กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

อาหารกลางวันนักเรียนกับความจริงที่ไม่น่ารับประทาน แต่สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นอดีต



บทความ โดย วัชรพล แดงสุภา

ก้าวสำคัญเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ด้วยวิถีชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบันทำให้ผู้คนใส่ใจในการรับประทานอาหารน้อยลง โดยเฉพาะอาหารเช้าที่หลายครั้งกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย อาหารกลางวันในโรงเรียนจึงกลายมาเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุดมื้อหนึ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริมพัฒนาการ โภชนาการ และการหล่อหลอมแนวคิดที่อยู่ในอาหารแต่ละคำ แต่เราทราบหรือไม่ว่าอาหารกลางวันที่เด็ก ๆ ของเรากินอยู่นั้นมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร?

คำตอบสำหรับคำถามนี้อาจเป็นความจริงที่ไม่น่ารับประทาน แต่ข่าวดีคือเรื่องมีทางออกและหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมก็กำลังร่วมกันต่อสู้เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยและยั่งยืนของอาหารกลางวันให้กับเยาวชนของพวกเรา

ถึงเวลาปฏิบัติการถาดหลุมสีเขียว!

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมามูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกันจัดกิจกรรม We Grow ตอนปฏิบัติการถาดหลุมสีเขียว เพื่อเปิดตัวโครงการอาหารกลางวันยั่งยืน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมระบบอาหารกลางวันของนักเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาให้มีความปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนเหมาะสมกับวัย ใช้วัตถุดิบจากการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการอาหารกลางวันยั่งยืน เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นโครงการด้วยการจัดอบรมครูและบุคลากรของโรงเรียนเรื่อง ผลกระทบของสารเคมีต่อสุขภาพ ในพื้นที่ดำเนินการ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สกลนคร พังงา และปทุมธานี โดยในปีงบประมาณนี้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 55 โรงเรียน

การอบรมครูมีทั้งหมดสามหลักสูตรคือ การจัดการสารเคมี นิเวศเกษตร และโภชนาการ โดยเนื้อหาครอบคลุมถึงสถานการณ์สารเคมีทางการเกษตรและการวิเคราะห์สถานการณ์อาหารในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม การศึกษาเรื่องสารเคมีและการดูดซึมและสถานการณ์การผลิตอาหารของพืชและสัตว์ รวมถึงการทดสอบสารตกค้างในอาหารสดและลงพื้นที่สำรวจชุมชนด้วย

เราจะต้องปรับตัวให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนไป

นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงบทบาทและเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการพัฒนานโยบายอาหารกลางวันในโรงเรียนว่า ปัจจุบันปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก เช่น เด็กผอม และเด็กเตี้ย นั้นลดลง มีเพียงปัญหาเด็กอ้วนยังไม่ลดลงเนื่องจากผู้ปกครองไม่มีเวลาทำอาหาร เด็กจึงเป้นผู้เลือกซื้ออาหารเช้าเอง ซึ่งมักจะจบลงที่ของทอด ของมัน และอาหารขยะ ดังนั้นด้วยสังคงที่เปลี่ยนไปนี้อาหารกลางวันจึงกลายมาเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุด และในบางพื้นที่เราได้เราได้จัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อให้สามารถจัดเตรียมอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้กับนักเรียน

“สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งคนในวัยนี้มีเวลาว่างมาก หลายคนหันมาปลูกผักแต่ไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เราจึงควรจะทำให้โรงเรียนเป็นตลาดของชุมชน เพราะถ้าผู้ปกครองผลิตเองก็จะสามารถสร้างอาหารที่ปลอดภัยให้กับโรงเรียน แล้วก็จะทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้นด้วย” นายทรงวุฒิ กล่าวปิดท้าย

อะไรคือความจริงที่ไม่น่ารับประทาน?

นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าวว่า “จากการศึกษาผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยง โดยการตรวจพืชผักและผลไม้ที่ใช้สำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน และตรวจเลือดและปัสสาวะของนักเรียนและครูในโรงเรียนประถมศึกษา พบว่าผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และวัตถุดิบเครื่องปรุงที่โรงเรียนซื้อในตลาดมีสารตกค้างในปริมาณสูง และเด็กนักเรียนและครูมีสารกำจัดศัตรูพืชในเลือดและปัสสาวะเช่นกัน นอกจากนี้ เด็กนักเรียนและชุมชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับสารกำจัดศัตรูพืชจากการฉีดพ่นมากกว่า 200 วันต่อปี

ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังขาดความตระหนักในเรื่องผลกระทบจากสารกำจัดศัตรูพืชต่อเด็กอยู่มาก รวมถึงขาดมาตรการและกฏระเบียบในการปกป้องนักเรียนและชุมชนจากผลกระทบเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และหันหน้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน เด็กนักเรียนทุกคนทั้งในเมืองและชนบทจำเป็นต้องได้กินอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของพวกเขาจริง ๆ และปลอดภัยจากสารพิษเหล่านี้” นายมารุต จาติเกตุ เลขาธิการมูลนิธิการศึกษาไทย กล่าว

ดร.วิชัย  แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 กล่าวว่า อาหารปลอดภัยนอกจากจะต้องปราศจากสารพิษและสิ่งปนเปื้อนแล้วยังต้องเป็นอาหารที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก และได้เสนอประเด็นสำคัญ 3  ประเด็นคือ หนึ่งเราจะต้องสร้างการรับรู้และจิตสำนึกให้กับคุณครูและนักเรียนเพื่อให้หันมาบริโภคอาหารที่ปลอดภัย สองจะต้องส่งเสริมการปลูกพืช และให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ และสามเราจะต้องสร้างเครือข่ายกับชุมชน เพื่อให้คนในพื้นที่ทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยเพื่อป้อนสู่โรงเรียน

