อ่านเรื่อง "ลิงเฝ้าสวน" ข้อคิดจากนิทานชาดก



ทีนี้เราก็มาดูอุทยานบาล คนเฝ้าสวนของพระราชา

คือเฝ้าพระราชอุทยาน





ท่านผู้นี้ก็มีความซื่อสัตย์

ซื่อตรงต่อหน้าที่ทำหน้าที่ไม่ให้บกพร่อง

จะว่ากลัวพระอำนาจก็แล้วแต่นะ ถ้าทำผิดดีไม่ดีก็ตัดศีรษะเลย

แต่ว่าอาจจะซื่อสัตย์ทำหน้าที่ตัวเองให้ถูกต้อง



ทีนี้ในเมืองก็เกิดมีงานนักขัตฤกษ์ขึ้นมา





ท่านผู้นี้ก็มาคิด เอ... เรานี้ก็อยากจะไปเที่ยวซะบ้าง

จะทำไงล่ะเราก็ต้องรดน้ำพรวนดินดูแลสวน

จะขาดไม่ได้จะไปซักวันสองวันสามวัน

มันก็เสียงาน สวนต้นไม้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้

ทำไงดี อยากจะเที่ยวก็เที่ยวละทิ้งหน้าที่ก็ไม่ได้





นึกไปนึกมานึกออก ..อ๋อ..

เรามีวานรอยู่ฝูงหนึ่งอยู่ในสวนของเรานี่





วานร ก็คือ ลิง

ทีนี้ว่าลิงทั้งหลายก็เป็นธรรมดาต้องมีหัวหน้า

เค้าเรียกอะไรจ่าฝูงใช่ไหม จ่าฝูงหรือหัวโจกก็แล้วแต่ล่ะ

โดยมากหัวโจกใช้ในทางไม่ค่อยดี ก็เรียกจ่าฝูง





ทีนี้ก็มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง แล้วก็มีจ่าฝูง

นายอุทยานบาลคิดขึ้นมา

เอ้อ..ได้การแล้ว

ลิงนี่ฉลาด พอจะทำงานได้

ก็เลยเรียกหัวหน้าลิงจ่าฝูงมา





"เออนี่นะ

เราเนี่ยอยากจะไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์ซักสองสามวัน

แล้วห่วงสวนเนี่ย พวกเธอนี่ก็อยู่ในสวนอาศัยสวนมาเราก็อยู่ด้วยกันเนี่ย

จะให้สวนมันดีก็ต้องช่วยกันรักษา เธอจะพอช่วยเราได้ไหม"



"ด้วยอะไรล่ะ?"



ก็บอกว่า

"เนี่ย มาช่วยรดน้ำต้นไม้ให้หน่อย"





"โอ้.. ได้สิแค่นี้

พวกเราก็รักสวนนี้เหมือนกัน อยากจะให้งดงาม

แล้วก็อยากแทนคุณของท่าน ท่านก็ช่วยพวกเรามาตลอด"

ก็เลยตกลงเอ้าลิงรับแล้วรับปาก จะไปบอกพวกฝูงลิงให้





ทีนี้นายอุทยานบาลก็เลยบอกวิธีงานที่จะต้องทำ

ว่าเออการรดน้ำทำอย่างนั้นนะ มีถังน้ำอยู่ที่นั่นที่นั่น

ถึงเวลานั้นเช้าหรือตอนไหนก็ไม่รู้แหละ

เค้าก็บอกเวลาไปให้พาฝูงลิงเนี่ยเอามารดน้ำ

ไปตักน้ำที่โน่นนะ ใช้กระป๋องเหล่านี้นะ แล้วก็มารดต้นไม้เหล่านี้นะ

ตามเวลานี้อะไรนี้ก็บอกไป


หัวหน้าลิงก็รับปากอย่างดี


คนเฝ้าสวนก็สบายใจ เบาใจได้ก็เป็นอันว่า

ไปในเมือง ไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์





ฝ่ายหัวหน้าลิงนี่ก็ฉลาด

ถึงเวลาก็เรียกฝูงลิงมาบอกว่า

"เออเนี่ยพวกเราอยู่ในสวนมาช่วยกันนะ

ดูแลรักษารดน้ำต้นไม้กันหน่อย วันนี้นายเราไม่อยู่"


