นิดหนึ่งนี้อุทิศแด่ชาวนา ผู้ต่ำต้อยน้อยหน้าเหลือแสน ลำบากยากจนข้นแค้น ไป่แม้นชาวฟ้ามหานคร โดย อ. ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ

ประเทศไทยหาใช่เมือง “น้ำ”

แต่ก่อนง่อนชะไรคนไทยมักไม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องน้ำเรื่องท่ามากมายนักทั้งน้ำท่วม น้ำนอง น้ำหลาก น้ำเหนือไหลบ่า ดินโคลนถล่ม ผู้คนล้มหายตายจาก นานๆทีจะได้ยินสักครั้งสองครั้งในอดีตเท่าที่จำความได้คือน้ำท่วมภาคใต้ ที่มีข้อมูลเขียนแทรกอยู่ในตำหรับตำราชั้นประถมศึกษาจำไม่ได้ว่าชั้นอะไรระหว่างป. 1 กับ ป. 2 ที่มีจดหมายเล่าเรื่องจากญาติของชูใจในเรื่องที่ให้ช่วยกันส่งของไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศไทยเรา..นั้นถือว่าอยู่ใจกลางระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันภาคตะวันตกก็มีประเทศเมียนมาร์เป็นกันชน ภาคตะวันออกก็มีทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาวค้ำยัน ภาคใต้ก็ยังมี มาเลเซียคอยปกป้องมิให้ภัยธรรมชาติซัดสาดถาโถมเข้ามาได้อย่างถนัดถนี่ ส่วนใหญ่พายุที่เคลื่อนซัดสาดฟาดเข้ามาก็จะอ่อนกำลังลงจนอยู่ในระดับดีเปรสชั่นเท่านั้น

แต่ในปีสองปีมานี้คนไทยกลับหวาดผวาทุกคราไป เมื่อได้ยินเรื่องราวที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับ“น้ำ” ก็มีอาการหน้าดำคร่ำเครียดอกสั่งขวัญแขวนขาดสติ จนนำไปใช้เป็นเรื่องถกเถียงเกี่ยงงอนแต่ไม่แก้ไขอะไรนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสร้างเรื่องความแตกแยกอย่างไม่แยกแยะผิด ชอบ ชั่วดี มีปัญหาเรื่องน้ำคราใดก็ฝักใฝ่ใจจดใจจ่อล่อจะโทษอีกฝั่งอีกฝ่ายอยู่ถ่ายเดียวโดยไม่เฉลียวใจเลยว่าตนเองนั้นก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันแบ่งปันทั้งน้ำใจแรงกายช่วยเหลือประเทศของตนด้วยอีกแรงหนึ่งเช่นกันแม้กระทั่งการสงบนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ออกไปต่อปากต่อคำซ้ำเติมคนที่กำลังทำงานช่วยเหลือเจือจานเพื่อให้ทุกคนมีสติ มีสมาธิในการทำงานที่อยู่ตรงหน้าเพราะปัญหาต่างๆที่สั่งสมมาคงไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งในยุคนี้เป็นผู้ริเริ่ม คงจะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องเปลืองเวลามาช้านานทั้งเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า การปฏิรูปที่ดิน การสร้างถนนคมนาคมกีดขวางเส้นทางน้ำการสร้างและขยายเมือง การลักลอบอนุญาตให้มีการปลูกเรือนและรีสอร์ทในพื้นที่อนุรักษ์และป่าเขาลำเนาไพรจนต้องคราดไถ หักร้างถางโคนป่าไม้ไปมากต่อมาก นี่คือตัวอย่างที่ “คนไทย”ทุกคนในอดีตยันปัจจุบัน ปล่อยให้เกิดขึ้นมา