ดร.วิชัย กล่าวเสริมอีกว่า “ผมเชื่อว่าโรงเรียนทั้ง 67 แห่งในจังหวัดปทุมธานีสามารถเริ่มได้”

ด้าน นางสาวเขมนิจ จามิกรณ์ หรือ แพนเค้ก นักแสดงและนางแบบชั้นนำ เห็นด้วยว่าโครงการนี้เป็นโครงการนี้มีความประโยชน์มากเนื่องจากโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง การปลูกผักในโรงเรียนก็เปรียบเสมือนการมีซูเปอร์มาร์เก็ตในโรงเรียน

“โรงเรียนมีศักยภาพในการผลิตอาหารให้กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นในด้านที่ดินและแรงงาน...ครอบครับหันให้ความสำคัญเรื่องอาหารหลังจากที่คุณแม่ป่วย การเลือกรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

ความเกื้อกูลคือทางออก

หากโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนรับประทานผักอินทรีย์มากขึ้นไม่เพียงจะส่งผลดีต่อสุขภาพของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกโรงเรียนจะผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนของตัวเองโดยการปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคภายในโรงเรียน เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน แต่ทุกโรงเรียนสามารถจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียนโดยการเชื่อมโยงโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการผลผลิตที่ปลอดภัยของโรงเรียนนั้นคือสิ่งสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพราะจะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการเกษตรจากเดิมที่เน้นความสวยงามของผลผลิตเป็นหลัก ไปสู่การผลิตเชิงนิเวศที่ใส่ใจต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัวเกษตรกรเองก็จะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการใช่สารเคมีเกษตรที่รุนแรง ส่วนลูกหลานของพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สมควรจะได้รับ

การพัฒนาระบบอาหารกลางวันของนักเรียนให้มีความปลอดภัยนั้น หลายโรงเรียนในโครงการ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างรอบโรงเรียนให้กลายเป็นแปลงปลูกผักอินทรีย์ที่เด็ก ๆ และคุณครูมีส่วนร่วมตลอดทั้งกระบวนการ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าสิ่งที่พวกเขารับประทานนั้นปลอดภัยจริง ๆ และช่วยให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารกลางวัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกผัก แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเยาวชนว่าการเกษตรเชิงนิเวศเป็นสิ่งที่ทำได้จริง และเป็นเรื่องที่แม้แต่เด็ก ๆ ก็ทำได้

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้เด็กหันมารับประทานผักให้มากขึ้น ทางกรีนพีซจึงได้เชิญร้านอาหารเพื่อสุขภาพชั้นนำอย่าง ปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง และต้นกล้า ฟ้าใส มาแข่งกันออกแบบเมนูอาหารกลางวันจากผักพื้นบ้านให้ดูน่าสนใจ อร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้เด็ก ๆ มีทัศนคิดที่ดีในการรับประทานผัก และทั้งหมดนี้จะต้องอยู่ในกรอบของงบประมาณอาหารกลางวันด้วย

ร้านปฐม ออร์แกนิค ลิฟวิ่ง กำลังนำเสนอเมนูออร์แกนิคที่น่ารับประทานโดยใช้ภาชนะจากธรรมชาติ

พี่ ๆ จากร้านต้นกล้า ฟ้าใสกำลังสาธิตเมนูอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนโดยไม่ใช้เนื้อสัตว์

ควบคู่ไปกับกิจกรรมในวันนี้ทางมูลนิธิการศึกษาไทย และกรีนพีซ กำลังร่วมกันจัดอมรมเรื่องสารเคมีในอาหารให้กับ 12 โรงเรียนในจังหวัดปทุมธานีที่เข้ารับการอบรม หลังจากนั้นคุณครูที่จบหลักสูตรก็จะนำความรู้เรื่องการตรวจสารพิษไปถ่ายทอดให้กับนักเรียนเพื่อทำการประเมินความเสี่ยงของอาหารกลางวันต่อไป และในปีหน้าก็จะมีการจัดการอบรมเรื่องนิเวศเกษตร และโภชนาการให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 ภาค ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะช่วยให้นักเรียนก็จะได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับวัย สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น และส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักการปลูกพืชด้วยวิธีที่ปลอดภัยต่อพวกเขาและสิ่งแวดล้อม

We Grow เรากำลังเติบโต

We Grow เรากำลังปลูกพืชด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

We Grow เรากำลังปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์ให้กับเด็ก ๆ ของพวกเรา

วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60761


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2560   
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2560 13:29:30 น.   
Counter : 707 Pageviews.  


วิกฤตขยะพลาสติกในมหาสมุทร



บทความ โดย Rex Weyler

“พลาสติก!” เป็นหนึ่งในคำพูดของบทภาพยนตร์เรื่อง พิษรักแรงสวาท (The Graduate) หนังดังในช่วงยุค 60 โดยในหนังพูดถึง เบน (รับบทโดย ดัสติน ฮอฟแมน) นักศึกษาจบใหม่ ที่เกิดรำคาญพ่อแม่ของตนที่จัดงานปาร์ตี้หลังเรียนจบอย่างใหญ่โตเพื่ออวดเพื่อน ๆ และมีฉากหนึ่งในหนังที่ มิสเตอร์แมคไกว หนึ่งในแขกที่มางานปาร์ตี้ เดินเข้ามาหาเบนและพูดว่า “เบน ฉันมีคำเพียงหนึ่งคำอยากบอกเธอ นั่นก็คือ “พลาสติก” มิสเตอร์แมคไกวพูดเพิ่มเติมอีกว่า “อนาคตที่รุ่งเรืองในโลกแห่งพลาสติก” โดยเบนไม่รู้เลยว่ามิสเตอร์แมคไกวกำลังให้คำชี้แนะเกี่ยวกับอาชีพหลังเรียนจบ