"เอ้ามาช่วยกันสิ"



เอ้าจะตักน้ำก็เอาพวกถังน้ำหรือว่ากระบวยอะไรเนี่ย

เค้าเรียกอะไรที่จะไปรดน้ำต้นไม้ บัวรดน้ำหรือถังน้ำก็แล้วแต่

หยิบกันมา ไปตักน้ำ

พวกฝูงลิงก็พากันไปถึงเดินกันไป



พอจะเริ่มงานหัวหน้าลิงก็บอก

"หยุดๆ เดี๋ยวก่อน"





"อ่าวทำไมละ เดี๋ยวสิ"



ก็บอกว่า

"การที่จะรดน้ำต้นไม้นี่นะเราก็ต้องรู้จักประหยัดน้ำด้วย

แล้วก็ต้องรู้จักรดให้มันเหมาะสมให้ได้ประโยชน์ดีที่สุด

เพราะฉะนั้นเราจะรดให้เหมาะ"


ทำยังไงจึงจะเหมาะ ?





ก็คือว่าต้นไม้เนี่ยเป็นธรรมดาเค้าต้องการน้ำมากน้อยไม่เท่ากัน

ฉะนั้นเราจะต้องรดน้ำให้ตามความต้องการของต้นไม้

ต้นไหนต้องการน้ำมาก เราก็รดน้ำมาก

ต้นไหนต้องการน้ำน้อย เราก็รดน้ำน้อย





เออ...แล้วจะทำยังไงจึงจะรดได้ผล

เออ...ก็ต้องแบ่งงานกันทำ


ก็มาเรียนรู้วิธีการ...

ทำไงจะรู้ความต้องการของต้นไม้

ธรรมดาต้นไม้ไหนรากยาวก็ต้องการน้ำมาก

ต้นไม้ต้นไหนรากสั้นก็ต้องการน้ำน้อย

เราก็รดไปตามความต้องการของต้นไม้



ทีนี้ทำไงจะรู้ความต้องการ

ก็ต้องถอนมันขึ้นมาดู





ทีนี้คนหนึ่งจะต้องรดต้นไม้ให้พอดีกับความต้องการน้ำ

คนหนึ่งก็ต้องดูรากไม้ว่ายาวหรือสั้น

เราก็ต้องแบ่งงานกันทำ

เพราะฉะนั้นก็จัดวานรนี้เป็นคู่ๆ

ตัวหนึ่งก็เอาบัวรดน้ำหรือว่ากระป๋องน้ำเนี่ยไปตักน้ำ

อีกตัวหนึ่งก็มาอยู่ที่โคนต้นไม้



พอตัวที่ตักน้ำมาถึงจะรดน้ำมากหรือน้อย

ไอ้เจ้าตัวที่อยู่ที่โคนต้นไม้

ก็ถอนต้นขึ้นมาดู





แล้วก็บอกว่าต้นนี้รากยาว ก็รดน้ำมาก

แล้วก็ไปต้นต่อไป

ไอ้เจ้าต้นนี้รากสั้นต้องการน้ำน้อยก็รดน้อยๆ

นี่ก็เรียกว่ารดตามความต้องการของต้นไม้



ทั้งรดอย่างฉลาดเลยนะ รู้ความต้องการของต้นไม้

รดให้พอดีกับความต้องการของต้นไม้

ทั้งรู้จักหลักการแบ่งงานกันทำ



ลิงนี่ฉลาดอย่างยิ่งเลยนะ หาได้ยาก



แต่ปรากฏว่า

ต้นไม้ตายหมด





ทีนี้ก็มีท่านผู้หนึ่งเดินผ่านมา

เอ้...เห็นลิงทำอะไรกันเนี่ย ก็เลยมาเกาะรั้วสวน

แล้วก็ถามหัวหน้าลิง



"ท่านทำอะไรกัน?"





