Group Blog
 
All blogs
 

การเมืองแบบรุนแรงในหมู่ชนชั้นนำ มุมมองจากอาจารย์เกษียร เตชะพีระ

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2549 ในบทความชื่อ "การเมืองแบบรุนแรงในหมู่ชนชั้นนำ (1)" โดย เกษียร เตชะพีระ บทความนี้มีรูปประกอบบทความเพียงรูปเดียวซึ่งเป็นรูปด้านล่าง โดยไ่ม่มีเนื้อหาอื่นประกอบ (อาจจะมีเพิ่มในตอนต่อไป เพราะอาจารย์เกษียรเขียนว่าเป็นตอนที่ 1) -- เนื่องจากไม่พบรูปอ้างอิงจากเว็ปไซต์ของมติชน ผู้เขียนบล็อกจึงต้องจัดทำขึ้นมาใหม่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจึงขอให้เป็นความผิดพลาดของผู้เขียนบล็อกเพียงผู้เดียว






คลิ้กเพื่อดูรูปขยายใหญ่

พร้อมกันนี้ขอให้ดูบทความประกอบเพิ่มเติม




 

Create Date : 14 กันยายน 2549    
Last Update : 14 กันยายน 2549 14:25:45 น.
Counter : 533 Pageviews.  

ตอบคุณปริเยศ (เรื่องต่อเนื่องจากสองนคราประชาธิปไตย)

ผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะพยายามจะเขียนตอบในคอมเม้นท์ท้ายบทความ แต่ไม่ขึ้นเลย อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณข้อมูล ขอนำ comment นั้นมาลงเป็นบทความใหม่ที่นี่ครับ


ความคิดเห็นของคุณปริเยศ

ขอรบกวนให้หลายท่านวิสัชนาให้ผมหน่อยเถอะ ว่าทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงๆ หรือเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐอีกรูปแบบหนึ่งกันแน่???

เหตุที่ผมเชื่อเช่นนั้น เพราะประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปที่ดิน ไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กลุ่มรากหญ้าที่เป็นกำลังหลักของทักษิณเดิมก็อยู่กันแบบตามมีตามเกิดผ่านเศษเงินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องไปเดินขบวนต่อรองช่วยเหลือเมื่อราคาพืชผลตกต่ำ แต่ก็ได้แค่นั้น จนกระทั่งทักษิณมาในปี 2544 มีOTOP มี30บาท มีพักชำระหนี้เกษตรกร มีเงินช่วยเหลือไปยังหมู่บ้าน แต่ได้แค่นั้นเช่นกัน ทักษิณเองไม่เคยแตะปัญหาหลักคือเรื่องการปรับโครงสร้างการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การปฏิรูปที่ดิน การกระจายรายได้ ซึ่งจะมีการปฏิรูปที่ดินได้อย่างไร ในเมื่อที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือของ ตระกูลชินวัตร ตระกูลสิริวัฒนภักดี ตระกูลอัศวโภคินและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใครจะกล้าไปทำลายผลประโยชน์ของตนเองและผลประโยชน์ของชนชั้นสูง เรื่องการเก็บภาษีมรดกเพื่อช่วยการกระจายรายได้ ผมไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสมัยทักษิณ

ผมคิดว่า ทักษิณให้แก่คนรากหญ้า ชาวบ้านต่างจังหวัดมากกว่านายกฯคนอื่นๆเท่านั้นเอง การที่ให้เงินแก่ชาวบ้าน เพื่อเป็นฐานหลักสำหรับการดำรงอำนาจในระบอบการเลือกตั้งที่ตัดสินตามคะแนนเสียงทุกๆ4ปีเท่านั้นเอง ทักษิณไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้านในเชิงโครงสร้างอย่างจริงๆเลย แต่กำลังดึงให้ชาวบ้านกลุ่มรากหญ้าเข้ามาสู่ระบบอุปถัมภ์โดยรัฐต่างหากเช่นเดียวกับชนชั้นสูงที่เคยได้อภิสิทธิ์นี้แต่ระดับการอุปภัมภ์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง


ในแง่นี้การดำเนินนโยบายของพรรคไทยรักไทยในช่วงปลายปี2547 ถึงปัจจุบัน ชนชั้นกลางต่างหากที่เสียประโยชน์จากนโยบายFTA นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการรีดภาษีจากชนชั้นกลางเพื่อรองรับนโยบายการอุ้มชูคนจน การหาประโยชน์จากอภิมหาโครงการของรัฐโดยชนชั้นกลางเป็นผู้รับภาระในเชิงภาษีแต่ชนชั้นนายทุนโดยเฉพาะเครือข่ายทักษิณได้ผลประโยชน์ ส่วนของชนชั้นล่างหรือรากหญ้าก็รับการอุปถัมภ์ในนามของทักษิณแต่เงินที่อุปถัมภ์มาจากชนชั้นกลาง

ถ้าคิดกันแค่เป็นเรื่องสงครามของชนชั้น ดังนั้นชอบธรรมแล้วที่ชนชั้นกลางกรีธาทัพกันออกมาต่อต้านทักษิณ ชอบธรรมแล้วที่ชนชั้นล่างออกมาปกป้องทักษิณ

สุดท้ายจะนำไปสู่อะไร

===


ผมคิดว่าปัญหาสำคัญของทักษิณ คือ ทักษิณไม่น่าไว้วางใจ สำหรับคนชั้นกลางกลุ่มทุนที่ไม่ได้อานิสงส์จากทักษิณ และกลุ่มชนชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทักษิณดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อกระทบผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่มจำนวนมาก อาทิเช่น FTA แปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งน้องเขย(สมชาย)ไปคุมกองทุนเงินประกันสังคม และอื่นๆอีกมากมาย

ตลอด 5ปีที่ผ่านของ ทักษิณ ได้มีการปิดกั้นการตรวจสอบจากองค์กรอิสระอย่างทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าการแทรกแซงของทักษิณจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าทักษิณไม่ต้องการตรวจสอบ ยิ่งองค์กรอิสระทำงานไม่ได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลคือชนชั้นกลางในเมืองเลือกที่เชื่อว่าเป็นการบงการของทักษิณ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ คุณหญิงจารุวรรณ พระราชอำนาจ การหายไปของปปช. ทำให้สารพัดข่าวลือหลายรูปแบบซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ แต่ผลคือ ทักษิณนั้นถูกเชื่อจากชนชั้นกลางว่า โคตรโกงและโกงทั้งโคตร รวมทั้งข่าวลือเรื่องความเหิมเหริมในรูปแบบต่างๆ ที่ท้าทายอำนาจของชนชั้นสูง

ผมมีความเชื่อว่า ที่ทักษิณ มีอำนาจสูงมาตลอด 5ปี นี้เพราะชนชั้นกลาง อนุญาต ให้ทักษิณ มีอำนาจ เพราะความเชื่อ 2ประการ
1. ทักษิณเท่านั้นที่บริหารจัดการเศรษฐกิจได้ดี
2. ทักษิณ โคตรโกงและโกงทั้งโคตร

