Group Blog
 
All Blogs
 

นิทาน : ภาพลักษณ์กับความหมายที่แฝงเร้น



"ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวในวิถีความเป็นอยู่ของคนเรา การแข่งขันอย่งดุเดือดในโลกธุรกิจ ทำให้ผู้ใหญ่สมัยนี้ตื่นกลัวว่าจะต้องรีบฉุดเด็กก้าวตามไปด้วย มิฉะนั้นจะรั้งท้ายอยู่ข้างหลัง ไม่ทันโลกไม่ทันยุค ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และเห็นว่าวิธีที่จะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับโลกยุคปัจจุบันคือ การให้ข้อมูลล่าสุดแก่เด็ก

กว่ามนุษย์เราจะก้าวมาสู่วิวัฒนาการทางสังคมระดับปัจจุบัน กว่าจะพัฒนามาถึงสภาวะสำนึกร่วมสมัยได้ ต้องผ่านกระบวนการและระยะเวลายาวนาน เมื่อเด็กถือกำเนิดขึ้นมาร่วมเป็นสมาชิกในสังคมยุคนี้ สภาวะสำนึกของเขาไม่ได้ต่างอะไรกับมนุษย์ที่เพิ่งถือกำเนินขึ้นมาในโลกเมื่อพันปีก่อนเท่าใดนัก เขาต้องค่อยๆก้าวผ่านกระบวนการแต่ละขั้นตอน จึงจะก้าวมาถึงสภาวะสำนึกร่วมสมัยได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาตลอดช่วงวัยเด็ก

ขณะที่สภาวะสำนึกของเด็กยังก้าวไปไม่ได้ถึงระดับนั้น เราจึงต้องคำนึงถึงข้อนี้ และเริ่มต้นจากจุดที่เด็กอยู่ ซึ่งก็คือจุดเริ่มต้นแห่งวิวัฒนาการมนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้เองสำหรับเด็กเล็ก สาระที่เหมาะสมสำหรับวัยของเขาจึงเป็นเรื่องราวจากยุคสมัยที่อยู่ห่างไกลจากปัจจุบันมากที่สุด หาใช่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือสถานการณ์ปัจจุบันของโลกไม่ หากเป็นเรื่องราวดั้งเดิมที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ นิทาน ซี่งเล่าขานถึงเส้นทางการพัฒนาตนของคนเรา และช่วยปูพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้แก่เด็ก นิทานมาจากห้วงลึกสุดของจิตมนุษย์ จึงเป็นวรรณกรรมที่เหมาะสมต่อความรู้สึกนึกคิด และหัวใจของเด็กมากที่สุด ชนิดที่ไม่มีวรรณกรรมอื่นใดเทียบได้ เป็นการนำปรีชาญาณทางจิตวิญญาณอันมั่งคั่งมาแสดงออกในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด

เราไม่ได้เล่านิทานให้เด็กฟังเพียงเพื่อเสริมจินตนาการของเด็กเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นเราก็อาจหยิบเรื่องเพ้อฝันหรือนิทานสมัยใหม่อะไรมาเล่าก็ได้ แต่ที่ต้องขุดนิทานพื้นบ้านเก่าๆ ตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณมา ก็เพราะนิทานเหล่านั้นถ่ายทอดปรีชาญาณของบรรพบุรุษของเราในยุคสมัยที่มนุษย์ยังเข้าถึงโลกทางจิตวิญญาณได้ นิทานจึงสามารถสื่อความหมายและตอบสนองความต้องการภายในของเด็กเล็กๆได้ เพราะเนื้อหาและจินตนาการของนิทานสอดคล้องกับสภาวะสำนึกของเด็ก เด็กจึงรับเนื้อหาได้ง่ายกว่า ลึกซึ้งกว่า เมื่อเราเข้าหาเขาด้วยสภาวะสำนึกของผู้ใหญ่ ด้วยสภาวะสำนึกของเราเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงภายนอกและแยกตัวออกมา ส่วนสภาวะสำนึกของเด็กเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและพาตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

คำถามสำหรับเราก็คือ เราจะรับและนำธรรมชาติของเด็กมาใช้ได้อย่างไร เราไม่ได้ต้องการให้วัยแห่งจินตนาการยืดยาวเกินไปในพัฒนาการเด็ก จนเขาไม่พร้อมที่จะก้าวสูโลกแห่งความเป็นจริงเมื่อถึงเวลาอันควร แต่เราก็ไม่ต้องการดึงเด็กออกจากสภาพธรรมชาติของเขา ละทิ้งสำนึกแห่งจินตนาการเร็วเกินไป อันจะยังผลให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่วุฒิภาวะต่ำ ชีวิตจิตใจแห้งแล้วแคระแกร็นไม่สมบูรณ์ตามวัย ตรงนี้เองที่นิทานจะช่วยได้