ฉากสั้นๆ ฉากนี้บอกเป็นนัยถึงยุคที่กำลังจะตามมา ช่วงที่ยุคพลาสติกกำลังจะถูกแนะนำบนโลก โพลีเมอร์อินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ถูกสังเคราะห์ขึ้นเมื่อศตวรรษก่อนหน้านี้ และนำมาใช้ในกองทัพในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2  โพลีเมอร์อินทรีย์สังเคราะห์นี้ถูกนำเข้ามาสู่การผลิตเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในทศวรรษ 1960 (ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2512) บรรจุภัณฑ์พลาสติกได้สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลก จากบรรจุภัณฑ์ที่เคยนำกลับมาใช้ใหม่ได้กลายเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

จากข้อมูลรายงานอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2559 การผลิตพลาสติกทั่วโลกมีอัตราเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 8.6 ต่อปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จาก 1.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี และจวบจนปัจจุบันมีพลาสติกจำนวนประมาณ 9 พันล้านเมตริกตันที่ถูกผลิตทั่วโลก สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกด้วยกันแล้วมองว่าเป็น “เรื่องราวแห่งความสำเร็จระดับโลก” แต่สำหรับระบบนิเวศของโลก สัตว์สายพันธุ์ต่างๆ และสำหรับคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มองว่าพลาสติกเป็นหายนะที่ร้ายแรง

จากรายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสถาบันสมุทรศาสตร์วูดสโฮลในรัฐแมสซาชูเซทส์ ของสหรัฐฯ ที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science Advances ได้พูดถึงว่าจากจำนวนพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมด เพียงร้อยละ 9 ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และที่เหลือร้อยละ 79 ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม หากการผลิตพลาสติกและแนวโน้มการกำจัดของเสียยังคงดำเนินเช่นปัจจุบัน จะมีพลาสติกจำนวนถึง 12 พันล้านตันที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม พลาสติกจำนวนเท่านี้มีน้ำหนักพอๆ กับวาฬสีนำ้เงินร้อยล้านตัว หรือคิดเป็น 5,000 เท่าของจำนวนวาฬสีน้ำเงินที่เหลืออยู่บนโลกใบนี้

งานแสดงศิลปะการจัดวางในประเทศฟิลิปปินส์ พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พลาสติกมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ บริษัทต่างชาติมักมัดมือชกให้ประเทศด้อยพัฒนาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกของพวกเขาเนื่องจากระบบการรีไซเคิลที่ยังไม่ดีพอ ด้านสารเคมีพื้นฐานที่ถูกใช้ในการผลิตพลาสติกนั้นไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ดังนั้นสารเคมีเหล่านี้จึงถูกสะสมเป็นสารปนเปื้อนอย่างถาวรในระบบนิเวศ

มหาสมุทรกำลังสำลักขยะพลาสติก

พลาสติกชิ้นเล็กๆ มีอยู่ในมหาสมุทรทุกแห่งบนโลก ทุกๆ ปี เราเพิ่มจำนวนขยะพลาสติกหลายล้านตันให้กับสิ่งแวดล้อมทางทะเล นักวิจัยประมาณการไว้ว่ามนุษย์เพิ่มจำนวนขยะให้กับมหาสมุทรไปประมาณ 12 ล้านตันต่อปี

เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยนรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพบเศษพลาสติกบนเกาะเฮนเดอร์สัน เกาะร้างอันห่างไกลในแปซิฟิกใต้ ขยะพลาสติกที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้มีต้นกำเนิดมาจากทั่วโลก พวกเขาพบชิ้นส่วนขยะพลาสติกที่มาจากเยอรมนี นิวซีแลนด์ แคนาดา และประเทศอื่นๆ ถึง 18 ตัน พลาสติกชิ้นจิ๋วเหล่านี้ยากที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในทุกๆ ตารางเมตรบนชายหาดเมื่อนักวิจัยขุดชายหาดลึกลงไป 10 เซนติเมตร พวกเขาจะเจอเศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ มากกว่า 4,000 ชิ้น

ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาล พลาสติกจะถูกรวบรวมจากการไหลวนของมหาสมุทรหรือที่เรียกว่ากระแสน้ำวนมหาสมุทร กระแสน้ำวนมหาสมุทรหลักๆ มีอยู่ 5 ที่ คือบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและใต้รวมเป็น 2 ที่ ในมหาสมุทรแปซิฟิก 2 ที่ และอีกหนึ่งที่ในมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำวนขนาดเล็กอีกบางส่วน กระแสน้ำวนมหาสมุทรเหล่านี้จะรวบรวมถุงพลาสติก ขวดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก ถังพลาสติก กล่องโฟม ตาข่ายจับปลา เชือกพลาสติก กรวยจราจร ไฟแช็ค ของเล่นพลาสติก ยางรถยนต์ แปรงสีฟันพลาสติก และวัตถุพลาสติกชิ้นจิ๋วที่ไม่สามารถระบุได้

กระแสน้ำวนของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือนับว่าเป็นบริเวณที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก เพราะมีขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ถึง 700,000 - 1,000,000 ตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบคือ 1กิโลกรัมของแพลงตอนจะมีขยะพลาสติกอยู่ 6 กิโลกรัม ในฮาวาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ใต้กระแสน้ำวนนี้ ได้พบซากเต่าที่ท้องของมันเต็มไปด้วยพลาสติกนับพันชิ้น