เพราะฉะนั้นความจริงแล้วในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมักจะได้ยินเรื่องปัญหาภัยแล้งเสียมากกว่าที่จะได้ยินได้ฟังปัญหาเรื่องน้ำท่วม ฉะนั้นคนไทยไม่ต้องตกใจจนขาดสติเพียงแค่ร่วมแรงร่วมใจกันคิดช่วยกันทำ นำปัญหาทุกอย่างมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ให้ดีว่าจะต้องทำในเรื่องบริหารจัดการน้ำมากกว่าเรื่องทะเลาะเบาะแว้งหรือไม่เพื่อให้ลูกหลานในอนาคตไม่ถูกน้ำท่วมและไม่แห้งแล้งขาดแคลนแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคเพราะขืนปล่อยให้น้ำไหลลงไปสู่ทะเลจนหมดพื้นที่กักเก็บน้ำของประเทศก็อาจจะไม่พอเพียงเพียงพอต่อการทำการกสิกรรมอันเป็นอาชีพหลักที่ถักทอหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน การสร้างเขื่อนคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนไทยต้องร่วมแรงร่วมใจอย่าให้ต่างชาติเหลือบริ้นไรในคราบนักอนุรักษ์เข้ามาต่อต้านงาน “น้ำ” เพราะน้ำคือหัวใจในอาชีพที่บรรพบุรุษเราถนัดถนี่มากที่สุด การเกษตรการเพาะปลูกคือของจริงไม่อิงนิยาย รถยนต์ กลไก คอมพิวเตอร์ มือถือ แทบเลต ต่อไปมนุษย์คงจะเข็ดเพราะกินไม่ได้

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 20 กันยายน 2555   
Last Update : 20 กันยายน 2555 16:33:10 น.   
Counter : 1014 Pageviews.  

หน้าฝน ดินเหนียว รากเน่า

รู้สึกว่ายิ่งเข้าใกล้เดือนตุลาคมเท่าใด ฝนก็มีความถี่ในการตกเพิ่มมากขึ้น เดือนนี้ปีที่แล้วก็เป็นอย่างนี้ มีข่าวน้ำท่วมจากทางสุโขทัย, นครสวรรค์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่าทอง, อยุธยา แล้วพอเข้าเดือนตุลาคม ก็จะค่อยๆ ท่วมกรุงเทพฯเข้ามาทีละน้อยจนเกือบแทบจะถึงกรุงเทพฯชั้นในด้วยซ้ำ หวังว่าประวัติศาสตร์จะคงไม่ซ้ำรอยเหมือนปีที่แล้ว เพราะคิดขึ้นมาทีไรก็หวั่นๆ ใจอยู่ไม่หาย ต้องขนของขึ้นที่สูง อุดรอยรั่ว ใช้ดินเหนียว ดินน้ำมันใส่ถุงพลาสติกอุดยัดอัดติดเข้าในโถชักโครก ก่ออิฐถือปูน, แบกกระสอบทราย แต่สุดท้ายน้ำก็ท่วมเข้ามาได้อยู่ดี ถ้าธรรมชาติจะเอาจริงเอาจังกับมนุษย์ตัวเล็กกระจ้อยร่อยมีหรือที่จะระงับยับยั้งตั้งรับกับหายนะทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ต่อให้เก่งกาจมากจากไหนก็ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะรับมือได้เพียงลำพัง ทุกคนต้องช่วยกันจึงจะผ่านพ้นวิกฤติได้อย่างไม่สูญเสียและบอบช้ำมาก

ผืนดินที่อุดมอมน้ำอยู่ตลอดเวลาทำให้เกิดการเปียกแฉะน้ำท่วมขัง รากพืชขาดอากาศ จุลินทรีย์ทั้งราและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคพืชก็จะชอบสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศเช่นนี้ จึงทำให้พืชเกิดโรคระบาดในรูปแบบต่างๆ ทั้งรากเน่า โคนเน่า เปลือกเน่า ใบดำ ใบด่าง ใบเหลือง ใบแดง กล้าเน่ายุบ ล้วนมีสาเหตุมาจากอากาศชื้น ฝนชุก ใครทำการเกษตรในฤดูกาลนี้ก็จะอีหลุกขลุกขลักน่าดูพอสมควร พืชผักสูญเสีย ดูแลยาก ส่งผลให้ผลผลิตห่างหายไปจากท้องตลาด ความต้องการสูงหรือมีเท่าเดิม แต่ผักเดินทางเข้าตลาดได้น้อย ส่งผลให้มีราคาแพง ใครทำใครผลิตได้ถือว่าต้องใช่ฝีมือ จึงจะสามารถกอบโกยกำไรได้ไม่มากก็น้อย

