจำรัส เพชรยาง และศิษย์ครูจางวางศรซึ่งส่วนใหญ่ไปดูการประชันครั้งนั้นมี ครูถวิล อรรถฤกษณ์ ศิษย์ ครูเพชร จรรย์นาฏ

         เมื่อจางวางศรรู้ว่าสมเด็จวังบูรพาฯจะให้ตีประชันกับนายแช่มก็ตกใจมาก เพราะในขณะนั้นนายแช่มกำลังโด่งดังไม่มีใครกล้าสู้ อีกทั้งเป็นลูกครูช้อยครูของครูแปลกและครูเพชรด้วย จางวางศรจึงทั้งเคารพและยำเกรงในฝีมือ ท่านเล่าให้ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ฟังว่า "เพียงแต่ได้ยินชื่อก็ให้รู้สึกว่ามือเท้าอ่อนปวกเปียกไปเลยทีเดียว ความกลัวของท่านครูนั้นถึงกับทำให้หยุดซ้อมระนาดไปเลย ทั้งนี้เพราะเกิดความกังวลจนไม่เป็นอันกินอันนอน ในที่สุดท่านก็ชวนเพื่อนไปรดน้ำมนต์เพื่อทำให้จิตใจดีขึ้น" ด้วยความคร้ามเกรงฝีมือซึ่งกล่าวกันว่า "จะมีใครสู้นายแช่มได้" จางวางศรจึงไปกราบขอร้องให้ครูผู้ใหญ่ที่ท่านนับถือท่านหนึ่งไปช่วยกราบขออภัยต่อนายแช่มว่า ที่จริงท่านไม่เคยคิดหาญจะประชันด้วย แต่ไม่อาจขัดรับสั่งสมเด็จวังบูรพาฯได้ โปรดออมมือให้ท่านบ้าง แต่ปกติวิสัยของการประชันดนตรีย่อมต้องเล่นให้ดีเต็มฝีมือ ประกอบกับนายแช่มเป็นคนระนาดของวังหลวงย่อมต้องรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตน จึงไม่ยอมรับคำขอร้องโดยบอกว่าต่างฝ่ายต่างต้องเล่นเต็มฝีมือ

         จางวางศรยิ่งวิตกกังวลถึงกับหนีไปอยู่กับพวกปี่พาทย์ที่คุ้นเคยกันตามต่างจังหวัด สมเด็จวังบูรพาฯทรงกริ้วมากสั่งให้เอาตัวนางโชติภรรยาจางวางศรมากักกันไว้ จนจางวางศรต้องกลับมา มุมานะฝึกซ้อม และคิดค้นหาวิธีตีที่จะทำให้ไม่แพ้คู่ต่อสู้ เข้าใจว่าท่านได้คิดวิธีจับไม้ระนาดให้ตีไหวรัวได้ดียิ่งขึ้นในตอนนี้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆในการตีระนาดอีกมากมาย เช่น ตีให้ไหวร่อน ผ่อนแรง ไหวทน เพราะนายแช่มหรือพระยาเสนาะดุริยางค์นั้นทั้งไหวทั้งจ้าหาคนสู้ได้ยากจริงๆ จางวางศรเองก็เคยปรารภกับครูเพชรว่า "ตีให้จ้าน่าเกรงขามอย่างท่านยากต้องหาชั้นเชิงอื่นสู้" ความมุ่งมั่นมานะทำให้ท่านฝันว่าเทวดามาบอกทางเดี่ยวเพลง กราวในที่ดีที่สุดให้และประสาทพรให้ท่านว่า "ต่อไปนี้เจ้าจะตีระนาดไม่แพ้ใคร"

         การประชันครั้งนั้นใช้ปี่พาทย์เครื่องห้าเพราะต้องการดูฝีมือผู้ตีระนาดเอกเป็นสำคัญ วงปี่พาทย์หลวงไม่ทราบว่าใครเป็น คนฆ้อง คนปี่ และ คนเครื่องหนังแต่วงวังบูรพาฯครูเพชรเป็นคนฆ้อง ครูเนตรตีเครื่องหนัง ส่วนคนปี่ไม่ทราบนาม การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเพลงรับร้องเรื่อยไปจนถึงเดี่ยวระนาดเอกกันแบบ "เพลงต่อเพลง" เริ่มด้วยเพลงพญาโศก เชิดนอก (4 จับ) และเดี่ยวอื่นๆเรื่อยไปจนถึงเพลงกราวใน ผลปรากฏว่าฝีมือก้ำกึ่งคู่คี่กันตลอดจนกระทั่งถึงเพลงเดี่ยวกราวในก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะเด็ดขาด เพราะฝีมือเด่นกันคนละอย่างดังที่ ครูเพชร จรรย์นาฏ เล่าให้ลูกศิษย์ของท่านฟังว่า "พระยาเสนาะดุริยางค์ไหวจัดจ้ากว่า แต่จางวางศรไหวร่อนวิจิตรโลดโผนกว่า" จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัวซึ่งวัดความไหวทนเป็นสำคัญ