"รดต้นไม้ เพราะว่านายอุทยานบาลแกไปเที่ยวงานนักขัตฤกษ์

พวกเราก็รับช่วยแก"



"อ่าวแล้วทำไมท่านทำอย่างนี้?"





หัวหน้าลิงก็อธิบาย

"เอ้า ก็มีเหตุผลอย่างนี้แหละ เราก็ต้องรดน้ำตามความต้องการของต้นไม้

ทำไงจะรู้ความต้องการก็ต้องรู้ว่ารากสั้นรากยาว ก็ต้องถอนมันขึ้นมาดู

แล้วก็รดไปตามความต้องการนั้น

เรื่องก็อย่างนี้ แล้วก็แบ่งงานกันทำเรียบร้อย ก็สำเร็จด้วยดี"





นายคนนั้นแกก็ไม่รู้จะพูดว่าไง

เพราะว่าลิงก็เถียงแกอีก

ลิงก็บอกว่าเค้าทำอย่างฉลาดแล้ว

ใช่ไหม ที่เค้าอธิบายนี่ก็ถูกต้องหมด


แต่ว่าต้นไม้มันตาย

แต่มันไม่ได้ตายเดี๋ยวนั้นนี่ใช่ไหมกว่าจะเห็น





ทีนี้คนนี้แกก็เลยกล่าวคาถาออกมาบอกว่า


"คนไม่ฉลาดในประโยชน์
แม้ปราถนาจะทำประโยชน์ ก็กลายเป็นทำความพินาศได้"


นี่คือคาถาสรุป



อันนี้ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยเลยนะ



...



นิทานชาดก ถอดเทปจากเรื่องเล่าโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)



เรื่องจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อัตถกามวรรค

เรื่องที่ ๖ อารามทูสกชาดก

ฉลาดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีความสุข



ดูคลิปวีดีโอการ์ตูนได้ที่นี่
https://youtu.be/qMA3h7q63TI?list=PLDzf9cyBwgxCryjYpnDTxBKjl6rsSGsck


ดาวโหลดภาพการ์ตูนแบบยาวได้ที่นี่
//dhammaway.files.wordpress.com/2014/09/monkey-on-garden-9-1.png

"พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)"

ผู้นิพนธ์หนังสือ "พุทธธรรม" อันทรงคุณค่า

หนังสือที่รวบรวมหลักคำสอนและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา

ไว้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา


ศึกษางานของท่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน ค่ะ

//www.watnyanaves.net






Create Date : 12 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2558 2:04:55 น.
Counter : 2840 Pageviews.

(อ่่านเรื่องนี้ค่ะ) เพราะคือ กระแสแห่งกรรม กระแสแห่งเหตุปัจจัย







เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย)
บทที่ ๕ เรื่อง กรรม หน้า ๓๑๑
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)



สมมุติว่า ขณะนี้ ทั้งผู้อ่านและผู้เขียนกำลังยืนมองกระแสน้ำสายหนึ่งอยู่ กระแสน้ำไหลผ่านที่ราบเป็นส่วนมาก จึงไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยว ดินที่กระแสน้ำไหลผ่านส่วนมากเป็นดินสีแดง กระแสน้ำสายนี้จึงมีสีค่อนข้างแดง นอกจากนั้น กระแสน้ำยังไหลผ่านถิ่นที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นหลายแห่ง คนได้ทิ้งขยะและของเสียต่างๆ ลงในลำน้ำเป็นอันมากตลอดเวลา ทำให้น้ำสกปรก ยิ่งในระยะหลังนี้ มีโรงงานอุตสาหกรรมมาตั้งมากขึ้น และปล่อยน้ำเสียลงในน้ำทุกวัน ทำให้เกิดเป็นพิษ ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงมีปลาา กุ้ง เป็นต้น ไม่ชุม



สรุปแล้ว กระแสน้ำที่เรากำลังมองดูอยู่นี้ สีค่อนข้างแดง สกปรก เจือปนด้วยน้ำพิษมาก มีสัตว์น้ำไม่ชุม ไหลเอื่อยๆ ช้าๆ ผ่านที่นั้นที่นั้น ทั้งหมดนี้รวมกันเข้าเป็นลักษณะจำเพาะของกระแสน้ำนี้ ซึ่งมีลักษณะบางอย่างก็เหมือนกระแสน้ำโน้น บางอย่างเหมือนกระแสน้ำนั้น บางอย่างเหมือนกระแสน้ำนู้น ฯลฯ แต่รวมทั้งหมดแล้วไม่เหมือนกระแสน้ำอื่นใด



