Group Blog
 
All Blogs
 
E30 Used cars by Thaidriver

รถเยอรมัน ราคาไม่แพง อะไหล่ไม่ขาด
บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 รุ่นที่ 2 รหัสตัวถัง อี30 ทำตลาดระหว่างปี 1984-1992 ในตลาดโลกแบ่งเป็น 4 รูปแบบตัวถัง คือ ซีดาน, คูเป้, เปิดประทุน และทัวริง-สเตชันแวกอน ส่วนในไทยมีแค่ซีดานและคูเป้

ไม่ค่อยมีใครเรียกว่าซีรีส์ 3 เหมือนกับ อี36 ที่เพิ่งตกรุ่นไป ทั้งที่เป็นซีรีส์ 3 รุ่นที่ 2 ต่อจากรุ่นแรก รหัสตัวถัง อี21 ที่มักเรียกรุ่นนั้นกันว่า 320 หน้าฉลาม ในขณะที่รุ่นนี้มักถูกเรียกว่า 316 หรือ 318 แต่ระยะหลังมานี้ก็แพร่หลายกับการเรียกว่า อี30 สำหรับตัวถังนี้ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นปีอะไรก็ตาม ในไทยเริ่มเปิดตลาดในปี 1984 เรียกเป็น 316 ทั้งที่เป็นเครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ไม่ใช่ 1,600 ซีซีตามรหัส

รูปลักษณ์ด้านหน้ายังคงสืบทอดภาพลักษณ์ของบีเอ็มดับเบิลยู ด้วยการใช้ไฟหน้าทรงกลมข้างละ 2 ดวง และกระจังหน้ารูปไตคู่ กันชนขนาดใหญ่ด้านหน้าฝังไฟเลี้ยวทรงเหลี่ยม ด้านข้างคาดคิ้วกันกระแทกขนาดเล็กยาวตลอดแนวด้านข้าง กระจกมองข้างทรงแปลกโค้งขึ้นด้านบนเล็กน้อย ล้อแม็กขนาด 14 นิ้ว พร้อมยางขนาด 195/65 R15 ฝากระโปรงหลังเปิดได้แค่แนวเหนือไฟท้าย ไม่ได้เปิดลึกถึงกันชนหลังเหมือนรถยนต์รุ่นใหม่ๆ

ไฟท้ายของรุ่นแรกเป็นทรง 4 เหลี่ยมยาวแนวนอน พร้อมลอนบุ๋มตามแนวยาวแบ่งครึ่งตามแนวนอน เป็นที่มาของชื่อรุ่นตัวถังแรกก่อนไมเนอร์เชนจ์กันทั่วไปว่า 'ไฟท้าย 2 ชั้น'
บีเอ็มดับเบิลยู อี30 ทำตลาดในเมืองไทยครั้งแรกด้วยรุ่น 316 ใช้เครื่องยนต์รหัส เอ็ม10 แบบเบนซิน 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ 8 วาล์ว จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยคาร์บูเรเตอร์พ่วงระบบไฟฟ้า ความกว้างกระบอกสูบ 89 มิลลิเมตร ช่วงชัก 71 มิลลิเมตร ความจุ 1,766 ซีซี อัตราส่วนการอัด 9.5 : 1 กำลังสูงสุด 90 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.2 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบ/นาที

ในช่วงปี 1986 มีการเปลี่ยนแปลงขุมพลังของรุ่นคูเป้เป็นแบบหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ แบบแอล-เจตทรอนิกส์ บนบล็อกเดิม เพื่อเพิ่มความแรงให้สมกับรูปลักษณ์ ในรุ่น 318ไอ คูเป้ เพิ่มกำลังสูงสุดเป็น 105 แรงม้า ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 15.9 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบ/นาที

ต่อมาในปี 1988 มีการปรับโฉม-ไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจุดหลักของรูปลักษณ์ที่เห็นได้ชัด คือ ไฟหน้าเปลี่ยนเป็นแบบมีเลนส์ด้านนอกคล้ายคนยิ้มข้างละดวง เปลี่ยนไฟท้ายใหม่เป็น 'ไฟท้าย 3 ชั้น' โดยในปีแรกของไฟท้าย 3 ชั้น มีเฉพาะรุ่นซีดาน ใช้เครื่องยนต์ เอ็ม10 หัวฉีด เหมือนกับที่รุ่นคูเป้ไฟท้าย 2 ชั้นใช้มาก่อน และจำหน่ายคู่กันกับรุ่นคูเป้ที่ยังไมเนอร์เชนจ์