         พระยาเสนาะดุริยางค์หรือนายแช่มนั้นตีระนาดไหวแบบเก่า และคงจะใช้ไม้ตีปื้นหนา พันไม้แข็งนัก จึง "ดูดไหล่" คือกินแรง ประกอบกับท่านรักษาความเจิดจ้าชัดเจนของเสียงระนาดไม่ยอมตีระหรือเกลือกให้เสียงเสีย ยิ่งตีไหวจ้าขึ้นมากเท่าใดก็ต้องใช้กำลังแขนไหล่มากขึ้นเท่านั้น จึงย่อมจะล้าง่าย ส่วนจางวางศรคิดวิธีจับไม้ให้ไหวร่อนได้เร็วใช้การเคลื่อนไหวข้อมือช่วยผ่อนกำลังแขน จึงไหวร่อนได้เร็วกว่าแม้เสียงจะไม่จ้าเท่าตีด้วยกำลังแขนแต่ก็ไหวทนกว่า
ผลแพ้ชนะของการต่อตัวเชิดนั้นจะดูที่อาการ "หลุด" หรือ "ตาย" หลุดคือ รับเชิดตัวต่อไปจากคู่ต่อสู้ไม่ทันเพราะไม่สามารถตีให้ไหวเร็วเท่าคู่ต่อสู้ส่งมาได้ส่วน "ตาย" คือรับทัน แต่เมื่อตีด้วยความเร็วเท่าที่รับมาไปพักหนึ่งแล้วไม่สามารถรักษาความไหวเร็วในระดับนี้ต่อไปได้ ต้องหยุดตีหรือเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งจนมือตายเคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้

         ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่าในที่สุดพระเสนาะดุริยางค์เกิดอาการ"มือตาย" จึงถือว่าเป็นฝ่ายแพ้ในเรื่องความไหว แต่ครูจางวางศรเล่าว่าท่านเป็นระนาดชาติเสือแม้จะตีจนมือตายแต่เสียงระนาดยังคงเจิดจ้าสม่ำเสมอ ไม่มีเสียงเสียเลยจนผู้ที่นิยมระนาดเสียงเจิดจ้าแบบเก่าสรุปผลการประชันว่า "นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า"

         คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง (บุตรีคนโตของจางวางศร) เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการประชันเปลี่ยนทางเพลงอีก ซึ่งจางวางศรก็มีไหวพริบเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วและไพเราะกว่า เรื่องนี้น่าแปลก เพราะขณะนั้นพระยาเสนาะดุริยางค์อายุ 34 ปีผ่านงานละครดึกดำบรรพ์ซึ่งใช้เพลงทางเปลี่ยนมากมาแล้วอย่างช่ำชอง แต่จางวางศรเพิ่งจะอายุ 19 ปี ด้อยประสบการณ์กว่ามาก แต่ที่ท่านเปลี่ยนทางเพลงได้รวดเร็วไพเราะคงเป็นเพราะท่านมีไหวพริบปฏิภาณความถนัดในเรื่องนี้สูง ดังปรากฏชัดในประวัติชีวิตและผลงานในยุคต่อๆมา

         ตั้งแต่นั้นมาทางระนาดแบบโลดโผนวิจิตรพิสดารคือการ สะบัด ขยี้ แบบต่างๆของจางวางศรก็ได้รับความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้น ทางระนาดแบบไหวลูกโป้งที่พระยาเสนาะดุริยางค์ถนัดค่อยๆเสื่อมความนิยม คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง ให้ความเห็นว่าเป็นไปตามพัฒนาการของยุคสมัย พระยาเสนาะดุริยางค์ก็มีฝีมือเป็นเยี่ยมสุดยอดในยุคของท่าน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปสิ่งใหม่ที่ไม่ไร้คุณค่าทางศิลปะ ย่อมได้รับความนิยมมากกว่าผลการประชันครั้งนั้นเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญในวิชาดนตรีของพระยาเสนาะดุริยางค์ เพราะตั้งแต่นั้นมาท่านมุ่งเอาดีทางปี่ จนเป็นเอตทัคคะสุดยอดในทางนี้

