กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

การเปลี่ยนแปลงของไทยยูเนี่ยนจากการผลักดันของคนทั่วโลก มีผลอย่างไรต่อมหาสมุทร



จากการทำงานรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกรีนพีซในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเสียงสนับสนุนจากคนทั่วโลกราว 700,000 คน ที่ร่วมกันผลักดัน ในที่สุด วันนี้เรามีข่าวดีมาบอก …

คนทั่วโลกสามารถโน้มน้าวให้บริษัทปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการอุตสาหกรรมของตนได้แล้ว

ไทยยูเนี่ยน อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของแบรนด์ทูน่ากระป๋อง John West, Chicken of the Sea, Petit Navire, Mareblu, และ Sealect (ซีเล็คทูน่า) ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจของตน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการที่ปกป้องแรงงานประมง ลดการทำการประมงแบบทำลายล้าง และสนับสนุนการประมงแบบยั่งยืนมากขึ้น การเดินหน้าครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับบริษัทไทยยูเนี่ยน อีกทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณไปถึงอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด ให้ปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติในอุตสาหกรรมของตนให้ดีขึ้นทั้งต่อมหาสมุทรและต่อแรงงาน

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทผลิตทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลก โดยในทุก 5 กระป๋องจะมี 1 กระป๋องที่ผลิตขึ้นโดยไทยยูเนี่ยน กรีนพีซรณรงค์ผลักดันเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การทำรายงานการจัดอันดับปลาทูน่ากระป๋องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลด้านความยั่งยืนและเป็นธรรมของแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องต่าง ๆ รวมถึงการประเมินจากบริษัทอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต และแบรนด์อื่น ๆ ที่รับซื้อผลิตภัณฑ์จากบริษัทนั้น ๆ

เกือบสองปีที่กรีนพีซเริ่มงานรณรงค์ระดับโลก เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนนำพาอุตสาหกรรมทูน่าออกจากวงจรของการใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพ และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพื่อแสวงหากำไร จากการร่วมมือขององค์กรเครือข่าย สหภาพ ประชาชนที่ใส่ใจถึงปัญหา และผู้สนับสนุนกรีนพีซ เราสามารถผลักดันให้บริษัทเดินหน้าสู่อนาคตที่สดใสกว่า เพื่อมหาสมุทร แรงงาน และทุกชุมชนที่ต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรือออกปฏิบัติการเปิดโปงการประมงที่ทำลายล้างในมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต การประชุมของกลุ่มอุตสาหกรรม และที่หน้าสำนักงานใหญ่ ผู้คนหลายหมื่นทั่วโลกรวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงาน  ร่วมผนึกกำลังกับกรีนพีซ เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ เมื่อเรารวมพลังกันเราสามารถผลักดันบริษัทต่าง ๆ ที่รับซื้อวัตถุดิบจากไทยยูเนี่ยน ให้บริษัทเหล่านั้นเลือกขายสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น และปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงานประมงและมหาสมุทรของเรา ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญคือ ความโปร่งใสในการดำเนินการขนถ่ายสินค้ากลางทะเล ซึ่งเป็นตัวการหลักที่เอื้อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิแรงงาน

ไทยยูเนี่ยนเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

จากการผลักดันอย่างต่อเนื่องของคนทั่วโลก บริษัทไทยยูเนี่ยนจะเริ่มดำเนินการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจของตนทั่วโลก ดังนี้

  1. ลดจำนวนอุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs) ที่ใช้อยู่ทั่วโลกในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทลงโดยเฉลี่ยร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2563 ในขณะที่ เพิ่มผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องที่มาจากการประมงที่ไม่ใช้อุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs)ขึ้นสองเท่าเข้าสู่ตลาดทั่วโลก ในเวลาเดียวกัน อุปกรณ์ล่อปลา(fish aggregating devices-FADs)เป็นวัสดุลอยน้ำที่สร้างระบบนิเวศขนาดเล็ก และส่งผลให้มีการจับสัตว์น้ำพลอยได้ อย่างเช่น ฉลาม เต่าทะเล และปลาทูน่าวัยอ่อน

