Group Blog
 
All blogs
 

นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ และการปฏิรูปการเมืองในฐานสังคมแบบสองนคราประชาธิปไตย (1)

บทความต่อไปนี้เป็นบทความเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร และการปฏิรูปการเมือง โดยจะเขียนเป็นตอนๆ มีทั้งหมดสี่ตอนด้วยกัน แต่ละตอนจะเป็นการอธิบายและชี้แจงข้อมูลในแต่ละประเด็น ตามลำดับดังต่อไปนี้
คำถาม


  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาคนจน หรือเป็นเพียงการซื้อเสียงคนจน
  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพัฒนาประเทศทั้งระบบหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับการแก้จนอย่างไร
  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลต่อสองนคราประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองอย่างไร
  • จุดยืนที่ควรจะเป็นต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

===

( 1 )

คำถามที่ 1. นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาคนจน หรือเป็นเพียงการซื้อเสียงคนจน?

นิยามของความยากจน

ก่อนจะตอบคำถามนี้ จำเป็นจะต้องกำหนดนิยามของความยากจนให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะนิยามที่แตกต่างกันนั้นจะส่งผลถึงเป้าหมาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาของความยากจนที่แตกต่างกันออกไป

นิยามของความยากจน และการจัดแบ่งความยากจนมีได้หลายแนวทางดังต่อไปนี้[1]

  1. ความยากจนตามนิยามของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แบ่งความยากจนออกเป็นสองกรณีคือ

    1. ความยากจนเชิงรายได้ (Income Poverty) ซึ่งเป็นความยากจนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ ความยากจนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยลงไปได้อีกสองกรณีคือ

      1. ความยากจนข้นแค้น (Extreme Poverty) หมายถึงการขาดแคลนรายได้ที่เพียงพอสำหรับบริโภคอาหารเพื่อยังชีพ การวัดความยากจนแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้การวัดแบบสัมบูรณ์ เช่น เส้นความยากจน (poverty line) หากใครมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ก็จะถือว่าเป็นคนยากจนตามความหมายนี้
      2. ความยากจนโดยรวม (Overall Poverty) เป็นการขาดแคลนรายได้ที่เพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพที่มิใช่อาหาร การวัดความยากจนแบบนี้จะใช้วิธีการวัดในเชิงสัมพัทธ์ คือเปรียบเทียบกับกลุ่มรายได้ในกลุ่มต่างๆ (แบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆตามระดับรายได้ เช่น 20% ที่จนที่สุด, 20% ที่มีรายได้มากถัดขึ้นไป จนกระทั่งถึงกลุ่มประชากรที่มีรายได้รวยที่สุด 20%)

    2. ความยากไร้ของคน (Human Poverty) เป็นความยากจนที่เกี่ยวข้องกับการคลาดแคลนโอกาส เช่นขาดแคลนขีดความสามารถในการเรียนรู้ ทุพโภชนาการ บิดามารดาป่วย อายุสั้น ป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้ ซึ่งความยากจนในลักษณะนี้ อาจวัดด้วยการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เป็นการวัดโดยอ้อม)


  2. อมาตยา เซน นิยามความยากจนว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ ลิดรอนสิทธิ์ ก็ถือว่ายากจน (เช่นนักโทษถูกจำคุก)
  3. ในขณะที่ วิทยากร เชียงกูล เห็นว่าความยากจนมาจาก การด้อยโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรม
  4. อภิชัย พันธเสน เห็นว่าควรมองความยากจนเป็นมิติต่างๆ ได้ 7 มิติ เช่น ความยั่งยืน การมีชีวิตอยู่ได้, การได้รับความปลอดภัยในความคุ้มครอง, การได้รับความรักความอบอุ่น, ฯลฯ เป็นต้น
  5. นักวิชาการอีกหลายคนได้แสดงความเห็นว่าความยากจนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและการเมือง

นิยามที่แตกต่างกัน จะทำให้ผลที่ได้รับจากวิธีการวัดความยากจนมีความแตกต่างกัน คนจนที่ได้จากการวัดตามความหมายในนิยามหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คนจนที่ได้จากการวัดในนิยามอื่นก็ได้

นอกจากนี้นิยามที่แตกต่างกันก็จะทำให้ได้แนวทางและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่แตกต่างกันตามไปด้วย สำหรับแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (อันเป็นแนวทางที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้) จะนิยามความยากจนว่าเป็นการด้อยโอกาสทางสังคม แนวทางการแก้ไขปัญหาก็จะเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพคนจน และผู้ด้อยโอกาสให้มีการไต่เต้าทางสังคม ซึ่งใช้วิธีการต่างๆเช่น การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการสังคมพื้นฐานด้านการศึกษาและการสาธารณสุข และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยในการผลิต เช่นที่ดิน, สินเชื่อ หรือตลาด เป็นต้น

อนึ่งนิยามความยากจนและกลยุทธ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ[2]

การแก้ไขปัญหาความยากจนที่ผ่านมาของภาครัฐ จะใช้นิยามที่เป็นมาตรฐานตามแนวทางของสหประชาชาติทั้งนี้เพื่อให้มีมาตรฐานที่เป็นสากลและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจึงมุ่งลดจำนวนคนยากจน โดยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเหนือเส้นความยากจน และกำหนดให้การกระจายรายได้โดยเปรียบเทียบของกลุ่มประชากรที่มีรายได้ในระดับต่างๆให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจนของรัฐบาล
พรรคไทยรักไทยได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งสองครั้ง โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นได้พิเคราะห์จากพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งส่วนใหญ่ จะหาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร ดังนั้นจึงมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นโครงการตามแนวทาง "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส"



สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ
"ระบบเศรษฐกิจของไทยกว่าสามในสี่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานของเศรษฐกิจฐานรากในขณะที่การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่าเก้าในสิบตกอยู่กับกลุ่มชนชั้นกลางและชั้นสูง การดำเนินการของรัฐบาลในระยะห้าปีที่ผ่านให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบของครบวงจร ภายใต้หลักการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนฯ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ธนาคารประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เป็นต้น"[3]

แนวทางข้างต้นนี้จึงเป็นแนวคิดที่ดูสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามนิยามหลักที่ใช้ข้างต้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการกำหนดรายละเอียดในเชิงยุทธศาสตร์ และการกระจายงบประมาณลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้[4]

ประเมินผลประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน
เมื่อดูประสิทธิภาพโดยรวมจะพบว่า จำนวนและสัดส่วนคนจนเมื่อวัดจากเส้นความยากจน จะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ[5] ตัวเลขความยากจนล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน[6] แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นผลจากระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งยากจะแยกแยะได้ว่า ประสิทธิภาพของนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้หยิบยกขึ้นมาหาเสียงในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาแยกโดยต่างหาก

ซึ่งเมื่อพิจารณา 5 โครงการหลักของรัฐ และพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนแต่ละคนในแง่ของ รายได้, เงินออม และรายจ่าย ว่ามีการเพิ่มขึ้นลดลงหรือไม่อย่างไร ดังต่อไปนี้[7]








รายได้เงินออมรายจ่าย
กองทุนหมู่บ้าน+7.2%+6.1%+7.6%
OTOP+14.5%+5.8%+16.9%
30 บาท
-
+1.4%-0.5%
ธนาคารประชาชน+0.6%-5.6%+1.7%
พักชำระหนี้+21.9%-50.3%+30.2%

ประมวลผลจาก รายงานสรุปผลการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า คิดรวมทั้งประเทศ

หากดูในภาพรวมจะเห็นว่าโครงการส่วนใหญ่จะทำให้รายได้, เงินออม และรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นโครงการที่ก่อให้เกิดหนี้เช่นโครงการธนาคารประชาชนและโครงการพักชำระหนี้ซึ่งสองโครงการนี้จะทำให้เงินออมลดลงซึ่งอาจสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในระยะยาวหากผู้กู้มิได้กู้สินเชื่อเพื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าโครงการต่างๆของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน จะถูกประเมินผล และสรุปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละโครงการอย่างชัดเจน[8] ประเด็นนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาของความยากจน แต่การจะพิจารณาว่าเป็นความจริงใจในการช่วยเหลือคนยากจนหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากรัฐมีหน้าที่ผลิตนโยบายเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน และประชาชนก็จะพิจารณาเปรียบเทียบแนวนโยบายของพรรคต่างๆในช่วงเวลาเลือกตั้ง ประกอบกับบุคคลและผลงานที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนย่อมจะเลือกพรรคการเมืองที่ดูแล้วมีแนวโน้มที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตนเองมากที่สุดเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานรัฐบาล ในขณะที่พรรคการเมืองแต่ละพรรค ก็จำต้องแข่งขันกันนำเสนอนโยบายเพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงให้ตนเอง การแข่งขันของพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นเองจะเป็นตัวบังคับให้พรรคการเมืองต้องตั้งใจนำเสนอนโยบายที่มีประโยชน์ให้กับประชาชน

ในอีกทางหนึ่งการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สมดุล คือสร้างรายจ่ายมากเกินไปก็จะเป็นการก่อให้เกิดปัญหากับเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นนอกจากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่ได้หาเสียงไว้ ในอีกทางหนึ่งก็จำเป็นจะต้องบริหารประเทศเพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสามารถมีรายได้จากภาษีเพียงพอที่จะ บำรุงหล่อเลี้ยงโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเหล่านั้นได้

มีข้อควรสังเกตเพิ่มเติมคือทุกโครงการยกเว้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีส่วนทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจตามทฤษฎี consumtion-led growth หรือไม่ จะได้วิเคราะห์ในตอนถัดไป
[ยังมีต่อ]


[1] นิยามของความยากจนในความหมายต่างๆดูได้จาก เอกสารยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน - กรอบแนวคิดเกี่ยวกับความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[2]TDRI ใช้นิยามในแนวทางเดียวกันนี้ แต่มีข้อสังเกตว่าไม่ควรใช้รายได้ในการคำนวณหาเส้นความยากจน เนื่องจากไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ควรจะใช้รายจ่ายในการคำนวณแทน แต่ก็ยอมรับว่าข้อมูลด้านรายได้หาได้ง่ายกว่า ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย
[3]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก จุดเด่น 10 ประการของการบริหารจัดการประเทศโดยพรรคไทยรักไทย
[4]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการดำเนินงานตาม ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[5]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ พ.ศ. 2548, ตารางที่ 33 เส้นความยากจน สัดส่วน จำนวนคนจน ช่องว่างความยากจน และความรุนแรงของปัญหา ความยากจน พ.ศ. 2535 - 2547 : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[6]สภาพัฒน์ฯ และ TDRI ปรับเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจาก เส้นความยากจนจากรายได้เดือนละ 922 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 1,666 บาท ผลการปรับเส้นความยากจนนี้จะทำให้ปริมาณคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคนเป็น 9-10 ล้านคน
[7]ดูข้อมูลได้จาก ผลการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[8]ดูสรุปการวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะได้จาก [7]
[9]ยุทธศาสตร์หลักการแก้ไขความยากจนของภาครัฐดูได้จาก ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ




 

Create Date : 24 มีนาคม 2549    
Last Update : 24 มีนาคม 2549 18:18:29 น.
Counter : 1735 Pageviews.  