ความเชื่อทั้ง2 สัมพันธ์กับปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจระดับมหภาคของไทยและของโลกอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วิกฤติปี2540 ที่ทักษิณ เป็นความหวังอันสูงยิ่งของชนชั้นกลาง ลองนึกถึงบรรยากาศศาลรัฐธรรมนูญในปี 2544 และในช่วงต้นปีและกลางปี2548 ชนชั้นกลางในเมืองวางเฉยต่อกรณีทุจริตCTX ทั้งๆที่หลักฐานและข้อสงสัยถึงเรื่องการทุจริตในกรณีดังกล่าวหนักแน่นมาก แต่เลือกที่จะวางเฉยเมื่อทักษิณ ปรับย้ายสุริยะออกจากกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลลอยตัวกองทุนน้ำมัน ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ เสียงสงสัยต่อความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเริ่มทวีจำนวนขึ้นพร้อมๆกับเรื่องอื้อฉาวทางทุจริตที่ปะทุขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวผู้นำรัฐบาลมาโดยตามลำดับ

ชนชั้นกลางหลายคนยอมให้มีการทุจริตเพราะเชื่อว่าทุกพรรค ทุกนักการเมืองย่อมทุจริตแต่ขอให้บริหารให้มีผลงาน ให้เศรษฐกิจไทยไปได้ดี ถือเสียว่าเป็นค่า Management Fee ไป ณ วันนี้ คนที่เชื่อดังกล่าวเริ่มคิดว่า ค่าManagement Fee ดังกล่าว แพงเกินไปหรือไม่และคุ้มค่ากับผลงานของรัฐบาลหรือไม่ ถึงที่สุดความเชื่อดังกล่าวของระบบทักษิณในชนชั้นกลางข้อแรกเริ่มสั่นคลอนและมีแต่ลดน้อยถอยลงตามลำดับ แต่ความเชื่อข้อที่2เริ่มทวีความเชื่ออย่างรุนแรงมากขึ้น ผนวกกับนโยบายของทักษิณที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชนชั้นกลางส่วนใหญ่อันที่จริงกระทบต่อทุกชนชั้นแม้แต่รากหญ้าเสียด้วยซ้ำไป โดยรัฐสภาไม่ได้มีโอกาสได้ตรวจสอบผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวตามวิถีทางที่ควรจะเป็นเช่นผลกระทบจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี หรือ FTA นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คนส่วนหนึ่งเลยไม่เชื่อว่า ทุกนโยบายจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

อันที่จริงคำว่าประเทศชาติ โดยรูปธรรม เราก็ไม่รู้ว่าประเทศชาติ นี่เป็นใคร? เพราะเมื่อใดก็ตามที่นักการเมืองหรือใครก็ตามเอ่ยถึงคำนี้ มันก็หมายถึงชนชั้นสูง กลุ่มทุน และชนชั้นกลางในเมืองและแน่นอนที่สุดคือผลประโยชน์ของผู้เอ่ยอ้างทุกทีอยู่ร่ำไป ดังนั้นเมื่อทักษิณดำเนินนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทบผลประโยชน์ของทุกกลุ่ม เช่นการทำFTA การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและ ฯลฯ โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ(รัฐสภา) ภาคประชาชน นโยบายของทักษิณ จึงกระทบต่อกลุ่มรากหญ้า กลุ่มชนชั้นกลาง กลุ่มนายทุน ชนชั้นสูง และกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ

รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เป็นกติกาของการจัดสรรอำนาจของทุกฝ่ายหรือทุกกลุ่มผลประโยชน์ให้เข้ามาร่วมในการจัดสรรผลประโยชน์อย่างชอบธรรม(คือมีความชอบธรรม ถูกต้องตามกติกาและกลุ่มผลประโยชน์ส่วนใหญ่ยอมรับ) และไม่ให้เป็นเป็นภาวะจลาจลอันเกิดจากการเปลี่ยนขึ้นเปลี่ยนลงของผู้เสวยอำนาจ.... แต่การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่างของระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นระบอบรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย หลังเลือกตั้งจึงมี การLobbyนโยบายจากกลุ่มผลประโยชน์ การคานอำนาจ และการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ซึ่งความเข้มข้นที่ว่านี้มีทั้งตามกฎหมายและไม่ตามกฎหมาย ประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูง การตรวจสอบจากภาคสังคม โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางจะเข้มข้นเป็นพิเศษ เพราะชนชั้นกลางเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นกระดูกสันหลังของระบอบประชาธิปไตย หรือแม้แต่ระบอบทุนนิยม แต่ประเทศไทยมีคนชั้นกลางน้อยเกินไป

ทักษิณ เข้าใจระบอบทุนนิยมน้อยเกินไป ถ้าเข้าใจดังที่อวดอ้างทุกเช้าวันเสาร์ตลอด ทักษิณไม่ควรจะปล่อยให้ศรัทธาของชนชั้นกลางต่อตัวทักษิณ สั่นคลอนขนาดนี้

ทักษิณต้องลาออกจากตำแหน่ง รักษาการนายกรัฐมนตรี ขยายเวลาเลือกตั้งไปปลายเดือนเมษายน และสรรหาตัวแทนจากพรรคไทยรักไทยเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนใหม่ โดยไม่ต้องสนใจว่า 3พรรคฝ่ายค้านจะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่ เพราะฝ่ายต่อต้านทักษิณมีศัตรูที่ตัวทักษิณ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกของฝ่ายต่อต้านขยายไปไกลถึงขั้นต่อต้านพรรคไทยรักไทย เพราะนั่นไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

โดย ปริเยศ


สหายสิกขาตอบคุณปริเยศ

แล้วคุณปริเยศก็มา
ยินดีต้อนรับ และขอบพระคุณสำหรับข้อคิดเห็นครับ

ผมเคยเห็นคุณปริเยศในคอลัมน์เซี่ยงเส้าหลงเหมือนกัน ความคิดก็เฉียบคมไม่น้อย แต่เข้าใจว่าเซี่ยงเส้าหลงไม่ได้นำเอาข้อคิดเห็นไปตีพิมพ์ แต่อย่างไรก็ตามผมก็เห็นคุณปริเยศถูกพาดพิงบ่อยๆในบล็อกและหนังสือของ อาจารย์ปกป้อง ซึ่งข้อคิดเห็นเหล่านั้นล้วนน่าคิด เพราะมักจะสะท้อนความขัดแย้งระหว่างโลกความคิดของนักวิชาการ กับโลกความเป็นจริงของนักปฏิบัติ

จนออกจะแปลกใจเล็กน้อยกับข้อคิดเห็นในคราวนี้ของคุณปริเยศ

ประเด็นแรกเท่าที่ผมพอจับได้จากข้อคิดของคุณปริเยศก็คือ
1. คุณปริเยศไม่แน่ใจว่า คุณทักษิณช่วยคนรากหญ้าจริงๆ หรือเพียงแค่ทำไปเพื่อหวังคะแนนเสียง

2. ทัศนะของชนชั้นกลางกับคุณทักษิณ ซึ่งคุณปริเยศเห็นว่า ชนชั้นกลางกำลังประเมิน cost กับ benefit ที่ได้จากการให้คุณทักษิณปกครองประเทศ

เบื้องต้นนี้ขอนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้อสงสัยในประเด็นแรกของคุณปริเยศก่อน
เพราะหากไขข้อข้องใจประเด็นนี้ได้กระจ่าง ก็จะอธิบายได้ว่าคนรากหญ้านั้นกำลังถูกหลอกมาเป็นฐานมวลชนเพื่อสนับสนุนความไม่ชอบธรรมของนายกรัฐมนตรีหรือไม่

ผมอยากจะนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า
- สิ่งที่คุณทักษิณและรัฐบาลได้ทำไปเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดเคยสนใจทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน คนรากหญ้าจึงเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถ "พึ่งพิงได้" ในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ก็ยังเห็นหัวคนจน และทำงานเพื่อคนยากจนจริงๆ

- ความสำเร็จของนโยบายทักษิณ ที่เรียกว่านโยบายแบบคู่ขนาน ส่วนหนึ่งเป็นผลงานจากมันสมองของ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งทำงานร่วมกันกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รวมทั้งสภาพัฒน์ และผ่านเครื่องมือของกระทรวงการคลัง

โจทย์ของปัญหาเมื่อสี่ปีก่อน ชัดเจน คือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นจากหุบเหว ซึ่งวิธีการก็มีให้เลือกไม่มาก เพราะในเมื่อ I ไม่ทำงาน ก็ต้องอัด G ลงไป แต่จะอัดอย่างไรเพื่อให้เครื่องยนต์ติดด้วย ก็ต้องไปเร่ง C อีกทอด

ผมอยากจะบอกว่า รัฐบาลก่อนหน้าคือคุณชวน และคุณธารินทร์ ก็คิดไม่แตกต่างกัน เพราะเขาก็ใช้งบประมาณมิยาซาวา เพื่ออัดลงไปยังฐานระดับล่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคให้ได้ (แม้จะไม่ได้แต่ GDP ของประเทศก็ยังขยายตัวได้เท่ากับงบประมาณก้อนนี้)

แต่วิธีปฏิบัตินั้นต่างกัน ในขณะที่คุณธารินทร์พยายามอัดฉีดงบประมาณโดยผ่านกลไกของรัฐ นั้นมันไม่ได้ผล เพราะเกิด leakage ระหว่างทาง งบไปถึงชาวบ้านน้อยมาก งบส่วนใหญ่ตกอยู่กับข้าราชการและคนชั้นกลาง ซึ่งการบริโภคของคนชั้นกลางก็รู้อยู่ว่ามันบริโภคของต่างประเทศ วิธีการของคุณธารินทร์จึงทำได้แค่เพิ่ม G แต่ไม่สามารถจุดเครื่องยนต์ C ให้ติดได้ ทำให้ไม่เกิด effect เรื่องตัวคูณทางเศรษฐกิจ

แต่ชุดวิธีคิดของรัฐบาลทักษิณนั้นไม่ใช่ เพราะเขาสามารถจุด C ให้ติดได้ด้วย

ี่วิธีการของรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน OTOP ธนาคารคนจน มันเป็นการนำเงินไปให้ถึงมือของคนจนจริงๆ ซึ่งคนจนเหล่านั้น ก็มักจะบริโภคของที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศ ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทำงานได้ในที่สุด

เรื่องพวกนี้มีงานวิจัยหลายชิ้นได้พูดถึงไว้เยอะพอสมควร

- สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีคิดของกุนซือคุณทักษิณเหล่านี้ ไม่ใช่วิธีคิดแบบ static แต่เป็นวิธีคิดแบบ dynamic คือไม่ได้คิดแค่ว่า เอางบเทลงไปให้คนจน หวังคะแนนเสียง แล้วจบ

แต่มองทุกอย่างเป็นเฟส เฟสแรกกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้น เฟสที่สอง (ซึ่งกำลังจะทำแต่ก็เกิด political unrest ขึ้นมาก่อน) ก็คือการทำ economic transform ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยากที่สุด เพราะจะเจอแรงต้านจากขั้วพลังอนุรักษ์นิยมอย่างมหาศาล

ผมเข้าใจว่ารัฐบาลชาติชายก็พยายามจะทำมาก่อน (โดยผ่านทางมันสมองของ คุณพันศักดิ์นี่แหละ ในสมัยที่ยังนั่งเป็นประธานที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก) แต่ก็เจอแรงต้านจากขั้วพลังอนุรักษ์นิยม อย่างฝ่ายทหารจนเกิดการยึดอำนาจขึ้น

ผมคิดว่าวิธีคิดของเหล่ากุนซือของรัฐบาลชุดนี้ มองภาพใหญ่ได้ดี และใช้วิธีการได้ดีพอสมควร มีการเชื่อมโยงระหว่าง การแข่งขันระดับโลก - ระดับภูมิภาค - ระดับจังหวัด และ ระดับท้องถิ่น กลยุทธ์หลายอย่างถูกสร้างขึ้นอย่างสอดประสานกัน

และผมเชื่อว่าเขาไม่ได้คิดแค่ว่า ให้เงินคนไปเพื่อสร้างหนี้สิน เพื่อบริโภค อย่างเดียวแน่ๆ

แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนจนได้สามารถสร้างธุรกิจและสะสมความมั่งคั่งด้วย

อย่าง OTOP ก็เป็นการสร้างกลไกการแข่งขันขึ้น เพื่อให้ชาวบ้านเคยชินกับการสร้างนวัตกรรม การตลาด การทำธุรกิจ ซึ่งการแข่งขันก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีผู้แพ้ ผู้ชนะ มีผู้ล้มเหลว แต่ก็ต้องมองภาพรวมว่าระบบ OTOP โดยรวมมันไปรอดหรือไม่

OTOP นี่โตจากไม่กี่พันล้าน มาจนเป็นราว 50,000 ล้าน ในยอดนี้ก็มียอดส่งออกรวมอยู่ด้วย

นอกจาก OTOP ส่วนต่อไปที่เขากำลังลงไปดูก็คือ SME ซึ่งเป็นฐานใหญ่กว่า OTOP มาก (แต่ก็ยากกว่าด้วย)

- กรอบวิธีการคิดของรัฐบาลชุดนี้ ไม่ใช่การตลาด แต่เป็นเรื่องกลยุทธ์ (strategic) ซึ่งเป็นเรื่องของมุมมอง เป็นเรื่องของความต่อเนื่อง และความเคลื่อนไหว

ในขณะที่เรากำลังเลือกเล่นกลยุทธ์ ฝ่ายตรงข้ามก็เล่นด้วย ทุกอย่างจึงพลวัตร เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

แต่นักยุทธศาสตร์จะต้อง เลือกหาหมากที่เดินลงไปแล้ว กลายเป็นตาหมากที่เปลี่ยนการแพ้ชนะทั้งกระดาน

ยุทธศาสตร์ไม่ใช่เรื่องความถูกผิด หรือคุณธรรม แต่เป็นเรื่องของความอยู่รอด ถ้าเราไม่เล่นเกมส์ คนอื่นเขาก็เล่นอยู่ดี

- ตรงจุดนี้ผมถึงมองว่า วิธีคิดของเศรษฐศาสตร์การเมืองสายจุฬาฯ อย่าง อุกฤษฏ์, สังศิต, ผาสุก อาจใช้วิเคราะห์ตามความคิดของรัฐบาลทักษิณ ไม่ทัน

ผมเคยใช้กรอบวิเคราะห์แบบนี้ มาแบ่งเป็นทุนโทรคมนาคม ทุนธนาคาร ฯลฯ แล้วพอมาตอนนี้คุณทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปไปหมดแล้ว เราจะวิเคราะห์ปรากฎการณ์แบบนี้ยังไงดีล่ะครับ มันอธิบายไม่ได้เลยนะครับ