  2. ปรับเปลี่ยนสัดส่วนที่มีนัยสำคัญของปลาทูน่าที่มาจากการประมงเบ็ดราว (longline caught tuna)เป็นปลาทูน่าที่มาจากการประมงด้วยเบ็ดตวัด (pole and line or troll-caught tuna) ภายในปี พ.ศ.2563 และดำเนินการตามข้อกำหนดอย่างเข้มแข็งเพื่อลดการการจับสัตว์น้ำพลอยได้(bycatch) กองเรือประมงเบ็ดราวทูน่ามีความเสี่ยงในการจับสัตว์ทะเลที่ไม่ใช่เป้าหมาย เช่น นกทะเล เต่าทะเลและฉลาม

  3. ขยายระยะเวลาห้ามการขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล (at-sea transshipment)ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดจําหน่ายวัตถุดิบ(suppliers)จะปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่อย่างเคร่งครัด  การขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล(at-sea transshipment)ช่วยให้เรือประมงออกเรือสู่ทะเลแต่ละครั้งเป็นเวลาหลายเดือนหรือนับปี และเปิดช่องให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย

  4. รับรองว่าจะมีผู้สังเกตการณ์อิสระบนกองเรือประมงเบ็ดราว (longline) ที่มีการขนถ่ายสัตว์น้ำระหว่างเรือในทะเล(at-sea transshipment) ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบและรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานประมงที่อาจเกิดขึ้น และรับรองว่าจะมีการสังเกตการณ์โดยบุคคลหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ครอบคลุมร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกองเรือประมงเบ็ดราวทูน่าที่จัดส่งให้บริษัททั้งหมด

  5. มุ่งสู่ระบบการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบแบบดิจิตอล(Digital Traceability) อย่างเต็มที่ โดยสาธารณชนสามารถติดตามได้ว่าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป่องของตนมาจากเรือประมงลำใดและใช้วิธีการประมงแบบใด

  6. พัฒนาข้อกำหนดการปฏิบัติที่ครอบคลุมในทุกกองเรือประมงตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานประมงจะไม่ถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม และไม่เป็นธรรม โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 นี้

ในปี พ.ศ.2561 จะเริ่มมีการตรวจติดตามที่เป็นอิสระโดยองค์กรผู้ให้การรับรอง(third party independent audits) และในขณะเดียวกัน กรีนพีซจะติดตามผลเชิงบวกที่จะเกิดขึ้น

บริษัทจัดซื้อปลาทูน่าอื่นละว่าไง?

ไทยยูเนี่ยนไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เพียงลำพัง ไม่เพียงแต่กองเรือประมงที่จัดหาปลาจะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์นี้อย่างเคร่งครัดเท่านั้นถึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้ แต่ผู้จัดซื้อและขายทุกคนจะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน และตระหนักว่าการประมงปลาทูน่าอย่างไม่รับผิดชอบและไม่เป็นธรรมนั้นไม่เหมาะสม ให้การสนับสนุนการประมงที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมงพื้นบ้านหรือประมงขนาดเล็ก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในนโยบายการจัดหาวัตถุดิบที่ถูกที่ควร ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะต้องเลือกซื้อปลาทูน่าแบบไหนถึงจะดี แต่ทุกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าควรจะถูกจัดหามาอย่างรับผิดชอบ เพื่อเป็นการต่อกรกับวิกฤตการประมงเกินขนาด

เจตนารมณ์ของไทยยูเนี่ยนนั้นไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมประมงเท่านั้น แต่เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของคนทั่วโลกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อหยุดยั้งอุตสาหกรรมที่เหนือการควบคุม จากการทำร้ายระบบนิเวศทางทะเลและชีวิตของผู้คน เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้บริษัทเหล่านี้รับผิดชอบและทำในส่วนที่เราสามารถทำได้ เพื่อลดวิกฤตมหาสมุทร

ซาราห์ คิง นักยุทธศาสตร์อาวุโสด้านมหาสมุทร กรีนพีซแคนาดา

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59831


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2560 17:03:57 น.   
Counter : 1076 Pageviews.  