ภาพเต่าทะเลและขยะพลาสติกในมหาสมุทร © Troy Mayne / Oceanic Imagery Publications

ชิ้นส่วนของพลาสติกเหล่านี้มีความคม เปราะบาง เป็นพิษ และพบได้บ่อยในกระเพาะอาหารของซากปลา เต่าทะเล และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล พลาสติกมาพร้อมกับสารพิษที่เป็นอันตรายและทำหน้าที่เสมือนฟองน้ำที่คอยซึมซับสารเคมีและสารพิษอื่นๆ ได้ สิ่งมีชีวิตในทะเลรวมถึง ปลาทะเล นกทะเล หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอาจเผลอกินชิ้นส่วนของพลาสติกและได้รับสารพิษจากพลาสติกนั้นๆ ในเวลาเดียวกัน

นักวิจัยพบชิ้นส่วนพลาสติกในกระเพาะอาหารของนกทะเลถึงร้อยละ 44 ของสายพันธุ์นกทะเลทั้งหมด และร้อยละ 22 ของสัตว์จำพวกวาฬและเต่าทะเลทุกสายพันธุ์ ในหมู่นกทะเลพันธุ์จมูกหลอด (Procellariiformes) เช่น นกอัลบาทรอส นกพีเทรล และนกจมูกหลอดลาย  อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดเนื่องจากนกเหล่านี้มีกระเพาะขนาดเล็กและถ้าหากกินพลาสติกเข้าไป มันจะไม่สามารถขย้อนพลาสติกที่กินแล้วออกมาได้ ส่วนสิ่งมีชีวิตที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เช่น นก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มักสับสนระหว่างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วของพลาสติกกับแพลงก์ตอนบางสายพันธุ์

เมื่อสัตว์กินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไปพลาสติกชิ้นนั้นจะไปกีดขวางลำไส้ของสัตว์ และไปรบกวนระบบย่อยอาหาร โดยทำให้เอนไซม์ในกระเพาะอาหารหยุดหลั่ง และที่น่ากลัวกว่านั้นคือระดับฮอร์โมนถูกรบกวนหรือทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ในระบบของร่างกาย มีการประมาณการว่าในแต่ละปีมีนกทะเลราว 1 ล้านตัวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลราว 100,000 ชีวิตตายจากการกินพลาสติกเข้าไปและไปรบกวนระบบย่อยอาหารและติดค้างในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยมีการพบว่า เชือกไนล่อนพันอยู่ที่ลำไส้ของนกทะเล ซึ่งเชือกไนล่อนเหล่านี้เป็นส่วนประกอบของอวนซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องมือประมง   เชือกที่หิ้วกระป๋องเบียร์ และเชือกพลาสติก

ขยะพลาสติกในชายหาดมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (3 พฤษภาคม 2560) © Daniel Müller

วิธีการแก้ปัญหาที่พูดง่ายแต่ทำยาก

เพราะขาดมาตรการที่เข้มแข็งการผลิตพลาสติกทั่วโลกจะยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการมหาสมุทรโลก พ.ศ. 2558 ประมาณการไว้ว่า ภายในปี พ.ศ. 2563 ปริมาณของขยะพลาสติกอาจจะมีมากถึง 500 ล้านตัน

แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกนั้นมีอยู่ แต่ตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดังเพราะพวกเราเองก็ต้องเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตของเราด้วย เพื่อให้บริษัทที่ผลิตพลาสติกเหล่านั้นได้รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิต พวกเราสามารถต่อสู้เพื่อห้ามการใช้วัสดุที่ทำมาจากพลาสติก เช่น ถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ แต่เรายังต้องการให้รัฐบาลบังคับใช้ข้อกำหนดกับบริษัทที่ผลิตหรือจำหน่ายพลาสติกให้รับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์โดยการนำกลับมาใช้ใหม่หรือสามารถรีไซเคิลได้ 100 %

มาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกเกิดขึ้นแล้วในบางเมืองและบางประเทศทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ซานฟรานซิสโกและพอร์ตแลนด์ในสหรัฐฯ เมืองมอดบิวรี่ในสหราชอาณาจักร เม็กซิโกซิตี้ เมืองเดลี มุมไบ การ์วาร์ รัฐราชสถานของประเทศอินเดีย ชายหาดออยสเตอร์และชุมชนอื่น ๆ ในออสเตรเลีย ทั่วทั้งประเทศรวันดา เคนยา โมร็อกโก และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา เป็นต้น และมีบางประเทศมีการนำภาษีรีไซเคิลไปใช้ในถุงพลาสติก

ในบางพื้นที่การแบนพลาสติกทำให้ขยะพลาสติกลดลง แต่ปัญหาการถูกพัดพาของพลาสติกเข้าสู่สภาพแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาระดับโลก การแบนถุงพลาสติกที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการสั่งห้ามบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงขวดน้ำพลาสติก ขวดน้ำผลไม้ และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ

ภาพของขยะพลาสติกที่เจอบ่อยในมหาสมุทร © Mandy Barker / Greenpeace

ผมเคยเข้าร่วมงานงานหนึ่งที่นิยามตัวเองว่า “เป็นมิตร” ต่อสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่ผู้จัดเตรียมขวดน้ำพลาสติกเป็นร้อยเป็นพันขวดไว้ให้ผู้ร่วมงาน ตามกระแสสังคมการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ บริษัทหลายบริษัทได้กล่อมผู้คนให้ลดการดื่มน้ำจากตู้กดน้ำสาธารณะ เราควรจะเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้โดยการเพิ่มตู้กดน้ำสาธารณะ จุดบริการน้ำดื่ม ในกิจกรรมสาธารณะและห้ามใช้ขวดเครื่องดื่มพลาสติก