นิทานมิได้พาให้เด็กจมอยู่ในโลกแห่งความฝัน ไม่รู้จักความเป็นจริงของชีวิต ตรงกันข้ามเนื้อหาของนิทานถ่ายทอดความเป็นจริงและความลับของชีวิตออกมาโดยแท้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ใหญ่หลวงและลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ ทว่าอยู่ในรูปแบบของสัญลักษณ์ รูปของภาพ ซึ่งเป็นรูปที่สอดคล้องกับสภาวะสำนึกของเด็กเล็ก เด็กจึงรับรู้และเข้าใจได้ ผิดกับผู้ใหญ่เราซึ่งก้าวพ้นสภาวะสำนึกนั้นไปนานแล้ว จึงมองไม่เห็นความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในเนื้อหาของนิทาน ไม่เข้าใจว่ามันสื่ออะไรต่อเด็ก

นิทานสะท้อนความเป็นจริงออกมาเป็นภาพที่มีชีวิต ถ้าเราสามารถดำดิ่งลงในภาพเหล่านั้นและเข้าถึงมันได้ มันก็จะโปร่งใส แสดงความหมายลุ่มลึกออกมาให้เราเห็น จิตของเรานั้นเองคือเวที ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดในนิทานดำเนินไป ตัวละครแต่ละตัวล้วนอยู่ในตัวเรา เป็นส่วนหนึ่งในจิตของเรา

เด็กในช่วงวัย 3-9 ปี คิดเป็นภาพในลักษณะเดียวกับนิทานจึงสามาถเข้าใจภาพของนิทานได้โดยง่าย แต่ไม่ใช่ในระดับความคิด หากเป็นประสบการณ์ภายใน ภาพเหล่านั้นจะประทับอยู่ในจิตของเด็ก ดำรงอยู่ในมิติภายในของมนุษย์ และช่วยให้เขารู้สึกได้ถึงความลับแห่งชีวิต ต่อมาภายหลังภาพเหล่านั้นจะแปรเป็นพลังในการเข้าใจ นิทานจึงสามารถเป็นปัจจัยในการให้การศึกษาแก่จิตได้

แต่สำหรับผู้ใหญ่ไม่ใช่เช่นนั้น ผู้ใหญ่จะต้องทำความเข้าใจกับภาพโดยผ่านการคิด การนำภาพเข้ามาสู่จิตอย่างมีชีวิต แปลงโลกภายนอกในนิทานเป็นโลกภายในจิตของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นกระบวนการหันสู่ภายใน เป็นการพลิกข้างในออกข้างนอก ซ้ำสภาวะสำนึกสมัยใหม่ยังคอยเข้ามาท้วงติงเราว่า สัตว์พูดไม่ได้ มังกร หรือภูเขาเขาแก้วไม่มีจริง คนตายแล้วฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้อย่างไร เจ้าหญิงไม่มีทางนิทราไปร้อยปีได้หรอก

นอกเหนื่องจากความเป็นจริงที่เรามองเห็นแลสัมผัสได้ในโลกกายภาพแล้ว อาจจะมีความเป็นจริงในรูปแบบอื่นอีกก็ได้ ดินแดนแถบอาร์คติคหนาวจับใจ ในเวลาเดียวกับที่แอฟริการ้อนระอุฉันใด ทั้งโลกกายภาพภายนอกและโลกแห่งจิตภายในต่างก็เป็นความจริงด้วยกันฉันนั้น

สำนวนที่ว่า “สีนี้บาดตา” “เขาหัวเสีย” จะตีความตรงตามตัวอักษรย่อมไม่ได้ แต่มันสื่อความหมายต่อเรา ในทำนองเดียวกัน เราก็ไม่อาจตีความนิทานตรงตัวได้ ไม่อาจมองภาพของนิทานเป็นภาพของโลกกายภาพได้ ทว่าต้องมองเป็นภาพซึ่งสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตและจิตวิญญาณออกมาเป็นรูป ตัวละครทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสุนัขป่า เจ้าชาย หรือแม่มด ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์แทนคุณภาพหรือสภาวะบางอย่าง ไม่ใช่สัตว์หรือคน การกิน ฆ่า หรือ ขโมยก็เช่นกัน จะต้องผ่านการขบคิดใคร่ครวญถึงความหมายให้ดี ไม่อาจถือตรงๆตามนั้นได้เลย