Loophole

กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาจนได้ สำหรับดีลการขายกิจการขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ หลังจากที่ผมได้โพสต์การคาดการณ์ดังกล่าว โดยสังเกตจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ไว้ในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา

ธุรกรรมการขายกิจการชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ให้กับกลุ่มเทมาเส็คจากสิงคโปร์ ได้ผลักดันให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์โดยรวมถูกผลักขึ้นไปอยู่ที่ 9.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่าการซื้อขายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่การก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมา



ยอดการทำธุรกรรมขนาดยักษ์นี้กระทำผ่านกระดานนักลงทุนรายใหญ่ โดยผ่านทางบริษัทหลักทรัพย์หกราย คือ UBS, PHATRA, KEST, NSF, SCBS และ TNITY โดยมียอดการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 1,487 ล้านหุ้น (49.6% ของหุ้นทั้งหมด) ในราคาหุ้นละ 49.25 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินมูลค่ากว่า 73,680 ล้านบาท

เนื่องจากระเบียบข้อบังคับของพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ได้มีการกำหนดข้อบังคับให้เพดานของนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 49% ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้มีการแก้ไขและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549 หรือ 3 วันก่อนมีการซื้อขายกิจการครั้งนี้ ส่งผลให้เทมาเส็คต้องมีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อน เพื่อรับมือกับเงื่อนไขนี้

กล่าวคือเทมาเส็ค ได้มีการจัดตั้งบริษัทลงทุนสองบริษัทคือ ซีดาร์ และ แอสเพน เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของชินคอร์ปในสัดส่วน 38.6% และ 11% ตามลำดับ แต่ด้วยเหตุที่ซีดาร์มีสัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่า 25% ทำให้ซีดาร์ต้องทำคำเสนอซื้อ (Tendor offer) หุ้นชินคอร์ปทั้งหมด ซึ่งซีดาร์ก็ได้เตรียมทำคำเสนอซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคา 49.25 บาทต่อหุ้น (เท่ากับราคาที่รับซื้อจากตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์) หากคำเสนอซื้อที่เหลือประสบผลสำเร็จ (ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง) ซีดาร์จะต้องใช้เงินอีกราว 1.9 พันล้านเหรียญ (หรืออีกราว 76,000 ล้านบาท) ในกรณีนี้จะมีโอกาสที่ซีดาร์อาจจะนำบริษัทชินคอร์ปออกจากตลาดหลักทรัพย์

แต่สำหรับบริษัทลูกอื่น ๆ ของชินคอร์ป ซีดาร์แสดงทีท่าที่จะไม่เข้าไปครอบครองหุ้นเพิ่มเติมของกิจการอีก เช่น AIS แม้ว่าจะถูกข้อกำหนดให้ต้องทำ tendor offer แต่ซีดาร์ก็ทำคำเสนอซื้อเพียง 72.35 บาทต่อหุ้น (ต่ำกว่าราคาตลาดเกือบ 30%) และได้รับการพิจารณายกเว้นไม่ต้องทำ tendor offer กับ ITV และ Shin Sattelite (รวมไปถึง CS Loxinfo ด้วย)

แม้ว่าจะสามารถอธิบายถึงเหตุผลในการซื้อขายกิจการนี้ไว้อย่างเรียบง่าย (และเชื่อว่าคงจะเป็นเหตุผลหลักในการเดินหน้าทำดีลครั้งนี้) ว่าผู้ถือหุ้นเก่าอย่างตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ไม่ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเพื่อไปต่อสู้ต่อในสมรภูมิ 3G (ตามข่าว จะต้องใช้เงินอีกไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด) อีกทั้งยังเผชิญกับการแข่งขันที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคต และที่สำคัญคือผู้นำที่เป็นหัวใจสำคัญหลักคือ พตท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ต้องการมุ่งเน้นไปทำงานด้านการเมือง ให้มากขึ้น ผนวกกับราคาหุ้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้ราคา ประกอบกับการมีผู้ซื้อที่เหมาะสมและพูดคุยและเจรจาตกลงกันได้ อีกทั้งดีลใหญ่ ๆ ก่อนหน้านี้ของไทคูนธุรกิจหลายรายได้เปิดทางนำร่องให้เป็นตัวอย่างมาเป็นระยะ และที่สำคัญนี่จะเป็นการสบโอกาสครั้งสำคัญในการล้างภาพผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างธุรกิจและการเมือง เนื่องจากเป็นการขายกิจการที่ไม่มีเงื่อนไขการซื้อกลับ หรือเป็นการล้างมือจากวงการโทรคมนาคมอย่างสมบูรณ์

แต่กรรมวิธีในการสร้างให้ดีลนี้เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเหมือนความต้องการของเจ้าของธุรกิจ เพราะยังต้องตอบคำถามอีกหลายข้อต่อไปนี้


  • ธุรกรรมครั้งนี้จะต้องไม่มีการเสียภาษี
  • ธุรกรรมครั้งนี้จะต้องเป็นการ ขายทิ้งหุ้นทั้งหมด (รวมถึงหุ้นที่มีการเก็บไว้ในบริษัทลงทุนนอกประเทศด้วย)
  • ที่สำคัญ ธุรกรรมครั้งนี้จะต้องตอบโจทย์เรื่องข้อจำกัดผู้ถือหุ้นต่างชาติของผู้ซื้อ ในขณะที่ยังรักษาผลประโยชน์ของผู้ซื้อเต็มร้อย



นี่จึงเป็นปฏิมากรรมทางการเงินที่ซับซ้อนและอลังการ ภายใต้การกำกับของนักกฎหมายภาษีชื่อดังอย่าง ดร สุวรรณ วลัยเสถียร!