ต่อมา มีผู้บอกเราว่า กระแสน้ำสายนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง เขาบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังเป็นอย่างนั้นๆ บางคนบอกว่าแม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก ปลาไม่ชุม บางคนบอกว่า กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไม่ไหลเชี่ยว และเป็นอย่างนั้นๆ บางคนว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านถิ่นที่มีดินสีแดงมาก จึงมีน้ำค่อนข้างแดง



เราเกิดความรู้สึกเป็นข้อสังเกตขึ้นมาว่า ความจริง กระแสน้ำที่เรามองดูอยู่ ก็มีภาวะสมบูรณ์ในตัวตามสภาพของมันอยู่แล้ว มันมีลักษณะต่างๆ เช่น ไหลช้า มีสีแดง สกปรก เป็นต้น ก็เพราะมันเกิดจากองค์ประกอบและความเป็นไปต่างๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลอันทำให้มันต้องเป็นอย่างนั้น เช่น เมื่อกระแสน้ำกระทบละลายดินแดง ก็เกิดผลขึ้นแก่กระแสน้ำนั้นให้มีสีแดง เป็นต้น ความเป็นไปต่างๆ ของมัน มีผลต่อมันอยู่ในตัวเอง



ยิ่งกว่านั้น ขณะที่เรามองอยู่นั้น กระแสน้ำก็ไหลผ่านไปเรื่อยๆ น้ำที่เราเห็นตรงหน้าเมื่อแรกมอง กับเวลาต่อมา ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน และน้ำที่เห็นตอนต่อๆ มา กับตอนท้ายที่เราจะเลิกมอง ก็ไม่ใช่น้ำเดียวกัน แต่กระนั้นมันก็มีลักษณะจำเพราะที่เรียกได้ว่าเป็นอย่างเดิม เพราะองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมเข้าเป็นกระแสน้ำนั้นยังคงเหมือนๆ เดิม แต่มีคนบอกเราว่า แม่น้ำนี้ชื่อแม่น้ำท่าวัง ยิ่งกว่านั้น ยังบอกกว่า แม่น้ำท่าวังมีกระแสน้ำไม่เชี่ยว น้ำของแม่น้ำท่าวังสกปรก ปลาน้อย เรามองไมเห็นว่าจะมีแม่น้ำท่าวังอยู่ที่ไหนต่างหาก หรือนอกจากกระแสน้ำที่เรามองอยู่นั้น เรามองไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังไหนที่มาเป็นจ้ำของกระแสน้ำที่ไหลอยู่นั้น



ยิ่งกว่านั้น เขาบอกกว่า แม่น้ำท่าวังไหลผ่านละลายดินแดง ทำให้มันมีาสีค่อนข้างแดง คล้ายกับว่า แม่น้ำท่าวังไปทำอะไรให้กับดินแดง มันจึงได้รับผลถูกเขาลงโทษให้มีน้ำสีแดง เราเห็นอยู่ชัดๆ ว่า กระแสน้ำที่เรามองเห็นอยู่นั้น มีความเป็นไป เป็นกระบวนการแห่งเหตุและผลพร้อมอยู่ในตัวของมัน น้ำที่ไหลมากระทบเข้ากับดินแดง ดินแดงละลายผสมกับน้ำเป็นเหตุ ผลก็เกิดขึ้นคือกระแสน้ำจึงมีสีค่อนข้างแดง ไม่เห็นจะมีใครมาเป็นผู้ทำหรือผู้รับผลนั้นอีก