         สมเด็จวังบูรพาฯได้หาโอกาสให้จางวางศรประชันปี่กับพระยาเสนาะดุริยางค์อีกหลายครั้ง แต่ผลโดยสรุปต้องถือว่าพระยาเสนาะดุริยางค์เหนือกว่าในเชิงปี่ ครูเทียบ คงลายทอง ศิษย์เอกของท่านเป็นคนปี่ที่ "ยอดเยี่ยม" จริงๆ และทางปี่ของพระยาเสนาะดุริยางค์ก็แพร่หลายในวงการดนตรีไทยเช่นเดียวกับที่ทางระนาดเอกของหลวงประดิษฐไพเราะฯแพร่หลายมากที่สุด ต่างฝ่ายต่างมีอัจฉริยภาพเด่นสุดยอดกันคนละอย่าง นอกจากนั้น 2 ท่านยังแตกฉานในการบรรเลงเครื่องดนตรีอื่นๆด้วย ทั้ง ฆ้องใหญ่ ฆ้องเล็ก ระนาดทุ้ม ตลอดจน เครื่องสาย มโหรี สม ดังที่ ครูประสิทธิ์ ถาวร กล่าวว่า "ท่านเหล่านี้เทวดาส่ง มาเพื่อพัฒนาดนตรีไทย เราควรยกย่องเทิดทูนท่านมาก กว่าจะเอาความสามารถของท่านมาเปรียบเทียบกัน"

         หลวงประดิษฐไพเราะ (จางวางศร) นั้น เลื่องลือมากในเรื่องการตีระนาดเอกไหว จางวางทั่ว พาทยโกศล เคยเล่าให้ศิษย์ฟังว่าเมื่อท่านเป็นคนฆ้องเล็กในวงปี่พาทย์ฤาษีนั้นต้อง "ฝึกไล่" หนักมาก เพราะเกรงจะตีไหวไม่ทันระนาดเอก ครูขำ กลีบชื่น ซึ่งเป็นคนเครื่องหนังเคยตีกลองทัดรุกหลวงประดิษฐไพเราะฯในตอนตีระนาดเพลงเชิดโหมโรง แต่หลวงประดิษฐไพเราะฯเร่งความเร็วไหวจนครูขำกลองตีตามไม่ทัน ครูถวิล อรรถ อรรถกฤษณ์ เล่า ว่า เมื่อตอนที่ท่านเร่งฝึกซ้อม ครูเผือด นักระนาด (ศิษย์เอกคน หนึ่งของท่าน) ท่านตีเดี่ยวกราวในคู่ไปกับครูเผือด ครูเผือดตีไหวจนสุดตัวแล้ว ครูหลวงประดิษฐไพเราะฯยังเร่งไหวมากขึ้นอีกได้อย่างสบายทั้งๆที่ตอนนั้นท่านอายุเกือบ 50 ปีแล้ว

         หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้พัฒนาวิธีตีระนาดให้มีเทคนิคและชั้นเชิงมากยิ่งกว่าครูยุคก่อน และยุคหลังท่าน เมื่อตอนที่เตรียมตัวประชันกับพระยาเสนาะดุริยางค์ท่านใช้เทคนิคการตีสะบัดแบบต่างๆ ซึ่งช่วงแรกๆครูผู้ใหญ่ในยุคนั้นไม่ยอมรับ บางคนถึงกับกล่าวว่า "นายศรเธอตีระนาดแบบนี้จะไปสู้กับนายแช่มเขาได้อย่างไร" แต่ในที่สุดวงการปี่พาทย์ก็ยอมรับว่าการตีสะบัดแบบต่างๆอย่างพอเหมาะพอดี เช่น สะบัด 2 เสียง สะบัด 3 เสียง นั้น ช่วยเพิ่มรสชาติให้เพลงมากทีเดียว

