สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับเพื่อนๆทุกท่านคะ
ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมบล็อก ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินในบล็อกนี้และหวังว่าคุณจะมีรอยยิ้มหลังออกจากบล็อกนี้นะคะ

เจื้อยแจ้ว...ภาษาแย้มบาน

เมื่อลูกตัวน้อยเริ่มจะเปล่งเสียงเจื้อยแจ้วให้ชื่นใจ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมทำความ เข้าใจกับเรื่องต่อไปนี้ให้ดีค่ะ
* เด็กจะเริ่มต้นการเรียนรู้ภาษาจากการฟังก่อน แล้วจึงค่อยๆ จดจำและพูดตามได้ภายหลัง
* ส่วนใหญ่เด็กผู้ชายมักจะมีพัฒนาการด้านการสื่อสาร รู้จักพูดคุยช้ากว่าเด็กผู้หญิง
* ลักษณะพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กๆ เป็นได้ทั้งแบบที่ค่อยๆ เริ่มต้นไปทีละน้อย หรือใจเย็นๆ แล้วก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วก็ได้
* การเรียนรู้ภาษาเป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะฉะนั้นอย่านำพัฒนาการทางด้านภาษาของลูกไปเปรียบเทียบกับพัฒนาการในด้านนี้กับเด็กคนอื่น
* ถ้าสังเกตเห็นว่าพัฒนาการในการรับรู้หรือการพูดของลูกช้ากว่าที่ควรจะเป็น อย่าเพิกเฉยเย็นใจเป็นอันขาด รีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด่วน

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 51 เดือนมกราคม พ.ศ.2543




 

Create Date : 19 มกราคม 2552    
Last Update : 19 มกราคม 2552 0:06:48 น.
Counter : 266 Pageviews.  

