Group Blog
 
All blogs
 
ไม่มีนครใดในผืนพิภพที่จะเติมเต็มความฝันได้เท่านี้อีกแล้ว

หากคุณเป็นผู้บริหารเมืองขนาดย่อมเมืองหนึ่ง เมืองนี้ไม่มีทรัพยากรอื่นใด ผืนดินก็แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ผู้คนที่อยู่อาศัยก็เป็นชนเผ่าเร่ร่อนเพียงไม่กี่หมู่บ้าน


วิดีโอยูทิวป์พูดถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ (ต้องรีบดูเพราะได้ข่าวว่าจะโดนกระทรวงไอซีทีปิดอีก)


โชคดีอยู่บ้างที่ใต้ผืนดินที่คุณอยู่นั้นมีทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ซึ่งก็คือ "น้ำมันดิบ", และนั่นก็ทำให้คุณสามารถกอบโกยความมั่งคั่งจากความต้องการน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลกได้, คุณสามารถเนรมิตเมืองขนาดใหญ่ขึ้นกลางทะเลทรายได้ ประชากรของเมืองก็เพิ่มสูงขึ้นจากผู้คนที่เข้ามาแสวงโชคและหางานทำ

โชคร้ายในโชคดี, ที่คุณเพิ่งทราบว่า น้ำมันดิบที่ว่านี้จะมีสำรองอยู่อีกเพียงไม่ถึงยี่สิบปีข้างหน้านี้

คุณจะทำอย่างไรกับเมืองของคุณดี?

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคโทอูม ผู้ครองนครดูไบบอกแผนการณ์ของเขาว่า ก็เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่อิงน้ำมันดิบ ไปสู่เศรษฐกิจบริการและการท่องเที่ยวสิ

นี่เป็นที่มาของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดมหึมา และล้ำหน้าที่สุดในโลก สถาปนิกและวิศวกรแถวหน้าของวงการพาเหรดกันเข้ามาก่อสร้างอภิมหาโครงการมากมาย ในดินแดนทะเลทรายแห่งนี้



ภาพจากวิกิพีเดีย


ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ชอัลอาหรับตึกสูงทรงเรือใบ และเป็นโรงแรมขนาด 7 ดาวแห่งเดียวในโลก ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะที่ถูกถมขึ้นเป็นฐานของอาคารกลางทะเล ค่าห้องพัก $US 7,500 ต่อคืน (262,500 บาทต่อคืน)



แผนผังโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในดูไบมุมมองจากอากาศ : ภาพจาก tendancehightech.com


ไม่ว่าจะเป็นโครงการดูไบวอเตอร์ฟร้อนท์ ซึ่งทำเป็นแนว lagoon (ปะการังเทียม) ที่มองจากท้องฟ้าลงมาเป็นรูปใบปาล์ม โครงการหมู่เกาะรีสอร์ทสวรรค์ "เดอะเวิร์ล" หรือจะเป็นโครงการขุดคลองอาระเบียนกลางทะเลทราย

ในสารคดีเนชันแนลจีโอกราฟฟิคพูดถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระดับโลก ของดูไบเหล่านี้ และเมื่อดูไบวางแผนที่จะแปรเปลี่ยนสภาพเมืองทะเลทรายให้กลายเป็นเวนิสของคาบสมุทรอาระเบีย เมื่อมีการประกาศโครงการเหล่านี้ออกไปทั่วโลก ปรากฎว่า สถาปนิกจากแคนาดารับคำท้า สร้างโอเอซิสที่จำลองภาพมาจากเวนิสเมืองที่ถักทอด้วยคูคลองในอิตาลี แต่คราวนี้เป็นการโครงการก่อสร้างคลองและเมืองขนาดใหญ่ริมคลองกลางทะเลทราย หลังจากแข่งขันกับเมืองนานาชาติอย่างดุเดือด ชาวแคนาดามีเวลาเพียง 2 สัปดาห์ที่จะวาดฝันนี้ให้เป็นจริง



สภาพดูไบเมื่อปีทศวรรษ 1990 : ภาพจาก tendancehightech.com


และเมื่อผลการตัดสินสิ้นสุด ทีมโครงการแคนาดาบินไปดูไบเพื่อสร้างโครงการในฝันนี้ให้เป็นจริง

น้ำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ผู้คนสัญจรผ่านเรือที่ตระเวนไปมาบนคลอง ไม่ต่างอะไรไปจากเมืองเวนิส

แต่ต้องไม่ลืมว่าโครงการขนาดยักษ์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นบนสภาพแวดล้อมที่โหดหินสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศแห้งแล้งที่มีฝนตกน้อยกว่า 2 นิ้วต่อปี, อุณหภูมิร้อนระอุขนาด 45 องศา แม้ว่าจะอยู่ในที่ร่ม และหลายครั้งต้องเผชิญกับพายุทะเลทรายที่ถึงกับทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไปอย่างต่ำก็สองวันเต็มๆ