         แต่เดิมนั้นระนาดเอกตีทำนองเก็บเป็นพื้น คนที่ไม่เป็นดนตรีฟังไม่ค่อยทันจะรู้สึกว่าเร็วเหมือนกันทุกเพลง ต่อมาจึงเริ่มมีเพลงทางกรอเช่น เพลงเขมรไทรโยค ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หลวงประดิษฐไพเราะฯได้พัฒนาการแต่งเพลงทางกรอล้วนขึ้นหลายเพลงเช่น เขมรเลียบพระนคร เขมรพวง ซึ่งล้วนอ่อนหวานไพเราะ ฟังง่าย คนเป็นดนตรีก็ฟังได้ คนไม่เป็นดนตรีก็ชอบฟัง การตีกรอจึงเป็นเทคนิคประการหนึ่งที่ท่านนำมาใช้ในการบรรเลงอย่างจริงจังตลอดทั้งเพลงเป็นคนแรก

         สิ่งที่ท่านพัฒนามากอีกอย่างหนึ่งคือ การจับไม้ระนาด เพื่อให้ตีได้เสียงต่างกัน เดิมการตีระนาดจับไม้แบบปากนกแก้วอย่างเดียว ท่านได้พลิกแพลงจับไม้แบบปากกาบ้าง ปากไก่บ้าง ครูประสิทธิ์ ถาวร กล่าวว่า "ความที่ครูคิดวิธีจับแบบปากกาจึงไม่มีใครตีระนาดรัวได้ดีเท่า" และได้เล่าถึงความเชี่ยวชาญในเชิงระนาดซึ่งท่านได้ถ่ายทอดแก่ศิษย์อย่างไม่ปิดบังอีกว่า
         "ท่านครูได้เมตตาถ่ายทอดวิธีการตีระนาดให้ผมมากมายหลายรูปแบบไม่ว่าจะเรื่อง แนวทีท่า ขึ้นลง สวมส่ง สอดแทรก ทอดถอน ขัดต่อ หลอกล้อ ล้วงลัก เหลื่อมล้ำ โฉบเฉี่ยว ที่ท่านเน้นเป็นพิเศษคือวิธีใช้เสียงและกลอนให้เกิดอารมณ์ต่างๆอันเป็นหัวใจสำคัญของ "ดนตรีที่ไพเราะ" เช่น กลอน (ทาง) สำนวนนี้ต้องใช้ เสียงกลม เสียงกลมหมายถึง ความเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง อารมณ์สุขุมรอบคอบ ไม่ล่อกแล่กหลุกหลิก มีความภาคภูมิสมเป็นผู้นำที่ดี เสียงแก้ว แก้วหมายถึงใสดุจแสงแก้ว แวววาวตระการตาสว่างไสวเมื่อได้ยิน เสียงนี้ใช้เฉพาะเจาะจงในการบรรเลงระนาดมโหรี ท่านว่านักระนาดใดตีเสียงแก้วไม่ได้ไม่ใช่นักระนาดมโหรี เสียงร่อนผิวน้ำ ร่อนผิวน้ำหมายถึงความเริงร่าระเริงใจ ปราดเปรียวตามประสาวัยรุ่น เสียงร่อนริดไม้ ร่อนริดไม้หมายถึงชั้นเชิงเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเขี้ยวเล็บประดุจเสือลายพาดกลอน เสียงร่อนใบไม้ไหวหมายถึงอารมณ์อันอ่อนไหวระคนไปด้วยความอ่อนหวานอันชวนให้คลั่งใคล้ไหลหลง เหมือนหนุ่มสาวที่กำลังมีอารมณ์รักปล่อยอารมณ์ไปกับแสงจันทร์ ฉะนั้น เสียงร่อนน้ำลึกหมายถึงความเป็นผู้มีอำนาจเป็นเจ้าแห่งจอมพลัง เป็นที่หวาดเกรงของคู่ต่อสู้ ฯลฯ เสียงพิเศษที่ผมนำมากล่าวในที่นี้ นักระนาดต้องผ่านการฝึกหัดตีฉากเสียก่อนจึงจะสามารถตีประดิษฐ์เสียงเหล่านี้ได้ถูกต้อง"