ดินที่เหนียวมีลักษณะการระบายถ่ายเทน้ำไม่ดี จะทำให้เกิดปัญหาที่ว่ามาด้านบน ส่วนใหญ่ในภาวะปรกติชั้นใต้ดินก็จะเป็นดานแน่นแข็ง เมื่อฝนตกเปียกน้ำก็เหนี่ยวแน่นกักขังน้ำไม่ให้ไหลออกไปที่อื่น ส่งผลทำให้รากจมน้ำขาดอากาศ อ่อนแอ ใบเหลือง และเชื้อราแบคทีเรียก็ฉกฉวยทำลาย ทำให้ต้นไม้ส่วนใหญ่ในช่วงหน้าฝนและมีน้ำท่วมขังมักจะมีอายุไม่ยืนยาว ยิ่งเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเข้าไปเยียบย่ำทำแต่งใต้บริเวณโคนต้นทันทีทันใด ยิ่งทำให้ต้นไม้ตายเร็วขึ้นเท่านั้น เพราะรากยังอ่อนแอ ไม่แข็งแรง วิธีที่ถูกต้องควรจะรอให้ดินแห้งดีเสียก่อนจึงค่อยเข้าไปบริหารจัดการ การใช้สารละลายดินดาน ฉีดพ่นในอัตรา 30 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรหลังฝนตกหรือดินเปียกจะทำให้มีประสิทธิภาพในการนำพาให้สารแอมโมเนียมรอเลทซัลเฟต (ALS) ทะลุทะลวงร่วงไหลลงไปสู่ดินชั้นล่าง ทำให้ฝ่าด่านกัดเซาะดินดานให้มลายหายไป ช่วยทำให้ดินระบายน้ำได้ดีไม่ท่วมขัง อากาศหรือออกซิเจนก็เพียงพอให้รากได้หายใจ ใกล้ฤดูที่น้ำมากจะหลากมา เมืองฟ้าอมรอย่างกรุงเทพฯไม่มีนามีไร่ให้ต้องทำ น้ำมากๆจึงยังไม่ได้ไคร่หา มีแต่เพียงนายกฯหญิงที่ประชาชนหวังพึ่งพิงดูแล ขอให้ “เอาอยู่” จริงๆสักกะที ปีนี้จะได้ไม่ต้องหนีน้ำ…

มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ //www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 17 กันยายน 2555   
Last Update : 17 กันยายน 2555 18:48:56 น.   
Counter : 1496 Pageviews.  

แก้ปัญหาดินด่างด้วยภูไมท์ซัลเฟตถุงสีแดง

ส่วนใหญ่แล้วปัญหาเรื่องดินที่พี่น้องเกษตรกรพบมักจะเป็นปัญหาเรื่องดินเปรี้ยวดินกรด เพราะจากการสำรวจตรวจวัดสภาพของดินทั่วประเทศมีผลออกมาว่าส่วนใหญ่แล้วดินของประเทศไทยจะเป็นกรดมากกว่าดินด่าง ดินเค็มทำให้บางพื้นที่เพาะปลูกในสภาพดินด่างของพี่น้องเกษตรกร ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาที่ถูกต้องเพราะเกษตรกรบางรายอาจจะนำกลุ่มวัสดุปูน ปูนมาร์ล (Ca(Co3)2) ปูนเผา(Cao) ปูนขาว (Ca(OH)2) ปูนโดโลไมท์ (CaMg(Co3)2) ปูนฟอสเฟต (Ca3(Po4))ไปปรับปรุงแก้ไขดินที่มีสภาพเป็นด่าง ซึ่งเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมดินให้แย่ลงไปจากเดิมเพิ่มขึ้นไปอีกเพราะเป็นการนำเอาด่าง ไปใส่เพิ่มดินที่เป็นด่าง ด่าง บวก ด่างทำให้เป็นซุปเปอร์ด่าง ปลูกพืชไร่ไม้ผลก็เสียหายได้ผลผลิตน้อย