วิศวกรต้องหล่ออิฐบล็อกขนาด 40 - 70 ตัน นับสิบรูปแบบ จำนวนนับพันนับหมื่นก้อนแล้วเรียงรายเป็นผนังคลองส่งน้ำ หลังจากที่มีการขุดเอาทรายออกและลำเลียงออกด้วยเครื่องดูดน้ำผสมทรายออกไปเป็นจำนวนมาก ในที่สุดเมื่อโครงการนี้สำเร็จ, นี่จะกลายเป็นคลองส่งน้ำที่ระบายน้ำจากทะเลไหลเวียนเข้ามาและออกไป ด้วยพลังของน้ำจากการออกแบบเชิงวิศวกรรมทางน้ำอันชาญฉลาด



สภาพดูไบเมื่อปี ค.ศ. 2003 : ภาพจาก tendancehightech.com


นั่งชมสารคดีแล้วก็อดคิดถึงประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรอย่างสิงคโปร์ขึ้นมาไม่ได้ ว่าช่างมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันไม่น้อย แล้วก็คิดถึงเมืองไทยที่ยังหากินกับทรัพยากรเก่าเก็บ แต่ดูไบสร้างมันขึ้นมาใหม่

สำหรับประเทศร่ำรวยน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนอย่างบรูไนวาดแผนเป็นศูนย์กลางท่าเรือและการขนส่งสินค้าทางทะเลแข่งกับมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่โครงการดังกล่าวทำท่าจะแข่งขันกับศูนย์กลางขนส่งทางน้ำทั้งสองแห่งได้ยากเย็นยิ่ง

ปัจจุบันดูไบมีประชากรราว 1.4 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากเพียง 1,200 คนเมื่อปี ค.ศ. 1822) มีสถานภาพเป็น "อิมิเรต" หรือรัฐๆหนึ่ง ในเจ็ด "อิมิเรต" ที่รวมตัวกันในรูปแบบสหพันธรัฐขึ้นเป็น สหรัฐอาหรับอิมิเรต (United Arab Emirates : UAE)

(ควรกล่าวด้วยว่า ดูไบมีประชากรอพยพเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างจากทั้ง อินเดีย, ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์ -- มีข้อมูลว่าดูไบมีปัญหากับการดูแลสิทธิมนุษยชนให้กับแรงงานเหล่านี้อย่างมากด้วย, เรื่องที่ต้องคำนึงอีกเรื่องคือการที่ดูไบมีฐานเงินทุนอย่างมากจากการขายน้ำมัน ทำให้ดูไบมีสิทธิทำอะไรหรูหราฟุ่มเฟือยอลังการแบบนี้ให้เป็นไปได้ และเงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อยเช่นกัน)




ภาพตำแหน่งของ UAE และดูไบในคาบสมุทรอาระเบีย : ภาพจากวิกิพีเดีย


ประชากรทั้งหมดของ UAE มีจำนวนราว 3.1 ล้านคน มีขนาด GDP รวม 104 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมี GDP ต่อหัวขนาด 33,610 เหรียญสหรัฐ ดูไบเป็นเพียงหนึ่งในสองอิมิเรต นอกเหนือจาก อะบูดาบีที่เป็นอิมิเรต ที่มีขนาดประชากรอันดับหนึ่งของ UAE ที่สามารถวีโต้กฎหมายที่ส่งผลสะเทือนสำคัญกับทั้ง UAE ได้

แม้ว่ารัฐสมาชิกอื่นๆ ใน UAE ยังคงพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก แต่สำหรับดูไบเองแล้วสัดส่วนรายได้จากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีเพียง 3% ของรายได้รวมทั้งหมด 46 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้หลักมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จีเบล อาลี (Jebel Ali free zone authority : JAFZA) รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการทางธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้เป็นที่ตั้งของบริษัทไอทีข้ามชาติไม่ว่าจะเป็น อีเอ็มซี, ออราเคิล, ไมโครซอฟต์ และ ไอบีเอ็ม รวมไปถึงบริษัทสื่ออย่าง เอ็มบีซี, ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์ และ เอพี

ในขณะที่ตลาดการเงินของดูไบ (Dubai Financial Market : DFM) ซึ่งเป็นตลาดรองสำหรับค้าขายหลักทรัพย์และตราสารหนี้ (เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2000) มีมูลค่าตลาดขนาด 87 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ยังไม่รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Regulatory Authority : RERA) คอยดูแลทิศทางการพัฒนาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆในดูไบ มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าต่างพาเหรดกันเข้าไปลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และหรูหราหลายโครงการ โดยโครงการต่างๆจะต้องมีการลงทะเบียนและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนทุกอย่างให้ RERA ทำการตรวจสอบก่อนได้รับการอนุญาตให้ลงทุน รวมทั้งจะต้องตั้ง escrow เพื่อดูแลเงินลงทุนของลูกค้าในกรณีที่โครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย

โครงการที่เกิดขึ้นหลากหลาย และผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเหล่านี้ ทำให้ดูไบได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เติบโตและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก ไม่แปลกที่ดูไบจะกล่าวว่าเมืองของตนเองเป็น

"No other city on earth can dream like this"

ดูเหมือนว่าดูไบจะเริ่มเติมเต็มความฝันของตนให้เป็นจริงได้แล้ว



ข้อมูลท้ายบท



Create Date : 21 กันยายน 2550
Last Update : 21 กันยายน 2550 20:14:57 น. 0 comments
Counter : 672 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.