Loophole #2


ความซับซ้อนอันดับแรกของดีลนี้ อยู่ที่ว่านอกเหนือจากหุ้นที่อยู่ในความครอบครองของคนตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์แล้ว ยังมีหุ้นที่เป็นสมบัติของตระกูล ถูกเก็บเอาไว้ในบริษัทที่เป็น investment arm ที่ชื่อ Ample Rich Investment Ltd ซึ่ง ได้จดทะเบียนเอาไว้ที่หมู่เกาะ บริติช เวอร์จิน ซึ่งเป็นแหล่งที่ทราบกันดีว่าเป็น ประเทศสำหรับจดทะเบียนบริษัทที่มีความต้องการหลบเลี่ยงภาษี (tax haven)


สำหรับขั้นตอนในการถ่ายเทหุ้น เป็นไปตามลำดับดังต่อไปนี้


  1. หุ้นจำนวน 329,200,000 หุ้น ถูกแบ่งขายให้กับ คุณพานทองแท้ และคุณพิณทองทา จำนวน 164,600,000 หุ้น จำนวนเท่า ๆ กัน ในราคาหุ้นละ 1 บาท ธุรกรรมนี้เกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 นี่เป็นขั้นตอน [ A ]
  2. คนในตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ทั้งหมดที่ถือหุ้นชินคอร์ป อันประกอบไปด้วย คุณพิณทองทา, คุณพานทองแท้, คุณบรรณพจน์, คุณยิ่งลักษณ์ และคุณบุษบา ได้เทขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 1,487,740,120 หุ้น ให้กับกลุ่มเทมาเส็ค โดยมีบริษัท ซีดาร์ และแอสเพ็นรับซื้อในสัดส่วน 38.6% และ 11.1% ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองบริษัทนี้เป็นบริษัทที่จัดตั้งในประเทศไทยและเป็นตัวแทนของเทมาเส็ค ธุรกรรมนี้เกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 นี่เป็นขั้นตอน [ B ]



เป็นที่น่าสังเกตว่าทางฝั่งของเทมาเส็คก็ได้มีการจัดเตรียม เพื่อรับมือกับกฎหมายเรื่องเพดานนักลงทุนต่างชาติ (ไม่เกิน 49%) โดยได้มีการจัดตั้งบริษัทโนมินีเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการรับซื้อหุ้นชินคอร์ปจากตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ดังต่อไปนี้

  1. จัดตั้งบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ในวันที่ 7 มิถุนายน 2548
  2. จัดตั้ง บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548
  3. ให้ไซเพรส เข้าถือหุ้นใน กุหลาบแก้ว ด้วยสัดส่วน 49% ในขณะที่ดังนักลงทุนไทย คือคุณพงส์ สารสิน และคุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30.96% และ 20% ตามลำดับ ด้วยโครงสร้างการถือหุ้นแบบนี้จะทำให้กุหลาบแก้วกลายเป็นบริษัทสัญชาติไทย ในขั้นตอนนี้มีการ secure อำนาจของเทมาเส็ค ด้วยการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย มีลักษณะเป็นหุ้นบุริมสิทธ์ และมีสิทธิ์ออกเสียงได้เพียง 1 ใน 10 ดังนั้นแม้ว่าจะเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย แต่อำนาจหลักของกุหลาบแก้วจะเป็นของฝ่ายสิงคโปร์
  4. จัดตั้ง บริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด โดยให้ไซเพรส เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 48.99% กุหลาบแก้ว 41.1% และธนาคารไทยพาณิชย์ อีก 9.9% ซึ่งนอกเหนือจากเงินสดจากเทมาเส็คแล้ว ยังมีการทำธุรกรรมกู้เงินสดจำนวน 30,000 ล้านบาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเข้าลงทุนอีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งใน ซีดาร์ ด้วย

    เนื่องจากผู้ถือหุ้นหลัก (กุหลาบแก้ว 41.1% และธนาคารไทยพาณิชย์ 9.9% รวมสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดเป็น 51%) เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จึงทำให้ซีดาร์เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทยไปด้วย (แต่จะเห็นว่าโครงสร้างนี้อยู่ภายใต้อำนาจสิงคโปร์ จากทั้งกุหลาบแก้วและไซเพรส) นี่เป็นขั้นตอน [ C ]
  5. จัดตั้งบริษัท แอสเพน โฮลดิงส์ จำกัด โดยวางตำแหน่งบริษัทนี้เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ถือหุ้นโดยบริษัท แอนเดอร์ตัน อินเวสเม้นต์ พีทีเอ ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของเทมาเส็คในสัดส่วน 99.94%
  6. เป็นที่น่าสังเกตว่าเทมาเส็คจัดโครงสร้างการถือหุ้นให้ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นหลักทั้งในซีดาร์ และแอสเพ็น ดังนั้นจึงสามารถแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทได้ ซึ่งตัวแทนหลัก จะประกอบไปด้วยนาย เอส ไอวาราน และนางสาว ทาน ไอ ชิง เมื่อการจัดตั้งบริษัททั้งหมดเสร็จสิ้นก็ให้ แอสเพน และซีดาร์ รับซื้อหุ้นจาก กลุ่มชินวัตร-ดามาพงศ์ ในวันที่ 23 มกราคม 2548 นี่เป็นขั้นตอน [ D ]

    และเนื่องจากซีดาร์ซึ่งมีสัดส่วนถือหุ้นใหญ่จำนวน 38.6% เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย จึงทำให้สัดส่วนการถือหุ้นเป็นไปตามเพดานการถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนด


ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน


ใครอยู่เบื้องหลังกุหลาบแก้ว
บริษัทกุหลาบแก้ว จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548
ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2549 :

  1. นายพงส์ สารสิน 3,096 หุ้น
  2. นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ 2,000 หุ้น
  3. บริษัท ไซเพรส โฮลดิงส์ 4,900 หุ้น


ใครอยู่เบื้องหลังไซเพรส
บริษัท ไซเพรส โฮลดิ้ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548
ผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549
นาย วีรพจน์ วิเศษศิลปานนท์ 9,994 หุ้น
(แต่จากข้อมูล คาดว่าเทมาเส็คจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ทำให้บริษัทนี้เป็นนิติบุคคลต่างด้าว)