ดินด่างคือดินที่มีค่าพีเอชมากกว่า 7.0 ขึ้นไปจะทำให้ดินแน่นแข็งสูญเสียไนโตรเจนออกไปอย่างรวดเร็ว ละลายแร่ธาตุกำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม โบรอนและโมลิบดินั่มออกมามากเกินไปจนเป็นพิษต่อใบพืช ส่งผลให้ใบพืชมีสภาพไหม้ดำ แห้งเหี่ยวไม่ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ย การเจริญเติบโตช้ากว่าปรกติ ยิ่งเพิ่มปริมาณการใส่ปุ๋ยมากขึ้นกว่าเดิมก็ไม่เกิดผลประโยชน์อันใดมีแต่จะทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนเพิ่มขึ้นหนักกว่าเดิมขึ้นไปอีกแต่ไม่ได้ช่วยเรื่องผลผลิตให้เพิ่มขึ้นได้แม้แต่น้อยเพราะรากของพืชไม่สามารถจะดูดกินสารอาหารได้เนื่องด้วยดินได้ทำการบล็อคไว้

การแก้ไขปัญหานี้ สามารถทำได้ไม่ยากเพียงใช้กลุ่มวัสดุของปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกใส่ลงไปในแปลงนาหรือพื้นที่ทำการเพาะปลูกมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาวะความเป็นด่างของดินมีความเป็นด่างมากก็ต้องใช้มาก มีความเป็นด่างน้อยก็ใช้น้อย ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก (OrganicMatter) เหล่านี้จะค่อยปลดปล่อยย่อยสลายตัวเองออกมาในรูปของกรดอินทรีย์ (OrganicAcid) ทำปฏิกิริยากับดินไปทีละเล็กละน้อยจนทำให้โครงสร้างดินค่อยกลับมาเป็นดินที่มีค่าเหมาะสม (พีเอช 5.8-6.3) ตามความมากน้อยและเข้มข้นของกรดอินทรีย์หรือปริมาณปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกที่ได้ถูกย่อยเติมเพิ่มลงไปหรือในกรณีที่ปลูกเป็นการค้าต้องการเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็วก็สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของชมรมเกษตรปลอดสารพิษได้ด้วยการใช้ ภูไมท์ซัลเฟต ถุงสีแดง ซึ่งมีคุณสมบัติในการแก้ปัญหาดินที่เป็นด่างโดยเฉพาะโดยใช้ครั้งละประมาณ 50 – 100 กิโลกรัมต่อไร่สำหรับดินที่มีค่าความเป็นด่างเล็กน้อยถึงปานกลาง(พีเอช 7.5 – 8.5) แต่ถ้ามีค่าพีเอชสูงกว่า 8.5 ขึ้นไปก็อาจจะต้องเพิ่มปริมาณขึ้นไปตามความเหมาะสมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2986-1680-2

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2555   
Last Update : 20 สิงหาคม 2555 17:27:50 น.   
Counter : 3625 Pageviews.  

ผลิตฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลริค แอซิดแบบง่ายใช้เอง