ต่อมาในปี 1989 จึงเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ทั้งซีดานและคูเป้ และเป็นโฉมไฟท้าย 3 ชั้นทั้งหมด คือ เอ็ม40 โดยมี 316ไป 1,600 ซีซี ในตัวถังซีดาน และ 318ไอ 1,800 ซีซี ในตัวถังซีดานและคูเป้ รุ่นเครื่องยนต์ 1,600 ซีซีหยุดการจำหน่ายในปี 1990 และในปี 1992 ก็เริ่มเปิดตัวซีรีส์ 3 รุ่นใหม่ รหัสตัวถัง อี36 จำหน่ายคู่กับ อี30 อยู่หลายเดือน

316ไอ ใช้เครื่องยนต์รหัส เอ็ม40 1.6 แบบเบนซิน 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบ แอล-เจตทรอนิกส์ ความกว้างกระบอกสูบ 84 มิลลิเมตร ช่วงชัก 72 มิลลิเมตร ความจุ 1,596 ซีซี อัตราส่วนการอัด 9.0 : 1 กำลังสูงสุด 102 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.6 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบ/นาที

318ไอ ใช้เครื่องยนต์ เอ็ม40 แบบเบนซิน 4 สูบ โอเวอร์เฮดแคมชาฟต์ ความกว้างกระบอกสูบ 84 มิลลิเมตร ช่วงชัก 81 มิลลิเมตร ความจุ 1,795 ซีซี อัตราส่วนการอัด 8.8 : 1 กำลังสูงสุด 115 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.8 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบ/นาที

ระบบส่งกำลังของรุ่นแรกๆ ในช่วงปี 1984-1985 เป็นแบบเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ต่อมาในปี 1985 จึงเพิ่มเป็นเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ส่วนรุ่นเครื่องยนต์ เอ็ม40 มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ ช่วงหลังจึงเพิ่มเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ทุกรุ่นขับเคลื่อนล้อหลัง

พวงมาลัยแบบแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรง เริ่มมีในรุ่นกลางๆ เป็นต้นมา ระบบช่วงล่างแบบอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังเซมิเทรลลิงอาร์ม ระบบเบรกแบบหน้าดิสก์หลังดรัม

มิติตัวถังยาว 4,418 มิลลิเมตร กว้าง 1,648 มิลลิเมตร สูง 1,380 มิลลิเมตร ระยะห่างฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร

สำหรับคันในภาพนี้เป็นรุ่น 316 เกียร์ธรรมดา ราคากลางปี 1984 ประมาณ 130,000 บาท, ปี 1985 ประมาณ 140,000 บาท, ปี 1986 ประมาณ 150,000 บาท, ปี 1987 ประมาณ 160,000 บาท และปี 1988 ประมาณ 170,000 บาท และไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ

316 เป็นรุ่นแรกที่ออกทำตลาด สมรรถนะต่ำที่สุดและอุปกรณ์มาตรฐานน้อยที่สุด สำหรับตัวถัง อี30 ในไทย ก่อนซื้อควรคิดให้รอบคอบ เพราะถ้าจะติดตั้งเพิ่มภายหลัง งบฯ อาจปานปลาย ควรขยับเพิ่มเงินไปซื้อคันที่ปีใหม่กว่าจะดีกว่า

คันนี้เป็นเครื่องยนต์ เอ็ม10 1,766 ซีซี 8 วาล์ว คาร์บูเรเตอร์ไฟฟ้า เมื่อวางอยู่ในตัวถังหนักประมาณ 1 ตัน อัตราเร่งจึงแค่พอไปได้ อืดอาดสำหรับคนเท้าหนัก และมีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 4 จังหวะ ขับเร็วแล้วไม่มีเกียร์ 5 ช่วยลดรอบ