ล่าสุดผมเห็นอุกฤษฎ์เขียนบทความใน มติชน พยายามวิเคราะห์ในทำนองว่า คุณทักษิณเป็น nominee ของรัฐบาลสิงคโปร์ คือพยายามแปรโมเดล ทุนโทรคมนาคม ให้เป็นทุนสิงคโปร์ ว่างั้นเถอะ แล้วพยายามหาหลักฐานมาประกอบสมมติฐานนี้ (เช่นการให้เช่าสนามบิน การขยายยุทธภัณฑ์มือสอง)

ยิ่งวิเคราะห์แบบนี้ผมยิ่งงง เพราะถ้าไปดูระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์จริงๆ สัดส่วนของทุนจากรัฐบาลนั้นเป็นสัดส่วนน้อยนะครับ สัดส่วนใหญ่กลับเป็นบริษัทข้ามชาติทั้งนั้น

สมมติว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยใหญ่โตกว่านี้ และรัฐบาลจัดตั้งบรรษัท ในลักษณะอย่างเทมาเส็ก (อันที่จริงก็มีแนวคิดนี้แล้ว คือบวช บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) กลับไปซื้อหุ้นเทมาเส็ก หรือซื้อกิจการในสิงคโปร์ อุกฤษฎ์จะอธิบายอย่างไรอีก ~ เอื้อประโยชน์ ให้ยืมเงินกันอย่างนั้นหรือ?

ผมว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจอธิบายการเมืองในระบอบเก่าได้ แต่การเมืองยุคใหม่ผมว่ามันตามไม่ทัน และมันวิเคราะห์ในกรอบแบบนิ่งเกินไป ในขณะที่วิธีคิดและวิธีปฏิบัติของรัฐบาลนั้น มันพลวัตรตลอดเวลา

เทียบกันก็คือ เหมือนดูภาพเคลื่อนไหว กับภาพนิ่งนั่นแหละครับ

แล้วมันอาจจะเข้าใจผิดได้เยอะมาก

- สำหรับเรื่องการปฏิรูปที่ดิน และภาษีมรดกนั้น ผมเห็นด้วยกับคุณปริเยศ และมีข้อสงสัยด้วยเช่นกันว่า รัฐบาลทักษิณจะดำเนินการเรื่องนี้หรือไม่ แต่หากคิดอีกมุมว่า เพียงแค่เรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, FTA, นโยบายสำหรับคนจน (30 บาท, ธนาคารคนจน, กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ) ยังถูกต่อต้านหนักขนาดนี้ แล้วเรื่องที่ยากกว่าจะทำได้ง่ายๆหรือ ยังไม่นับที่จะไปสร้างศัตรูที่เป็นกลุ่มทุนขึ้นมาอีกตั้งเท่าไหร่

แค่คุณสนธิก็ยังรับมือลำบากขนาดนี้




 

Create Date : 22 มีนาคม 2549    
Last Update : 22 มีนาคม 2549 14:43:04 น.
Counter : 678 Pageviews.  

โลกทัศน์และผลประโยชน์ ของสองนคราประชาธิปไตย

คุณย่าของผม (เสียไปแล้ว) เป็นคนเพชรบุรี เป็นแม่ค้าขายผัก ทุกเช้าต้องเก็บผักจากท้องนาแล้วเดินเท้าหอบไปขายในตลาดทุกเช้า

ครอบครัวของคุณย่ายากจนมาก อาศัยอยู่กับญาติๆด้วยกันหลายคนในบ้านที่ปลูกชิดติดกันเป็นกลุ่มแบบคนพื้นบ้านโบราณ

คุณพ่อจึงไม่มีเงินเรียนหนังสือ ต้องอาศัยอยู่วัดและพยายามทำงานเล็กๆน้อยๆเพื่อส่งตัวเองเรียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ

คุณพ่อต่อสู้ชีวิตอย่างหนัก จนกระทั่งสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ เงินเดือนครั้งแรกที่ได้รับก็ไม่เกินหนึ่งพันบาท

กระนั้นก็ยังสามารถหาเลี้ยงและก่อร่างสร้างฐานะมาด้วยกันกับคุณแม่จนกระทั่งในปัจจุบันก็ถือว่าฐานะของครอบครัวเราก็ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

แต่ผมก็ยังจำชีวิตตอนวัยเด็กได้ เราทั้งครอบครัวต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด และไม่ใช่ว่าเราอยากได้อะไรก็ได้ตลอดเวลา ของแต่ละอย่างใช้แล้วใช้อีก ซ่อมแล้วซ่อมอีก ฐานะรุ่นของผมแม้ว่าจะดีขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดีมาก

เป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องก่อร่างสร้างฐานะ ให้สามารถแข็งแรงขึ้นไปอีก...แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยังคงมีอุปสรรคสำหรับคนฐานะระดับเรามาตลอด ครอบครัวเรา ทั้งน้องสาว ตัวผม และคุณพ่อคุณแม่ เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะสถานะทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดไม่เอื้ออำนวยให้เราทำอย่างนั้นได้ ผมจึงต้องเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และเรียนรู้ที่จะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้ด้วยตนเอง

เพราะการปีนป่ายข้ามกำแพงแห่งชนชั้น ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย

===


ผมถึงเข้าใจทัศนะคติ และโลกทัศน์ของชาวบ้านในต่างจังหวัด

คุณประชาชนเขียนข้อความที่อธิบายเกี่ยวกับโลกทัศน์ของชาวบ้านในต่างจังหวัดดังนี้ :


ย่าผมท่านรับเงินมา ผมบอกว่า รับแต่ไม่ลงเลือกตั้งให้คนจ่ายได้ไหม ย่าผมท่านรับความคิดนี้ไม่ได้ เพราะท่านบอกว่า ชีวิตนี้ไม่เคยโกงใคร กลัวตกนรก รับเงินใครก็ต้องลงให้คนนั้น ยิ่งใครจ่ายเงิน สร้างสิ่งของให้วัดแล้วไม่ต้องกลัวถูกโกง (เช่นบริจาคสร้างบันได, ศาลา, กุฏิ)

ตั้งแต่นั้นมา ผมเลยเข้าใจว่า Paradigm การมองโลกของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงในเมือง กับคนชนบทที่มีการศึกษาต่ำนั้นแตกต่างกัน เป็นคนที่อยู่กันคนละโลก และเราพยายามเอาความคิด และความเชื่อของเราไปยัดเยียดให้ชาวบ้านในชนบท ในสิ่งที่โลกของเขาไม่เคยมีอยู่มาแต่ก่อน เราเองต่างหากที่ไปรุกรานเขา ไปยัดเยียดวัฒนธรรมและความเชื่อของเราให้แก่เขา

นรก สวรรค์ การโกง ผิดศีล 5 ในพุทธศาสนา แต่คนชั้นกลางพร้อมที่จะผิดศีล 5 นี้ทันที โดยไม่ลังเล แต่ไม่ยอมผิดศีลประชาธิปไตย -- คือการซื้อเสียง (คนชั้นกลางบางคนจะบอกว่ารับเงิน แต่ไม่เลือก; หรือรับทุกฝ่ายแต่เลือกฝ่ายที่ชอบ)