รับสมัคร "อาสาสมัครกรีนพีซ" (Greenpeace Volunteers) ด่วน! 70 คน



รับสมัคร "อาสาสมัครกรีนพีซ"
Greenpeace Volunteers

เปิดรับสมัคร  วันนี้ - 7 สิงหาคม 2560
รับจำนวนจำกัดเพียงแค่ 70 คนเท่านั้น


กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงจากการพัฒนาที่ไร้ขีดจำกัดในภูมิภาค ช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา เราผลักดันผู้มีอำนาจตัดสินใจในภูมิภาค โดยเรียกร้องให้นำระบบพลังงานหมุนเวียนมาใช้  ยุติการทำลายผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ในอินโดนีเซีย เป็นประจักษ์พยานและเปิดโปงมลพิษทางน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท้าทายบริษัทอุตสาหกรรม ในทางกฎหมายเพื่อรักษาระบบอาหารของเราให้ยั่งยืน และทำงานกับกลุ่มองค์กรต่างๆ อย่างกว้างขวางเพื่อยุติการทำประมงผิดกฎหมาย


เราเชื่อว่าพลังของอาสาสมัครนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อโลกของเราด้วยการลงมือทำ โดยส่งเสริมให้อาสาสมัครรวมพลังคิดค้นอย่างสร้างสรรค์ และร่วมลงมือทำ ผ่านศักยภาพของบุคคลและความมุ่งมั่นของการทำงานเป็นทีม รวมถึงการร่วมกันขับเคลื่อนงานอาสาสมัครของประเทศไทยสู่ระดับสากล

งานรณรงค์และกิจกรรมที่อาสาสมัครจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นในปี 2560 นี้ จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก อาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ  

ถ้าคุณมีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถจัดสรรเวลาเพื่อทำกิจกรรมอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง ดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ กิจกรรมนี้เหมาะกับคุณ เพื่อฝึกฝน เข้าใจปัญหา และเริ่มต้นที่จะลงมือทำ โครงการนี้เหมาะกับคุณ  สมัครเลย!

 คุณสมบัติ

  • อายุ 18  ปีขึ้นไป
  • มีทักษะการสื่อสาร และสามารถทำงานเป็นทีม
  • มีวินัย ความมุ่งมั่น มีความเป็นจิตอาสาและทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน
  • สามารถเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี
  • มีความสามารถในการทำงานผ่านเครื่องมือออนไลน์สามารถเดินทางออกต่างจังหวัด ลงพึ้นที่  หรือเดินทางต่างประเทศได้
  • ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง
  • ไม่มีประวัติอาชญากรรม

หน้าที่ของอาสาสมัคร

  • สามารถร่วมวางแผนกิจกรรมและร่วมทำงานเป็นทีมได้
  • สามารถเข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศอาสาสมัครในกรุงเทพมหานคร แบบ 1 วันเต็ม ในวันที่ 19 หรือ 20 สิงหาคม 2560
  • สามารถร่วมเดินทางเข้าค่ายอาสาสมัครในต่างจังหวัด เป็นเวลา 2 คืน 3 วัน ในวันที่ 25-27 สิงหาคม 2560 โดยสถานที่นัดพบกรุงเทพมหานคร

สิ่งที่องค์กรจะจัดให้

  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร ในระหว่างปฏิบัติภารกิจและทำกิจกรรม
  • ประสานงานโครงการของกรีนพีซประจำแต่ละทีมคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติภารกิจของอาสาสมัคร
  • ประกันอุบัติเหตุในระหว่างปฏิบัติภารกิจ
  • ค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 1,000 บาทต่อครั้ง เบิกได้ตามจริง

ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 18 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:34:05 น.   
Counter : 542 Pageviews.  


ข้อคิดเห็น: อะไรคือเบื้องหลังความเฟื่องฟูของพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน



บทความ โดย Erin Newport


© Greenpeace / Zhiyong Fu

อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของประเทศจีนนั้นถูกวางโครงการไว้ว่าจะขยายตัวเพิ่ม 5 เท่า ภายในปี 2573 โดยจะแทนที่แหล่งพลังงานฟอสซิลเทียบเท่ากับประมาณ 300 ล้านตันของมาตรฐานปริมาณถ่านหิน และจะสามารถประหยัดน้ำได้มากเทียบเท่ากับความต้องการของคน 200 ล้านคน ตามรายงานล่าสุด

แต่กระนั้นการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของจีนยังคงไม่สิ้นสุด

ปริมาณการใช้พลังงานถ่านหินของจีนตกลงเป็นเวลา 3 ปี อย่างต่อเนื่อง และส่วนแบ่งของพลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 13 เมื่อปีที่แล้ว สงสัยหรือไม่ว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์นี้?