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชน


เมื่อขั้นตอนดำเนินมาจนเสร็จสิ้น ก็เท่ากับว่าบรรลุเป้าหมายตามโจทย์แล้ว ตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ ไม่เสียภาษีในการขายครั้งนี้ สำหรับการขายหุ้นล็อตใหญ่จำนวน 73,680 ล้านบาท เนื่องจากอาศัยการขายหุ้นในฐานะบุคคลธรรมดา ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และในขณะเดียวกันกลุ่มเทมาเส็คก็สามารถเข้าถือครองชินคอร์ปได้โดยมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แม้จะดูเหมือนเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ในขณะที่ยังสามารถฝ่าด่านข้อจำกัดเรื่องเพดานผู้ถือหุ้นต่างชาติอีกด้วย

แต่ในขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องถึงความชอบธรรมของคุณทักษิณ ในข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง ครั้งแรกด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการเสียภาษีสำหรับการขายหุ้นล็อตนี้ และต่อมาในฐานะความคลุมเครือของธุรกรรมผ่านแอมเพิลริช และสุดท้ายผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งเรื่องคลื่นความถี่โทรคมนาคม และวงโคจรของดาวเทียม ที่ตกไปอยู่ในมือต่างชาติไปแล้ว


[ ยังมีต่อ ]
ข้อกล่าวหาของสื่อ และฝ่ายตรงข้าม


เศรษฐกิจการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป

คะแนนนิยม ผลโหวต เอแบค




 

Create Date : 30 มกราคม 2549    
Last Update : 31 มกราคม 2549 22:59:57 น.
Counter : 570 Pageviews.  

เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใหม่ของรัฐบาล (โดยไม่ตั้งใจ)

ตอนนี้ในตลาดเงินกำลังมีปรากฎการณ์ประหลาดเกิดขึ้นครับ เพราะราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับสหรัฐกลับแข็งตัวขึ้น

ถ้าใครได้อ่านบทความเรื่องเศรษฐศาสตร์ชาวบ้านฉบับแท็กซี่ จะเห็นว่ามีข้อคิดเห็นในทำนองว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยลง ซึ่งจะเห็นได้จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงตามราคาน้ำมัน

แต่ถ้าเรามาดูการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทในปัจจุบัน กลับจะเห็นว่ามันมีการเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามในทิศทางที่บทความที่แล้วได้วิเคราะห์และคาดการณ์เอาไว้


ราคาน้ำมันดิบปรับตัวกลับขึ้นมาที่ $66.83 ,19.01.2006


ในขณะที่ค่าเงินบาทกลับปรับตัวแข็งขึ้นมาที่ราว 39.50 บาทต่อหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ผมเห็นการเคลื่อนไหวแปลกๆของค่าเงินบาท แรกๆก็คิดว่าการวิเคราะห์ในบทความที่แล้วมีข้อผิดพลาดบ้างหรือเปล่า เป็นไปได้ไหมว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบในทางลบกับเศรษฐกิจ เพราะครั้งที่แล้วราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น --> เศรษฐกิจตก --> ค่าเงินบาทอ่อนลง แต่มาคราวนี้ ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น --> เศรษฐกิจควรจะตก? ---> แต่ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น?

อันที่จริงผมไม่ค่อยห่วงเรื่องระดับราคาน้ำมันเท่าไหร่นัก เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ลอยตัวระดับราคาน้ำมันไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันจะสะท้อนความเป็นจริงในตลาด เศรษฐกิจจะปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ พูดได้อีกอย่างว่าถ้าระดับราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นไประดับหนึ่ง (ไม่มากจนเกินไป ซึ่งถ้าดูข้อมูลรอบๆด้าน โอกาสแบบนั้นก็จะเกิดค่อนข้างน้อยครับ) ก็จะไม่มีผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจมากนัก

แต่การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างมากภายในเวลาอันสั้น (จาก 41 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาเป็น 39.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) แล้วจะบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงขึ้นแล้วนั้น ไม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง

ผมมีคำอธิบายแบบสำเร็จรูปให้ตัวเองคือ การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแสดงให้เห็นว่า เงินบาทในตลาดแลกเปลี่ยนหาได้ยากขึ้น แสดงว่ามีใครบางคนกำลังหาแลกเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อนำมาเข้าทำอะไรบางอย่างในประเทศ ซึ่งการที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นโดยสามารถยืนอยู่เหนือ 700 จุดได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี และมีข่าวว่ากองทุนต่างชาติแห่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ น่าจะสามารถตอบคำถามนี้ได้(บ้าง)

จวบจนกระทั่ง...

เริ่มมีข่าวออกตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับเทมาเส็คแห่งสิงคโปร์ [เทมาเส็ค (temasek) เป็นบริษัทกึ่งรัฐวิสาหกิจ โดยทำหน้าที่ลงทุนและถือหุ้น (investment arm) ของสิงคโปร์]

ซึ่งในความเป็นจริงที่ว่า พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มชิน ได้พิจารณาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว จึงตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ยอมรับ - หรือปฏิเสธ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ข่าวดังกล่าวมีความชัดเจนยิ่งขึ้นอีก

ปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดการตัดสินใจ ก็ไม่มีอะไรมากครับ เมื่อพิจารณาข้อดีที่ว่าราคาหุ้นของตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวขึ้นมาสูงในระดับที่สามารถขายทำกำไรได้ และที่สำคัญคือการหาตัวผู้มาซื้อ ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำกันได้ง่ายๆ ประกอบกับก่อนหน้านี้ ดีลการขายหุ้นยูคอมของกลุ่มเบญจรงคกุล ให้กับเทเลนอร์ ก็เท่ากับสร้าง benchmark ในการเจรจาขายหุ้นกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมไว้ล่วงหน้าแล้ว

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ย่อมทำให้ดีลมูลค่าเจ็ดหมื่นล้านครั้งนี้ตกลงกันได้ง่ายขึ้น