ข้อความจาก : พันธมิตรไทยรักไทย + รากหญ้า

เจ้าของบทความชื่อ "ประชาชน" , เขาเคยให้ความเห็นที่เฉียบคมในคอลัมน์ของเซี่ยงเส้าหลงเมื่อสองสามปีก่อน (เซี่ยงเส้าหลงเคยเอาความเห็นของเขา ไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์หลายครั้ง)

ในวันนี้กลุ่มคนชนบทจากทางเหนือและอิสาน เดินเท้า และขับรถอีแต๋น มาเป็นเวลากว่าอาทิตย์แล้ว ฝ่าแดดฝ่าลมเป็นระยะทางกว่าหกร้อยกิโลเมตรเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจในสิ่งที่เขาเชื่อ

เพราะก่อนหน้านี้ พวกเขาไม่เคยได้รับการดูแล การเอื้ออาทรจากไม่ว่าแม้แต่พรรคการเมืองใด
พรรคการเมืองก่อนหน้านี้ ได้แต่สัญญา แล้วก็ไป
ทิ้งพวกเขาไว้กับการดูแล ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ผู้มีอำนาจเชื่อมโยง อำนาจรัฐและคนชายขอบในสังคม

แต่พรรคไทยรักไทย แปรคำมั่นสัญญาเป็นโครงการที่จับต้องได้ให้กับชาวบ้านเหล่านั้น

นี่จึงเป็นการเดินทางไกล เพื่อเข้ามาตอบแทนบุญคุณ และเรียกร้องหาความเป็นธรรม

เช่นเดียวกับ พฤ โอ่โดเชา ชายหนุ่มชาวปกากะญอ แห่งบ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร เข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรมในกรุงเทพฯ

===

สื่อในเมืองกรุงที่จับกลุ่มคนชั้นกลาง ล้วนแล้วแต่นำเสนอบทความโจมตีรัฐบาล เพื่อเอาใจคนชั้นกลางที่หิวกระหายข่าวสารข้อมูลด้านลบของรัฐบาล เมื่อพบว่าคุณทักษิณขายหุ้นมูลค่ากว่าเจ็ดหมื่นล้านบาทของชินคอร์ปให้กับสิงคโปร์

(ไม่ต้องไปสนใจสื่ออย่างทีวี เพราะนำเสนอแต่เกมส์โชว์ และละครทีวี หรือเสนอแค่ข่าวตามคำสั่งของรัฐบาล --แบบทื่อๆ เพราะรายได้หลักของเขาล้วนมาจากการนำเสนอสารแบบนั้น)

ในวันนี้ หากคุณจัดแถลงข่าวต่อต้านรัฐบาล เผยแพร่บทความที่ให้ข้อมูลด้านลบของนายกรัฐมนตรี คุณจะกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนสำหรับชนชั้นกลาง

แต่หากคุณออกมาเคลื่อนไหว ในทิศทางตรงข้าม ดังเช่นคุณฉลาด วรฉัตร ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง 2 เมษายน คุณจะถูกกล่าวหาว่า ที่ทำเป็นเพราะได้รับผลประโยชน์หรือไม่ก็เป็นเพื่อนนายกฯ (ข่าวจากคมชัดลึก)

เช่นเดียวกับที่สื่อสำหรับชนชั้นกลาง ก็นำเสนอข่าวว่า ม็อบอีแต๋น ก็เดินทางเข้ามาเพราะได้รับเงินจ้างวันละเจ็ดร้อยบาท

สื่อสำหรับชนชั้นกลางทั้งหมดต่างก็เสนอข่าวในทิศทางเดียวกัน ...ม็อบอีแต๋นได้รับเงินเพื่อเดินทางมาป่วนกรุง

===

วันนี้ มีคนบางกลุ่มเริ่มสงสัยพฤติกรรมของสื่อสำหรับชนชั้นกลาง ว่าเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ จึงอาสาไปสำรวจตรวจสอบด้วยตนเอง


ขบวนเดินเท้าและรถอีแต๋น ของชาวรากหญ้า ท่ามกลางเปลวแดดระอุ


ชาวบ้านที่สระบุรีโบกมือให้กำลังใจ


จังหวะเดียวกันกับร้านขายส่งน้ำที่จะมาส่ง มินิมาท พอดี เจ้าของกระทู้เลยขอซื้อสิบโหล 370 บาท บอกว่าจะไปแจก
กองพลหมื่นลี้ แต่พ่อค้าบอกว่า พี่ ผมเอาแค่สามร้อย นี่คือ น้ำใจของคนบ้านนอก ที่หายากในเมืองหลวง


ดูรูปอื่นกระทู้คุณปีศาจสุรา สื่อปัจเจกชนแห่งพันทิพ/ราชดำเนิน พศ 2549

คุณปีศาจสุรา ถ่ายรูปยืนยันข้อเท็จจริงหลายอย่างที่แย้งกับข้อเท็จจริงของคุณสนธิมาหลายครั้งแล้ว และได้รับยกย่องให้เป็นผู้สื่อข่าวของสื่อปัจเจกชน

กลอนจากคุณขนมต้ม แต่งมอบให้แด่กองทัพรากหญ้า :อีแต๋น+เดินเท้า :


===


รัฐบาลพรรคไทยรักไทย ดำเนินนโยบายแบบเอื้ออาทร เพื่ออัดฉีดเงินและผลประโยชน์หลายอย่างลงตรงถึงคนรากหญ้าในต่างจังหวัด อย่างที่พรรคการเมืองก่อนหน้าไม่เคยทำมาก่อน ในขณะที่ก็ดำเนินนโยบายปรับปรุงคุณภาพและให้สิทธิประโยชน์กับธุรกิจเอกชนหลายประการ

แต่ละเลยผลประโยชน์ของคนชั้นกลาง ทั้งยังสร้างศัตรูร่วมจากนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และนโยบายการโอนย้ายครูไปอยู่ใต้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

คนชั้นกลางจะพบว่า เงิน SML , บัตรทอง 30 บาท, กองทุนหมู่บ้าน นั้นไม่สามารถเอื้ออำนวยประโยชน์อะไรให้ตนเองได้

ในขณะที่ สิ่งเหล่านี้เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจของคนรากหญ้า
เพราะโลกทัศน์ของคนสองกลุ่มนั้นแตกต่างกัน ดัง คำให้สัมภาษณ์ของ ดร พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์แห่ง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แล้วอาจารย์มองยังไง

คนอาจจะมองในแง่ของคนในเมืองก็ได้ เฮ้ย มันเป็นการติดสินบนซื้อใจ หลอกชาวบ้านให้มาเลือก แต่ถ้าคุณมองจากมุมชาวบ้าน พวกอยู่ในชนบท ชนชั้นล่างในเมือง ไม่เคยมีอำนาจอะไรเลย ถูกตำรวจรังแกตลอด ถูกคนรวย คนชั้นกลางกดหัวมาตลอด ไปสถานที่ราชการก็ถูกกดหัวมาตลอด พรรคการเมืองมาให้ประโยชน์ก็ตอนเลือกตั้ง แจกเงิน จะเอาลูกเข้าโรงเรียน ไม่มีเงินก็ต้องไปขอส.ส. ชีวิตแทบจะไม่มีอะไรเลย