"คู่ซี้" ของหนู

ใครที่มีเจ้าจอมแก่นวัย 2-3 อยู่ในบ้านคงรู้ฤทธิ์ดีว่าวัยนี้ทั้งซน ดื้อ ขี้หวง ขี้อิจฉาทั้ง ยังเอาแต่ใจ เวลาแม่บอกให้กินข้าว เจ้าตัวดีจะไปเล่นนี้ำทันที แต่พอบอกให้ไปอาบน้ำ
โน่นแน่ะ ไปขนของออกมาเล่นแล้ว แม่รอไปเถอะ จนมีเทคนิคพูดคุยกันในระหว่างคุณแม่มือโปรว่า วัยนี้ถ้าอยากให้ลูกทำอะไรต้องบอกตรงข้าม ก็จะได้อย่างใจ ไม่งั้นเขาจะเรียกวัย
นี้ว่าวัยปราบเซียนหรือ ฝรั่งยังให้ฉายาเลยว่า "terrible two" พูดง่ายๆก็คือ เรื่องฤทธิ์เดชมากมายนี่ เป็นไปตามวัยตามธรรมชาติเขาแหละ
เพราะธรรมชาติของหนูเป็นอย่างนี้ จึงทำเอาคุณแม่หลายคนไม่ค่อยกล้าปล่อยให้ลูกเจ้าจอมยุ่งไปเล่นกับเด็กอื่น กลัวน้องหนูไปชวนทะเลาะบ้าง ไปขว้างปาข้าวของใส่เวลาไม่
ได้ดั่งใจบ้าง โดยคุณแม่หารู้ไม่ว่า วัยของหนูที่แหละที่เหมาะสำหรับการมีเพื่อนเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนจะทำให้หนูมีสังคมมากขึ้น รู้จักปรับตัวและได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆอีกมากมาย
มีเพื่อนเนี่ย..ดียังไง
* รู้อะไรใหม่
การมีเพื่อนสนิทจะสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิตน้อยๆ ของลูก เพราะจากที่เคยคลุกคลีกับแต่เฉพาะพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือของเล่นและตุ๊กตาที่มีอยู่ในบ้าน การมีเพื่อนที่มีวัยและ
มุมมอง รวมถึงความคิดต่าง ๆ ใกล้กันจะช่วยเปิดโลกใบน้อยให้กว้างขึ้น ได้เรียนรู้ว่ายังมีคนที่เหมือนหนูเช่นกัน
* เข้าได้กับคนอื่น
แม้ว่าเด็กวัยนี้ยังควบคุมอารมณ์และเหตุผลได้ไม่ดีนัก แต่การที่ได้สร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น โดยเฉพาะกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน จะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับลูกในการปรับ
ตัวและรู้จักที่จะยอมรับคนอื่น เพราะการแสดงออกต่อกันระหว่างเพื่อนและลูก จะทำให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ควรทำตัวอย่างไรถึงจะเป็นที่รักหรือยอมรับของคนอื่น เช่น ถ้าไปแกล้ง
หรือรังแกคนอื่น ก็จะไม่มีใครชอบหรืออยากเล่นด้วย เขาก็เรียนรู้ว่าการรังแกคนอื่นเป็นสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรทำ และค่อยๆ เลิกพฤติกรรมนี้ไปเสีย นับเป็นการเตรียมพร้อมก่อนจะต้องไป
เข้าโรงเรียนซึ่งจะได้พบเพื่อนมากมายต่อไป
* แบ่งปันก็เป็น
นับเป็นโอกาสดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จะสอนลูกรู้จักการให้และแบ่งปันกับคนอื่น โดยเริ่มจากการแบ่งขนมหรือของเล่นให้เพื่อนสนิทซึ่งเขาชอบและคุ้นเคยก่อน ก็จะเป็นการปูพื้น
ให้ลูกได้รู้จักการให้ และคุ้นเคยที่จะแบ่งปันในที่สุด
* เพิ่มความมั่นใจ
การมีเพื่อนซี้ที่คุ้นเคยสนิทสนม นอกจากจะเล่นกันสนุกแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในใจของเด็กๆ ก็คือ ความมั่นใจในการเป็นที่ยอมรับของคนอื่น โดยเฉพาะกับคนที่เขารู้สึกชอบ
หรือถูกชะตาด้วย ความรู้สึกนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกดี และยังเพิ่มพูนความมั่นใจในตัวเองให้มากขึ้นอีกด้วย
* ภาษาก็เก่ง
การได้พูดคุยกับเพื่อนที่ถูกใจ จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ลูกมีพัฒนาทักษะการในใช้ภาษามากขึ้น ทั้งการพูดและการฟัง เพราะเด็กจะได้หัดโต้ตอบ พูดคุย เล่าเรื่องต่างๆต่อกัน
รวมถึงการเล่นบทบาทสมมติต่างๆ ผ่านตัวเอง หรือในขณะที่เล่นเกม เล่นตุ๊กตา ซึ่งได้ทั้งความสนุก และนับเป็นโอกาสดีในการได้พัฒนาภาษาของเด็กอีกด้วย ลองไปแอบ
ฟังเจ้าตัวดีคุยกันสิคะ..จะรู้ว่าเขาคุยกันได้กระหนุงกระหนิง น่ารักน่าเอ็นดูขนาดไหน
เทคนิคถนอมรักให้คู่ซี้
ถึงจะเป็นเพื่อนซี้กันแล้วก็ตาม แต่ด้วยความที่ยังควบคุมอารมณ์ไม่เป็น ไม่รู้จักคำว่าเหตุผลเท่าไรนัก และยังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ อาจเป็นไปได้ที่น้องลูกชิ้นกับน้องเส้น
หมี่ซึ่งทำท่ารักกันปานจะกลืน จะกลายเป็นคู่กัดได้ภายในไม่กี่นาทีต่อมา จึงเป็นเรื่องที่คุณแม่และผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องยังคอยดูแลอยู่ใกล้ๆเพื่อช่วยแก้ปัญหาไม่ให้คู่ซี้กลายเป็นคู่กัดอย่างถาวร
อยากให้รักของคู่ซี้อย่างน้องลูกชิ้นและเส้นหมี่ เป็นรักยืนยาว ก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย
* ปลอดของเล่นชิ้นโปรด
ไม่ว่าเพื่อนจะมาเล่นหรือจะไปเล่นกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ควรเอาของเล่นชิ้นโปรด สุดรักสุดหวงของลูกไปเก็บไว้ให้พ้นหูพ้นตาไปเสียจะดีกว่า เพราะถึงแม้ว่าจะถูกชะตากัน
แค่ไหน แต่ลูกก็อาจจะยังทำใจแบ่งของเล่นชิ้นรักอย่าง ตุ๊กตา หุ่นยนต์ตัวใหม่เอี่ยม ให้คนอื่นเล่นได้ลำบาก ถ้าเก็บไว้ก็จะช่วยลดการแย่งของเล่น สาเหตุที่ทำให้เพื่อนซี้ทะเลาะกัน
ไปได้มาก
* แบ่งกันเล่นได้เป็นดี
ของเล่นที่จะให้เด็กเล่นด้วยกัน เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลกันให้ดี ถ้าทำได้ควรเลือกของเล่นหรือเกม ที่สามารถเล่นด้วยกันทั้งคู่หรือเล่นกันเป็นกลุ่ม เช่น เกมต่อภาพ
ต่อบล็อก ซึ่งเป็นของเล่นที่สามารถเล่นด้วยกันได้ จะดีกว่าให้เล่นของเล่นที่แบ่งกันเล่น หรือเล่นร่วมกันไม่ได้ ของเล่นพวกนั้นเก็บไว้เล่นที่บ้านคนเดียวดีกว่าค่ะ
* แลกกันเล่น
เมื่อลูกจะไปเล่นกับเพื่อน อย่าลืมให้ลูกเอาของเล่นของตัวเองติดไปด้วย เวลาไปเล่นด้วยกัน ลูกกับเพื่อนจะได้แลกของกันเล่นกันอย่างสนุกสนาน ไม่มีแย่งหรือทะเลาะกัน
ให้เสียอารมณ์ ที่สำคัญการแลกของกันเล่นยังเป็นการสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปัน และสร้างนิสัยประหยัดให้เด็กอีกด้วย
* ดึงความสนใจ
เมื่อเห็นว่าจากเพื่อนเล่นจะเปลี่ยนเป็นคู่กัดไปเสียแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปหากิจกรรมอื่น เช่น ไปชวนกินขนม ชวนไปดูทีวี ฯลฯ ที่เด็ก
สนใจ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยห้ามไม่ให้เกิดการวางมวยระหว่างเจ้าตัวเล็กทั้ง 2-3 คนนี้ไปได้
* เพื่อนเขาเจ็บนะลูก
ถ้าลูกแย่งของเล่น หรือทำให้เพื่อนเจ็บ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่รีรอที่จะสอนให้ลูกคิดถึงความรู้สึกของเพื่อนว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าลูกไปแย่งของเพื่อนหรือไปตีเขาเจ็บเพื่อน
ก็จะเสียใจ และบอกว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีที่ไม่ควรทำ ต้องคอยสอนให้ลูกคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย อย่าปล่อยให้ทำโดยไม่เตือนหรือห้าม ไม่อย่างนั้นจะได้ใจและทำอีกจนติดเป็นนิสัยที่
ไม่ดีต่อไป
อย่าลืมว่า...
* เด็กมักจะชอบเลียนแบบทำสิ่งต่าง ๆ เหมือนเพื่อนสนิท เช่น เมื่อเพื่อนเล่นลูกบอลคู่หูก็มักจะไปเล่นด้วย เพราะฉะนั้นต้องระวังดูแลจอมซนให้ดี ถ้าคนใดคนหนึ่งนำไปเล่นใน
ที่ที่ไม่ปลอดภัย เช่น บ่อน้ำ ปีนป่ายที่สูงก็อาจเป็นอันตรายได้
* การยังไม่มีเพื่อนคู่หูยังไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับเด็กวัยนี้ เพราะเมื่อถึงวัยอนุบาลส่วนใหญ่เด็กๆ ก็จะเริ่มมีเพื่อนสนิท คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปกระตุ้นหรือผลักดันให้ลูกต้อง
มี "ซี้" เร็วๆ โดยที่ลูกยังไม่พร้อม แทนที่จะเป็นผลดีกลับจะเป็นผลเสียกับเด็กเสียมากกว่า

ข้อมูลจาก :นิตยสาร ฉบับที่ 34 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2541




 

Create Date : 19 มกราคม 2552    
Last Update : 19 มกราคม 2552 0:04:29 น.
Counter : 290 Pageviews.  

