ยินดีที่เข้ามา เมื่อหลงเข้ามาแล้ว ก็ทักทายกันหน่อยนะนะนะนะนะนะนะ
Group Blog
 
All Blogs
 

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน
สำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก สิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการพาเจ้าตัวเล็กไปรับวัคซีนตามตารางนัดของคุณหมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่ทั้งหลายต่างทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในการรับวัคซีนแต่ละครั้งนั้นมีหลาย ๆ เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนด้วย เนื่องจากบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็ก และนำมาซึ่งความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้
พญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ผู้ที่จะมาให้คำแนะนำในการพาลูกไปรับวัคซีนอย่างปลอดภัยไร้กังวล ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อควรรู้ก่อนไปรับวัคซีน และการรับมือกับผลข้างเคียงหลังกลับจากรับวัคซีน
ข้อควรรู้ก่อนพาลูกไปรับวัคซีน
เริ่มต้นกันที่ส่วนแรก พญ.อัมพร ให้คำแนะนำว่า การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพาลูกไปรับวัคซีนทุกครั้งมีข้อควรรู้ที่ต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญดังต่อไปนี้
- ควรนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้ตรวจสอบได้ว่า ลูกของเราได้รับวัคซีนตัวไหนไปแล้วบ้าง หรือต้องรับวัคซีนตัวไหนเพื่อกระตุ้นเป็นระยะ การลืมนำสมุดวัคซีนไป อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการรับวัคซีนได้ไม่ว่าจะเป็นการได้รับวัคซีนซ้ำซ้อนหรือได้รับไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่ได้รับวัคซีนที่สถานบริการเดิม หรือกับกุมารแพทย์ท่านเดิม
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องพาลูกไปรับวัคซีน แต่ลูกกำลังไม่สบาย ตัวร้อน มีไข้ขึ้นสูง ควรจะเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าเลื่อนกำหนดไปเล็กน้อยแล้ววัคซีนจะไม่มีประสิทธิภาพหรือต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าลูกแค่เป็นหวัด ไม่ถึงกับเป็นไข้ตัวร้อนจัดก็สามารถจะพาไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด
- ตัวเชื้อ หรือสารบางตัวที่อยู่ในวัคซีนอาจทำให้ลูกแพ้ หรือมีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรบอกคุณหมอถึงการแพ้ของลูกก่อนรับวัคซีน เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา หรือบอกให้ทราบว่า ตอนนี้ลูกกำลังรับยาอะไรอยู่ รวมไปถึงโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ โรคชัก หรือมีความผิดปกติทางสมองซึ่งเป็นโรคที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์ เนื่องจากอาจมีไข้สูงซึ่งสามารถไปกระตุ้นให้ลูกมีอาการผิดปกติจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่
"เด็กที่แพ้นมวัว ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ห้าม แต่ถ้าแพ้ไข่ เด็กอาจมีอาการข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะกระบวนการผลิตมีการเพาะเชื้อไวรัสในตัวอ่อนของไก่ ดังนั้น หากเด็กมีอาการแพ้รุนแรง กินไข่ปุ๊บ ผื่นขึ้นปั๊บ ต้องบอกคุณหมอให้ทราบก่อน หรือบางคนแพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิดก็จำเป็นต้องเลี่ยงวัคซีนบางตัว เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด และวัคซีนอีสุกอีใส" พญ.อัมพรอธิบายเสริม
ป้องกันลูกจากผลข้างเคียงหลังรับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม หลังพาลูกไปรับวัคซีนแล้ว เด็กบางคนอาจได้รับผลข้างเคียง หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแล และเฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เช่น
- อาการบวมแดง หรือมีก้อนแข็งบริเวณที่ฉีดวัคซีน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนทุกเข็ม ไม่ต้องกังวลจนมากเกินไปไปครับ เพราะอาการจะเป็นประมาณ 1-2 วันก็จะหายไปเอง สามารถช่วยบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น แต่ถ้ามีอาการปวดมากให้ทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ที่สำคัญพยายามอย่าให้แผลอักเสบ เพราะอาจเกิดตุ่มหนองได้
- ส่วนอาการไข้ เป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนเกือบทุกชนิด ดังนั้นหากเกิดไข้ สามารถช่วยลูกได้ด้วยเช็ดตัว และให้กินยาลดไข้ ซึ่งอาการมักจะหายไปใน 2-3 วัน แต่ก็ต้องเฝ้าระวังกรณีไข้สูงแล้วเกิดอาการชักด้วย โดยเฉพาะหลังพาลูกไปรับวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์
อย่างไรก็ดี คุณหมอไม่แนะนำให้กินยาลดไข้ดักทันทีหลังรับวัคซีนโดยที่เด็กยังไม่มีไข้ เพราะมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเด็กที่กินยาดัก กับกลุ่มที่ไม่ได้กินยาดัก พบว่ากลุ่มหลังภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดีกว่า แต่ถ้าเด็กชักเพราะไข้ขึ้นสูง ให้จับเด็กนอนตะแคงหน้าเพื่อไม่ให้ลิ้นไปอุดทางเดินหายใจ และไม่ควรนำสิ่งใดงัดหรือใส่ในปากขณะเด็กกำลังชักเกร็ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากหรือฟันหักหลุดเข้าไปอุดหลอดลมซึ่งจะเป็นอันตราย แต่ควรเช็ดตัวลดความร้อนให้มากที่สุดโดยใช้น้ำที่อุณหภูมิห้องเช็ดเน้นตามซอกคอ ข้อพับต่างๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
- สำหรับผื่นตามผิวหนังนั้น อาจเกิดได้จากการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีนหรือเกิดจากเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโดยตรง เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส โดยหลังฉีด 5-7 วันอาจมีไข้ และมีผื่นขึ้น เนื่องจากโดยปกติเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดไข้ออกผื่นอยู่แล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเหล่านี้จึงสามารถทำให้เกิดผื่นคล้ายการติดโรคโดยธรรมชาติเช่นกัน แต่ผื่นที่ขึ้นจากการฉีดวัคซีนมักไม่อันตรายและจะหายไปในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
แต่ถ้าหากมีผื่นลมพิษขึ้นด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้หลังรับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย หรือบวมรอบตา รอบคอ มีอาการเหมือนหายใจไม่ออก อาจบ่งชี้ถึงอาการแพ้ที่รุนแรง ถ้าสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที แล้วอย่าลืมแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่คุณหมอก่อนรับวัคซีนครั้งต่อไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เหมือนครั้งก่อน ๆ
ดังนั้น การพาลูกไปรับวัคซีนเป็่นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่การเตรียมตัว และรับมือกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เช่นกัน