ความงามที่บรรยายในนิทานในฐานะความงามทางกายภาพแท้จริงแล้วคือความงามภายใน ความงามของจิต ส่วนความอัปลักษณ์ขี้ริ้วคือภาพของความเลวร้าย เหตุการณ์ร้ายแรงน่ากลัวในนิทานก็คือภาพของการเอาชนะความชั่วร้าย

ความรัก การแต่งงาน การเกิดเป็นประเด็นที่ปรากฎอยู่บ่อยครั้งในนิทาน แต่จะไม่มีการใช้สำนวนโรแมนติค รักๆใคร่ๆ ไม่มีการบรรยายภาพเจ้าชายคลอเคลียไปกับเจ้าหญิง เหมือนในภาพยนตร์หรือทีวี

นิทานเป็นเพียงภาพซึ่งใช้เหตุการณ์ภายนอกมาช่วยบรรยายประสบการณ์ทางจิตที่เราได้รับ อาทิ หนูน้อยหมวกแดงก้าวออกนอกทาง เพลิดเพลินไปกับสิ่งเร้าภายนอก จึงเกิดเหตุร้ายขึ้น เคราะห์ดีที่มีนายพราน มีผู้คุ้มกันในจิตของเราคอยระแวดระวังภัยให้จึงรอดพ้นมาได้

ธรรมชาติของมนุษย์ในเด็กเชื่อมโยงกับชีวิตของโลกในระดับปฐมภูมิ ด้วยเหตุนี้เอง เด็กๆ จึงต้องมีนิทานเป็นอาหารบำรุงจิต

สตรีวัย 20 เศษคนหนึ่งเล่าให้ครูที่เคยสอนสมัยอนุบาลฟังว่า
“หนูจำได้ว่าบางครั้งพวกเราเด็กๆ ก็โกรธครู”
“ทำไมล่ะ?”
“อ้าว ก็ครูเล่านิทานให้เราฟัง แล้วเราถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าไงคะ”
“แล้วครูตอบว่าอย่างไรล่ะ?”
“ครูบอกว่า ดูไปก็แล้วกัน”
“แล้วเธออยากให้ครูตอบว่าไงล่ะ?”
“ก็ว่าเป็นเรื่องจริงน่ะซีคะ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเรื่องจริง” "

แม่แอบขอยกเอาคำนำจากหนังสือนิทาน เมฆเริงรำสายน้ำร้องเพลง มาเป็นพระเอกของ blog นี้ เพราะแม่รู้สึกว่า คำนำบทนี้แสดงเนื้อหาและความหมายของสิ่งที่แม่อยากจะเขียนได้หมดจดแล้ว

แม่ชอบหนังสือนิทานเมฆเริงรำสายน้ำร้องเพลงทั้ง 2 เล่ม มากๆ เพราะเป็นนิทานที่คำนึงถึงผู้ฟัง แบ่งกลุ่มเด็กออกเป็นตามช่วงอายุ แม่อ่านหลายๆเรื่องในนั้นแล้ว ตั้งแต่นิทานสำหรับเด็ก 3 ขวบไปจนถึง 8 ขวบ มันมีความแตกต่างในรูปแบบของเนื้อหาในนิทาน แม่ใช้หนังสือนิทานนี้เล่าให้หนูฟังเป็นประจำตั้งแต่หนู 4 ขวบ ตอนนี้หนู 6 ขวบแล้ว แม่อยากให้เค้าทำเล่ม 3 4 5 ออกมาอีกเรื่อยๆ จัง

เมฆเริงรำสายน้ำร้องเพลง ซึ่งมีอยู่ 2 เล่ม (เล่ม 1 กับเล่ม 2) เป็นนิทานที่ไม่มีภาพ แม่จะเล่าเพียงอย่างเดียวแล้วหนูก็จะจินตนาการเอาเอง ซึ่งครูก็บอกว่าดีกว่าหนังสือนิทานภาพ แต่เราก็มีหนังสือนิทานในรูปแบบอื่นๆ มากมาย แต่ของแม่ยังไงก็สู้นิทานของครูเอ๊ะ ไม่ได้ นิทานของครูเอ๊ะ (หลายๆเรื่องก็มาจากหนังสือ 2 เล่มนี้) จะมีตัวละคร(ตุ๊กตาผ้า)ประกอบด้วยเสมอๆ ไม่ใช่เพียงเท่านั้น หลายๆครั้งครูเลือกนิทานเพื่อกระตุ้นหรือชดเชยหรือปรับพฤติกรรมเด็กเป็นรายบุคคลในกรณีที่ครูเห็นว่าเหมาะสม