พืชตระกูลแตง พืชตระกูลถั่ว องุ่นส่วนใหญ่พี่น้องเกษตรกรมักต้องการให้ช่อดอก ผลมีความยืดยาวสวยงาม เพราะช่วยให้กระตุ้นต่อมอยากและต้องตาต้องใจแก่ผู้บริโภคเมื่อได้พบเห็นดูแล้วน่าซื้อหารับประทานว่างั้นเพราะคิดว่าน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการดูแลทะนุถนอมมาอย่างดี ผลแตงกวาที่เรียวยาวฝักถั่วที่ยาวสวย ช่อองุ่นที่พวงยาวใหญ่ระย้าใครๆ ก็อยากจะซื้อหารับประทานจึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มักรีบขวนขวายหาฮอร์โมนต่างๆ นานามาประเคนใส่เข้าไปในสวนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่มาในระยะหนึ่งผู้บริโภคก็เริ่มมีความรู้มากขึ้นถึงผลเสียของการบริโภคฮอร์โมนสังเคราะห์ที่สะสมในปริมาณมากกลัวว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวจากการที่ได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลที่มีมากมายล้นหลามจากอินเทอร์เน็ต มั่วมั่งจริงมั่ง ก็ยังดีเพราะอย่างน้อยก็ถือว่าได้รับความรู้อีกหลายเรื่องที่ไม่เคยได้พบได้เห็นจากที่ไหนมาก่อน

หนึ่งในนั้นคือฮอร์โมนที่ชื่อว่า จิ๊บเบอเรลริค แอซิดที่นำมาใช้กันถ้วนทั่วหลากหลายยี่ห้อ ในพืชที่ได้เอ่ยไปเบื้องต้น และยังมีอีกเยอะแยะมากมายที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงเพราะค่อนข้างเป็นที่นิยมและใช้กันมากจริงๆ การค้นพบจิ๊บเบอเรลริคแอซิดครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อสมัยก่อนสงครามโลก โดยพบสารนี้อยู่ในเชื้อราและต่อมาก็ได้มีการพบสารนี้อีกในต้นพืช จึงจัดว่าเป็นสารฮอร์โมนพืชอย่างหนึ่ง สารจิ๊บเบอเรลริคแอซิดนี้เท่าที่มีการค้นพบมาตั้งแต่เริ่มแรกมาจนถึง ปัจจุบัน มี 65 ชนิดโดยแต่ละชนิดมีโครงสร้างและโมเลกุลคล้ายกัน จึงเรียกชื่อแต่ละชนิดเหมือนกันหมดโดยมีตัวเลขต่อท้ายเช่น GA1, GA2, GA3……GA65 เป็นต้น ข้อมูลเพิ่มเติมหาอ่านได้ในหนังสือชื่อฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แต่งโดย อาจารย์พีรเดช ทองอำไพ พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี 2537

เมื่อเรารู้ว่าสารจิ๊บเบอเรลริค แอซิดนี้ก็มีอยู่ในพืชด้วยเช่นกันโดยเฉพาะบริเวณยอดอ่อน ก้านหรือช่อดอกของไม้เกือบทุกชนิดแต่ก้านช่อดอกไม้ที่ยาวใหญ่และหาง่าย มีฮอร์โมนของจิ๊บเบอเรลริค แอซิดอยู่มากที่สุดก็ไม่น่าจะเป็นอะไรไปได้นอกจาก “ดอกของกล้วย” ซึ่งก็คือ หัวปลี และก้านของปลีที่ยืดยาวออกมานั่นเอง อาจจะใช้ทั้งหัวปลีหรือก้านสุดแท้แต่ใครจะสะดวกหรือบางท่านอาจจะเสียดายรอไว้ให้ตัดเครือออกไปเสียก่อนก็ได้นะครับ วิธีทำก็สามารถใช้ทั้งปลี ก้านเครือ (งวงหัวปลี)ใช้นำมาสับบดตำให้ละเอียดให้ได้ 3 กิโลกรัม หมักกับ กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์ล้างแผล500 ซี.ซี. และใช้ หินแร่ภูเขาไฟ (สเม็คโตไทต์,ไคลน็อพติโลไลท์, พูมิช)จับกลิ่นและก๊าซพิษอย่างแอมโมเนีย, ก๊าซไฮโดรเย่นซัลไฟด์และมีเทนเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานได้สะดวก ออกซิเจนมากขึ้น หมักทิ้งไว้ 1 - 2สัปดาห์คั้นเอากากออก หลังจากนั้นปิดฝาเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นเดือนๆครับ นำไปฉีดพ่นในถั่ว ผักบุ้ง แตงกวา ชะอม และองุ่น เพื่อยืดช่อ ยืดดอก ยืดก้าน ในอัตรา 10 – 20 ซี.ซี.ต่อน้ำ20 ลิตรรับรองว่าได้ผลดีไม่แพ้เคมีสังเคราะห์ที่ขายในท้องตลาดแน่นอนครับ

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 09 สิงหาคม 2555   
Last Update : 9 สิงหาคม 2555 17:52:56 น.   
Counter : 7969 Pageviews.  