ข้อแนะนำ ในการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของเด็กสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรงหรือบางส่วนของเชื้อโรคที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ฉะนั้นเมื่อลูกของท่านรับฉีดวัคซีนในวันนี้แล้วอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไป จะมีอาการไม่มากและจะหายไปเอง
1. ตุ่มหนอง มักเกิดจากวัคซีน บี ซี จี ที่ฉีดที่ไหล่ซ้ายตอนแรกคลอด พบหลังฉีด 2-3 สัปดาห์และเป็นๆ ยุบๆ 3-4 สัปดาห์จึงหายเอง
2. ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีนเด็กอาจจะร้องกวน งอแงได้ ถ้าอาการมาก คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบและรับประทานยาแก้ปวด
3. ไข้ตัวร้อน มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก* ที่ฉีดตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน และ 4 ปี คุณแม่ควรช่วยเช็ดตัวลูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับต่างๆ ควรเช็ดมากๆ และอาจให้รับประทานยาลดไข้ประเภท พาราเซตามอล
4. ไอ น้ำมูก ผื่น อาจพบหลังฉีดวัคซีนพวกหัด หัดเยอรมันไปแล้ว 5 วัน โดยมากจะไม่รุนแรง ถ้าเด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม เพลียมาก ไม่เล่น ดูดนม หรือรับประทานอาหารไม่ได้ต้องพากลับมาพบแพทย์ แต่ถ้าไม่มีอาการอื่น ๆ มักหายเอง แนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ
5. ชัก มักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยตรง แต่อาจเกิดจากไข้สูงจัดเกินไป ดังนั้นการป้องกันอย่าให้ไข้สูงเกินไป จึงมีความสำคัญมาก และเมื่อเกิดชักแล้วต้องปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตกใจ
2. จับหน้าของเด็กหันไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง หรือ นอนคว่ำเพื่อป้องกันการสำลัก
3. ไม่แนะนำ ให้เอาของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ไม้ ฯลฯ ใส่ในปาก เพราะจยิ่งทำให้สำลักมากขึ้น ยังไม่เคยพบใครชักแล้วกัดลิ้นตัวเองขาด
4. รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน
5. ระหว่างเดินทางถ้าเด็กยังตัวร้อนควรเช็ดตัวมาตลอดทางด้วย
* ปัจจุบันมีวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดใหม่ ที่มีอาการข้างเคียงน้อยกว่า กรุณาขอคำแนะนำจากแพทย์