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นักกิจกรรมกรีนพีซในเมืองเบรเมน ของเยอรมนีร่วมเดินขบวนบริเวณการประชุมของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) เพื่อเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมในการลดใช้พลาสติกโดยการแบนแหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษจากพลาสติกหลักๆและลด ละ เลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

นอกจากนี้นักกิจกรรมกรีนพีซยังกดดันให้บริษัทที่ผลิตพลาสติก จำพวก บรรจุภัณฑ์ ภาชนะใส่ของพลาสติกในรูปแบบต่างๆ  เพื่อให้บริษัทเหล่านี้รับผิดชอบต่อกฎหมายการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility)โดยบริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องสร้างระบบการรีไซเคิลสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน

“กลุ่ม G20 ในฐานะที่เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นประเทศที่พัฒนามากที่สุด ดังนั้นประเทศเหล่านี้ควรใช้แนวทางการแก้ไขที่มีผลทางกฎหมาย เราไม่สามารถที่จะรีไซเคิลขยะพลาสติก รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการป้องกันไว้ก่อนเป็นอันดับแรก” Thilo Maack ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซเยอรมนีกล่าวที่กิจกรรม

ภาพกิจกรรมหน้าการประชุมของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) © Daniel Müller / Greenpeace

การใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติกหรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่แทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถกดดันให้รัฐบาลนำวิธีนี้มาใช้ได้ “การขีดเส้นตายการกำจัดขยะพลาสติกจะทำให้กลุ่มประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ให้เกิดความกระตือรือร้นที่จะแข่งขันกันในการระบุปัญหาและหาวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกมากกว่าการพบปะพูดคุย” Maack กล่าวเพิ่มเติม

บทสรุปของ "ความสำเร็จ" ทางเศรษฐกิจที่ปราศจากจิตสำนึกในการอนุรักษ์ระบบนิเวศอาจจะกลายเป็นหายนะ  สภาพสิ่งแวดล้อมที่ท่วมท้นไปด้วยขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เห็นได้ทั่วไป พลาสติกเป็นตัวก่อให้เกิดวัฒนธรรมการทิ้งขว้าง คนรุ่นก่อนๆ ที่ตอนนี้ได้เติบโตขึ้นยังคงเชื่อว่าการทิ้งขว้างขวดพลาสติกยังเป็นเรื่องปกติและใครๆก็ทำกัน อย่างไรก็ตามวิชานิเวศวิทยาสอนเราว่าการ "ทิ้งขว้าง" ไม่ได้หมายถึงสิ่งของเหล่านั้นจะออกไปพ้นจากตัวเรา  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมือของเราจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ไหนสักที่บนโลกใบนี้

Rex Weyler นักเขียน นักข่าวและผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซสากล

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60571


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2560   
Last Update : 27 ตุลาคม 2560 15:24:24 น.   
Counter : 4523 Pageviews.  


วันอาหารโลก ในวันที่การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมเป็นภัยคุกคามต่อโลก



บทความ โดย วัชรพล แดงสุภา 

ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารกำลังกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกที นอกจากสภาพภูมิอากาศอันไม่แน่นอนซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกโดยตรง การผลิตพืชอาหารอย่างเช่นข้าวก็กำลุงถูกคุกคามโดยพืชอาหารสัตว์อย่างเช่นข้าวโพด ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 1,400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา

อย่างไรก็ตามการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารเป็นเพียงหนึ่งในปัญหามากมายอันเนื่องมาจากการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมและมนุษย์

เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อม?

จากอาหารสัตว์สู่โรงงาน

อาจจะจริงที่การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมให้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์น้อยกว่า แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าสัตว์เหล่านี้ยังคงต้องกิน  และการผลิตอาหารสัตว์นั้นจะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกอย่างมหาศาล ประมาณกันว่า 80% ของถั่วเหลืองที่ผลิตขึ้นทั่วโลกถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และโดยมากยังเป็นถั่วเหลืองที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นให้ทนต่อยาฆ่าหญ้า


ความต้องการใช้พื้นที่การเกษตรอันไร้ขีดจำกัดคือหายนะต่อพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลก พื้นที่อันมหาศาลในป่าอเมซอนซึ่งเป็นป่าที่สำคัญของโลกได้ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกถั่วเหลือง เช่นเดียวกันกับในประเทศไทยที่พื้นที่ป่าอันเขียวขจีในภาคเหนือได้กลายมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ดูแห้งแล้งและไร้ซึ่งชีวิต


ป่าฝนในอเมซอนถูกเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองให้กับบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่


แปลงปลูกถั่วเหลืองขนาดยักษ์ในเซอราโด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความสมบูรณ์ทางนิเวศ

พื้นที่ป่าในภาคเหนือของไทยที่กลายมาเป็นแปลงปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ 
ขอบคุณรูปภาพ © วัชรพล แดงสุภา

การสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นตัวการสำคัญในการเร่งให้การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้มีความรุนแรงมากขึ้น และมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาน้ำท่วมและปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

การปลูกพืชอาหารสัตว์ยังใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างมาก ในจังหวัดน่านเพียงจังหวัดเดียวซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์พบว่าเกษตรกรใช้สารเคมี 2,400,000 กิโลกรัมต่อปีและพบว่ามีสารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่าง ๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา และน้ำดื่ม

หายนะทางสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนแผ่นดินเท่านั้น ไกลออกไปในท้องทะเลตัวอ่อนของเศรษฐกิจกำลังถูกจับเพื่อมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ทำลายโอกาสในการขยายพันธุ์ส่งผลให้ปริมาณปลาเศรษฐกิจลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการประมงอย่างทำลายล้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งอวนลากยังเป็นตัวการสำคัญในการทำลายระบบนิเวศในท้องทะเล