ขึ้นๆ ลงๆ อารมณ์ป่วนของหนู

นอกจากจะอยู่ในวัยทั้งดื้อทั้งซน จนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น "ตัวแสบ" ที่ชอบป่วน สร้างความวุ่นวายให้กับสมาชิกในบ้านแล้ว อารมณ์ที่เปลี่ยนเร็วไม่แพ้การกดรีโมตเปลี่ยนช่องทีวีของหนูๆ วัยนี้ ทำเอาผู้ใหญ่อย่างเราตามอารมณ์น้องหนูเธอไม่ทัน
"ลูกสาวเดี๋ยวนี้ร้ายใหญ่แล้ว พอขัดใจเข้าหน่อยก็ร้องไห้เป็นน้ำหูน้ำตาขึ้นมา จนเราอดสงสารไม่ได้ พอใจอ่อนยอมตามใจ ก็ดีใจหัวเราะจนออกนอกหน้าอย่างกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนดาราเจ้าน้ำตาไม่มีผิด แสบจริงๆ เลย" คุณแม่คนหนึ่งพูดถึงลูกสาววัย 2 ขวบกว่าด้วยน้ำเสียงเอ็นดูปนอ่อนใจ
แต่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน อาจจะทำใจไม่ได้เหมือนแม่ของน้องแป้ง ซ้ำยังพาลวิตกไปว่า เจ้าตัวเล็กจะกลายเป็นคน "เจ้าอารมณ์" เมื่อโตขึ้น
เรื่องธรรมด๊า..ธรรมดา

ใจเย็นๆ ก่อนค่ะ การที่เด็กวัย 2-3 ขวบเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุและที่ไปที่มา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเจ้าตัวดีเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือเป็นนักแสดงเจ้าบทบาทเลย ทว่าที่เห็นว่าอ่อนไหว อารมณ์แกว่งไปแกว่งมาแบบนี้ เป็นเพราะหนูกำลังอยู่ในช่วงที่ปรับตัวจากเด็กเล็กๆ มาเป็นเด็กวัยเตาะแตะที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว ก็เลยมีบ้างที่เป็นแบบนี้
อย่างที่เห็นกันว่า ตอนนี้ลูกเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น เดินไปไหนมาไหนด้วยสองขาป้อมๆ ของตัวเองได้ มือเล็กๆ หยิบจับชำนาญแล้ว แถมยังรู้จักพูดโต้ตอบได้บอกความต้องการของตัวเองได้ ความอยากรู้อยากเห็นโลกกว้างที่มีอยู่ในตัว ก็พร้อมจะระเบิดออกมาได้ตลอดเวลา ทุกอย่างรอบตัวจึงน่าสนใจ เห็นอะไรก็อยากสัมผัส อยากได้
เป็นเจ้าของไปเสียหมด จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่หนูจะร่าเริงจนออกนอกหน้าเมื่อได้ดังใจ หรือพร้อมจะโอดครวญ โวยวาย หรือร้องไห้เสียใจเมื่อผิดหวังไม่ได้อย่างใจ

ฉะนั้นหากมีสิ่งใดหรืออะไรมากระทบ ไม่ว่าจะเป็น ดีใจ เสียใจ ตกใจ กลัว โมโห ไม่พอใจ อาย ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็พร้อมจะแสดงออกมาให้คนอื่นได้เห็นทันที โดยไม่มีการซ่อนเร้น

ตัวการป่วนอารมณ์

ถ้าลูกอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส คุณพ่อคุณแม่คงไม่กลุ้มใจ แต่ถ้าลูกอารมณ์เสียง่ายก็คงไม่เข้าทีเสียเท่าไร และสิ่งต่อไปนี้ เชื่อกันว่าคือตัวการสำคัญที่ทำให้ลูกจอมซนของเราขุ่นมัว
* นี่แหละตัวฉัน

ในขณะที่ทักษะการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อต่างๆ และการควบคุมร่างกายทำงานกันได้ดี ความรู้สึกของ "ความเป็นตัวเอง" ก็พัฒนาขึ้นด้วย เด็กรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระแยกออกจากพ่อแม่ สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยตนเองมากขึ้นกว่าเดิม และสนุกกับการได้พิสูจน์บทบาทของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันในบางช่วงลูกก็ยังต้องการพึ่งพาและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่อยู่ ความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ที่ผสมปนเปกันนี้ ผลมีต่ออารมณ์ของเขาอยู่ไม่น้อย
* ไม่ชินกับการปฏิเสธ

เด็กๆ เคยกับการ "ได้" ทุกอย่างมาก่อนตั้งแต่เล็ก หิวก็ได้กิน ง่วงก็ได้นอน แต่ต่อมากลับไม่ได้ทุกอย่างเหมือนเดิม ย่อมทำให้เด็กไม่พอใจ เพราะไม่คุ้นเคยกับการปฏิเสธ ไม่ได้รับการสนองตอบตามที่ต้องการ และที่สำคัญเขายังไม่รู้ว่า จะจัดการกับความรู้สึกไม่พอใจนี้อย่างไรดี ทำให้เขา หงุดหงิด โวยวายได้ง่าย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยังเห็นลูกอารมณ์ดีอยู่ก็ตาม
* รอไม่เป็น

การที่หนูๆ วัยนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องเวลาดีนัก เขาจะรู้จักแต่ปัจจุบันและเดี๋ยวนี้ อดทนรอคอยไม่เป็น ทำอารมณ์น้องหนูไหวไปมาและตกวูบได้
เรื่องที่อดใจรอไม่เป็นนั้น มีจิตแพทย์เด็กที่สหรัฐอเมริกาได้ทำการวิจัยเรื่องนี้โดยนำเด็กๆ วัย 1-3 ปี จำนวนเกือบ 150 คน มาทดลองโดยพาเด็กเข้ามาอยู่ในห้องนั่งเล่นที่มีขนมวางอยู่ แล้วสร้างสถานการณ์ ให้คนดูแลเด็กออกไปข้างนอก โดยบอกให้เด็กๆ อย่าเพิ่งแกะขนมกินจนกว่าคนดูแลจะกลับมา แน่นอนว่าเด็กๆ ต่างไม่พอใจที่ไม่ได้กินขนม ผลที่ออกมาคือเด็กวัย 2 ขวบจะใจจดจ่อกับขนมและอดใจทนรอไม่ไหว แกะขนมกินก่อนเสียส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กเล็กกว่าหันไปสนใจกับของเล่น หรือทำอย่างอื่นโดยลืมเรื่องขนมไป ส่วนเด็กที่โตกว่าสามารถอดทนและบังคับตัวเองไม่ให้ไปหยิบขนมกินก่อนได้มากกว่า
ฉะนั้นใจเย็นและให้เวลาลูกสักนิด หากลูกจะยังไม่รู้จักคำว่า "รอ" เพราะเมื่อพ้นจากช่วงนี้ไป แกก็จะค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะรอได้ในที่สุด

