ยินดีที่เข้ามา เมื่อหลงเข้ามาแล้ว ก็ทักทายกันหน่อยนะนะนะนะนะนะนะ
Group Blog
 
All Blogs
 
เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน

เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้หลังพาลูกไปฉีดวัคซีน
สำหรับบ้านที่มีลูกเล็ก สิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการพาเจ้าตัวเล็กไปรับวัคซีนตามตารางนัดของคุณหมอ ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณแม่ทั้งหลายต่างทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ในการรับวัคซีนแต่ละครั้งนั้นมีหลาย ๆ เรื่องที่ต้องให้ความสำคัญทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนด้วย เนื่องจากบางตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็ก และนำมาซึ่งความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้
พญ.อัมพร สันติงามกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ผู้ที่จะมาให้คำแนะนำในการพาลูกไปรับวัคซีนอย่างปลอดภัยไร้กังวล ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ ข้อควรรู้ก่อนไปรับวัคซีน และการรับมือกับผลข้างเคียงหลังกลับจากรับวัคซีน
ข้อควรรู้ก่อนพาลูกไปรับวัคซีน
เริ่มต้นกันที่ส่วนแรก พญ.อัมพร ให้คำแนะนำว่า การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนพาลูกไปรับวัคซีนทุกครั้งมีข้อควรรู้ที่ต้องใส่ใจ และให้ความสำคัญดังต่อไปนี้
- ควรนำสมุดบันทึกการรับวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง เพื่อจะได้ตรวจสอบได้ว่า ลูกของเราได้รับวัคซีนตัวไหนไปแล้วบ้าง หรือต้องรับวัคซีนตัวไหนเพื่อกระตุ้นเป็นระยะ การลืมนำสมุดวัคซีนไป อาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการรับวัคซีนได้ไม่ว่าจะเป็นการได้รับวัคซีนซ้ำซ้อนหรือได้รับไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ไม่ได้รับวัคซีนที่สถานบริการเดิม หรือกับกุมารแพทย์ท่านเดิม
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องพาลูกไปรับวัคซีน แต่ลูกกำลังไม่สบาย ตัวร้อน มีไข้ขึ้นสูง ควรจะเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนจนกว่าจะหายดี ไม่ต้องกังวลว่า ถ้าเลื่อนกำหนดไปเล็กน้อยแล้ววัคซีนจะไม่มีประสิทธิภาพหรือต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าลูกแค่เป็นหวัด ไม่ถึงกับเป็นไข้ตัวร้อนจัดก็สามารถจะพาไปรับวัคซีนได้ตามกำหนด
- ตัวเชื้อ หรือสารบางตัวที่อยู่ในวัคซีนอาจทำให้ลูกแพ้ หรือมีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรบอกคุณหมอถึงการแพ้ของลูกก่อนรับวัคซีน เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา หรือบอกให้ทราบว่า ตอนนี้ลูกกำลังรับยาอะไรอยู่ รวมไปถึงโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ โรคชัก หรือมีความผิดปกติทางสมองซึ่งเป็นโรคที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์ เนื่องจากอาจมีไข้สูงซึ่งสามารถไปกระตุ้นให้ลูกมีอาการผิดปกติจากโรคประจำตัวที่เป็นอยู่
"เด็กที่แพ้นมวัว ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ห้าม แต่ถ้าแพ้ไข่ เด็กอาจมีอาการข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ เพราะกระบวนการผลิตมีการเพาะเชื้อไวรัสในตัวอ่อนของไก่ ดังนั้น หากเด็กมีอาการแพ้รุนแรง กินไข่ปุ๊บ ผื่นขึ้นปั๊บ ต้องบอกคุณหมอให้ทราบก่อน หรือบางคนแพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิดก็จำเป็นต้องเลี่ยงวัคซีนบางตัว เช่น วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด และวัคซีนอีสุกอีใส" พญ.อัมพรอธิบายเสริม
ป้องกันลูกจากผลข้างเคียงหลังรับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม หลังพาลูกไปรับวัคซีนแล้ว เด็กบางคนอาจได้รับผลข้างเคียง หรือมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ก็เป็นได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรดูแล และเฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เช่น
- อาการบวมแดง หรือมีก้อนแข็งบริเวณที่ฉีดวัคซีน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีนทุกเข็ม ไม่ต้องกังวลจนมากเกินไปไปครับ เพราะอาการจะเป็นประมาณ 1-2 วันก็จะหายไปเอง สามารถช่วยบรรเทาได้ด้วยการประคบเย็น แต่ถ้ามีอาการปวดมากให้ทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ที่สำคัญพยายามอย่าให้แผลอักเสบ เพราะอาจเกิดตุ่มหนองได้
- ส่วนอาการไข้ เป็นปฏิกิริยาทั่วไปที่เกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนเกือบทุกชนิด ดังนั้นหากเกิดไข้ สามารถช่วยลูกได้ด้วยเช็ดตัว และให้กินยาลดไข้ ซึ่งอาการมักจะหายไปใน 2-3 วัน แต่ก็ต้องเฝ้าระวังกรณีไข้สูงแล้วเกิดอาการชักด้วย โดยเฉพาะหลังพาลูกไปรับวัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์
อย่างไรก็ดี คุณหมอไม่แนะนำให้กินยาลดไข้ดักทันทีหลังรับวัคซีนโดยที่เด็กยังไม่มีไข้ เพราะมีการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มเด็กที่กินยาดัก กับกลุ่มที่ไม่ได้กินยาดัก พบว่ากลุ่มหลังภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดีกว่า แต่ถ้าเด็กชักเพราะไข้ขึ้นสูง ให้จับเด็กนอนตะแคงหน้าเพื่อไม่ให้ลิ้นไปอุดทางเดินหายใจ และไม่ควรนำสิ่งใดงัดหรือใส่ในปากขณะเด็กกำลังชักเกร็ง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากหรือฟันหักหลุดเข้าไปอุดหลอดลมซึ่งจะเป็นอันตราย แต่ควรเช็ดตัวลดความร้อนให้มากที่สุดโดยใช้น้ำที่อุณหภูมิห้องเช็ดเน้นตามซอกคอ ข้อพับต่างๆ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
- สำหรับผื่นตามผิวหนังนั้น อาจเกิดได้จากการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีนหรือเกิดจากเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโดยตรง เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส โดยหลังฉีด 5-7 วันอาจมีไข้ และมีผื่นขึ้น เนื่องจากโดยปกติเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดไข้ออกผื่นอยู่แล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเหล่านี้จึงสามารถทำให้เกิดผื่นคล้ายการติดโรคโดยธรรมชาติเช่นกัน แต่ผื่นที่ขึ้นจากการฉีดวัคซีนมักไม่อันตรายและจะหายไปในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์
แต่ถ้าหากมีผื่นลมพิษขึ้นด้วย ซึ่งเกิดขึ้นได้หลังรับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อตาย หรือบวมรอบตา รอบคอ มีอาการเหมือนหายใจไม่ออก อาจบ่งชี้ถึงอาการแพ้ที่รุนแรง ถ้าสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที แล้วอย่าลืมแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่คุณหมอก่อนรับวัคซีนครั้งต่อไปด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการไม่พึงประสงค์เหมือนครั้งก่อน ๆ
ดังนั้น การพาลูกไปรับวัคซีนเป็่นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่การเตรียมตัว และรับมือกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เช่นกัน