ในขณะที่การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมได้สร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่ากัน การปศุสัตว์สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคคมนาคมทั้งหมดซึ่งส่วนมากมาจากการเลี้ยงวัว ประมาณกันว่าในการจะผลิตเนื้อวัวและนมให้เพียงพอต่อการบริโภคต่อปีของมนุษย์หนึ่งคนนั้นจะต้องใช้น้ำมากถึง 403,000 ลิตร หรือเทียบได้กับการอาบน้ำ 6,190 ครั้ง! น้ำเสียจำนวนไม่น้อยจากโรงฆ่าสัตว์ก็ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีการบำบัด

The amountof water used to produce the amount of meat/dairy 1 person consumes in 1 year is 403,000 litres. © Greenpeace

อย่างไรก็ตาม การปศุสัตว์ไม่ได้เพียงแค่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ด้วย

ผลกระทบทางสุขภาพ

ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดงอาจเป็นสารก่อมะเร็ง (probably carcinogenic) นี่เองที่ทำให้เราต้องหันมาพิจารณาว่าสิ่งที่เรารับประทานอยู่นั้นมันให้คุณหรือโทษกันแน่

ข้อมูลในปี 2554 พบว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปมีการใช้ยาปฏิชีวนะมากถึง 8,481 ตัน คิดเป็นน้ำหนักได้มากเท่ากับรถทัวร์สองชั้น 706 คัน!

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็นในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้นำไปสู่การเกิดยีนส์ดื้อยาปฏิชีวนะ คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาคาดว่าในอีก 35 ปีข้างหน้า การเสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน ประเทศในแถบเอเชียจะมีคนเสียชีวิตมากที่สุด คือ 4.7 ล้านคน คิดเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงราว 3.5 พันล้านล้านบาท (100 trillion USD)

สำหรับประเทศไทย การศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000-45,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท

ในประเทศไทยมีการตรวจพบ สารเร่งเนื้อแดง ในเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นตัวการของโรคมะเร็ง และตรวจพบดินประสิวใน ไส้กรอกกว่า 90% ส่งผลให้ผู้รับประทานมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศเนเธอร์แลนด์ (Dutch food safety authority หรือ NWMA) ประกาศว่าได้ตรวจพบไข่จำนวนหลายหมื่นฟองที่ปนเปื้อนสารฟิโปรนิล (Fipronil) ซึ่งเป็นสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรป

แล้วเราจะทำอะไรได้?

ทางออกในเรื่องนี้ง่ายพอ ๆ กับการที่คุณคิดว่ามื้อนี้คุณจะกินอะไรดี คุณสามารถช่วยปกป้องพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคุณเองด้วยการรับประทานผักที่มาจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศให้มากขึ้น แวะซื้ออาหารจากตลาดอินทรีย์ที่เกษตรกรมาขายตรงสู่มือท่าน หากคุณจำเป็นจะต้องกินเนื้อสัตว์ขอให้เลือกที่มาจากการเลี้ยงแบบพื้นบ้านไม่ใช่การปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรม  

อ่านเพิ่มเติม รายงานการปศุสัตว์เชิงนิเวศ

วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://secured.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60458/


 ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 17 ตุลาคม 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 11:46:07 น.   
Counter : 5529 Pageviews.  


จากถ่านหินสกปรก สู่การเมืองสกปรก



บทความ โดย David Ritter

ทุกสิ่งล้วนโยงกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่บิดเบี้ยว ไม่ใช่ถ่านหิน แต่คือชีวิตของแนวปะการังของเราเชื่อมโยงกับการเมืองที่ดีและอนาคตของชุมชนของเราอย่างแท้จริง

สมาชิกชุมชนในเมืองนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ต่างนำเสื้อผ้าที่เปื้อนด้วยฝุ่นจากถ่านหินมาแขวนไว้ และแสดงป้ายที่มีข้อความว่า “หยุดเหมืองถ่านหินใหม่” และ “หยุดถ่านหิน” เพื่อเน้นย้ำปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากนโยบายให้กู้ยืมเงินของธนาคาร Commonwealth Bank ในขณะเดียวกันที่ท่าเรือถ่านหินนิวคาสเทิล นักกิจกรรมกรีนพีซได้เข้ายึดท่าเรือถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกพร้อมแสดงข้อความ “ถ่านหินของ CommBank ทำลายพวกเรา”

เมื่อสิบปีก่อน “เดอะ ไวร์” (The Wire) ละครโทรทัศน์ยอดฮิตของเดวิด ไซม่อน ได้แสดงภาพเมืองบาลติมอร์ในยุคร่วมสมัยที่พังพินาศเพราะปัญหายาเสพติด การก่ออาชญากรรมอย่างป่าเถื่อน และการศึกษาที่ล้มเหลว ทว่าสิ่งที่แฝงอยู่ภายใต้ปัญหาต่างๆกลับเป็นโครงสร้างทางเศรษฐศาสตร์การเมือง ดังคำโปรยของละครเรื่องดังกล่าวที่ว่า “ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกัน” ไซม่อนได้อธิบายว่าละครเรื่องนี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึง “โลกที่ทุนนิยมครอบงำทุกอย่างไว้จนหมดสิ้น ชนชั้นแรงงานถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองก็ถูกเงินซื้อไปมากพอที่จะขัดขวางมิให้เกิดการปฏิรูปขึ้น”