ระยะเวลา 30 40 ปี 60 ปี ที่ผ่านมาชาวบ้านอยู่อย่างนี้ ไม่เคยได้อะไร แต่อยู่ๆ ปุ๊บก็มีกองทุนหมู่บ้านเข้ามาแล้ว มี 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ก่อนนี้เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลรัฐ รอตั้งแต่เช้าถึงเย็น ค่ายาทุกบาทคุณต้องออกเอง ร้อย สองร้อย ห้าร้อย คนชั้นกลางอย่างเรา มันไม่ใช้หรอก โหย มันแย่ มันห่วย เราไม่จำเป็นต้องใช้เราก็เลยไม่เห็นความสำคัญ

คนในเมืองมันไม่เคยเข้าใจคนชั้นล่าง ที่ชีวิตมัน ขอโทษนะ ‘โคตรทุกข์’ ชาวบ้านข้างล่าง ไม่มีอะไรประกันเลย เจ็บป่วย การศึกษา ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ แต่แล้วมาวันนี้ 5 ปีมานี้ ทักษิณก็ให้เขา 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้ ให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย บ้านเอื้ออาทร เป็นครั้งแรกที่เขาได้


นี่คือสงครามของความเชื่อ

สงครามการเมืองระหว่าง สองนคราประชาธิปไตย ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

เพราะคนในชนบท ไม่ยินยอมให้คนในเมืองล้มล้างรัฐบาลของพวกเขาอีกต่อไป!!

เช่นเดียวกับ สงครามสื่อระหว่าง สื่อปัจเจกชน และสื่อหนังสือพิมพ์กระแสหลักสำหรับคนชั้นกลาง

เพื่อช่วงชิงพื้นที่แห่งความเป็นจริง ที่ถูกบิดเบือน




 

Create Date : 15 มีนาคม 2549    
Last Update : 15 มีนาคม 2549 2:22:43 น.
Counter : 1237 Pageviews.  

จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์ประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ 2549

เป็นที่แน่นอนว่า สำหรับคอการเมืองที่ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้อย่างใกล้ชิด นอกจากอยากจะทราบข่าวสารจากการรายงานเหตุการณ์ปัจจุบันแล้ว ยังต้องการทราบแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

ตัวผู้เขียนเองก็พยายามที่จะคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตเช่นเดียวกัน โดยใช้หลักการคิดจากทฤษฎีเกมส์ วิเคราะห์การเมือง : จากสรุปกระทู้การสำรวจความเห็น (4 ธันวาคม 2548)

ผู้เขียนพบว่าการคาดการณ์แนวโน้มการเคลื่อนไหวของฝ่ายคุณทักษิณเป็นไปตามทฤษฎี คือหลังวันที่ 4 เลือกแก้สถานการณ์เชิงประนีประนอม -- คือการถอนฟ้องคุณสนธิและคุณสโรชาทุกกรณี และแม้แต่วันศุกร์ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ที่พึ่งผ่านมาก็ยังเป็นไปตามการคาดการณ์ คือคุณทักษิณตัดสินใจเลือกการยุบสภา ซึ่งเป็น the second best choice ตามหลังการประนีประนอมและการพยายามลดสถานการณ์ --เช่นการเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำท่าจะไม่สามารถหยุดวิกฤตการณ์ได้

แนวคิดเรื่องการยุบสภา นอกจากจะสร้างความชอบธรรมได้ในระดับหนึ่ง เพราะสามารถอ้างได้ว่า เสียงของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกหรือไม่เลือกพรรคไทยรักไทย ซึ่งหมายถึงการเลือกคุณทักษิณอีกครั้งหรือไม่

ที่สำคัญคือยังสามารถกำจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองอย่างตระกูลเทียนทอง และแม้อาจจะเสียคะแนนเสียงไปให้กับพรรคฝ่ายค้านอื่นบ้าง (ซึ่งกรณีนี้พรรคชาติไทยจะเป็นผู้ได้เปรียบที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายความลังเลของคุณบรรหารในการร่วมบอยคอทท์กับพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นได้ -- คุณบรรหารจึงน่าจะรอดูสถานการณ์การชุมนุมในวันนี้ เพื่อรอการตัดสินใจที่ได้ประโยชน์สูงสุด) แต่ยังทำความแน่ใจได้ว่า พรรคไทยรักไทยน่าจะยังสามารถควบคุมคะแนนเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่จนสามารถทำให้คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง

แต่ที่แปลกแยกและทำให้การคาดการณ์ของผู้เขียนคลาดเคลื่อนตลอดก็คือ การเคลื่อนไหวของฝ่ายคุณสนธิ เพราะคุณสนธิไม่ยอมรับการประนีประนอมจากฝ่ายคุณทักษิณ แต่เลือกจะเดินทางแตกหักตลอดเวลา ซึ่งก็คือการยื่นเงื่อนไขให้คุณทักษิณลาออก และถ้าพิจารณาให้ดี ข้อเรียกร้องที่แท้จริงภายใต้เงื่อนไขนี้ คือ การให้คุณทักษิณพ้นจากกิจกรรมใด ๆ ของระบบการเมืองไทย แต่เงื่อนไขนี้จะรวมไปถึงการตรวจสอบพฤติกรรมย้อนหลัง ตลอดจนการยึดทรัพย์สินของคุณทักษิณ ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ หรือแม้แต่ให้คุณทักษิณออกนอกประเทศหรือไม่ ก็ค่อนข้างจะคาดเดาได้ยาก


ความเคลื่อนไหวของคุณสนธิในแนวทางแตกหัก ตามทฤษฎีเกมส์แล้วจะชักชวนให้ฝ่ายคุณทักษิณอาจต้องเลือกแนวทางแตกหักได้เหมือนกัน หากคุณทักษิณติดอยู่ในภาวะจนตรอก นี่จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย เพราะมวลชนฝ่ายคุณทักษิณก็มี (ทั้งมวลชนจัดตั้งผ่านระบบพรรค และกลไกราชการ ตลอดจนมวลชนตามธรรมชาติ) เหมือนกับที่มวลชนฝ่ายคุณสนธิมี

สถานการณ์ยิ่งเริ่มซับซ้อนและตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อ พล.ต จำลอง ศรีเมือง ยืนยันนำกลุ่มกองทัพธรรมเข้าร่วมการชุมนุม สถานะพิเศษของคุณจำลอง ยิ่งดูโดดเด่นในช่วงที่มวลชนฝ่ายไม่เอาทักษิณเริ่มเพิ่มมากขึ้นทุกที ประกอบกับความสามารถในการควบคุมมวลชนดังผลงานที่ผ่านมาในช่วงพฤษภาทมิฬ คุณจำลองจึงได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในห้าแกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