1. ศักยภาพในการลงทุน

ในปี 2558 ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นมากถึง 0.31 ล้านล้านหยวน ของ GDP ประเทศจีน ตัวเลขนี้คาดว่าจะกระโดดขึ้นสูงถึง 1.57 ล้านล้านหยวนภายในปี 2573 หรือประมาณร้อยละ 1.1 ของ GDP ประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างปี 2559-2573 มีการคาดการณ์ว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นจะเรียกเงินลงทุนได้มากถึง 5.4 ล้านล้านหยวน หรือมากกว่า 750 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน

2. เครือข่ายสายส่งที่ดี

ในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ รัฐบาลของจีนได้ทุ่มเททรัพยากรไปกับการต่อกรกับปัญหาขาดแคลนพลังงาน ระหว่างปี 2556-2558 รัฐบาลได้ใช้งบประมาณทั้งหมด 24.78 พันล้านหยวนในการขยายให้ไฟฟ้าเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

ขณะที่มีเพียงร้อยละ 16.5 ของเงินที่ใช้ไปกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์นอกสายส่ง แต่เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์นั้นมีอัตราส่วนมากถึงร้อยละ 43.4 ในการเข้าถึงไฟฟ้าในประเทศจีนในช่วงปีดังกล่าว

สำหรับประเทศจีน พลังงานแสงอาทิตย์นอกสายส่งได้แสดงให้เห็นว่าเป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุดในการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน และประสบการณ์ของจีนนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศอื่นทั่วโลก

3. เพิ่มงานอีกครึ่งล้าน

ในปี 2558 อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นได้สร้างงานโดยตรงเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนราว 450,000 คน ภายในปี 2573 ตัวเลขนี้ถูกตั้งเป้าไว้ว่าจะกระโดดขึ้นอีก 4 เท่า หรือราว 2.4 ล้านคน ในทางเดียวกัน ตัวเลขของการจ้างงานทางอ้อม (เช่น การขนส่ง และการผลิตวัตถุดิบ) ก็ถูกตั้งไว้ว่าจะทวีคูณเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านตำแหน่งในปี 2558 เป็น 5.3 ล้านตำแหน่งในปี 2573

นั่นหมายความว่า ภายในปี 2573 อุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนจะสร้างงานให้กับคนราว 7.7 ล้านคน หรือมากกว่าประชากรประเทศไอร์แลนด์ (ซึ่งมีน้อยกว่า 5 ล้านคน)

4. ผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม

การแทนที่พลังงานถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ปล่อยมลพิษนั้นสร้างผลประโยชน์ทางการเงินได้ใหญ่หลวง

ในรายงานของกรีนพีซเอเชียตะวันออกยังพบว่า ปี 2558 พลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีนนั้นเพิ่มจำนวนเงินราว 0.16 หยวน กิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh) ในด้านการให้ผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การลดการปล่อยมลพิษ และการลดค่าใช้จ่ายสุขภาพสาธารณะ

ภายในปี 2573 มูลค่าผลประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมภายนอกจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ของจีน คาดว่าจะเหยียบ 0.3 หยวน ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh) ซึ่งหมายความว่าผลลัพธ์ของการเปลี่ยนจากพลังงานจากฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนนั้นจะเพิ่มขึ้นราว 456 พันล้านหยวน (66พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

5. วิกฤตน้ำ

เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนนั้นใช้น้ำจำนวนมหาศาล และเป็นน้ำที่มาจากบริเวณแหล่งน้ำที่หายาก จึงทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินอาจเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในทางตอนเหนือของจีน

ในปี 2558 การพัฒนาพลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นลดการใช้น้ำไปได้ราว 0.57 พันล้านลูกบาศก์เมตร และภายในปี 2573 มีการคาดการณ์ว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์จะช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 3.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือเทียบเท่ากับความต้องการน้ำพื้นฐานของคนจำนวน 200 ล้านคน

พลังงานลมและแสงอาทิตย์ช่วยให้ภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนประหยัดน้ำได้มากถึง 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่หาแหล่งน้ำได้ยากที่สุดของจีน

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/59240


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:37:14 น.   
Counter : 779 Pageviews.  


รับสมัครนักกิจกรรมกรีนพีซ (Greenpeace Activists)





รับสมัคร นักกิจกรรมกรีนพีซ
Greenpeace Activists

เปิดรับสมัคร  30 มิถุนายน - 30 กรกฏาคม 2560
รับจำนวนจำกัดเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น

หากคุณมีใจรักสิ่งแวดล้อม มีจิตอาสา ชอบความท้าทาย การผจญภัย พร้อมรับความเสี่ยง และเชื่อมั่นในการใช้แนวทางการดำเนินงานอย่างสันติวิธี ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ถ้าคุณคือคนที่ใช่ สมัครเป็นนักกิจกรรมกับเราเลย!