นิทานที่ดีเป็นเสมือนสื่อเชื่อมระหว่างตัวลูกสาวแม่กับโลกใบนี้ เป็นสิ่งปลูกฝังจริยธรรม เป็นต้นกำเนิดแห่งจินตนาการ และเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มภาพลักษณ์ของสังคมรอบตัว

หนูชอบฟังนิทานเป็นชีวิตจิตใจ หนูจะดีใจทุกครั้งที่แม่พาเข้าร้านหนังสือ แล้วทุกครั้งหนูก็จะได้หนังสือติดมือกลับบ้านครั้งละเล่มสองเล่ม และแน่นอน ส่วนใหญ่คือ "นิทาน" หนูยังอ่านไม่ออก แล้วก็คงอีกนานกว่าหนูจะอ่านได้ แต่หนูติดใจการดูหนังสือ (ต้องเรียกว่าดูมากกว่า) มาตั้งแต่เล็กๆ

นิทานสำคัญสำหรับเด็กทุกคน เป็นเสมือนอาหารสมองเลยก็ว่าได้ ที่รร.ของลูกเด็กๆ จะได้ฟังนิทานจนกระทั้งเรียน ประถม 3 กันเลยทีเดียว น่าอิจฉาจัง สมัยแม่เด็กๆ แทบไม่เคยฟังนิทานกับเค้าเล้ยยยย จินตนาการถึงได้แห้งแล้งขนาดนี้...




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2551 9:12:24 น.
Counter : 546 Pageviews.  

จังหวะนั้น สำคัญฉะนี้



การที่แม่จะฝึกให้หนูเป็นผู้รู้จักเวลาที่เหมาะสม รู้จักช่วยเหลือตัวเอง และมีความตั้งใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จได้ แม่จะต้องสร้างจังหวะในชีวิตประจำวันที่ดีให้กับหนู ซึ่งตรงนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่สำหรับแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย....

จังหวะในที่นี้ หมายถึง การทำสิ่งใดซ้ำๆ เป็นกิจวัตรในแต่ละวันอย่างเหมาะสมแก่เวลา ความสม่ำเสมอและท่วงทำนองที่ชัดเจน เข้มแข็ง เป็นเครื่องมือสร้างวินัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการสร้างวินัยแบบเผชิญหน้า โดยปกติธรรมชาติเป็นตัวมอบจังหวะให้แก่ชีวิตเราอยู่แล้ว วัน สัปดาห์ เดือน ปี การทำงานของอวัยวะต่างๆของมนุษย์ล้วนเป็นระบบที่เป็นจังหวะ จังหวะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงและปลอดภัย รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละวัน ถ้าเด็กมีจังหวะรอบๆตัวที่ดีแล้ว จังหวะภายในตัวเด็กก็จะปรับตาม เช่น เวลาทานอาหารที่เป็นเวลาทุกวัน เมื่อถึงเวลาอาหารน้ำย่อยก็จะไหลทำให้เด็กรู้สึกหิว

แต่สำหรับเรื่องจังหวะนี้เอาเข้าจริงๆ ผู้ใหญ่อย่างแม่ ยังไม่สามารถทำหลายๆเรื่องให้เป็นกิจวัตรได้เลย แม่พยายามสร้างจังหวะในชีวิตที่ดีให้หนู รวมถึงการให้หนูช่วยงานบ้าน โดยจะให้หนูช่วยคุณยายเตรียมอาหารมื้อเย็นในทุกๆวัน หลังจากกลับมาจาก รร. ซึ่งเป็นงานหนึ่งที่แม่เห็นว่า หนูทำได้ และสมควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้แต่ผลปรากฏว่า....

บนโต๊ะอาหารมื้อเย็น วันแรก
แม่ : วันนี้ฮานิสช่วยยายเตรียมอาหารหรือป่าว
ยาย : ช่วย วันนี้ฮานิสช่วยปอกผลไม้ หั่นผลไม้ จัดใส่จาน
ฮานิส : (วิ่งไปหยิบจานผลไม้มาเสิร์ฟที่โต๊ะอาหาร)
แม่ : โอ้โห หั่นเองเหรอคะ สวยจัง น่าทานมั่กๆ...