ยิ่งกว่านั้น เราไม่เห็นตัวแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันอยู่ที่ไหนได้เลย กระแสน้ำที่ไหลผ่านหน้าเราไปแล้ว ก็ไหลผ่านไปเลย น้ำเก่าที่เราเห็น ก็ไม่มีอยู่ที่นั่นแล้ว มีแต่น้ำใหม่มาแทนที่เรื่อยไป เรากำหนดกระแสน้ำนั้นได้ ด้วยองค์ประกอบ อาการ และความเป็นไปต่างๆ ที่ประมวลกันขึ้นให้ปรากฏลักษณะอันจะถือเอาได้เช่นนั้นเท่านั้นเอง และถ้ามีตัวตนของแม่น้ำท่าวังเป็นชิ้นเป็นอันแน่นอนตายตัวอยู่ กระแสน้ำคงจะเป็นไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่ได้ และในขั้นสุดท้าย เราเห็นว่า แม่น้ำท่าวังนั่นแหละเป็นส่วนเกินที่ไม่จำเป็น เราพูดถึงกระแสน้ำนั้นได้เต็มตามกระบวนการของมัน โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำท่าวังเลย ว่าให้ถูกแล้ว แม่น้ำท่าวังไม่มีอยู่เลยด้วยซ้ำไป เราเห็นชัดเลยว่า ไม่มี ไม่ต้องมี และไม่อาจจะมีอะไรๆ มาเป็นตัวตนที่เรียกว่าแม่น้ำท่าวัง หรือมีแม่น้ำท่าวังที่ไหนมาเป็นตัวตนเป็นอัตตา ที่จะเป็นเจ้าของเจ้ากี้เจ้าการกำกับสั่งการแก่กระแสน้ำนั้น



ต่อมาอีกนาน เราเดินทางไปถึงตำบลอื่น เราพบชาวตำบลนั้นหลายคน คราวหนึ่งเราอยากจะเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำที่เราได้มองดูคราวก่อนนั้น แล้วเราก็เกิดความติดขัดขึ้นมาทันที เราไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไรดี เขาจึงจะเข้าใจตามที่เราต้องการจะบอกเขาได้ เรานึกขึ้นมาได้ถึงคำที่เคยมีคนบอกเราว่ากระแสน้ำสายนั้นชื่อแม่น้ำท่าวัง จากนั้นเราก็สามารถเล่าให้ชาวบ้านฟังอย่างสะดวกคล่องแคล่ว และเขาก็ฟังด้วยความเข้าใจและสนใจเป็นอย่างดี เราพูดด้วยว่า แม่น้ำท่าวังมีน้ำสกปรก มีปลาน้อย กระแสน้ำของแม่น้ำท่าวังไหลช้า แม่น้ำท่าวังไหลไปกระทบดินแดง ทำให้มันมีสีค่อนข้างแดง



ในเวลานั้น เราเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งด้วยว่า แม่น้ำท่าวัง และบทบาทของมันตามที่เราเล่านั้น เป็นเพียงถ้อยคำสมมติเพื่อสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันในโลก แม่น้ำท่าวังและบทบาทของมันตามคำสมมุติเหล่านี้ จะมีขึ้นมาหรือไม่มี และเราจะใช้มันหรือไม่ก็ตามที จะไม่มีผลกระทบต่อกระแสน้ำนั้นเลย กระแสน้ำนั้นก็คงเป็นกระบวนการแห่งกระแสที่ไหลเนื่องไปตามองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของมันอยู่นั่นเอง เราแยกได้ระหว่างสมมุติกับสภาวะที่เป็นจริง บัดนี้ เราทั้งเข้าใจ และสามารถใช้ถ้อยคำเหล่านั้นพูดด้วยความสบายใจ



ที่สมมติเรียกกันว่าคน ว่านาย ก. คุณ ข. เรา เขา นั้นโดยสภาวะที่แท้ก็คือ กระบวนธรรมที่ไหลเนื่องเป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย มีองค์ประกอบต่างๆ มาสัมพันธ์กันอยู่มากมาย มีความเป็นไปปรากฏให้เห็นได้นานัปการ สุดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในกระบวนธรรมนั้นเอง และทั้งที่เนื่องด้วยภายนอก