6 วิธีดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน (Mother&Care)
คุณแม่อาจสังเกตพบอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย หลังจากรับการฉีดวัคซีน เช่น มีผื่น บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือตัวร้อน เป็นไข้ร้องไห้โยเยผิดปกติ อาการเหล่านี้ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ถูกวิธี เราจึงเตรียมความพร้อมให้คุณพ่อคุณแม่รับมือดูแลอาการด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
1.ผื่นขึ้น
หลังจากการฉีดวัคซีนผื่นจะค่อย ๆ ขึ้นและหายไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนประกอบในวัคซีนหรือเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโดยตรงทำให้เกิดผื่นคล้ายการติดโรคได้
ข้อแนะนำคือ ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อความสบายตัว หากผื่นที่ขึ้นไม่หายเป็นนานอาจไม่ใช่สาเหตุจากการฉีดวัคซีนควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาการมักหายไปเองภายใน 2-3 วันค่ะ
2.ปวด บวม แดง
หากลูกมีอาการบวมหรือแสดงอาการปวด (ร้องโยเยมาก) ให้คุณแม่ประคบด้วยน้ำแข็งบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้อาการดังกล่าวสามารถหายไปภายใน 1-3 วัน แต่หากบริเวณที่บวมแดง เป็นไตหรือเป็นแผล คุณแม่ลองสังเกตว่า ลูกขยับแขนข้างที่ฉีดวัคซีนได้น้อยลงหรือไม่ขยับแขน อาการเช่นนี้อาจเกิดการติดเชื้อจนเป็นตุ่มหนอง ต้องพาลูกน้อยไปพบคุณหมอค่ะ
3.มีไข้
ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดพอหมาด ๆ เช็ดตัวลดไข้ บริเวณซอกคอ ข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย อาการไข้ก็จะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 วัน ถ้าไข้ยังสูง ไม่ยอมลด อาจให้ยาลดไข้ตามที่คุณหมอแนะนำ
4.โยเย
เวลาที่เจ้าตัวเล็กงอแง ร้องไห้ อย่าเพิ่งร้อนใจไปค่ะ คุณแม่ต้องใจเย็น ใช้วิธีปลอบโยนลูก เช่น เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการพาไปเดินเล่น ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี การโอบกอดอุ้มลูกโยกตัวไปมาเบา ๆ เพื่อช่วยสร้างความอบอุ่น สบายใจ ให้ลูกน้อยหายจากอาการโยเยค่ะ


5.ชัก
ถ้าลูกมีไข้สูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการชัก เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมา นอกจากต้องตั้งสติให้ดีเป็นอันดับแรกแล้ว คุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้
จับลูกนอนตะแคงหน้า เพื่อป้องกันการสำลักหรือลิ้นไปอุดทางเดินหายใจ
ไม่นำของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ฯลฯ ใส่ปากลูก เพราะจะทำให้สำลักมากขึ้น และรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที
ระหว่างเดินทางถ้าลูกมีไข้ ตัวร้อน ควรเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนให้มากที่สุด
6.ฝี
มีลักษณะเป็น ๆ ยุบ ๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปไม่จำเป็นต้องใส่ยา หรือทายาปิดแผลค่ะ หากฝีเกิดแตกเอง คุณแม่สามารถใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดทาเช้า-เย็น จนกว่าฝีจะแห้ง และควรระวังไม่บีบ ไม่กด หรือทำอะไรกับฝีที่ขึ้นเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ หากเกิดติดเชื้อ ฝีอักเสบ ต้องรีบไปพบคุณหมอทันที
วัคซีนแบบไหน มีอาการข้างเคียงบ้าง

วัคซีน อาการข้างเคียง
วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) อาจมีตุ่มนูน เป็นหนองขนาดเล็ก บริเวณที่ฉีดหลังฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน มีไข้ และอาจเกิดอาการชัก มักเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หลังรับวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ อาจมีอาการอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพาต แต่พบได้น้อยมากและหายเองได้
วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม มีไข้ และผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด หลังได้รับวัคซีน 5-7 วัน
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น
วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น

การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหลังจากเจ้าตัวเล็กรับวัคซีน และเตรียมพร้อมข้อมูลด้วยวิธีที่เราแนะนำน่าจะเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับอาการข้างเคียงด้วยตัวเอง ไม่ต้องกังวลใจเรื่องสุขภาพของลูกวัยเบบี๋ค่ะ




 

Create Date : 18 ธันวาคม 2555    
Last Update : 18 ธันวาคม 2555 19:16:27 น.
Counter : 29150 Pageviews.  