วัตถุประสงค์ของการเปิดรับนักกิจกรรมกรีนพีซ

กรีนพีซประเทศไทยมุ่งพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของนักกิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนงานด้านอาสาสมัครเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีทักษะและความสนใจในการค้นคว้า สำรวจ วิจัย สืบค้นข้อมูล และทำกิจกรรมรณรงค์ด้วยการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี ส่งเสริมการถกเถียงที่เปิดเผยและเสนอข้อมูลทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสังคม เพื่อเพิ่มความเข้มข้นและคุณภาพของการถกเถียงของสาธารณชนในการเปิดโปงและหยุดยั้งอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม 

โดยทักษะของนักกิจกรรมที่จะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นนี้ จะเป็นทักษะด้านการสำรวจ สืบค้นข้อมูล และ การรณรงค์ด้วยการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี

คุณสมบัติ

  • อายุ 20 ปีขึ้นไป มีความรู้ความเข้าใจงานรณรงค์ของกรีนพีซ
  • กล้าตัดสินใจ - กล้าแสดงออก
  • พร้อมทำกิจกรรมด้วยการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี 
  • พร้อมรับความกดดัน กิจกรรมท้าทาย และพร้อมรับความเสี่ยง
  • มีวินัย สามารถทำงานเป็นทีม มีความเป็นจิตอาสาและทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน
  • มีการจัดสรรเวลาที่ดี สามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  • สามารถเดินทางออกต่างจังหวัด ลงพึ้นที่  หรือเดินทางต่างประเทศได้
  • ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่มีประวัติอาชญากรรม 

หมายเหตุ: ถ้าคุณเป็นหนึ่งคนที่สามารถจัดสรรเวลาได้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะเข้าร่วมงานกับกรีนพีซได้อย่างต่อเนื่อง 1 ปีอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง อย่ารอช้าที่จะเข้าร่วมเป็นนักกิจกรรมกรีนพีซ

โดยกรุณากรอกแบบฟอร์มความยาวไม่เกิน 10 นาทีนี้ ข้อมูลของคุณจะถูกเก็บรักษาเป็นความลับ ด้วยนโยบายความเป็นส่วนตัว

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/getinvolved/volunteer/Greenpeace-Activists


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 15:39:15 น.   
Counter : 5086 Pageviews.  


มรดกแห่งเจริญ 13 ปีแห่งการจากไป ก่อกำเนิดอีกหลายร้อยความเข้มแข็งในชุมชนประจวบฯ



บทความ โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

เสียงปืน 9 นัดจากปืนสองกระบอก ในคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ที่ปลิดชีวิตนักสู้เพื่อชุมชนที่ชื่อเจริญ วัดอักษร
 ยังคงดังก้องในใจชาวประจวบคีรีขันธ์ และชาวไทยผู้รักสิ่งแวดล้อมทั้งประเทศ ปีนี้เป็นปีที่ 13 แล้วที่เจริญ วัดอักษร นักสู้เพื่อชุมชนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้จากไป การสูญเสียนักสู้คนสำคัญของประจวบฯ ไม่ได้นำมาสู่จุดสิ้นสุดของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่กลับยิ่งก่อให้เกิดนักสู้แห่งประจวบคีรีขันธ์อีกหลายร้อยคน สานต่อความเข้มแข็งในชุมชนไม่เสื่อมคลาย

"ตายสิบจักเกิดแสน" เมื่อก่อนก็เคยแค่ได้ยิน แต่หลังจากที่เจริญตาย เราได้เห็นจากปรากฎการณ์จากประสบการณ์ของตนเองว่า หลายคนเกิดแรงบันดาลใจและศรัทธาการจากเสียชีวิตของเจริญ ทำให้เขาลุกขึ้นมาเป็นนักต่อสู้ ทำให้เราได้รู้ว่าการตายของเจริญไม่สูญเปล่า ไม่ได้ตายแล้วไม่มีคุณูปการใด หรือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ของชุมชน แต่เป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนได้เข้มแข็ง ชื่นชม ศรัทธา และสร้างพลังในการต่อสู้ต่อไป” คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร กล่าว