หลายวันผ่านไป
บนโต๊ะอาหาร
แม่ : ฮานิสยังช่วยยายเตรียมอาหารอยู่หรือป่าว
ยาย : ช่วยอะไรล่ะ...โน่น มาถึงกระเป๋ายังไม่ทันวางเลย วิ่งไปสนามแล้ว จับตัวยังไม่ทันเลย...
แม่ : อ้าว.....

วันที่แม่หยุดอยู่บ้าน แม่เลยถือโอกาส พาลูกสาวเข้าครัวช่วยเตรียมอาหารซะเลย แล้วเราก็ช่วยกันทำอาหารอย่างสนุกสนาน ตามภาพเลย





ตอนนี้แม่เพิ่มงานให้หนูอีก 1 อย่างคือ รองน้ำจากเครื่องกรองน้ำใส่ขวดทุกวัน ยังไม่รู้จะหนูจะทำได้ซักกี่วัน...5555

ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แม่ตั้งใจว่าเราจะปิ๊กนิคกันที่สนามหน้าบ้าน หาอะไรง่ายๆ ทำทานกัน เพื่อเป็นกิจกรรมยามว่างให้เจ้าตัวยุ่ง แล้วเสาร์ที่ผ่านมา แม่ก็ตกลงเริ่มการปิ๊คนิคสนุกๆของเราด้วย การปิ้งลูกชิ้น





จังหวะของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับชีวิตมนุษย์ แต่เรื่องนี้แม่ยังทำได้ไม่ดี แม่คงต้องเริ่มด้วยการปรับจังหวะชีวิตของตัวเองให้ได้ซะก่อน เฮ้อ....

เสาร์หน้า เรามีนัดปิ๊กนิค กันด้วยเมนู คุ้กกี้ ที่หนูเป็นคนบอกสูตรการทำคุ้กกี้ด้วยตัวเอง เอามาจากไหนน่ะหรือ....ก็จากพี่เอ๊ะ พี่หนึ่ง หนูได้ทำคุ้กกี้ที่ รร. หลายครั้งจนจำได้ขึ้นใจว่า ต้องใส่อะไรบ้าง เสาร์หน้าเราจะมาดูกันว่าสูตรทำคุ้กกี้ของลูกสาวแม่มันจะเป็นคุ้กกี้ได้จริงๆหรือเปล่า....5555




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2551 15:08:37 น.
Counter : 571 Pageviews.  

งานหัตถกรรม



สิ่งที่สำคัญสำหรับการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ คือการให้การศึกษาแก่เด็กในทุกๆด้าน ทั้ง Hands , Heart , และ Head

เราใช้ Head ในการคิดและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
เราใช้ Heart ในการเข้าใจตัวเอง ผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และความเสียสละ
เราใช้ Hands ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้เป็นจริง

วันนี้แม่เจ้ากลับมาทบทวนตัวเองว่า แม่มีครบองค์ประกอบทั้ง 3 หรือไม่ ใครบางคนพูดว่าคนในยุคนี้ หนักไปทางใช้ Head มากกว่า Hands และ Heart

แม่ต้องบ่มเพาะหนูให้มีครบทั้ง 3 ด้าน ในวัยนี้ของหนูเป็นวัยที่พัฒนาทางด้าน Hands เป็นสำคัญ ต่อเมื่อหนูผลัดฟัน น้ำนม หลังจากนั้น นอกจาก Hands แล้ว ยังเป็นช่วงที่ต้องเน้นพัฒนา Heart และเมื่อหนูอายุ 14 ปีไปแล้ว เมื่อนั้น Head จะได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

วันนี้แม่ก็เลยต้องสรรหาอะไรก็ตามที่ทำแล้วจะช่วยสนับสนุนพัฒนาการด้านการลงมือปฏิบัติของหนู (Hands) นอกจากงานที่แม่ต้องสรรหามาให้หนูช่วยแล้ว ครูบอกว่า "งานหัตถกรรม" เป็นสิ่งจำเป็น แม่ก็...เอาลูก...เอางัยเอากัน....แม่ก็เลยรื้อไม้นิตติ้ง ที่ทิ้งฝุ่นจับไว้นานขึ้นมานั่งถักอีกครั้ง ทำไมน่ะเหรอ ก็หนูเป็นวัยเลียนแบบ การที่หนูได้เห็นในสิ่งที่แม่ทำ มันจะทำให้หนูเห็นคุณค่าของงาน และตระหนักในความหมายของการได้ลงมือทำ