ประโยชน์ของหินฟอสเฟต

กลุ่มวัสดุปูนในบ้านเรานั้นมีให้เลือกใช้ค่อนข้างมากไม่ว่าจะเป็นปูนมาร์ล ปูนเปลือกหอย ปูนแคลเซียม ปูนเผา ปูนขาว โดโลไมท์ และฟอสเฟตเหมาะต่อการนำไปใช้ในในเลือกสวนไร่นาในอดีตนั้นจะได้รับการจำแนกแจกจ่ายจากภาครัฐกันค่อนข้างมากเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดินโดยที่ไม่ทราบว่าถ้านำไปใช้กับดินที่มีค่าพีเอชเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่แล้วนั้นจะทำให้เกิดการสะสมด่างในดินทำให้ดินเสียกลายเป็นดินด่างขาดความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในการปลูกพืชหรือเร่งการเจริญเติบโตเพราะดินด่างจะจับตรึงปุ๋ยและธาตุอาหารบางตัว ปลดปล่อยไนโตรเจนสูญสลายหายไปในอากาศได้ง่ายอีกทั้งจะช่วยทำให้โมลิบดินั่ม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ละลายออกมามากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืชทำให้ใบไหม้อีกทั้งการใช้ปูนจนเกินความจำเป็นหรือเกินความพอดีทำให้ต้องเสียต้นทุนในการแก้ไขปรับปรุงดินด่างให้กลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นกรดอ่อนอีกซึ่งเป็นการเสียโอกาสในการเพาะปลูกเนื่องด้วยต้องใช้ระยะเวลานาน

หินฟอสเฟตหรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ร๊อคฟอสเฟตนั้นควรจะนำมาใช้ให้ตรงกับช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชเช่นใช้รองก้นหลุมปลูกเพื่อสร้างหรือกระตุ้นให้เกิดรากหาอาหารได้มากขึ้นแต่ต้องใช้เพียงเล็กน้อยพอประมาณเพียง 2-3 ช้อนแกง ในดินที่มีสภาพเป็นด่างควรใช้อย่างระมัดระวังหรือไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้เลยเพราะแทนที่จะได้ประโยชน์จากธาตุฟอสฟอรัสแต่กลับได้ความเป็นด่างสะสมในดินเข้ามาแทนอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีในดินที่เป็นด่างนั้นกลุ่มวัสดุปูนต่างๆ แทบไม่จำเป็นเลยในปัจจุบันก็สามารถที่จะใช้หินแร่ภูเขาไฟในรูปแบบต่างๆ (ซีโอ-พูมิช,ซีโอ-พูมิชซัลเฟอร์)เข้ามาทดแทนได้โดยที่ไม่สร้างปัญหาเรื่องดินเป็นด่าง หรือจะใช้ขี้เถ้าจากต้นงาหรือถั่วเหลืองก็มีแร่ธาตุแคลเซียมฟอสเฟตสูงเช่นกันอันนี้ก็ต้องค่อยๆคิดค่อยๆทำกันดูนะครับ