ตั้งรับอย่างไรดี
* เข้าใจกันบ้าง
อารมณ์ที่หลายคนเข้าใจว่าแปรปรวนนี้ ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เด็กแสดงออกมาตามความรู้สึกที่แท้จริง ว่าตอนนั้นก็รู้สึกอย่างไร ชอบ ไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจ ขอให้เข้าใจด้วยว่าเด็กยังขาดทักษะในการควบคุมความรู้สึก หรือยังคิดเรื่องถูกผิดไม่เป็นนัก คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นอดทน ค่อยๆ สอนและชี้ให้ลูกเห็นถึงเรื่องความถูกต้องเหมาะสม(แต่ไม่ควรสอนตอนที่ลูกกำลังอารมณ์ไม่ดี เพราะลูกคงไม่ฟังแน่ๆ) ในเวลาที่ลูกสงบหรืออารมณ์ดีแล้ว น่าจะช่วยได้แม้ว่าจะใช้เวลาบ้างก็ตาม
* หลีกเลี่ยงการปะทะ

เมื่อลูกเกิดงอแง พูดไม่รู้เรื่อง พยายามอย่าใช้อารมณ์ตอบโต้ลูก เพราะนั่นจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้น ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจหรือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ลูกอารมณ์แปรปรวน จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยได้ เช่น หากลูกร้องจะเอาของกลางห้างสรรพสินค้า แทนที่คุณจะตามใจหรือโมโหตีลูก ปล่อยให้เขาร้องไปสักพัก แล้วค่อยพาหรืออุ้มลูกเดินไปที่อื่น (อย่าอายนะคะ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะแพ้ลูก เพราะอายคนมองที่ปล่อยให้ลูกร้องไห้ ปล่อยไปสักพักเขาจะเงียบไปเอง) เพื่อเปลี่ยนอารมณ์และบรรยากาศให้ดีขึ้นก่อนที่จะอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเราจึงไม่ซื้อสิ่งนั้นๆ ให้เขา

* รู้อกรู้ใจลูก

คุณพ่อคุณแม่คงต้องคอยจับสัญญาณของลูกด้วยว่า เขาเป็นอย่างไร ง่วง หิว ไม่สบายตรงไหนหรือเปล่า ถ้ารู้นิสัย เข้าใจลูกก็จะช่วยให้เราจัดการรับมือกับอารมณ์ของลูกได้ง่ายขึ้น บางคนเห็นลูกเริ่มหงุดหงิดก็รู้แล้วว่าเจ้าตัวน้อยเริ่มง่วง พอจัดการกล่อมนอน ก็หมดฤทธิ์หลับปุ๋ยไปเลย
แต่บางครั้งเราต้องเดาความคิดของลูกตัวน้อยว่าลูกจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับสถานการณ์ต่างๆ และเตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ให้ดี เช่น รู้ว่าหากให้ของขวัญวันเกิดพี่ แนนอนว่าถ้าน้องเห็นคงต้องร้องอยากได้บ้างแน่ เราก็อาจจะเตรียมลูกกวาดหรือของขวัญเล็กๆ น้อยเผื่อไว้ให้คนน้องด้วย ก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยได้
* ยืดหยุ่นตามสมควร

การบังคับไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะลูกจะยิ่งต่อต้าน ไม่เชื่อฟังมากขึ้น ควรยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่ถ้าเป็นกฎและกติกาที่ตกลงกันไว้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรยอมโอนอ่อนตามใจโดยไม่มีเหตุผล มิเช่นนั้นลูกจะเคยตัวและไม่ยอมทำตามสิ่งที่ตกลงกันไว้
* เป็นโค้ชที่ดี

การรู้จักแสดงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่างๆ นับเป็นบทเรียนสำคัญของเด็กในวัยกำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ในสถานการณ์ๆ ซึ่งแน่นอนว่า เด็กๆ ต้องการคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากคุณพ่อคุณแม่ เช่น หากไม่พอใจก็มีวิธีอื่นบอกให้คุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่นๆ รู้ได้ว่าได้ไม่ชอบ โมโหแล้ว มากกว่าใช้วิธีร้องหรืออาละวาด

การจะสอนเรื่องยากๆ เหล่านี้ให้ลูกเข้าใจได้ง่ายๆ นอกจากใช้วิธีสมมติเหตุการณ์ต่างๆ ให้เห็นจริงแล้ว การเป็นตัวอย่างให้ลูกก็เป็นวิธีที่ได้ผลมากอีกวิธีหนึ่งค่ะ

อารมณ์ของเด็กวัยนี้อาจจะปรวนแปรไปบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและความเข้าใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจัดการกับเรื่องนี้

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 41 เดือนมีนาคม พ.ศ.2542




 

Create Date : 19 มกราคม 2552    
Last Update : 19 มกราคม 2552 0:02:30 น.
Counter : 277 Pageviews.  

ขอรู้จักตัวเองมั่งฮี่ !