ความหมายของคำว่าจอบบ้อน

ความหมายของคำว่า จอบบ้อน

หากจะอธิบายการ "จอบบ้อน" ให้เข้าใจ พอสังเขป ดังนี้..
เราควรแยกคำออกมาก่อน คือคำว่า "จอบ" กับ "บ้อน"

"จอบ" เป็นคำกิริยา พอจะแปลได้ว่า เป็นการค่อยๆทำ ทำเบาๆ หรืออยู่นิ่งๆ เพื่อรอคอยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการกระทำที่ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ตัว ซึ่งไม่เกี่ยวกับ"จอบ"ของภาษากลางที่เป็นคำนาม แปลว่าอุปกรณ์ที่ใช้ขุดดิน ซึ่งภาษาอิสานแถวบ้านผมเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า"บักจก ..."

"บ้อน" เป็นคำกิริยาเช่นเดียวกัน เป็นลักษณะของปลาที่ว่ายขึ้นมาผิวน้ำแล้วตวัดกลับตัว ลงไปในน้ำอย่างรวดเร็ว จนเกิดคลื่นของน้ำและอากาศเหนือผิวน้ำ บ้านผมเรียกว่า"ไพน้ำ" ซึ่ง"ไพน้ำ" นี้ผู้ที่มีความชำนาญจะสามารถจำแนกได้ว่าไพน้ำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปลาชนิดใด ขนาดใด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด เพื่อจะได้หว่านแหไปถูก...




เมื่อรวมเป็นคำว่า"จอบบ้อน" จึงพอจะแปลได้ว่า เป็นการค่อยๆทำ การทำเบาๆ การอยู่นิ่งๆ ไม่ให้รู้ว่าเราอยู่ตรงนั้น




การจอบบ้อน เป็น Verb เป็นการกระทำตั้งแต่ต้นจนจบ ก็ต่อเมื่อได้หว่านแหออกไป
การจอบบ้อนอย่างถูกวิธีมีสองแบบคือ
1. การนั่ง การขึ้นแห ( เป็นการเตรียมตัวหว่านแหได้ทุกขณะ ) จะต้องแบ่งลูกแหให้ได้ 2 ส่วนเท่าๆกันสำหรับการนั่งจอบบ้อนต้อง ให้ลูกแหทั้งสองข้างกองอยู่ที่พื้นดิน ( ต้องบริเวณทีเตียนๆหน่อยนะ หรือกองอย่างมีระเบียบไม่งั้นหว่านแหไม่แตก ) เพื่อไม่ต้องออกแรงยกลูกแหอยู่ตลอดเวลา มันจะเมื่อย
2. การยืน เช่นกัน การยืนจอบบ้อนที่ถูกต้อง ให้ลูกแหฝั่งซ้าย ที่ใช้มือช้ายจับแหอยู่ ยกลูกแหพาดบ่าไปด้านหลังเสมือนแบกลูกแหไว้ ส่วนลูกแหฝั่งด้านขวา ให้พักไว้ที่หัวเข่าหรือบริเวณหน้าขาขวา จะได้ไม่ต้องออกแรงยกมาก.
การเหวี่ยงแห
- ถ้าถนัดขวา การเหวี่ยงแหที่ถูกต้อง ให้เหวียงไปยังเป้าหมายลักขณะทำมุม 30 องศา หรือเกือบจะหันข้างให้เป้าหมาย การปล่อยแหให้ปล่อยที่มือขวาก่อน ค่อยๆปล่อยอย่างเป็นระเบียบ เมื่อแหที่มือขวาหมอ ก็ปล่อยแหที่มือซ้าย นี้สำคัญต้องปล่อยและต้องดึงเพื่อบังคับทิศทางของแหด้วย ถ้าใครถนัดซ้ายก็ทำเช่นกันเพียงถือแหและเหวี่ยงแหคนละด้าน ถ้าทำได้เช่นนี้ รับรอง จอมแทบขาด



อ้างอิงจาก

//www.baanmaha.com/community/archive/index.php/t-24801.html


อีกความหมายที่นิยมใช้กันของคำว่า "จอบบ้อน" หมายถึง การรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ




 

Create Date : 01 กันยายน 2551    
Last Update : 7 สิงหาคม 2553 21:26:42 น.
Counter : 4704 Pageviews.  


จอบบ้อน
Location :
นครปฐม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add จอบบ้อน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.