เพราะกลุ่มผู้ซื้อเองก็ไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้ราคาหุ้นไทยสูงขึ้นไปมากกว่านี้ (ซึ่งก็มีแนวโน้มจะเป็นไปได้) ก็อาจจะต้องเสียมากกว่าที่ควรเสีย ในขณะที่กลุ่มผู้ถือหุ้นเก่า (ตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์) ก็มองตรงกันกับกลุ่มเบญจรงคกุลว่า สมรภูมิรบในอนาคตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ต้องไปสู้รบกันด้วย 3G แล้ว ซึ่งนั่นหมายถึงเงินลงทุนปริมาณมหาศาล

การขายหุ้นกลุ่มชินในครั้งนี้ของคุณทักษิณ ยังได้ผลดีอีกด้านหนึ่งด้วยคือ จะลดภาพผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างธุรกิจและการเมืองได้มากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะหลุดข้อกล่าวหาไปได้ง่ายๆนะครับ เพราะกลุ่มคุณสนธิ ก็ยังกล่าวหาว่า แค่ขายหุ้นไม่ใช่ถือว่าจบเรื่อง แต่ต้องเอาเงินและผลประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลมาคืนแผ่นดินด้วย!

หนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มสรุปตรงกันแล้วว่าดีลนี้น่าจะเกิดขึ้นจริงและคงตกลงกันได้เร็วๆนี้



หม่อมอุ๋ยก็ออกมาให้ความเห็นว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นก็เป็นผลมาจากการเทขายดอลลาร์เพื่อซื้อบาท เพื่อใช้ในดีลดังกล่าว แต่คุณทนง ก็ค้านว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องดังกล่าว ชาวบ้านอย่างเราฟังแล้วก็ลองคิดดูครับว่าจะเชื่อใครดี

แต่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร (ที่มี ดร ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นหัวหน้าทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจอยู่) ชี้ให้เห็นว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นนั้นมีผลดีที่จะลดอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากภาวะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ได้ตั้งใจของรัฐบาลนั่นเองครับ

อัตราเงินเฟ้อค่อยๆปรับตัวลดลงมา หลังจากที่ขึ้นไปสูงสุดถึง 6% ในช่วงตุลาคม 2548

โดยสรุปแล้วคือค่าเงินบาทแข็งขึ้นน่ะ เป็นเพราะต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนเพื่อซื้อหุ้นน่ะใช่แน่ แต่จะเป็นหุ้นชินหรือเปล่า...คงต้องดูกันต่อไป

แต่ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ผมมีข้อสังเกตน่าสนใจหลายข้อเลยทีเดียว


  1. เงิน 7 หมื่นล้านบาท หรือราว 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็สามารถทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 3% (จาก 41 -> 39.5 บาทต่อ $US)
  2. คุณทักษิณไปพักผ่อนที่สิงคโปร์หรือไปเจรจาต่อรองการซื้อขายกับเทมาเส็ค
  3. คุณทักษิณบอกว่าไม่รู้เรื่องการซื้อขายหุ้น แปลเป็นไทยได้ว่า การเจรจาตกลงเรียบร้อยแล้ว
  4. ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แม้ว่าจะไม่ค่อยดีกับการส่งออก แต่ก็มีข้อดีที่สามารถยันกันกับราคาน้ำมันที่กำลังสูงขึ้นได้
  5. นักเศรษฐศาสตร์ไทยกำลังมีการบ้านใหม่ทำครับ : หลังจากที่ท่านต้องมึนกับนวัตกรรมในการใช้กองทุนน้ำมันยืดระยะเวลาผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจ, เพราะต่อไปนี้ท่านจะต้องวิเคราะห์ว่า นวัตกรรมที่ใหม่ยิ่งกว่าอย่าง การใช้การลงทุนจากต่างประเทศกับตลาดหุ้นไทย (พูดง่ายๆคือขายสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นในบ้านเรา ...ครับผมหมายถึงหุ้นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่กำลังทะยอย ipo นั่นแหละครับ) มันจะมีผลกระทบอย่างไรกับระบบเศรษฐกิจบ้านเราบ้าง เพราะเงินแค่ 1,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็มีผลทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงได้ 3% เงินที่ไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในกิจการพลังงานและโทรคมนาคม โดยรัฐวิสาหกิจของรัฐจะยิ่งมีมูลค่ามากกว่านี้อีกไม่รู้กี่เท่า ....และที่สำคัญยิ่งค่าเงินบาทแข็งขึ้น ก็จะยิ่งดึงดูดให้นักลงทุนเทเงินเข้ามาเก็งกำไรในประเทศไทยมากขึ้น ความเสี่ยงในระบบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
  6. ดร ศุภวุฒิ เคยวิเคราะห์เอาไว้เมื่อตอนต้นปีว่า การก่อกำเนิดขึ้นของขบวนการสนธิ จะทำให้การเมืองในปีใหม่นี้เข้าไปสู่ระบบ balance and check มากขึ้น และยังชี้ประเด็นต่อด้วยว่า หากมีการขายหุ้นชินเกิดขึ้นจริง นี่จะเป็นการแยกกันระหว่างธุรกิจและการเมืองอย่างชัดเจน และจะมีผลอย่างไรต่อไปกับการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต






 

Create Date : 20 มกราคม 2549    
Last Update : 20 มกราคม 2549 15:39:00 น.
Counter : 532 Pageviews.  