หินฟอสเฟตนั้นพืชมีความต้องการใช้มากในช่วงที่มีการออกดอก ผสมเกสรและในระยะที่เป็นผลแล้ว ถ้าในดินมีการสะสมธาตุฟอสฟอรัสและแคลเซียมน้อยพืชจะแสดงอาการขาดได้ทันทีและมีความชัดเจนค่อนข้างมาก ภาพรวมของการที่พืชต้องการใช้แคลเซียมและฟอสฟอรัสก็คือในช่วงที่มีมีการเปลี่ยนผ่านเปลี่ยนถ่าย เปลี่ยนสถานการณ์การเจริญเติบโตไปในแต่ละช่วง ในไม้ผลต่างๆสามารถใส่ฟอสเฟตหรือนำไปผสมน้ำฉีดพ่นก่อนออกดอก 1 – 2 สัปดาห์ ในผักกินใบใส่หรือฉีดพ่นหลังจากผักมีใบจริง 2 -3ใบ ส่วนผักข้อถี่ ผักในตระกูลกะหล่ำให้ใส่หรือฉีดพ่นเริ่มห่อหรือสร้างหัว และผักที่กินผลชนิดต่างๆควรใช้ฟอสเฟตในช่วงระยะที่มีการออกดอกจะทำให้ขั้วดอกเหนียวและแข็งแรงดียิ่งขึ้น

มนตรี บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 31 กรกฎาคม 2555 17:57:24 น.   
Counter : 4333 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  

greenagro
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 34 คน [?]




เกษตรปลอดสารพิษ ชีวิตจะปลอดภัย อายุขัยยืนนาน ลูกหลานรื่นเริง

สวัสดดีครับ สำหรับผู้ที่สนใจการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพ มือสมัครเล่น มือใหม่ มือเก่า ก็เข้าได้ทุกคนครับ ขอเชิญเข้ามาเยี่ยมชมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ที่นี่เลยนะครับ "ชีวิตจะได้มีสุขกับเกษตร"

ประวัติและผลงาน


ปี ชื่อหนังสือ ผู้แต่ง / เรียบเรียง จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์
ปี 2535 พนักงานชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
ปี 2540 ธุรการ/จัดพิมพ์หนังสือ สมุนไพรใช้ในกุ้ง : ลูกใต้ใบ พญายอ ฟ้าทะลายโจร อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ปี 2540 ธุรการ/จัดพิมพ์หนังสือ การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ปี 2541 กองบรรณาธิการ พืชผักปลอดสารพิษด้วยภูไมท์ อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ปี 2541 กองบรรณาธิการ การใช้ปูนและซีโอไลท์ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ศิลป์ การใช้ปูนและซีโอไลท์ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ปี 2542 กองบรรณาธิการ มะนาวด่านเกวียนปลอดสารพิษ อ.ดีพร้อม ไชวงศ์เกียรติ ชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร อักษรสยามการพิมพ์
ปี 2542 ผู้จัดการชมรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร
ปี 2553 บทความตีพิมพ์ นิตยสารผักเศรษฐกิจ บ. มิเดีย ออฟ กรีน กรุ๊ฟ จก. บ. มิเดีย ออฟ กรีน กรุ๊ฟ จก.
ปี 2554 บทความตีพิมพ์ เทคโนโลยีชาวบ้าน มติชน มติชน
ปี 2554 บทความดีพิมพ์ หลากวิธีการบังคับมะนาวนอกฤดู "เงินล้าน" เล่ม 2 พริ้ม ศรีหานาม บจ. นาคา อินเตอร์มีเดีย นาคา อินเตอร์มิเดีย

ปี 2555 คอลัมน์ประจำ/ไม่ประจำ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์, ประชาชาติธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, ไทยโพสต์ ฯลฯ, นิตยสาร ไม่ลองไม่รู้, ผักเศรษฐกิจ, รักษ์เกษตร, เกษตรวาไรตี้ ฯลฯ

ปี 2556- ปัจจุบัน นักกจัดรายการวิทยุ สถานีวิทยุมก.บางเขน, มก. ขอนแก่น, มก. เชียงใหม่, มก. สงขลา และเครือข่ายสยามชัยเรดิโอ

ปัจจุบัน ประธาน/กรรมการผู้ัจัดการ ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ/บริษัท ไทยกรีนอะโกร จำกัด
[Add greenagro's blog to your web]