แม่ก็แอบมีผลงานมาโชว์ด้วย โดยมีนางแบบตัวน้อยของแม่เป็น พรีเซนเตอร์



อันนี้เป็นหมวกอีก 3 ใบ ที่แม่ถักให้หนูกับน้องอานัส



หลังจากที่หนูเห็นแม่นั่งถักนิตติ้งอย่างสบายใจ (จริงๆ ต้องบอกว่าอย่างเอาเป็นเอาตาย....555) นู๋ก็เริ่มสนใจ แล้วก็ขยับเข้ามาดู แล้วก็ถามแม่ว่า แม่ทำอะไร แม่ก็บอกว่าถักหมวกให้หนูกับน้อง แล้วหนูก็สนใจบอกว่า หนูอยากทำด้วย น้องอานัส ก็ขยับเข้ามาขอทำด้วยคน แม่ก็เลยแจกไม้นิตติ้งคนละชุด พร้อมไหมพรม แล้วหนูก็เริ่มลงมือ

แล้วแม่ก็ต้องแปลกใจที่เห็นลูกของแม่ถักนิตติ้งได้ แม่สอนหนูเพียง 2 ครั้ง หนูก็สามารถถักนิตติ้งตามลายง่ายๆที่แม่บอกได้ หนูตั้งอกตั้งใจทำอยู่ซักพัก ได้หลายแถวพอสมควร แล้วหนูก็บอกว่าพอก่อนนะแม่ 5555 แม่เดาว่าหนูคงเบื่อ เพราะมันยากเกินไปสำหรับหนูที่จะทำจนเป็นรูปเป็นร่างได้

แล้วก็มีอีกหลายครั้งที่เวลามีเย็บนั่นนี่ แล้วหนูก็เข้ามาขอทำ แม่ก็จะตัดเศษผ้า พร้อมด้ายกับเข็ม ให้หนูเย็บเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วแต่ว่าวันนั้นหนูจะอยากทำอะไร หนูก็ทำมันได้เป็นรูปเป็นร่าง

งานหัตถกรรมพวกนี้จะฝึกให้ลูกแม่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดให้บรรลุผลสำเร็จ (หรือในทางภาษาการศึกษาเค้าเรียกกันว่า Will) คนรุ่นแม่ มีทักษะในการใช้ Head เพื่อคิด คำนวณสิ่งต่างๆ แต่หลายคนขาด Will หรือ ทักษะในการใช้ Hands ทำสิ่งต่างๆให้บรรลุผลสำเร็จ แม่คงต้องเริ่มให้หนูตั้งแต่หนูยังตัวเล็กๆ แบบนี้เพื่อมันจะได้เติบโตพร้อมกับหนูต่อไปจนถึงวันที่หนูต้องใช้มัน......




 

Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2551 10:44:29 น.
Counter : 538 Pageviews.  

ของเล่นของหนู



แม่ได้รับคำแนะนำว่า ควรค่อยๆ ให้หนูเลิกเล่นของเล่นพลาสติก ด้วยการไม่ซื้อเพิ่ม และค่อยๆ เก็บของเล่นพลาสติกไปทีละชิ้นๆ ด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ของเล่นพลาสติกเป็นของเล่นสำเร็จรูป เด็กในยุคนี้จะเล่นของเล่นลักษณะนี้เป็นส่วนมาก ซึ่งนั่นเป็นผลจากความเจริญของโลกในปัจจุบันซึ่งทำให้ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้ในทุกรูปแบบ รวมไปถึงการสร้างของเล่นตามจินตนาการของเด็กให้มีตัวตนขึ้นมาจริงๆ ซึ่งของเล่นที่สำเร็จรูปเหล่านี้มาทดแทนการใช้จินตนาการของเด็ก เมื่อเด็กมีสิ่งที่ต้องการอยู่ตรงหน้า จินตนาการจึงไม่จำเป็น สมัยก่อน เด็กจำเป็น ต้องนึกเอาเองว่า ใบไม้ กะลา เศษไม้ หิน กรวด ทราย หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็น จาน ชาม ช้อน หรืออาหาร แต่ปัจจุบัน ไม่ต้องแล้ว เด็กมี จาน ชาม ช้อน หม้อ กระทะ ทุกขนาด ด้วยวัสดุที่แตกต่างกัน แล้วแต่จะหาซื้อ จินตนาการของเด็กไม่ถูกใช้อีกต่อไป”

คำแนะนำต่อไปก็คือ ให้เด็กได้เล่นของเล่นธรรมชาติให้มากที่สุดค่ะ แล้วคุณแม่จะเห็นเองว่า ใบไม้ใบใหญ่สามารถกลายเป็นชามใบโตได้