20 กว่าปีที่แล้ว ชายชื่อเจริญ วัดอักษร ร่วมกับชาวบ่อนอก ทับสะแก บ้านกรูด และชุมชนอื่น ๆ ในประจวบคีรีขันธ์ ได้ต่อสู้กับการคุกคามของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งหากปราศจากจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ในวันนั้น ในทุกวันนั้นประจวบฯ ที่เรารู้จักกันอาจกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่คล้ายกับระยองไปแล้ว ผู้ปกป้องสิทธิชุมชน ก็คือคนธรรมดาทั่วไปไม่ต่างจากพวกเราทุกคน บ้างก็เป็นเกษตรกร ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า สตรี นักศึกษา หรือพระสงฆ์  แต่พวกเขามีจิตสำนึก ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อป้องป้องสิ่งแวดล้อม ชุมชน และธรรมชาติที่แวดล้อมเราอยู่ โดยลุกขึ้นต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐและนายทุนที่เข้ามารุกรานสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อผลประโยชน์อันมหาศาลจากทรัพยากรแก่คนเฉพาะกลุ่ม นับแต่วันที่เจริญยังคงต่อสู้ จวบจนวันนี้ ความเข้มแข็งของชุมชนคือมรดกชิ้นสำคัญที่เจริญมอบไว้ให้กับชุมชน

คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ตัวแทนกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร

“เจริญมักพูดเสมอว่า ถ้าชุมชนเข้มแข็ง เราก็จะเข้มแข็งด้วย กล้าที่จะลุกขึ้นมาคัดง้างกับนโยบายรัฐและกลุ่มทุนที่ไม่เข้าท่า ไม่เป็นธรรม หลังจากที่เจริญเสียชีวิต เราไม่ได้หยุดนิ่ง มีคนที่บ้างหวาดกลัวจากการตายของเจริญ บ้างก็หยุดการต่อสู้ไป แต่ท่ามกลางการต่อสู้ ก็เหมือนกับการถ่ายเลือดเก่าใหม่ ยังมีเลือดใหม่มาแทนที่และต่อสู้ต่อไป” คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าวเสริม

เมืองปลอดถ่านหิน เหตุผลที่ชาวประจวบฯเสียสละชีวิตเพื่อปกป้อง

พี่น้องชาวประจวบฯ ราว 200 คน จากอำเภอทับสะแก บ่อนอก อ่าวน้อย คลองวาฬ คั่นกระได และอีกหลายชุมชน ที่เดินทางมาร่วมงานรำลึกเจริญ วัดอักษร ในวันนี้ คือผู้สืบสานเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร นอกจากการแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวด้วยเสื้อสีเขียวที่มีภาพหน้าพี่เจริญแล้ว อีกสิ่งที่เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน คือความมุ่งมั่นในการปกป้องวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมของตน

“ทับสะแกเป็นพื้นที่ที่มีกฟผ. เข้ามาซื้อที่ดินประมาณสี่พันกว่าไร่ ฝั่งตะวันอออกติดทะเล มีประมงพื้นบ้านอยู่ตลอดแนว มีมะพร้าวที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดของประเทศไทย คือความมั่นคงทางอาหาร มีโอกาสเติบโตทางการท่องเที่ยว แต่หลังจากปี 2538 ที่กฟผ.ซื้อที่จำนวน 4,000 ไร่ ทำให้นักลงทุนไม่กล้ามาลงทุน ต่างจากพื้นที่อื่นในประจวบฯ ซึ่งมีการเติบโต โรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อคนทั้งอำเภอแน่นอน ทั้งประมง ชาวสวน การติดดอกของมะพร้าวลดลงแน่ๆ พวกเราจึงเรียกกันว่าถ่วงความเจริญ การเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว คือสิ่งที่นำพาจังหวัดเราสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง เรามีเป้าหมายที่จะเติบโตแบบนี้ สร้างสังคมที่มีการเรียนรู้ ลดการปล่อยมลพิษ เราคิดว่ายุทธศาสตร์ประจวบที่ตั้งไว้ในตอนนี้ทำฐานมาดีแล้ว และเป็นฐานที่ดำรงอยู่เพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง” คุณสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าว

คุณสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก

ในช่วงปี 2540 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต้องพบเจอกับมรสุมจากการกำหนดเป้าหมายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ GDP มุ่งผลักดันให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดอุตสาหกรรม พี่น้องชุมชนในประจวบฯ สร้างความแปลกใจให้พี่น้องชาวประจวบฯ ถึงปัญหามลพิษขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โครงการ คือ ที่อำเภอบ่อนอก โดยบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ห่างออกไปอีก 60 กิโลเมตรที่อำเภอทับสะแก โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กำลังผลิต 2,100 เมกะวัตต์ และห่างจากนั้นไปอีกเพียง 12 กิโลเมตร ที่อำเภอบ้านกรูด โดยบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด กำลังผลิต 1,4000 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมแล้วมากถึง 4,100 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก ทำให้พี่น้องหลายอำเภอหวาดกลัวเรื่องมลพิษ และวิถีชีวิตที่ต้องถูกทำลาย

จากความหวาดกลัว กลายเป็นความกล้า จากการรวมตัวนำไปสู่พลังที่สร้างการเปลี่ยนแปลง

คุณสุรีรัตน์ เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงที่ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทางโครงการให้ข้อมูลผิดพลาดว่าปะการังคือหินโสโครก และพื้นที่ชายหาดประจวบคีรีขันธ์นั้นไม่มีความอุดมสมบูรณ์ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พี่น้องชาวบ่อนอกได้ถ่ายรูปคู่กับวาฬบรูด้าที่โผล่ขึ้นมาข้างเรือ แต่กลับถูกกลุ่มทุนกล่าวหาว่าเป็นภาพตัดต่อมาจากต่างประเทศ คุณสุรีรัตน์จึงขอให้กรีนพีซมาติดตามถ่ายภาพ ในช่วงภายในเวลา 15 นาทีก็สามารถบันทึกภาพวาฬบรูด้าได้สองตัว ซึ่งคาดว่าเป็นครั้งแรก ๆ ที่วาฬบรูด้าขึ้นอ่าวไทย ในระยะสามกิโลจากชายฝั่ง เป็นข้อพิสูจน์ความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งอ่าวไทยช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้เป็นอย่างดี

และวาฬบรูด้านี่แหละ คือ ผู้ที่มาช่วยกลุ่มพี่น้องชาวประจวบฯ พิสูจน์ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำของประจวบฯ 

คุณจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด คือ อีกนักสู้หนึ่งผู้ปกป้องบ้านเกิดของตน การต่อสู้อย่างอาจหาญและเข้มข้นโดยการเผชิญหน้ากับผู้ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด กับการใช้วิธีการนำซากวาฬบรูด้าที่เคยมาเกยตื้นเมื่อปี 2543 นำมาทำลายงานเลี้ยงของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหินกรูด ส่งผลให้คุณจินตนา แก้วขาว ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสี่เดือน

คุณจินตนา แก้วขาว ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด

“ถ้าชุมชนเราไม่ต้องการ เราต้องสู้ทุกวิถีทาง แม้เขาจะเอาคดีมายัด เราก็ยังมีเวลาทำความจริงให้กระจ่าง สร้างมวลชน ต้องไม่หวั่นเกรง ทำทุกวิถีทางที่นำไปสู่การไม่สร้าง เดินหน้าตรวจสอบทุกขั้นตอน” คุณจินตนา แก้วขาว กล่าว “สิ่งที่เจริญทำไม่ได้สูญปล่าว เราไม่ได้อยากให้ใครเสียชีวิต เขาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวประจวบฯ ต่อสู้ แม้จะมีประเด็นต่อสู้ที่แตกต่างกันตามวิถี แต่สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้ที่โตขึ้นมาจากการชี้นำของเจริญ ให้ชุมชนได้พึ่งตนเอง การสูญเสียผู้นำในประเทศไทยมีเยอะ บางครั้งเป็นกระแสนิดเดียว บางครั้งหายไป แต่ ณ เวลานี้เรายังนึกถึงเจริญ พูดถึงเจริญมามากกว่าสิบสามปี”

เจริญ ที่อยู่ในใจและจิตวิญญาณสีเขียว

แม้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน กระบวนการยุติธรรม กฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ยังไม่เข้าข้างประชาชนในทางปฏิบัติเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ชุมชนพี่น้องชาวประจวบฯ ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในการต่อสู้ตลอดมา คือ ประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สามารถคัดค้านมาได้ตลอดกว่า 20 ปี แต่สิ่งที่โดดเด่นเหนือกว่านั้น คือ ความเข้มแข็งที่เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นทั่วประเทศ สร้างความกล้าในการลุกขึ้นมาต่อกรกับอุตสาหกรรมที่ทำลายวิถีชีวิตตน