         ครูประสิทธิ์ ถาวร ยังได้แจกแจงเรื่องเสียงระนาดแบบต่างๆที่ได้รับถ่ายทอดมาจากครูหลวงประดิษฐไพเราะฯไว้อีกแง่มุมหนึ่งว่า "ดนตรีก็มีภาษาโดยเฉพาะดนตรีไทย" เพียงระนาดเอกเครื่องมือเดียวก็สามารถประดิษฐ์เสียงสื่อความหมายได้ไม่น้อยกว่า 20 เสียง แต่ละเสียงให้ความหมายและความรู้สึกที่แตกต่างกันเอาทิช่น เสียงกลม - เสียงแก้ว - กรอ - กริก - กรุบ - กาไหล่ - กลอกกลิ้ง, กลิ้งเกลือก - ปริบ - โปร่ง - โปรย - โรย - รัว - ร่อน - ร่อนริดไม้ , ร่อนใบไม้ไหว - ร่อนผิวน้ำ - ร่อนน้ำลึก - โต - โตผิวน้ำ - โตน้ำลึก , โขยก - ขยอก - สะบัด เป็นต้น

         จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่าหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้รวบรวมสัมฤทธิ์ภาพเรื่องระนาดเอกจากยุคก่อนมาไว้มากที่สุด ทั้งยังคัดสรรค์และสร้างเสริมวิธีตีระนาดเอกให้หลากหลายไพเราะยิ่งขึ้น จนได้รับยกย่องว่าเป็นนักระนาดเอก และครูระนาดเอกที่ยอดเยี่ยมที่สุดท่านหนึ่งของเมืองไทย

         หลวงประดิษฐไพเราะฯเป็นบุตรคนเล็กของ ครูสิน ศิลปบรรเลง และ นางยิ้ม เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2424 ที่บ้านตำบลคลองดาวดึงส์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีวิถีชีวิตและผลงานในเรื่องของดนตรีไทยสรุปได้ดังนี้

  • ปี พ.ศ. 2442 ได้เข้าเป็นจางวางมหาดเล็กในสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
  • ปี พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าฯให้เข้าไปบรรเลงปี่พาทย์ร่วมกับการแสดงโขนบรรดาศักดิ์ ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ
  • ปี พ.ศ. 2469 เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง โดยสังกัดสำนักพระราชวัง
  • ปี พ.ศ. 2473 ดำรงตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวงต่อมาโอนมาอยู่กรมศิลปากร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ศิริรวมอายุได้ 72 ปี 7 เดือน 2 วัน

                                                        ที่มา //www.maeklongtoday.com




 

Create Date : 02 กันยายน 2555   
Last Update : 2 กันยายน 2555 16:24:39 น.   
Counter : 1259 Pageviews.  


บุคคลสำคัญของ อัมพวา ครูเอื้อ สุนทรสนาน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน
บุคคลสำคัญของโลก ประจำปี 2553 โดยองค์การยูเนสโก
Personality of the Year 2011

          นับเป็นเกียรติยศของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประจำปี พ.ศ.2553

อัจฉริยบุคคลทางดนตรีผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 เป็นชาวอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่ออายุได้ 7 ปี ก็ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้พี่ชายซึ่งรับราชการอยู่ในกรมมหรสพ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดระฆังโฆษิตารามแล้ว ได้ศึกษาทางด้านดนตรีที่โรงเรียนพรานหลวง ณ สวนมิสกวัน พระเจนดุริยางค์ อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนเป็นครูคนแรกที่เห็นพรสวรรค์ด้านฝีมือเล่นดนตรีของเด็กชาย จึงให้หัดเล่นไวโอลิน

เมื่ออายุ 14 ปี ครูเอื้อ ก็ได้เป็นนักดนตรีอายุน้อยที่สุดของกองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศเป็น "เด็กชา" ต่อมาได้เลื่ิอนยศขึ้นไปเล่นวงใหญ่ เมื่ออายุ 16 ปี ได้รับพระราชทานยศ "พันเด็กชาตรี" และ "พันเด็กชาโท" ในปีถัดไป

          เมื่อครูเอื้ออายุ 22 ปี ได้โอนไปรับราชการ สังกัดกรมศิลปากรในสังกัดกองมหรสพ ในช่วงนี้ที่พรสวรรค์ทางด้านประพันธ์เพลง เริ่มฉายแววให้เห็นขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง จากการแต่งทำนองเพลงแรก ชื่อ "ยอดตองต้องลม"ให้คณะละครร้องของแม่เลื่อน ไวณุนาวิน มีเฉลิม บุณยเกียรติ เป็นคนแต่งคำร้อง

นอกจากนี้ ท่านได้ขับร้องเพลงแรกคือ "นาฏนารึ" คู่กับนางสาววาสนา ละออ เสียงของครูเอื้อไพเราะมากจนได้ร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงพระเอกภาพยนตร์เรื่อง "ถ่านไฟเก่า" ของบริษัทไทยฟิลม์ ที่ก่อตั้งโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค

ชื่อเสียงที่โด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ครูเอื้อตั้งวงดนตรีขึ้นคือวง "ไทยฟิลม์" ตามชื่อบริษัทภาพยนตร์ แต่ว่าก่อตั้งได้เพียงปีเศษ กิจการบริษัทไทยฟิลม์ที่สร้างภาพยนตร์มีอันต้องเลิกกิจการไป วงดนตรีไทยฟิลม์ก็พลอยสลายตัวไปด้วย

          จากนั้นไปอีก 1 ปี ทางราชการตั้งกรมโฆษณาการ เผยแพร่ผลงานของรัฐบาลทางวิทยุกระจายเสียง มีนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี นายวิลาศเห็นว่าควรมีวงดนตรีประจำในกรมฯ จึงปรึกษาหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณหลวงก็แนะนำให้โอนครูเอื้อจากกรมศิลปากรมาประจำอยู่กรมฯ เป็นหัวหน้าวงดนตรีของกรมฯ ครูเอื้อจึงได้เป็นข้าราชการของกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนเกษียณราชการในปี พ.ศ.2513 ในตำแหน่งหัวหน้่าแผนกบันเทิงต่างประเทศ ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี

          เมื่อหมดภาระหน้าที่ราชการ ครูเอื้อได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2516 ด้วยพื้นฐานทางดนตรี ทั้งไทยเดิมและไทยสากล ทำให้ครูเอื้อผสมผสานเส้นทางดนตรีทั้งสองแบบขึ้นมา มีจุดพบกึ่งกลางที่ดนตรีแบบไทยสากล คือมีการเรียบเรียงเสียงประสานและจังหวะลีลาศแบบสากล แต่ก็มีเนื้อร้องและวิธีการร้องแบบไทย เช่น การเอื้อนเสียงในการร้อง

          นอกจากนี้ครูเอื้อดัดแปลงท่วงทำนองเพลงไทยเดิมให้เหมาะสมกับยุคสมัยใหม่ เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล และร้องตามแบบสากลได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน จนเป็นแบบฉบับเฉพาะตัว เพลงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งชื่ิอให้มีเค้าเดิมของที่มา เช่นเพลง "พรพรหม" ดัดแปลงจาก "แขกมอญบางขุนพรหม" "เสี่ยงเทียน" ดัดแปลงจาก "ลาวเสี่ยงเทียน" "ทะเลบ้า" ดัดแปลงจาก "ทะเลบ้า สองชั้น"

          ด้วยฝีมือและพรสวรรค์ดังที่กล่าวมา ครูเอื้อจึงได้ก่อตั้งวงดนตรีส่วนตัว เพื่อบรรเลงเพลงไทยสากลตามแบบที่ถนัด ในสถานที่ต่างๆ นอกเวลาราชการ ตั้งชื่อว่า "สุนทราภรณ์" โดยนำนามสกุล "สุนทรสนาน" มารวมกับชื่อ "อาภรณ์" ซึ่งเป็นชื่อของธิดาพระยาสุนทรบุรี และคุณหญิงสอิ้ง คือคุณอาภรณ์ กรรณสูต สุภาพสตรีผู้ซึ่งต่อมาได้สมรสกับครูเอื้อ ทั้งสองมีธิดาด้วยกันคนเดียวคือ คุณอติพร (สุนทรสนาน) สมรสกับพลตำรวจโทสันติ เสนะวงค์ มีธิดา 2 คน คือวราภรณ์ และ อรอนงค์

ชื่อเสียงของครูเอื้อขจรขจายควบคู่มากับวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ.2482 ครูเอื้อมีความสามารถพิเศษที่น่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง คือ เป็นได้ทั้งคีตศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเพลง และสร้างนักร้องหน้าใหม่ทั้งชายและหญิงได้ขับร้องเป็นดาวเสียงประดับฟ้าไทยจำนวนมากมาย หลายรุ่นด้วยกัน แต่ละคนได้ร้องเพลงตามแนวที่ตัวเองถนัดจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม ได้ชื่อว่ามีน้ำเสียงและเพลงประจำตัวที่เป็นอมตะมาจนทุกวันนี้ เช่น มัณฑนา โมรากุล วินัย จุลบุษปะ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ ศรีสุดา รัชตวรรณ เลิศ ประสมทรัพย์ สมศักดิ์ เทพานนท์ รวงทอง ทองลั่นทม ศิลปินแห่งชาติ และบุษยา รังสี