ครูยังเล่าถึงสภาพภายในห้องเรียนของลูกซึ่งมีแต่ของเล่นธรรมชาติ เช่น ไม้ ลูกสน ลูก อะไรต่ออะไร แม่ก็จำชื่อไม่ได้ ผ้าสีอ่อนสดใส ตุ๊กตาที่ทำจากผ้า แล้วก็เก้าอี้ของเด็กๆ แต่ครูก็เล่าว่า ของเล่นเพียงเท่านี้ เด็กสามารถเล่นได้ทุกอย่าง เด็กสร้างจรวดได้ สร้างรถได้ สร้างเครื่องบินได้ บางกลุ่มก็สร้างบ้าน มีพ่อ แม่ ลูก บางที มีสัตว์เลี้ยงได้ด้วย

แม่เริ่มทำตามคำแนะนำ ปล่อยให้ลูกได้เล่นกับธรรมชาติมากขึ้น สนามที่บ้าน กลายเป็นสถานที่โปรดของหนู กับน้องอานัส ทั้งคู่เล่นกันอย่างสนุกสนานทุกวัน เลอะเทอะ มอมแมม แล้วไม่นาน แม่ก็เห็น ใบไม้ใหญ่กลายเป็นชาม ใบไม้ใบเล็กกลายเป็นสตางค์ เศษไม้กลายเป็นช้อน ทรายกลายเป็นข้าว ดิน+น้ำ กลายเป็นอาหาร ใบตองกลายเป็นจาน ก้านกล้วยกลายเป็นม้า ฯลฯ ของเล่นพลาสติกค่อยๆ หายไปจากบ้านเรา จริงๆ มันก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็ยังอยู่ตรงนั้น แต่ดูเหมือนว่า ลูกแม่จะไม่ได้สนใจมันมากกว่า....

วันนี้แม่แอบเห็นหนูกับน้องอานัส เล่นกันอย่างสนุกสนาน ก็เลยคว้ากล้องคู่ใจไปถ่ายภาพเอาไว้ สถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งที่แม่ดูแล้วก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

แม่ : อันนี้อะไรอ่ะลูก
ฮานิส : จรวดค่ะ
แม่ : เหรอคะ แล้วมันทำงานยังงัย
ฮานิส : (กระโดดขึ้นไปนั่งให้ดูว่าตรงนี้เป็นที่นั่งคนขับ)
แม่ : อืม จรวดจริงๆ ด้วย



ยังมีอีกหลายๆ ครั้งที่หนูทำของเล่นของหนูเอง หรือบางทีหนูทำไม่ได้แต่มีไอเดียว่าจะทำอย่างไร หนูก็ชวนแม่ทำของเล่น แล้วเราก็ทำของเล่นด้วยกัน วันนั้นหนูอยากทำกลอง แล้วก็บอกแม่ว่า จะทำมันอย่างไร แต่หนูทำเองทั้งหมดไม่ได้ แม่ก็เลยช่วยหนูทำกลอง ตามแบบที่หนูคิด เราก็ได้กลองมาหน้าตาแบบนี้....



ซึ่งหนูก็ช่วยแม่ทำไม้ตีกลองด้วยตัวเอง หน้าตาแบบนี้เลย



แม่ยังมีภาพของเล่นที่ครูที่รร.ให้หนูช่วยแม่ทำ ในงานวันเก็บเกี่ยวที่รร. "ตุ๊กตาฟาง" เรานั่งทำตุ๊กตาฟางด้วยกัน ได้มา 2 ตัว (เอาไว้แม่จะถ่ายรูปมาลงนะจ๊ะ) แต่วันนี้มีภาพตุ๊กตาฟาง จากซุ้มตุ๊กตาฟางในวันงานของรร.มาให้ดูด้วย



สำหรับแม่ ประสบการณ์การทำงานสอนให้แม่รู้ว่า จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญมากในการดำเนินชีวิต ถ้ามีทางใดที่แม่จะสามารถหล่อเลี้ยงจินตนาการของลูกแม่ไว้ได้ แม่คงไม่ปฏิเสธที่จะทำมันอย่างแน่นอน..............




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2551 9:54:20 น.
Counter : 889 Pageviews.  

การศึกษาอันใกล้ของหนู



ในงานวัน open day ของโรงเรียน แม่ก็ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนในวันที่หนูโตขึ้นกว่านี้ แม่ก็เลยเก็บภาพที่ถือว่าแปลกตาสำหรับแม่ มาบันทึกไว้ในนี้ด้วย

สูตรคูณ.....แม่เคยเห็นแต่เด็กท่องสูตรคูณแบบปากเปล่า หรือสมัยนี้เค้าเป็นอย่างไรกันบ้างแล้วแม่ก็ไม่รู้ได้ แต่สูตรคูณที่นี่ แม่ว่าแปลกและไม่เคยเห็นที่ไหน.....