มีใครรู้บ้างว่าช่วงวัยแบเบาะ ที่หนูชอบเอามือเข้าปาก ชอบทักทายคนที่อุ้มด้วยการลูบคลำใบหน้า เนี่ยถือเป็นสัญญาณว่า หนูสนใจใคร่รู้จักคุณอวัยวะทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นตัวหนูตั้งแต่ยังเล็กแล้วจ้ะ
เพราะอย่างนี้เมื่อมีโอกาสก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่หาเทคนิคแนะนำคุณอวัยวะทั้งหลายให้คุ้นเคยกับหนูมากยิ่งขึ้น เริ่มกันได้ทันทีที่หนูพ้นขวบปีแรก เพราะหนูเริ่มเข้าใจความหมายที่พ่อแม่ต้องการบอกบ้างแล้วค่ะ...
ร่างกายนี้ที่หนูชอบ (สำรวจ)
หนูสนใจสำรวจอวัยวะต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่อายุเพียง 4-5 เดือนแล้ว ถ้าสังเกตหนูดีๆ คุณพ่อคุณแม่จะเห็นหนูชอบเอานิ้วมือมาอม บางครั้งก็พยายามคว้านิ้วเท้ามาแจมด้วย หรือบางทีก็เอามือน้อยๆ จิ้มพุงกะทิ แหย่สะดือไปตามเรื่อง ถ้าเมามันมากๆ ก็อาศัยนิ้วป้อมๆ นี้ดึงผมให้เจ็บเล่น
หรือบางครั้งคุณพ่อคุณแม่จะเห็นหนูลูบๆ คลำๆ จุ๊ดจู๋หรือจุ๋มจิ๋มของตัวเอง (ซึ่งในสายตาคุณพ่อคุณแม่ พฤติกรรมแบบนี้คงไม่น่ารัก แถมบางทียังดุหนูเสียอีก) นั่นก็คือวิธีการเรียนรู้ลักษณะอวัยวะต่างๆ อีกวิธีหนึ่ง แต่หนูก็รู้หรอกน่าว่าในกระบวนการการเรียนรู้อวัยวะทั้งหมดที่หนูควรทำความรู้จัก สิ่งที่พ่อแม่ลำบากใจและกระอักกระอ่วนที่สุดที่จะแนะนำก็คือ อวัยวะที่บ่งบอกความแตกต่างของเพศนั่นเอง (หนูเดาใจถูกใช่มั้ยล่ะ)
นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ในต่างประเทศให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่าการที่หนูเล่นจุ๊ดจู๋หรือจุ๋มจิ๋มของตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไรหรือมีความหมายบ่งบอกถึงความผิดปกติในพฤติกรรมทางเพศเมื่อโตขึ้น เพราะความหมายและประสบการณ์ในเรื่องเพศสำหรับหนูวัยขวบกว่าๆ นี้ยังเป็นศูนย์อยู่เลยค่ะ หนูเพียงแค่รู้สึกว่าเป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่าสำรวจ ซึ่งไม่แตกต่างจากที่หนูเคยสนใจสำรวจมือ นิ้ว เท้า สะดือ ปาก ฯลฯ
คุณพ่อคุณแม่อาจยังกังวลว่า ถ้าเปิดโอกาสให้หนูแสดงความสนใจในเรื่องอวัยวะซ่อนเร้นของตัวเอง ต่อไปหนูก็อาจเคยชินและไม่ให้ความสำคัญว่าสิ่งเหล่านี้คือของสงวนหรือของส่วนตัวที่ควรปกปิด แต่นักจิตวิทยายืนยันว่า เมื่อหนูโตขึ้น ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ และวุฒิภาวะที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้หนูค่อยๆ เรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรในที่สุด
แต่สิ่งสำคัญคือในทุกช่วงของการเรียนรู้พ่อและแม่จำเป็นต้องสอนให้หนูรู้จักอวัยวะซ่อนเร้นเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมาตามวัยที่จะรับได้ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสู่ความเข้าใจถึงขั้นที่จะรู้ว่าพฤติกรรมทางเพศใดที่เหมาะสมและสังคมยอมรับ และแบบไหนที่ไม่ควรปฏิบัติ การเริ่มต้นพูดความจริงกับหนู จะทำให้ในช่วงต่อๆ ไปคุณพ่อคุณแม่กล้าที่จะสอนหนูในเรื่องที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่านี้ เช่น หนูเกิดมาจากไหน หรือในวัยขวบกว่าๆ นี้ หนูต้องการการเริ่มต้นรู้จักชื่อของอวัยวะเหล่านี้ เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยหนูก็ต้องการเรียนรู้ว่าส่วนไหนคือส่วนเร้นลับ หรือเป็นอวัยวะส่วนตั๊วส่วนตัวที่ต้องปกปิดหรือห้ามใครล่วงล้ำ จับ ต้อง ลูบคลำ และเมื่อโตขึ้นไปอีกก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนให้หนูรู้ว่าพฤติกรรมทางเพศที่ดีและไม่ดีคืออะไร เช่น การจับหน้าอกคนอื่น การไล่เปิดกระโปรงผู้หญิง หรือการที่มีใครพยายามมาจับอวัยวะต้องห้ามของเรานั้นเป็นสัญญาณบอกอะไรบ้าง ฯลฯ
เกม "รู้จักตัวเอง"
เกมการเรียนรู้จักตัวเองสำหรับหนูในวัยนี้ น่าจะเป็นเกมเรียกชื่อส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นผู้ทำหน้าที่แนะนำอวัยวะต่างๆให้หนูรู้จัก เช่น ตา หู จมูก ปาก ฯลฯ เชื่อมั้ยว่าหนูสามารถจดจำและชี้ส่วนต่างๆ ได้ถูกต้องจริงๆ นะ
"ไหน แขนหนูอยู่ไหน นี่ คุณแม่ก็ก็มีแขนเหมือนกัน เรามีแขนสองข้างเหมือนกันเลย"
"นี่จมูก แล้วไหนปาก ลองดูซิว่าปากอยู่ตรงไหน"
หรือถ้าเบื่อๆคุณแม่ก็หาเพลงสนุกๆ ที่เราคุ้นเคยมาเล่นก็ได้ค่ะ
"นิ้วโป้งอยู่ไหน นิ้วโป้งอยู่ไหน อยู่นี่จ้ะ อยู่นี่จ้ะ สุขสบายดีหรือไร ไปก่อนละสวัสดี นิ้วชี้อยู่ไหน..."
อ๋อ..อย่าลืมสอนหนูให้รู้จักอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายด้วยนะ เช่น อวัยวะเพศ หน้าอก ฯลฯ แต่หนูรู้ว่าแรกๆ ที่สอนเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่อาจยังรู้สึกไม่ค่อยคุ้นเคย ถ้าเป็นแบบนี้ขอแนะนำว่าน่าจะอาศัยช่วงเวลาที่หนูอาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ได้แล้วค่อยๆ สอนให้หนูรู้จักชื่อก่อน และหลังจากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจชวนหนูตั้งชื่อเรียกอวัยวะเหล่านี้แทนชื่อจริงๆ ก็ได้ เช่น อวัยวะเพศชาย เรียกว่า จุ๊ดจู๋ หรือ อวัยวะเพศหญิง เรียกว่า จุ๋มจิ๋ม หรือจัมโบ้แทน เป็นไงคะฟังดูเก๋กว่าชื่อจริงตั้งเยอะ
นอกจากจะสอนให้หนูรู้จักอวัยวะต่างๆของตัวหนูเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้หนูเรียนรู้ด้วยว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอกได้ แต่ยังเป็นคนเดิม เช่น วันนี้แม่หยิบแว่นกันแดดมาใส่ แม่ไม่เหมือนเดิม แต่หนูจะเข้าใจว่ายังไงก็คือแม่คนเดียวกับเมื่อวานที่ไม่ได้สวมแว่น วิธีการเรียนรู้ของหนูก็คือ เริ่มต้นจากให้หนูเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองก่อนว่าตัวหนูไม่ว่าจะใส่ชุดสีอะไร ทำผมยังไง หนูก็ยังเป็นหนู โดยคุณแม่อาจหากระจกเงามาให้หนูส่อง หลังจากจับหนูใส่ชุดว่ายน้ำ หรือหาแว่นกันแดดมาให้หนูใส่ดู หรือเปลี่ยนหมวกให้หนูสวมหลายๆ แบบ รับรองว่าหนูจะจ้องกระจกตาไม่กระพริบเลยทีเดียว พร้อมกันนั้นหนูก็จะค่อยๆเรียนรู้ว่ารูปร่างภายนอกของคนทุกคนล้วนเปลี่ยนแปลงไปได้ แม้กระทั่งตัวหนูเอง