นอกจากนี้ท่านยังได้ร่วมงานกับนักแต่งเพลงที่มีฝีมือเลิศอีกเป็นจำนวนมากเช่น ครูแก้ว อัจฉริยกุล สุรัฐ พุกกะเวส "ธาตรี" ศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ สร้างผลงานเพลงที่ยั่งยืนทั้งในรูปของละครเพลง เช่น จุฬาตรีคูณ กามนิต-วาสิฏฐี และเพลงไทยสากลเป็นจำนวนกว่าสองพันเพลงตลอดชีวิตการทำงานของครูเอื้อ

          นอกเหนือจากความรักในเพลง สิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจให้ทำงานได้อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2512 ที่ครูเอื้อได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเหรียญรูปเสมาทองที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 วงดนตรีสุนทราภรณ์

          ตลอดระยะเวลา 42 ปี ครูเอื้อทำงานทั้งงานราชการ งานประพันธ์เพลงติดต่อกัน และประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องในฐานะหัวหน้าวงดนตรี โดยไม่เคยหยุดพักผ่อนเลย ปกติครูเอื้อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ และไม่มีโรคประตัว จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ.2521 เริ่มป่วย แพทย์ได้เอ็กซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เเข้ารับการรักษา แต่ครูเอื้อก็ยังทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ.2522 มีอาการทรุดลง จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้นครูเอื้อได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมถึง 2 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

          ในช่วงปี พ.ศ.2523 ครูเอื้อได้เดินทางพร้อมนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้มีโอกาสขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือเพลง "พรานทะเล" เพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อร้องบันทึกเสียง อยู่ในชุด "พระเจ้าทั้งห้า" เป็นการรวบรวมผลงานเพลงที่ท่านบันทึกเสียงในช่วงปลายชีวิต บางเพลงก็อัดไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เพลงอีกส่วนหนึ่งท่านบันทึกใหม่ พร้อมด้วยเพลงสำคัญที่สุดคือเพลง "พระเจ้าทั้งห้า" เพลงนี้ครูเอื้อของให้ครูสุรัจ พุกกะเวส ประพันธ์คำร้องโดยบอกความประสงค์เป็นแนวในการใส่คำร้องและบันทึกเทปไว้ให้ ทางวงดนตรีและลูกศิษย์ถือกันว่าเป็นเพลงประจำตัวครูเอื้อ ระหว่างการบันทึกเสียงร้อง ครูเอื้อต้องพักเป็นระยะๆ เพราะมะเร็งลุกลามถึงขั้นสุดท้าย ทำให้หายใจลำบาก ต้องใช้วิธีตัดต่อเสียงทั้งเพลง แต่ท่านก็ร้องได้จนจบ "คลอด" เสียงไวโอลินที่ไพเราะ "กินใจ"ได้อารมณ์ที่สุด กล่าวกันว่าเรียกน้ำตาจากผู้ใกล้ชิดครูเอื้อได้ทุกครั้งที่ได้ยิน

          ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2523 เป็นต้นมา อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2524 ท่านก็ถึงแก่กรรมอย่างสงบ รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ.2523-2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี คุณอติพร เสนาะวงศ์ บุตรี เป็นผู้รับแทน


บทความโดย รศ.ดร.คุณหญิง วินิดา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ
                                                                      ที่มา //www.maeklongtoday.com









 

Create Date : 02 กันยายน 2555   
Last Update : 2 กันยายน 2555 16:23:42 น.   
Counter : 1186 Pageviews.  


เพลงเกี่ยวข้องกับอัมพวา ยังมีต่อ

เข้าใจว่า หมดแล้ว ยังมีอีก ก็ฟังกันต่อ









 

Create Date : 02 กันยายน 2555   
Last Update : 2 กันยายน 2555 15:47:34 น.   
Counter : 455 Pageviews.  


เพลงเกี่ยวข้องกับอัมพวา ภาคต่อ

ยังไม่จบมีคนร้องต่ออีก 











 

Create Date : 02 กันยายน 2555   
Last Update : 2 กันยายน 2555 15:38:58 น.   
Counter : 746 Pageviews.  


1  2  

ลุงฮี 639
 
Location :
ราชบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ลุงฮี 639's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com