หลังจากที่แม่ถามไถ่เอากับผู้ปกครองและครูของรร. แม่ก็ได้ความว่า เด็กๆจะถูกสอนในวิชาคณิตศาสตร์ ว่าตัวเลขต่างๆคือจังหวะที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ และสูตรคูณก็เช่นกัน สูตรคูณถือเป็นจังหวะของตัวเลขที่มีจังหวะเท่าๆกัน ซึ่งจังหวะเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วในธรรมชาติ สูตรคูณที่นี่ จึงมีรูปร่างแปลกตา และกลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตแบบต่างๆ ตามจังหวะของตัวเลข ทั้งรูป ดาว รูปหกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม สามเหลี่ยม เส้นตรง......



มันคือจังหวะของจำนวนที่ห่างเท่าๆ กัน แม่ดูภาพนี้อยู่นาน และลองโยงเส้นสายไปบนแท่นที่ผู้ปกครองได้ทำเอาไว้ให้เราได้ทดลองกัน



ศิลปะ และดนตรี.....ลูกของแม่จะได้เรียนศิลปะและดนตรีเป็นเสมือนวิชาหลักในโรงเรียน ครูและผู้ปกครองที่มีความรู้ ได้กรุณาบอกกล่าวให้แม่รู้ว่า “เราจะใช้ศิลปะและดนตรีเป็นสื่อเพื่อให้เด็กรู้จักและเข้าใจตัวเองและผู้อื่น เนื่องจากศิลปะและดนตรี เป็นศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนที่สุดที่มนุษย์จะเข้าถึงได้ ดังนั้นการมีพื้นฐานศิลปะและดนตรี จะช่วยให้บุคคลผู้นั้นมีจิตใจอ่อนโยน เข้าใจตัวเองและผู้อื่นได้ดี”

การที่เด็กได้ได้รับการปลูกฝังเรื่องศิลปะและดนตรีตั้งแต่เล็กๆ จึงทำให้เด็กๆที่นี่มีทักษะทางศิลปะและดนตรีที่ดี แม่เก็บภาพผลงานของพี่ๆ ที่โรงเรียนของหนูไว้ด้วย....





แต่ครูก็ได้ย้ำและเตือนแม่ ซึ่งแม่ชอบประโยคนั้นมากและจำได้ขึ้นใจ
“คุณแม่อย่าหลงประเมินเด็กจากเพียงผลงานสุดท้ายที่คุณแม่เห็นนะคะ ไม่ว่าผลงานของเด็กแต่ละคนจะสวยเพียงใด เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ กระบวนการและช่วงเวลาที่เด็กได้ลงมือปฏิบัติต่างหากค่ะ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ครูท่านนั้นได้กรุณาขยายความต่อไปว่า เด็กแต่ละคนมีศักยภาพแต่ละด้านต่างกัน การทำงานใดๆ มันสำคัญตรงที่เด็กได้พยายามทำมันอย่างเต็มที่และมีความสุขกับมันหรือไม่ มากกว่าที่เราจะประเมินเพียงแค่ผลงานที่ได้ ซึ่งตรงนี้คุณครูกำลังมองข้ามผลงานของเด็กไปและให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเด็ก นั่นคือ เจตจำนงค์ ในการทำงานใดๆ อย่างสุดความสามารถ ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในชีวิตของแกในวันข้างหน้า....

สุดท้ายเป็นภาพเด็กๆ รุ่นพี่ๆ ของหนูเล่นดนตรี นี่เป็นภาพจากงานวันเก็บเกี่ยว ขอยืมมาเป็น ตัวอย่างในหน้านี้หน่อยแล้วกัน....



แม่แอบบดูผลงานของพี่ๆ กลุ่มนี้มาหลายครั้ง ชอบมากเพราะเค้าเล่นได้ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล แล้วก็เล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้นซะด้วย ถามไถ่เอากลับคุณครู ก็ได้ความว่า เด็กๆ จะได้เรียนดนตรีตั้งแต่ ป. 1 โดยเริ่มจากขลุ่ย แม่ก็แอบดีใจว่า ปีหน้าลูกแม่ก็จะได้เรียนดนตรีกับเค้าแล้ว อยากฟังเสียงขลุ่ยจากลูกสาวแม่จัง....




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2551 15:29:02 น.
Counter : 1265 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

แม่ของลูกสาว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แม่ของลูกสาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.