อยากรู้จัก "คนอื่น" ด้วยนะ
นอกจากหนูจะชอบสำรวจอวัยวะของตัวเองแล้ว หนูยังสนใจที่จะสำรวจส่วนต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวคุณพ่อคุณแม่หรือคนอื่นๆด้วย เช่น ระหว่างที่หนูเล่นนัวเนียอยู่กับคุณแม่ บ่อยครั้งที่หนูชอบเอานิ้วป้อมๆแยงเข้าไปในจมูกคุณแม่ หรือ พยายามจะแหย่เข้าไปในรูหู หรือถ้าอยู่กับคุณพ่อ ก็ไม่พ้นจะเอานิ้วไปถูๆไถๆกับหนวดอันแสนเรียวงาม นี่คือสิ่งที่แสดงว่าหนูก็อยากรู้เหมือนกันนะว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นยังไง ตัวนิ่มๆเหมือนหนูมั้ย มีรูจมูก มีฟัน มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากหนูบ้าง และวิธีนี้นอกจากทำให้หนูได้เรียนรู้จักคนอื่น ได้รู้ถึงความเหมือนความต่างของคนแต่ละคนแล้ว ยังทำให้หนูรู้ว่าหนูก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนคนอื่นด้วย
การสำรวจและอยากรู้จักอวัยวะส่วนต่างๆของคนอื่นนี้ บางครั้งก็อาจดูโลดโผนหรือกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก (ในสายตาคุณแม่รวมทั้งคนอื่นๆ) เช่น อยู่ๆก็จับหน้าอกคุณแม่ในที่สาธารณะ หรือวิ่งเตาะแตะเอาหัวมุดเข้าไปในกระโปรงเพื่อนคุณแม่ที่มาเยี่ยมที่บ้าน หรือ ดึงผมคุณแม่แรงๆ บางทีก็จับนิ้วคนอื่นมาหักเล่นเสียเฉยๆ จริงๆแล้วหนูไม่รู้หรอกว่านั่นนะมันเกินเลยไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณแม่คงต้องหากลยุทธหยุดพฤติกรรมเสียก่อน
1. เบรกหนูเพื่อหยุดพฤติกรรมนั้นก่อน
2. อุ้มหนูไปหาอะไรที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจแทน
3. ถ้าหนูยังดื้อดึงที่จะทำแบบนั้นอยู่อีก คงต้องบอกหนูด้วยเสียงเข้ม (แต่ราบเรียบไม่ใช่ดุดัน)ว่า แม่ไม่ชอบให้หนูเล่นแบบนี้ มันเจ็บ หรือ อย่าเล่นแบบนี้นะลูก ไม่ดี คนอื่นเขาไม่ชอบ
จริงๆแล้วก็เสี่ยงอยู่เหมือนกันค่ะกับการที่ต้องเลือกทำแบบนี้กับหนู เพราะอาจทำให้หนูคิด (เอาเอง)ว่า ความสนใจใคร่รู้สิ่งต่างๆ ของหนูนี้คงไม่น่ารักไปหมดคราวหลังหนูคงไม่กล้าสนใจใคร่รู้อะไรเลย ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับคำพูดและน้ำเสียงของคุณพ่อคุณแม่แล้วละคะถ้าพูดกับหนูแบบการใช้เหตุผล น้ำเสียงที่เด็ดขาด แต่ไม่ใช่เกรี้ยวกราด หนูก็พอรับได้และคงไม่ใช่ปัญหาอะไร
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นหลักเกณฑ์ก็คือ ถ้าการเรียนรู้ของหนูไม่เหมาะสมทั้งกาละเทศะและพฤติกรรม คงต้องเลือกปรามๆ หนูมากกว่าที่จะปล่อยให้ตัวหนูเรียนรู้ไปในแนวทางที่ไม่ถูกต้องค่ะ
เทคนิคแนะนำ...คุณอวัยวะ
*เมื่อไหร่ที่ลูกเล่นกับตุ๊กตา คุณแม่อาจทำตัวกลมกลืนเล่นกับลูกด้วย และอย่าลืมพูดถึงส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วย
*วาดหน้าตาคนลงบนจานกระดาษ แต่งแต้มสีสันให้สดใส แล้วให้ลูกชี้อวัยวะต่างๆ ตามที่คุณแม่เรียกขาน
*เมื่อถึงเวลาเล่านิทาน เปิดผ่านหน้าไหนที่มีภาพของคน พยายามพูดถึงความแตกต่างของคนแต่ละคน โดยโยงเรื่องส่วนต่างๆของอวัยวะในร่างกายเข้าไปในการเล่านิทานด้วย
* หากระดาษโปสเตอร์ขนาดใหญ่เท่าตัวลูกมา 1 แผ่น จับลูกนอนหงาย กางแขนและขา คุณพ่อหรือคุณแม่วาดลายเส้นเป็นรูปร่างของลูก จากนั้นช่วยกันเติมรายละเอียดอวัยวะต่างๆของร่างกายแต่ละส่วน เช่น ตา จมูก ปาก ฯลฯ
ประโยชน์ที่ได้
* การสอนให้ลูกรู้จักตัวเอง โดยเริ่มจากอวัยวะส่วนต่างๆนี้ จะนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวลูกในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวุฒิภาวะของแก
* การสอนให้ลูกรู้จักคำศัพท์ต่างๆที่เกี่ยวกับร่างกายนั้น จะช่วยพัฒนาภาษาพูดของลูกได้อีกทางหนึ่ง
* เป็นพื้นฐานที่ทำให้ลูกเติบโตไปอย่างเด็กที่มีความนับถือตนเอง มองตัวเองอย่างเห็นคุณค่า เข้าใจในความเหมือนและแตกต่างของคนแต่ละคนในทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะด้านร่างกาย พื้นฐานเหล่านนี้จะพัฒนาลูกไปสู่การมีความมั่นใจในตนเอง
* ลูกจะเรียนรู้กฎกติกาของสังคม เช่น การวางตัวในเรื่องเพศ ความแตกต่างของเพศหญิงเพศชาย การรู้ว่าส่วนไหนของร่างกายควรปกปิด หรือ สิ่งใดเรียกว่าสิทธิส่วนบุคคลไม่ควรก้าวก่าย
ทิ้งท้าย...สักนิด
การสำรวจตัวเองของลูกจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพัฒนาการของร่างกายและสติปัญญา ความช่างสำรวจ สนใจใคร่รู้จักอวัยวะต่างๆเหล่านี้ เป็นอย่างหนึ่งที่ช่วยบอกว่า พัฒนการของลูกเป็นไปอย่างปกติ สุขภาพแข็งแรงดี และทำให้ลูกรู้จักตัวเอง นำไปสู่การวิเคราะห์ประเมินบุคลิกภาพนิสัยของตัวเอง รู้ว่าสิ่งไหนดี หรือไม่ดีควรปรับปรุง พัฒนาไปสู่ความภูมิใจในตัวเอง (self esteem)ได้ในภายหลัง ที่สำคัญกิจกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงความรัก ความใกล้ชิด ความสนใจที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อตัวลูก และแน่นอนว่าทุกกิจกรรมจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาได้มีส่วนร่วมต่อการค้นหาตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่คุณพ่อคุณแม่ให้ความสำคัญ
ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 46 เดือนสิงหาคม พ.ศ.2542




