~~~ MAN_U SG 20~~~
Group Blog
 
All Blogs
 

การประกาศอิสรภาพ ไทยเป็นเอกราชจากพม่าตั้งแต่บัดนั้นมา


เมื่อปี พ.ศ. 2126 พระเจ้าอังวะเป็นกบฏ เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดี อยู่หลายประการ จึงแข็งเมือง พร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมือง ให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ยกทัพไปช่วยทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126 พระองค์ยกทัพไทยไปช้า ๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแคลงใจว่า

ทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วย จึงสั่งให้พระมหาอุปราชา คุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับ และหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคน คือ พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมาก และทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใด ให้พระยาเกียรติและพระยาราม คุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลัง ช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยาราม เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่อง ผู้เป็นอาจารย์ของตน ทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวร เคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน



กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้า ฯ สมเด็จพระนเรศวร จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสาร จึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม กราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้ว ก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า การเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้ว จึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครงรวมทั้งพระยาเกียรติพระยาราม และทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง และพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดินด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า

"ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยะราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"


ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติ พระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้ จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทย ที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อน ให้อพยพกลับบ้านเมือง ได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษ ให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง

ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืน
นกสับยาวเก้าคืบ ยิงถูกสุรกรรมา แม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง

พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"

เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์ ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชา ที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศ ได้พระราชทานพานทอง ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วย ให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้น และวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึก ให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา




 

Create Date : 01 กันยายน 2551    
Last Update : 7 กันยายน 2551 14:39:20 น.
Counter : 2682 Pageviews.  

พระราชประวัติพระนเรศวร

พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของพระมหาธรรมราชา ทรงมีพระภคินีพระนามว่า เจ้าหญิงสุพรรณเทวี ( สุพรรณกัลยาณี ) และพระอนุชาพระนามว่า เอกาทศรถ ผู้ซึ่งต่อสู้ข้าศึกเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระนเรศวรตลอดมา พระนเรศวรเองบางครั้งทรงได้รับขนานนามว่าพระองค์ดำ และขนานนามว่าพระเอกาทศรถว่าพระองค์ขาว
เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระองค์ถูกนำตัวไปยังกรุงหงสาวดีโดยพระเจ้าบุเรงนอง หรือเป็นที่รู้จักกันว่า " ผู้ชนะสิบทิศ " ผู้ซึ่งแต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชาปกครองกรุงศรีอยุธยาสืบไป พระนเรศวรถูกกักตัวไว้เป็นตัวประกันในพม่าเป็นเวลานาน 9 ปี ครั้นพระชันษาได้ 16 ปี พระราชบิดาจึงขอตัวกลับมาและส่งให้ไปเป็นมหาอุปราชเมืองพิษณุโลก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2124 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเสด็จสวรรคตผู้ที่สืบบัลลังก์แทนพระองค์คือ พระเจ้านันทะบุเรงนอง ผู้ซึ่งไม่เข้มแข็งพอจนเมืองขึ้นหลายเมืองก่อการกบฏ รวมทั้งเมืองมอญที่ตั้งอยู่บนเนินเขาชื่อว่า เมืองคัง เจ้าชายที่งสามพระองค์ผลัดกันเข้าโจมตี ถึงแม้จะได้รับมอบหมาย จากกษัตริย์พม่าให้เป็นผู้โจมตีองค์สุดท้าย แต่เจ้าชายนเรศวรก็สามารถเข้ายึดเมืองนี้ไว้ได้ ผลปรากฏว่าจากการรบครั้งนั้นกษัตริย์พม่าเกิดความหวาดกลัวระแวงในความกล้าหาญและความชาญฉลาดของพระองค์และเตรียมแผนการนี้จากพระยามอญทั้งสองพระนเรศวรจึงประกาศอิสรภาพและเตรียมต้านทานการบุกของพม่าอย่างเต็มที่



พระนเรศวรขึ้นครองราชย์เมื่อพระราชบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2133 อย่างไรก็ตามในช่วงการปกครองของพระเจ้านันทบุเรงนี้กรุงศรีอยุธยาถูกรุกราน 5 ครั้งด้วยกัน กล่าวคือการเริ่มรุกรานครั้ที่หนึ่งและสองภายใต้การนำของพระโอรสของพระองค์ พระนามว่าพระมหาอุปราช ครั้งที่ 3พระเจ้านันทะบุเรงทรงนำทัพมาด้วยพระองค์เอง ส่วนครั้งที่ 4และ 5 นั้นพระมหาอุปราชทรงนำทัพมาอีกเช่นกันและในการรุกรานครั้งที่5นี่เองที่เป็นการรุกรานครั้งสุดท้ายซึ่งทำให้พระมหาอุปราชถูกปลงพระชนม์ โดยสมเด็จพระนเรศวร ในสงครามยุทธหัตถี ในปี พ.ศ. 2135 ที่หนองสาหร่ายจังหวัดสุพรรณบุรี การรบครั้งนี้ทำให้พระองค์ได้รับชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรไม่เคยทรงเลิกล้มที่จะ เอาชนะพม่าให้ได้ถ้าหากว่าพระองค์ทรงมีพระชนมายุยืนยาวกว่านี้พระองค์อาจจะนำเอาดินแดนทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ได้และพม่าก็อาจจะเอาชนะอยุธยาไม่ได้ ในปี 2148 ในขณะที่ทรงนำทัพไปเมืองตองอู พระองค์ก็ทรงประชวรอย่างกะทันหันที่เมืองลำปาง และประชวรหนักจนสวรรคตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2148 พระเจ้าเอกาทศรถพระอนุชาได้นำพระบรมศพพระเชษฐากลับเพื่อประกอบพระราชพิธีและเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเชษฐาสืบมา
สำหรับคนไทนแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นวีรบุรุษที่ทุกคนในชาติให้ความเคารพเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้นทุก ๆ ปีในช่วงวันที่25มกราคม ที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะมีงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์เป็นหลายวัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงชัยชนะของพระองค์ต่อเจ้าชายพม่า




 

Create Date : 01 กันยายน 2551    
Last Update : 4 กันยายน 2551 18:34:24 น.
Counter : 798 Pageviews.  


NamelessCU
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Chuan Shuo (ตำนาน) - Lin You Jia & Liu Li Yang 19. Chun nyun yun ga(เพลงรักพันปี) - Dong Bang Shin Ki.wma -
Friends' blogs
[Add NamelessCU's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.