ข้อแนะนำ ในการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
การฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายของเด็กสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองด้วยเชื้อโรคที่อ่อนแรงหรือบางส่วนของเชื้อโรคที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันได้ฉะนั้นเมื่อลูกของท่านรับฉีดวัคซีนในวันนี้แล้วอาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนซึ่งโดยทั่วไป จะมีอาการไม่มากและจะหายไปเอง
1. ตุ่มหนอง มักเกิดจากวัคซีน บี ซี จี ที่ฉีดที่ไหล่ซ้ายตอนแรกคลอด พบหลังฉีด 2-3 สัปดาห์และเป็นๆ ยุบๆ 3-4 สัปดาห์จึงหายเอง
2. ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีนเด็กอาจจะร้องกวน งอแงได้ ถ้าอาการมาก คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบและรับประทานยาแก้ปวด
3. ไข้ตัวร้อน มักเกิดในวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก* ที่ฉีดตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน และ 4 ปี คุณแม่ควรช่วยเช็ดตัวลูกด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหมาด ๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับต่างๆ ควรเช็ดมากๆ และอาจให้รับประทานยาลดไข้ประเภท พาราเซตามอล
4. ไอ น้ำมูก ผื่น อาจพบหลังฉีดวัคซีนพวกหัด หัดเยอรมันไปแล้ว 5 วัน โดยมากจะไม่รุนแรง ถ้าเด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม เพลียมาก ไม่เล่น ดูดนม หรือรับประทานอาหารไม่ได้ต้องพากลับมาพบแพทย์ แต่ถ้าไม่มีอาการอื่น ๆ มักหายเอง แนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ
5. ชัก มักไม่ได้เกิดจากผลของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยตรง แต่อาจเกิดจากไข้สูงจัดเกินไป ดังนั้นการป้องกันอย่าให้ไข้สูงเกินไป จึงมีความสำคัญมาก และเมื่อเกิดชักแล้วต้องปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตกใจ
2. จับหน้าของเด็กหันไปด้านข้างด้านใดด้านหนึ่ง หรือ นอนคว่ำเพื่อป้องกันการสำลัก
3. ไม่แนะนำ ให้เอาของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ไม้ ฯลฯ ใส่ในปาก เพราะจยิ่งทำให้สำลักมากขึ้น ยังไม่เคยพบใครชักแล้วกัดลิ้นตัวเองขาด
4. รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน
5. ระหว่างเดินทางถ้าเด็กยังตัวร้อนควรเช็ดตัวมาตลอดทางด้วย
* ปัจจุบันมีวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ชนิดใหม่ ที่มีอาการข้างเคียงน้อยกว่า กรุณาขอคำแนะนำจากแพทย์