“เรื่องที่ทำให้ชาวประจวบฯ มาร่วมมือกัน คือเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งที่เราดีใจคือการทำให้ชาวประจวบฯ และคนในประเทศดูเราเป็นตัวอย่าง การที่เราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนเล็กคนน้อย ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดตัวเอง สร้างการตื่นรู้ในสังคมได้” คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย กล่าว

ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องถ่านหินเท่านั้น แต่ชุมชนประมงเองก็มารวมตัวกันเพราะกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน ซึ่งก่อให้เกิดเป็นกลุ่มชุมชนประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบฯ มีทั้งหมด 17 หมู่บ้าน คุณปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน ทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าวถึงพี่เจริญว่า “การต่อสู้ของพวกเราทำให้เรารู้จักหัวจิตหัวใจอันเด็ดเดียวของ เจริญ วัดอักษร บางครั้งการต่อสู้ระหว่างทางทำให้บางผู้นำออกนอกลู่นอกทาง คือรับเงิน แต่เจริญบอกตลอดว่าเราจะไม่ทิ้งกัน เราจะไม่ขายแผ่นดินบ้านเกิด หลายคนวิตกว่าโครงการขนาดใหญ่มีเม็ดเงินมหาศาล เราเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง แต่เจริญเป็นตนคิด ลงมือทำ สร้างขวัญปลุกใจประชาชน ว่าเมื่อพวกเรารวมตัวกันจะสามารถสู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการระดับใหญ่ข้ามชาติแค่ไหน จากคำพูดที่ปลุกใจ และพฤติกรรมที่ไม่สนเงิน ทำให้เรารับรู้ความยิ่งใหญ่ชองเจริญ ทุกชุมชนให้การยอมรับ จนเรารวมตัวกันเป็นเครือข่าย ทั้งจากหินกรูด ทับสะแก ประจวบ กุยบุรี และสามร้อยยอด และวันนึงสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น การที่เจริญถูกยิงเป็นข่าวร้ายสำหรับพวกเรา แต่จากการกระทำครั้งนั้นคงคิดว่าพวกเราจะท้อ และถอย และสลายตัวไปในที่สุด แต่พวกเรากลับเหนียวแน่น ให้พี่เจริญเป็นพลังในการต่อสู้ และทุกปีเราจะจัดกิตจกรรมรำลึก แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่สิบสามแล้ว”


คุณปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้าน ทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นได้จากคนคนเดียว แต่ต้องเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มรวมพลัง แม้กลุ่มพี่น้องชาวประจวบฯ จะไม่มีอำนาจใดไปต่อกรกับกลุ่มทุน แต่การรวมพลังลุกขึ้นมาดูแลท้องถิ่น จากพลังใจ จากแรงบันดาลใจ ไปสู่ความเข้มแข็งที่เป็นที่ยกย่องไปทั่วประเทศไทย ถึงทุกวันนี้ชุมชนประจวบฯ ยังคงเผชิญกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และวิกฤตจากอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ แต่พวกเขายังคงสู้ต่อไป ด้วยความเข็มแข็งและไม่ย่อท้อ ดังที่คุณกรณ์อุมากล่าวไว้ว่า “การต่อสู้ไม่ใช่มาม่าสำเร็จรูป ที่มีขั้นตอนแค่เติมน้ำร้อน แต่เรามีหลักคิดใหญ่ๆ คือ กล้าหาญ เสียสละ ไม่หาคนที่ทำแทน ไม่หวังพึ่งอัศวินม้าขาว และมีความสามัคคีสร้างความเป็นกลุ่มก้อนขึ้น สิ่งนี้จะสามารถหักล้างนโยบายกลุ่มอุตสาหกรรมจึงจะสำเร็จได้ การรักแผ่นดินเกิดยังดำรงอยู่ในประเทศไทย เราอยากเห็นพื้นที่อื่นๆ รักบ้านเกิดเหมือนที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดยั่งยืนแท้จริง”

ขอร่วมรำลึกถึงพี่เจริญ วัดอักษร และยกย่องความเข้มแข็งกล้าหาญของชุมชนชาวประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงนักต่อสู้สิทธิชุมชนทุกคน

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/13/blog/59690/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2560   
Last Update : 23 มิถุนายน 2560 14:18:48 น.   
Counter : 6584 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com