ระบบช่วงล่างแบบอิสระ 4 ล้อ ให้ความนุ่มนวลในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลางในขั้นที่ดี และให้การทรงตัวดีในช่วงความเร็วสูง นับเป็นจุดเด่นที่สำคัญของรถยนต์รุ่นนี้ ยิ่งถ้าได้โช้กอัพและสปริงชุดแต่งยิ่งแจ๋ว

ถ้าสนใจรถยนต์รุ่นนี้ นอกจากการตรวจสอบตามปกติแล้ว จุดที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ ตัวถัง ต้องเลือกที่ไม่ชนหนักมา ไม่ผุ เครื่องยนต์มีจุดสำคัญอยู่ที่คาร์บูเรเตอร์ ควรตรวจสอบว่ายังสามารถใช้งานได้ดี เพราะถ้ารวนหนักอาจต้องซ่อมแพง หรือถึงขั้นเปลี่ยนใหม่ ด้วยเงินถึงหมื่นกว่าบาท และถ้าต้องเปลี่ยนก็ควรเป็นของ เวเบอร์ รุ่น 40DCNF เพราะถูกกว่าของตรงรุ่น แต่แรงกว่าและไม่จุกจิก โดยต้องซื้ออแดปเตอร์มาด้วย

ชื่อเสียงด้านลบที่ว่าซ่อมแพงนั้น เป็นเพราะส่วนใหญ่ถูกช่างบวกราคาอะไหล่เพิ่มมาก แต่ถ้ารู้จักแหล่งซื้ออะไหล่ และมีเวลาไปซื้อเองแล้วนำมาให้ช่างเปลี่ยน จะไม่แพงเลย

อะไหล่เทียบใช้สำหรับบีเอ็มดับเบิลยูรุ่นนี้มีเพียบ มีการนำเข้ามาทั้ง แท้ เทียบ เทียม เก่า ใหม่ โดยแทบจะไม่ต้องพึ่งพาศูนย์บริการเลย

อะไหล่บางชิ้น ถ้าไปซื้อเองหรือทราบราคาจริงอาจแปลกใจว่า ทำไมถึงถูกอย่างนี้ แหล่งใหญ่ของอะไหล่ใหม่ อยู่แถววรจักรและหลังวัดโสมฯ มีทั้งแบบคุณภาพเทียบเท่าของแท้ หรือต่ำกว่า-ถูกกว่ามากมาย

ส่วนอะไหล่เก่านั้น ในเชียงกงปทุมวันมีหลายร้าน อะไหล่มีให้เลือกเพียบ แต่ราคาแพงหน่อย นอกนั้นก็หาตามร้านอะไหล่เก่ารถยนต์ญี่ปุ่นทั่วไปก็พอได้ เพราะคนญี่ปุ่นใช้รถยนต์รุ่นนี้กันมาก และตอนนี้ก็ถึงเวลาทิ้งกันเกือบหมดแล้ว ราคาไม่แพง และสภาพดี เพราะคนญี่ปุ่น มักขับไม่มาก อากาศเย็น และถนนดี

ถ้าซื้อมาแล้วไม่ได้ดัดแปลง ควรเลือกคันที่ปีใหม่ที่สุด เท่าที่เงินจะพอ หรือรุ่นไฟท้าย 3 ชั้น ปี 1988 ขึ้นมา ซึ่งมีราคาแพงอยู่ในระดับ 200,000 บาท แต่ได้อุปกรณ์มาตรฐานแบบครบๆ และไม่น่าจะต้องซ่อมมากเหมือนกับรุ่นไฟท้าย 2 ชั้นที่มีสารพัดสภาพ มีอยู่ไม่น้อยที่แย่

ถ้าจะซื้อมาโมดิฟายเพิ่ม ก็เน้นที่ตัวถังและภายในห้องโดยสารไม่ช้ำเป็นพอ สามารถวางเครื่องยนต์นิสสัน บล็อก เอสอาร์20 ทั้งแบบมีหรือไม่มีเทอร์โบ แบบไม่ยุ่งยากมาก เพราะวางและใช้งานได้ดีกันหลายร้อยคันแล้ว