เศรษฐศาสตร์ชาวบ้านฉบับแท็กซี่

ผมเคยวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี (ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2548) โดยใช้โมเดลมาตรฐาน (IS-LM-BP model) และทดลองใส่ภาวะการถดถอยอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันลงไป (oil shock) (IS')

(อ่านวิธีการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยใช้โมเดลข้างต้น ได้ที่นี่



ก็พยากรณ์ตามภาพได้ว่า


  1. GDP จะถดถอยลง (จาก Y0 -> Y1)
  2. อัตราดอกเบี้ยจะลดลง (จาก r0 -> r1)
  3. ประเทศจะประสบกับปัญหาการขาดดุลการชำระเงินมากขึ้น (จาก B/P -> B/P')
  4. แต่เมื่อผ่านไปสักระยะเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล ผลผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการส่งออก (IS'') เพิ่มขึ้นเพราะในช่วงที่เกิด oil shock ค่าเงินจะตกทำให้สินค้าและบริการของประเทศเราในสายตาชาวโลกนั้นมีราคาถูกลง ชาวต่างประเทศจึงหันมาซื้อเพิ่มขึ้น (อันที่จริงผลแบบนี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่ได้เกิดจากความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นลักษณะการปรับตัวทางเศรษฐกิจ)



เมื่อพิจารณาระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกดังรูป



จะเห็นว่าราคาน้ำมันไต่ขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์แล้วไปปิดสูงสุดรอบหนึ่งที่ช่วงเมษายน แล้วก็ลดลงมาใหม่ จากนั้นคราวนี้ไต่ระดับยาวขึ้นไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม แล้วจึงค่อยปรับต่ำลงมา

ถ้าเป็นแบบนี้น่าจะพอวิเคราะห์ได้ว่า GDP ไตรมาสแรกของปี จะประสบกับการถดถอย (ตามการคาดการณ์จากโมเดลของเราข้างต้น) แต่ในไตรมาสถัดไป 2-3-4 น่าจะกลับมาขยายตัว ด้วยผลจากการที่ค่าเงินของเราอ่อนค่าลง (ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น) ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น


GDP หดตัวใน 1q2005 แต่เพิ่มขึ้นใน 2q2005 และ 3q2005


ด้วยผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามราคาน้ำมัน

แต่ตัวเลขต่อไปนี้ไม่เป็นไปตามการวิเคราะห์ เพราะมีปัจจัยอื่นแทรกซ้อนเข้ามา ซึ่งเราจะมาดูกันต่อไปนะครับ

เรื่องแรกคือภาวะเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการที่ต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง (logistic) เพิ่มสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เรื่องนี้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เกิดภาวะติดลบ ถ้ายังจำได้การคาดการณ์ของเราก็ถูกต้อง r0-r1(r ตรงนี้คือ nominal interest rate) ด้วยปัญหานี้แบงค์ชาติจึงพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (rp14) ตามธนาคารกลางสหรัฐ (fed fund rate) ไปติดๆ ซึ่งหม่อมอุ๋ยก็ประกาศเจตนารมย์ไว้แล้วว่าจะให้ ดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกให้ได้ภายในกลางปีหน้า (2549)



ผลจาก oil shock ยังส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น


ตรงนี้ขอนอกเรื่องนิดครับ : มีความเห็นจากบางท่านวิจารณ์ว่าการที่แบงค์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เพื่อไม่ให้เงินไหลออกบ้าง หรือไม่ก็อาจจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารปล่อยไม่ออกบ้าง แต่มีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ลึกลับบางท่าน (ที่ใช้นามปากกาเข้ากับสมญานามของนักเศรษฐศาสตร์) ชี้ให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า สภาพคล่องส่วนเกินที่แท้จริงของระบบธนาคารไทยไม่น่าจะมีแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความหามาได้ยากของเงินในบ้านเรา ดังนั้นการที่แบงค์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เท่ากับสะท้อนสภาพของความเป็นจริงของการขาดแคลนเงินในตลาดนั่นเอง...ลองอ่านดูนะครับ



แต่ถ้าเราสังเกตการเกิดของภาวะเงินเฟ้อดูให้ดีๆ จะเห็นว่าอันที่จริง มันไม่ไปตามจังหวะเวลาของการระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก

ซึ่งสอดคล้องกับปรากฎการณ์อีกเรื่องหนึ่ง

คือการขาดดุลการค้า (trade balance) และการถดถอยของดุลการชำระเงิน (balance of payment, B/P)

อันที่จริงดุลการชำระเงิน ตามความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เราร่ำเรียนมา จะประกอบไปด้วย ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) และดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย (capital account หรือ financial account)

ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะประกอบด้วย รายรับรายจ่าย จากการค้าและการบริการของประเทศ



เมื่อพิจารณาจากรูปข้างบนนี้ จะเห็นว่าในแนวโน้มใหญ่ B/P (เส้นสีชมพู) เป็นไปตามที่คาดการณ์คือถดถอยลงอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะเห็นว่าองค์ประกอบหลักที่ทำให้ B/P เปลี่ยนแปลงเกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก (กราฟแท่งสีเทา) ในขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (กราฟแท่งสีม่วง) โดยส่วนใหญ่จะเป็นบวก

สิ่งที่ผมบอกว่าผิดปกติก็คือการดีเลย์ของผลกระทบที่เกิดขึ้น มันยืดเวลาออกมาจากที่ควรจะเกิดขึ้น

ถ้าดูรูปดุลการค้า (อันเป็นองค์ประกอบหลักของดุลบัญชีเดินสะพัดอีกที) จะยิ่งเห็นชัดครับ


จะเห็นว่าดุลการค้าขาดดุลมาจนถึงเดือนมิถุนายน แล้วจึงมากระเตื้องในช่วงกันยายน

การบิดเบือนที่เกิดขึ้นทั้งหมด น่าจะเกิดมาจากนโยบายการชดเชยน้ำมันของรัฐบาล


ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลต้องรับภาระในกองทุนน้ำมันอยู่ถึงเกือบ 1 แสนล้านบาท! จนต้องเตรียมออกพันธบัตรกองทุนน้ำมันเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ดังกล่าว

ในความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่ารัฐบาลเคยย่ามใจ (สังเกตดูในรูปข้างต้นครับ) มีอยู่ช่วงที่ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปแบกรับน้ำมันแล้วราคาลงมาทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง จึงคิดว่ายังพอชดเชยได้ แต่เผอิญอย่างที่เห็นราคาน้ำมันในรูปแรกของเรา ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไม่หยุด ในที่สุดก็ต้องยุติการชดเชยน้ำมัน

แต่เรื่องการชดเชยน้ำมันนั้นมาทำเอาช่วงหลังเลือกตั้งไปสักระยะหนึ่งครับ ลองดูราคาขายปลีกน้ำมันและราคาที่ควรจะเป็นที่นี่

เพราะถ้ายังจำกันได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นคือช่วงการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงต้องอั้นราคาน้ำมันเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเศรษฐกิจอย่างน้ำมันดีเซล

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องมาลอยตัวราคาน้ำมันอยู่ดี (แถมพกด้วยหนี้อีกเกือบหนึ่งแสนล้านบาท) เพราะในช่วงที่รัฐบาลให้การชดเชยราคาน้ำมันนั้นเอง ผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ ก็ช่วยกันเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง (เพราะราคาน้ำมันไม่ได้สะท้อนความจริง) ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบไปถึงดุลการค้า (สะท้อนไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัด และ ดุลการชำระเงินอีกทีนั่นแหละครับ)

ถ้ารัฐบาลใจกล้าลอยตัวน้ำมันตั้งแต่ที่ควรจะต้องทำ (คือช่วง มค 48) ป่านนี้เราอาจจะไม่มีหนี้แสนล้านที่ว่า (เอาเงินไปทำ mega project สบายไปแล้ว) แถมยังทำให้การบริโภคน้ำมันสะท้อนความเป็นจริง ทั้งการนำเข้าและการบริโภคน้ำมันก็จะลดลงมาอย่างอัตโนมัติเอง ได้ผลดีกว่าการรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างเดียวเป็นไหนๆ

แต่ก็อย่างว่าครับ ขืนทำแบบนี้รัฐบาลอาจจะไม่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายเหมือนที่ผ่านมาก็ได้

ใีครที่อยากจะด่ารัฐบาลแบบมีหลักฐาน มีเหตุมีผลแบบเห็นๆ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ช่วยเล่นเรื่องนี้หน่อยสิครับ เพราะข้อกล่าวหาเรื่องอื่นมันดูเบาและไร้น้ำหนักเหลือเกิน

เพราะพอรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ (ในความรู้สึกของชาวบ้าน) เขาก็จะขุดเรื่องเลวร้ายของรัฐบาลขึ้นมาถล่มอยู่เสมอ ลองดูรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาก็ได้ครับว่ากี่รัฐบาลแล้วที่ต้องไปเพราะการบริหารเศรษฐกิจแล้วประสบปัญหา

ผมจึงคิดว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาวิกฤตศรัทธา เหมือนอย่างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา

คนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้โกงมากขึ้น จนกระทั่งอาจจะขายประเทศ ทั้งที่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน, เรื่องเผด็จการรัฐสภา ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เคยถูกนักวิชาการชำแหละมาในช่วง ทักษิณ 1 แล้วทั้งนั้น

ตรรกะของชาวบ้านอาจจะเป็นว่า ถ้ามีผลงานต่อให้โกงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีผลงาน(หรือผลงานลดลง) คุณก็ทำงานไม่คุ้มกับที่โกง

เพื่อให้ผมได้รับทราบข้อมูลในข้อเท็จจริงบ้าง (ไม่ใช่วิเคราะห์แต่ในกระดาษอย่างเดียว) ผมเลยได้โอกาสสอบถามแท็กซี่ในช่วงที่ผ่านมา

ก็ให้บังเอิญเสียว่า แท็กซี่ที่ผมนั่งมาทั้งสองคันนั่นเป็นแท็กซี่แบบเศรษฐกิจพอเพียง (แถมยังมีคันหนึ่งที่ได้ไปงานนายกฯพบแท็กซี่อีกต่างหาก) คือเขาไม่ค่อยประสบปัญหากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา คือยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง ข้าวของแพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น แต่ก็พยายามปรับตัว

ด้วยการปรับให้แท็กซี่ใช้ระบบก๊าซ ทั้งสองคันเลือก NGV แทนที่จะเป็น LPG แม้ว่าราคาค่าติดตั้งอุปกรณ์จะแพงกว่าและปั๊มที่ให้บริการมีปริมาณน้อยกว่า

แต่เนื่องจากเป็นระบบแบบสลับน้ำมันกับก๊าซได้ จึงไม่ค่อยมีปัญหา

ค่าน้ำมัน 400 กิโลเมตร ผมเติม gasohol 95 หมดไปเกือบ 1,000 บาท แต่ 400 กิโลเมตรสำหรับก๊าซหมดไปแค่ 200 บาทนิดๆ คิดดูเอาแล้วกันครับ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ากับข้าว ก็ใช้วิธีปรุงอาหารเอาเอง

ที่พักก็อาศัยเช่าร่วมกับเพื่อนบ้านที่รู้จักกัน (คนขับแท็กซี่ทั้งสองคันเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์) ราคาบ้านเช่า 4,000 บาท ก็จ่ายเพียง 1,000 บาท จึงไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าใดนัก

ตกลงว่าแทนที่ผมจะได้ข้อเท็จจริงว่า เศรษฐกิจย่ำแย่หรือเปล่าในสายตาชาวบ้าน (แท็กซี่) ดันไปได้รู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ใช้ประยุกต์ไปได้หมด ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปทำไร่ไถนา

เพียงแค่เราเพียงพอในการบริโภค รู้จักปรับตัวเข้ากับวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงทนทานต่อวิกฤต (resilient) แค่นี้เราก็อยู่รอดได้แล้ว




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2548    
Last Update : 28 ธันวาคม 2548 20:13:46 น.
Counter : 748 Pageviews.  


ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.