 

Create Date : 19 มกราคม 2552    
Last Update : 19 มกราคม 2552 0:01:17 น.
Counter : 248 Pageviews.  

กว่าหนูจะจ้อ

ลูกน้อยวัยอ้อแอ้ต้องการการกระตุ้นในการพูดจากพ่อแม่ตั้งแต่เขายังแบเบาะ ลูก ยังพูดไม่เป็นคำ ไม่เป็นประโยค ไม่ได้หมายความว่ายังไม่จำเป็นต้องใส่ใจพูดกับเขา ก็ในเมื่อเจ้าตัวเล็กเตรียมพร้อมจะพูดตั้งแต่อยู่ในท้องโน่นแล้ว อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่นั่นล่ะค่ะว่าจะส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการได้มากน้อยแค่ไหน

ฟังก่อน พูดทีหลัง
การเรียนรู้ภาษาของลูกเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องนั่งจ้ำจี้จ้ำไชสอน ลูกเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้ภาษามาตั้งแต่เขาอยู่ในท้องได้ 7 เดือนแล้ว ซึ่งช่วงเวลานั้นเส้นใยประสาทและระบบประสาทในการเรียนรู้เรื่องภาษาจะพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนที่ว่าเขาจะพูดได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายหลังคลอด
ระหว่างมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ลูกจะสร้างระบบภาษาและระบบการพูดของเขาขึ้นมาได้เอง โดยใช้การฟังทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วค่อยๆ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆกับสิ่งที่ได้ยิน แล้วจึงค่อยเริ่มพูดทีหลัง
พัฒนาการการพูด
พัฒนาการทางภาษาและการพูดของลูกขวบปีแรก แบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอนดังนี้ค่ะ
* ร้องไห้ เสียงที่เด็กเปล่งออกมาเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็คือเสียงร้องไห้นี่ล่ะค่ะซึ่งพอนานเข้าพ่อแม่ก็จะแยกเสียงร้องไห้ของลูกได้จากลักษณะและลีลาการร้องของลูก เช่นร้องอย่างนี้แปลว่าหิวนม ร้องอย่างนั้น..ร้องเพราะไม่สบาย การร้องไห้นี้ถือว่าเป็นพัฒนาการแรกทางภาษาของเด็กก็ว่าได้
* เสียงอ้อแอ้ (3 เดือนขึ้นไป) ลูกจะเริ่มออกเสียงใกล้เป็นคำแล้ว เสียงอ้อๆแอ้ๆ ของลูกเป็นลักษณะหนึ่งของการหัดเปล่งเสียงเพื่อหัดพูด เสียงอ้อแอ้นี้ไม่มีความหมายแต่ลูกสนุกที่จะส่งเสียงและฟังเสียงของตัวเองไปพร้อมๆ กัน
* การเล่นเสียง (5-6 เดือน) ลูกเริ่มออกเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือ แสดงความต้องการ เขาจะเปล่งเสียงซ้ำๆ กัน และยังคงพอใจจะออกเสียงมากกว่าจะฟังเสียงคนอื่น
* การเล่นเสียงสูงๆ ต่ำๆ (7-11 เดือน) ช่วงนี้ลูกจะเลียนเสียงได้ถูกต้องและชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องใช้ท่าทางประกอบ คำบางคำที่เขาเปล่งเสียงออกมา จะมีแต่คนใกล้ชิดเท่านั้นที่เข้าใจความหมายได้ บางครั้งพ่อแม่จะสังเกตเห็นลูกฝึกปรือการพูดจนน้ำลายแตกฟอง
* การพูดคำแรก (ย่างเข้า 10 เดือน) หลังจากที่หัดเลียนเสียงตัวเองได้แล้ว ลูกพร้อมที่จะเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน ช่วงนี้เขาจะพูดตามที่ผู้ใหญ่พูดกัน และในที่สุดก็จะเริ่มพูดคำแรกได้ ซึ่งคำแรกๆ นี้ลูกจะพูดเป็นพยางค์เดียวแต่มีความหมายมากกว่าที่พูด เช่น คำว่า "นม" ของลูก อาจจะหมายถึง นั่นนมๆ หรือ หนูหิวนม จนกว่าจะ 2 ขวบไปแล้วลูกจึงจะพูดเป็นวลีได้
กระตุ้นลูกหัดพูด
อย่ารีรอที่จะพูดคุยกับลูกตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยแบเบาะ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะดูเล็ก เกินกว่าจะรู้ภาษา คุณไม่จำเป็นต้องรอให้เสียเวลาเปล่าค่ะ ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ ก็ ยิ่งดีเท่านั้น ที่สำคัญควรให้โอกาสและเวลาแก่ลูก อย่าเร่งเขาจนเกินไป
* พูดบ่อยๆ หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และระหว่างที่พูดนั้น คุณพ่อคุณแม่ลองใส่ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ เข้าไปด้วย เช่น เมื่อพูดถึงดอกไม้ ก็อาจจะยิ้มไปด้วย ลูกจะค่อยๆ เข้าใจความหมายพร้อมๆ กับจำคำๆ นั้นไว้
* หัดเรียกชื่อสิ่งต่างๆ การที่พ่อแม่เอ่ยชื่อสิ่งต่างๆ และให้ลูกพูดตาม จะช่วยเพิ่มคำศัพท์ให้กับเขา เมื่อพูดถึงคำๆ นี้อีกครั้ง ลูกจะค้นหาข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ตั้งแต่แรกในสมอง หรือเรียกง่ายๆ ว่าความจำนั่นเอง
* พูดอย่างชัดเจน อย่านึกว่าลูกเป็นเด็กตัวแดงๆ แล้วจะต้องพูดกับเขาช้าๆเพราะกลัวว่าเขาจะฟังไม่ทันหรือไม่รู้เรื่อง ความเร็วหรือช้าไม่สำคัญเท่ากับความชัดเจนในการพูด ควรพูดกับลูกเหมือนอย่างพูดกับผู้ใหญ่ สิ่งที่ลูกต้องการคือแบบอย่างในการพูดที่ถูกต้อง เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ของภาษาในวันข้างหน้าต่อไป
* ฟังอย่างสนใจ ต้องรู้จักอดทนและฟังลูกอย่างตั้งใจ พ่อแม่บางคน ไม่ทนแม้แต่จะฟังลูกพูดให้จบ คำพูดตัดบทประเภท "อย่างนี้ใช่ไหม" จะลดทอนโอกาสที่ลูกเรียนรู้ที่จะพูดให้น้อยลงไปอีก
นอกเหนือจากการกระตุ้นลูกแล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและมั่นคงให้กับลูกความสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัวก็สำคัญเช่นกัน นักวิจัยพบว่าเด็กที่มีความสัมพันธ์กับแม่สามารถจะพัฒนาทักษะทางภาษา รู้คำศัพท์มากกว่าเด็กที่ไม่มีความสัมพันธ์กับแม่ เพราะพูดคุยกับแม่อยู่ตลอดเวลา
รู้อย่างนี้แล้ว อย่าปล่อยให้เวลาทองผ่านเลยไปโดยไม่ไขว่คว้าไว้เลยค่ะ