สำหรับคนที่ชอบตกแต่งภายนอก หนีไม่พ้นการเปลี่ยนเป็นกันชนเล็ก แทนกันชนแบบบิ๊กบัมเปอร์อันแสนเทอะทะ รุ่นไฟท้าย 2 ชั้น สะดวกและไม่แพง เป็นแบบโครเมียม ราคาคู่ละไม่เกิน 9,000 บาท ของเก่าสภาพสวยๆ ซึ่งหาไม่ยาก

ส่วนรุ่นไฟท้าย 3 ชั้น ใส่กันชนเล็กแบบโครเมียมไม่ได้ เพราะร่องที่เว้นไว้ที่ตัวถังสูงกว่า ถ้าจะใส่ต้องต่อสเกิร์ตลงมาจากกันชน ปิดช่องด้านล่างที่โหว่ ซึ่งไม่แนะนำ เพราะดูผิดไปจากรุ่น ซึ่งตัวถังไฟท้าย 3 ชั้นไม่เคยมีการใส่กันชนเล็กแบบโครเมียม โดยต้องหากันชนเล็กแบบพลาสติก ที่เรียกกันว่า ECE พ่นสีเดียวกับตัวถัง ใส่แล้วแนบเนียนดี แต่ราคาครบชุด (ของเก่า) ไม่ต่ำกว่า 12,000-14,000 บาท และหายาก

ไม่แนะนำให้เล่นชุดแต่งเลียนแบบเอ็มเทคนิกรอบคัน ที่ผลิตจากไฟเบอร์กลาส เพราะแพงกว่าชุดกันชนแท้ๆ ตามที่บอกไว้ข้างต้น แต่ดูแล้วไม่มีทางเหมือน ยากที่จะหลอกตาได้ และชุดแต่งเอ็มเทคนิกแท้ๆ ในแบบของเก่าก็หายากสุดๆ ส่วนของใหม่คงต้องว่ากันที่แตะแสนบาท

บีเอ็มดับเบิลยู 316 เด่นที่อะไหล่แพร่หลาย ไม่ขาดแคลน ช่วงล่างหนึบ โดยมีข้อแม้ว่าต้องหาคันที่มีสภาพดีๆ ได้ ซึ่งหายาก เพราะเจ้าของหลายคนซ่อมแบบประทังไปก่อน จากการที่โดนช่างฟันเงินไปเกินเหตุ และเมื่อซื้อมาแล้ว ก็ต้องสามารถซ่อมด้วยราคายุติธรรม เช่น ช่างไม่บวกค่าอะไหล่มาก หรือซื้ออะไหล่เองได้

ถ้าหาตัวรถสภาพสวยๆ ไม่ได้ หรือหาได้แต่ไม่สามารถซ่อมได้ตามราคาที่ควรจะเป็น ควรหันไปหารถยนต์ญี่ปุ่นยอดนิยมขับดีกว่า แม้สมรรถนะจะด้อยกว่า แต่สบายใจเรื่องการซ่อมได้มากกว่ากันมาก

ปัญหาในการซื้อ อี30 คือ หาคันที่สภาพโดยรวมดีๆ (ไม่เฉพาะสีสวย) สำหรับรุ่นไฟท้าย 2 ชั้น และเมื่อซื้อมาแล้วก็หาวิธีซ่อมตามราคาจริงไม่ค่อยได้ เพราะช่างเห็นเป็นบีเอ็มฯ ก็จ้องจะฟันแล้ว
รถดี แต่ถ้าช่างและเจ้าของเดิมดูแลไม่ดี ก็อาจทำให้ไม่น่าใช้ก็เป็นได้



Create Date : 24 ธันวาคม 2547
Last Update : 24 ธันวาคม 2547 19:57:08 น. 1 comments
Counter : 944 Pageviews.

 


เยี่ยมครับ ข้อมูล การเตือน ช่างตีหัวผมบ่อยมากๆ
แต่ ก็ กลับไปให้ เขา ตีอีก ตีอีก ตีอีก


โดย: thongchai IP: 58.10.128.98 วันที่: 26 ตุลาคม 2550 เวลา:1:29:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

....4จุด
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ....4จุด's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.