แม้ระยะทางจะห่างกันค่อนโลก แต่แนวคิดดังกล่าวที่ว่าทุกสิ่งล้วนเกี่ยวข้องกันกับเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ทุจริตก็ได้กลายมาเป็นหัวใจของงานเขียนประจำไตรมาสล่าสุดของแอนนา ครีน ที่มีชื่อว่า “The Long Goodbye: Coal, Coral and Australia’s Climate Deadlock” โดยบริบทออสเตรเลียในงานเขียนของครีน สิ่งที่เป็นแกนหลักของปัญหาคืออำนาจของอุตสาหกรรมถ่านหิน

จากการเดินทางไปที่ออสเตรเลีย ครีนได้ไปชมพื้นที่ที่มีแผนจะขุดเหมืองถ่านหินหลายแห่ง ทั้งบริเวณทะเล พื้นที่ชายฝั่ง และพื้นที่ดอนในเมือง อีกทั้งเธอยังได้ไปดำน้ำชมแนวปะการังเกรท แบริเออร์ รีฟ และในทุกที่ที่เธอไป เธอก็ได้พบเห็นร่องรอยอิทธิพลอันชั่วร้ายของอุตสาหกรรมถ่านหินซึ่งบิดเบือนคำโต้แย้งที่เป็นธรรมของอีกฝั่งด้วยการอ้างถึงลักษณะงานอย่างไม่บริสุทธิ์ใจ การเพิกเฉยความคิดเห็นผู้ที่ไม่เห็นด้วย การทุจริตการเมือง ด้วยการไม่ยอมให้มีการปฏิรูปเร่งด่วนเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และการสร้างมลพิษคาร์บอนที่ทำลายล้างแนวปะการังของพวกเรา

ครีนแสดงให้เห็นผ่านสายตาที่เฉียบแหลมเหนือมนุษย์ของเธอว่า นอกจากอุตสาหกรรมถ่านหินจะไม่ยั่งยืนในทางสิ่งแวดล้อมแล้ว มันยังเป็นโรคร้ายที่คอยกัดกินระบอบประชาธิปไตย โดยวงจรความผิดพลาดเดิมๆของเหล่าชนชั้นนำของประเทศก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การเข้าถึงกันและกันอย่างสันติสุขของกลุ่มการเมือง กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล บริษัทพลังงานและเหมืองต่างๆ” ซึ่งนับเป็นการเข้าถึงที่ได้รับการหนุนหลังจากพวกนักล็อบบี้ยิสต์ที่สนับสนุนการทำเหมืองถ่านหิน (“ยินดีที่ได้พบคุณเสมอ”) ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงเกียรติกลับไม่ได้เข้าพบรัฐมนตรี

กฏหมายถูกร่างขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมถ่านหินขนาดใหญ่ ไม่ใช่เพื่อน้ำสะอาด เพื่อที่ดินเพาะปลูก เพื่อสัตว์ป่า หรือแม้แต่เพื่อผู้คนที่ควรจะได้รับความคุ้มครองโดยกฏหมายแต่อย่างใด และเมื่อมีใครก็ตามกล้าพอที่จะต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นชาวนา กลุ่มชนพื้นเมือง หรือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัทเหมืองถ่านหินก็จะยกกฏหมายขึ้นมาอ้างอย่างเกรี้ยวกราด และเหล่านักการเมืองก็มักจะตอบแทนความเกรี้ยวกราดเหล่านั้นด้วยการเปิดช่องให้บริษัทเหล่านั้นทำอะไรได้ง่ายขึ้น

อาจฟังดูเป็นไปได้ยากสำหรับเศรษฐกิจของธุรกิจถ่านหิน แต่อย่างไรก็ดี ครีนกล่าวว่า “ทุกอย่างสนับสนุนกันหมด” เพราะว่า “มีการกำหนดเวลาจ่ายเงินไว้อย่างแน่ชัดแล้ว มีการให้คำมั่นสัญญา การแบ่งพรรคแบ่งพวก และการให้เงินบริจาคสนับสนุน” เธอสรุปว่าระบบการเมืองของออสเตรเลียนั้นเปรียบเสมือนคุกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิด “โรคสต็อกโฮล์มซินโดรมที่เกิดจากการบริจาค เงินหลวง ภาษี และการข่มขู่”

สำหรับครีนแล้ว อาการจากโรคร้ายที่มากับอำนาจมืดของอุตสาหกรรมถ่านหินต่อการเมืองในออสเตรเลียดูเหมือนว่าจะแพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศ ตั้งแต่ด้านการตอบโต้ทางการเมืองไปจนถึงการดิ้นรนอย่างสุดกำลังของเจ้าของถิ่นเดิมอย่างกลุ่มชนเผ่า Wangan และ Jagalingou เพื่อต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินของบริษัทอดานิ (Adani) ถึงความกระหายสงครามพลังงานหมุนเวียนของโทนี่ แอบบ็อตต์ (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และไปจนถึงความผิดเพี้ยนของแผนการทางการทูตนานาชาติของออสเตรเลีย