เมื่อมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างหนึ่งเกิดเป็นเหตุขึ้นแล้ว ก็ย่อมก่อนให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกระบวนธรรมนั้น สิ่งที่เรียกว่ากรรม และวิบาก นั้น ก็คือความเป็นไปตามทางแห่งเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมที่กล่าวนี้ ซึ่งมีความสำเร็จพร้อมอยู่ในตัวกระบวนธรรมนั้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยตัวสมมติ เช่นว่า นาย ก. นาย ข. เรา เขา นายสิบ นายพัน มารับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ หรือเป็นผู้รับผลแต่ประการใด



อันนี้เป็นส่วนตัวสภาวะความจริง อันเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมัน แต่เพื่อความสะดวกในการสื่อสารให้เข้าใจกันในหมู่ชาวโลก จะใช้พูดตามสมมติก็ได้ โดยตั้งชื่อให้แก่กระบวนธรรมที่ไหลเวียนอยู่นั้นว่า นาย ก. นาย ข. จมื่น หัวหมู่ เป็นต้น เมื่อรับสมมติเข้าแล้ว ก็ต้องยอมรับสมอ้าง เป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำ และผู้ถูกทำไปตามเรื่อง แต่ถึงจะสมมติหรือไม่สมมติ จะรับสมอ้างหรือไม่รับ กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะความจริงก็เป็นไปอยู่ตามกฏธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของมันนั่นเอง ข้อสำคัญก็คือ จะต้องรู้เท่าทัน แยกสมมติกับตัวสภาวะออกจากกันได้ ของอันเดียวกันนั่นแหละ เมื่อใดจะพูดถึงสภาวะ ก็พูดไปตามสภาวะ เมื่อใดจะใช้สมมติ ก็พูดไปตาม สมมติ อย่าไขว้เขว อย่าสับสนปะปนกัน และต้องมีความเข้าใจสภาวะเป็นความรู้เท่าทันรองรับยืนพื้นอยู่



ทั้งตัวสภาวะ และสมมติ เป็นสิ่งจำเป็น ตัวสภาวะ (นิยมเรียกกันว่าปรมัตถ์) เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนสมมติเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางปฏิบัติสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เอาสภาวะกับสมมติมาสับสนกัน คือ เข้าไปยึดเอาตัวสภาวะ จะให้เป็นตามสมมติ จึงเกิดวุ่นวายขึ้น ตัวสภาวะไม่วุ่น เพราะมันเป็นไปอย่างนั้นเอง ตามปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครจะไปยึดหรือไม่ มนุษย์เป็นผู้วุ่นไปฝ่ายเดียว และเพราะมันไม่วุ่นด้วย มนุษย์จึงยิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะขัดความปรารถนา ถูกบีบคั้น จึงเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง




เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ พุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย)
บทที่ ๕ เรื่อง กรรม หน้า ๓๑๑
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)

สามารถดาวโหลดหนังสือพุทธธรรม (ฉบับปรับขยาย) อ่านได้ที่นี่เลยค่ะ
//dhammaway.files.wordpress.com/2013/05/putthathum-extend.pdf
หรือลิงค์นี้ก็ได้เหมือนกันค่ะ
//www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/buddhadhamma_extended_edition.pdf

และสามารถดาวโหลดฟัง mp3
คลิปเสียงอ่านหนังสือพุทธธรรม(ฉบับปรับขยาย) เรื่อง "กรรม" ได้ที่นี้เลยค่ะ
//dhammaway.wordpress.com/2014/01/28/krama/

สามารถฟังเนื้อหาท่อนนี้ได้ทาง youtube นี้เลยค่ะ
เรื่อง "เพราะนี้คือกระแสแห่งกรรม กระแสแห่งเหตุปัจจัย"
https://www.youtube.com/watch?v=ftp0H6LLozk




Create Date : 06 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2557 10:15:25 น.
Counter : 594 Pageviews.

1  2  

อาณาจักรสีเขียว
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]



ขอบพระคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมคะ

แล้วแวะเข้ามาเยี่ยมชมที่บล็อก ลิงค์นี้กันนะ
http://dhammaway.wordpress.com
แนะนำมากๆ
  •  Bloggang.com