6 วิธีดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน (Mother&Care)
คุณแม่อาจสังเกตพบอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย หลังจากรับการฉีดวัคซีน เช่น มีผื่น บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือตัวร้อน เป็นไข้ร้องไห้โยเยผิดปกติ อาการเหล่านี้ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ถูกวิธี เราจึงเตรียมความพร้อมให้คุณพ่อคุณแม่รับมือดูแลอาการด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ
1.ผื่นขึ้น
หลังจากการฉีดวัคซีนผื่นจะค่อย ๆ ขึ้นและหายไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนประกอบในวัคซีนหรือเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโดยตรงทำให้เกิดผื่นคล้ายการติดโรคได้
ข้อแนะนำคือ ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อความสบายตัว หากผื่นที่ขึ้นไม่หายเป็นนานอาจไม่ใช่สาเหตุจากการฉีดวัคซีนควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาการมักหายไปเองภายใน 2-3 วันค่ะ
2.ปวด บวม แดง
หากลูกมีอาการบวมหรือแสดงอาการปวด (ร้องโยเยมาก) ให้คุณแม่ประคบด้วยน้ำแข็งบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้อาการดังกล่าวสามารถหายไปภายใน 1-3 วัน แต่หากบริเวณที่บวมแดง เป็นไตหรือเป็นแผล คุณแม่ลองสังเกตว่า ลูกขยับแขนข้างที่ฉีดวัคซีนได้น้อยลงหรือไม่ขยับแขน อาการเช่นนี้อาจเกิดการติดเชื้อจนเป็นตุ่มหนอง ต้องพาลูกน้อยไปพบคุณหมอค่ะ
3.มีไข้
ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดพอหมาด ๆ เช็ดตัวลดไข้ บริเวณซอกคอ ข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย อาการไข้ก็จะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 วัน ถ้าไข้ยังสูง ไม่ยอมลด อาจให้ยาลดไข้ตามที่คุณหมอแนะนำ
4.โยเย
เวลาที่เจ้าตัวเล็กงอแง ร้องไห้ อย่าเพิ่งร้อนใจไปค่ะ คุณแม่ต้องใจเย็น ใช้วิธีปลอบโยนลูก เช่น เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการพาไปเดินเล่น ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี การโอบกอดอุ้มลูกโยกตัวไปมาเบา ๆ เพื่อช่วยสร้างความอบอุ่น สบายใจ ให้ลูกน้อยหายจากอาการโยเยค่ะ


5.ชัก
ถ้าลูกมีไข้สูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการชัก เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมา นอกจากต้องตั้งสติให้ดีเป็นอันดับแรกแล้ว คุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้
จับลูกนอนตะแคงหน้า เพื่อป้องกันการสำลักหรือลิ้นไปอุดทางเดินหายใจ
ไม่นำของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ฯลฯ ใส่ปากลูก เพราะจะทำให้สำลักมากขึ้น และรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที
ระหว่างเดินทางถ้าลูกมีไข้ ตัวร้อน ควรเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนให้มากที่สุด
6.ฝี
มีลักษณะเป็น ๆ ยุบ ๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปไม่จำเป็นต้องใส่ยา หรือทายาปิดแผลค่ะ หากฝีเกิดแตกเอง คุณแม่สามารถใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดทาเช้า-เย็น จนกว่าฝีจะแห้ง และควรระวังไม่บีบ ไม่กด หรือทำอะไรกับฝีที่ขึ้นเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ หากเกิดติดเชื้อ ฝีอักเสบ ต้องรีบไปพบคุณหมอทันที
วัคซีนแบบไหน มีอาการข้างเคียงบ้าง

วัคซีน อาการข้างเคียง
วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) อาจมีตุ่มนูน เป็นหนองขนาดเล็ก บริเวณที่ฉีดหลังฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์
วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน มีไข้ และอาจเกิดอาการชัก มักเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หลังรับวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ อาจมีอาการอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพาต แต่พบได้น้อยมากและหายเองได้
วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม มีไข้ และผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด หลังได้รับวัคซีน 5-7 วัน
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น
วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ต่ำ ๆ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น

การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหลังจากเจ้าตัวเล็กรับวัคซีน และเตรียมพร้อมข้อมูลด้วยวิธีที่เราแนะนำน่าจะเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับอาการข้างเคียงด้วยตัวเอง ไม่ต้องกังวลใจเรื่องสุขภาพของลูกวัยเบบี๋ค่ะ




Create Date : 18 ธันวาคม 2555
Last Update : 18 ธันวาคม 2555 19:16:27 น. 0 comments
Counter : 29150 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

จอบบ้อน
Location :
นครปฐม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add จอบบ้อน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.