===


เหตุที่คุณสนธิปฏิเสธการเคลื่อนไหวตามทฤษฎีเกมส์ ก็อาจเป็นเพราะคุณสนธิเคยเห็นประวัติศาสตร์ว่าคุณทักษิณใช้อำนาจจัดการกับผู้พยายามต่อรองกับตนเองอย่างไร (กรณีล่าสุดก็เช่นตระกูลเทียนทองเป็นต้น) บทเรียนจากปัญหาการต่อรองของคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่พยายามจะยืดเยื้อเรื่องทีพีไอ และการหักดิบของฝ่ายรัฐ ทำให้คุณสนธิ ไม่ยอมเลือกแนวทางประนีประนอม ก็เพราะรู้ว่าหากยอมประนีประนอมในตอนนี้ ตนเองอาจจะเสียเปรียบอย่างยิ่งในภายหลัง เมื่อคุณทักษิณสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง และครั้งนี้จะหยุดคุณทักษิณได้ยากยิ่ง เนื่องจากกลุ่มคุณทักษิณนั้นสามารถเคลียร์ตนเองจากเรื่องกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของการถือหุ้นชินคอร์ป ทั้งยังมีทุนขนาด 7 หมื่นล้านซึ่งเป็นเงินสดในมือ เพียงพอที่จะสามารถเลือกตั้งได้อีกไม่ต่ำกว่ายี่สิบครั้ง

เหตุผลอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลที่สำคัญก็คือ ระบบทักษิโณมิกส์ (ถ้าจะกล่าวให้ชัดคือระบบทุนนิยมก้าวหน้าแบบทักษิณ ๆ) จะสามารถแสดงประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต่อเมื่อมีระเบียบกติกาที่ชัดเจนมารองรับ (เหมือนกับที่ระบบทุนนิยมที่เผยแผ่ขยายตัวได้ ก็เพราะมีระเบียบกติกาสากลที่เอื้อต่อระบบทุนนิยมรองรับ อันได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากพลังทางการทหารจากสหรัฐอเมริกาอีกทอดหนึ่ง) [แต่การจะหาหนทางหลีกเลี่ยง หรือหาช่องโหว่กติกาที่ตนได้เปรียบนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง]

จะสังเกตเห็นว่าคุณทักษิณเลือกการเคลื่อนไหวไปตามกรอบของระเบียบกติกาคือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และพยายามเรียกร้องความชอบธรรมให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับมาเคลื่อนไหวตามกติกาตลอดเวลา (นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทฤษฎีเกมส์ สามารถวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของคุณทักษิณได้)

แต่คุณสนธิเองก็เห็นว่าการนำตนเองกลับไปเคลื่อนไหวตามกติกานั้น จะเสียเปรียบกลุ่มคุณทักษิณอย่างยิ่ง คุณสนธิจึงเลือกที่จะไม่เคลื่อนไหวตามกติกา

เรื่องนี้ผู้เขียนมิได้ปรักปรำ แต่อยากจะชี้ข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายกำลังใช้เป็นกติกาที่แท้จริง มิใช่กติกาที่เป็นตัวบทกฎหมายอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญอีกต่อไป ...แต่เป็นความชอบธรรมที่เรียกร้องให้มวลชนฝ่ายตนสนับสนุน และประชาชนที่ยังไม่ได้เลือกฝ่ายจำเป็นต้องเลือกฝ่าย กฎหมายจะเป็นที่ยอมรับกับประชาชนก็ต่อเมื่อ ประชาชนเห็นว่ามีความชอบธรรม หากประชาชนเห็นว่ากฎหมายไม่มีความชอบธรรม ประชาชนก็อาจใช้วิธีการดื้อแพ่งต่อกฎหมายได้

คุณสนธิเลือกใช้วิธีนี้มานานแล้ว กรณีใดที่สร้างความได้เปรียบให้คุณทักษิณ คุณสนธิก็พยายามทำลายความชอบธรรมด้วยการยกอำนาจเหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้าง (คือพระราชอำนาจ) กรณีใดที่ไม่สามารถยกพระราชอำนาจขึ้นมาได้ ก็จะยกเหตุผลเรื่องการโกง การแทรกแซงองค์กรอิสระขึ้นมาอ้าง

และไม่ว่าฝ่ายคุณทักษิณจะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้เพียงไร คุณสนธิก็จะผลิตข้อกล่าวหาใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ และยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที (อันที่จริงเพื่อความเป็นธรรม ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากตัวของคุณทักษิณเอง ไม่ว่าจะเป็นความคลุมเครือในการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ตลอดจนการใช้วิธีควบคุมอำนาจ)

ดังนั้นในขณะที่ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ ฝ่ายตรงข้ามกลับเข้ามาอยู่ในกติกา (ที่เขียนไว้ในกระดาษ) แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะอ้างว่ากติกานั้นสกปรกและไม่ชอบธรรม (จึงเป็นเหตุผลที่ว่า มีบางช่วงที่คุณสนธิพยายามเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้แต่การพยายามเรียกร้องให้มีการถวายคืนพระราชอำนาจ)

แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องยอมรับก็คือคุณสนธิ ทำงานหนักและมีความสามารถในการชักนำมวลชนให้คล้อยตามความคิดของเขา และสามารถชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของคุณทักษิณ ซึ่งทำให้มวลชนเห็นว่าคุณทักษิณนั้นไร้ความชอบธรรมที่จะบริหารบ้านเมืองต่อไปได้

ถ้าจะกล่าวทางทฤษฎีก็ต้องบอกว่า คุณสนธิใช้ความชอบธรรมทั้งฝ่ายซ้าย และความชอบธรรมของระบอบศักดินาเพื่อล้มความชอบธรรมของระบอบทุนนิยมทักษิณ

แต่การเคลื่อนไหวของคุณสนธินั้น ใช้แนวทางของกลุ่มฝ่ายซ้าย (หรือสังคมนิยม) เป็นหลัก

หรือหากจะพูดตามคำศัพท์ของฝ่ายซ้าย ก็เรียกได้ว่าคุณสนธิกำลังเคลื่อนไหวโดยใช้ "แนวทางมวลชน" เป็นหลัก เพราะมวลชนที่ตื่นตัวทางการเมืองและเข้าร่วมการปฏิวัติเปรียบได้ดัง "ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" นั่นเอง ดังที่คุณสนธิเคยกล่าวไว้ว่า หากเขาสามารถระดมมวลชนออกมาได้ในระดับแสนคน เขาก็เชื่อว่าจะสามารถล้มรัฐบาลได้ (และสถานการณ์ตอนนี้ก็เป็นเช่นนั้นแล้ว)

การเดิน "แนวทางมวลชน" ก็จะต้องร่วมคลุกคลีใกล้ชิดมวลชน เข้าร่วมทุกข์ ร่วมสุข เพื่อรับรู้ความเดือดร้อน ร่วมแก้ปัญหาให้มวลชน แต่ไม่ใช่การเดินตามมวลชน หรืออ่อนโอนตามมวลชน

กรณี 4 กุมภาพันธ์ จะเห็นว่าคุณสนธิทุ่มเทในการปราศรัยตั้งแต่เย็น จรดค่ำคืนไปยันเช้า แม้เสียงจะแหบแห้งก็ยังกล่าวปราศรัยจนจบการชุมนุม และสื่อผู้จัดการก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถ "เข้าคลุกคลีกับมวลชน" ได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

เมื่อมวลชนตื่นตัวก้าวหน้า และต้องการปฏิวัติ คุณสนธิก็สามารถเป็นผู้นำและชี้นำมวลชนได้อย่างท่วงทันเหตุการณ์ โดยไม่ "ล้าหลังมวลชน" หรือ "ล้ำหน้ามวลชน" จนเกินไป

ต่อเมื่อการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของกติกาในกฎหมาย แต่อยู่ที่ฝ่ายใดจะช่วงชิงความชอบธรรมจากมวลชนได้มากกว่ากัน

จึงน่าสงสัยว่า "อดีตฝ่ายซ้าย" ในไทยรักไทยอย่างคุณพรหมมินทร์ คุณจาตุรนท์ คุณภูมิธรรม คุณสุรพงษ์ ฯลฯ สะดวกสบายกับทุนนิยม จนกระทั่ง "ล้าหลังมวลชน" จนไม่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ให้ชัดเจนได้หรือไม่อย่างไร จึงพยายามจะใช้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ทั้งที่อันที่จริงจะต้องเดิน "แนวทางมวลชน" เพื่อช่วงชิงความชอบธรรมของอีกฝ่ายให้ได้มากกว่า


คุณหมอพรหมมินทร์ : ล้าหลังมวลชน?