นักกิจกรรมกรีนพีซพร้อมกองถ่านหินหน้าธนาคาร CommBank สำนักงานใหญ่ในกรุงซิดนีย์ 

ส่วนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนซึ่งมีแนวคิดที่กว้างไกลกว่าได้ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจที่ว่า การทำธุรกิจในระบอบประชาธิปไตยและสังคมอย่างเหมาะสมนั้นควรจะมีข้อจำกัด หากกลุ่มเครือข่ายต่างๆที่ครีนกล่าวมาสามารถคลายหรือแยกออกจากกันได้ คงจะเป็นผลดีแก่ออสเตรเลีย ครีนกล่าวว่า “เราควรล้มเลิกการให้เงินสนับสนุนทางการเมืองซะ” อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายสิ่งนอกเหนือจากนั้นที่เราสามารถทำได้ ทั้งการส่งเสริมเสรีภาพของกฏหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Law) การหันหลังให้กับวงจรความผิดพลาดเดิมๆ การชี้ให้ผู้คนได้เห็นถึงวิกฤตของความหลากหลายทางสื่อกระแสหลัก การแนะนำคนรุ่นหลังถึงกฏหมายว่าด้วยการดูแลมลพิษ การสร้างความมั่นใจว่าประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง การดูแลค่าใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในการหยุดกลุ่มผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการทำเหมืองทำลายสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการยกเลิกการละเว้นภาษีของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและกลุ่มตัวแทน และเรายังต้องการคณะกรรมาธิการดูแลความสุจริตแห่งชาติอย่างสหพันธ์ ICAC อีกด้วย

อาจเป็นได้ว่าการห้ามมิให้ดำเนินการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสามารถเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายด้านการดูแลสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกยอมรับได้สำเร็จ และนอกจากการหยุดขยายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังอาจช่วยพัฒนาและสร้างระบอบประชาธิปไตยอันใสสะอาดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดการปัญหาอิทธิพลมืดทางการเมืองในอุตสาหกรรมถ่านหินยังอาจช่วยให้กลุ่มธุรกิจในวงกว้างได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะเวลา เงิน และการใช้กลยุทธ์ที่สูญเสียไปในการล็อบบี้จะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพกับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆและการเปลี่ยนผ่านอันเป็นสิ่งที่จำเป็น

แต่ในตอนนี้ การที่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมีผลประโยชน์โดยชอบธรรมได้เข้ามาทำให้กลไกการแข่งขันในตลาดแปรปรวน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติยังคงได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างน่ารังเกียจ โดยในขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฏหมายของภาคส่วนอื่นๆกลับถูกเพิกเฉย ดังเช่นปริศนาที่ว่า ทำไมนักการเมืองถึงได้ให้ค่ากับผู้คนกว่าแสนในสายอาชีพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวซึ่งต้องอาศัยแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟน้อยกว่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับถ่านหินมากนัก

บทความของครีนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปะการังเกรทแบริเออร์รีฟนั้นเกี่ยวพันกับเสถียรภาพการเมืองและอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองของชุมชนของเราอย่างใกล้ชิด ส่วนอุตสาหกรรมถ่านหินนั้นเป็นศัตรูกับทุกสิ่งที่กล่าวมา

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกบน The Guardian วันที่ 21 กรกฎาคม 2560

บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/60198


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 15 กันยายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 12:13:18 น.   
Counter : 6399 Pageviews.  


กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเชิญร่วมงาน "พลังงาน สิ่งแวดล้อมและสันติภาพ: พูดความจริงกับอำนาจ"



กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอเชิญร่วมงาน
"พลังงาน สิ่งแวดล้อมและสันติภาพ: พูดความจริงกับอำนาจ"

ในวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2560  เวลา 12.30-17.00 น. ณ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สำนักงานประเทศไทย) ชั้น G (ห้องประชุมด้านหน้า) อาคารแคปปิตอลแมนชั่น ถนนพหลโยธิน จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายตือโล๊ะปาตานี PERMATAMAS  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้



กระบวนการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ขาดจริยธรรม ไร้ความชอบธรรม และปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน  ตั้งแต่กระบวนการเวทีรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ ครั้งที่ 1 ไปจนถึงครั้งที่ 3 จวบจนกระทั่งการเห็นชอบให้ผ่านรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ปิดลับในวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาแม้เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะออกมาคัดค้านและยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับดูเหมือนไม่มีใครฟังเสียงของเขา


กำหนดการ

เวลา กิจกรรม
12.30 - 13.00 น. ลงทะเบียนผู้เข้าร่วม รับเอกสาร
13.00 - 13.30 น.

ข้ออ้างถ่านหินทางเลือกสุดท้าย
ดร.เดชรัต  สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

13.30 - 14.00 น. โครงข่ายพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรมหลังยุคถ่านหิน
รศ.ดร.ชาลี  เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
14.00 - 14.30 น. การเดิมพันพลังงานบนหายนะของฐานทรัพยากร
คุณประสิทธิชัย หนูนวล  เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
14.30 - 14.45 น. รับประทานอาหารว่าง
14.45 - 16.15 น. ระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่บกพร่องและไร้ความเป็นธรรม
  • ต้นทุนตือโล๊ะปาตานีและพื้นที่ชุ่มน้ำผืนสำคัญ
    คุณดอเลาะ อาแว ตัวแทนเครือข่ายตือโล๊ะปาตานี
    อาจารย์ ดิเรก เหมนคร
    ตัวแทนเครือข่ายตือโล๊ะปาตานี

  • ความเหลื่อมล้ำของความรู้ภายใต้ระบบการประเมินผลกระทบ EHIA_EIA
    คุณสมพร เพ็งค่ำ  สถาบันพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบโดยชุมชน
16.15 - 16.30 น. เครือข่ายแถลงการณ์ร่วม
16.30 - 17.00 น. แลกเปลี่ยน ซักถาม

ดำเนินงานเสวนาโดย  จริยา เสนพงศ์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หมายเหตุ: กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม

ร่วมพูดคุยถึงระบบและกระบวนการ EHIA ที่บกพร่องและไม่เป็นธรรมในการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/campaigns/climate-and-energy/coal/event/Press-Conference-against-Thepa-Coal-Plant

ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




 

Create Date : 11 กันยายน 2560   
Last Update : 18 ตุลาคม 2560 14:38:52 น.   
Counter : 7510 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com