Group Blog
 
All Blogs
 
The Rule of Four -Ian Caldwell & Dustin Thomason-

นิยายเล่มแรกของสองนักเขียนหน้าใหม่ที่ตามกระแสความดังของ The Davinci Code ออกมาติดๆ แต่นั่นไม่ใช่แรงจูงใจที่ทำให้ผมอยากอ่านหนังสือเล่มนี้มากกว่ารีวิวสั้นๆ ที่ปกในซึ่งบอกว่านิยายเล่มนี้มีรูปแบบคล้ายคลึงกับงานของ Donna Tartt ที่ผมติดใจมากๆ จาก The Secret History ดังนั้นพอเห็นราคาหนังสือในร้านคิโนะฯ ผมไม่รอช้าหยิบหมับจ่ายเงินหมุบกระเป๋าแห้งพึ่บพั่บทันทีครับ!

The Rule of Four เล่าเรื่องของรูมเมทคู่หนึ่งคือพอล แฮร์ริส และทอม คอร์เรลลี่ ซัลลิแวน ซึ่งกำลังเรียนปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ทอมซึ่งเป็นคนเล่าเรื่องด้วย(นิยายใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เล่าเรื่องครับ) เป็นลูกชายของนักวิจัยงานศิลปะแบบเรอแนสซองก์ พ่อของเขาที่ตายจากไปแล้วนั้นอินจัดอยู่กับงานเขียนเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Hypnerotomachia Poliphili และพยายามที่จะถอดความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในงานเขียนเล่มนั้นให้จงได้ ความสำเร็จประการหนึ่งของพ่อของทอมก็คือการยืนยันตัวผู้เขียน Hypnerotomachia Poliphili ว่าชื่อฟรานเซสโก้ โคลอนน่า เช่นเดียวกัน Hypnerotomachia Poliphili ก็มีผลต่อพอล ซึ่งเข้ามาผูกสัมพันธ์เป็นเพื่อนกับทอมเพราะทราบว่าเขาเป็นลูกชายของคนที่รักที่จะสำรวจและตรวจสอบหนังสือโบราณเล่มนั้นมาก และนี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้วิทยานิพนธ์ของพอลเกี่ยวข้องกับการถอดความหมายในหนังสือเล่มนี้

ระหว่างที่ทั้งสองช่วยกันถอดความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน Hypnerotomachia Poliphili (โดยได้รับความช่วยเหลือจากชาร์ลี และกิล รูมเมทอีกสองคน) และเดทไลน์ที่จะส่งวิทยานิพนธ์ของพอลก็ใกล้เข้ามาทุกที เหตุการณ์ก็ตึงเครียดขึ้นและนำไปสู่เรื่องราวที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนทั้งฆาตกรรม ทั้งความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและกัน และที่สำคัญที่สุดก็คือความหมายและอะไรบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือโบราณเล่มนั้น...

ไม่กล้าเล่าแยะครับ กลัวจะเป็น spoiler ...ขอรีวิวเลยแล้วกันนะครับ ผมว่าก็ใช้ได้ครับ! ต้องบอกก่อนว่าผมไม่คิดนำนิยายเรื่องนี้ไปเทียบกับ The Davinci Code นะเพราะถึงแม้จะมีอะไรบางอย่างคล้ายๆ กัน อย่างเช่นการถอดรหัส และการค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้วัตถุ แต่ The Rule of Four เน้นรายละเอียดไปที่ตัวตนของตัวละครมากกว่ารายละเอียดเกี่ยวกับฉากและสถานที่หรือเหตุการณ์ตื่นตาตะลึงใจแบบที่แดน บราวน์ชอบทำ(ในนิยายแทบจะทุกเรื่องของเขา) แต่นั่นก็อาจจะเป็นเพราะผมไม่ปลื้มงานเขียนของแดน บราวน์เลยก็เป็นได้ครับ ผมมองว่า ทั้ง Angels & Demons และ The Davinci Code เป็น so-so reading อ่ะครับ...

และเพราะว่าเรื่องมันเน้นหนักไปที่รายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคล(นี่กระมังที่ทำให้ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1) หลายๆ ตอนของเรื่องจึงออกจะยืดๆ และไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่การไขปัญหาและการถอดรหัสแบบชัดเจนตั้งแต่ต้น กว่าจะละเลียดเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตในสถาบันการศึกษา ทั้งเรื่องสโมสรสำหรับทานอาหารกลางวัน, กิจวัตรประจำวัน, เกมและการเล่นสนุกของนักศึกษา ก็ปาเข้าไปค่อนเล่ม แม้จะต้องยอมรับครับว่าการถอดรหัสทำได้แนบเนียนมากๆ และก็ลุ้นดี

ส่วนกรณีที่ว่าเรื่องมีนัยแบบเดียวกับงานของ Donna Tartt ผมว่ามันก็ใกล้เคียงนะ คือการบรรยายรายละเอียดความรู้สึก และตัวตนของนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย...แบบเดียวกันกับที่ The Secret History ทำนั่นแหละครับ(ถ้าจำไม่ผิดใน The Secret History จะเป็นนักศึกษาปี 1)

ให้ 80% ครับ หักไป 20 โทษฐานยืดยาด ละเลียดกับเรื่องนอกประเด็น(จากที่โฆษณา) ไปเล็กน้อย




Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2548
Last Update : 12 เมษายน 2548 9:37:50 น. 1 comments
Counter : 837 Pageviews.

 
มาอ่านค่ะ


โดย: ตุ๊กตารอยทราย วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2548 เวลา:8:57:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Filippo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filippo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.