------------------------------
อย่างนี้..มีปัญหา
คุณควรหมั่นสังเกตลูกดูว่า เขามีความผิดปกติด้านการพูดหรือไม่ โดยดูได้จากสัญญาณต่อไปนี้
*อวัยวะในการพูด ความบกพร่องของอวัยวะในการพูด ไม่ใช่เฉพาะปากหรืออวัยวะในช่องปาก เช่น เพดานปาก ลิ้น หรือลิ้นไก่ ที่พอจะสังเกตเห็นได้ง่าย แต่ยังรวมไปถึงกระบังลม ปอด เส้นเสียง สายเสียง และหู ล้วนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านการพูดทั้งนั้น
* พัฒนาการต่ำกว่าวัย คุณพ่อคุณแม่ควรรู้พัฒนาการการพูดของลูก และสังเกตลูกตามพัฒนาการนั้น หากไม่เป็นไปตามนั้น ให้สงสัยไว้ก่อน เช่น ลูกอายุขวบครึ่งยังพูดไม่ได้ทั้งที่เด็กโดยทั่วไปควรพูดคำแรกได้ตั้งแต่ขวบปีแรก
* การตอบสนองเสียง การฟังของลูกเชื่อมโยงกับการพูด ถ้าลูกวัย 0-3 เดือนไม่สามารถหันไปหาเสียงได้ วัย 4-6 เดือน ไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงดังๆ ได้ และวัย7-12 เดือน ยังไม่เข้าใจคำพูดที่ใช้พูดบ่อยๆ หรือเรียกแล้วไม่หันหรือไม่ทำเสียงตาม ควรพาลูกไปพบแพทย์

------------------------------
ทำไมต้อง "แม่"
ทำไมหนอเจ้าตัวเล็กรายไหนรายนั้น คำแรกที่เปล่งออกมาจากปากน้อยๆ ต้องเป็นคำว่า "แม่" ทุกทีไปสิน่า .. อย่างนี้คนเป็นพ่อก็น้อยใจแย่
จริงๆ แล้วไม่เป็นจริงเสมอไปหรอกค่ะ เด็กพร้อมจะพูดคำว่าอะไรก็ได้ที่เขาได้ยินบ่อยๆ และมีแรงเสริมให้เขาพูดคำๆ นั้นต่อไป เด็กบางคนอาจจะเรียกปู่ย่าตายายหรือใครก็ได้ ก่อนที่จะเรียกพ่อแม่เป็นด้วยซ้ำ
แต่ที่เด็กส่วนใหญ่ออกเสียงว่า "แม่" ได้ก่อนคำอื่น อาจเป็นเพราะคำๆ นี้ออก เสียงง่าย ถ้าไม่เชื่อ ลองทำดูสิคะ
อีกอย่างคนที่ใกล้ชิดลูกส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แม่อีกนั่นล่ะ โอกาสที่แม่จะพูดกับลูกทำนองว่า "แม่" อย่างนั้น "แม่" อย่างนี้ มีอยู่ตลอดเวลา เจ้าหนูก็เลยได้ยินแต่คำว่า "แม่ๆๆ" ซ้ำไปซ้ำมา แล้วอย่างนี้จะไม่เรียก "แม่" เป็นก่อนคำอื่นได้ยังไงละจ๊ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสาร ฉบับที่ 204 เดือนมกราคม พ.ศ.2543




 

Create Date : 18 มกราคม 2552    
Last Update : 18 มกราคม 2552 23:59:27 น.
Counter : 374 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

zakana7884
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เพื่อนสำคัญเสมอ ฉันจะรักษามิตรภาพระหว่าง
เพื่อนให้ดีที่สุด และคุณคือเพื่อนของฉันในตอนนี้

เกี่ยวกับฉัน..ฉันชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว
ท่องโลกอินเตอร์เน็ต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อเปิดโลกทรรศในมุมมอง 360 องศา
เมื่อใดที่ฉันว่างเว้นสิ่งอื่นใด ก็จะเข้าสู่สภากาแฟฯ
แห่งนี้ บ้างอ่าน บ้างแสดงความคิดเห็น แล้วแต่
โอกาสจะอำนวยคะ

ขอบคุณโลกออนไลน์ที่ทำให้เราเป็นเพื่อนกันได้

lozocat
free counters
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add zakana7884's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.