===


การเมืองเป็นเรื่องดุลยภาพของขั้วอำนาจ หากดุลยภาพนี้เสียไป ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ระบบอำนาจจะต้อง "ปะทะ" เพื่อหาดุลยภาพครั้งใหม่

หากจะมองไกลไปกว่าเรื่องของคุณสนธิ และคุณทักษิณ ก็ต้องบอกว่า ในบ้านนี้เมืองนี้ มีขั้วอำนาจอุดมการณ์อยู่สามอย่างก็คือ อุดมการณ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์เก่า, อุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายเพื่อประชาชน และอุดมการณ์แบบทุนนิยมเสรีใหม่

อุดมการณ์แต่ละแบบ ต่างก็มีข้อดีข้อเสียของตนเอง และมีเหตุให้อ้างความชอบธรรมได้ทั้งนั้น เช่นวาทกรรมความชอบธรรมเรื่องพระราชอำนาจของอุดมการณ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ หรือวาทกรรมความชอบธรรมเรื่องความเท่าเทียมกัน ของอุดมการณ์แบบฝ่ายซ้ายเพื่อประชาชน และวาทกรรมเรื่องประสิทธิภาพของอุดมการณ์แบบทุนนิยมเสรีใหม่

ภายใต้เบื้องหลังอุดมการณ์แต่ละประเภท ต่างก็มี "ใจกลาง" ที่เป็นขั้วอำนาจที่เป็นของจริง ไปจนถึง proxy ที่เป็นบริวารในชั้นถัดมา และไม่จำเป็นที่ขั้วอำนาจแต่ละฝ่ายจะมีความเชื่อเฉพาะอุดมการณ์ของตนเอง แต่ละฝ่ายอาจใช้ประโยชน์ของอุดมการณ์อื่นเพื่อเป็นเครื่องมือ (ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับวงกลมสามวงที่ซ้อนทับกัน)

ในที่นี้จึงขอเสนอทฤษฎีที่ว่า ฝ่ายซ้ายเพื่อประชาชน นอกจากจะใช้อุดมการณ์ (และวิธีการ) ของตนเองแล้ว ยังอ้างความชอบธรรมของอุดมการณ์แบบศักดินาสวามิภักดิ์ เพื่อโจมตีฝ่ายทุนนิยมเสรีใหม่ด้วย

แต่ไม่ว่า "ขั้วบน" ของระบบอำนาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็เป็นเพียงการแบ่งปันความมั่งคั่งในแต่ละกลุ่ม อันจะส่งผลลงมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่แท้จริงได้น้อยมาก

หญิงสาวจากต่างจังหวัดที่ยากจน ก็ยังต้องเดินทางเข้ามาเพื่อขายตัวในนาคร ผู้ใช้แรงงานก็ต้องเดินทางออกไปยังต่างประเทศเพื่อขายแรงงาน คนไร้บ้านก็ยังต้องเป็นคนไร้บ้านและไม่สามารถปีนป่ายข้ามกำแพงแห่งชนชั้น

ดังคำกล่าวของเมธัส บัวชุมในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท



"
กรณีของทักษิณ เป็นเรื่องธรรมดาเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับปัญหาอื่น ๆ ในประเทศ สำหรับผม ทักษิณ จะอยู่หรือไปก็ไม่ใช่ประเด็น

ผมอยากจะเสนอนะว่า ทางที่ดีเอาเงินที่ใช้ในการประท้วงซึ่งหลายครั้งรวมกันก็คงจะหลายล้านบาทไปสร้างโรงนอนให้คนไร้บ้าน สร้างโรงทานให้คนตกงาน หรือเอาไปให้กะหรี่น่าจะดีกว่าเอาไปทำให้สูญเปล่ากับการเล่นเกมประท้วง

ซึ่งสุดท้ายผมก็ไม่รู้ว่าผลประโยชน์จากการนี้จะไปตกอยู่ที่ใคร ประชาธิปัตย์? จำลอง ศรีเมือง? ประชาชน?

……..

ผมว่านะ บางทีม็อบก็เป็นเหมือน “หน้ากาก” อันหนึ่ง เป็น “หน้ากาก” ที่หลอกว่ารักและรับใช้ประชาชนรักประชาธิปไตย เป็น “
หน้ากาก” ที่อำพรางผลประโยชน์ของตัวเองไว้ แต่ลองถอดหน้ากากออกมาสิ คุณจะได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง!
"




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 26 กุมภาพันธ์ 2549 14:37:16 น.
Counter : 445 Pageviews.  

Photo essay : 4 February

On War





ในที่สุดก็เริ่มต้นขึ้นจนได้สำหรับการชุมนุมคัดค้านการบริหารงานของรัฐบาลในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา

แม้ว่าคนจะไม่มาก ในความคาดหวังของกลุ่มผู้คัดค้านรัฐบาล
แม้ว่าคนจะไม่น้อย ในความคาดหวังของกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยข้อสงสัยการขายหุ้นชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ทั้งเรื่องประเด็นแอมเพิลริช, การเสียภาษี, การสูญเสียสมบัติของชาติ เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้มีผู้มารวมตัวชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเป็นจำนวนมาก อย่างมีนัยสำคัญ

หนังสือพิมพ์รายงานตัวเลขผู้ชุมนุมแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 50,000 จนถึง เฉียด 1 แสนคน

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ในบ้านเรา ไม่ได้รายงานการชุมนุมดังกล่าวเป็นข่าวสำคัญมากนัก แต่อย่างไรก็ตามช่อง 9 อสมท พยายามรายงานการชุมนุมในข่าวต้นชั่วโมง

หนังสือพิมพ์ก็มีการรายงานข่าวที่ช้าเกินไป สื่อที่ผู้คนติดตามมากที่สุด จึงเป็นสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเว็ปไซต์หลักก็หนีไม่พ้น ผู้จัดการออนไลน์ และ พันทิพ - ราชดำเนิน

การชุมนุมเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ก่อนจะมาพีคเอาช่วงกลางดึก และข้ามคืนไปสิ้นสุดเอาเมื่อเช้าวันใหม่ โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น


---

เพื่อเป็นการประหยัดการโหลดหน้าเว็ปหลักของสหายสิกขา จึงขอย้ายรูปต่าง ๆ ลงไปไว้ในส่วนความคิดเห็น ท่านสามารถรับชมรูปภาพต่าง ๆ ประกอบเหตุการณ์การชุมนุม โดยคลิ้กที่ ส่วนแสดงความคิดเห็น




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2549 18:02:34 น.
Counter : 527 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.